Skip to main content
sharethis

ย้อนดูคำพิพากษาในชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ ก่อนฟังคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 21 ส.ค.นี้ กับคดี 112 ของนักเขียนเจ้าของฉายา “กึ่งบ้า กึ่งอัจฉริยะ”


 

1
พื้นเพชีวิต


สมอลล์ บัณฑิต อานียา เป็นนามปากกาของ จือเซ้ง แซ่โคว้ ปัจจุบันอายุ 72 ปี พ่อแม่และย่าของเขาเดินทางมาจากประเทศจีนและมาอาศัยอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา บัณฑิตเล่าเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วจึงหนีออกจากบ้านไปเผชิญชีวิตลำพัง  มารดาของบัณฑิตถูกพ่อของเขาตบตีเป็นประจำและมีอาการทางจิตจนต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ท้ายที่สุดได้เสียชีวิตลงที่นั่น

“แม่ของผมถูกเตี่ยของผมตีจนเป็นบ้า และถูกข่มขืน จนตั้งท้องขึ้นมา เตี่ยของผมพาแม่ของผมมาส่งที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาที่ปากคลองสาน และเขามิได้ส่งเงินค่ารักษาพยาบาลให้แก่ทางโรงพยาบาลสำหรับแม่ของผมเลย” ตอนหนึ่งในหนังสือชีวประวัติส่วนตัวระบุ

ประวัติชีวิตของเขาค่อนข้างโลดโผน และออกจะแปลกประหลาด ปี 2503 ขณะที่เป็นสามเณรอายุ 18 ปี เขาเขียนจดหมายถึง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และถูกตำรวจสันติบาลสอบสวนอย่างหนักเนื่องจากคาดว่าเขาเป็นคอมมิวนิสต์ตัวเอ้ แต่สุดท้ายก็รอดมาได้ หลังจากนั้น ในปี 2508 เขาเอามุ้งไปกางนอนหน้าสถานทูตรัสเซีย  พร้อมเขียนข้อความติดกำแพงสถานทูตว่า “it is better to die in Moscow than to stay in Thailand” มูลเหตุจูงใจเนื่องจากอยากไปอยู่รัสเซีย  ไม่นานนักเขาก็โดนจับส่งโรงพยาบาลศรีธัญญา อยู่ที่นั่น 42 วัน และออกมาได้เนื่องจากทำร้ายตัวเองด้วยการเอาแก้วแทงขาและไม่ยอมเปิดปากให้นำไม้พันผ้าเข้าไปในปากเพื่อป้องกันการกัดลิ้นขณะช็อตไฟฟ้า ทั้งหมดนี้เพื่อขัดขืนการรักษา

“เขาจะเอาไฟฟ้าช็อตสมองเพื่อล้างสมองผม” เขากล่าว

ต่อมาปี 2518 เขาทำหนังสือ “ดาวแดง” และนั่นเป็นเหตุให้เขาถูกจับส่งโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อรักษาอาการโรคจิตเป็นครั้งที่ 2 เนื่องจากมีคนไปแจ้งความว่าหนังสือดังกล่าวหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ  เมื่อตำรวจสอบปากคำก็ส่งตัวให้หมอในโรงพยาบาลจิตเภท และเมื่อหมอทำความเห็นส่งกลับให้ตำรวจว่าเขาเป็นโรคจิต เขาก็ถูกปล่อยตัวโดยไม่ได้ถูกดำเนินคดี

ครั้งที่ 3 คือที่สถาบันกัลยาราชนครินทร์ ในปี 2547 สืบเนื่องจากคดีมาตรา 112 ในปัจจุบัน ซึ่งศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษาวันที่ 21 ส.ค.นี้

ในเอกสารชีวประวัติส่วนตัว เขาระบุถึงข้อสังเกตต่อคดีของเขา ดังนี้

“ข้อที่น่าสังเกตเป็นอย่างยิ่งในคดีของผมนี้มี 3 ประการ คือ
1.ผมไม่ได้ให้การเกี่ยวกับคดีนี้เลย ข้อความที่ผมถูกกล่าวหาว่าหมิ่นสถาบันกษัตริย์นั้น ผมมิได้ชี้แจงในศาลแม้แต่ครั้งเดียวและแม้แต่คำเดียวว่า ข้อความนั้นมิได้หมิ่นสถาบันกษัตริย์อย่างไร

2. เมื่อศาลถามผม 12 วันต่อครั้งว่า ศาลจะขังผมต่อไป ผมจะคัดค้านหรือไม่ และต่อคำถามนี้ผมตอบไปทุกครั้งว่า ผมคัดค้านการที่ศาลจะขังผมในระหว่างที่ศาลยังไม่ได้ให้ผมประกันตัว

3.ข้อนี้สำคัญมากที่สุด กล่าวคือ การที่พยานผมทั้ง 4 ท่าน ให้การต่อศาลว่าผมเป็นโรคจิต การให้การเช่นนี้ มีผลรับในทันทีว่า ผมหมิ่นสถาบันกษัตริย์จริง และการที่ผมหมิ่นสถาบันกษัตริย์นั้นเพราะว่าผมเป็นโรคจิต  ทั้งๆ ที่โดยความจริงแล้ว ผมมิได้เป็นโรคจิตและไม่ได้หมิ่นสถาบันกษัตริย์แต่อย่างใดทั้งสิ้น

ในกรณีอันเจ็บปวดที่ได้รับจากการตัดสินของศาลอุทธรณ์เช่นนี้ ผมจึงมีความเห็นและมีความต้องการให้คดีนี้ได้รับการพิจารณาใหม่ โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

ให้มีการพิจารณาโดยเปิดเผย มิใช่พิจารณาเป็นการลับอย่างที่กระทำกันมา

ข้อความที่ถูกกล่าวหา ผมสามารถชี้แจงว่าข้อความนั้นมิได้หมิ่นสถาบันอย่างไร ขอโอกาสให้ได้ชี้แจงโดยยกเอาอาการโรจิตของผมออกไปเสีย

ให้นำเอาคำให้การของพยานฝ่ายโจทก์ทั้งหมดขึ้นมาเพื่อผมจะได้ชี้แจงคำให้การนั้นว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะเอาผิดและลงโทษ

คำถามสำคัญที่สุดในคดีหมิ่นสถาบันกษัตริย์ที่ผมตกเป็นจำเลยนี้ คือ

1.เป็นการกระทำที่สมควรหรือไม่ที่ศาลออกหมายจับผมเข้าคุกเลย แทนที่จะเป็นเพียงหมายเรียก

2.เป็นการกระทำที่สมควรหรือไม่ที่เลขาธิการองคมนตรีคนหนึ่ง มาเป็นพยานฝ่ายโจทก์ในคดีนี้

3.เป็นการสมควรหรือไม่ที่ศาลจะพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ

4.เป็นการสมควรหรือไม่ ที่ศาลไม่ให้ประกันตัวจำเลย จนกระทั่งถูกขังอยู่ในเรือนจำนาน 98 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวในที่สุด”

2
รายละเอียดคดี

  • คดีนี้บัณฑิตถูกฟ้องว่ามีความผิดในมาตรา 112  
  • เหตุเกิดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2546
  • (กรรมที่ 1) การพูดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของเขาภายหลังการประชุมสัมมนาของ กกต. ร่วมกับศาลรัฐธรรมนูญที่จัดขึ้นในหัวข้อ “กฎหมายพรรคการเมือง: โอกาสและข้อจำกัดในการส่งเสริมและพัฒนาพรรคการเมือง” มีคนเข้าร่วมประมาณ 500 คน
  • (กรรมที่ 2) ภายในงานสัมมนาดังกล่าว เขาขายเอกสาร 2 ชุดที่มี (ชุดละ 20 บาท) ในชื่อว่า “สรรนิพนธ์เพื่อชาติ (ฉบับตัวอย่าง)” และ “วรสุนทรพจน์ (ฉบับร่าง) เนื่องในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร”
  • ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ  ประธาน กกต. (ขณะนั้น)
  • ทนายจำเลยคือ ทนายความจากสภาทนายความ โดยคำแนะนำของ ทองใบ ทองเปาด์
  • จำเลยถูกจับกุมในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 และถูกคุมขังอยู่ 98 วัน จึงได้รับการประกันตัวด้วยเงินสด 200,000 บาท โดยความช่วยเหลือ ดร.ปีเตอร์ โคเร็ท นักวิชาการอิสระชาวอเมริกันที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ไทย เคยมีงานเขียนเรื่องเกี่ยวกับนายนรินทร์ กลึง
  • ในเอกสารชีวประวัติที่บัณฑิตจัดทำขึ้นเอง บรรยายช่วงเวลาที่ถูกจับกุมว่า “ในระหว่างที่ผมถูกขังอย่างแสนทรมานที่เรือนจำ ผมเกือบถูกเจ้าหน้าที่เรือนจำในแผนกรูปพรรณสัณฐานกระทืบผม เจ้าหน้าที่เรือนจำคนนี้เป็นคนรักชาติ รักศาสนาและรักสถาบันกษัตริย์ยิ่งชีพ นายคนนี้ได้ด่าผมด้วยคำว่า “ไอ้เหี้ย! ไอ้สัตว์! มึงเอาความแก่ของมึงมาหมิ่นกษัตริย์ด้วยความหวังว่า ผู้คนจะไม่กระทืบมึงหรือไง? กูนี่แหละจะกระทืบมึงให้แหลกคาซ่นตีนกู ฯลฯ, ฯลฯ, ฯลฯ” ผมตกตะลึงอย่างไม่คาดฝันว่าจะมาเจอมนุษย์พรรค์อย่างนี้เข้า ผมรีบคุกเข่าและยกมือพนมไหว้นายถ่อยสถุลคนนี้และไม่ได้พูดโต้ตอบแม้สักคำหนึ่ง ในตอนนั้นที่ผมต้องคุกเข่าและยกมือไหว้นายคนนี้ ผมนึกถึงคำพูดของ พล.อ.อ.หริณ หงสกุล ที่ว่า “ถ้าเราถูกบังคับให้จำต้องยกมือไหว้คนที่เราไม่อยากจะยกมือไหว้มัน ก็ขอให้เรายกมือไหว้มันแล้วนึกเสียว่าเรายกมือไหว้หมาก็แล้วกัน””
  • จำเลยถูกศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2549 ให้จำคุก 4 ปี  แต่ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี


“จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ประกอบด้วยมาตรา 65 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 จำเลยกระทำผิดรวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี เห็นว่าจำเลยอายุ 64 ปี ป่วยด้วยโรคจิตและไม่ปรากฏว่าเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนเห็นควรให้โอกาสจำเลยบำบัดรักษาเพื่อจะได้หายเป็นปกติและเป็นพลเมืองดีต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี ให้คุมความประพฤติจำเลยไว้ โดยให้จำเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติและไปบำบัดรักษาอาการป่วยทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ โดยให้รายงานผลการรักษาต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ริบของกลาง”

  • ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีเป็นการลับ
  • พยานโจทก์ในคดีนี้ เช่น  พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ  ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ขณะนั้น), รศ.ชูศักดิ์ ศิรินิล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ขณะนั้น), รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และเคยรักษาการในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง, นายเชาวนะ ไตรมาศ ผอ.สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา สำนักงานรัฐธรรมนูญ, นางเบญจวรรณ บุณณดิลก พนักงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย, นางบุญครอง นิปวณิชย์ เลขาธิการพรรคเผ่าไทย, นายอินทร์จันทร์ บุราพันธ์ เลขาธิการองคมนตรี สำนักราชเลขาธิการ
  • บางส่วนของคำพิพากษาระบุว่า  การกล่าวว่าควรติดรูปตราชั่งอย่างเดียวในห้องพิจารณาคดีนั้น เห็นว่าเป็นการดูหมิ่น เพราะการพิจารณาคดีในศาลยุติธรรมต้องทำในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ และในห้องพิจารณาคดีจะมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเหนือบัลลังก์ศาล การที่จำเลยกล่าวเช่นนั้นมีความหมายทำนองว่า ไม่ควรนำพระบรมฉายาลักษณ์ไปติดไว้ ถ้อยคำดังกล่าวแสดงถึงการไม่ถวายความเคารพองค์พระมหากษัตริย์


