Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บันทึกสั้นๆ จาก Filmsick ที่ตั้งข้อสังเกตจากละครซีรี่ส์ที่เป็นกระแสพูดคุยอยู่ในปัจจุบัน HORMONES วัยว้าวุ่น SEASON1

 


 

จริงๆประเด็นทั้งหมดของมันอยู่ใน Ep 1 มันคือเรื่องของวัยรุ่นแสร้งขบถเพื่อให้ใครสักคนมายืนยัน มาอธิบายว่าทางเลือกที่เขาอึดอัดขัดข้องต่อมันนั้นอันที่จริงถูกอยู่แล้ว เขาอยากเป็นอนุรักษ์นิยมแต่เป็นวัยรุ่นมันต้องขบถ หนังไม่ได้ขบถ แต่ตั้งคำถามว่าความเป็นขบถเป็นเพียงการหาคำอธิบายใหม่ๆ สำหรับการเป็นอนุรักษ์นิยม เอาจริงๆ ตัวละครที่ขบถที่สุดอาจจะคือวิน และแน่นอนเขาต้องถูกลงโทษ เพราะการขบถของวินไม่ได้ถูกทำให้เป็นการตั้งคำถามต่อระบบ แต่คือการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ซึ่งนี่คือวิธีที่อนุรักษ์นิยมมองขบถ
 
หนังไม่ได้พูดปัญหาอะไรของวัยรุ่นเลยสักอย่าง อันที่จริงโฟกัสของหนังคือความสัมพันธ์ของเด็กกับพ่อแม่ การเลือกปิดซีซั่นแรกด้วยภาพ insert เด็กกับครอบครัว คือการตอกย้ำว่าทางแก้คือครอบครัว อย่าลืมว่าถึงที่สุดตัวละครแทบทุกตัวกลับมาประนีประนอมกับครอบครัวในรูปแบบที่แตกต่างกันไป เด็กๆ ในหนังจึงไม่ใช่ภาพแทนของเด็กวัยรุ่นกับปัญหาหนักอกของเขาแต่เป็นภาพแทนของลูกแกะหลงทางที่ทุกปัญหาแก้ไขได้ในครอบครัว ตัวละครอย่างขวัญจึงพบทางออกง่ายๆ หรือแม้แต่เต้ยที่เป็นตัวละครที่ลึกที่สุดในหนังยังสามารถมีแม่และคัพเค้กเป็นที่พึ่งทางจิตใจ หมอกกับตาร์เป็นภาพรางๆ ของเด็กอินดี้ที่เข้ากับสังคมได้และออกจะเท่ (อินดี้จริงๆ ในเรื่องคืออ้อยใจกับสมพงษ์ ทำไมสองคนนี้โดนเรียกด้วยชื่อจริงล่ะ)
 
ตัวละครสไปรท์กับไผ่ที่ดูเหมือนจะถูกผลักไปสุดทั้งหญิงชาย (แรด/เกเร) ถึงที่สุดมีแบ็คอัพเป็นครอบครัวที่ดีอยู่ดี พวกเขาสามารถผ่านปัญหาไปได้  ถ้าแม่สไปรท์จะเป็นแม่ค้า พ่อไผ่ขี้เหล้าชีวิตคงจะพลิกไปอีกด้านหนึ่ง มันเลยกลายเป็นหนังสอนพ่อแม่ที่อยู่ใน safe zone อยู่แล้ว มันสบายตาสำหรับพ่อแม่ที่ทำตัวเหมือนครูอ้อ  ที่ไม่ได้มาตบตีลูกเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังอยากควบคุมลูกอยู่ดี หนังทำตัวเป็นนิยายสาธกของวัยรุ่นที่ทำตัวเหลวไหล แต่ไม่ได้บอกว่าชีวิตแกต้องฉิบหายอีกแล้ว แค่ตบหลังไหล่บอกว่า ลองดูให้ถึงที่สุดพอโตขึ้นลูกจะเข้าใจเอง แม่อีดาวเลยกลายเป็นคนหลุดยุคที่สุดในเรื่องที่ควบคุมลูกด้วยวิธีเดิมๆ (และแน่นอนโดนด่า)
 
