Skip to main content
sharethis
รวมข่าวจากฝ่ายนิติบัญญัติ กรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ กฎหมาย ร่างกฎหมาย และความเคลื่อนไหวในรัฐสภาของ ส.ส. และ ส.ว. และพรรคการเมืองต่างๆ ประจำสัปดาห์
 
ฝ่ายค้าน เรียกร้อง นายกฯ เสนอแนวทางแก้ปัญหาพืชผลเกษตรตกต่ำ-ค่าครองชีพสูงในสภาด้วยตัวเอง
 
26 ส.ค. 56 - วิปฝ่ายค้าน เตรียมตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรี กรณีปัญหาราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ-ค่าครองชีพสูง เรียกร้อง นายกฯ เสนอแนวทางแก้ปัญหาในที่ประชุมสภาฯด้วยตัวเอง
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)  กล่าวถึง กรณีที่ฝ่ายค้านเรียกร้องให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา งดประชุมร่วมรัฐสภาในวันพฤหัสบดี (29 ส.ค. 56) นี้ เพื่อนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎรแทน เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญแก้ปัญหาประชาชนมากกว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้ประธานรัฐสภาได้นัดประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพฤหัสบดีที่ 29 สิงหาคม ตามที่ฝ่ายค้านเรียกร้องแล้ว โดยจะเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 10.00 - 18.00 น. พร้อมเตรียมตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีเรื่องการแก้ปัญหาราคายาง ราคาปาล์ม และราคาพืชผลเกษตรตกต่ำที่เป็นปัญหากำลังจะบานปลายไปสู่การชุมนุมเรียกร้องทั่วประเทศในวันที่ 3 กันยายนนี้ ตามที่ปรากฏเป็นข่าว โดยจะเสนอญัตติด่วนเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ และค่าครองชีพที่มีราคาสูงขณะที่รายได้ประชาชนกลับลดลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการที่รัฐบาลจะปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า และค่าทางด่วนในช่วงเดือนกันยายน ดังนั้นจึงขอให้นายกรัฐมนตรีเข้ามารับฟังปัญหา พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาประชาชนในที่ประชุมสภาฯด้วยตัวเอง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ / เรียบเรียง
 
ประธานวุฒิสภา เผย หากประชุมแก้ รธน. 2 วัน ยังไม่แล้วเสร็จ อาจเสนอประธานรัฐสภาเรียกประชุมต่อ ศุกร์ – เสาร์ นี้
 
26 ส.ค. 56 - ประธานวุฒิสภา ขอความร่วมมือทุกฝ่ายเคารพกติกา เพื่อให้การประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างราบรื่น เผย หากประชุมไม่แล้วเสร็จ อาจเสนอประธานรัฐสภาเรียกประชุมต่อ ศุกร์ – เสาร์ นี้
 
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ทีมข่าววิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวัน 27 – 28 ส.ค. นี้ ว่า การเห็นต่างกันเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่ขอความร่วมมือทุกฝ่ายอยู่ในกติกา ยึดหลักตามข้อบังคับการประชุม  เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม เห็นว่าถ้ายังพิจารณาไม่แล้วเสร็จอีก ตนอาจจะเสนอไปยังประธานรัฐสภาให้ประชุมต่อในวันศุกร์ที่30 และเสาร์ที่31 ส.ค. เพื่อพิจารณาให้จบ  และขอยืนยันว่า ไม่ใช่การเร่งรีบเพราะหากเร่งรีบจริงก็คงพิจารณาแล้วเสร็จไปนานแล้ว แต่มองว่าเมื่อมีกฎหมายค้างการพิจารณาหรือมีกฎหมายที่เร่งด่วน  สมาชิกรัฐสภาในฐานะที่อาสาประชาชนมาทำงานก็ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
มอบเกียรติบัตร โครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตรกระบวนการเสริมสร้างผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
 
26 ส.ค. 56 - ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตร โครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตรกระบวนการเสริมสร้างผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ให้แก่เครือข่ายผู้นำนักประชาธิปไตย 10 จังหวัด พร้อมบรรยายมอบความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธานในพิธีมอบเกียรติบัตร โครงการเสริมสร้างความพร้อมแก่ท้องถิ่น หลักสูตรกระบวนการเสริมสร้างผู้นำนักประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม ให้แก่เครือข่ายผู้นำนักประชาธิปไตย จาก 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 2 รุ่น  จ.ขอนแก่น  จ.ชัยภูมิ  จ.นครราชสีมา  จ.พัทลุง  จ.เพชรบุรี  จ.หนองบัวลำภู  จ.อำนาจเจริญ และ จ.อุทัยธานี รวม 196 คน  โดยประธานวุฒิสภาบรรยายมอบความรู้เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขรวมถึงบทบาทหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ พร้อมฝากให้ทุกคนใช้ความรู้ที่ได้จากการอบรมเครือข่ายผู้นำนักประชาธิปไตย และดูแบบอย่างตามโครงการตามพระราชดำริ เพื่อไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ของตนเอง และยืดตามพระราชดำรัส ปิดทองหลังพระ ในการทำงานทุกครั้ง คือทำหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่สังคมอย่างแท้จริง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา/ ข่าว / เรียบเรียง
 
ปธ.รัฐสภา เชื่อ ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาแก้ไข รธน. 27-28 ส.ค. นี้ ไม่เกิดปัญหาความวุ่นวาย
 
26 ส.ค. 56 - ปธ.รัฐสภา ระบุ สัปดาห์นี้บรรจุระเบียบวาระประชุมร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันที่ 27-28 ส.ค. พร้อมเชื่อไม่เกิดความวุ่นวาย ขณะวันพฤหัสบดีที่ 29 ให้มีการประชุม ส.ส.เปิดโอกาสตั้งกระทู้ถามสดและเสนอญัตติด่วนแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
 
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ได้บรรจุระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 27-28 ส.ค. นี้ ส่วนวันที่ 29 ส.ค. จะเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมเชื่อมั่นว่าการประชุมร่วมรัฐสภาจะไม่เกิดปัญหาความวุ่นวายเหมือนเช่นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจะให้วิปทั้ง 3 ฝ่ายหารือระหว่างกันให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น ส่วนการประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านตั้งกระทู้ถามสดและเสนอญัตติด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยจะเปิดโอกาสให้อภิปรายได้อย่างเต็มที่
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ / เรียบเรียง
 
ประธานรัฐสภา ตรวจความเรียบร้อยงานปรับปรุงพื้นที่บริเวณรัฐสภา พร้อมกำชับ เร่งดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา
 
26 ส.ค. 56 -  ประธานรัฐสภา ตรวจความเรียบร้อยงานปรับปรุงพื้นที่บริเวณอาคารรัฐสภา    พร้อมกำชับ เร่งดำเนินงานให้แล้วเสร็จตามกรอบเวลา พร้อมเพิ่มขั้นตอนการอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 5 ล้านบาท ให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรรายงานให้ทราบก่อน
 
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา สำรวจพื้นที่โดยรอบอาคารรัฐสภาที่มีการปรับปรุง อาทิ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ห้องสื่อมวลชน ห้องแถลงข่าว ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร และพื้นที่ห้องโถง พร้อมสั่งการให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการปรับปรุงห้องสื่อมวลชนให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่ได้มีการส่งมอบพื้นที่ หรือให้แล้วเสร็จเร็วที่สุดเนื่องจากที่ผ่านมามีความล่าช้ากว่ากำหนดมาก รวมทั้งขยายห้องสื่อมวลชนเพื่อรองรับจำนวนสื่อที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ขณะที่บริเวณบ่อปลาคราฟได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประสานกรมประมงในการรักษาให้ปลาคราฟหายป่วยก่อนทำการเคลื่อนย้าย เพื่อเปลี่ยนน้ำ โดยย้ำว่าไม่จำเป็นต้องซื้อปลาคราฟเพิ่มแต่ต้องดูแลที่เหลืออยู่ให้ดีที่สุด พร้อมระบุกรณีปลาคราฟตายไม่เกี่ยวกับฮวงจุ้ย แต่เป็นไปตามธรรมชาติ
 
ประธานรัฐสภา กล่าวว่า จากนี้ไปหากมีโครงการจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินเกินกว่า 5 ล้านบาท ให้นำเสนอเรื่องให้ตนพิจารณาโดยตรง จากเดิมที่ให้อำนาจเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวงเงินที่ไม่เกิน 100 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อป้องกันข้อครหาและป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น ส่วนการตรวจสอบรายละเอียดการใช้งบประมาณครั้งนี้ มีคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง 2 คณะ กำลังทำการพิจารณา 
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
วิปฝ่ายค้าน ชี้ สภาปฏิรูปการเมืองนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
 
26 ส.ค. 56 - วิปฝ่ายค้าน เชื่อเป้าหมายสุดท้ายสภาปฏิรูปการเมืองจะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ หาทางเข้าประเทศให้กับบางคน ระบุ  7 ข้อสรุปที่นายกฯ แถลงวานนี้ทำได้ทันทีไม่ต้องรอเสนอความเห็น จี้ นายกฯ ทำทันที 4 ข้อ ร่วมประชุมสภา ไม่กลั่นแกล้งฝ่ายที่เห็นต่าง ปราบโกง และระงับนิรโทษกรรม
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงภายหลังประชุมถึงกรณีการตั้งสภาปฏิรูปการเมืองว่า เป้าหมายสุดท้ายของการตั้งเวทีสภาปฏิรูปการเมือง จะกลับไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญและหาทางเข้าประเทศให้กับคนบางคนมากกว่าหาทางออกให้ประเทศอย่างแท้จริง ส่วนข้อสรุป 7 ข้อ ที่นายกฯ สรุปได้จากการประชุมวานนี้นั้น (25 ส.ค 56)  เกือบทุกข้อรัฐบาลสามารถดำเนินการได้เลย ไม่ต้องรอกรรมการชุดใดเสนอความเห็นอีก และตัวนายกฯ เองเป็นคนแรกที่ต้องปฏิรูป โดยฝ่ายค้านมีข้อเสนอแนะ 4 ข้อ ที่นายกฯ ต้องทำทันที คือเข้าร่วมประชุมสภาทุกครั้ง เพื่อสะท้อนความเป็นผู้นำในระบอบประชาธิปไตย พิสูจน์ว่าไม่ใช่เป็นสภาทาสเหมือนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และต้องใช้เวทีสภาแก้ปัญหาให้กับประชาชนอย่างแท้จริง นอกจากนี้ นายกฯ ต้องไม่ปล่อยปละละเลยที่มีการใช้กลไกอำนาจรัฐ กลั่นแกล้งฝ่ายที่เห็นต่าง ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องไม่โกง โดยต้องรณรงค์ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง เริ่มจากตัวนายกฯ และคณะรัฐมนตรีต้องเป็นตัวอย่างไม่ใช่การสร้างภาพอย่างที่ทำมา รวมถึงหากต้องการสร้างบรรยากาศที่ดี นายกฯ ต้องประสานฝ่ายรัฐบาลให้ถอน หรือระงับกฎหมายนิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ก่อน จนกว่าจะมีคำตอบที่ครบถ้วนชัดเจนจากเวทีปฏิรูปการเมือง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา,ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ประธานวุฒิสภา เผย การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่คืบหน้าแล้วประมาณร้อยละ 5
 
26 ส.ค. 56 - ประธานวุฒิสภา เผย การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่คืบหน้าแล้วประมาณร้อยละ 5 ส่วนสาเหตุที่ล่าช้าเพราะติดปัญหาเรื่องการส่งมอบพื้นที่ พร้อมเตรียมเสนอ กทม.เบี่ยงแนวสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปทางคลองบางซื่อ เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพและกระทบต่อความปลอดภัย
 
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมการให้คำปรึกษาและประสานงานในการกำกับดูแลโครงการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ว่า  ปัจจุบันโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่อยู่ระหว่างการดำเนินการตอกเสาเข็มซึ่งคืบหน้าไปแล้วประมาณร้อยละ 5 โดยติดปัญหาอุปสรรคบ้างเล็กน้อย อาทิ เรื่องความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของทหาร โดยขณะนี้ส่งมอบพื้นที่ได้ 40 ไร่ จากประมาณ 70 ไร่ ส่วนการบริหารจัดสรรดินในพื้นที่ก่อสร้างได้มีการเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานงานขอใช้พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยว่าขอพักดินบริเวณดังกล่าวได้หรือไม่ เพื่อเป็นการเคลียร์พื้นที่สำหรับการก่อสร้าง ขณะที่ต้นไม้ในพื้นที่ก่อสร้างทางรัฐสภาจะทำการล้อมต้นไม้ไม่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด ซึ่งหากหน่วยงานใดประสงค์จะใช้ต้นไม้ก็สามารถขนย้ายไปได้โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนส่งเอง
 
ประธานวุฒิสภา ยังกล่าวถึง การก่อสร้างอาคารจอดรถใต้ดินที่หลายฝ่ายกังวลในเรื่องความปลอดภัยว่า หลังจากที่คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วเห็นควรให้ปรับลานจอดรถใต้ดินจากเดิมที่มีทั้งหมด 2 ชั้น เหลือเพียงชั้นเดียว ส่วนอีกหนึ่งชั้นจะอยู่ภายนอกอาคารแทนสนามหญ้า ซึ่งจะทำให้มีพื้นที่จอดรถมากกว่าเดิมและการก่อสร้างมีความรวดเร็วขึ้น ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่จะสามารถดำเนินการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ได้แล้วเสร็จภายใน 900 วัน ตามกำหนด ขณะที่การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพมหานครนั้น ทางคณะกรรมการฯ เห็นว่ายังมีแนวทางที่ กทม.สามารถเบี่ยงแนวสะพานไปทางคลองบางซื่อ เพื่อไม่ให้บดบังทัศนียภาพอาคารรัฐสภาแห่งใหม่และกระทบต่อความปลอดภัย โดยที่ กทม.ก็ยังสามารถก่อสร้างสะพานเพื่อแก้ปัญหาจราจรได้ตามเดิม ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งดำเนินการจ้างบริษัทที่ปรึกษาลงสำรวจพื้นที่การก่อสร้างสะพานดังกล่าว เพื่อนำข้อมูลที่ได้ยืนยันต่อ กทม. ในการขอเบี่ยงแนวสะพาน ทั้งนี้คณะกรรมการฯ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารายงานถึงความคืบหน้าในการดำเนินโครงการ เพื่อให้การทำงานบรรลุเป้าหมายเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
วิปฝ่ายค้าน เห็นด้วยความเห็น คปก. การแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ขัดกฎหมายเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ
 
26 ส.ค. 56 - ประธานวิปฝ่ายค้าน แถลงมติเห็นด้วยกับความเห็นและข้อเสนอแนะ คปก. เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ชั้นกรรมาธิการ วาระที่ 2 ขัดกฎหมาย เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ขณะการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาต่อในวันพรุ่งนี้ ประชาธิปัตย์ยังเหลือผู้อภิปรายอีก 38 คน
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)แถลงภายหลังการประชุมว่า ฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้ตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว ตามที่กรรมาธิการเสนอต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาขัดต่อข้อบังคับการประชุมและบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากกรรมาธิการมีการแก้ไขที่นอกเหนือไปจากหลักการที่รับไว้ในวาระแรกซึ่งระบุเพียงให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง แต่การแก้ไขของกรรมาธิการกลับมีการแก้ไขในประเด็นอื่นด้วย เช่น ให้บิดา มารดา บุตร บุคคลในครอบครัว ลงสมัครเป็น ส.ว.ได้ขัดกับเดิมที่รัฐธรรมนูญกำหนดห้ามไว้ หรือการแก้ไขใหม่ให้ ส.ว.ลงเลือกตั้งติดต่อกันได้โดยไม่ต้องเว้นวรรค รวมถึงเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคการเมืองที่ยังไม่พ้นสภาพเกิน 5 ปี ลงเลือกตั้ง ส.ว.ได้ทันที ซึ่งกรณีทั้งหมดนี้เป็นความเห็นที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ได้ตั้งข้อสังเกตและฝ่ายค้านก็มีความเห็นที่สอดคล้องกัน ส่วนการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในวันอังคารและวันพุธนี้นั้น อยู่ที่การพิจารณามาตรา 3 และพรรคประชาธิปัตย์ยังเหลือผู้อภิปรายอีกจำนวน 38 คน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ประธานวุฒิฯ เชื่อ ประเทศได้ประโยชน์จากการตั้งสภาปฏิรูปการเมือง
 
26 ส.ค. 56 - ประธานวุฒิสภา เผยหลังร่วมหารือสภาปฏิรูปการเมือง ระบุ ทุกกลุ่มเห็นตรงกันประเทศไทยควรมีโรดแมป เชื่อ ประเทศจะได้ประโยชน์จากการตั้งสภาปฏิรูปการเมือง
 
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ถึงการหารือนัดแรกของสภาปฏิรูปการเมืองว่า ถือเป็นเรื่องดีที่จัดตั้งสภาปฏิรูปการเมืองขึ้นและจากที่ได้รับฟังข้อเสนอแนะของกลุ่มต่างๆ ที่เข้าร่วมหารือ ทำให้ทราบว่า ทุกคนมองตรงกันโดยอยากเห็นประเทศมีโรดแมปเพื่อใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศต่อไป ทั้งนี้เห็นว่าปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่ในสังคมขณะนี้ต้องอาศัยคนทุกกลุ่มช่วยแก้ไข และเชื่อว่า หากฝ่ายค้านหรือผู้ที่เห็นต่างได้รับฟังข้อมูลจากการหารือนัดแรกไปแล้วก็คงอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมและเสนอแนะทางออกของประเทศเช่นกัน
 
ต่อข้อถามว่าประเทศไทยจะได้อะไรจากการมีสภาปฏิรูปการเมือง ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า บุคคลที่เชิญเข้าหารือมีความรู้ ความสามารถและมากด้วยประสบการณ์ การมานั่งพูดคุย หารือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ มองหาปัญหา และมองว่าประเทศจะเดินหน้าต่ออย่างไร ได้ประโยชน์อย่างแน่นอน และถือเป็นการบูรณาการแผนงานอย่างมีเป้าหมายที่จะทำให้ประเทศสู้กับอารยประเทศได้อีกด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ว.สรรหา จากกลุ่ม 40 ส.ว. ชี้ รัฐบาลจัดสรรงบ 57 ขัดกฎหมาย
 
26 ส.ค. 56 - ส.ว.ไพบูลย์ นิติตะวัน และ พลเรือเอกสุรศักดิ์ ศรีอรุณ ร่วมแถลง ชี้รัฐจัดสรรงบประมาณไม่เพียงพอกับการบริหารงานของศาลและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 เตรียมเข้าชื่อยื่นเสนอให้ศาลตีความ
 
นายไพบูลย์ นิติตะวัน และ พลเรือเอกสุรศักดิ์ ศรีอรุณ สมาชิกวุฒิสภาสรรหา แถลงว่า ตามที่ได้ตรวจสอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 พบว่ามีการดำเนินการที่อาจทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 วรรค 8 และวรรค 9 ที่ระบุว่ารัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการบริหารงานโดยอิสระของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่ามีการตัดงบประมาณศาลและองค์กรอิสระไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ของบมาประมาณ 2,064 ล้านบาท แต่ ครม.มีมติปรับลดลงไปกว่า 739 ล้านบาท ทำให้สำนักงาน ป.ป.ช.ส่งหนังสือมายังประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณเพื่อขอให้มีการทบทวนแก้ไขเพิ่มให้อีกจำนวนประมาณ 204 ล้านบาท พร้อมระบุภารกิจความจำเป็น แต่สุดท้ายกลับไม่ได้รับการจัดสรรให้ตามที่เสนอขอให้ทบทวน
 
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ตนจะรวบรวมรายชื่อสมาชิกวุฒิสภาเพื่อเสนอเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้วินิจฉัยกรณีดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าร่าง พรบ. งบประมาณดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย และกระบวนการพิจารณางบประมาณของวุฒิสภาก็ไม่สามารถแก้ไขร่างที่ผู้แทนเสนอมาได้ จึงต้องอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 เพื่อดำเนินการ และในฐานะ ส.ว. ต้องการให้การจัดทำงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลคำนึงถึงการส่งเสริมกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่ดำเนินการโดยศาล และองค์กรอิสระซึ่งจำเป็นต้องได้รับงบประมาณอย่างเพียงพอเพื่อตรวจสอบการทุจริต คอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศชาติควบคุมให้ลดน้อยลง โดยไม่ใช่การปรับลดตามอำเภอใจ นอกจากนี้ นายไพบูลย์ได้กล่าวในตอนท้ายว่า งบที่ ป.ป.ช. ถูกปรับลดนั้นมีส่วนหนึ่งสำหรับการสร้างสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.เชียงใหม่ เพื่อปราบปรามการทุจริตในพื้นที่ จึงทำให้รัฐบาลต้องการหลีกเลี่ยงการตรวจสอบในส่วนนี้ด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
การประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มขึ้นแล้ว
 
27 ส.ค. 56 - การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มขึ้นแล้ว และเป็นการพิจารณาในมาตรา 3 เรื่องที่มา ส.ว. ที่ฝ่ายค้านชี้ให้เห็นถึงข้อเสนอแนะ คปก. ที่ส่งมายังประธานรัฐสภาระบุการแก้ไขชั้นกรรมาธิการขัดกับขั้นรับหลักการหวั่นขัดกฎหมายกลายเป็นโมฆะ ด้าน รองประธานรัฐสภา ยอมรับความเห็น คปก.เป็นประโยชน์ พร้อมขอความร่วมมือสมาชิกอภิปรายภายใต้กติกา ระบุกรอบเวลาการประชุม 10.00 -22.00 น. ทั้งวันนี้และพรุ่งนี้
 
การประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.)แห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่... พ.ศ. ... ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วและเป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ 23 ส.ค. ที่ผ่านมา ในการพิจารณามาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องที่มาของ ส.ว.และการเลือกตั้ง (มาตรา111 และ 112) เริ่มขึ้นเมื่อเวลาสิบนาฬิกาเศษโดยมี นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม และได้กล่าวขอความร่วมมือให้สมาชิกรัฐสภารักษากติกาในการประชุม และพูดอภิปรายอยู่ในประเด็นไม่ซ้ำกับเรื่องที่พูดไปแล้วในการประชุมที่ผ่านมา
 
ขณะที่ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ประชาธิปัตย์ ขอทราบกรอบเวลาการประชุมจากประธานและได้รับคำตอบว่าให้มีการประชุมทั้งในวันที่ 27 และวันที่ 28 เวลา 10.00 -22.00 น. รวมวันละ 13ชั่วโมง
 
ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวสอบถามต่อประธานถึงกรณีที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย คปก. ทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อประธานรัฐสภา ว่าแก้ไขของกรรมาธิการ(วาระ 2) มีการดำเนินการนอกเหนือจากที่รับหลักการในวาระที่ 1 ที่ระบุหลักการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง และมีที่มาเช่นเดียวกับ ส.ส. แต่เมื่อกรรมาธิการแก้ไขกลับแก้เกินไปที่ประเด็นอื่นด้วย อาทิ ให้บุพการี บุตร บุคคลในครอบครัว ลงสมัครเป็น ส.ว.ได้ หรือเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคการเมืองที่ยังไม่พ้นสภาพเกิน 5 ปี ลงเลือกตั้ง ส.ว.ได้ทันที ตนจึงต้องการทราบว่าประธานรัฐสภาได้รับความเห็นที่ คปก. ส่งมาให้หรือไม่ และหากรับฟังความเห็นดังกล่าวจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเพื่อไม่ให้การดำเนินการของรัฐสภาขัด รธน. ซึ่งนายนิคม ประธานในที่ประชุม กล่าวว่า ได้รับหนังสือแสดงความเห็นและข้อเสนอแนะดังกล่าวจาก นายคณิต ณ นคร ประธาน คปก.แล้ว และเห็นว่าเป็นประโยชน์ พร้อมกับให้เจ้าหน้าที่ในห้องประชุมนำสำเนาแจกให้กับสมาชิกรัฐสภา 
 
นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมาธิการฯ ลุกขึ้นกล่าวชี้แจงในประเด็นข้อซักถามดังกล่าวว่า การเสนอความเห็นของ คปก. นับเป็นความเห็นทางกฎหมายและปฏิบัติเช่นนี้เป็นประจำเมื่อสภาจะมีการพิจารณากฎหมายสำคัญ อย่างไรก็ตาม มาตราที่มีการแก้ไขปรากฏอยู่ในขั้นรับหลักการแล้ว จึงขอยืนยันทุกมาตรา กรรมาธิการมีสิทธิขอเปลี่ยนแปลงด้วยการเสนอแปรญัตติได้ และได้ดำเนินการตามขั้นตอนการพิจารณากฎหมายทุกประการ ส่วนการการวินิจฉัยว่าการดำเนินการของสภาขัดกฎหมายหรือไม่ อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญเมื่อมีผู้ร้องเข้าไป
 
นายวิทยา บูรณะศิริ กรรมาธิการ กล่าวว่า ขอยืนยันถึงความชอบในการแก้ไข ส่วนความเห็นของ คปก. ถือเป็นส่วนหนึ่งในรายละเอียดการพิจารณา แต่การแก้ รธน.ครั้งนี้เมื่อผ่านสภาแล้ว จะมีกฎหมายลูกประกบ ซึ่งสามารถรวบรวมเสนอและทำการยกร่างได้ในภายหลัง
 
อย่างไรก็ตาม สมาชิกรัฐสภาได้แสดงความเห็นจากกรณีความเห็นของ คปก.อย่างต่อเนื่อง อาทิ นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่เห็นด้วยกับความเห็น คปก. และระบุเจตนาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการลดความเป็นกลาง การแปรญัตติของกรรมาธิการเสียงข้างมากเป็นการแปรญัตติเกินหลักการ ขณะที่ นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว. กล่าวว่า สภาต้องรับฟังความเห็น คปก. โดยเฉพาะข้อสังเกตคุณสมบัติ ส.ว. ที่กรรมาธิการขอแปรญัตติ กลายเป็นการแก้ไขโครงสร้างของ ส.ว. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจนิติบัญญัติ จึงนับเป็นการเปลี่ยนแปลงองค์กรสูงสุดทางการเมือง หรือการที่ ส.ว.ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในช่วงประกาศ พรฎ.เลือกตั้ง นับเป็นการการแก้ไขถอยหลัง ไม่เกิดการพัฒนาการเมือง รวมถึงอีกหลายกรณีที่กรรมาธิการแก้ไขก่อให้เกิดปัญหาในการถ่วงดุลอำนาจ หรือการเสนอความเห็นของ ส.ว.ตวง อัณฑะไชย ที่ระบุว่า คปก.เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นถูกต้องตามกฎหมาย และสภาจำเป็นต้องรับฟัง  หากปล่อยให้มีการแก้ไขเช่นนี้จะมีปัญหาต่อดุลยภาพเนื่องจากองค์กรอิสระ ล้วนมาจากวุฒิสภา และสามารถอดถอนได้ จึงขอให้สภาฟังความเห็นของผู้มีอำนาจโดยตรง
 
ขณะที่ นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เสนอพักการประชุมและให้กรรมาธิการพิจารณาทบทวนอีกครั้งว่าการแก้ไขในครั้งนี้ขัดกับ คปก. หรือไม่ ทำให้ นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานกรรมาธิการ ยืนยันว่าดำเนินการมาอย่างถูกต้องแล้ว จึงไม่สามารถกลับไปที่ขั้นตอนที่ได้ดำเนินการมาแล้วได้ จึงทำให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาทำการอภิปรายในมาตรา 3 ต่อ อาทิ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.ประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมากและเสนอแปรญัตติให้ ส.ว.ได้มาจากการเลือกตั้ง 100 คน และมาจากการเลือกตั้งขององค์กรวิชาชีพ 100 คน เพื่อนำไปสู่การแก้เครื่องมือบริหารประเทศที่หลายคนเห็นว่าล้าสมัย ไม่เป็นประชาธิปไตย ขณะเดียวกันนายถาวรเห็นว่า รธน. 50 ในเรื่องที่มาของ ส.ว. ยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าเป็นความเสียหายต่อสังคมและช่วยให้รัฐบาลทำทุจริตได้แต่อย่างใดจึงไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไข ทั้งนี้  ส่วนนายสัมพันธ์ ตั้งเบณจผล ส.ส. ประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเรื่องที่มา ส.ว.จากกรรมาธิการเสียงข้างมากเช่นกัน ซึ่งประธานพยายามควบคุมให้เนื้อหาการอภิปรายอยู่ในมาตรา 3 และเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
กมธ.สผ. เตรียมจับมือ ป.ป.ส.ดำเนินโครงการแก้ปัญหายาเสพติด
 
27 ส.ค. 56 - กมธ.การป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สผ. เตรียมจับมือ ป.ป.ส.ดำเนินโครงการแก้ปัญหายาเสพติดในปี 57 หลังพบการแพร่ระบาดยาเสพติดมีความรุนแรงขึ้น
 
คณะกรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายประเสริฐ บุญเรือง เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้พิจารณาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ตลอดจนความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภายหลัง กมธ.รับฟังคำชี้แจงจากพลตำรวจเอกพงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และนางสาวรัชนีกร สรสิริ ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ แล้วเห็นว่า การประสานงานความร่วมมือระหว่างประเทศยังมีปัญหาอุปสรรค เนื่องจาก สปป.ลาว มีข้อจำกัดในด้านอัตรากำลัง การขาดงบประมาณในการจัดซื้อเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ตลอดจนปัญหาการประสานงานเพื่อขอข้อมูลในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด นอกจากนี้ กมธ.ยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของยาเสพติดในปัจจุบันที่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยพบว่ามีเด็กและเยาวชนเป็นผู้กระทำความผิดเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงเห็นควรให้มีโครงการการดำเนินงานร่วมกันในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และ กมธ.ในปี 2557 ที่จะถึงนี้ เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมดำเนินงาน โดยมีลักษณะใกล้เคียงกับการดำเนินงานตามโครงการ “ชุมชนอุ่นใจ” รวมทั้งให้ชุมชนดังกล่าวเป็นศูนย์ประสานงานด้วยยาเสพติดของจังหวัดด้วย โดยในเบื้องต้นให้เริ่มดำเนินงานในชุมชนในพื้นที่จังหวัดของคณะกรรมาธิการ และให้มีการขยายผลการดำเนินงานในจังหวัดต่างๆ ต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
สนง.สผ. จัดการแข่งขันตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับรัฐสภาฯ ประจำปี 2556 รอบชิงชนะเลิศ วันที่ 3 ก.ย.นี้
 
27 ส.ค. 56 – สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดการแข่งขันตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับรัฐสภา และการประกวดนวัตกรรมประชาธิปไตย รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ วันอังคารที่ 3 ก.ย. นี้
 
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยคณะกรรมการจัดการแข่งขันตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับรัฐสภา ประจำปี 2556 จะจัดกิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาความรู้เกี่ยวกับรัฐสภา และการประกวดนวัตกรรมประชาธิปไตย รอบชิงชนะเลิศระดับประเทศ ในวันอังคารที่ 3 กันยายนนี้ ณ ห้องโถง อาคารรัฐสภา 1 ตั้งแต่เวลา 09.00 - 12.00 น.  โดยมีโรงเรียนที่ผ่านเกณฑ์การทดสอบเพื่อการเข้าแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศจำนวน 27 โรงเรียน
 
ทั้งนี้การแข่งขันข้างต้นจัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการเมือง การปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยผู้ประกวดนวัตกรรมประชาธิปไตยรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศต้องเตรียมจัดแสดงนิทรรศการเสมือนจริงหรือนิทรรศการมีชีวิต ในหัวข้อ “การสร้างนวัตกรรมส่งเสริมประชาธิปไตยระดับประเทศ” ในวันที่ 2 กันยายน 2556 ด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
รองประธานสภาฯ คนที่ 1 รับการยื่นเสนอญัตติด่วนจากฝ่ายค้าน ที่ขอให้สภาพิจารณาปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำและค่าครองชีพแพง
 
