Skip to main content
sharethis


สืบเนื่องจากร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.... ที่คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช. เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ กสทช.ไปเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ร่างดังกล่าวมีใจความถึงเนื้อหาที่ต้องห้ามนำเสนอในสื่อวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยขยายความจากมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ที่ห้ามนำเสนอเนื้อหาที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังกำหนดมาตรการการดำเนินรายการที่เน้นควบคุมรายการเชิงข่าวอย่างเข้มงวด ปัจจุบัน ร่างดังกล่าวอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคม-22 กันยายน 2556

ดูร่างประกาศที่ http://bit.ly/16ONhlk

(28 ส.ค.56) ที่ห้องประชุม 1004 ชั้น 10 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสวนาโต๊ะกลม : เรื่อง 10 เหตุผลที่ไม่รับ (ร่าง) ประกาศ กสทช. กำกับสื่อ จัดโดย คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์  


ชี้ร่างประกาศคุมเนื้อหาสื่อ กสทช. ส่งผลจำกัดทางเลือกเพศวิถีแบบอื่น

รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เข้าใจว่า เจตนาของประกาศคือการทำให้เรื่องที่ไม่ชัดชัดขึ้น แต่เมื่อดูประเด็นเรื่องลามกไม่ชัด ขึ้นเลย เช่น ข้อ 9 ห้ามเนื้อหาหยาบโลน น่ารังเกียจ ขัดศีลธรรม ถามว่า กรณีสไปร์ทใส่ถุง ซึ่งเป็นการป้องกัน เป็นเรื่องดีหรือไม่ ภาพออรัลเซ็กส์รับได้ไหม เห็นอวัยวะเพศให้เห็นได้แค่ไหน สมัยหนึ่ง อก ขาอ่อน ภาวนา ชนะจิต ดารารุ่นเก่าใส่กางเกงขาสั้น คนฮือฮา ปัจจุบัน ก็ใส่กันทั่วในมหาวิทยาลัย หรือเรื่องการยั่วยุทางเพศที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ถามว่ายั่วยุแบบไหนไม่เป็นประโยชน์ ยั่วแล้วฟินเป็นประโยชน์ไหม ถ้าไม่ฟิน แปลว่าไม่เป็นประโยชน์ใช่ไหม 

รุจน์ กล่าวต่อว่า เมื่อพยายามทำความเข้าใจว่าทำไมคนไทยรังเกียจเรื่องเพศ ซึ่งไปโยงกับลามกอนาจาร ทำให้กลายเป็นห้ามพูดเรื่องเพศไปเลย คาดว่ามาจากการอยากควบคุมไม่ให้อะไรที่ผิดไปจากเพศวิถีกระแสหลัก เช่น เรื่องเพศสกปรกอันตราย เมื่อสไปร์ทใส่ถุง ทำให้เรื่องเพศสกปรก เป็นเรื่องสะอาดและไม่อันตราย แต่ กสทช.รับไม่ได้ เรื่องจะมีอะไรกันได้ต้องแต่งงาน ผัวเดียวเมียเดียว เพศสัมพันธ์เพื่อเจริญพันธุ์ ปรากฏว่า สไปร์ทขัดหมด แง่นี้ แรงเงาจึงรับได้ เพราะสุดท้ายถูกพิพากษา ผีอีเฟือง ผู้ชายมีเมียมาก ผีจึงออกอาละวาด แต่สไปร์ท มีเพศสัมพันธ์เพื่อความเพลิดเพลิน และมีสุขภาวะ สังคมไทยไม่ยอมรับ

รุจน์ กล่าวว่า ถ้าจะห้ามไม่ให้มีเพศวิถีกระแส อื่น ถามว่าทำได้หรือไม่ เขามองว่าห้ามไม่ได้แล้ว โดยจะเห็นว่า สถิติแม่วัยใสที่ตั้งครรภ์ ซึ่ง WHO ระบุว่า ไม่ควรเกิน 10% ของการตั้งครรภ์ทั้งประเทศ ประเทศไทย อยู่ที่กว่า 13% เป็นที่หนึ่งในเอเชีย และที่สองของโลก ทางแก้คือ ต้องมีเพศวิถีแบบอื่นขึ้นมาสูสีกัน เช่น เพศวิถีแบบฮอร์โมน อย่างไรก็ตาม หากร่างประกาศนี้ผ่าน จะทำให้เพศวิถีกระแสหลักคืนชีพ และหดเพศวิถีแบบอื่นไว้ใต้ดิน

 

'ประวัติศาสตร์' กับร่างประกาศคุมเนื้อหา: เมื่อประวัติศาสตร์ไม่ได้มีชุดเดียว จะตรวจสอบกันยังไง

สุ เนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ประกาศหรือข้อบังคับใดที่ออกมา ถ้าขาดความชัดเจน หรือที่แย่กว่านั้นคือขัดข้อเท็จจริง จะส่งผลต่อการใช้ในทางปฏิบัติ หรืออาจถูกนำไปใช้จับผิด กลั่นแกล้งกันด้วย 

สุเนตร กล่าวถึง ข้อ 23 ของประกาศ ที่ว่า "การนำเสนอรายการที่มีเนื้อหาอ้างถึงข้อเท็จจริงในอดีต หรือข้อมูลประวัติศาสตร์ ผู้รับใบอนุญาตจะต้องตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้อง เป็นจริง และต้องไม่มีลักษณะของการตัดทิ้ง ดัดแปลง แก้ไข หรือละเลยข้อเท็จจริง อันเป็นสาระสำคัญที่จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อบุคคลหรือองค์กรที่ถูกกล่าวอ้างถึง" โดยถามว่าอะไรคือความถูกต้องของ ข้อเท็จจริงในอดีต จะเอาอะไรเป็นบรรทัดฐาน เอาเฉพาะเรื่องคนไทยมาจากไหน ยังไม่ได้ข้อสรุปเลย ที่ซ้ำร้ายคือ พอพูดถึงข้อมูลประวัติศาสตร์ต้องถูก ต้องเป็นจริง ประหนึ่งว่ามีชุดเดียวแบบเดียว ถามว่ามีด้วยหรือ เช่น ถ้าอ่านข้อมูลฝ่ายไทย เรื่องความสัมพันธ์กับพม่า เราเป็นพระเอก อ่านของพม่า เราอาจเป็นผู้ร้าย เพราะข้อมูลประวัติศาสตร์เป็นของที่มนุษย์ทำ ขึ้นกับว่ามนุษย์คนไหนพูด ด้วยผลประโยชน์อะไร ก็ให้ข้อมูลที่ได้ประโยชน์ 

นอกจากนี้ ยังมีคำถามด้วยว่าข้อมูลประวัติศาสตร์จะกินความแค่ไหน จะดูจากข้อมูลเอกสารระดับต้น พงศาวดาร หรือรวมถึงการตีความของนักประวัติศาสตร์ด้วยหรือไม่ เพราะหลายครั้งการตีความ เช่น โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ กลายเป็นข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์ไปแล้ว ทั้งที่บางเรื่องไม่มีข้อเท็จจริงในประวัติศาสตร์เลย เช่น ที่บอกว่า สมเด็จพระนเรศวรกลับมา เพราะแลกตัวกับพระสุพรรณากัลยา ซึ่งไม่มีหลักฐานเลยแม้แต่น้อย

การนำเสนอในสื่อต่างๆ อย่างสารคดี ละคร ไม่ได้มีแค่ข้อเท็จจริงและการตีความ แต่มีจินตนาการด้วย ซึ่งขาดไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นหนัง ละครไม่ได้ เพราะข้อมูลประวัติศาสตร์ไม่ได้เล่า ละเอียดขนาดนั้น ว่าใครรู้สึกอย่างไร แต่ละครนำมาสร้างต่อ ยกตัวอย่างกรณีสุริโยทัย มีไม่กี่บรรทัดในประวัติศาสตร์ ถ้าทำตามประกาศข้อนี้ ก็คงทำหนังไม่ได้แน่

ในฐานะนักประวัติศาสตร์ มีข้อนี้คงลำบาก แม้จะเข้าใจเจตนาที่ดี แต่เจตนาที่ดีต้องมาพร้อมกับความรู้และปัญญา ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาอีกเยอะตามมา

ต่อคำถามว่า การร่างประกาศข้อนี้ เป็นเพราะกลัวอะไรในประวัติศาสตร์ สุเนตร กล่าวว่า ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ ส่วนมากจะอยู่ในกระแสหลัก มีกระแสย่อยประปราย แต่ไม่ขัดกับประวัติชาติหรือการ รักษาเอกราชของชาติ แต่เรื่องที่เป็นข้อขัดแย้ง (controversial) จะเป็นประวัติศาสต์ร่วมสมัย ตั้งแต่ 2475 หรือ 14 ต.ค.16 ซึ่งอาจกระทบถึงผู้ที่เกี่ยวข้องที่ยังมีชีวิตอยู่ 

 

10 เหตุผลไม่รับร่างประกาศฯ 

ธีระพล อันมัย อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวถึง  10 เหตุผลที่ทำให้ไม่ยอมรับร่างประกาศนี้ ว่า

1. การมีร่างนี้ออกมา เป็นการเพิ่มความซ้ำซ้อนกับก ฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น กฎหมายอาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ร.บ.ว่าด้วยเด็กและเยาวชน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และยังย้ำถึงการควบคุมสิทธิเสรีภาพสื่อและความคิดความรู้ของประชาชน

2. ขัดเจตนารมณ์ปฏิรูปสื่อ ที่่ผ่านมา มีการต่อสู้เพื่อให้มี กสทช. เพื่อเปิดหูเปิดตา แต่ประกาศฉบับนี้กลับจะปิดหูปิดตาเรา

3. นิยาม เช่น ความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดี ยังคลุมเครือและคร่ำครึ แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ออกประกาศไม่มีแนวคิดก้าวหน้าเรื่องส่งเสริมสิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน 

4. นิยามที่คลุมเครือนำไปสู่การวินิจฉัยที่คลุมเครือ ที่ผ่านมา ขนาดคำวินิจฉัยศาลเรายังไม่เชื่อ แล้วจะเชื่อ กสทช.หรือ

5. ข้อ 7 ของร่าง ซึ่งเขียนถึงเนื้อหารายการที่ห้ามออกอากาศ จะทำให้สื่อเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ปราศจากมลทิน และไม่ต้องแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเมือง

6. อำนาจในการควบคุม ให้อำนาจซ้ำซ้อนตั้งแต่อำนาจ กสทช. อำนาจผู้ประกอบการ ในการควบคุมคนทำงานสื่อซึ่งส่วนใหญ่ก็ควบคุมตัวเองอยู่แล้ว 

7. ข้อ 26 ของร่าง เป็นการให้อำนาจปากเปล่า คือให้กรรมการที่ได้รับมอบหมายหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจสั่งด้วยวาจาให้ระงับการออกอากาศได้ 

8. เดิม กฎหมายอาญามาตรา 112 คุ้มครองกษัตริย์ และรัชทายาท แต่ในข้อ 7.1 ซึ่งพูดถึงเนื้อหาที่ห้ามออกอากาศ เพิ่มคำว่า "สถาบันกษัตริย์" เข้าไปด้วย อาจทำให้ต่อไปแม้แต่การพูดถึงสถาบันกษัตริย์ก็ทำไม่ได้ เท่ากับเป็นการปิดปากอย่างเต็มที่ ซึ่งขัดกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีกลุ่มคนที่กำลังรณรงค์เรื่องการแก้ไขกฎหมาย มาตรา 112  

9. แทนที่ กสทช.จะส่งเสริมการทำงานของสื่อ กลับควบคุมเนื้อหาแทน 

10. แม้มีข้อดีอย่างข้อ 8.1 ที่ห้ามการแสดงออกที่ก่อให้เกิดการดูถูกเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความละเอียดในการร่าง แต่ในภาพรวมของร่างประกาศทั้งหมด นั้นลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเลวร้ายเกินกว่าจะยอมรับได้

ทั้งนี้ ธีระพล เสนอให้คว่ำร่างประกาศนี้ และสนับสนุนให้มีการจัดทำข้อบังคับจริยธรรม ส่งเสริมการกำกับดูแลกันเองของนักวิชาชีพ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net