ฉัตรทิพย์ นาถสุภา: ภารกิจเพื่อชาติเพื่อ Humanity ของจำกัด พลางกูร

จำกัด พลางกูร (พ.ศ. 2457 - 2486) แกนนำเสรีไทยในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา ที่ห้อง LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการปาฐกถาเพื่อรำลึก 68 ปี วันสันติภาพไทย หัวข้อ "ภารกิจเพื่อชาติเพื่อ Humanity ของจำกัด พลางกูร กับเอกราชของไทย" โดย ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ นาถสุภา นักเศรษฐศาสตร์การเมือง และ "ปรีดี พนมยงค์ ศาสตราภิชาน" ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ศ.ดร.ฉัตรทิพย์ เริ่มอภิปรายว่า ในวันนี้เมื่อ 68 ปีที่แล้ว  1 วันหลังจากญี่ปุ่นประกาศยุติสงคราม นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการรัชกาลที่ 8 ได้ประกาศสันติภาพในนามพระปรมาภิไธย ให้การประกาศสงครามที่ไทยทำต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่ เมื่อ 25 มกราคม พ.ศ. 2485 เป็นโมฆะ เนื่องจากขัดต่อเจตจำนงค์ของประชาชนชาวไทยและรัฐธรรมนูญ โดยที่ปรีดีกล่าวว่าประชาชนชาวไทยทั้งในและนอกประเทศได้ช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่น มาตั้งแต่วันที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทยคือ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ทำให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ไม่ต้องทำเอกสารยอมจำนน ไม่ถูกปลดอาวุธ ไม่ถูกยึดครอง ไม่เสียค่าปฏิกรรมสงคราม และที่สำคัญไม่เสียเอกราช

เพียงแต่คำประกาศสันติภาพไม่อาจทำให้ไทยรักษาเอกราชได้ ผมได้มารับทราบความจริง จากการศึกษาเรื่องราวของขบวนการเสรีไทยอย่างจริงจัง ในช่วงที่ผมได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยธุรกิจ เป็นปรีดี พนมยงค์ ศาสตราภิชาน ว่าประเทศไทยของเราอยู่ในฐานะที่เสี่ยงมากต่อการถูกปรับให้เป็นประเทศผู้แพ้สงคราม เพราะเมื่อ 8 ธันวาคม 2484 รัฐบาลไทยโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยินยอมให้ญี่ปุ่นเข้ามาในประเทศไทย และใช้ไทยเป็นฐานที่มั่นและทางผ่านไปสู่ดินแดนอื่นๆ ที่เป็นอาณานิคมอังกฤษยึดครองอยู่คือพม่าและมลายู และอีก 3 วันคือวันที่ 11 ธันวาคม จอมพล ป. ลงนามในสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่น และวันที่ 25 มกราคม 2485 ไทยประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และต่อมาส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามเป็นฝ่ายญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย อังกฤษโกรธมากและประกาศสงครามตอบโต้ไทยในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2485 แต่สหรัฐอเมริกาไม่ได้ประกาศสงครามต่อ ถือว่าไทยเป็นดินแดนที่ถูกยึดครอง ไม่ได้เป็นผู้ร่วมในสงคราม

ผมยังได้ค้นพบอีกว่า มีการประชุมของสัมพันธมิตรที่ควิเบกเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2486 ตกลงให้ดินแดนไทยและอินโดจีนเหนือเส้นขนานที่ 16 หรือประมาณ จ.พิจิตร ขึ้นไปเป็นเขตยุทธภูมิหรือเขตปฏิบัติของทหารจีน และใต้เส้นขนานที่ 16 ลงมาเป็นเขตของอังกฤษ หมายความว่าหากไทยเป็นฝ่ายแพ้สงคราม อาจถูกยึดครอง ถูกแบ่งแยกดินแดนให้แก่อังกฤษและจีน และเมื่อสงครามสิ้นสุดโดยกระทันหัน จีนมีท่าทีจะเคลื่อนพลลงมาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในไทยโดยเร็ว ดีแต่ว่านายปรีดี พนมยงค์ ได้รีบแจ้งให้สหรัฐอเมริกาทราบเสียก่อน

การที่รัฐบาลจอมพล ป. เข้าร่วมเป็นฝ่ายอักษะ จึงน่าจะไม่ใช่จำใจ จำยอมเสียทีเดียว มีงานเขียนวิชาการของนักวิชาการหลายท่านระบุว่าจอมพล ป. เชื่อโดยสุจริตใจว่าญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายชนะสงคราม เพราะปีแรกๆ ของสงครามฝ่ายอักษะ คือญี่ปุ่น และเยอรมนี มีชัยในสนามรบหลายแห่ง แต่นายปรีดี และปัญญาชนฝ่ายปรีดี ซึ่งนิยมตะวันตกเชื่อว่าสัมพันธมิตรจะเป็นฝ่ายชนะ เพราะเห็นกับตาตอนไปเรียนในต่างประเทศว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ฝ่ายพันธมิตร เหนือกว่าฝ่ายญี่ปุ่นมากทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ เพราะผลิตแบบ Mass-Production ยิ่งเมื่อเข้าสู่ พ.ศ. 2486 สัมพันธมิตรก็เริ่มตีโต้ และยึดพื้นที่กลับคืนมา นายปรีดี ร้อนใจมาก ที่จะแจ้งสัมพันธมิตรให้รับรู้ว่าประชาชนไม่เต็มใจเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น มีแต่ จอมพล ป. เท่านั้นที่เต็มใจ

นายปรีดี ได้พยายามหาทางติดต่อกับสัมพันธมิตร มาตั้งแต่วันแรกที่ญี่ปุ่นบุกไทย โดยส่งคนไปสำรวจเส้นทางต่างๆ ที่ออกจากประเทศไทยไปเมืองจุงกิง หรือฉงชิ่ง เมืองหลวงของจีนคณะชาติในช่วงนั้นที่เจียง ไค เช็ค มาตั้งกองบัญชาการอยู่ แต่ก็ยังทำได้ไม่สำเร็จ นายปรีดี จึงตัดสินใจมอบภารกิจให้นายจำกัด พลางกูร เดินทางจากไทย ผ่านอีสาน ลาว เวียดนาม ซึ่งตอนนั้นเรียกว่าอินโดจีนฝรั่งเศส ไปยังประเทศจีน ผ่านกวางสี ลงเรือที่ไฮฟอง ขึ้นที่กวางสี เดินเท้า ขึ้นรถไฟ เดินทางบก แล้วสุดท้ายบินจากกุ้ยหลินไปถึงจุงกิง ใช้เวลาทั้งหมด 53 วัน ผมได้อ่านบันทึกของคุณจำกัดซึ่งหนา 900 กว่าหน้า เป็นการเดินทางที่ลำบาก เสี่ยงภัยอย่างมาก ระหว่างมีทหารญี่ปุ่นตั้งกองอยู่เต็มไปหมด เพราะว่าฝรั่งเศสถอยออกจากสงครามเพราะแพ้เยอรมัน แต่ว่าฝรั่งเศสยอมให้ญี่ปุ่นตั้งกองทหารในอาณานิคมอินโดจีนของตัวเต็มไปหมด กว่าจะเล็ดรอดไปได้ก็เกือบเอาชีวิตไม่รอด นายจำกัดก็สามารถไปถึงเมืองจุงกิงได้สำเร็จ เพื่อไปแจ้งแก่ฝ่ายสัมพันธมิตรว่าประชาชนไทยได้จัดตั้งกองกำลังกู้ชาติขึ้นแล้ว ขณะนั้นยังไม่ได้ชื่อว่าเสรีไทย เรียกว่า "X.O. กรุ๊ป" เป็นแกนกลางของกำลังเสรีไทย เป็นส่วนหลักของกำลังเสรีไทยในประเทศ ขอให้สัมพันธมิตรรับรองเอกราชของไทย หาทางช่วยนายปรีดีและคณะไปตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นที่อินเดีย