เรื่องการลดหรืออภัยโทษ จำเลยมุ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีพระราชอำนาจอภัยโทษแต่เพียงพระองค์เดียว จำเลยเขียนทำนองว่านั่นเป็นการสร้างพระบารมี ซึ่งความจริงแล้วพระมหากษัตริย์ใช้พระราชอำนาจในการลดโทษหรืออภัยโทษ โดยเป็นการพระราชทานพระเมตตา และทรงปฏิบัติตามหลักทศพิธราชธรรม ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

เรื่องผู้มีอำนาจอยู่เหนือสิ่งต่างๆ แต่ต้องไม่ให้อยู่เหนือความเป็นธรรม เป็นความเห็นทำนองว่า พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเหนือคนทั้งประเทศและเหนือความเป็นธรรม ควรจะจำกัดขอบเขตพระราชอำนาจ ซึ่งความจริงแล้วพระมหากษัตริย์มิได้อยู่เหนือกฎหมาย พระองค์อยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และเป็นผู้ที่ให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลในแผ่นดิน ไม่เคยทำให้ประชาชนเดือดร้อน ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการดูหมิ่น

เรื่องการยกหมาสูงกว่าคนนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยูหัวทรงพระราชนิพนธ์เรื่องคุณทองแดงโดยมีสาระสำคัญว่า สุนัขมีความกตัญญูรู้คุณ แต่มิได้ประสงค์ที่จะเปรียบเทียบระหว่างคนกับสุนัข ถ้อยคำดังกล่าวเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

“ศาลเห็นว่าพยานโจทก์ทุกปากเป็นผู้อยู่ในเหตุการณ์ ได้ฟังคำกล่าวของจำเลยในการประชุม และเป็นผู้ที่อ่านข้อความในเอกสาร ล้วนเบิกความให้ความเห็นว่า ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวและข้อความที่เขียนนั้น จำเลยเจตนาหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมถึงพระราชินี  ใส่ความว่าทรงอำนาจล้นฟ้าล้นแผ่นดิน ทรงอยู่เหนือกฎหมายและความเป็นธรรม ทรงยกย่องสุนัขยิ่งกว่าคน และทรงใช้พระราชอำนาจในการลดโทษหรืออภัยโทษแก่นักโทษเพื่อเป็นการสร้างพระบารมีแก่พระองค์ และไม่ควรมีพระบรมฉายาลักษณ์ประดับอยู่เหนือบัลลังก์ศาล

พยานโจทก์ทั้งหมดล้วนแต่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิหลายสาขาอาชีพ  ทั้งข้าราชการพลเรือน นักการเมือง ครูอาจารย์ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ ต่างไม่เคยรู้จักกับจำเลยเป็นการส่วนตัว ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกัน  ไม่มีเหตุที่พยานโจทก์จะกลั่นแกล้งเบิกความแสดงความเห็นปรักปรำจำเลยเพื่อให้ต้องได้รับโทษทางอาญา น่าเชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความให้ความเห็นโดยสุจริตและเป็นธรรม ความเห็นดังกล่าวย่อมรับฟังได้ และเมื่อศาลพิเคราะห์ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวและข้อความที่จำเลยเขียนแล้วเห็นว่า แม้จำเลยจะมิได้ระบุชื่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยชัดแจ้ง โดยใช้คำว่าผู้ปกครอง แต่ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์นำสืบก็แปลเจตนาจำเลยได้ว่า จำเลยกล่าวโดยมุ่งหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร และพระบรมวงศานุวงศ์ เพราะข้อเท็จจริงบางตอนนั้นเป็นพระราชอำนาจโดยตรงของพระมหากษัตริย์เท่านั้น  

