Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 
“There are and always will be thousands of princes, but there is only one Beethoven!” 
― Ludwig van Beethoven 
 
มีเจ้าชายเป็นพัน ๆ หมื่นๆ พระองค์ แต่มีเบโธเฟนเพียงคนเดียว!
        -ลุดวิก ฟาน เบโธเฟน

ผู้เขียนเชื่อว่าคีตกวีที่โลกมักกล่าวถึงด้วยความเคารพและชื่นชอบมากที่สุดในโลกก็คงไม่พ้นลุดวิก ฟาน เบโธเฟน อาจมีคนนำชื่อวุฟกัง อะมาดิอุส โมซาร์ตมาแย้ง ซึ่งก็ไม่ผิดในระดับหนึ่งเพราะทั้งเบโธเฟนและ   โมซาร์ตต่างยิ่งใหญ่และมีดนตรีที่ซับซ้อนในยุคของตัวเอง โมซาร์ตนั้นได้รับความชื่นชมในเรื่องของการเป็นเด็กอัจริยะของเขา (Child prodigy) ที่สามารถสร้างสรรค์ดนตรีที่ประณีตงดงามในยุคคลาสสิกจนกลายเป็นมรดกชิ้นสำคัญของอารยธรรมตะวันตก นอกจากนี้ยังส่งผลถึงความนิยมของชนชั้นกลางในปัจจุบันที่คิดว่าการเปิดเพลงของโมซาร์ตแก่ลูกในท้องหรือตอนเป็นทารกจะทำให้เป็นเด็กฉลาด แต่สำหรับเบโธเฟนซึ่งเคยเรียนดนตรีกับโมซาร์ตมาเพียงชั่วสั้นๆ ได้เบิกทางดนตรีคลาสสิกไปสู่ยุคโรแมนติกอันจะส่งอิทธิพลถึงคีตกวีคนดังอื่นๆ อีกมากมายยิ่งกว่าโมซาร์ต ที่สำคัญงานของเบโธเฟนหลายชิ้นถูกนำไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองกว่า 2 ศตวรรษที่ผ่านอันตั้งอยู่บนอุดมการณ์ที่แตกต่างกันอย่างไม่น่าเชื่อเช่นเดียวกับภาพลักษณ์และชีวประวัติของเขาซึ่งถูกเล่าสืบกันมาจนหลายครั้งเหมือนตำนานที่จะมาเสริมสร้างการโฆษณาชวนเชื่อแนวคิดทางการเมืองของทั่วโลกในแต่ละยุค

ประวัติโดยย่อของเบโธเฟน

ลุดวิก ฟาน เบโธเฟนได้รับศีลจุ่มเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 1770 ที่กรุงบอนน์ เมืองหลวงเก่าของเยอรมันตะวันตก เขาได้เป็นนักเล่นออร์แกนประจำสำนักของเจ้าชายแม็คซิมิลาน ฟรานซ์ เจ้าครองนครโคโลจน์ ด้วยอายุเพียง 14 ปี ต่อมาเจ้าชายแมกซิแลนได้ส่งเขาไปยังกรุงเวียนนาในปี 1787 เพื่อจะเรียนดนตรีเพิ่มเติมกับโมซาร์ต มีตำนานว่าโมซาร์ตได้พบกับเบโธเฟนและได้กล่าวกับเพื่อนว่า "อย่าลืมชื่อของเขา คุณจะได้ยินคนพูดถึงอยู่เสมอ"  แต่ไม่นานนักเบโธเฟนก็ต้องกลับไปที่บ้านเกิดเพื่อดูใจคุณแม่เป็นครั้งสุด ในปี 1792 เบโธเฟนได้กลับไปกรุงเวียนนาอีกครั้งเพื่อรับทุนการศึกษาเป็นเวลา 2 ปีโดยเจ้าชายองค์หนึ่งที่กรุงเวียนนา อาจารย์ของเบโธเฟนที่ชื่อเสียงโด่งดังคือฟรานซ์ โจเซฟ ไฮเดิน แต่ทั้ง 2 ได้แตกคอกันในภายหลัง นอกจากนี้เขายังศึกษาดนตรีกับอัลเบรชส์ เบอร์เกอร์และอันโตนิโอ สเลียเย่