27 ส.ค. 56 - รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 รับการยื่นเสนอญัตติด่วนจากประธานวิปฝ่ายค้านที่ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำและค่าครองชีพมีราคาแพง จากประธานวิปฝ่ายค้าน และ ส.ส.ผู้สนับสนุนรวม 74 คน
 
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 รับการยื่นเรื่องขอเสนอญัตติด่วนจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) พร้อม ส.ส.ผู้สนับสนุนญัตติจากฝ่ายค้านรวม 74 คน ที่ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำและค่าครองชีพมีราคาแพง โดยระบุสาเหตุจากการเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าส่งออกหลักของประเทศหลายรายการ อาทิ ข้าว ปาล์ม ยางพรารา มันสำปะหลัง ยังต้องประสบปัญหาความยากจนจากราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ เพราะรัฐบาลบริหารจัดการผิดพลาด และยังซ้ำเติมด้วยการปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนทำให้ก๊าซแอลพีจีมีราคาสูงขึ้น ประกอบกับการปรับขึ้นค่าเอฟทีไฟฟ้า ยิ่งทำให้ประชาชนเดือดร้อนเป็นทวีคูณ จึงต้องการให้บรรจุญัตติด่วนดังกล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันพฤหัสบดีที่ 29 ส.ค. นี้ ตามที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้นัดประชุมไว้แล้วส่วนเหตุผลและรายละเอียดจะชี้แจงในที่ประชุมต่อไป นอกจากนี้ นายจุรินทร์ ได้ฝากให้รองประธานสภา ประสานให้นายกฯ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมสภาเพื่อรับฟังปัญหาและเสนอแนวทางแก้ปัญหาในญัตติดังกล่าว ตามแนวนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร
 
ด้าน นายเจริญ กล่าวว่า จะประสานไปยังประธานวิปรัฐบาล ให้มีการพิจารณาญัตติดังกล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันพฤหัสบดีนี้ หลังจากพิจารณากระทู้ทั่วไปเสร็จสิ้น หากตกลงได้ และเชื่อไม่น่าจะมีปัญหา
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ประธานวุฒิสภา ให้การรับรองประธานรัฐสภาสาธารณรัฐสิงคโปร์ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย
 
28 ส.ค. 56 - ประธานวุฒิสภา ให้การรับรองประธานรัฐสภาสาธารณรัฐสิงคโปร์ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศและแนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่ง
 
นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ให้การรับรองนางฮาลิมา ยาข็อบ (H.E.Mdm.Halimah Yacob) ประธานรัฐสภาสาธารณรัฐสิงคโปร์ ที่ประสงค์ขอเข้าเยี่ยมคารวะประธานวุฒิสภา ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐสภาไทย เพื่อแนะนำตัวในโอกาสรับตำแหน่ง ณ ห้องรับรองพิเศษ อาคารรัฐสภา 2 ทั้งนี้ในระหว่างการพบปะสนทนา ประธานวุฒิสภา ได้กล่าวแสดงความยินดีที่ประธานรัฐสภาสาธารณรัฐสิงคโปร์ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานรัฐสภาสุภาพสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของสิงคโปร์ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศสิงคโปร์ได้ส่งเสริมบทบาทสตรีเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสิงคโปร์มีความใกล้ชิดและอยู่ในระดับดียิ่ง โดยได้มีการกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือระหว่างรัฐสภาทั้งสองประเทศ ผ่านการที่รัฐสภาไทยจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย - สิงคโปร์ พร้อมมุ่งหวังว่ารัฐสภาสิงคโปร์จะมีการจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพรัฐสภาสิงคโปร์ - ไทย เช่นเดียวกันในอนาคตอันใกล้นี้ ตลอดจนส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันอย่างสม่ำเสมออันเป็นการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ในระดับพหุภาคีในฐานะที่ไทยและสิงคโปร์เป็นประเทศผู้ร่วมก่อตั้งอาเซียนและมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ร่วมกัน
 
ด้านประธานรัฐสภาสาธารณรัฐสิงคโปร์ กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐสภาไทยเป็นอย่างยิ่งที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ซึ่งประเทศสิงคโปร์พร้อมให้การสนับสนุนและยินดีแลกเปลี่ยนความร่วมมือในด้านต่างๆ กับประเทศไทยอย่างเต็มที่ เพื่อเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
กมธ.ท่องเที่ยวฯ สผ. แนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงท่าอากาศยานภายในประเทศ
 
28 ส.ค. 56 - กมธ.การท่องเที่ยวและกีฬา สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาความคืบหน้าการขยายและปรับปรุงท่าอากาศยานภายในประเทศ แนะปรับปรุงถนนภายในสนามบินและแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพลรวมทั้งปัญหาแท็กซี่ภายในสนามบิน
 
คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและกีฬา สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายธเนศ เครือรัตน์ เป็นประธาน กมธ. ได้พิจารณาความคืบหน้าในการขยายและปรับปรุงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ท่าอากาศยานตรัง ท่าอากาศยานเชียงราย ตามนโยบายการเพิ่มรายได้จำนวน 2 ล้านล้านบาท จากการท่องเที่ยวของรัฐบาลในปี 2558 หลังรับฟัง ประธานกรรมการและรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) รวมถึงรองอธิบดีกรมการบินพลเรือนและผู้อำนวยการท่าอากาศยานอุบลราชธานี ชี้แจงและให้ข้อมูล ที่ประชุมได้ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงการเรียงลำดับตัวเลข (GATE) ของสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อป้องกันความสับสนของผู้โดยสาร ปรับปรุงถนนภายในสนามบินดอนเมืองให้มีความสะดวก ไม่เกิดความสับสนและหาแนวทางแก้ไข กรณีทางเดินไปขึ้นเครื่องบินภายในอาคารผู้โดยสารมีระยะทางไกลมาก โดยอาจจัดทำทางเลื่อน (Walk Way) เหมือนสนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนสนามบินภูเก็ตควรมีการประสานความร่วมเมืองกับคณะกรรมการของจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจภูธรจังหวัด ขนส่งจังหวัด เพื่อกำหนดมาตรการในการแก้ปัญหาผู้มีอิทธิพลรวมทั้งปัญหาแท็กซี่ภายในสนามบินและในการเพิ่มยอดผู้โดยสารนั้น ของให้บริษัทฯ ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคัดกรองผู้โดยสานหรือนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ส่วนสนามบินอุบลราชธานี กมธ.ขอให้กรมการบินพลเรือน แก้ปัญหาเรื่องการจอดรถส่งผู้โดยสารและพิจารณาอนุญาตให้แท็กซี่เข้ามาจอดรับส่งผู้โดยสารภายในสนามบินได้ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้โดยสาร โดยใช้เทคนิคการจัดระบบทางเดินไปใช้บริการ ที่เปิดโอกาสให้พบเค้าน์เตอร์รถบริการของสนามบินก่อน รวมทั้งขอให้แก้ปัญหาเรื่องเครื่องบินตกทางวิ่ง (Run way)และปัญหาความแออัดในสนามบินตรังและขอให้ส่งรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเครื่องบินตก Run wayแก่ กมธ.ด้วย
 
โดยนาวาอากาศตรี ศิธา ทิวารี ประธานกรรมการ บริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ และนายเสรี จิตต์โสภา รองอธิบดีกรมการบินพลเรือน ได้รับข้อเสนอแนะของ กมธ. เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาท่าอากาศยานในแต่ละแห่งให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.เพื่อไทย ชี้ การอภิปรายร่างแก้ไข รธน.ของฝ่ายค้านเป็นการปกป้อง รธน.ปี 50 มากกว่าชี้ถึงเหตุผลที่มา ส.ว.
 
