Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยมีโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 2 โครงการคือ โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท และโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาท สองโครงการนี้จะเป็นการปฏิวัติโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดของไทย ยกระดับประเทศเข้าสู่เส้นทางการเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่ยั่งยืน

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2554 ธนาคารโลกได้เลื่อนอันดับประเทศไทยให้เข้าอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (upper-middle income country) ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 35 ประเทศ เช่น อาฟริกาใต้ บราซิล จีน ฮังการี มาเลเซีย และเม็กซิโก เมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอีกมากมาย ประเทศไทยก็นับว่า ประสบความสำเร็จพอสมควรในการพัฒนายกระดับจากประเทศเกษตรกรรมที่ยากจน ขึ้นมาอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูง

การพัฒนาประเทศในระยะเริ่มต้น จากประเทศเกษตรกรรมที่ยากจน ให้เป็นประเทศอุตสาหกรรมรายได้ปานกลางนั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นจนเกินไป เพราะระบบเศรษฐกิจมีแรงงานล้นเกินมากมาย ค่าจ้างต่ำ ทรัพยากรธรรมชาติสมบูรณ์ เพียงแต่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เทคโนโลยีไม่ซับซ้อน ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เป็นวัตถุดิบราคาถูก ส่งออกสินค้าเกษตรไปแลกกับเครื่องจักรและเทคโนโลยีต่างชาติเข้ามาพัฒนาอุตสาหกรรม มีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพและระบบกฎหมายที่พึ่งพาได้ ระบบเศรษฐกิจก็จะพัฒนายกระดับรายได้และมาตรฐานการครองชีพของประชากรจากสังคมเกษตรดั้งเดิมไปเป็นสังคมอุตสาหกรรมขั้นต้นได้

แต่การยกระดับจากประเทศอุตสาหกรรมรายได้ปานกลางไปเป็นประเทศรายได้สูงนั้นทำได้ยากกว่ามากเพราะไม่มีแรงงานล้นเกินและแหล่งทรัพยากรราคาถูกอีกต่อไป ต้องหันมาพัฒนาทักษะความรู้ของแรงงาน ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนเพื่อเพิ่มผลิตภาพและคุณภาพของงาน รู้จักดัดแปลงเทคโนโลยีของต่างชาติและคิดค้นเทคโนโลยีที่เป็นของตนเองประกอบกัน ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูงรองรับ เช่น ระบบการศึกษา โทรคมนาคมและขนส่ง ระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเสรีนิยม ระบบกฎหมายและการบังคับใช้ที่สนับสนุนการพัฒนาทุนมนุษย์ เป็นต้น

นโยบายเหล่านี้ทำจริงได้ยากกว่าเพราะต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ในการพัฒนาทั้งคุณภาพคนและโครงสร้างกายภาพ จึงเป็นเหตุให้ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จในการยกระดับจากประเทศรายได้ต่ำมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางในเวลาอันสั้น แต่กลับไม่สามารถยกระดับระบบเศรษฐกิจของตนต่อไปได้ ต้องติดอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางเป็นเวลายาวนาน สภาพดังกล่าวเรียกกันว่า “กับดักรายได้ปานกลาง” (Middle-income trap)

ประเทศไทยก็ติดอยู่ใน “กับดักรายได้ปานกลาง” เช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยสังกัดอยู่ในกลุ่ม “ประเทศรายได้ปานกลาง” มายาวนานกว่า 30 ปีถึงปัจจุบัน ในขณะที่ประเทศรายได้ปานกลางในอดีตจำนวนหนึ่งซึ่งเริ่มต้นพัฒนาประเทศในเวลาใกล้เคียงหรือหลังประเทศไทย กลับได้ก้าวไปเป็นประเทศรายได้สูงไปแล้ว เช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ใต้หวัน แม้แต่มาเลเซียซึ่งเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมหลังประเทศไทยราวสิบปี ปัจจุบันก็มีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงกว่าไทยเกือบสองเท่า และจะก้าวไปสู่การเป็นประเทศรายได้สูงก่อนไทยอย่างแน่นอน

ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลางเนื่องจากปัญหาการยกระดับทักษะความรู้ของแรงงานไทย ระบบการศึกษาและอบรมแรงงาน การพัฒนาวิทยาศาสตร์และการวิจัย แต่สาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ ความล้าหลัง ต้นทุนสูง ประสิทธิภาพต่ำของโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบคมนาคมขนส่ง ทั้งการขนส่งทางบกที่พึ่งพารถบรรทุกเป็นหลัก สิ้นเปลืองพลังงานสูง การขนส่งทางน้ำที่ขาดวิ่นไม่เป็นระบบ ระบบรถไฟที่แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากว่า 100 ปี สนามบินที่แออัดยัดเยียด แม้แต่ระบบถนนหลวงสี่ช่องจราจรก็ยังไม่ครบถ้วน

แนวคิดการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดของประเทศมีการเสนอเป็นครั้งแรกในปลายสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย 1 เรียกว่า เมกาโปรเจ็คท์ แต่ก็ถูกล้มเลิกไปจากวิกฤตการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ถึงปัจจุบัน ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสไปถึง 8 ปี โครงการเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง 2 ล้านล้านบาทจึงเป็นความพยายามอีกครั้งโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่จะบรรลุเป้าหมายการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ส่วนประกอบสำคัญของโครงการ 2 ล้านล้านบาท นอกจาก “รถไฟความเร็วสูง” แล้ว ยังมีการสร้างและขยายระบบรถไฟรางคู่ การขยายและเชื่อมต่อระบบถนนหลวงสี่ช่องจราจรให้ครบวงจร การพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำและท่าเรือ ระบบถนนวงแหวนรอบกรุงเทพฯและขนส่งมวลชนภายในกรุงเทพฯ เป็นต้น เป็นการเชื่อมต่อระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของทั้งประเทศให้ครบทั้งระบบอย่างแท้จริง

โครงการเหล่านี้ต้องมีการลงทุนสูง หลายโครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูง เมื่อสร้างเสร็จเริ่มให้บริการในระยะแรก รัฐบาลจะ “ขาดทุน” อย่างแน่นอน แต่ผลได้ที่มีต่อทั้งระบบเศรษฐกิจของประเทศนั้นจะเป็นทวีคูณ นอกจากจะกระตุ้นการลงทุนต่อเนื่องของเอกชนและต่างชาติในเศรษฐกิจไทยต่อไปได้อีกหลายสิบปีแล้ว ยังเป็นมาตรการกระจายความเจริญออกไปจากกรุงเทพฯที่ได้ผลที่สุด ความเจริญทางเศรษฐกิจ การลงทุน การก่อสร้างโดยรัฐและเอกชน การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การจ้างงาน รายได้ และการใช้จ่ายจะกระจายจากกรุงเทพฯไปตามเส้นทางรถไฟรางคู่และรถไฟความเร็วสูง ตามเส้นทางถนนและเส้นทางน้ำที่ขยายเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ เกิดเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจภูมิภาคอีกหลายแห่ง

โครงการ 2 ล้านล้านบาทจะได้มาด้วยการก่อหนี้สาธารณะ ซึ่งเป็นข้อโจมตีสำคัญ ข้อเท็จจริงคือ ปัจจุบัน สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อรายได้ประชาชาติของไทยอยู่ที่ร้อยละ 44.3 ซึ่งยังค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาในระดับเดียวกัน ยิ่งกว่านั้น แม้ว่าจะกู้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่รายได้ประชาชาติของไทยก็เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน หากเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปีไปจนถึงปี 2563 ขณะที่รัฐบาลไทยกู้เงินในโครงการจัดการน้ำและโครงการ 2 ล้านล้านบาทในช่วงเดียวกันรวม 2.350 ล้านล้านบาท จะพบว่า ในปี 2563 สัดส่วนหนี้สาธารณะคงค้างต่อรายได้ประชาชาติของไทยจะยังคงอยู่ที่ร้อยละ 45.9 เท่านั้น การโจมตีโครงการดังกล่าวว่า จะนำมาซึ่งวิกฤตหนี้สาธารณะจึงเป็นการกระพือความกลัวบนความเท็จเท่านั้น

พวกที่โจมตีคัดค้านโครงการพัฒนา 2 ล้านล้านบาทมีสองจำพวก พวกแรกเป็น “ฝ่ายแค้น” ที่ตั้งหน้าคัดค้านทุกเรื่อง โจมตีทุกประเด็น ไม่ว่าข้อโจมตีจะเป็นความเท็จและไร้สาระสักเพียงใด เพื่อหวังโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยทุกเม็ด ส่วนอีกจำพวกหนึ่งนั้นเป็นกลุ่มคนที่ยังขาดข่าวสารข้อมูลและอาจจะอ่อนไหวไปตามการกระพือของสื่อกระแสหลักที่อคติเกลียดชังรัฐบาลพรรคเพื่อไทย สำหรับคนกลุ่มหลังนี้ รัฐบาลมีหน้าที่จะต้องสื่อความเข้าใจในข้อมูลให้ชัดเจนถูกต้อง

พวกเผด็จการจะใช้พรรคฝ่ายค้านและตุลาการขัดขวางโครงการจัดการน้ำและโครงการ 2 ล้านล้านบาทอย่างถึงที่สุด เพราะการยกระดับเศรษฐกิจและโครงสร้างของประเทศไทยเข้าสู่โลกาภิวัฒน์จะมีผลเป็นการยกระดับจิตสำนึกและความคาดหวังของประชาชนไทยไปสู่โลกาภิวัฒน์ด้วย อันจะทำให้อำนาจจารีตนิยมที่พ้นสมัย ล้าหลัง และครอบงำคนไทยมายาวนานต้องเสื่อมสลายไปในที่สุด

 

 

ที่มา: “โลกวันนี้วันสุข” 16 สิงหาคม 2556

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net