จากนั้นเบโธเฟนเริ่มเขียนงานและออกแสดงเป็นครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 จนมีชื่อเสียงและได้รับความนิยมชื่นชมจากชนชั้นสูงของกรุงเวียนนา ในปี 1801 เขาเริ่มรู้สึกถึงปัญหาที่นำไปสู่อาการหูหนวกถาวรในที่สุดแต่เขาก็ใช้พรสวรรค์ในการแต่งเพลงจากความจำในหัวของตัวเองจนสำเร็จไปได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้เบโธเฟนได้รับการอุปถัมภ์ทางการเงินจากเพื่อนที่เป็นจ้าชายและขุนนางทำให้เขากลายเป็นนักประพันธ์เพลงที่เป็นไทแก่ตนเป็นคนแรก ก่อนหน้านี้ทั้งนักดนตรีและนักประพันธ์เพลง แม้แต่บาค  โมซาร์ต และไฮเดิน เป็นเหมือนกับคนใช้ในบ้านของครอบครัวชนชั้นขุนนางที่ร่ำรวย เบโธเฟนจึงมีสิทธิที่จะเขียนเพลงได้ตามใจไม่ต้องฟังคำบัญชาของใครอีกต่อไป หลังจากผลิตผลงานอันโด่งดังไปทั่วยุโรปมากมาย เบโธเฟนถึงแก่กรรมในวันที่ 26 มีนาคม 1827 ที่กรุงเวียนนารวมสิริอายุ 56 ปี  5 เดือนเศษ

อุปนิสัยและตัวตนของเบโธเฟน

อุปนิสัยของเบโธเฟนเป็นสิ่งสำคัญเพราะได้ถูกนำมาเล่าขานและผลิตซ้ำจนกลายเป็นตัวอย่างอันโดดเด่นของการที่บุคคลธรรมดาถูกอุปโลกน์ให้เป็นเทพของวัฒนธรรมตะวันตก แม้ว่าไม่ต้องสงสัยในความเป็นอัจฉริยะทางดนตรี แต่ตามความจริงแล้วเบโธเฟนคือความขัดแย้งระหว่างผลงานและอุปนิสัยหลายอย่าง แม้ดนตรีของเขาจะประณีตและอลังการ แต่นิสัยส่วนหนึ่งของเขาจะเป็นคนไม่มีระเบียบ ไม่เอาใจใส่ในชีวิตความเป็นอยู่นัก  แม้ดนตรีของเขาหลายชิ้นจะกล่าวถึงเสรีภาพหรือความรักระหว่างเพื่อนมนุษย์ แต่เขาเป็นคนโมโหร้าย อัตตาสูง มองเพื่อนมนุษย์ในแง่ลบ เบโธเฟนยังได้รับการสันนิฐานว่าป่วยเป็นโรคอารมณ์อารมณ์สองขั้ว (Bipolar disorder) อันส่งผลให้ดนตรีของเขามีจังหวะทั้งช้าและเร็วสลับกันไป กระนั้นคนในยุคหลังได้พยายามสร้างตัวตนของเบโธเฟนเสียใหม่โดยเน้นไปที่ความเข้มแข็งทางจิตใจของเบโธเฟนภายหลังจากเคยคิดจะฆ่าตัวตายเพราะความกดดันจากอาการความผิดปกติทางหู (ผ่านจดหมายที่เขาตั้งใจจะเขียนให้กับน้องชายคือ Heilingenstadt Testament) ตัวอย่างได้แก่ริชาร์ด  วาคเนอร์ผู้ประพันธ์อุปรากรและนักปรัชญาชื่อดังคือฟริดริค นิตเช่ ซึ่งนิยมชมชอบเบโธเฟนได้ขยายตัวตนของเขาให้เป็นนักปราชญ์ผู้มีความลุ่มลึกทางปัญญาและจิตวิญญาณ แม้ว่าเบโธเฟน ศึกษาดนตรีและงานเขียนทางปรัชญาของนักปรัชญาและกวีคนสำคัญไม่ว่าอิมมานูเอล คานท์  ฟริดริช ชิลเลอร์ โยฮันน์ วุฟกัง ฟอน เกอเธ่ แต่ก็ยังไม่หลักฐานชัดเจนว่าเบโธเฟนได้ซึมซับเอาแนวคิดเหล่านั้นมาใช้กับงานของตัวเองมากน้อยเพียงใด เว้นแต่ซิมโฟนีหมายเลข 9

สำหรับนักปกครองและนักคิดหัวเอียงขวาในเยอรมันยุคอาณาจักรไรซ์ที่ 2 และสาธารณรัฐไวมาร์พยายามใช้ดนตรีของเบโฟนเป็นเครื่องมือในการสร้างความรักชาติและปลุกเร้าความกล้าหาญสำหรับบรรดาเด็กหนุ่มในการเข้าสู่สงครามโลกที่ 1 ส่วนอาณาจักรไรซ์ที่ 3 นักประวัติศาสตร์สำนักนาซีได้ไปไกลกว่านั้นโดยการพยายามล้างประวัติครอบครัวและตัวตนของเบโธเฟนเสียใหม่โดยให้คนเยอรมันเข้าใจว่าเบโธเฟนสืบเชื้อสายอารยันถึงแม้ตามความจริงเขามีเชื้อสายเฟลมิสจากเบลเยี่ยม ส่วนหน้าตาและรูปร่างของเบโธเฟนก็ถูกผลิตซ้ำเสียผ่านสื่อต่างๆ ออกมาเป็นภาพของผู้ชายผิวขาวและสูงสง่าซึ่งตามความจริงแล้วเบโธเฟนมีลักษณะทั้งเตี้ยและผิวคล้ำ สามารถจัดได้ว่ามีลักษณะเหมือนคนแอฟริกันถ้าใช้มาตรฐานของลักษณะชาวยุโรปทั่วไป แต่สำนักนาซีพยายามนำเสนอว่าเบโธเฟนมีคุณสมบัติของชนเผ่าอารยันคือมีเจตจำนงในการมีอำนาจ การที่เขาครองตัวเป็นโสดไปตลอดชีวิตเป็นตัวตอกย้ำถึงบุคคลซึ่งยอมอุทิศทั้งชีวิตสำหรับการผลิตผลงานอันยิ่งใหญ่แก่ชาวโลก นักคิดกลุ่มนาซีถึงกลับพยายามบอกว่าฮิตเลอร์เป็นผู้ที่จะมาเต็มเติมความปรารถนาอันแรงกล้าเช่นนี้ของเบโธเฟน

แต่สำหรับกลุ่มนักประวัติศาสตร์ดนตรีหัวเอียงซ้ายหรือเสรีนิยม เบโธเฟนมีความคิดรุนแรงทางการเมืองที่จะนำมนุษย์ปลดปล่อยจากพันธนาการของการปกครองแบบเผด็จการหรือศักดินาในยุคเก่า (แม้ว่าตามความจริงเบโธเฟนจะยังพึ่งพิงการอุปถัมภ์จากเจ้าชายอยู่ก็ตาม) นอกจากงานและคำพูดของเบโธเฟนที่ว่าเขารักเสรีภาพแล้ว ตำนานในชีวิตของเขาบางเสี้ยวก็ตอกย้ำความเชื่อของพวกหัวเอียงซ้ายเช่นขณะที่เขาเดินสนทนากับเกอเธ่ในเมืองเทปลิตซ์ปี 1812  บนทางในชนบท ทั้งคู่ได้พบกับขบวนเสด็จของจักรพรรดินี เกอเธ่แสดงความเคารพต่อองค์จักรพรรดินี แต่เบโธเฟนได้เดินทางเลยไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น รัฐบาลเยอรมันตะวันออก (1945-1989) ซึ่งมีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ถึงกลับยกย่องว่าเบโธเฟนเป็นคีตกวีของชนชั้นกรรมาชีพและดนตรีของเขาเปรียบได้ดังจิตวิญญาณและความงดงามของวัฒนธรรมเยอรมันที่เป็นป้อมปราการต่อสู้กับวัฒนธรรมอันเน่าเฟะของโลกตะวันตก รัฐบาลของเยอรมันตะวันออกพยายามใช้ประโยชน์จากเบโธเฟนถึงขั้นยกให้เป็นเทพที่เฝ้ามองและปกป้องประเทศเยอรมันเคียงคู่ไปกับเกอเธ่

