Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
ในโครงการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งจำนวน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมุ่งปฏิรูประบบขนส่งคมนาคมทุกด้านของประเทศไทยนั้น โครงการที่สำคัญที่สุดโครงการหนึ่งคือ รถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-หนองคาย กรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ และกรุงเทพฯ-ระยอง รวมกันมีมูลค่าสูงถึงราว 8 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 40 ของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด
           
โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นเป้าโจมตีอย่างหนักจากพรรคฝ่ายค้าน สื่อมวลชนกระแสหลัก และกลุ่มมวลชนเสื้อเหลือง อ้างว่า ประเทศไทยยังไม่มีความพร้อม ไม่มีความจำเป็น ก่อภาระหนี้มหาศาล และจะเกิดการทุจริตคอรัปชั่นมโหฬาร แม้แต่นักวิชาการเสื้อเหลืองก็ออกมาคัดค้านว่า “ไม่คุ้มค่า โครงการจะประสบภาวะขาดทุน” เป็นต้น
           
พวกที่คัดค้านโครงการรถไฟความเร็วสูงมีสองจำพวก พวกแรกคือพวกแค้นทักษิณและพรรคเพื่อไทย มุ่งหาประเด็นอะไรก็ได้ที่โจมตีรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ไม่สนใจว่า เรื่องนั้นจะมีสาระความจริงแค่ไหน ให้ได้โจมตีด่าทอด้วยเหตุผลที่ไร้สาระเอาไว้ก่อน เผื่อจะต่อยอดปั่นกระแสเป็นการเคลื่อนไหวของมวลชน ตุลาการ และทหาร โค่นล้มรัฐบาลได้เป็นพอ
           
ส่วนอีกพวกหนึ่ง เป็นกลุ่มคนที่อ่อนไหวไปตามกระแสข่าวในสื่อมวลชนกระแสหลักและการปั่นกระแสของกลุ่มแรก แล้วก็ตื่นตกใจไปตามข้อมูลเท็จและอารมณ์ของข่าว คนกลุ่มหลังนี้ รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยจะต้องทำงานอย่างหนัก สื่อสารข้อมูลความจริงที่ถูกต้องไปให้ถึง เพื่อไม่ให้ไปผสมโรงกับพวกแรก
           
เราจะเข้าใจถึงความสำคัญของโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยได้ชัดเจน ก็ต้องพิจารณาจากการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และแนวโน้มการพัฒนาโครงข่ายขนส่งคมนาคมของภูมิภาคจีน-อาเซียนโดยรวม
           
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะเป็นจริงโดยสมบูรณ์ในปี 2558 นั้นจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจขนาดใหญ่หนึ่งในสี่กลุ่มของโลกในอีก 10 ปีข้างหน้า มีสถานะใกล้เคียงกับการรวมกลุ่มเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นอีกสามกลุ่มคือ สหภาพยุโรป เขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก) และจีน (นับเป็นหนึ่งกลุ่มเนื่องจากมีขนาดใหญ่มาก)
           
แต่การรวมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะก่อเกิดเป็นระบบเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนหนึ่งเดียวได้จริงนั้นต้องอาศัยโครงข่ายขนส่งคมนาคมที่ครอบคลุมทั่วถึงทั้งภูมิภาค ประเทศจีนมองเห็นศักยภาพของกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและตระหนักดีว่า หากสามารถเชื่อมต่อระบบเศรษฐกิจของจีนเข้ากับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้แล้ว ภูมิภาคจีน-อาเซียนจะรวมกันกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้สหภาพยุโรปและเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ และยุทธศาสตร์ของจีนที่จะทำให้กลุ่มพลังจีน-อาเซียนปรากฏเป็นจริงคือ โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-อาเซียน
           
ปัจจุบัน ประเทศจีนได้ลงทุนก่อสร้างโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงภายในประเทศหลายเส้นทาง มีเป้าหมายครอบคลุมเมืองสำคัญทั้งหมดของประเทศ เมื่อแล้วเสร็จในปี 2558 จะมีระยะทางรวมกันถึง 40,000 กม. ยาวที่สุดในโลก
           
หัวใจที่จะเชื่อมประเทศจีนเข้ากับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือ เมืองคุนหมิง มณฑลยูนนาน ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางรถไฟความเร็วสูงในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยจีนมีแผนการขยายเส้นทางรถไฟความเร็วสูงต่อจากเมืองคุนหมิง ลงสู่ใต้สองเส้นทาง เส้นทางแรกจากคุนหมิงเข้าสู่ประเทศพม่า ผ่านเมืองมันดะเลย์ เมืองหลวงเนย์ปิทอว์ และร่างกุ้ง อีกเส้นทางหนึ่งจากเมืองคุนหมิงเข้าสู่ประเทศลาว เมืองหลวงน้ำทา และกรุงเวียงจันทน์ โดยทั้งโครงการจีน-พม่า และจีน-ลาว รัฐบาลจีนให้เงินกู้แก่รัฐบาลทั้งสองประเทศเพื่อการก่อสร้างโดยมีเงื่อนไขแลกเปลี่ยน โครงการจีน-พม่าจะเริ่มก่อสร้างในปลายปี 2556 นี้ ขณะที่โครงการจีน-ลาวก็ได้เจรจาขั้นตอนเสร็จสิ้นแล้ว
           
ด้วยเหตุนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทยที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงสอดรับกับยุทธศาสตร์ของจีนพอดี โดยรัฐบาลจีนได้แสดงความต้องการที่จะเชื่อมระบบรถไฟความเร็วสูงของตนเข้ากับโครงข่ายของประเทศไทยในสองเส้นทาง เส้นทางแรกเป็นการขยายเส้นทางต่อจากเมืองเปกู ประเทศพม่า เข้ามาประเทศไทยทางกาญจนบุรี เชื่อมกับรถไฟความเร็วสูงของไทยที่นครปฐม ส่วนอีกเส้นทางหนึ่ง ขยายเส้นทางรถไฟจากกรุงเวียงจันทน์ ข้ามมาฝั่งประเทศไทย เชื่อมกับระบบรถไฟความเร็วสูงของไทยที่จังหวัดหนองคาย ผ่านกรุงเทพฯ ไปยังนครปฐม ลงใต้ไปถึงปาดังเบซาร์ กัวลาลัมเปอร์ ไปสุดทางที่สิงคโปร์ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว รถไฟความเร็วสูงจะใช้เวลาเดินทางจากเมืองคุนหมิง ผ่านประเทศไทยไปถึงสิงคโปร์ในเวลาเพียง 10 ชั่วโมงเท่านั้น
           
ที่สำคัญคือ เวียดนามก็กำลังก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเช่นกัน คือเส้นทางจากกรุงฮานอยไปถึงนครโฮจิมินห์ซิตี้ ระยะทาง 1,630 กม. เริ่มก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปี 2555 มีแผนให้เปิดบริการเป็นบางส่วนในปี 2563 และครบถ้วนทั้งระบบในปี 2573 สามารถลดระยะเวลาเดินทางจากเดิม 32 ชั่วโมง เหลือเพียง 7 ชั่วโมง ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลเวียดนามก็กำลังพิจารณาที่จะเชื่อมระบบรถไฟความเร็วสูงของตนเข้ากับโครงข่ายของลาวที่กรุงเวียงจันทน์อีกทอดหนึ่งด้วย
           
จากโครงข่ายดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางของโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงของภูมิภาคจีนใต้-อาเซียนทั้งหมด โครงการรถไฟความเร็วสูงของไทยผนวกกับความตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียนจะมีผลเป็นการเชื่อมเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนของภูมิภาคจีน-อาเซียนเข้าเป็นหนึ่งเดียว
           
แน่นอนว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากรถไฟความเร็วสูงนี้ นอกจากจะเป็นการกระตุ้นการค้าการลงทุนภายในประเทศแล้ว ยังเป็นการนำเอาการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวทั่วทั้งภูมิภาคจีน-อาเซียนมายังประเทศไทยอีกด้วย ทั้งการขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักน้อยแต่มีมูลค่าสูง เช่น ผักผลไม้และไม้ดอกเมืองหนาวจากภาคเหนือสู่ภาคกลางและภาคใต้ (ที่ถูก “พวกในกะลา” เยาะเย้ยว่า “เอารถไฟความเร็วสูงไปขนผัก”) ไปยังมาเลเซีย สิงคโปร์ การขนส่งผักผลไม้เมืองร้อนจากภาคใต้-ภาคกลางไปสู่ประเทศจีน (ซึ่งการขนส่งปัจจุบัน ใช้ทางรถยนต์ มีอัตราการเน่าเสียสูงมากถึงร้อยละ 40) การขนส่งสินค้ามูลค่าสูงอื่น ๆ รวมทั้งนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ และนักลงทุนจำนวนหลายแสนคนต่อปีทั่วทั้งภูมิภาค
           
หากคำนวณผลตอบแทนจากโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทย โดยคิดเฉพาะ “ค่าตั๋วเดินทาง” ของคนไทยที่ใช้บริการเฉพาะในประเทศไทย รถไฟความเร็วสูงของไทยจะขาดทุนอย่างแน่นอน แต่คนที่วิจารณ์ลืมไปว่า นี่เป็นโครงข่ายนานาชาติทั่วภูมิภาคจีน-อาเซียน ซึ่งนอกจาก “ค่าตั๋วเดินทาง” ของคนไทย-จีน-อาเซียนแล้ว ยังมีผลบวกข้างเคียงเป็นการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวที่ไหลผ่านเส้นทางรถไฟสายนี้ในแต่ละปีเป็นมูลค่าอีกมหาศาล
           
รัฐบาลพรรคไทยรักไทยได้เอ่ยถึงรถไฟความเร็วสูงเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2547-48 แต่ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติเนื่องจากวิกฤตการเมืองที่เริ่มต้นในปี 2548 และยืดเยื้อถึงปัจจุบัน ฉะนั้น ประเทศไทยได้เสียเวลาไปถึง 8 ปี บัดนี้ จึงถึงเวลาแล้ว และก็เป็นจังหวะที่ทั้งประเทศจีน พม่า ลาว และเวียดนาม ก็มีความพร้อมมากขึ้นที่จะเริ่มโครงการนี้ประสานกัน เพื่อให้กลุ่มเศรษฐกิจจีน-อาเซียนได้กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งที่ 3 ถัดจากสหภาพยุโรปและเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ
 
 
 
 
หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” 30 สิงหาคม 2556
            

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net