Skip to main content
sharethis

ที่ประชุมแถลงข่าวของรักษาการรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของอียิปต์ แสดงความไม่พอใจที่สื่อต่างชาติดูเหมือนเอียงข้างไปทางฝ่ายผู้ชุมนุม ขณะที่สื่อในอียิปต์เองเต็มไปด้วยการนำเสนอข่าวตามวาทกรรมปราบ "ผู้ก่อการร้าย" ของกองทัพ

เมื่อวันที่ 18 ส.ค. ที่ผ่านมา สำนักข่าวนิวยอร์กไทม์กล่าวถึงกรณีรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของอียิปต์พยายามกดดันสื่อต่างชาติซึ่งเป็นกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์ความรุนแรงในอียิปต์

นิวยอร์กไทม์เปิดเผยว่ากองทัพอียิปต์ได้ปิดสื่อโทรทัศน์ภายในประเทศทั้งหมดที่แสดงการสนับสนุนอดีตประธานาธิบดีโมฮัมเหม็ด มอร์ซี ในคืนที่กองทัพออกมาทำรัฐประหารเพื่อโค่นล้มเขา และเมื่อช่วง 4 วันที่ผ่านมา รัฐบาลจากการรัฐประหารของอียิปต์ก็สั่งปิดสถานีของอัลจาซีราและปฏิเสธใบอนุญาตการทำข่าวในอียิปต์ รวมถึงมีการจับกุมตัวนักข่าวชื่อ อับดุลลาห์ อัล-ชามี เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาในข้อหายุยงให้เกิดการสังหารและความรุนแรงระหว่างศาสนา

นิวยอร์กไทม์กล่าวว่าสำนักข่าวอัลจาซีราซึ่งมีฐานอยู่ในกาตาร์เป็นสำนักข่าวภาษาอาหรับขนาดใหญ่สำนักเดียวที่มีท่าทีเห็นใจฝ่ายภราดรภาพมุสลิม

เจ้าหน้าที่ระดับสูงรัฐบาลรักษาการอียิปต์ยังได้ตะคอกใส่นักข่าวตะวันตกต่อหน้าสื่อมวลชนในการประชุมแถลงข่าวสองครั้ง รวมถึงมีการออกแถลงการณ์ถึงเรื่องที่ไม่สามารถนำเสนอข่าวการปราบปรามผู้ชุมนุมไปในทางของรัฐบาล คือการบอกว่าเป็นสงครามสู้กับกลุ่มก่อการร้าย

ในวันที่ 18 ส.ค. นายพลอับดุล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี ผู้นำการรัฐประหารยังได้ร่วมออกมากล่าววิจารณ์ว่าสื่อต่างชาติไม่ยอมเชื่อเรื่องคำสั่งให้สู้กับผู้ก่อการร้าย โดยคำวิจารณ์นี้มีการนำเสนออย่างต่อเนื่องผ่านสื่อรัฐและเอกชนในอียิปต์ รวมถึงมีกลุ่มผู้สนับสนุนนายพลอัล-ซีซีเมื่อได้ยินคำวิจารณ์นี้ก็โจมตีหรือจับกุมตัวนักข่าวต่างประเทศจำนวนมากโดยเฉพาะในวันเดียวกับที่มีการกล่าวโจมตีสื่อตะวันตก

แมทท์ แบรดลี่ย์ ผู้สื่อข่าวของเดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลเล่าว่าเขาถูกทหารจับขึ้นรถขนทหารหุ้มเกราะเพื่อช่วยเขาหล้งจากถูกกลุ่มคนกระแทก ฉีกกระชากเสื้อ และชิงเอาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไป แมทท์กล่าวอีกว่าคงไม่ผิดนักหากจะมีคนบอกว่าในอียิปต์มีการวางแผนร่วมมือกันต่อต้านนักข่าวต่างประเทศ

นิวยอร์กไทม์ระบุว่าในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ได้ใช้กำลังสังหารผู้ชุมนุมที่สนับสนุนมอร์ซีมากกว่า 1,000 คน โดยทางการการอียิปต์ได้ให้ความชอบธรรมกับตัวเองว่าเป็นมาตรการฉุกเฉินในการป้องกันอียิปต์จากการวางแผนก่อความรุนแรงโดยส่วนหนึ่งของกลุ่มภราดรภาพมุสลิม

นักสิทธิมนุษยชนและนักวิชาการกล่าวว่าพวกเขาเห็นแววเรื่องการร่วมมือกันระหว่างทางการอียิปต์กับสื่อเอกชนของอียิปต์ในการนำเสนอข่าวไปในทางเดียวกัน โดยหลังจากเกิดเหตุการปะทะกันครั้งแรกนับตั้งแต่มีการรัฐประหาร รายการทอล์กโชว์ทางโทรทัศน์และสื่อเอกชนในอียิปต์นำเสนอไปในทางที่ว่ากลุ่มอิสลามอาจพยายามยุยงให้เกิดความรุนแรงเพื่อทำให้ภาพลักษณ์ของกองทัพเสียหาย ซึ่งแม้แต่นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน ของอังกฤษยังวิจารณ์เรื่องการจำกัดสิทธิมนุษยชนเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ

เฮบา โมราเยฟ นักวิจัยขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ในอียิปต์กล่าวว่า เรื่องการนำเสนอข่าวสารในอียิปต์เป็นเรื่องที่มีการร่วมมือกันแน่นอน "ลองลืมไปก่อนว่าเรื่องไหนจริงเรื่องไหนเท็จ มันก็น่าสนใจว่าคุณได้ยินเรื่องเดียวกันจากทุกๆ คน"

นิวยอร์กไทม์ระบุว่านักสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงของอียิปต์ซึ่งเคยเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์อดีตรัฐบาลจนกลายเป็นที่นิยมและถูกเชิญร่วมรายการอย่างต่อเนื่องในช่วงสองปีที่ผ่านบอกว่าไม่ค่อยได้รับคำเชิญร่วมรายการอีก หลังจากที่เขาวิจารณ์ว่าตำรวจใช้ความรุนแรงอย่างไม่สมควรหลังจากที่มีการรัฐประหาร 3 ก.ค.

นักวิชาการกล่าวว่าการที่สื่อหันมาสนับสนุนรัฐบาลรัฐประหารอย่างเป็นเอกฉันท์หลังจากที่ได้รับเสรีภาพสื่ออย่างเต็มที่เมื่อมีการโค่นล้มอดีตผู้นำฮอสนี มูบารัค ในปี 2011 กลับกลายเป็นการถอยหลังเข้าคลองที่ไม่เพียงย้อนกลับไปในยุคของมูบารัค แต่เป็นการถอยกลับไปไกลกว่านั้น ถึงยุคก่อนมีจานดาวเทียมซึ่งรัฐบาลควบคุมสื่อทั้งหมดในอียิปต์ บางคนคิดว่าการเรียกกลุ่มอิสลามว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ชวนให้นึกถึงทศวรรษที่ 1950 ที่นายพล กามาล อับเดล นาสเซอร์ พยายามรักษาอำนาจด้วยการปราบปรามกลุ่มภราดรภาพมุสลิม

"มันเป็นวาทกรรมแนวชาตินิยมจัดแบบเดิมๆ ที่พูดว่ากลุ่มอิสลามเป็นผู้ก่อการร้าย บอกว่าประชาชนเหล่านี้เป็นกลุ่มอิสลามข้ามชาติหรือสิ่งที่มาจากต่างชาติ พวกเขาถึงไม่ใช่ชาวอียิปต์จริงๆ" ศจ. โมนา เอลโกบาชี นักรัฐศาสตร์จากวิทยาลัยบาร์นาร์ดประเทศอียิปต์กล่าว โดยเจ้าหน้าที่ทางการยังได้กล่าวหาว่าผู้ประท้วงจำนวนมากมาเป็นชาวซีเรียหรือปาเลสไตน์โดยไม่มีหลักฐาน

โมนา ตั้งข้อสังเกตว่าสื่อในอียิปต์เริ่มลดทอนความเป็นมนุษย์ของกลุ่มอิสลามไม่นานนักหลังจากที่มีการรัฐประหาร พิธีกรรายการทอล์กโชว์บอกว่ากลุ่มผู้ประท้วงที่ปักหลักต่อต้านการรัฐประหารเป็นพวกต่ำช้า ขณะที่สื่อแห่งอื่นกล่าวย้ำข้อกล่าวหาที่มาจากกลุ่มสตรีซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยบอกว่ากลุ่มอิสลามพยายามทำ "สงครามศักดิ์สิทธิ์ทางเพศ"

"เมื่อคุณต้องการปราบปรามใคร คุณก็ต้องลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนๆ นั้น" โมนากล่าว

นิวยอร์กไทม์วิเคราะห์ว่า การที่รัฐบาลอียิปต์ต่อว่าสื่อต่างชาติเนื่องจากการที่สื่อต่างชาติเน้นความสนใจเรื่องการที่ผู้สนับสนุนมอร์ซีถูกสังหารโดยตำรวจ แต่ไม่ให้ความสนใจเรื่องความรุนแรงจากฝ่ายผู้สนับสนุนมอร์ซีมากพอ โดยก่อนหน้านี้ก็มีเหตุการณ์ที่กลุ่มผู้สนับสนุนมอร์ซีทั่วประเทศออกเผาโบสถ์จนล่าสุดมีโบสถ์คริสต์ถูกเผาไปแล้ว 26 แห่ง ในแถบเขตปกครองไซนายซึ่งเป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มติดอาวุธก็มีการจู่โจมใส่ทหารและตำรวจเพิ่มมากขึ้น และในช่วงตั้งแต่วันที่ 14 ส.ค. เป็นต้นมา มีคนเห็นผู้สนับสนุนมอร์ซีในกรุงไคโรที่ถืออาวุธปะทะกับตำรวจหรือกับพลเรือนฝ่ายเดียวกันเองรวมถึงในการกวาดล้างการปักหลักชุมนุมด้วย มีพลเรือนบางส่วนที่สู้กับพวกเขาก็มีอาวุธด้วย

ในการแถลงข่าวของรัฐบาลแม้จะมีการเผยภาพและวิดีโอแสดงให้เห็นกลุ่มอิสลามติดอาวุธในช่วงที่มีการปะทะ แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมได้วางแผนสร้างความรุนแรงไว้อย่างเป็นระบบหรือผู้ปักหลักชุมนุมก่อเหตุกับพลเรือนรายอื่น แต่นักวิจารณ์ก็บอกว่าการปราบปรามด้วยความรุนแรงเป็นไปอย่างไม่เหมาะสมไม่ว่าใครจะเป็นคนยิงก่อนก็ตาม

นิวยอร์กไทม์เปิดเผยว่า สิ่งที่รัฐบาลอียิปต์กล่าวและที่ถูกเผยแพร่ในสื่ออียิปต์ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นการแสดงความรู้สึกขมขื่นอย่างมากต่อการรายงานข่าวของสื่อตะวันตก โดยหาว่ามีการเข้าข้างกลุ่มภราดรภาพมุสลิม

 

 

เรียบเรียงจาก

Egypt Lashes Out at Foreign News Media’s Coverage, The New York times, 18-08-2013
http://www.nytimes.com/2013/08/19/world/middleeast/egypt-lashes-at-foreign-news-media-over-coverage.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net