Skip to main content
sharethis

ปาฐกภาพิเศษของ ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา ในงาน STEPs TO PEACE อธิบายพื้นที่ที่ถูกยึดครองจากทั่วโลก ชีวิตที่ต้องถอยร่นหรือต่อสู้กับอำนาจที่กลืนกินอัตลักษณ์ท้องถิ่น และสันติภาพบนฐานความจริงที่ชายแดนใต้

ปาฐกภาพิเศษของศาสตราจารย์ ดร.จรัส สุวรรณมาลา จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อ “การส่งเสริมความเข็มแข็งและการบูรณาการความรู้ เพื่อก้าวสู่สันติภาพ” เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2556 ในงานสัมมนา “บูรณาการความรู้ ก้าวสู้สันติภาพ” STEPs TO PEACE จัดโดยโครงการเสริมสร้างความเข็มแข็งและการมีส่วนร่วมในภาคใต้ของประเทศไทย หรือ STEP Project ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มีเนื้อหาน่าสนใจ ดังนี้

..............................

ผมอยากเริ่มต้นด้วยเรื่องชวนคิด เกี่ยวกับพื้นที่เมืองที่ถูกยึดครอง เราได้อ่านเรื่องราวทางสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ของชนพื้นเมืองที่มักจะถูกยึดครองโดยกลุ่มคนที่บุกรุก

ชนพื้นเมืองที่ใช้ชีวิตแบบดั่งเดิม  แบบที่เขาเรียกว่า  ล้าหลัง ยากจน ไม่ได้รับการศึกษาสมัยใหม่ ไม่มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ ย่อมเสี่ยงที่จะขาดความมั่นคง ถูกคนภายนอกเข้าไปกินรวบ ยึดครอง ผูกขาดทรัพยากร ทั้งผิดและถูกกฎหมาย โดยคนในพื้นที่สู้ไม่ได้ บ้างจึงยอมจำนน แต่ที่ทนไม่ไหว ก็ลุกขึ้นสู้กันไปตามมีตามเกิด

จนเกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน (ขัดแย้งกันเอง เพราะเลือกกันไปคนละทาง บ้างก็สู้ บ้างก็ยอมจำนน) และขัดแย้งกับภายนอกกับพวกที่เข้ามายึดครองหรือปกครอง ทำให้อ่อนแอ ถดถอยลงไปเป็นลำดับ  จนในที่สุดก็ไม่สามารถยืนหยัดอยู่ได้

ประสบการณ์ที่เราพบก็คือ ชนพื้นเมืองทั่วโลก ไม่ว่าในอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย จีนแผ่นดินใหญ่ จีนไต้หวัน เวียดนาม พม่า อินเดีย ฯลฯ มักถูกรัฐบาลของกลุ่มคนที่เข้ายึดครอง บังคับให้ถอยร่นไปอยู่ในดินแดนที่ลึกเข้าไป ขึ้นไปอยู่บนเขา หรือในเป็นที่ซึ่งทุรกันดารกว่า ถูกปล้นสิทธิพื้นฐานไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากร และไม่ได้รับสิทธิทางการเมือง

จนเมื่อมีขบวนการประชาธิปไตย เรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ขึ้นในโลก เมื่อไม่นานมานี้ เขาจึงเริ่มคืนสิทธิความเป็นมนุษย์ให้แก่คนพื้นเมือง ให้ความเคารพในสิทธิของชนพื้นเมือง และกลับมาฟื้นฟูชนพื้นเมืองกันอย่างจริงจัง

ในขณะที่คนพื้นเมืองส่วนในใหญ่ถูกกลืน ถูกทำลายอัตลักษณ์  จนแทบค้นหาตัวเองไม่เจอไปแล้ว ชนพื้นเมืองที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่ตกอยู่ในสภาพ “ประชาชนชั้นสอง” เพราะด้อยการศึกษา ติดยา ตกงาน ฐานะครอบครัวไม่สู้จะดี เด็กและเยาวชนมีปมด้อยติดตัวมาตั้งแต่เกิด เพราะสู้คนในพื้นที่อื่นไม่ได้