กระนั้นสำหรับจีนในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (1966-1976) โดยแก๊ง 4 คนที่นำโดยนางเจียงชิง ภรรยาของเหมา เจ๋อตง ดนตรีคลาสสิกถูกโจมตีว่าเป็นความเสื่อมทรามของวัฒนธรรมตะวันตก เบโธเฟนถูกตีตราว่าเป็นชนชั้นกระฎุมพี แต่ดนตรีของเขาก็ยังไม่ถูกห้ามบรรเลงไปเสียทีเดียว  ในปี 1971 เฮนรี คิสซิงเจอร์ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของริชาร์ด นิกสันได้ไปเยือนกรุงปักกิ่งเป็นครั้งที่  2 โจว เอินไหล นายกรัฐมนตรีได้ขอให้วงซิมโฟนีของรัฐบาลจีนบรรเลงเพลงของเบโธเฟนเพราะคิสซิงเจอร์มีเชื้อสายเยอรมัน จากเดิมที่วาทยกรของวงได้วางรายการว่าจะเล่นซิมโฟนีหมายเลข 3 และ 5 แต่แก๊ง 4 คนก็บีบบังคับให้วงเล่นซิมโฟนีหมายเลข 6 ซึ่งบรรยายเกี่ยวกับความรู้สึกของเบโธเฟนเมื่อยามไปเยือนชนบทซึ่งมีการกล่าวถึงชาวนาหรือชนชั้นกรรมาชีพ  ภายหลังจากกลุ่ม 4 คนถูกจับกุมในปี 1976  สถานีวิทยุของรัฐบาลจีนได้เล่นเพลงของเบโธเฟนคือเปียโนโซนาตาที่ชื่อ  Appassionata โดยอ้างว่าเป็นเพลงโปรดของเลนินรวมไปถึงซิมโฟนีหมายเลข 5 ราวกับจะเป็นสัญญาณว่าการปฏิวัติวัฒนธรรมได้สิ้นสุดลงแล้ว

 

งานดนตรีชิ้นสำคัญของเบโธเฟน

ต่อไปนี้เป็นงานดนตรีบางส่วนซึ่งถูกนำมาใช้สำหรับสนับสนุนหรือตอกย้ำแนวคิดทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง

ซิมโฟนีหมายเลข 3  (Eroica)

เบโธเฟนได้เขียนซิมโฟนีหมายเลข 3 ในช่วงปี 1803-1804  เพื่อเป็นเกียรติแก่นโปเลียน โบนาปาร์ตซึ่งถูกมองว่าเป็นผู้ปลดปล่อยชาวยุโรปออกจากการกดขี่ของรัฐบาลที่ชั่วร้ายนับตั้งแต่ปฏิวัติฝรั่งเศส แต่เมื่อ นโปเลียนได้ปราบดาภิเษกจากกงสุลตลอดชีพมาเป็นจักรพรรดิ เบโธเฟนแสดงความโกรธกริ้วและขีดลบชื่อโบนาปาร์ตจากปกของสมุดโน้ตเพลงพร้อมทั้งด่าทอนโปเลียนว่าจะเหยียบย่ำสิทธิมนุษยชนและยกตัวเองเป็นทรราชในที่สุด ตำนานเช่นนี้ถูกอ้างโดยพวกเสรีนิยมหรือแม้แต่คอมมิวนิสต์ในการยืนยันว่าเบโธเฟนเป็นปรปักษ์กับชนชั้นปกครอง อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเบโธเฟนรู้สึกจงเกลียดจงชังนโปเลียนซึ่งอายุแก่กว่าเขาเพียง 1 ปี หากพิจารณาดูให้ดีแล้วเบโธเฟนจะชื่นชอบนโปเลียนในฐานะเป็นบุรุษเหล็กและเป็นกงสุลมากกว่าเป็นจักรพรรดิ ความรู้สึกของเบโธเฟนที่มีต่อนโปเลียนค่อนข้างผสมปนเป จนมีคนสันนิฐานว่านโปเลียนในยุคแรกอาจสะท้อนตัวตนในอุดมคติของเบโธเฟนเอง

ซิมโฟนีหมายเลข 5

เบโธเฟนเขียนงานชิ้นนี้ในปี 1804-1808 ถือได้ว่าเป็นซิมโฟนีที่โด่งดังและน่าจะคุ้นหูชาวโลกมากที่สุดโดยเฉพาะกระบวนแรกเพราะถูกนำแสดงบ่อยครั้งและนำมาประกอบสื่อต่างๆ ไม่ว่าโฆษณาหรือภาพยนตร์จนถึงปัจจุบัน  การเริ่มต้นของกระบวนแรกนั้นมีการตีความได้หลายกรณี เช่นมีผู้ตีความว่าเปรียบได้กับการเคาะประตูแห่งโชคชะตาอันเป็นเรื่องราวของเบโธเฟนเองที่ต้องต่อสู้กับอาการหูหนวกของตนที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ  จนไปถึงความผันผวนของชีวิตอันของเขาในช่วงบั้นปลาย แต่อีกท่านหนึ่งเห็นว่าได้แรงบันดาลใจมาจากการปฏิวัติฝรั่งเศส ดนตรีเปิดฉากด้วยกระบวนแรกที่ตื่นเต้นและรุนแรง ก่อนจะเปลี่ยนเป็นช้าเนิบนาบสลับเร็วในกระบวนที่ 2 และเพิ่มจังหวะเร็วขึ้นและสนุกสนานในกระบวนที่ 3  ปิดท้ายด้วยกระบวนที่ 4 ซึ่งขึ้นต้นด้วยพลังและความอลังการราวกับจะประกาศชัยชนะต่อโชคชะตา  ดนตรีชิ้นนี้ย่อมได้รับความนิยมและถูกออกเล่นเพื่อผลทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าการปลุกเร้าให้คนออสเตรียรู้สึกต่อต้านกองทัพของฝรั่งเศสหรือเป็นเพลงประกอบโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลเยอรมันในการทำสงครามโลกทั้ง 2 ครั้งหรือแม้แต่การปลุกระดมของพวกคอมมิวนิสต์ให้ประชาชนต่อต้านโลกตะวันตกที่เป็นพวกทุนนิยม

อุปรากรฟีเดลิโอ

อุปรากรเพียงเรื่องเดียวของเบโธเฟนเดิมมีชื่อว่าลีโอนอร่า เขาได้เขียนและแก้ไขเพลงโหมโรงถึงสี่ครั้ง ชื่อของอุปรากรจึงเปลี่ยนไปเป็นฟีเดลิโอ และได้นำออกแสดงใน วันที่ 20 พฤศจิกายน 1805 โดยมีผู้ชมคือทหารฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งภายหลังจากที่นโปเลียนนำกองทัพเข้ายึดกรุงเวียนนา เนื้อเรื่องของฟีเดลิโอก็คือหญิงสาวได้ปลอมตัวเป็นชายหนุ่มเพื่อจะแอบเข้าไปในคุกใต้ดินเพื่อปลดปล่อยสามีนักหนังสือพิมพ์ซึ่งถูกผู้มีอำนาจสั่งคุมขังไว้จนประสบความสำเร็จ ฉากสุดท้ายที่เป็นการประสานเสียงร้องระหว่างกลุ่มนักโทษที่บรรยายถึงความสุขจากการปลดปล่อยและการได้อยู่ร่วมกับครอบครัวอีกครั้งเปรียบได้กับบรรพบุรุษของส่วนร้องประสานใน "บทกวีแห่งความปีติ" (Ode to Joy) ของซิมโฟนีหมายเลข 9  แน่นอนว่าย่อมมีผู้ตีความของอุปรากรชิ้นนี้ว่าต่อต้านรัฐเผด็จการอำนาจนิยมที่เข่นฆ่าหรือกดขี่ประชาชนในประเทศต่างๆ  ได้ตั้งแต่พม่ากับนางออง ซานซูจีจนมาถึงนายบาชาร์ อัลอัสซาดของซีเรีย

เอกมอนต์ Egmont

ดนตรีประกอบเรื่องราวที่เบโธเฟนเขียนในช่วงปี 1809-18010 ที่บอกเล่าชีวประวัติของขุนนางที่ชื่อเอกมอนต์ซึ่งยอมสละชีวิตเพื่อให้เนเธอร์แลนด์ได้รับเอกราชจากสเปนเมื่อศตวรรษที่ 16 เพื่อยกย่องความกล้าหาญของมนุษย์ในการต่อสู้กับการกดขี่ของฝ่ายทรราช  ในช่วงที่ฮังการีได้พยายามก่อการปฏิวัติปลดแอกตัวเองออกจากการปกครองของสหภาพโซเวียตในปี 1956 ก็ได้ใช้เพลงโหมโรงของเอกมอนท์เป็นเพลงชาติของตนอย่างไม่เป็นทางการ

ซิมโฟนีหมายเลข 9

เบโธเฟนเขียนงานชิ้นนี้ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขาคือระหว่างปี 1822-1824  เป็นซิมโฟนีที่ไม่เหมือนงานชุดก่อนๆ ของเขาเพราะในกระบวนที่ 4  เบโธเฟนได้ยืมบทกวีของฟริดริช ชิลเลอร์มาดัดแปลงเป็นเสียงร้องประสานที่ชื่อบทกวีสู่ความปีติ อันทำให้ซิมโฟนีบทนี้ทรงอิทธิพลและมีคุณค่าที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยประดิษฐ์มาเนื้อหาสำคัญเป็นการบรรยายถึงภราดรภาพและความเป็นหนึ่งเดียวของมนุษยชาติ ซึ่งน่าจะสะท้อนถึงการที่เบโธเฟนได้รับจากอุดมคติของการปฏิวัติฝรั่งเศส  และซิมโฟนีบทนี้ก็ถูกนำมาผลิตซ้ำและตีความโดยนักคิดหัวเอียงซ้ายที่ต้องการยกย่องความเท่าเทียมกันของชนชั้น รวมไปถึงการร่วมมือกันระหว่างชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลก  สำหรับพวกนาซีนั้นแน่นอนว่าย่อมลังเลใจที่จะใช้ซิมโฟนีหมายเลข 9 ในการโฆษณาชวนเชื่อเพราะพวกเขาไม่เชื่อในเรื่องความรักใคร่สมานฉันท์ระหว่างพวกอารยันกับเชื้อชาติอื่นเช่นยิว ทว่าในที่สุดแล้วซิมโฟนีบทนี้ก็ได้รับการยอมรับจากนาซีดังเช่นวิลเฮล์ม เฟิร์ตแวงเลอร์ได้กำกับวงเบอร์ลิน ฟิลฮาร์โมนิกเพื่อบรรเลงซิมโฟนีหมายเลข 9 ในการฉลองครบรอบวันเกิดของฮิตเลอร์ในปี 1942

นอกจากนี้ทำนองของกระบวนที่ 4 ยังถูกใช้แทนเพลงชาติของทีมผสมของเยอรมันทั้งตะวันออกและตะวันตกในการแข่งขันโอลิมปิกระหว่างปี  1956 จนถึง 1968  เมื่อเยอรมันตะวันออกและกำแพงเบอร์ลินล่มสลายในปี 1989  ซิมโฟนีบทนี้ได้กลายเป็นตัวตอกย้ำความศักดิ์สิทธิ์ของการรวมประเทศเยอรมันราวกับจะบอกว่าทั้งคนเยอรมันตะวันออกและตะวันตกต่างมีความปีติในการเป็นพี่น้องอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้นวาทยกรชาวอเมริกันคือลีโอนาร์ด เบิร์นสไตน์ได้กำกับซิมโฟนีหมายเลข 9 ที่โรงละครในกรุงเบอร์ลินตะวันออกเพื่อเป็นเฉลิมฉลองการล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน โดยมีการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก เบิร์นสไตน์ได้เปลี่ยนคำในส่วนของการเสียงร้องประสานเสียใหม่คือจากบทกวีแห่งความปีติ(ภาษาเยอรมันคือ An die Freude) เป็นบทกวีสู่เสรีภาพ (An die Freiheit) เพื่อสะท้อนว่าคนเยอรมันตะวันออกได้เข้าสู่เสรีภาพภายหลังจากถูกคุมขังโดยคณาธิปไตยอย่างพรรคคอมมิวนิสต์  กระนั้นแนวคิดที่ว่าซิมโฟนีบทนี้เป็นตัวแทนของเสรีภาพไม่น่าจะเป็นแนวคิดใหม่ มีผู้บอกว่าแนวคิดเสรีภาพเป็นผลผลิตของการแสดงซิมโฟนีบทนี้ในฝรั่งเศสเมื่อปี 1882  หรือก่อนหน้าคอนเสิร์ตของเบิร์นไสตน์เพียงไม่กี่เดือน หนึ่งในแกนนำนักศึกษาที่ประท้วงในจัตุรัสเทียนอันเหมินของจีนได้เปิดซิมโฟนีหมายเลข  9 เพื่อจะเรียกร้องประชาธิปไตยและเสรีภาพจากพรรคคอมมิวนิสต์ก่อนจะโดนปราบปรามอย่างหนักจากกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน

ที่น่าจะกล่าวถึงในตอนท้ายนี้คือสหภาพยุโรปได้ใช้ทำนองของบทกวีแห่งความปีติเป็นบทเพลงประจำองค์กรอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1985 เพื่อแสดงถึงความรักและความสมานฉันท์ระหว่างชาวยุโรปด้วยกัน อย่างไรก็ตามแต่ความรักนี้จะรวมถึงผู้อพยพจากประเทศโลกที่ 3 ที่นับถือศาสนาอิสลามและชาวยุโรปตะวันออกที่อพยพเข้ามาอาศัยและทำงานในยุโรปตะวันตกจนทำให้เกิดกระแสต้านชาวต่างชาติด้วยหรือไม่นั้น เป็นสิ่งที่สหภาพยุโรปต้องหาคำตอบให้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net