Skip to main content
sharethis

ปธ.สภาฯ เผยถกแก้ รธน.ส่วนที่มาส.ว. ถึง 22 ส.ค.เที่ยงคืน โหวตผ่าน ม.2 ฉลุย พิจารณาต่อ ม.3 ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 ปชป.ค้าน เปิดช่องครอบงำสถาบันวุฒิสภา ภูมิใจไทย เสนอ ส.ว.เลือกตั้งจังหวัดละ 2 คน เลือกตรง 1 อ้อม 1

21 ส.ค. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า สำหรับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของที่มาส.ว.ในวาระที่ 2 จะมีการประชุมต่อเนื่องในวันที่ 22 ส.ค.ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลาอีกพอสมควรถึงเวลาเที่ยงคืน แต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการประสานงานร่วมรัฐสภาจะมีข้อตกลงอย่างไร

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการประชุมสภาฯเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณพ.ศ.2557 ในวาระที่ 2 ซึ่งค้างการพิจารณาอยู่นั้นได้เบื้องต้นกำหนดให้ประชุมในวันที่ 23 ส.ค. แต่จะจบภายในวันดังกล่าวหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ที่การตกลงในเรื่องของกรอบเวลาระหว่างวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านเช่นกัน โดยวันสุดท้ายที่สภาฯจะสามารถพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯได้ คือ วันที่ 26 ส.ค.ก่อนเวลา 24.00น. เนื่องจากจะครบกำหนด 105 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้สภาฯพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ

"ถ้าสภาฯพิจารณาเสร็จไม่ทัน 105 วันตามรัฐธรรมนูญบัญญัติให้สภาฯต้องส่งร่างกฎหมายงบประมาณที่สภาฯได้รับหลักการในวาระที่ 1 ซึ่งยังไม่มีการแก้ไขไปให้วุฒิสภาพิจารณาลงมติได้ทันที การดำเนินการลักษณะนี้ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้เสียประโยชน์แต่อย่างใด แต่เป็นฝ่ายค้านเองที่เสียประโยชน์" นายสมศักดิ์ กล่าว

 

โหวตผ่านมาตรา 2 ฉลุย 349 ต่อ 157 เสียง

ในระหว่างพิจรารณามาตรา 2 บรรดาส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ กลุ่ม 40 ส.ว. สลับกันลุกขึ้นอภิปราย โดยขอให้ตัดมาตรา 2 ทิ้งทั้งมาตรา เพื่อไม่ให้มีการรับรองการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากเห็นว่า การแก้ไขเรื่องที่มาส.ว.เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเปิดช่องให้ส.ว.เลือกตั้งที่จะหมดวาระลงในวันที่ 7 มี.ค.57 ลงสมัครรับเลือกตั้งส.ว.สมัยต่อไปได้ จึงไม่อยากให้ส.ว.มีผลได้เสียจากกฎหมายฉบับนี้ ขอให้ยืดระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปก่อน ไม่เช่นนั้นอาจเกิดปัญหาส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตีความได้

ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนญเรื่องที่มา ส.ว.ยืนยันว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรานี้ไม่มีส่วนได้เสีย หรือมีผลประโยชน์ขัดกัน เพราะผู้ที่ลงสมัครส.ว.ไม่ใช่ว่าลงสมัครแล้วจะได้รับเลือกตั้งเข้ามา เพราะขึ้นกับประชาชนเป็นผู้ตัดสิน จึงขอยืนยันตามร่างเดิม จนกระทั่งเวลา 16.40 น.ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบมาตรา 2 ด้วยคะแนน 349 ต่อ 157 เสียง รวมเวลาพิจารณาในมาตรานี้  3 ชั่วโมงกว่า

 

พิจารณาต่อ ม.3 ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน

ในการพิจารณามาตรา 3 เกี่ยวกับการบัญญัติให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้ง 200 คน การเลือกตั้ง ส.ว.ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ว.มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นได้ 1 คน ในกรณีที่จังหวัดมี ส.ว.ได้มากกว่า 1 คน ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับจนครบจำนวน ส.ว.ที่จะพึงมีได้ในจังหวัดนั้น

 

ปชป.ค้าน เปิดช่องครอบงำสถาบันวุฒิสภาง่าย

นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ส.ว. บางส่วนเอาความเป็นอิสระสนองตอบการเมือง เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนแปลงที่มา ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้ง 200 คน ยิ่งเพิ่มความกังวลให้ประชาชนทวีคูณ เพราะจะเป็นช่องทางให้กลไกผู้มีอำนาจในบ้านเมืองนี้ครอบงำสถาบันวุฒิสภาได้ง่ายขึ้น ตนจึงขอแปรญัตติเห็นควรให้มี ส.ว.154 คน โดยตัดมาตรา 112 ที่คำนวณเกณฑ์ ส.ว.แต่ละจังหวัดที่พึงมี

นอกจากนี้ มีงานวิจัยว่าปัญหาเลือกตั้ง ส.ว.มีข้อเสียที่น่ากังวลใจหลายประเด็น โดยมีโอกาสที่ ส.ว.ได้รับเลือกตั้งอาจกระจุกตัวในบางมิติ เช่น สาขาอาชีพ วุฒิการศึกษา และมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับนักการเมือง โดย ส.ว.ได้รับเงินทุนจากนักการเมืองและฐานจากพรรคการเมือง เพราะมีผู้อยากได้เป็น ส.ว.จึงจำเป็นต้องใช้อิทธิพลทางการเมืองท้องถิ่นและระดับชาติมาช่วย ทำให้ ส.ว.เป็นพวกเดียวกับพรรคการเมือง

 

นายสุรเชษฐ แวอาแซ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หากเราได้สภาสูงที่คุณภาพด้อยกว่าสภาล่าง การกลั่นกรองกฎหมายจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ ตนไม่ทราบว่ากรรมาธิการทำตามใบสั่งหรือคิดด้วยเหตุผล ไม่เชื่อว่าทำด้วยความคิดที่อิสระแล้วออกมาแบบนี้ มั่นใจว่าต้องมีใบสั่งแน่นอน อยากทราบว่าใบสั่งอย่างนี้เป็นใคร อยู่ๆ ก็แก้ที่มา ส.ว.อย่างรีบเร่ง รวบรัด ต้องผ่านเร็วๆ ให้ความสำคัญมากกว่าเรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทด้วยซ้ำ

 “จำนวนตัวเลข 200 คนเอามาจากไหน คิดได้อย่างไร ควรให้มีการคัดเลือกในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะด้าน เพราะถ้าเลือกมาแล้วทำอะไรไม่เป็น คิดอะไรไม่ออก จะมีไว้ทำไม หรือจะยอมเป็นขี้ข้า ยอมรับใช้การเมือง ถึงไม่เกิดความปรองดอง อย่าว่าแต่ใน กทม.แม้แต่ใน ส.ว.ด้วยกันเองก็ยังไม่ปรองดองกันเลย เสียดายภาพลักษณ์ของประเทศ” นายสุรเชษฐ กล่าว

ส.ว. ต้องกระจายสัดส่วนกลุ่มสาขาวิชาชีพ

ด้านนายเกียรติศักดิ์ ส่องแสง ส.ส. ปทุมธานี พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขึ้นอภิปราย ระบุว่าตนไม่เห็นด้วยกับการได้มาของ ส.ว. 200 คนที่มาจากการเลือกเช่นเดียวกับ ส.ส. ซึ่งตนไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่อยากให้ได้มาของ ส.ว. ต้องกระจายสัดส่วนกลุ่มสาขาวิชาชีพมากกว่า เพราะหากยกเลิกรูปแบบการสรรหาและให้คงไว้เฉพาะการเลือกตั้งนั้น อาจเป็นการทำให้สมาชิกวุฒิสภามีการใช้อำนาจที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรอิสระ ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล

 

ภูมิใจไทย เสนอส.ว.เลือกตั้ง จังหวัดละ 2 คน เลือกตรง 1 อ้อม 1

ด้าน นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่า ขอให้มี ส.ว.เลือกตั้ง จังหวัดละ 2 คน ให้ 1 คนเลือกตั้งทางตรง และอีก 1 คนเลือกตั้งทางอ้อม และเสนอมาตรา 112 ให้มีกรรมการสรรหา ส.ว.ทางอ้อม จากบุคคลทั้งหลายที่สมัครในแต่ละจังหวัด ทั้งนี้ห่วงฝ่ายการเมืองแทรกแซง ส.ว.เมื่อสภาล่างเทกโอเวอร์ทำงานร่วมกับ ส.ว.แบ่งปันผลประโยชน์จะทำให้เป็นวิกฤตของประเทศได้

 

ส.ว. ย้อนถามจำนวน 200 ใช้เกณฑ์อะไร

นอกจากนี้ พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา ได้ขึ้นอภิปรายในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย โดยตั้งคำถามไป คณะกรรมาธิการว่า การกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา มีจำนวน 200 คนนั้น ใช้เกณฑ์มาตราฐานอย่างไร เนื่องจาก ใน รัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี 2540 นั้น ใช้เกณฑ์การประเมินจากจำนวนประชากรของประเทศ จึงเรียกร้องให้มีการกำหนด จำนวน สมาชิกวุฒิสภาตามหลักวิชาการด้วย

 

เรียบเรียงจาก มติชนออนไลน์, เดลินิวส์, ASTVผู้จัดการออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net