ตัวละครที่หนักที่สุดเลยเป็นครูอ้อที่เป็นภาพแทนพ่อแม่ทั้งหมด ฉากครูอ้อเมินของขวัญลอกข้อสอบเป็นฉากที่อันตรายมาก คิดง่ายๆ ว่าถ้าเป็นอ้อยใจ สไปรท์ สมพงษ์หรือไผ่ ชะตากรรมคงต่างไปจากนี้มากๆ การตัดสินคนจากความดีงามในอดีตมากกว่าตัวบททำคนชิบหายมาเยอะมาก เพราะทุกอย่างพิจารณาตามตัวบทเท่านั้น ถ้าคิดว่ากฎไม่ยุติธรรม เราต้องแก้ที่กฏไม่ใช่แก้โดยบอกว่าเด็กมันดีมาก่อน ถ้าคิดว่าการลงโทษมันแรงไปต้องตีกันตรงนั้น ฉากนี้เลยเป็นฉาก safe zone ที่ทุกคนพร้อมจะเอาใจช่วย ทั้งที่จริงมันอันตรายสุดๆ
 
ดูเหมือนในฮอร์โมน การเป็นเกย์ไม่ผิดอีกแล้ว แต่การเป็นไบเซ็กส์ช่วลอาจจะเป็นปัญหา อย่างไรก็ดี คิดว่าหนังเล่าตัวละครสองตัวนี้ดีทีเดียว ในแง่ของความสับสนทางเพศ แต่อย่างที่บอก ภูมีแม่เป็นแบ็คอัพ เหมือนเดิม
 
สิ่งที่เจ็บปวดในหนังที่มีทุกอย่างยกเว้นความเจ็บปวดเรื่องนี้จึงคือ การเลิกแรดของสไปรท์ และการเลิกตีกันเพื่อแม่ (ผ่านทางความช่วยเหลือของศาสนา) ของไผ่  สไปรท์อาจจะโชคดีที่มีฐานคิดเรื่องสิทธิเหนือร่างกายตนเองจากแม่ (ซึ่งเป็นสิ่งที่ก้าวหน้าที่สุดของหนัง) แต่นั่นแหละ จะแรดหรือเกเรยังไง เด็กสองคนก็อยู่ใน safe zone ที่มีพ่อแม่เป็นผู้วิเศษมาช่วยชีวิต ในตอนจบ (ถ้าสไปรท์ไปอยู่ในหนังของดารืแดนน์ Jean-Pierre Dardenne ชีวิตเธอจะลำบากมาก) และการแรด เลิกแรดของเธอดำเนินไปเองโดยไม่ต้องมาต่อสู้กับตัวสังคมอื่นๆ เธอต่อสู้แค่ในตัวของเธอเองเท่านั้น เธอโชคดีที่โลกไม่รู้ว่าหนูแรด การต่อสู้ของเธอก็เลยสบายๆ  ตัวละครที่น่าสนใจอีกตัวคือดาว ที่เลิกจิ้นหลังจากโดนฟัน จริงๆ หนังยังไม่คลี่คลายตัวละครตัวนี้แต่มันน่าสนใจว่า วัฒนธรรมจิ้นถูกมองอย่างไร้เดียงสามากกว่าที่จะเป็นวิธีการระบายความปรารถนาทางเพศ
 
กล่าวโดยรวม ฮอร์โมนจึงเป็นหนังวัยรุ่นสำหรับสอนพ่อแม่ในอาณาเขตที่ปลอดภัย เป็นนิทานชาดกสมัยใหม่สำหรับขบถหัวอ่อน  ที่มีทุกอย่างยกเว้นความเจ็บปวดของการเป็นวัยรุ่น อย่างไรก็ดี เราก็รับหนังได้มากทีเดียว
 
สุดท้ายๆ เราไม่มีปํญหาที่หนังไม่มีตัวละครคนชั้นล่างเลย ไม่มีเด็กแว๊นซ์สาวสก๊อยซ์ ไม่มีเด็กที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจเลย เพราะเราเห็นกันอยู่ว่ากลุ่มเป้าหมายมันเป็นใคร แล้วมันก็ไม่ได้ผิดเลยที่จะนำเสนอปัญหาของคนชั้นกลางเพราะไม่ว่าจะรวยหรือจน ทุกชนชั้นก็มีปัญหาของตัวเองทั้งนั้น
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net