28 ส.ค. 56 - ส.ส.เพื่อไทย ระบุ การอภิปรายร่างแก้ไข รธน.ของฝ่ายค้านเป็นการปกป้อง รธน.ปี 50 มากกว่าชี้ถึงเหตุผลที่มา ส.ว. พร้อมจี้ ปชป.พิจารณาวาทกรรม“เผด็จการเสียงข้างมาก” หวั่นกระทบคำวินิจฉัยของศาลและองค์กรอิสระ
 
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย กล่าวถึง การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) มาตรา 3 ที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ว่า หลังจากที่คณะยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยได้ประเมินแล้วเห็นว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาการอภิปรายของฝ่ายค้านเป็นเพียงการปกป้องรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตยตั้งแต่ปี 2550 โดยไม่ได้อภิปรายแสดงให้เห็นถึงเนื้อหาว่าทำไมต้องเปลี่ยนจากระบบการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา มาเป็นระบบการเลือกตั้ง
 
นายจิรายุ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยืนยันว่า  การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ได้เร่งรีบเหมือนสมัยที่นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 93, 94 และ 190 โดยใช้เวลาไปเพียง 17 ชั่วโมง ซึ่งพรรคเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายค้านในขณะนั้นก็อภิปรายอย่างเรียบร้อยไม่มีปัญหาอะไร แต่การพิจารณาร่างแก้ไข รธน.ขณะนี้ใช้เวลาไปแล้ว 40 กว่าชั่วโมง และการที่พรรคประชาธิปัตย์มีการใช้วาทกรรมอยู่เสมอว่า “เผด็จการเสียงข้างมาก” ทางพรรคเพื่อไทยขอให้พรรคประชาธิปัตย์พิจารณาคำพูดดังกล่าวด้วย เนื่องจากจะไปกระทบกับการพิจารณาหรือคำวินิจฉัยของศาลหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง องค์กรอิสระต่างๆ เพราะโดยปกติศาลก็ใช้ดุลยพินิจหรือคำวินิจฉัยในลักษณะเสียงข้างมาก ซึ่งก็หมายความว่ากระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการองค์กรอิสระ เป็นอย่างที่พรรคประชาธิปัตย์หรือฝ่ายค้านพูดใช่หรือไม่
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
กมธ.กฎหมาย สผ. สอบเหตุคลิปเสียงคล้ายผู้ว่าราชการ จ.อุบลฯ
 
28 ส.ค. 56 - คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ร่วมพิจารณาค้นหาข้อเท็จจริงกรณีคลิปเสียงคล้ายกับเสียง ผู้ว่าราชการ จ.อุบลราชธานี ยืนยันค้นหาความจริงอย่างไม่รีบเร่ง ให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย พร้อมมอบหมายสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจสอบเสียงดังกล่าวเทียบเคียงเสียงจริงผู้ว่าฯ
 
การประชุมคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พลตำรวจเอก วิรุฬห์ พื้นแสน เป็นประธาน ร่วมพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีคลิปเสียงที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเสียงของ นายวันชัย สุทธิวรชัย ผู้ว่าราชการ จ.อุบลราชธานี ที่มีการเรียกรับเงินจากหน่วยงานร้อยละ 10 และมีการเผยแพร่ผ่านเวบไซต์ยูทูป โดยได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายวันชัย ออกมายอมรับผ่านสื่อว่าเป็นเสียงของตนจริงแต่เป็นการตัดต่อ ดังนั้น ที่ประชุมจึงสอบถามถึงประเด็นการค้นหาความจริงว่าเป็นคลิปเสียงที่มีการตัดต่อหรือไม่ ซึ่งได้สอบถาม พันโทนายแพทย์เอนก ยมจินยาผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ถึงขั้นตอนการตรวจสอบ ซึ่งได้รับคำตอบว่า  สามารถตรวจสอบได้จากการส่งคลิปเสียงที่เป็นประเด็นมาในรูปแบบซีดี ดีวีดี พร้อมกับคลิปเสียงจริงของผู้ว่าฯ โดยทั้ง 2 ไฟล์เสียงควรมีความยาวมากพอสมควรเพื่อให้ได้ค่าความเชื่อมั่นสูงซึ่งควรเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เช่น กรณีไฟล์เสียงของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ ที่เมื่อพิสูจน์แล้ว แสดงความชัดเจนว่าเป็นการพูดผ่านรายการนายกฯ พบประชาชน ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เป็นผู้ตรวจสอบคลิปเสียงดังกล่าวพร้อมเตรียมนำข้อมูลอื่น ๆ มาประกอบการพิจารณาด้วย นอกจากนี้ พลตำรวจเอก วิรุฬห์ ได้สอบถามถึงโทษของผู้นำคลิปมาเผยแพร่ ซึ่งได้รับคำตอบจากผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ 2550 ม.14 (1) ระบุว่าผู้ใดนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งหากพิสูจน์ได้ว่าคลิปดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ก็จะไม่เข้าข่ายดังกล่าว ส่วนโทษในทางประมวลกฎหมายอาญาถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
 
พลตำรวจเอก วิรุฬห์ กล่าวต่อไปว่า กรรมาธิการยืนยันถึงจุดยืนในการค้นหาความจริง และต้องการให้ผู้ว่าฯ อุบลฯ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งกรรมาธิการติดตามกระบวนการต่าง ๆ ต่อไป โดยไม่รีบเร่งให้มีข้อยุติ ขณะที่ในทางคดีต้องให้เกิดความเป็นธรรม หากมีการแจ้งความดำเนินคดี กรรมาธิการจะเชิญพนักงานสอบสวนเข้าให้ข้อมูลถึงการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ส.ส.ระยอง ประชาธิปัตย์ จี้ รัฐ และ ปตท.จริงใจเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบน้ำมันรั่ว อย่างมีหลักเกณฑ์
 
28 ส.ค. 56 - ส.ส.ระยอง ประชาธิปัตย์ จี้รัฐ และ ปตท. ให้การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบน้ำมันรั่วหลังพบหลักเกณฑ์ไม่ชัดเจน ขณะผู้บริหาร ปตท. เอง ไม่ยอมพบผู้เดือดร้อนตามที่นัดหมายไว้ แนะ ตั้งคณะกรรมการอิสระ เพื่อติดตามปัญหาและฟื้นฟูระบบนิเวศทั้งระบบ
 
นายสาทิตย์ ปิตุเตชะ และ นายวิชัย ล้ำสุทธิ ส.ส.ระยอง พรรคประชาธิปัตย์ แถลงกรณีน้ำมันรั่วไหล ที่บริเวณอ่าวพร้าว จ.ระยอง และยังพบการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรมว่า ขอเรียกร้องให้บริษัท ปตท.จริงใจในการดำเนินการชดเชยและเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งประมงพื้นบ้าน ผู้ประกอบการร้านค้า ผู้ประกอบการโรงแรม เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีหลักเกณฑ์ในการชดเชยที่ชัดเจน รวมทั้งกำหนดแผนฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะคลี่คลายไปแล้ว 95เปอร์เซ็นต์ โดยรัฐบาลและจังหวัดพยายามสร้างภาพว่าปัญหาหมดไปแล้ว นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดยุติการดำเนินคดีกับประชาชนที่เดินทางเท้าตามถนนสายหลัก และก่อให้เกิดปัญหาการจราจร เนื่องจากต้องการไปบริษัท ปตท. ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อเข้าพบกับผู้บริหาร ปตท. ตามที่นัดหมายไว้ แต่กลับไม่มาพบ ขณะเดียวกัน เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องขององค์กรเอกชนที่เสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการอิสระ เพื่อติดตามปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งฟื้นฟูระบบนิเวศทั้งระบบด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
รองปธ.สผ.ระบุ เทคโนโลยีโอโซนก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมไทย
 
28 ส.ค. 56 - รองประธาน สผ.คนที่ 1 แนะ นำผลสรุปการจัดสัมมนา “การใช้เทคโนโลยีโอโซนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของไทย” เผยแพร่ให้สังคมรับทราบ ระบุ เป็นเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และสังคม
 
นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “การใช้เทคโนโลยีโอโซนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของไทย” ที่จัดโดยคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาผู้แทนราษฎร โดยได้กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นสิ่งที่ดีและควรนำผลที่ได้ไปเผยแพร่ให้กับสังคมได้รับทราบ เพราะเทคโนโลยีโอโซนถือเป็นเทคโนโลยีที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคมได้อย่างมาก แต่ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีด้านนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักจึงยังไม่ถูกนำมาใช้มากนัก หากประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชนสนใจนำมาใช้ย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์และเป็นการส่งเสริมการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจได้อย่างมากและหวังว่าจะมีการพัฒนาเรื่องนี้แอย่างต่อเนื่อง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าการสัมมนาในครั้งนี้จะนำไปสู่การจัดตั้งงบประมาณปี 58 เพื่อให้มีการทดลอง “การเพิ่มคุณภาพน้ำประปาด้วยเทคโนโลยีโอโซน” โดยใช้จังหวัดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในคณะกรรมาธิการเป็นจังหวัดนำร่อง
 
ทั้งนี้ในการสัมมนาดังกล่าวได้มีพิธีลงนามบรรทุกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การประปานครหลวงและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เรื่อง “การเพิ่มคุณภาพน้ำประปาด้วยเทคโนโลยีโอโซน” โดยการนำระบบ Advanced Water Treatment มาใช้ในการผลิตน้ำประปาของ กปน. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ที่ประชุมร่วมรัฐสภาผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 แล้ว
 
29 ส.ค. 56 - ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติผ่านความเห็นชอบ 344 :140 ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 แล้ว ในวันที่ศุกร์ 30 สิงหาคม 2556 นัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาต่อในมาตรา 4
 
เมื่อเวลา 21.50 น. ของวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พ.ศ... ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา โดยมีนายนิคม  ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้มีมีมติผ่านความเห็นชอบในการพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พ.ศ... ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ในวาระ 2 มาตรา 3 ว่าด้วยที่มาและจำนวนสมาชิกวุฒิสภา จากการเลือกตั้ง 200 คน ด้วยคะแนนเห็นด้วย 344 เสียง ไม่เห็นด้วย 140 เสียง งดออกเสียง 32 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง จากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งสิ้น 518 คน ทั้งนี้รวมเวลาอภิปรายมาตราดังกล่าว 4 วัน
 
จากนั้นเวลาประมาณ 22.40 น. นายสมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์  ประธานรัฐสภา กลับขึ้นมาทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และได้สั่งนัดการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่....) พ.ศ... ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ต่อในมาตรา 4 ในวันที่ 30 สิงหาคม 2556 เวลา 10.00 น.
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
ประธานรัฐสภาหวังความสัมพันธ์ไทย-สิงคโปร์นำ 2 ชาติเข้มแข็งทุกด้าน
 
29 ส.ค  56- ประธานรัฐสภาไทยจัดงานเลี้ยงต้อนรับประธานรัฐสภาสิงคโปร์ เพื่อให้เกียรติในการรับตำแหน่งใหม่ และกระชับความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น   หวังให้ไทย-สิงคโปร์เป็นชาติที่เข้มแข็งในทุก ๆ ด้าน
 
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา จัดงานเลี้ยงต้อนรับ  นางฮาลิมา ยาค็อบ ประธานรัฐสภาคนใหม่ของสิงคโปร์และคณะ ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยในฐานะแขกของรัฐสภา  โดยงานเลี้ยงต้อนรับครั้งนี้ นอกจากต้องการสานความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภาของ 2 ประเทศ เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน งานนี้ยังถือเป็นการฉลองการรับตำแหน่งใหม่ของนางฮาลิมาด้วย
 
ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนั้นการร่วมมือกันระหว่าง 2 ประเทศ จะทำให้ ไทย และ สิงคโปร์ กลายเป็นชาติที่เข้มแข็งในทุก ๆ ด้านอย่างเต็มภาคภูมิ
          
สำหรับบรรยากาศภายในงานเป็นไปด้วยความสดชื่นและมิตรภาพ   โดยประธานรัฐสภาไทยได้สร้างความประทับใจให้กับ นางฮาลิมาด้วยการสั่งเค้กฉลองวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 59 ปี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่าน โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า เนื่องจากนางฮาลิมา และตนเอง เกิดปีเดียวกัน และมีโอกาสพบปะกัน จึงถือว่างานนี้เหมือนเป็นพิธีผูกเสี่ยวไปในตัว หมายถึงการกระชับความเป็นเพื่อนรักกันทั้งในความเป็นส่วนตัว และระดับประเทศ ซึ่งจะทำให้ทั้ง 2 ประเทศ มีความมั่นคง และเดินหน้าไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
          
ด้านนางฮาลิมา ยาค็อบ กล่าวขอบคุณรัฐสภาไทย สำหรับงานครั้งนี้ รู้สึกประทับใจ  พร้อมกับชื่นชมคนไทยที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ซึ่งนับจากนี้ ไทย และ สิงคโปร์ จะให้ความร่วมมือกันในทุกๆด้านเพื่อความก้าวหน้าของทั้ง 2 ประเทศ
 
ที่มา: ห้องข่าวรัฐสภาแชลแนล/ข่าว มันทนา  ศรีเพ็ญประภา/เรียบเรียง
 
ส.ส.เพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสด โครงการรับจำนำข้าว ปี 56/57 หลังมีเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายชี้ล้มเหลว
 
29 ส.ค. 56 - ส.ส.เพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสด โครงการรับจำนำข้าว ปี 56/57  หลังมีเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าล้มเหลว   ด้าน รมช.พาณิชย์ ย้ำ รัฐบาลจะดำเนินการโครงการับจำนำ ปี 56/57 ต่อแน่  ยืนยันให้ราคาเดิม เพราะช่วยชาวนาได้จริง  พร้อมระบุ ข้าวไทยถูกตีกลับไม่มีสารปนเปื้อน แค่ไม่ตรงสเป็คผู้ซื้อ
 
นายรังสรรค์ มณีรัตน์  ส.ส.พรรคเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสดถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถึงความคืบหน้า โครงการรับจำนำข้าว 56/57   และกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสื่อ และนักวิชาการ ว่าโครงการล้มเหลว และกล่าวว่าชาวนาไม่ได้รับประโยชน์   ตลอดจนรัฐบาลจะมีแนวทางการแก้ปัญหาข้าวไทยมีสารปนเปื้อนจนถูกตีกลับอย่างไร
 
ด้านนายยรรยง พวงราช  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบกระทู้ว่า การรับจำนำข้าวของรัฐบาลนั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับราคาข้าวโดยการพยุงราคา ซึ่งวิธีการรับจำนำ จะช่วยรักษาราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำ  และเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะ ชาวนาจะไม่ถูกเอาเปรียบเพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปดูแล  ทั้งนี้ ในการรับจำนำรอบแรกมีมากถึง 14.5 ล้านตัน  มีชาวนาเข้าร่วม 3, 400,000 ครัวเรือน จ่ายผ่าน ธกส. แล้ว  234,148 ล้านบาท  และรอบสองมีชาวนาเข้าร่วม 588,000 ครัวเรือน  และได้รับเงินแล้วกว่า 92,000  ล้านบาท  ซึ่งได้รับชำระค่าข้าวเต็มเม็ดเต็มหน่วย  ส่วนกรณีที่มีหลายฝ่ายออกมาระบุว่าชาวนาไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการรับจำนำข้าว ก็คงไม่จริง เพราะเห็นได้จากเมื่อรัฐบาลประกาศยุติโครงการฯ ชาวนามีความตี่นตัวมากและยืนยันให้รัฐบาลจำนำต่อ และที่มีกระแสว่ารัฐบาลขาดทุนหลายแสนล้านนั้น  ก็เป็นเรื่องของการลงทุนหมุนเวียนไม่ใช่การใช้จ่ายเงินงบประมาณ   ส่วนข้าวไทยที่ถูกสหรัฐอเมริกา    ตีกลับ ทางกระทรวงได้ติดตามและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบแล้ว พบว่า เป็นข้าวของเอกชนและไม่ใช่ประเด็นมีสารปนเปื้อน แต่เป็นเพราะสีและกลิ่นไม่ตรงตามสเป็คของผู้ซื้อเท่านั้น  และย้ำว่าได้มีการตรวจสอบข้าวที่ถูกตีกลับแล้ว   พร้อมยืนยันว่ารัฐบาลจะดำเนินการโครงการับจำนำ ปี 56/57 ต่ออย่างแน่นอน  และได้ราคาเดิม ส่วนที่กำหนดปริมาณรับจำนำแต่ละรายไว้เพื่อความเท่าเทียมกัน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา/ ข่าว / เรียบเรียง
 
