Skip to main content
sharethis


 

(30 ส.ค.56) ประวิทย์ มาลีนนท์ อดีตกรรมการผู้จัดการ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 แสดงความเห็นในงานรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ว่า อยากให้ข้อสังเกตสักนิดว่า หลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลเนื้อหารายการที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ จริงๆ แล้วครอบคลุมน้อยกว่ากฎหมายต่างๆ ที่ควบคุมสถานีโทรทัศน์อยู่แล้ว เราไม่ได้พูดถึงเฉพาะรัฐธรรมนูญหรือมาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 เท่านั้น ทีวีถูกควบคุมด้วยกฎหมายเกือบทุกฉบับ ถ้าเป็นเรื่องสิทธิของเด็กก็มีรายละเอียดแน่นอนว่าต้องทำอะไรบ้าง เรื่องเกี่ยวกับยาเสพติด เหล้า บุหรี่ เรามีกฎหมายที่ควบคุมเราชัดเจนกว่าร่างนี้ตั้งเยอะ ฉะนั้น หลักเกณฑ์ตรงนี้จึงไม่ช่วยอะไร

ประวิทย์ กล่าวด้วยว่า นอกจากร่างกำกับดูแลเนื้อหาฯ ฉบับนี้จะพูดกว้างๆ ไม่ชัดเจน ต้องตีความ แล้ว มันไม่ได้ส่งเสริมอะไรเลย เรื่องสำคัญที่เดิมเป็นเรื่องต้องห้าม กฎหมายต่างๆ ก็ควบคุมอยู่แล้ว ทุกวันนี้ ผมมองว่าทีวีเรียบร้อยที่สุดแล้ว เรื่องผิดกฎหมายไม่มีแน่นอน ถ้าเราผิดก็โดนดำเนินคดีไปแล้ว

"สิ่งที่เป็นปัญหาถกเถียงกันอยู่ทุกวันนี้เป็นเรื่องของรสนิยมกับเรื่องของวิจารณญาณเท่านั้นเอง เป็นเรื่องคนชอบ ไม่ชอบ เช่น คนบอก สรยุทธ (สรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรข่าว) เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ ผมว่าต้องแยกประเด็นนะ ถ้าผู้บริโภคเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎเกณฑ์ ผิดกฎหมาย ฯลฯ อะไรก็ตาม ก็ดำเนินการฟ้องร้องเลยครับ แต่ถ้าเป็นเรื่องความชอบไม่ชอบ เช่น ไม่ชอบวิธีการเล่าข่าว ก็ต้องพิจารณาอีกลักษณะหนึ่ง"  ประวิทย์กล่าว

อดีตกรรมการผู้จัดการ ช่อง 3 กล่าวด้วยว่า สิ่งหนึ่งที่ทำได้ดีที่สุดก็คือ พยายามอย่าดูเขา ผมไม่ได้ท้าทายนะครับ รายการทุกรายการ จะเป็นละคร เป็นข่าว หรือเป็นอะไรก็แล้วแต่ ทำเพื่อให้คนมาชื่นชม ถ้าคุณไม่ชื่นชม อย่าไปดู แล้วเขาก็ล้มเหลวเอง แต่ที่เป็นประเด็น คือ กสทช.พยายามจะเขียน "หลักเกณฑ์ในการทำรายการ" “วิธีปฏิบัติในการทำรายการ” ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะสื่อก็มีหลักเกณฑ์ทำงานของเขาอยู่ มีหลักจรรยาบรรณจริยธรรมของเขาอยู่ ถ้าเขาทำไม่ถูกต้องก็ให้ไปดำเนินการกันเอง กสทช.กรุณาอย่าเข้าไปเลย อันนี้ผมขอ

ประวิทย์ระบุว่า สิ่งที่อยากจะฝากไว้สำหรับการออกกฎเกณฑ์ คือ อย่าเขียนด้วยความหวังดี และอย่าพูดเพื่อสร้างรูปแบบ ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง ที่มีคนเคยเสนอให้ กบว.สมัยนั้นออกหลักเกณฑ์ว่า ทุกวัน ช่วง 8.00 น. กับ 18.00 น. ต้องเคารพธงชาติทางทีวี ถามว่า ออกไปแล้วได้อะไร? คุณคาดหวังอะไร? ทำให้เกิดความสามัคคีมากขึ้นหรือว่าเป็นพิธีกรรม? กรุณาลองไปคิดดูว่าเราอยู่บ้านเรายืนตรงไหม ท่านหวังอะไรจากทีวีตรงนี้

"เวลาจะสร้างหลักเกณฑ์ อย่ามองเฉพาะคนอื่น มองที่ตัวเราด้วย ว่าตัวเราเป็นแบบอย่างหรือเปล่า เราพูดเรื่องผลกระทบของทีวีที่มีต่อเด็ก ว่าทีวีเป็นแบบอย่างของเด็ก ผมอยากถามกลับไปว่า ทำไมต้องเป็น "สื่อ" พ่อแม่ไม่ได้เป็นแบบอย่างที่ดีหรือไม่ดีที่อยู่ที่บ้านหรือครับ โรงเรียน เพื่อนฝูง เหล่านี้ไม่ใช่แบบอย่างที่คนอื่นจะทำตามหรือ ทำไมต้องทีวีอย่างเดียว" ประวิทย์กล่าวและว่า ตอนนี้อย่าพูดถึงเฉพาะทีวี เพราะสื่อไม่ได้มีเฉพาะโทรทัศน์อย่างเดียวแล้ว มีสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ทีวีช่อง 3, 5, 7, 9 เป็นเด็กเรียบร้อย เป็นเด็กดีในบ้าน แต่ถูกตำหนิมากที่สุด เพราะคนที่ทำผิด กสทช.ไม่ไปดำเนินการ สื่อที่สร้างความแตกแยก ทำลายสถาบัน ทำลายความสามัคคีในชาติ ไม่ใช่ฟรีทีวี แต่ กสทช.กลับออกระเบียบมารวมๆ

 

ที่มา: เพจโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net