Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
หลังจากที่ผ่านเหตุการณ์มานาน 3 ปี ในที่สุดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่มี อมรา พงศาพิชญ์ เป็นประธาน ก็ได้เผยแพร่รายงานยาว 92 หน้า ในชื่อว่า “ผลการตรวจสอบ กรณีเหตุการณ์การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค.-19 พ.ค.2553”อย่างเป็นทางการ ปรากฏว่า รายงานฉบับนี้ได้นำมาซึ่งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ทั้งจากนักวิชาการหลายฝ่าย และโดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งปฏิเสธความชอบธรรมของคณะกรรมการชุดนี้มาตั้งแต่ต้น 
 
ประเด็นสำคัญที่พอสรุปได้จากรายงานฉบับนี้ของกรรมการสิทธิฯมีสองด้าน คือ อธิบายว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงภายใต้การนำของแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (นปช.) เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการเคลื่อนไหวที่ละเมิดสิทธิของประชาชนคนกรุงเทพฯ มีการปิดการจราจร มีลักษณะยั่วยุให้เกิดความรุนแรง มีการใช้อาวุธ และยังมีชายชุดดำปะปนอยู่กับผู้ชุมนุม มีการกระทำที่ละเมิดสิทธิ เช่น การเจาะเลือด การบุกโรงพยาบาล มีการใช้เด็กและสตรีเป็นโล่มนุษย์ เป็นต้น และต่อมาก็คือ การเผาอาคารสถานที่ เช่น ศาลากลาง และห้างสรรพสินค้า ทั้งหมดนี้คือการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
ในทางตรงข้าม การดำเนินการของฝ่ายรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ล้วนแต่ถูกต้อง เช่น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ก็เป็นความจำเป็นและเหมาะสมกับสถานการณ์ การระงับการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์พีเพิลชาแนลและวิทยุชุมชน ก็เป็นการกระทำในขอบเขตของกฎหมาย การขอคืนพื้นที่คืน ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชน และได้ดำเนินมาตรการจากเบาไปหาหนักตามหลักการ ความรุนแรงส่วนหนึ่งก็มาจากความจำเป็นในการป้องกันตัวและตอบโต้ผู้ถืออาวุธที่แฝงตัวมากับประชาชน จึงไม่ได้เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ การเสียชีวิต 6 ศพที่วัดปทุมวนาราม รวมทั้งการเสียชีวิตของสื่อมวลชนต่างประเทศ ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่ามาจากฝ่ายไหน การที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จึงเป็นเพียงความผิดพลาดระดับปฏิบัติการ
 
ประเด็นปัญหาแรกสุดของรายงานฉบับนี้ ก็คือ เรื่องความเข้าใจประเด็นสิทธิมนุษยชน เพราะ สิทธิในการชุมนุมทางการเมืองที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่ง และรัฐที่เคารพในสิทธิมนุษยชน จะถือเอาการต่อต้านรัฐบาลมาเป็นเหตุในการปราบปรามกวาดล้างประชาชนนั้นไม่ได้ แม้ว่าการชุมนุมเรียกร้องสิทธิของประชาชนจำนวนหลายครั้ง ก็มักจะมีการละเมิดกฎหมาย แต่ถ้าอธิบายว่า ถ้าฝ่ายประชาชนละเมิดกฎหมายแล้ว การที่รัฐเข้าทำการควบคุมปราบปรามก็ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิ์ การใช้หลักเหตุผลเช่นนี้ ก็คือการสร้างความชอบธรรมให้การปราบปรามประชาชนทั่วโลก เพราะรัฐบาลที่ปราบปรามก็ต้องออกกฎหมายมารองรับการดำเนินการของตนเองอยู่แล้ว
 
ปัญหา ประการต่อมา ของรายงานฉบับนี้ อยู่ที่ว่า ประเมินการปฏิบัติการของฝ่ายทหารต่ำกว่าความเป็นจริง โดยอ้างว่า เจ้าหน้าที่-ทหารมีแค่กระบอง แก็สน้ำตา กระสุนยาง  ทั้งที่ในวันที่ 10 เมษายน มีการใช้รถถัง อาวุธที่ใช้ปฏิบัติการ มีปืนกลมือ และปฏิบัติการทั้งหมดมีการใช้กระสุนจริงจำนวนนับแสนนัด และมีพลซุ่มยิงหรือสไนเปอร์ ยิงผู้ชุมนุม ส่วนผู้ชุมนุมเสื้อแดงฝ่าย นปช. ที่อ้างว่ามีอาวุธก็ไม่ชัดเจน รูปจำนวนมากแสดงว่า มีแค่หนังสะติ๊ก ไม้ และ พลุตะไล และปรากฏหลักฐานว่า นอกเหนือจากเสียชีวิตของ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และคณะในวันที่ 10 เมษายนแล้ว ก็ไม่ปรากฏการเสียชีวิตของฝ่ายเจ้าหน้าที่อีกเลย ประเด็นก็คือ ถ้าฝ่ายผู้ชุมนุมมีอาวุธร้ายแรงในการยิงตอบโต้ เหตุใดฝ่ายเจ้าหน้าที่จึงเสียชีวิตเพียงเท่านี้
 
ด้วยความต้องการที่จะอธิบายความชอบธรรมของการเข่นฆ่าสังหารนี้เอง ทำให้ในรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯข้ามเรื่องสำคัญเรื่องใหญ่ไป คือ ไม่มีการวิเคราะห์เหตุการณ์การเสียชีวิตของประชาชนแต่ละกรณีอย่างเป็นจริง ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีรายงานอีกฉบับหนึ่งคือ รายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 2553 (ศปช.) ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต และพบว่า ประขาชนที่เสียชีวิตแทบทั้งหมด เป็นประชาชนมือเปล่าไม่มีอาวุธอยู่ในมือ และหลายกรณีก็เป็นเด็ก หน่วยกู้ภัย หรือ ประชาชนที่ผ่านทางเสียด้วยซ้ำ และจำนวนมากถูกยิงที่ศีรษะ ซึ่งถือเป็นการลงมือของพลซุ่มยิงโดยตรง
 
นอกจากนี้ ในรายงานยังขาดการวิเคราะห์ถึงรากฐานของปัญหา จากการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 และความไม่เป็นธรรมจำนวนมากที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น อันเป็นเหตุนำมาซึ่งการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อแดง หรือมีความเป็นไปได้ว่า คณะกรรมการสิทธิฯก็มองการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในมิติเดียว คือ เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพียงเท่านั้น และด้วยการพิจารณาเช่นนั้น คณะกรรมการสิทธิฯจึงไม่พิจารณาประเด็นสำคัญ เช่น การที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กุเรื่องผังล้มเจ้ามาโฆษณาโจมตีการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง เมื่อวันที่ 26 เมษายน ทั้งที่การใส่ร้ายป้ายสีว่า ฝ่ายทักษิณและคนเสื้อแดงเป็นขบวนการล้มเจ้านั้น เป็นขั้นตอนสำคัญประการหนึ่งที่สร้างความชอบธรรมให้กับการปราบปราม
 
สรุปแล้วรายงานของคณะกรรมการสิทธิฯฉบับนี้ จึงถือเป็นการเสนอข้อเท็จจริงอันไร้สาระ และมีเป้าหมายเพียงการแก้ต่างและสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงไม่อาจจะเล่าได้ว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงนั้นเป็นไปโดยสันติจนถึงวันที่ 10 เมษายน ที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ใช้มาตรการของพื้นที่คืน และฝ่ายทหารก็เป็นฝ่ายใช้อาวุธในการปราบปรามประชาชนก่อน รวมทั้งมีใช้แก๊สน้ำตาจากเฮลิคอปเตอร์ จึงก่อให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของประชาชน หลังจากนั้น การชุมนุมของฝ่าย นปช.จึงมีลักษณะของการสร้างป้อมค่ายในการป้องกันตนเอง ฝ่ายทหารจึงตั้งกำลังล้อมการชุมนุมในทุกทิศทาง แล้วนำมาสู่การปราบปรามครั้งใหญ่ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม โดยใช้กระสุนจริงในการปฏิบัติการ จึงนำมาสู่การบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากของฝ่ายประชาชน และทำให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ ถูกกล่าวขานว่าเป็นฆาตกร และบทบาทของกองทัพก็เป็นที่ปฏิเสธของมวลชนคนเสื้อแดงตั้งแต่นั้นมา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net