Skip to main content
sharethis
จากเชียงใหม่สู่ปัตตานี ครูอธิคม ติวงศ์ แห่งโรงเรียนบ้านประจัน เหยื่อไฟใต้จากวงการการศึกษารายละสุดในชายแดนใต้ “เขาบอกว่าชอบปัตตานี เพราะที่นี่มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย มีเพื่อนมุสลิมเยอะ ชอบคลุกคลีกับคนมุสลิม ทำให้รู้วัฒนธรรมในพื้นที่มากกว่าคนดั้งเดิมในพื้นที่เสียอีกและไม่เคยขัดแย้งกับใคร” ครูอ๋าเล่าด้วยน้ำเสียงหนักแน่น
 
 
นางสาวปนิดา สีลาภเกื้อ ภรรยาครูครูอธิคม ติวงศ์
 
“ก่อนหน้านี้ฝันว่าอยากมีลูก อยากซื้อบ้านอยู่ร่วมกัน แต่เมื่อเป็นแบบนี้ก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกัน คงต้องให้ผ่านช่วงนี้ไปก่อน แล้วค่อยคิดว่าจะทำอย่างไรต่อไป” 
 
นางสาวปนิดา สีลาภเกื้อ หรืออ๋า ครูชำนาญการ สอนวิชาคอมพิวเตอร์ คู่ชีวิตนายอธิคม ติวงศ์ หรือ มาร์ท อายุ 34 ปี ครูสอนวิชาพลศึกษา โรงเรียนบ้านประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ที่ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2556 เล่าถึงสามีพร้อมน้ำตาคลอเบ้า
 
นางสาวปนิดา เล่าว่า สมัยที่มาร์ทเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เขามีเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นมุสลิมชาวบ้านปาลัส อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มาร์ทตัดสินใจเดินทางออกจากบ้านเกิดใน จ.เชียงใหม่ ลงใต้มุ่งหน้าตรงสู่ จ.ปัตตานี หลังจากเรียนจบแล้ว
 
และด้วยวัฒนธรรมที่หลากหลายในพื้นที่ชายแดนใต้ ยังเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้มาร์ทตั้งใจมาเรียนรู้สิ่งที่น่าสนใจอีกมากมายในพื้นที่แห่งนี้
 
ปลายปี 2551 มาร์ทมาสมัครเป็นครูอัตราจ้างที่โรงเรียนบ้านราวอ อ.มายอ จ.ปัตตานี แม้มาร์ทเรียนจบสาขาพลศึกษา แต่ในช่วงแรกนี้เขาก็ไม่ได้สอนวิชาพลศึกษาตามที่เรียนมา
 
กระทั่งปี 2554 เขาได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูในตำแหน่งครูพลศึกษา ที่โรงเรียนบ้านประจัน อ.ยะรัง จ.ปัตตานี 
 
นอกจากสอนวิชาพลศึกษาแล้ว เขายังสอนให้นักเรียนใช้สื่อประกอบการเรียน เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนด้วยตัวนักเรียนเอง เช่น ทำหนังสั้น ถ่ายคลิปวิดีโอ เพื่อเล่าเรื่องราวในพื้นที่ให้คนภายนอกได้รับรู้ ผลงานล่าสุดของนักเรียน เป็นหนังสั้นที่ส่งเข้าประกวดในระดับประเทศ
 
ทั้งนี้ เนื่องจากมาร์ทเห็นว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กในชายแดนภาคใต้ที่ค่อนข้างต่ำ มาร์ทจึงใช้กิจกรรมต่างๆ เช่น การผลิตสื่อดังกล่าว เพื่อดึงคุณภาพและศักยภาพที่มีอยู่ในตัวของเด็กในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ออกมา
 
ด้วยนิสัยชอบไขว่คว้าหาความรู้ด้วยตัวเองอยู่เสมอ จึงทำให้เขามีความสามารถพิเศษด้านไอที(เทคโนโลยีสารสนเทศ)อีกทางหนึ่ง เขาได้รับคัดเลือกให้เป็นแกนนำวิทยากรด้านไอซีที ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาปัตตานี เขต 2 
 
นอกจากนี้ยังได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนของจังหวัดไปแข่งขันโครงการอินโนเวทีฟ (นวัตกรรม) ที่บริษัท ไมโครซอฟ (ประเทศไทย) จำกัด ได้จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร  2 ปีซ้อน
 
ในปีนี้ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของ สสวท. ในโปรแกรมสแคช เพื่อนำความรู้ที่ได้จากการอบรมดังกล่าวมาเผยแพร่ให้ครูชายแดนใต้ต่อไป
 
มาร์ทยังได้เปิดเพจในเว็บไซต์เฟสบุ๊คชื่อ ‘ชมรมครูปัตตานี 2’ เพื่อดึงเครือข่ายครูในพื้นที่และนอกพื้นที่ให้มารวมกลุ่มเป็นเครือข่าย ซึ่งจะทำให้ครูส่วนใหญ่ได้รับข่าวสารต่างๆ จากเพจนี้ด้วย
 
“เขาบอกว่า ชอบปัตตานี เพราะที่นี่มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย และด้วยความที่เขามีเพื่อนมุสลิมเยอะ ชอบคลุกคลีอยู่กับคนมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เขารู้วัฒนธรรมของคนมุสลิมในพื้นที่มากกว่าเราที่เป็นคนดั้งเดิมในพื้นที่เสียอีก และเขาไม่เคยมีความขัดแย้งกับใคร” อ๋าบอกด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่น
 
“เขาเคยบอกว่าชาวบ้านรอบข้างดีกับเขา แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีที่ไหนปลอดภัย แม้กระทั่งบ้านของเราเอง แต่เขาก็ระวังตัว ซึ่งก็มีเจ้าหน้าที่คอยคุ้มครองเขาและเพื่อนครูได้ตลอดเวลา”
 
อ๋า เล่าว่า สิ่งที่ทำให้เธอหลงรักมาร์ท เพราะมาร์ทเป็นคนอ่อนโยน ใจเย็น อารมณ์ดี อัธยาศัยดี แม้จะชอบใครหรือไม่ชอบใครเขาก็จะยิ้มไว้ก่อน เป็นคนมุ่งมั่นในการทำงาน เป็นคนที่ชอบไขว่คว้าหาความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งตั้งแต่ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกันมาร่วมปี ก็ยังไม่เคยมีการทะเลาะเบาะแว้งใดๆกันเลย
 
หลังจากทั้งคู่พิธีวิวาห์กันในปี 2555 มาร์ทก็สอบบรรจุเป็นข้าราชการที่โรงเรียนบ้านประจันได้ จึงได้เช่าห้องพักอาศัยในย่านถนนเจริญประดิษฐ์ ในตัวเมืองปัตตานี และขับรถมอเตอร์ไซค์ไป-กลับระหว่าง อ.เมืองและอ.ยะรังทุกวัน แต่ทุกวันศุกร์มาร์ทจะกลับบ้านอ๋าที่ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี และกลับไปสอนอีกครั้งในเช้าวันจันทร์
 
หากมาร์ทไม่ได้กลับไปหาอ๋าที่ อ.ปานาเระ บ่อยครั้งอ๋าก็เข้าไปอยู่กับมาร์ทในตัวเมือง เพื่อทำหน้าที่แม่บ้านให้กับมาร์ท
 
เช้าวันจันทร์ก่อนเกิดเหตุ มาร์ทโทรศัพท์มาหาอ๋าบอกว่า จะกลับมาหาอ๋าที่ปานาเระในตอนเย็น เพื่อจะได้ไปประชุมที่ตัวเมืองปัตตานีพร้อมกันตอนเช้าวันอังคารที่ 20 สิงหาคม 2556 
 
นั่นคือเสียงสุดท้ายของมาร์ท
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net