บางกอกโพสต์สัมภาษณ์ 'อมรา' ว่าด้วยรายงานความรุนแรงปี 53

อัจฉรา อัชฌายกชาติ สัมภาษณ์ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน อมรา พงศาพิชญ์  ว่าด้วยรายงานฉบับล่าสุดเรื่องความรุนแรงในเหตุการณ์ทางการเมืองปี 53 หลังจากถูกโจมตีจากสาธารณะอย่างกว้างขวาง

 
18 ส.ค. 56 - เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ได้ตีพิมพ์บทสัมภาษณ์ของ อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งสัมภาษณ์โดย อัจฉรา อัชฌายกชาติ เกี่ยวกับ "รายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรณีการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ระหว่างวันที่ 12-19 พฤษภาคม 2553" ที่เผยแพร่ออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นำมาซึ่งกระแสต่อต้านโดยเฉพาะจากฝ่ายพรรคเพื่อไทยและกลุ่มเสื้อแดงบางส่วน และถูกวิจารณ์ในประเด็นความเป็นกลางของข้อเท็จจริง และความครบถ้วนของข้อมูล เป็นต้น 
 

ศ.ดร. อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
 
0000
 
โดย ขวัญระวี วังอุดม 
 
ถาม: เหตุใดรายงานของกสม.ต่อเรื่องการชุมนุมเดือนเม.ย.-พ.ค. 2553 เผยแพร่หลังจากรายงานของคอป. ถึงหนึ่งปี
 
ตอบ: เราถูกวิจารณ์มานานแล้วเรื่องความล่าช้า และเราก็ได้ขออภัยไปแล้ว หลังจากที่ร่างแรกของรายงานถูกตรวจทาน เราก็ได้ตั้งอนุคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงแก้ไข และกระบวนการการเรียบเรียงใหม่ก็ต้องใช้เวลาในการขัดเกลา 
 
ทางคณะกรรมการได้ลงนามเห็นชอบในรายงานดังกล่าววันที่ 26 มิ.ย. และส่งรายงานไปยังนายกรัฐมนตรีวันที่ 17 ก.ค. ซึ่งเป็นขั้นตอนที่กำหนด
 
ถาม: ทำไมกสม.จึงไม่ทำการแถลงข่าว แต่เผยแพร่รายงานทางเว็บไซต์แทน 
ตอบ: เราถูกวิพากษ์วิจารณ์มาเยอะพอแล้ว และไม่อยากจะต้องมาหัวเสียกับเรื่องนี้อีก
 
ถาม: รายงานของคุณถูกกล่าวหาว่าอ้างอิงแต่เอกสารและปากคำจากฝ่ายรัฐ?
 
ตอบ: ไม่เป็นความจริง ผู้ที่มาให้ปากคำกับเรามีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม เช่น ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม เราติดต่อขอสัมภาษณ์ทั้งหมด 1,000 คน แต่มีเพียง 184 คนที่ยอมมาให้การ
 
ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าเราจะจัดพิมพ์รายละเอียดทั้งหมด รวมถึง คำสั่งการต่างๆและปากคำที่เกี่ยวข้อง แต่เราจะไม่เผยแพร่ต่อสาธารณะเว้นแต่จะมีการติดต่อขอเอกสารโดยตรง
 
ถาม: รายงานดูจะโน้มเอียงเข้าข้างรัฐบาลในขณะนั้นในการเข้าสลายการชุมนุม มากกว่ามุ่งตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน
 
ตอบ: เราไม่ได้ตั้งธงไว้ รัฐมีหน้าที่ปกป้องสิทธิของประชาชน แต่ผู้ชุมนุมเองก็มีหน้าที่ที่จะไม่ก้าวล่วงขอบเขตที่กฎหมายบัญญัติไว้ การจะเรียกร้องต่อรัฐบาลเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่สิ่งที่พวกเขาทำนั้นชอบธรรมแล้วหรือ?
 
ตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ว่าประชาชนมีสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติ ตอนที่รัฐบาลเข้าควบคุมการชุมนุม เราได้ตรวจสอบว่ามาตรการที่รัฐนำมาใช้นั้นเกินกว่าเหตุหรือได้สัดส่วนหรือไม่ 
 
ถาม: ทำไม กสม. ถึงกล่าวโทษชายชุดดำแทนที่จะอธิบายว่ารัฐทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างไรเหมือนอย่างรายงานของ คอป.?
 
ตอบ: เราไม่ได้มีรายงานวิถีกระสุนที่ทำโดยผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเหมือนอย่างที่ คอป. มีหรือจะไปตรวจสอบทิศทางการยิงอาวุธอะไรอย่างนั้นได้ เราไม่ได้ระบุว่าชายชุดดำมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายในวัดปทุม เราเพียงอ้างอิงการปรากฎตัวของพวกเขาในบางเหตุการณ์ เช่น 10 เมษา และ 13-19 พฤษภา 
 
ถาม: แต่มีคนวิจารณ์ว่าเนื้อหาของรายงานไม่ละเอียดรอบคอบ และยังตั้งคำถามต่อจังหวะเวลา (ในการจัดทำและเผยแพร่รายงาน - ผู้แปล)
 
ตอบ: ตอนนี้มีบางคดีที่เข้าสู่ชั้นศาล ฉะนั้นตามกฎหมาย กสม.ไม่มีอำนาจในให้ความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อเรื่องเหล่านั้นได้
 
การเผยแพร่รายงานซึ่งดันตรงกับที่กำลังมีการอภิปราย พรบ.นิรโทษกรรมนั้นเป็นความบังเอิญ แต่อาจถูกทำให้เป็นการเมืองโดยคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์
 
ถาม: มีการเรียกร้องให้อาจารย์ลาออกจากการเป็นประธานกรรมการสิทธิ อาจารย์กังวลไหม?
 
ตอบ: ไม่กังวลแต่รู้สึกหงุดหงิดและเบื่อ ใครก็ตามที่ต้องการถอดถอนเราออกจากตำแหน่งก็ต้องทำตามกระบวนการ ก็ต้องรวบรวมรายชื่อตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ จากนั้นขึ้นอยู่กับวุฒิสมาชิกที่เป็นคนโหวตเลือกเราเข้ามาว่าจะเตะเราออกจากตำแหน่งหรือไม่
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท