Skip to main content
sharethis

สพฉ.จัดประชุมการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินในอบจ.–เทศบาล “อุบล-เลย-หนองบัวลำภู-รังสิต” ชูโมเดล ต้นแบบการจัดการแพทย์ฉุกเฉิน ย้ำการจัดระบบต้องผ่านการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ 

 
26 ส.ค. 56 - ที่โรงแรมกานต์มณี พาเลช กรุงเทพมหานคร สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดประชุมการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินในองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล โดยมีเวทีเสวนาในประเด็น “ การแพทย์ฉุกเฉิน: ภารกิจที่ท้าทายองค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการให้ได้มาตรฐาน การพัฒนาบุคลากร รวมถึงการป้องกันการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 
 
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)  กล่าวว่า  สพฉ. เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่ได้มาตรฐาน และมีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และป้องกันให้การเจ็บป่วยฉุกเฉินเกิดขึ้นน้อยที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา สพฉ.ได้ประสานความร่วมมือกับหลากหลายหน่วยงานเพื่อออกปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินให้มีความครอบคลุม ซึ่งหนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญและทำให้การบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินมีประสิทธิภาพและครอบคลุมการให้บริการมากขึ้น คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดและเทศบาล ซึ่งหากท้องถิ่นมีการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ดี ก็ย่อมส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับโอกาสและเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่มากขี้นด้วย
 
นายสุรชัย ยิ้มเกิด ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินใน จ.อุบลราชธานี เกิดขึ้นจากการประสานความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด และหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัด โดยตั้งเป้าการทำงานร่วมกันในพื้นฐานที่ว่า ท้องถิ่นมีทรัพยากร ส่วนสาธารณสุขจังหวัดมีบุคลากรและมีอุปกรณ์ในด้านการกู้ชีพ จึงเกิดการทำงานร่วมกันในรูปแบบเอ็มโอยู โดยในช่วงเริ่มต้นโครงการ อบจ.ได้สนับสนุนรถและบุคลากรประจำรถจำนวน 42 คัน  กระจายลงทุก 42 เขตเพื่อให้เกิดความครอบคลุม ซึ่งในปีเริ่มต้นเราได้จัดอบรมการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และส่งบุคลากรเข้าร่วมฝึกอบรมในเรื่องการกู้ชีพเบื้องต้นกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดด้วย 
 
ทั้งนี้การทำงานในช่วงเริ่มต้นก็เหมือนกันในอีกหลากหลายพื้นที่ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนและหน่วยงานราชการ ทั้งในส่วนบุคลากรเองก็เกิดความไม่เข้าใจเพราะต้องทำงานเพิ่มขึ้นในหลายหน้าที่ แต่เมื่อมีการพูดคุยกันและเนื้องานชัดเจนทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจและเล็งเห็นถึงประโยชน์ในการทำหน้าที่นี้ ทุกคนจึงเต็มใจและอาสาที่จะช่วยทำ จากนั้นในระยะที่สองของโครงการได้เพิ่มจำนวนรถกู้ชีพเป็น 60 คัน จนล่าสุดปัจจุบันมีรถกู้ชีพทั้งหมด 220 คัน และรถทุกคันจะถูกกระจายไปในทุกตำบล ในโรงพยาบาลชุมชน และเทศบาลต่างๆ และรับผิดชอบชีวิตประชาชนกว่า 1.8 ล้านคน ซึ่งรถกู้ชีพทุกคนได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก อบจ.ในการเช่ารถ นอกจากนี้ยังมีการริเริ่มโครงการร่วมกับ สสจ. ตั้งศูนย์ตอบโต้อุบัติภัยและสาธารณภัย โดย สสจ.ได้ย้ายเครื่องมือมาไว้ภายในศูนย์ฯ นี้เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนในยามภัยพิบัติ และในเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที และปัจจุบันไม่ว่าจะเกิดเหตุอะไร ชาวอุบลราชธานีจะโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทั้งหมด เนื่องจากมีการทำงานที่รวดเร็วและเป็นที่พึงพอใจกับประชาชน อีกทั้งยังมีโครงการคุณธรรม “พาคนรักกลับบ้าน” โดยนำผู้ป่วยที่รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลและแพทย์ไม่สามารถรักษาต่อได้แล้ว ส่งกลับมาที่บ้านไม่ว่าจะมีลมหายใจหรือไม่มีลมหายใจก็ตาม
 
ด้าน นพ.ศราวุธ สันตินันตรักษ์  นายก อบจ.หนองบัวลำภู กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่จังหวัดหนองบัวลำภูเกิดขึ้นเพราะต้องการหนุนเสริมระบบพื้นฐานเดิมที่มีอยู่แล้วให้พัฒนาเพื่อรับใช้ประชาชนในพื้นที่ได้มากยิ่งขึ้น โดยการทำงานของเราจะทำงานด้วยความร่วมมือร่วมใจของ อบจ. เทศบาล อบต. และวางแผนการทำงานร่วมกันในการบริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินให้กับประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเราจะบริการรถไว้รับส่งประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งยังมีโครงการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยให้พนักงานทุกคนเข้าการอบรม และมีการจัดตั้งกองทุนระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องงบประมาณให้สามารถใช้จ่ายได้อย่างคล่องตัวและทันต่อเหตุการณ์ โดยเงินในกองทุนนี้ร้อยละ 40 จะถูกกันไว้เพื่อใช้อภิบาลระบบการแพทย์ฉุกเฉิน และส่วนที่เหลือจะเปิดโอกาสให้เทศบาล หน่วยงานส่วนท้องถิ่นเสนอโครงการเข้ามาขอทุนสนับสนุนเพื่อจัดระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน โดยขณะนี้เรามีการกระจายการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินครอบคลุมเกือบทุกตำบลแล้ว และในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบแจ้งเหตุและพัฒนาระบบป้องกันอุบัติเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ด้วย
 
ขณะที่นายธรรมนูญ ภาคธูป  เลขานุการนายก อบจ.เลย  กล่าวว่า การบริหารจัดการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดเลยเน้นการร่วมมือจากคนในพื้นที่เป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องบุคลกร ที่จะมาให้บริการ เนื่องจากเราเป็นพื้นที่เล็ก ทั้งนี้ เราไม่ได้เน้นให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังด้วย ซึ่งก่อนเดินหน้าดำเนินการจะมีการหารือร่วมกันระหว่าง สาธารณสุขจังหวัด  สพฉ. อบจ. เพื่อแลกเปลี่ยความเห็น อาทิ จะวางจุดให้บริการในพื้นที่ใดบ้าง จำนวนรถที่จะใช้  ส่วนเรื่องงบประมาณจะเน้นการจ้างเหมารวมเป็นหลัก ทั้งนี้จากการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินมาระยะหนึ่งแล้ว มีผลตอบรับที่น่าพอใจมาก เพราะจากเดิมประชาชนเข้าถึงระบบแพทย์ฉุกเฉินน้อยมาก แต่ปัจจุบันมีการเข้าถึงมากขึ้น หรือเพิ่มถึงร้อยละ 85
 
 นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม นายกเทศมนตรีนครพัฒนารังสิต กล่าวว่า ในส่วนการแพทย์ฉุกเฉินของเทศบาลนครพัฒนารังสิต จะไม่ได้ให้บริการเฉพาะแพทย์ฉุกเฉินเพียงอย่างเดียว แต่ยังบริการไปยังผู้ป่วยโรคเรื้อรังด้วย สำหรับการจ้างบุคลากรจะเน้นไปที่การจ่ายจ้างเหมาบริการแทน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่กู้ชีพที่สับเปลี่ยนกันอยู่เวรประจำรถกู้ชีพตลอด 24 ชั่วโมง โดยงบประมาณที่นำมาใช้จะมาจาก 2 แหล่ง คือ เทศบาล และกองทุนเสริมสร้างสุขภาพชุมชน  แต่จุดเด่นของการจัดการจะอยู่ที่การใช้ระบบสารสนเทศจะมาเป็นตัวช่วยมาบริการ โดยมีการติดตั้งระบบจีพีเอส ติดไว้ที่รถ เพื่อที่จะรู้ว่ารถรับส่งผู้ป่วย อยู่ที่ใดบ้าง เพื่อเป็นการประหยัดเวลา เกิดความรวดเร็วในการรับส่งผู้ป่วย 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net