Skip to main content
sharethis
นักวิชาการออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ชี้ผู้เกี่ยวข้องต้องไม่มีส่วนในการพิจารณา แนะดำเนินการเปิดเผย ย้ำต้องนิรโทษเฉพาะประชาชน ไม่รวมเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองที่มีอำนาจสั่งการ และแกนนำทุกกลุ่มการเมือง
 
15 ส.ค.56 กรุงเทพธุรกิจออนไลน์รายงานว่า กลุ่มนักวิชาการได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง จุดยืนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยเนื้อหาระบุว่า ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ... ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาโดยรัฐสภานั้น อยู่ในความสนใจของผู้คนอย่างกว้างขวาง เนื่องจากผูกพันโดยตรงกับความขัดแย้งทางการเมืองในสังคมไทยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา
 
เป็นที่เข้าใจและสามารถยอมรับในหลักการได้ว่า เจตนารมณ์ของร่างกฎหมายดังกล่าวดำรงอยู่บนพื้นฐานของความพยายามเยียวยาและสร้างความยุติธรรมให้กับประชาชนทุกกลุ่มสังกัดที่เข้าร่วมชุมนุมเพื่อแสดงออกถึงจุดยืนทางการเมืองของตน
 
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงข้อกังวลของผู้คนที่ติดตามการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ จะพบว่ามีประเด็นที่อยู่ในความสนใจและพึงพิจารณาดำเนินการอย่างเคร่งครัดอย่างน้อย 3 ข้อ
 
1.ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการเยียวยาทางกฎหมายในครั้งนี้ จะต้องมิใช่บุคคลในระดับผู้มีอำนาจสั่งการ ไม่ว่าจะเป็นการสั่งการภายใต้กลไกอำนาจรัฐ หรือการสั่งการมวลชนผู้ชุมนุม
 
กล่าวให้ชัดกว่านั้น การพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมจะต้องยืนบนหลักสำคัญคือ มุ่งละเว้นโทษเฉพาะประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น แต่จะไม่เอื้อประโยชน์ครอบคลุมไปถึงเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมืองที่มีอำนาจความรับผิดชอบสั่งการ และแกนนำทุกกลุ่มการเมือง
 
2.บุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมโดยตรงในเหตุการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมือง และการใช้ความรุนแรงในทุกเหตุการณ์ นับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จวบจนถึงปัจจุบัน จะต้องไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เนื่องจากเป็นการบัญญัติกฎหมายที่เกี่ยวพันถึงผลประโยชน์ได้เสียของตนเองโดยตรง
 
หลักการสำคัญอีกประการหนึ่งอันพึงพิจารณาคือ กระบวนการบัญญัติกฎหมายนิรโทษกรรมในครั้งนี้ จะต้องไม่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองของการไม่ต้องรับผิดชอบในความผิดที่ได้กระทำลงไป อันจะสร้างปัญหาระยะยาวและแก้ไขได้ยากต่อการปกครองด้วยหลักกฎหมาย
 
3.ดังที่ได้กล่าวตั้งแต่ต้นว่า กระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ในความสนใจของผู้คนอย่างกว้างขวาง ทุกขั้นตอนในการพิจารณาจึงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเปิดเผย
 
วิธีการสร้างความเปิดเผยดังกล่าว สามารถกระทำได้ตั้งแต่ให้มีการถ่ายทอดสดการประชุมกรรมาธิการทุกครั้ง เปิดให้สื่อมวลชนปฏิบัติหน้าที่รายงานความคืบหน้า อธิบายความหมายนัยสำคัญในแต่ละเนื้อหา แต่ละประเด็นข้อถกเถียง
 
ภายใต้กระบวนการนี้จะส่งผลให้สาธารณชนสามารถมองเห็นจุดยืน เหตุผล บทบาท และการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมาธิการฯ ว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่โดยถือผลประโยชน์ของใครเป็นที่ตั้ง บทบาทหน้าที่ดังกล่าววางอยู่บนหลักการใด แตกต่างกันอย่างไร และบรรลุความเห็นพ้องต้องกันในเงื่อนไขใด
 
หากกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ดำเนินภายใต้จุดยืนสำคัญดังกล่าว จะเป็นการสร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคม อันจะช่วยลดเงื่อนไขความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
 
ทั้งนี้ นักวิชาการที่ร่วมลงชื่อ จำนวน 11 คน ประกอบด้วย 1.นายจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.นายทวี สุรฤทธิกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 3.นายวรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4.นายไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 5.นายชัยยนต์ ประดิษฐ์ศิลป์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี 6.นายศุภมิตร ปิติพัฒน์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
 
7.นายเจษฎ์ โทณวณิก ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสยาม 8.นายสุรัตน์ โหราชัยกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 9.นายจักษ์ พันธุ์ชูเพชร อาจารย์สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร 10.นางพิรงรอง รามสูต อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และ 11.น.ส.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net