จำกัด พลางกูร ออกเดินทางจากไทยในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 ใช้เวลาเดินทาง 53 วัน เมื่อไปถึงจุงกิง จำกัด พยายามขอพบจอมพล เจียง ไคเช็ค แต่ไม่สำเร็จ ส่งจดหมายให้อังกฤษทราบ แต่อังกฤษตอบว่าไม่รับรองนายจำกัด ไม่รับรองคณะเสรีไทย ส่วนเสรีไทยสายอเมริกาก็ยังไม่ตอบคำขอ เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากของจำกัดในประเทศจีน กระทั่งวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2486 ผ่านมา 4 เดือนจากเมืองไทย จำกัดจึงได้พบจอมพล เจียง ไค เช็ค และสามารถอธิบายว่ามีกองกำลังพลพรรคที่เป็นจริงของประชาชนในประเทศและทหารบางส่วน ได้โน้มน้าวจนทำให้จอมพล เจีบง ไค เช็ค ยอมรับรองเอกราชของไทยหลังสงคราม

เหตุการณ์สำคัญอีกประการหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ พระเชษฐาของสมเด็จพระนางรำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ผู้นำเสรีไทยสายอังกฤษ ได้บินจากอินเดียมาพบจำกัด ทั้งสองได้ปรึกษาหารือกัน รวมทั้งเรื่องการเมืองในประเทศหลังสงคราม เนื่องจากฝ่ายเจ้าและฝ่ายคณะราษฎรยังไม่เข้าใจกันเต็มที่ ที่สุดทั้งสองฝ่ายได้เข้าใจกัน เป็นผลให้เกิดการหลอมรวมเสรีไทยทั้งสามสาย คือสายอเมริกา สายอังกฤษ และสายไทยเข้าด้วยกัน และทุกฝ่ายตกลงพร้อมใจให้นายปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย จนถึงวันประกาศสันติภาพ และสลายขบวนการเสรีไทยเนื่องจากภารกิจต่อต้านญี่ปุ่นสำเร็จแล้ว

ผลการทำงานของจำกัด ทำให้เจียง ไค เช็ค ยอมรับรองเอกราชของไทย และเป็นเหตุให้สหรัฐอเมริกายอมตามจีน สิ่งนี้มีหลักฐานชัดเจนในการประชุมที่ไคโร ไม่กี่เดือนต่อมาประธานาธิบดี แฟรงกลิน ดี. รูสเวลต์ ของสหรัฐอเมริกา ได้ถามเจียง เจียง ไค เช็ค ว่าสำหรับประเทศไทยจะทำอย่างไร เจียง ไค เช็คก็ตอบเหมือนที่ตอบกับจำกัดเอาไว้ โดยบอกว่า ยอมรับรองคืนเอกราชให้ประเทศไทย ซึ่งในบันทึกของสหรัฐอเมริกา รูสเวลต์ก็ยอมตาม โดยจีนเป็นประเทศแรกที่รับรองเอกราชของไทย และสหรัฐอเมริกาก็ยอม เป็นการเลิกล้มแนวคิดรัฐภายใต้รัฐอารักขา หลังจากนั้นได้ส่งอาวุธและผู้เชี่ยวชาญทางทหาร ท่านศุภสวัสดิ์ฯ ก็มาทางเรือดำน้ำเข้ามาพบนายปรีดี และส่งผู้เชี่ยวชาญมาวางแผนร่วมกับนายปรีดี ร่วมต่อสู้กับญี่ปุ่น นี่เราจึงจะมีสถานะที่จะประกาศสันติภาพ และเราก็ไม่ได้สูญเสียเอกราช

ผมอยากสรุปว่า ขบวนการเสรีไทยมีความสำคัญมาก 2 ข้อคือ 1. ประเทศไทยไม่ถูกถือเป็นผู้แพ้สงคราม สามารถรักษาเอกราชของชาติไว้ได้ 2. ขบวนการเสรีไทย ได้ปลุกจิตสำนึกและระดมพลังของประชาชนไทยธรรมดาทุกหมู่เหล่า ให้เข้ามามีส่วนร่วมในชีวิตของประเทศชาติ ซึ่งความสำคัญทั้ง 2 ข้อนี้ ผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นกำลังหลักถัดจากนายปรีดี พนมยงค์ ก็คือนายจำกัด พลางกูร