กรณี 3 จังหวัดภาคใต้ของเรา ดูไปก็คล้อยกับกรณีชนพื้นเมืองในที่อื่นๆ ของโลก ที่ว่ามาข้างต้น อย่างน้อยก็มีประวัติศาสตร์ให้เราได้เรียนรู้กัน เราไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ความหลังเรื่องเหล่านั้น เพราะไม่มีประโยชน์อันใด แต่ที่จำเป็นต้องพูดกันก็คือ สภาพความเป็นจริงในวันนี้

ความจริงเรื่องแรก เราต้องยอมรับว่า เหตุการณ์ความไม่สงบ การลอบวางระเบิด ฯลฯ ในพื้นที่จะยังคงอยู่ต่อไป ถึงแม้เราทุกคนไม่อยากให้มี และผมคิดว่าเราทุกคนในที่นี้เห็นด้วยและสนับสนุนการเจรจา เพื่อยุติเหตุการณ์การใช้ความรุนแรง และทำลายล้างที่ว่านี้ให้เร็วที่สุด

วันนี้ผมจะไม่กล่าวถึงเรื่องที่ว่านี้ แต่จะพูดถึงความจริงอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตประจำวัน ของประชาชน 3 จังหวัด และมีความสำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องข้างต้นเช่นเดียวกัน

ถ้าท่านมีโอกาสพลิกอ่านเอกสารการศึกษาของโครงการ STEP จะพบข้อมูลต่อไปนี้

1.    ประชากร 3 จังหวัดประมาณ 30 % อยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ ความยากจน ซึ่งถือว่ามีจำนวนคนจนกระจุกตัวสูงที่สุดในประเทศไทย  ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9.5% เท่านั้น (3 จังหวัดสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 3 เท่าตัว)

2.    ดัชนีคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเรียกว่า “Human achievement index” ของ 3 จังหวัด ถดถอยลงไปตามลำดับที่ 15 เมื่อ 4 ปีที่แล้ว วันนี้ตกมาอยู่อันดับที่ 36

3.    ประชากร 3 จังหวัด โดยเฉพาะนราธิวาสและปัตตานี มีระดับการศึกษาต่ำ มีงานทำน้อยอยู่ในลำดับท้ายๆของประเทศไทย โดยเฉพาะเยาวชนใน 2 จังหวัดนี้ตกงานมากที่สุดในประเทศไทย

4.    กล่าวเฉพาะเรื่องการศึกษา เด็กนักเรียนทีมีโอกาสเรียนต่อระดับมัธยมหรือระดับอาชีวะน้อยกว่าจังหวัดอื่นๆ โดยทั่วไป

5.    ภาคประชาสังคมใน 3 จังหวัดอ่อนแอ และมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมกับภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นค่อนข้างน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ผลการจัดเก็บข้อมูล ของโครงการ STEP พบว่า กลุ่มสตรีใน 3 จังหวัดขาดโอกาสที่จะเข้าไปมีบทบาททางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ น้อยกว่าจังหวัดอื่นๆไม่เคยได้ยินว่า 3 จังหวัดนี้มี ส.ส.(สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ผู้หญิง?

6.    ฐานเศรษฐกิจในพื้นที่ 3 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นเศรษฐกิจชุดดั้งเดิม  พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน น้ำ แหล่งประมง ป่าไม้ ทรัพยากรชายฝั่ง เป็นต้น ไม่คอยมีเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม-บริการ หรือเศรษฐกิจแปรรูป ขนาดเล็ก-ขนาดกลางในท้องถิ่น เพราะขาดผู้ประกอบการ จึงไม่คอยมีแหล่งการจ้างงาน

7.    มีสถานศึกษาทั้งระดับอาชีวะ และมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อย แต่ผู้จบการศึกษาส่วนใหญ่หางานในพื้นที่ไม่ได้  เพราะหลักสูตรไม่สนองความต้องการของท้องถิ่น อีกทั้งตลาดแรงงานท้องถิ่นไม่คอยมี จะไปหางานที่อื่นก็ยาก ติดขัดกับเรื่องภาษาที่ใช้ เหล่านี้เป็นต้น

ผมเชื่อว่า ความจริงที่ว่านี้ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ทีทำให้เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดเกิดขึ้น ขยายตัว และดำรงอยู่จนทุกวันนี้ ผมเชื่อว่าทั้งหลายเห็นด้วยกับผม

ดังนั้น ถ้าไม่ขจัดเงื่อนไขเหล่านี้ ให้บรรเทาบาบาง หรือหมดไป ความขัดแย้งและความไม่สงบ ก็จะดำเนินการต่อไป แม้จะใช้กำลังฉุดให้หยุดได้ ก็จะหยุดชั่วคราวเท่านั้น ผมจึงของสนับสนุนความพยายามของโครงการ STEP ที่มุ่งขจัดเงื่อนไขเหล่านี้


ประเด็นอยู่ที่ว่า ใครจะเป็นผู้ลงมือทำ

รัฐบาลทำอะไรลงไป รัฐบาลในอดีตที่เป็นรัฐเผด็จการ ทำอะไรลงไปกับพื้นที่นี้ เราทราบกันอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงอีก

รัฐบาลในยุคประชาธิปไตย แม้จะไม่ได้ใช้วิธีการปกครอง 3 จังหวัดนี้ อย่างที่เคยทำในยุดเผด็จการทหาร แต่ก็ไม่ได้เร่งฟื้นฟูการพัฒนาให้ทัดเทียมจังหวัดอื่นๆ ที่เขาก้าวรุดหน้าไปแล้วอย่างจริงจัง

เพิ่งจะมาทุ่มงบประมาณลง 3 จังหวัดกันมากมายในช่วงหลังเกิดความไม่สงบนี่เอง เข้าใจว่างบลง 3 จังหวัด ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา (ไม่รวมงบของทหารและความมั่นคง) ประมาณกว่า 70,000 ล้านบาทต่อปี ถ้าคำนวณต่อหัวประชากร ก็สูงกว่าจังหวัดอื่นๆ กว่า 2 เท่าตัว ถ้านับงบทหารและงบความมั่นคงเข้ามาด้วย ก็มากกว่านี้อีก 2 เท่าตัว

แต่ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยให้พื้นที่นี้ขึ้นมาได้มากนัก เพราะเหตุใดยังไม่มีงานวิจัยชี้ชัด คงต้องทำ แต่คาดเดาได้ว่า เหมือนเทน้ำลงตะกร้า ตะกร้าขันน้ำไม่ได้ น้ำไหลผ่านไปหมด อะไรทำนองนั้น

เราไม่ถึงกับหมดหวังกับรัฐบาล ก็ยังอยากให้รัฐบาลจริงจังกับพื้นที่ 3 จังหวัดมากกว่านี้ แต่เราไม่ควรหวังพึ่งแต่รัฐบาลอยู่ร่ำไป เพราะเรารู้ๆกันอยู่ว่าเป็นอย่างไร

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับโครงการ STEP ซึ่งให้ความสนใจกับการเพิ่มขีดความสามารถของพื้นที่ ให้พื้นที่จัดการกับปัญหาของตนเอง และฟื้นตนเองได้มากที่สุด


พื้นที่จะทำอย่างไรดี

ในพื้นที่มีหน่วยงานของรัฐบาล ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ 3 จังหวัด หน่วยงานด้านความมั่นคง ที่มาปฏิบัติการอยู่ในพื้นที่ สถาบันการศึกษา (มหาวิทยาลัย) มีองค์กรส่วนท้องถิ่น มีหน่วยธุรกิจ สมาคมหอการค้า องค์กรภาคประชาสังคมในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นองค์กรทางศาสนา และกลุ่มอาชีพต่างๆ และหน่วยงานทางสังคมที่เล็กที่สุด และสำคัญที่สุดก็คือ สถาบันครอบครัว และตัวประชาชนในพื้นที่

สถาบันทางการเมืองการปกครอง และองค์กรภาคเอกชน ภาคประชาชนเหล่านี้จะพลิกฟื้นชีวิตและความรุ่งเรืองของ 3 จังหวัดกลับคืนมาได้อย่างไร คิดว่าเราต้องมีจังหวะก้าว ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า STEP ตรงกับชื่อโครงการ STEPซึ่งเป็นผู้จัดงานในวันนี้พอดี (โดยบังเอิญ)

หนึ่ง เราตระหนักดีว่า บรรดาองค์กรในพื้นที่ส่วนใหญ่อ่อนแอ ดังนั้น เราต้องสร้างความเข็มแข็งให้กับองค์กรเหล่านี้ ต้องเริ่มต้นค้นหา สำรวจ องค์กรประเภทต่างๆทั้งหน่วยธุรกิจ สถาบันสังคม องค์กรชุมชน ให้รู้ว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร

สอง เพิ่มขีดความสามารถขององค์กรประเภทต่างๆ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างเข็มแข็ง กว้างขวาง ให้องค์กรเป็นแหล่งสะสมพลัง ทำให้ความสามารถรวมตัวกันทำงานใหญ่ๆได้ ไม่ว่าจะเป็นทำธุรกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถระดมและแรงหนุนจากประชาชน ให้สามารถจัดบริการสาธารณะ หรือกิจกรรมพัฒนาชุมชนอื่นๆ ได้มากขึ้น

หรือให้สถานศึกษาในพื้นที่พัฒนาหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอนที่สนองตอบปัญหาและความต้องการของพื้นที่ได้ตรงเป้ามากขึ้น สามารถสร้างผู้ประกอบการรายใหม่ สร้างนักประดิษฐ์คิดค้นสำหรับการผลิตในพื้นที่ได้มากขึ้น หรือเป็นแรงงานป้อนระบบการผลิตในพื้นที่ได้ตรงกับความต้องการมากขึ้น เป็นต้น

อนึ่ง ดัชนีเพิ่มความสามารถขององค์กรในพื้นที่นี้ อาจจะเป็นต้องคิดถึงการออกแบบระบบการปกครองหรือการจัดการพื้นที่ที่เหมาะสมกับ 3 จังหวัดในระยะยาว เช่น การจัดตั้งเขตการปกครองตนเองพิเศษ ที่อาจารย์ศรีสมภพ (จิตร์ภิรมย์ศรี) เรียกว่า รูปแบบ ปัตตานีมหานคร หรือรูปแบบอื่นๆ ก็ได้ ทั้งนี้เพื่อให้องค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ มีขีดความสามารถเพียงพอที่จะจัดการกับปัญหาและความต้องการของพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

เพิ่มขีดความสามารถของครัวเรือนและประชาชน ด้วยการเพิ่มช่องทางให้เด็กและเยาวชนได้ศึกษาเล่าเรียนและพัฒนาทักษะผ่านระบบการศึกษาที่เป็นทางการ (สถานศึกษา) และผ่านสื่อสาธารณะอื่นๆ สร้างความมั่นใจในการงานอาชีพและรายได้ ดึงเยาวชนและแรงงานเข้าสู้ระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ให้มากที่สุด

สาม จัดระบบสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ และครอบครัวผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ให้มีสวัสดิการเพียงพอ บนพื้นฐานศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

สติปัญญากับสันติภาพ (Intelligence and Peace) เป็นของคู่กัน ใช้สติปัญญาเป็นเครื่องมือสร้างสันติภาพ สงครามและความขัดแย้ง เป็นของคู่กับการขาดสติปัญญา

สร้างสติปัญญา ได้ด้วยการเข้าถึงข้อเท็จจริง ทำความจริงให้ประจักษ์ ใช้ข้อเท็จจริง ความจริง ทำลายความไม่รู้ เมื่อคนหลุดพ้นจากพันธนาการความไม่รู้ คนย่อมมีปัญญา คนมีปัญญา ย่อมแสวงหาสันติภาพ ย่อมหวงแหนและรักษาสันติภาพไว้ยิ่งชีวิต

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net