เมื่อพิจารณาถึงฐานะที่ทรงดำรงอยู่และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 2 ที่ว่าประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มาตรา 8 วรรคแรกที่ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ วรรคสองที่ว่า ผู้ใดจะกล่าวหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ มาตรา 10 ที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย มาตรา 66 ที่ว่า บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และมาตรา 71 ที่ว่า รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ เอกราช และบูรณภาพแห่งอาณาเขต

นอกจากนี้ ยังมีประมวลกฎหมายอาญาที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ฯ ไว้เป็นพิเศษ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงดำรงอยู่ในฐานะพระประมุขของประเทศ ทรงเป็นเคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดหรือใช้สิทธิและเสรีภาพให้เป็นปฏิปักษ์ในทางหนึ่งทางใดมิได้ ทั้งรัฐและประชาชนต่างมีหน้าที่ต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ ให้ดำรงคงอยู่คู่ประเทศตลอดไป ไม่เพียงแต่กฎหมาย แม้ในความรู้สึกนึกคิดของประชาชนชาวไทยอันมีต่อสถาบันกษัตริย์ ก็ให้ความเคารพสักการะและยกย่องเทิดทูนไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมตลอดมาตั้งแต่โบราณกาล  การจะกล่าววาจาหรือเขียนข้อความจาบจ้วงล่วงเกิน เปรียบเทียบ เปรียบเปรยหรือเสียดสีให้เป็นที่ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทนั้น หามีบุคคลใดกล้าบังอาจไม่ จากถ้อยคำที่จำเลยกล่าวและข้อความที่จำเลยเขียนฟังได้ว่า จำเลยกล่าวและเขียนโดยมุ่งหมายถึงทั้งสามพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งถ้อยคำและข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างไร เพราะข้อเท็จจริงเป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศว่า ทั้งสามพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจและทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมายนานัปการเพื่อประโยชน์สุของประชาชน มิได้ดำรงตนอยู่เหนือกฎหมาย ทรงปฏิบัติตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญและหลักธรรมสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์  โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ทรงทศพิธราชธรรมและมีเมตตาในธรรมในการที่จะลดโทษหรืออภัยโทษแก่นักโทษ โดยมิได้สร้างพระบารมีในเรื่องดังกล่าวเพื่อประโยชน์ส่วนพระองค์แต่อย่างใด ทั้งไม่เคยกดขี่ข่มเหงประชาชนชาวไทย มีแต่พระราชทานความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน ศาลเห็นว่าถ้อยคำที่จำเลยกล่าวและข้อความที่จำเลยเขียนนั้น เป็นการลบหลู่และใส่ความตลอดจนแสดงความอาฆาตมาดร้ายโดยประการที่น่าจะทำให้ทั้งสามพระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง”

ที่จำเลยสู้ว่าจำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้าย ทั้ง 3 พระองค์นั้น เห็นว่าจำเลยจะมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือไม่ มิใช่ถือตามความเข้าใจของจำเลยซึ่งเป็นผู้กล่าวถ้อยคำและเขียนข้อความ หากจะต้องพิจารณาจากความหมายของถ้อยคำและข้อความนั้น และถ้าจำเลยประสงค์ที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมหรือความเท่าเทียมกันในสังคม ก็ย่อมเป็นสิทธิของจำเลยที่จะกล่าวหรือเขียนได้ แต่มีเหตุผลจำเป็นอย่างใดที่จำเลยจะต้องยกเอาสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นเคารพสักการะของประชาชนและไม่เคยทรงกดขี่ข่มเหงประชาชนให้ได้รับความเดือดร้อนมากล่าวในทางให้เสื่อมเสีย ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อมา มีว่า จำเลยกระทำความผิดไปในขณะที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือนหรือไม่ ได้ความจากรายงานการตรวจวินิจฉัยทางนิติจิตเวช ตลอดจนคำเบิกความของแพทย์ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ผู้ตรวจอาการทางจิตของจำเลยว่า จำเลยเคยเข้ารักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลศรีธัญญา และสถาบันจิตเวชศาสตร์ สมเด็จเจ้าพระยา เมื่อปี 2508 และปี 2518 ตามลำดับ แต่จำเลยปฏิเสธความเจ็บป่วยทางจิต ไม่ร่วมมือรับประทานยา และไม่ได้รับการรักษาต่อ จำเลยประกอบอาชีพเขียนหนังสือ และแปลหนังสือ มีระดับเชาว์ปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ พบแนวคิดที่ผิดปกติชัดเจน เนื้อหาค่อนข้างแปลกประหลาดและผิดปกติไปจากเกณฑ์ปกติ มีปัญหาเรื่องการควบคุมอารมณ์ ไม่ไว้วางใจใคร มีลักษณะต่อต้านบุคคลอื่น จำเลยเป็นโรคจิตหวาดระแวงที่มีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ขาดการรักษา เห็นควรจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่อง

ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยป่วยด้วยโรคจิตมาตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุและยังคงป่วยมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน แต่ตามคำเบิกความของแพทย์ยืนยันว่าผู้ป่วยด้วยโรคจิตเภทแบบจำเลยสามารถที่จะดำเนินชีวิตได้ตามปกติได้ บุคคลทั่วไปมิได้ใกล้ชิดกับจำเลยจะดูไม่ออกว่าจำเลยป่วยด้วยโรคจิตเภท ทั้งยังปรากฏอีกว่าจำเลยสามารถดำรงชีพของตนได้ด้วยการเขียนหนังสือและแปลหนังสือมาโดยตลอด รวมทั้งทำงานเป็นบรรณาธิการวารสารสันติสาส์นอยู่ด้วย ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวและข้อความที่จำเลยเขียนแม้มีลักษณะเพ้อฝันค่อนข้างมาก แต่ก็สามารถอ่านรู้เรื่องและสื่อความหมายได้ครบถ้วน หาใช่เป็นข้อวามสะเปะสะปะอ่านไม่รู้เรื่องไม่ พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่า สภาวะจิตใจของจำเลยในขณะกระทำผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างและยังสามารถบังคับตนเองได้ จำเลยจึงต้องรับโทษในการกระทำความผิดของตน แต่ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงไหนก็ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคสอง”

  • วันที่ 17 ธันวาคม 2550 ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ


“โจทก์อุทธรณ์ไม่ให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและสามารถบังคับตนเองได้หรือไม่ ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์ข้อความในข้อเขียนเรื่องสรรนิพนธ์เพื่อชาติ (ฉบับตัวอย่าง) ข้อเรียนเรื่องวรสุนทรพจน์ (ฉบับร่าง) และถ้อยคำพูดตามเอกสารถอดเทปคำพูด ปรากฏอย่างชัดเจนว่าข้อความทุกข้อความและทุกตอนดังกล่าวเป็นข้อความที่คนทั่วไปอ่านหรือรับฟังแล้ว สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด ไม่ปรากฏให้เห็นว่า อ่านแล้วไม่เข้าใจข้อความใด หรือเป็นการเขียนแบบสติเลอะเลือน เพียงแต่เป็นข้อความหรือผลงานที่มีที่มาจากภูมิหลังที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากครอบครัว และได้รับอิทธิพลจากแนวคิดด้านหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมา วัฒนธรรมประเพณี การปกครองและกฎหมายของประเทศไทย อันเป็นวิธีการเขียนและกล่าวแบบเสียดสีและประชดประชันเท่านั้น นอกจากนี้ข้อความเกือบทุกข้อความและทุกตอนดังกล่าว เป็นข้อความที่สอดคล้องเป็นเอกภาพ และมีวัตถุประสงค์อย่างเดียวกันโดยชัดแจ้ง คือ ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่ให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจอยู่เหนือสถาบันต่างๆ รวมทั้งกล่าวหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ในลักษณะเสียดสีว่า เอารัดเอาเปรียบประชาชน เหยียดหยามคุณค่าแห่งความเป็นคนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน และอื่นๆ ดังนั้น จึงเชื่อได้แน่ชัดว่า ขณะจำเลยเขียนหรือกล่าวข้อความดังกล่าว จำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและสามารถบังคับตนเองได้ทั้งหมด ส่วนที่แพทย์ลงความเห็นและเบิกความว่า จำเลยเป็นโรคจิตประเภทหวาดระแวงและมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ไม่ปรากฏว่า ขณะจำเลยกระทำความผิดดังกล่าว จำเลยมีอาการเป็นโรคจิตประเภทหวาดระแวง และเป็นผลทำให้จำเลยไม่สามารถรู้ผิดชอบและไม่สามารถบังคับตนเองได้ทั้งหมดหรือบางส่วน  ดังนั้น จึงฟังได้ว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบและสามารบังคับตนเองได้ และมิใช่กรณีขณะกระทำความผิดจำเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย เมื่อฟังได้ดังกล่าวแม้ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 63 ปี ก็ไม่สมควรรอการลงโทษให้จำเลย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น 

พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 65 วรรคสอง จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าได้เขียนและกล่าวข้อความตามฟ้องจริง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรลดโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ไม่รอการลงโทษและไม่คุมความประพฤติจำเลย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษา”

  • ดร.ปีเตอร์ โคเร็ท เพิ่มวงเงินประกันเป็น 300,000 บาท และบัณฑิตได้รับการประกันตัว

 

  • 10 กรกฎาคม 2551 จำเลยยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ระบุโดยสรุปว่า ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่ปรากฏว่าขณะจำเลยกระทำความผิดจะมีอาการเป็นโรคจิตนั้น ตามคำเบิกความของแพทย์นั้นระบุการวินิจฉัยกระทำในรูปคณะกรรมการซึ่งมีจิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ เจ้าหน้าที่อาชีวบำบัด  กระทำอย่างมีกระบวนการละเอียด สรุปความเห็นว่าจำเลยมีอาการป่วยทางจิตเรื้อรัง อาการเด่นคือ ความคิดหวาดระแวง การใช้เหตุผลไม่เหมือนคนทั่วไป พิเคราะห์ข้อเขียนจำเลยหากอ่านในระยะแรกจะไม่พบความผิดปกติแต่เมื่ออ่านไปประมาณสองหน้าก็จะพบความผิดปกติ เนื้อหามีลักษณะกระโดดไปมา และพยานผู้เป็นแพทย์ก็ระบุว่าอาการป่วยโรคจิตเภทนั้นจะมีอยู่ตลอดเวลา แต่การแสดงออกถึงความผิดปกติจะมากหรือน้อยแล้วแต่ปัจจัยอื่นๆ  

จำเลยอายุมาก จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน นอกจากป่วยทางจิตแล้วทางกายของจำเลยยังมีโรคประจำตัว คือ ต่อมลูกหมากโต เนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่ปกติมีอาการปวดมาก โรคภูมิแพ้ และยังพบว่าเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ กดทับท่อไต จึงขอศาลฎีกาโปรดให้ความเมตตารอการลงโทษไว้ เพื่อให้โอกาสจำเลยได้รับการรักษาและปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีต่อไปในช่วงบั้นปลายชีวิต

  • 21 สิงหาคม 2556 ศาลฎีกานัดฟังคำพิพากษา ณ ศาลอาญา กรุงเทพฯใต้


“........................................................................”

 

หมายเหตุ จำเลยขอศาลเลื่อนอ่านคำพิพากษา 2 ครั้ง โดยระบุว่าเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเนื่องจากมีโรคประจำตัวหลายโรค ล่าสุด ศาลนัดฟังคำพิพากษาฎีกา วันที่ 17 ก.พ.2557

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net