ในข้อที่ 1. ในการติดต่อสัมพันธมิตรของจำกัด ในความจริงข้อนี้ อ.ปรีดี ได้กล่าวสดุดีจำกัดไว้ใน พ.ศ. 2488 หลังสงครามสิ้นสุด บอกว่า "ถ้าปราศจากจำกัด พลางกูร งานขององค์กรใต้ดินครั้งนี้อาจจะล้มเหลว หรือหากสำเร็จก็คงเป็นไปในรูปที่ผิดแผกกว่าที่ได้ปรากฏแก่ตาโลกภายหลัง"

ในข้อที่ 2. "นายฉันทนา" หรือคุณมาลัย ชูพินิจ ได้เขียนไว้ในหนังสือ "XO GROUP เรื่องภายในขบวนการเสรีไทย" ระบุว่า "ในบรรดาผู้ที่ได้ร่วมมือในการกู้ชาติบ้านเมืองคราวนี้กับนายปรีดี พนมยงค์ แต่ต้นมา ผู้เดียวที่เข้ามาพร้อมด้วยแผนการณ์อันแน่นอนและคณะเป็นกลุ่มก้อนได้แก่ จำกัด พลางกูร และคณะกู้ชาติของเขา"

จำกัด พลางกูร เป็นผู้มีจิตใจเทิดทูนประชาธิปไตย เขารวบรวมสมัครพรรคพวกตั้งแต่ที่เรียนอยู่ในอังกฤษจัดตั้งคณะเพื่อต่อสู้กับจอมพล ป. ซึ่งขณะนั้นมีแนวโน้มอาจเป็นเผด็จการ และเมื่อเรียนจบกลับมาได้ร่วมมือกับนายเตียง สิริขันธ์ และครู และผู้นำสายอีสาน รวมเป็นคณะกู้ชาติ เป็นการรวมปัญญาชนจากคนชั้นกลาง และปัญญาชนของชาวชนบท คณะกู้ชาตินี้เป็นองค์กรแกนกลางตั้งแต่ต้นของคณะเสรีไทย พวกเขาสามารถระดมพลังชาวบ้านให้มาเข้าร่วมเป็นพลพรรคของเสรีไทย ทำหน้าที่หาข่าว ลาดตระเวน สอดแนม ซุ่มโจมตีฝ่ายญี่ปุ่น และพาเชลยหนี เป็นกองกำลังที่มีอาวุธทันสมัยครบมือ ประมาณหนึ่งหมื่นคนกระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีกำลังทหารปกติ และตำรวจที่สนับสนุนอีกนับเป็นแสน การมีอยู่ของกำลังและการมีตัวตนของขบวนการเสรีไทยสายภายในประเทศอย่างชัดเจนนี้เอง เป็นเหตุให้สัมพันธมิตรต้องรับรองขบวนการเสรีไทย และเราสามารถประกาศสันติภาพได้

ผมเห็นว่าขบวนการเสรีไทยเป็นการรวมตัวอย่างชัดเจนที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยยุคใกล้ ที่คนทุกหมู่เหล่าตั้งแต่เจ้านาย เชื้่อพระวงศ์ชั้นสูง ชนชั้นกลาง ปัญญาชน ชาวบ้านธรรมดา ชาวนา ชาวไร่ ได้รวมกันอย่างสนิทแนบแน่นด้วยอุดมการณ์เดียวคือความรักชาติ และเอกราชของชาติ เป็นตัวอย่างที่น่านำมาศึกษา เพื่อเป็นตัวอย่างแห่งความสามัคคีกลมเกลียวของประชาชาติ

ด้วยความยากลำบากทั้งการเดินทาง การเป็นอยู่ที่เลวร้าย และความเครียดอย่างสูง จำกัด พลางกูร วัย 28 ปี ก็เสียชีวิตที่โรงพยาบาลเมืองจุงกิง แพทย์ชาวแคนาดาลงความเห็นว่าเขาป่วยเป็นมะเร็งที่ตับ และกะเพราะอาหาร แต่ก็มีความสงสัยในหมู่เจ้าหน้าที่สืบราชการลับของอังกฤษและอเมริกา ว่าเขาอาจถูกวางพิษโดยฝ่ายจีน หรือฝ่ายญี่ปุ่นก็ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท