การจัดตั้งแรงงานนอกระบบ: ดูการเคลื่อนไหวเพื่อนิยาม ‘นายจ้าง’ และให้ ‘กฎหมาย’ คุ้มครอง

ทำไมแรงงานนอกระบบต้องพยายามพิสูจน์ความเชื่อมโยงในการทำงานของตนกับ “นายจ้าง” และการเรียกร้องความคุ้มครองทาง “กฎหมาย” นั้นสำคัญต่อการจัดขบวนอย่างไร ลองมาดูตัวอย่างจากแอฟริกาใต้, กานา และอินเดียกัน

 

 

Street Net เครือข่ายแรงงานนอกระบบที่สำคัญองค์กรหนึ่งของประเทศแอฟริกาใต้
(ที่มาภาพ:
www.facebook.com/pages/StreetNet/175851405831761)

 

อุปสรรคของการทำงานร่วมระหว่างองค์กรสหภาพแรงงานและแรงงานนอกระบบ

“แรงงานทั้งผองคือพี่น้องกัน” เป็นวลีที่เหมือนเป็นพันธะกิจให้องค์กรแรงงานตระหนักถึงปัญหาของแรงงานทุกกลุ่ม และต่อจากความตระหนักแล้ว การลงมือปฏิบัติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญตามมา แต่เมื่อมองในความเป็นจริงแล้ว การร่วมมือร่วมใจกันระหว่างองค์กรสหภาพแรงงานกับกลุ่มแรงงานนอกระบบก็ยังคงมีปัญหาหลายสิ่งหลายอย่างอยู่

และบ่อยครั้งสหภาพแรงงานในอุตสาหกรรมหรือกิจการขนาดเล็กอาจจะมีแนวคิดที่เป็น “ปฏิปักษ์” กับแรงงานนอกระบบด้วยซ้ำ (เช่นเดียวกับแรงงานข้ามชาติและแรงงานชั่วคราว) เพราะมุมมองที่มองว่าแรงงานนอกระบบคือ “คู่แข่ง” หรือแรงงานนอกระบบเองก็มีความแคลงใจต่อการใกล้ชิดกับผู้ว่าจ้างผลิตของสหภาพแรงงานเอง

หน้าที่ที่สำคัญขององค์กรสหภาพแรงงานคือการทำงานร่วมกัน และต้องมองว่าการจ้างงานที่ไม่มั่นคงนั้นเป็นรูปแบบที่เป็นอันตรายสำหรับแรงงานทุกคน ไม่ใช่ผลักแรงงานด้วยกันหนึ่งออกไปเป็นฝ่ายตรงข้าม

ทั้งนี้ความนิยมในการจ้างแรงงานนอกระบบของภาคธุรกิจ ทำให้ยากต่อการจัดตั้งสหภาพในรูปแบบเดิม เพราะว่าแรงงานทำงานแบบชั่วคราว หรือตามฤดูกาล มีสัญญาระยะสั้นหรือไม่มีเลย นักสหภาพจึงต้องมองออกนอกกรอบความสัมพันธ์ของนายจ้างกับคนทำงานให้แบบเดิมหรือตามกรอบกฎหมาย โดยจะต้องคำนึงถึงความจำเป็นของการรวมกลุ่มกันต่อรองของแรงงานเป็นตัวตั้ง ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่ในลักษณะการจ้างงานแบบใดก็ตาม

 

ทำไม “นายทุน” จึงไม่อยากเป็น “นายจ้าง”

ปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญของการรวมตัวขับเคลื่อนเรื่องการคุ้มครองสิทธิของ “แรงงานนอกระบบ” เมื่อนำกรอบสหภาพแรงงานมาใช้นั้น นั่นก็คือการโต้แย้งในทางกฎหมาย ที่เหมือนๆ กันในหลายภูมิภาคของโลก ที่คำว่า “นายจ้าง” ในกฎหมายแรงงานมักจะไม่ครอบคลุมถึงการจ้างงานที่ใช้แรงงานนอกระบบ

ทั้งนี้ “ความไม่เป็นทางการ (informality)” ของเศรษฐกิจนอกระบบเกิดจากแรงงานจำนวนมากไม่มีนายจ้างที่ชัดเจน แรงงานเหล่านี้ต้องเสียสิทธิที่ควรได้รับ ถูกกีดกันออกจากสวัสดิการต่างๆ และการจ้างงานลักษณะที่ไม่มีนายจ้างชัดเจนก็ถือว่าเป็นการลดต้นทุนและหลีกเลี่ยงกฎหมายของนายทุนวิธีหนึ่ง

การลดต้นทุนที่ชัดเจนอีกแบบของนายทุนก็คือการขายวัตถุดิบให้กับแรงงานที่ทำงานที่บ้าน หรือแม้แต่แรงงานในโรงงานเองให้ไปทำที่บ้าน แรงงานเหล่านี้ซึ่งดูเหมือนเป็น “นายตัวเอง” หรือ “ผู้ประกอบการ” แต่เมื่อทำงานเสร็จก็ต้องขายคืนให้กับนายทุนผู้จ้าง นายทุนไม่ต้องคำนึงถึงต้นทุนเรื่องการทำงานล่วงเวลา และสวัสดิการต่างๆ ที่แรงงานต้องได้รับ ต้นทุนการจ้างงานรูปแบบนี้จึงมีราคาถูกกว่าการจ้างงานประจำ

รวมทั้งการนำกฎหมายส่งเสริมวิสาหกิจขนาดเล็กพลิกแพลงไปใช้ลดต้นทุน เช่น กรณีหนึ่งในโคลัมเบีย แรงงานประจำที่เป็นสมาชิกสหภาพถูกโยกย้ายไปยังหน่วยธุรกิจใหม่ของบริษัทที่ให้แรงงานร่วมกันเป็นเจ้าของ แต่แรงงานกลับพบว่าตนเองไม่มี “อำนาจ” ใดๆ ในหน่วยธุรกิจใหม่ที่บริษัทอยู่เบื้องหลัง และความสัมพันธ์ในการจ้างงานก็ยังคงเป็นเช่นเดิม

 

กรณีศึกษาการเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานนอกระบบต่อประเด็นการนิยามนายจ้าง และและให้กฎหมายคุ้มครอง

ในรายงาน "ความยุติธรรมถ้วนหน้า แนวปฏิบัติเพื่อสิทธิแรงงานยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์" (โซลิแดริตี้ เซ็นเตอร์, 2006) ได้ระบุถึงกรณีศึกษาที่น่าสนใจของการเคลื่อนไหวเพื่อการกำหนดนิยามสำหรับนายจ้างไว้คือ กรณีศึกษาของ StreetNet และ SEWU ในแอฟริกาใต้, การปฏิรูปกฎหมายแรงงานแห่งชาติในกานา รวมทั้งการขยายความคุ้มครองกฏหมายแรงงานแห่งชาติสู่แรงงานนอกระบบหญิงในอินเดีย

ในปี ค.ศ. 2000 Street Net ซึ่งเป็นเครือข่ายของผู้ค้าแผงลอยในแอฟริกาใต้ ได้ร่วมมือกับสหภาพแรงงานนอกระบบหญิงแห่งแอฟริกาใต้ SEWU (Self-Employed Womens' Union) ผลักดันให้เทศบาลท้องถิ่นของเมือง Durban เปิดเวทีสาธารณะให้พ่อค้าแม่ค้าได้แสดงความเห็นและเสนอนโยบายต่อเทศบาล ซึ่งผลปรากฏว่าเทศบาล Durban ได้ยอมรับว่าเทศบาลเป็น “นายจ้าง” ของกลุ่มผู้ค้าแผงลอยในเขตเทศบาล ส่งผลให้เทศบาล Durban ต้องกำหนดนโยบายขยายความคุ้มครองและการบริการให้กับแรงงานนอกระบบ (โดยเฉพาะกลุ่มหาบเร่แผงลอย) นี่เป็นตัวอย่างผลสำเร็จของการเจรจาต่อรองระหว่างแรงงานนอกระบบระบบ (กลุ่มหาบเร่แผงลอย) กับหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่น

ความเคลื่อนไหวนี้สะเทือนไปถึงระดับจังหวัด โดยผู้ว่าการจังหวัด KwaZulu-Natal ได้ริเริ่มนโยบายส่งเสริมคุ้มครองผู้ที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบขึ้นมาต่อยอดอีก โดยได้เปลี่ยนแปลงมุมมองที่เคยมองว่าผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเป็นปัญหาต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว มาเป็นผู้ร่วมร่วมสร้างสรรค์เศรษฐกิจให้กับเมือง การเปลี่ยนมุมมองเช่นนี้ได้สร้างภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจใหม่ที่สามารถดึงดูดได้ทั้งนักท่องเที่ยว นักลงทุน และยกระดับชีวิตของแรงงานนอกระบบขึ้นมาอีกด้วย

ผลการรณรงค์ที่ขับเคลื่อนโดยกลุ่มแรงงานนอกระบบเหล่านี้ ยังได้ทำให้แรงงานหญิงในภาคแม่บ้านและแรงงานในภาคการเกษตรซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทางกฎหมาย รวมทั้งสิทธิการจัดตั้งสหภาพแรงงานอันนำไปสู่การเจรจาต่อรอง ยกระดับคุณภาพชีวิตและการทำงาน (สวัสดิการต่างๆ เพิ่มขึ้นรวมทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน) และการมีบทบัญญัติกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับคนทำงานบ้านและภาคเกษตร ในรายของของแรงงานที่ไม่มีการรวมตัวกันต่อรอง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้

ที่ประเทศกานา เมื่อสภาสหภาพแรงงานแห่งกานา (Trades Union Congress of Ghana - TUC) พิจารณาว่ากฎหมายแรงงานฉบับเก่าของประเทศ ไม่สามารถคุ้มครองแรงงานได้ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการจ้างงานแบบไม่มั่นคงและการจ้างงานแรงงานนอกระบบเพิ่มมากขึ้น จึงได้เรียกร้องให้มีการพูดคุยกันไตรภาคีระดับประเทศ ด้วยการนำภาคธุรกิจ รัฐ และสหภาพแรงงานมาหารือร่วมกัน

การหารือครั้งนั้นส่งผลให้กานามีกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ในปี ค.ศ. 2003 ซึ่งได้ขยายความคุ้มครองให้กับแรงงานนอกระบบอีกด้วย โดยมีบทบัญญัติสำหรับแรงงานชั่วคราวและแรงงานที่ไม่มีงานประจำ เพื่อให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน สำหรับงานที่เหมือนกัน (เมื่อเปรียบเทียบกับแรงงานประจำ) อีกทั้งยังได้สิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลและสวัสดิการอื่นๆ เช่นเดียวกับแรงงานประจำ รวมทั้งหากแรงงานได้รับการจ้างงานต่อเนื่องกันไปถึงหกเดือนหรือมากกว่า แรงงานเหล่านั้นก็จะได้รับการบรรจุเป็นแรงงานประจำทันที

ที่อินเดีย ในปี ค.ศ. 1999 คณะกรรมการแรงงานแห่งชาติของอินเดีย ได้เสนอแนวคิดบางประการเพื่อให้ครอบคลุมด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่แรงงานนอกระบบ เช่น ขยายคำนิยามคนงานภายใต้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ, การจ่ายค่าจ้างรายชิ้น เพื่อให้สอดคล้องกับค่าจ้างที่จ่ายตามเวลาทำงานตามการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำ, มีการเสนอแนวคิดให้แก้ไขกฎหมายการจ่ายค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน เพื่อใช้บังคับกับทุกกิจการ ทุกอุตสาหกรรม และทุกภูมิภาค, การให้ความคุ้มครองแก่แรงงานหญิงโดยทั่วถึง ตามโครงการประกันสุขภาพ รวมทั้งขยายสิทธิประโยชน์เรื่องการเลี้ยงดูลูกและแรงงานนอกระบบผู้มีรายได้น้อยกว่า 300 รูปี (ประมาณ 75 ดอลลาร์ในขณะนั้น) ต่อเดือน

คณะกรรมการแรงงานแห่งชาติของอินเดียได้ดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 2002 ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการแรงงานแห่งชาติของอินเดียหลายข้อที่ได้กล่าวไป ได้ถูกบรรจุอยู่ในร่างกฎหมายประกันสังคมของแรงงานที่ไม่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ร่างกฎหมายนี้ได้รับการสนับสนุนโดย SEWA (อ่านเรื่อง SEWA เพิ่มเติม) และองค์กรแรงงานต่างๆ ในประเทศอินเดียอย่างกว้างขวาง.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท