Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมะ นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่ทหารหรือไม่ : เปรียบเทียบกับพระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันฯ พ.ศ.2535

1) ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมะ ได้ใช้ถ้อยคำในมาตรา 3 ว่า “ ให้บรรดาการกระทำใดๆ ของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง....” และ พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมกันฯ พ.ศ.2535 ได้ใช้ถ้อยคำว่า “ บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมกัน...”

ถ้อยคำในทั้งสองกฎหมายมีถ้อยคำที่เหมือนกันในสาระสำคัญคือ นิรโทษกรรมให้ “การกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม”

2) ความจริงเรื่องนี้เคยมีการฟ้องโดยกลุ่มญาติผู้ได้รับความเสียหายจากการสลายการชุมนุมเป็นคดีโดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้แล้วในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2015-2019/2542 ระหว่าง นางสุมาลี อู่ศิริ ที่ 1 กับพวกรวม 39 คนเป็นโจทก์ฟ้องกองทัพบก เป็นจำเลยที่ 1 ,กรมตำรวจ เป็นจำเลยที่ 2, พล.เอกสุจินดา คราประยูร เป็นจำเลยที่ 3,พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล เป็นจำเลยที่ 4 และ พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี เป็นจำเลยที่ 5

จำเลยทั้งห้าในคดีร้องให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายเลยว่า เมื่อ “มีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดแล้วโจทก์ทั้งสามสิบเก้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง” ศาลชั้นต้นไม่สืบพยานและชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมาย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสามสิบเก้า ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือมีกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดแล้วโจทก์ทั้งสามสิบเก้าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

มีประเด็นถึงศาลฎีกาโดยโจทก์โต้แย้งเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพ.ร.ก.นิรโทษกรรมเท่านั้น และศาลฎีกาก็พิพากษายืน

( ดูคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2015-2019/2542 และคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 2/2535 และ คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3/2535 )

3) อนึ่ง เมื่อดูจากตัวบทและหมายเหตุท้ายกฎหมายทั้งสองฉบับ แม้ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่านิรโทษกรรมให้ทหาร แต่โดยตัวบทกฎหมายที่ใช้คำว่า “บุคคล” (ซึ่งทหารก็เป็นบุคคล)และ “เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง”ทั้งทหารและประชาชนย่อมได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด

ดังนั้น การที่ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมะ แม้ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่านิรโทษกรรมให้ทหารโดยตรง แต่การไปบัญญัติว่านิรโทษกรรมให้บุคคลที่กระทำการอันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองจึงเป็นการนิรโทษกรรมให้ทหารด้วยตามนัยคำวินิจฉัยดังกล่าว

หมายเหตุ ผู้พิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้คือ 1)นายสถิต ไพเราะ 2)ม.ล.เฉลิมชัย เกษมสันต์ และ 3) นายศุภชัย ภู่งาม


__________________________________
1) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2015-2019 http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/printlaw.jsp

2) คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 3/2535 http://61.19.241.65/DATA/PDF/2535/A/113/7.PDF

3)คำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 2/2535 http://61.19.241.65/DATA/PDF/2535/A/081/22.PDF

4) ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับ ส.ส.วรชัย เหมะ http://ilaw.or.th/sites/default/files/ร.บ.นิรโทษกรรม%20โดยวรชัย%20เหมะ.pdf

5) พระราชกกำหนดนิรโทษกรรมฯ พ.ศ.2535 http://www.lawreform.go.th/lawreform/images/th/legis/compe/th/law/2535/b901-20-2535-001.htm

 

บทความนี้โพสต์ครั้งแรกในเฟซบุ๊ก "อานนท์ นำภา" เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 56 https://www.facebook.com/photo.php?fbid=573667892674611

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net