Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ร่าง พรบ.นิรโทษกรรมของนายวรชัย  เหมะ ได้ผ่านการพิจารณาในวาระที่หนึ่งด้วยคะแนนเสียง 300 ต่อ 125 งดออกเสียง 14 ไม่ออกเสียง 2 เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมาธิการ 35 คน เพื่อไปลงมติวาระสอง และสามก่อนไปสู่การพิจารณาของวุฒิสภาภายใน 60 วัน ทั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ทำการคัดค้านทุกรูปแบบทั้งในสภาและนอกสภา โดยอ้างว่าเป็นการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดอาญาในคดีเผาบ้านเผาเมือง และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ รวมทั้งเป็นการลบล้างความผิดให้กับทักษิณ  ชินวัตร ในขณะที่นายณัฐวุฒิ  ไสสเกื้อ ได้อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ว่าร่าง พรบ.นิรโทษกรรมไม่รวมถึงผู้ต้องหาในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

1. ต้านนิรโทษกรรมประชาชนเพื่อใคร ?
แต่ไหน แต่ไรมานั้นพรรคประชาธิปัตย์อาศัยสถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทำลายผู้อื่น และใช้เป็นวิธีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน หรือไม่ก็ทำตัวเป็นมือ เป็นตีนให้กับเผด็จการทหารเพื่อจะได้เป็นรัฐบาลส้มหล่นอยู่เสมอ

นี่คือพรรคประชาธิปัตย์ที่อ้างนักหนาว่าเทิดทูนประชาธิปไตย และประชาชนต้องมาก่อน แต่ในความเป็นจริงไม่เคยต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาก่อนเลยในรอบ 60 ปีที่ผ่านมา ในบางสถานการณ์ยังสร้างเงื่อนไขไปสู่การรัฐประหารเสียเอง แม้ได้เป็นรัฐบาลก็มักเอื้อประโยชน์ให้กับเผด็จการทหาร ดังเช่น รัฐบาลนายควง  อภัยวงศ์  ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ก่อการรัฐประหารในปี่ 2488  และ ปี 2490 สมัยนายชวน  หลีกภัย เป็นพรรคร่วมรัฐบาลพลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ ก็เคยนิรโทษกรรมให้กับการรับประหารของกลุ่มยังเตริก หรือล่าสุดในยุคของนายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ยังสนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมาตรา 390 ได้นิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ดังนั้นการที่พรรคประชาธิปัตย์ทำการต่อต้านการนิรโทษกรรมให้กับประชาชนที่กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการชุมนุม และความขัดแย้งทางการเมือง จึงเป็นการแสดงให้เห็นถึงจุดยืนได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์นั้นรักษาผลประโยชน์ให้กับเผด็จการอย่างไม่ลืมหูลืมตาเลยทีเดียว

2.กลยุทธตีปลาหน้าไซสู่เป้าหมาย

อันที่จริงพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2533 เป็นผู้กระทำความรุนแรงต่อประชาชนทั้งการเข่นฆ่าอย่างป่าเถื่อน การอาศัยสถาบันกษัตรย์ให้ร้ายป้ายสีดำเนินคดีตามมาตรา 112 อย่างไม่เป็นธรรม ในจณะที่กระบวนการยุติธรรมที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงปัญหาสองมาตรฐาน ไม่อาจเป็นหลักประกันความยุติธรรมได้ มีผู้ถูกกล่าวหาหลายคนถูกคุมขังโดยไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวตามกฎหมาย รวมทั้งถูกบังคับให้ต้องรับสารภาพแทนการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุดในเมื่อพรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น พรรคประชาธิปัตย์จึงไม่มีความชอบธรรมในการเป็นกรรมาธิการแปรญัตติ พรบ.นิรโทษกรรม โดยเนื้อแท้แล้วการต่อต้านนิรโทษกรรมหัวชนฝาของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะไม่ให้รวมถึงผู้ต้องขังตามมาตรา 112 จึงเป็นเกมการเมืองสกปรกที่มีวาระซ่อนเร้นหวังผลเป็นการตีปลาหน้าไซ และตีวัวกระทบคราดอย่างชาญฉลาดด้วยเล่ห์เพทุบายเยี่ยงสุนัขจิ้งจอก

3.ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

การกระทำความผิดอาญาด้วยเหตุแรงจูงใจทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรทั่วไป จำนวนมากเป็นเพียงแพะรับบาปตามความถนัดแบบไทย ๆ หรืออาจเกิดจากการที่ศาลตีความกฎหมายเกินขอบเขต กระทั่งไปจำกัดสิทธิตามกระบวนการยุติธรรม ในกรณีความผิดตามมาตรา 112 เสียเอง ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกประณามรัฐบาลไทย และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองเหล่านี้ ทั้งหมดจึงควรได้รับการนิรโทษกรรมเป็นอันดับแรก การจำกัดสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติย่อมขัดกับหลักนิติธรรม

หากพิจารณาจากโทษผู้กระทำความผิดในมาตรา 112 มีโทษระหว่าง 3 – 15 ปี ส่วนใหญ่ศาลตัดสินให้มีโทษหนึ่งกรรมไม่เกิน 5 ปี แต่ถ้าเป็นความผิดกรณีเผา หรือทำลายสถานที่ราชการ หรือเอกชน หรือมีอาวุธปืน วัตถุระเบิด มีโทษสูงระหว่าง 20 – 30 ปี  หรือการก่อการร้ายยึดทำเนียบรัฐบาล และสนามบิน โทษสูงสุดถึงจำคุกตลอดชีวิต การนิรโทษกรรมที่ไม่รวมคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งมีโทษน้อยกว่า และเป็นเพียงความผิดจากการแสดงความคิดเห็น จึงปราศจากเหตุผล และความชอบธรรมในแง่หลักนิติธรรม และความเสมอภาคโดยสิ้นเชิง

หากพรรคเพื่อไทยจะตอบสนองตามความต้องการของพรรคประชาธิปัตย์ที่จะไม่รวมคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สุดท้ายพรรคเพื่อไทยก็จะถูกตำหนิติเตียน อีกทั้งยังมีนักโทษการเมืองดรงอยู่อีกต่อไป หากเป็นเช่นนี้ย่อมหนีไม่พ้นจะถูกพรรคประชาธิปัตย์โจมตีว่าเป็นพรรคการเมือง เผาบ้าน เผาเมือง เพราะการเมืองแบบไทย ๆ ไร้ซึ่งจริยธรรม และพร้อมที่จะระยำสุนัขกันได้ตลอดเวลา นอกจากนี้อาจตอกลิ่มให้คนเสื้อแดงแตกแยกกันเอง เท่ากับว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

แต่ถ้าพวก Hyper - Royalist และพวกค้านหัวชนฝาทั้งหลาย อาจจะยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้อีกก็ขอให้ไปอ่านพระราชดำรัสของในหลวงเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2548 ทรงตรัสไว้ว่า “ที่จริงพระมหากษัตริย์ไม่เคยบอกให้เข้าคุกตั้งแต่สมัยรัชการก่อน ๆ เป็นกบฏยังไม่เคยจับใส่คุก ไม่ลงโทษ รัชการที่ 6 ท่านไม่ลงโทษ ไม่ลงโทษผู้ที่เป็นกบฏ มาจนกระทั่งถึงต่อมารัชกาลที่ 9 นี่ ใครเป็นกบฏ ซึ่งไม่เคยมี แท้ ๆ ที่จริงก็ทำ ทำแบบเดียว ไม่ให้เข้าคุกให้ปล่อย หรือถ้าเข้าคุกแล้วก็ให้ปล่อย ถ้าไม่เข้าคุกก็ไม่ฟ้อง เพราะว่าเดือดร้อนผู้ที่ถูกด่าเป็นคนเดือดร้อน อย่างที่คนที่ละเมิดพระมหากษัตริย์นั่นแล้วก็ถูกทำโทษ ไม่ใช่คนนั้นเดือนร้อน พระมหากษัตริย์เดือดร้อนนี่ก็แปลก คราวนี้นักกฎหมายก็ชอบให้ฟ้อง ให้จับเข้าคุก อันนี้นักกฎหมายก็สอน สอนนายกบอกว่าต้องฟ้อง ต้องลงโทษ นี่ก็ขอสอนนายกว่าใครบอกให้ลงโทษ อย่าลงโทษเขา ลงโทษไม่ดี ลงท้ายไม่ใช่นายกเดือดร้อน แต่พระมหากษัตริย์เดือดร้อน”

การกระทำความผิดด้วยเหตุมาจากแรงจูงใจทางการเมืองไม่ใช่อาชญากรทั่วไป จำนวนมากเป็นเพียงแพะรับบาปตามแบบฉบับไทย ๆ หรืออาจเกิดจากศาลตีความกฎหมายเกิดขอบเขตไปจำกัดสิทธิเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรมในกรณีมาตรา 112 เสียเอง จนทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลกประนามประเทศไทย และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองให้หมดไป

การดำรงอยู่ของนักโทษการเมืองตามมาตรา 112 ไม่เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยฉันใด การออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยไม่รวมเอาความผิดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสถาบันกษัตริย์ฉันนั้น   อีกทั้งยังทำให้การนิรโทษกรรมครั้งนี้ไม่มีคุณค่าความหมายต่อระบอบประชาธิปไตยแม้แต่น้อย

การนิรโทษกรรมที่ไม่รวมความผิดตามมาตรา 112 จึงขัดแย้งกับคำพูดของ นายวรชัย  เหมะ ที่ประกาศอย่างหนักแน่นว่าต้องการช่วยเหลือประชาชนที่ติดคุกให้หมดไป ขัดแย้งกับเจตนารมณ์ของคนเสื้อแดงที่ประกาศเป็นกฏิญาณร่วมกันที่โบนันซ่าเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2555 ปรากฏการณ์แบบนี้ไม่ต่างอะไรจากละครลิงหลอกเจ้า

ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือกลุ่มคนเสื้อเหลือง ที่ยึดทำเนียบรัฐบาล และยึดสนามบิน ได้รับการประกันตัว และการดำเนินคดีที่ยืดเยื้อยาวนาน ด้วยความเมตตาจากศาล นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่นิรโทษกรรมครอบคลุมถึงพวกเขา ส่วนคนเสื้อแดงติดคุกติดตะรางกันจนชีวิตวอดวายไปหลายคนแล้ว

การอภิปรายของนายณัฐวุฒิ  ไสยเกื้อ ในกรณีนิรโทษกรรมไม่รวมมาตรา 112 นั้น อาจตีความด้วยนัยยะหลายประการ กล่าวคือ หนึ่ง...นายณัฐวุฒิ ไร้เดียงสา ไม่เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมของพรรคประชาธิปัตย์  สอง...นายณัฐวุฒิ กำลังประจบสอพลอ เพราะได้เป็นอำมาตย์แล้ว  สาม...นายณัฐวุฒิ ไม่เข้าใจแก่นสารการนิรโทษกรรม เพราะไม่มีเวลาศึกษาการนิรโทษกรรมในอดีต  สี่...นายณัฐวุฒิ แกล้งโง่ เพื่อให้การอภิปรายในวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ยุติโดยเร็ว

อย่างไรก็ตามขอให้ตระหนักกันว่า ไม่ว่าจะเป็นคดีเผาบ้าน เผาเมือง หรือหมิ่นพระบรมเดชานุภาพล้วนแล้วแต่เป็นผลมาจากการต่อต้านการรัฐประหาร ด้วยความรักชาติ รักประชาธิปไตย การนิรโทษกรรมจึงต้องไม่มีข้อยกเว้นที่เป็นการเลือกปฏิบัติ หรือกีดกันใด ๆ ทั้งสิ้น ความสงบสันติสุข และการปรองดองจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net