อานันท์ กาญจนพันธุ์: การศึกษาสังคมไทยไร้น้ำยา และการเป็นอัมพาตทางการเมือง

การปาฐกถา "การศึกษาสังคมไทยไร้น้ำยา และการเป็นอัมพาตทางการเมือง" โดยอานันท์ กาญจนพันธุ์ เมื่อ 24 สิงหาคม 2556 ในการประชุมวิชาการนานาชาติ: ไทยศึกษาในสายลมตะวันออก

 

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการปาฐกถาเปิด "การประชุมวิชาการนานาชาติ: ไทยศึกษาในสายลมตะวันออก" (International Conference: Thai Studies through the East Wind) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดย ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ "การศึกษาสังคมไทยไร้น้ำยา และการเป็นอัมพาตทางการเมือง" 

สำหรับการประชุมดังกล่าว จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 - 25 สิงหาคม 2556 ที่โรงแรมฟูรามา จ.เชียงใหม่ โดยคณะมนุษยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ The Japanese society for Thai Studies 

000

โดยในการปาฐกถา อานันท์ เห็นว่าการพัฒนาการของการศึกษาด้านไทยศึกษา ด้านสังคมศาสตร์/มนุษยศาสตร์ที่เกี่ยวกับสังคมไทย ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของสังคมไทย ที่ตามไม่ทันเป็นเพราะสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก แต่มุมมองที่เกี่ยวกับข้องกับการอธิบายการเปลี่ยนแปลงยังอยู่กับที่

สาเหตุที่อยู่กับที่เป็นเพราะว่า เรามักจะมองสังคมไทยในลักษณะไทยแบบยึดติดว่าสังคมไทยมีความกลมกลืน ค่อนข้างชาตินิยม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งผมคิดว่ามีปัญหาอย่างยิ่ง ทำให้เราคิดว่าเราต้องเป็นเหมือนๆ กัน แต่ในความเป็นจริงปัจจุบัน สังคมไทยมันมีความเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่หลากหลาย ซับซ้อนยิ่งขึ้น เดี๋ยวนี้มีคำพูดว่า "สังคมไทยคืบคลานไปสู่ลักษณะพหุวัฒนธรรมรวดเร็ว" ที่จริงสังคมไทยก็เป็นพหุวัฒนธรรมอยู่แล้ว แต่ตอนนี้ก็มีอัตราเร่งที่เร็วมาก

พหุวัฒนธรรมในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ามีความแตกต่างหรือหลากหลายทางวัฒนธรรม ศาสนา แต่เป็น "ลีลาชีวิต/Life style" อีรุงตุงนัง คือมีความเป็นพหุวัฒนธรรมหลายมิติ แต่คนยังเข้าใจความหลากหลายในความหมายแบบแคบ ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาว่า ทำให้เรามองข้าม หรือมองไม่เห็นกลุ่มคนที่แตกต่างจำนวนมากในสังคมไทยอย่างมหาศาล

ผมมักใช้คำว่า เวลานี้คนในสังคมไทยจำนวนหนึ่งกลายเป็น "มนุษย์ล่องหน" เขาก็อยู่ในสังคม แต่เรามองไม่เห็นเขา ความสามารถในการมองเห็นคนที่แตกต่างไม่มี ทำให้เรามีมุมมองที่ค่อนข้างกระเดียดไปทางใดทางหนึ่ง และเมื่อเรามองอะไรทางเดียว ก็เหมือนเส้นผมบังภูเขา ที่ทำให้เรามองอะไรอย่างอื่นนอกจากที่เราจ้องมองนั้นไม่ได้

ตรงนี้ทำให้เป็นปัญหาอย่างมาก ยกตัวอย่าง ผมเดินทางไปศึกษาในหลายพื้นที่ เพื่อเรียนรู้จากคนอื่น สำรวจจากนักศึกษาบ้าง หรืองานวิจัยบ้าง ตอนนี้ไปถามคนในชนบทเขาบอก "ผมอยากเป็นเสี่ย" คืออยากรวยน่ะ แต่เรายังมองสังคมในชนบทว่า "ขอให้เหมือนเดิม" "ขอให้เป็นเกษตรกรเหมือนเดิม" แต่เขาบอกอยากเป็นเสี่ย แต่เรายังอยากให้เขาอยู่เหมือนเดิม ก็ลำบากที่จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงตรงนี้

หรือคนที่คิดจะเปลี่ยนแปลงสังคมไทย พยายามเสนอมาตรการที่จะช่วยคน เช่นมีเรื่องโฉนดชุมชน หรือมาตรการช่วยเหลือต่างๆ แต่ตรรกะเบื้องหลังวิธีคิดคือ "เราอยากช่วยเหลือคนจน" ซึ่งเป็นศีลธรรม มโนคติที่ดี แต่มโนคติเหล่านั้นไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของลักษณะสังคมไทยปัจจุบัน สังคมไทยปัจจุบันติดอยู่ภายใต้กับดักประเทศรายได้ปานกลาง แปลว่า เวลานี้คนไทยมีรายได้มากขึ้นในระดับหนึ่ง แต่ก้าวไม่พ้นที่จะพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง เพราะการจะก้าวไปได้ทางสังคม จำเป็นต้องมีกลไกรองรับทำให้ขับเคลื่อนไปได้ แต่เรายังยึดกลไกแบบเก่า และที่ผ่านมาก็ไม่มีการสร้างกลไกแบบใหม่ กินบุญเก่าใช้มรดกเดิมๆ มีปัญหาอะไรก็นึกถึงบ้าน วัด โรงเรียน หรือชุมชน คือใช้กลไกเก่าๆ จนพุพังไปหมดแล้ว ไม่มีสติปัญญาพอที่จะสร้างกลไกใหม่ๆ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนสังคมรายได้ปานกลางไปสู่อีกระดับหนึ่งได้

และไทยศึกษาค่อนข้างติดอยู่กับการศึกษาในพรมแดนค่อนข้างมาก ทั้งพรมแดนของสาขาวิชา และพรมแดนของประเทศ ดังนั้นการที่เราไม่เข้าใจความสัมพันธ์เชื่อมโยงที่กว้างไปกว่าพรมแดน เลยเกิดสภาวะที่ไร้น้ำยา คือความสามารถในการอธิบายด้านวิชาการต่ำ คืออธิบายไม่ครอบคลุมกับความเป็นจริงทางสังคมที่หลุดไปจากพรมแดนมากแล้ว ยังอธิบายว่าขอให้เหมือนเดิม มองอยู่แค่นี้ เลยทำให้ความสามารถในการอธิบายไม่เพียงพอ เมื่อไม่เพียงพอ ก็ไม่สามารถเป็นพลังขับเคลื่อนทางสังคมได้

ความสำคัญของวิชาการคือต้องเป็นพลังขับเคลื่อนทางสังคมได้ทางหนึ่ง แต่อย่างหนึ่งที่ผมสะท้อนตัวเองมาคือเราไร้น้ำยาว่ะ เราไม่หลุดออกจากพรมแดนเก่าๆ ที่เราเคยยึดถือกันมานาน ถ้าหากเรายังมองความซับซ้อนหลากหลายของวัฒนธรรมไม่ได้ ไม่เคารพความแตกต่างของคนอื่น เห็นคนที่เห็นต่างจากเราไม่ใช่คน ไม่เคารพศักดิ์ศรีของคนที่เห็นต่างจากเรา ถ้าสิ่งนี้ไม่เกิด พลังไม่มี พลังจะมีก็คือ ความเห็นใหม่นั้นต้องมาจากความแตกต่าง ไม่ใช่ความเหมือน แต่เราชอบของเดิม แล้วเราจะก้าวหน้าได้อย่างไร

ผมมานั่งนึกดู ทำไมเราถึงรู้เรื่องนู้นเรื่องนี้มามาก ซึ่งที่เราก็ไม่ได้รู้ด้วยตัวเอง แต่เพราะเสือกกับเขาเรื่อยๆ ไปยุ่งกับคนนั้นคนนี้ เราถึงได้ความรู้ที่แตกต่างมาก เราถึงไม่เป็นตัวของเรา ไม่ใช่ยึดติดว่าเราคิดดีด้วยตัวเอง แต่ที่คิดได้เพราะเรียนรู้จากคนอื่น คนที่คิดไม่เหมือนกับเรามา การที่เราเคารพความแตกต่างของคนอื่น สามารถทำให้เราพัฒนาความคิดได้ แต่สภาวะไร้น้ำยาเกิดขึ้นเพราะเราคิดว่าคนอื่นไม่ดี ความคิดเราถูกคนเดียว ความคิดแบบนี้เลยมาบั่นทอนพลังทางวิชาการที่จะทำให้เราขับเคลื่อนไปได้

ส่วนความเป็นอัมพาตทางการเมืองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แก้ด้วยการมองทางการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองทางสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นพื้นฐานมากกว่า จะทำให้เราเข้าใจว่าทำไมการเมืองเป็นอัมพาต เพราะสิ่งที่เป็นด้านสังคมเราไม่มีความเข้าใจเลย และประเด็นทางการเมืองที่เป็นมาตลอดเวลาก็ไม่ได้ยกระดับที่จะทำให้เกิดการคำนึงถึงปัญหาสังคมเหล่านี้เพียงพอ ทำให้การเมืองเป็นของคนเพียงบางกลุ่ม แต่ไม่สามารถตอบสนองของคนกลุ่มที่แตกต่างหลากหลายได้เพียงพอ และพลังที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนกดดันให้การเมืองตอบสนองความแตกต่างหลากหลายนี้ยังไม่มี จึงทำให้เป็นอัมพาตกินอย่างที่เป็นอยู่

อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือด้านเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหา เพราะมุมมองทางเศรษฐกิจปัจจุบันยังมองจากมุมการผลิต ถ้าแต่ละประเทศที่แยกกันอยู่ต่างคนต่างอยู่อาจไม่เป็นปัญหา หากเราใช้มุมมองทางเศรษฐกิจจากการผลิตมาเป็นกรอบอธิบาย เรามองแต่ละประเทศแยกจากการกัน แต่อย่างที่เราทราบ สังคมไทย ประเทศไทยไม่ได้อยู่คนเดียว มีภาวะไร้พรมแดน และเบื้องหลังของการเปลี่ยนแปลงนี้คือโลกาภิวัฒน์ มันมีการขับเคลื่อนข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วมหาศาลเกินกว่าที่เราจะจินตนาการ อะไรเกิดในโลกก็รู้ได้ในวินาทีนั้น ความรวดเร็วนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงอันใหม่อย่างมหาศาล คือการเปลี่ยนแปลงของการสื่อสาร หรือการเข้าใจในสารหรือความหมาย มันสื่อกันเร็วมาก ซึ่งจริงๆ แล้วเมื่อสถานการณ์มันเข้าสู่โลกาภิวัฒน์ ทำให้ความสำคัญของเรื่อง "ความหมาย" มีมหาศาลขึ้น ระบบเศรษฐกิจปัจจุบันไม่ได้พึ่งการขายสินค้าอย่างเดียว แต่การซื้อขายแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจมันขึ้นกับการขาย "ความหมาย" ซึ่งความหมายอาจจะสำคัญกว่าตัววัตถุที่ขาย เราซื้อเพราะความหมายของวัตถุที่เราจะซื้อ ดังนั้นการมองแต่กรอบการผลิตทางเศรษฐกิจจะไม่มีทางเข้าใจ เพราะเมื่อความหมายมีความสำคัญมากขึ้น เราวิธีการศึกษาต้องให้ความสำคัญในการมองทางเศรษฐกิจในกรอบของการบริโภคมากขึ้น ต้องเข้าใจว่าทำไมเขาบริโภคเช่นนั้น

ระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ตรรกะของการทำงานทางเศรษฐกิจมันขึ้นกับอุดมการณ์บางอย่างที่เราเรียกว่า "เสรีนิยมใหม่" ที่ให้ความสำคัญกับตลาดเสรี ซึ่งทุกคนติดอยู่กับความเข้าใจหรือการครอบงำของความหมายแบบนี้ ที่เชื่อว่าตลาดทำงานได้ดีและจะทำให้เราดีขึ้นได้ แต่เราไม่เข้าใจว่าปัญหาที่เป็นทุกวันนี้เป็นเพราะตลาดด้วย อย่างเช่น วิกฤตปี 2540 หรือวิกฤตในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมาพร้อมๆ กับตรรกะของเสรีนิยมใหม่เชื่อในระบบตลาดจนมองไม่เห็นข้อผิดพลาด ทั้งที่เราเผชิญข้อผิดพลาดนั้นทุกวี่ทุกวัน บ่อยครั้ง และถี่มากขึ้นเรื่อยๆ แต่เราก็คิดว่ามันเป็นทางออกทางเดียว พูดง่ายๆ ว่าเรามั่นใจในกลไกตลาดเกินไป ทั้งที่ตลาดมันทำงานได้เพราะรัฐสนับสนุนทั้งนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท