Skip to main content
sharethis
สำหรับขบวนการเรียกร้องสิทธิแรงงานนอกระบบที่เป็นการรวมตัวของแรงงานนอกระบบโดยเฉพาะ และมีเครือข่ายในหลายประเทศทั่วโลกที่สำคัญๆ มีอาทิ Home Net, Street Net และเครือข่ายจัดตั้งผู้หญิงในเศรษฐกิจนอกระบบ (Women in Informal Employment: Globalizing and Organizing - WIEGO) เป็นต้น
 
นอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่มสหภาพแรงงาน (ในระบบ) ระดับโลก และกลุ่ม NGO ต่างๆ ที่ได้ช่วยกันพยายามประสานความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาและเรียกร้องสิทธิต่างๆ ให้แรงงานนอกระบบ เช่น สหพันธ์แรงงานโลก (Global union federation - GUF) ก็เคยมีโครงการนำร่องในการขยายการเคลื่อนไหวเพื่อคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ด้วยเช่นกัน
 
เมื่อมาดูตัวอย่างการปฏิบัติที่จริงจังและต่อเนื่องของขบวนการแรงงานโลกในการเคลื่อนไหวประเด็นแรงงานนอกระบบนี้ ก็ต้องพูดถึงการทำงานอย่างจริงจังของสมาพันธ์สหภาพแรงงานสากล (International Trade Union Confederation – ITUC) ที่ได้ดำเนินการจัดตั้งแรงงานนอกระบบอย่างจริงจังในทวีปแอฟริกาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 โดยโครงการที่ ITUC ได้ริเริ่มก็มีอาทิเช่น การส่งเสริมดำเนินการให้มีการประกันสุขภาพแก่แรงงานนอกระบบในเบนิน ส่วนในมอริเตเนียนั้นมีกองทุนดูแลและเลี้ยงดูบุตรของแรงงานนอกระบบหญิง และการจัดตั้งแรงงานนอกระบบหญิงให้เป็นนักสหภาพแรงงานอีกด้วย
 
ในปี ค.ศ. 2002 ITUC ได้ร่วมมือกับพันธมิตรสหกรณ์ระหว่างประเทศ (International Co-operative Alliance - ICA) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization - ILO) จัดตั้งโครงการ SYNDI – COOP ที่มีการฝึกอบรมและให้ทุนสนับสนุนสหกรณ์คนงานหลายแห่งในแอฟริกา เช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ของสมาคมคนซ่อมและช่างขัดรองเท้าแห่ง Kampala ในประเทศอูกานดา, ให้ความช่วยเหลือสหกรณ์คนงาน Kagera ในประเทศแทนซาเนีย (สหกรณ์คนงานแห่งนี้มีความเชื่อมโยงกับชาวไร่กาแฟกว่า 90,000 คน) รวมทั้งให้ความช่วยเหลือสหกรณ์คนงานขนาดเล็ก Wamumo ประเทศเคนย่า
 
และในปี ค.ศ. 2007 ITUC ก็ได้รณรงค์ขยายสิทธิทางสังคมและกฎหมายให้กับแรงงานนอกระบบในบูร์กินา ฟาโซ อีกด้วย
 
มาตรฐานสากลด้านแรงงานของแรงงานนอกระบบ
 
ตามคำประกาศของ ILO เมื่อปี ค.ศ. 1998 ว่าด้วยหลักการพื้นฐานและสิทธิในที่ทำงานนั้นถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการอภิปรายเรื่องสิทธิแรงงานนอกระบบ นอกเหนือกรอบความสัมพันธ์แบบมีนายจ้างชัดเจนเพียงอย่างเดียวเช่นเมื่อก่อน
 
แม้ว่าอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ที่ถือว่าเป็นมาตรฐานแรงงานขั้นพื้นฐานที่น่าจะให้การครอบคลุมประเด็นเรื่องสิทธิแรงงานที่สำคัญ แต่ก็มักจะเกิดช่องว่างด้านสิทธิที่เห็นได้ชัดระหว่างแรงงานในสถานประกอบการ กับแรงงานที่อยู่ข้างนอก ซึ่งรัฐบาลและนายจ้างมักจะปฏิเสธการรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรองของกลุ่มคนงานนอกระบบ เหมือนกับกรณีของกฎหมายแรงงานในหลายๆ ประเทศที่มักจะไม่คุ้มครองแรงงานที่ไม่มีนายจ้างอย่างชัดเจน
 
นอกจากนี้อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 29, 105, 138, และ 182 ก็มีเป้าหมายที่จะขจัดแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ ซึ่งส่วนใหญ่แรงงานทั้งสองประเภทนี้ หากยังจะมีอยู่พวกเขาก็มักจะอยู่ในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ และการจ้างแรงงานเด็กและแรงงานบังคับก็เกิดมาจากสภาพความยากจนเกือบทั้งสิ้น ส่วนแรงงานข้ามชาติก็มีความเสี่ยงที่จะถูกกดขี่และสู่วงจรธุรกิจค้ามนุษย์ด้วยเช่นกัน
 
อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 100 และ 111 ที่ส่งเสริม “การขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบในการจ้างงานและการประกอบอาชีพ” โดยอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 100 นั้นกำหนดให้รัฐที่ให้สัตยาบันปฏิบัติตามนโยบายค่าตอบแทนในการทำงานที่เท่ากันของชายและหญิง ซึ่งมีงานที่มีค่าเท่าเทียมกัน และมีผลต่อแรงงานทั้งหมด รวมถึงแรงงานนอกระบบด้วย ส่วนอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 177 ว่าด้วยการรับงานไปทำที่บ้าน นับเป็นอนุสัญญาฉบับแรกของ ILO ที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองแรงงาน “ผู้รับงานไปทำที่บ้าน”
 
สำหรับมาตรฐานแรงงานของ ILO ฉบับใหม่เอี่ยม ที่ดูจะเจาะจงครอบคลุมแรงงานนอกระบบที่สำคัญก็คือ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยแรงงานทำงานบ้าน (Convention on Domestic Workers, 2011) และข้อเสนอแนะ (Recommendation) ฉบับที่ 201
 
โดยมาตรฐานแรงงานของ ILO ฉบับใหม่นี้จะช่วยให้แรงงานทำงานบ้านทั่วโลกที่ช่วยดูแลครอบครัวและครัวเรือน ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่แรงงานอื่นๆ ได้รับ อาทิ มีชั่วโมงการทำงานอันควร การได้พักผ่อนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 วัน การจำกัดการชดเชยที่ไม่ใช่ตัวเงิน การระบุข้อมูลและเงื่อนไขการจ้างงานที่ชัดเจน และการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิในการทำงาน รวมถึงสิทธิในการสมาคม และสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง
 
อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ระบุว่าแรงงานทำงานบ้านคืองานที่ทำในบ้าน ครัวเรือน แม้ว่ามาตรฐานฉบับดังกล่าวจะครอบคลุมแรงงานทำงานบ้านทุกคน แต่จะมีมาตรการพิเศษเพื่อปกป้องแรงงานที่อายุน้อยหรือแรงงานต่างสัญชาติ หรือแรงงานที่พักในบ้าน ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่า
 
ทั้งนี้อนุสัญญาฉบับนี้ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายใน 2 ปี ต่อประเทศที่ให้สัตยาบัน ซึ่งก็คือในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 2013
 
 
 
เรียบเรียงมาจาก:
 
การประชุมใหญ่ ILO ครั้งที่ 100 ลงมติช่วยแรงงานทำงานบ้าน 53 ถึง 100 ล้านคนทั่วโลก ให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงาน (ilo.org, 17/06/2011)
 
ความยุติธรรมถ้วนหน้า แนวปฏิบัติเพื่อสิทธิคนงานยุคเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ (โซลิแดริตี้ เซ็นเตอร์, 2006) http://www.ilo.org/asia/info/public/pr/WCMS_157951/lang--en/index.htm
 
C189 - Domestic Workers Convention, 2011 (No. 189) (ilo.org, เข้าดูเมื่อ 27/08/2013)
 
 
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net