รมต.เกษตรฯ ระบุ ไม่รับปาก 3 ก.ย.เกษตรกรสวนยางชุมนุมหรือไม่
 
29 ส.ค. 56 - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผย เกษตรกรชาวสวนยางยอมรับแนวทางช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้ว ส่วนข้อเรียกร้องขอขยายค่าชดเชยจาก 10 ไร่ เป็น 25 ไร่ ต้องนำเข้าหารือต่อที่ประชุม กยน.อีกครั้ง ระบุ การหารือระหว่างกันเป็นไปด้วยดี แต่ไม่กล้ารับปากว่าจะไม่มีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 3 ก.ย.นี้
 
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางว่า ล่าสุดที่พูดคุย เกษตรกรได้รับแนวทางที่รัฐบาลจะช่วยเหลือ คือ 1.รัฐบาลจะช่วยค่าชดเชยให้เกษตรกรไร่ละ 1,260 บาทไม่เกิน 10 ไร่ 2.สนับสนุนให้กลุ่มสหกรณ์แปรรูปยางแผ่นดิบเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นโดยกลุ่มสหกรณ์ฯ จะกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในอัตราดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย เพื่อนำไปสร้างโรงงานแปรรูปยาง ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนด้วยการชดเชยอัตราดอกเบี้ยในกรอบวงเงิน 5,000 ล้านบาท และ3.สนับสนุนเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ หรือปลอดดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตภัณฑ์ยางขนาดใหญ่ทั้งยางแท่งและยางแผ่น ที่กู้เงินจากสถาบันการเงินต่างๆ เพื่อเสริมสภาพคล่องและปรับปรุงเครื่องจักรโดยรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยหรือดอกเบี้ยวงเงิน 15,000 หมื่นล้านบาท
 
ส่วนกรณีที่เกษตรกรเรียกร้องใน 3 ข้อ คือ 1.ขอขยายจาก 10 ไร่ เป็น 25 ไร่นั้น จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางแห่งชาติ (กยน.) อีกครั้ง 2.ขอให้ช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งในส่วนนี้ก็ขอให้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะการปลูกยางในป่าสงวนถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย จะต้องหารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้อีกครั้ง 3.ขอให้ไม่เอาผิดกับผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับ 4.เพิ่มสัดส่วนเกษตรกรในคณะกรรมการ กยน.และคณะกรรมการรักษาเสถียรภาพยางพารา 5.เรื่องของเงินส่งเคราะห์ที่เก็บจากผู้ส่งออกยาง หรือ เงินเซส ที่ต้องหักเงินให้กับกองทุนสงเคราะห์การทำส่วนยาง โดยเกษตรกรบอกว่าในข้อเท็จจริง ผู้ประกอบการจ่ายเงินเข้ากองทุนจริงแต่หักจากเกษตรกร ซึ่งตนจะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับสำนักงานส่งเคราะห์การทำส่วนยางในวันพรุ่งนี้ (29 ส.ค. 56) ว่า ขณะนี้มีการเก็บเงินเซสอยู่ที่ 3 บาท/กิโลกรัม หากไม่หักหรือลดจำนวนลงจะได้หรือไม่ และการปลูกพืชเสริมในส่วนยางเพื่อเพิ่มรายได้หรือยางที่อายุเกิน 25 ปีก็ให้ดำเนินการได้ทันทีก็โดยใช้เงินเซส
 
ต่อข้อถามถึงกรณีที่มีเกษตรกรวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุมนั้น นายยุคล ยืนยันว่า ไม่มีการวอล์กเอาต์แต่อย่างใด เป็นเพียงการข่าวที่ผิดพลาดเท่านั้น ส่วนถ้าถามว่า เกษตรกรชาวสวนยางพาราบางส่วนยังไม่พอใจผลการแก้ปัญหาที่ออกมา นายยุคล กล่าวว่า เกษตรกรต้องปรับวิธีคิดใหม่ เพราะรัฐบาลได้หามาตรการช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ถ้ายังคิดว่า ต้องการได้ยางพาราตามราคาที่ต้องการนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะจะกระทบต่อกลไกการตลาด ประเทศไทยไม่ใช่ผู้กำหนดราคายาง หากยังไปคิดว่าต้องได้ราคาตามที่ต้องการ ในที่สุดก็จะถูกกดราคายิ่งขึ้นอีก ซึ่งขณะนี้มียางพาราค้างสต็อกอีกจำนวนมาก ถ้าไปกำหนดราคาว่าต้องได้ 100 บาทต่อกิโลกรัม แล้วถ้าไม่เป็นไปตามที่ต้องการ ใครจะรับผิดชอบ
 
ส่วนเรื่องของการชุมนุมนั้น ได้พูดคุยกันแล้วซึ่งตัวแทนเกษตรกรชี้แจงว่า จะพยายามพูดคุยและทำความเข้าใจกับกลุ่มเกษตรกร แต่ไม่กล้ารับปากว่าจะไม่มีการเดินขบวน อย่างไรก็ตาม ตนเองก็ไม่กล้ารับปากเช่นกันว่าจะไม่มีการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 3 ก.ย. เดี๋ยวจะหาว่าเป็นการท้าทาย แต่เชื่อว่าสถานการณ์จะเบาบางลงในระดับหนึ่ง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป. ตั้งกระทู้ถามนายกฯ กรณีแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ
 
29 ส.ค 56 - ส.ส.ปชป. ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีถึงแนวทางแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำพร้อมจี้ รัฐบาลจริงใจแก้ปัญหาอย่าสองมาตรฐาน ด้าน รมต.เกษตรฯ ยืนยัน ปัญหาราคายางต้องแก้แบบยั่งยืน ส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศ
 
นายสุกิจ อัถโถปกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีถึงแนวทางแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ว่า ปัญหาราคายางเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน แต่รัฐบาลไม่มีความพยายามและจริงใจในการแก้ไขปัญหา ทั้งที่เคยสัญญากับชาวสวนยางว่าจะทำให้ราคายางอยู่ที่ 120 บาทต่อกิโลกรัม จึงอยากถามไปยังนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ว่าเมื่อไรจะทำได้ตามสัญญา และการที่รัฐบาลบอกว่าราคายางเป็นไปตามกลไกของตลาดโลก จึงมีข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ช่วยเหลือชาวสวนยาง เช่นเดียวกับการให้ความช่วยเหลือชาวนาราคาข้าวก็เป็นไปตามกลไกตลาดโลกเช่นเดียวกัน
 
นายสุกิจ กล่าวว่า หากรัฐบาลนำเงินจำนวน 2.7 แสนล้านบาท ที่ช่วยในโครงการรับจำนำข้าว ไปซื้อยางพาราในราคากิโลกรัมละ 120 บาท จะทำให้ยางภายในประเทศหายไปได้กว่า 2 ล้านตัน พอกับการส่งออกไปขายที่ต่างประเทศ จึงขอถามว่าจะนำเงินดังกล่าวไปซื้อยางช่วยเหลือชาวสวนยางเหมือนกับที่ช่วยชาวนาได้หรือไม่ ขอให้รัฐบาลอย่าเลือกปฏิบัติสองมาตรฐาน พร้อมขอให้รัฐบาลเร่งหาผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีกรณีเหตุไฟไหม้โรงรับซื้อยางพาราที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 13 ก.ย.55 ด้วย เพราะผลการสอบสวนออกมาแล้วว่าเป็นการลอบวางเพลิง รวมถึงจะมีวิธีจัดการอย่างไรกับยางที่รัฐบาลรับซื้อในโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางเกิดการเน่าเสียจนเสื่อมสภาพ เพราะการเก็บรักษาไม่ถูกวิธี
 
ด้านนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตอบกระทู้ถามแทนนายกรัฐมนตรี โดยชี้แจงว่า การแก้ปัญหาราคายางนั้นต้องเป็นการแก้ปัญหาแบบอย่างยั่งยืน โดยให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และส่งเสริมการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มขึ้นผ่านอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในประเทศ ส่วนการนำเงินมาช่วยด้านราคายางเหมือนกับราคาข้าวนั้น ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีกระบวนการบริหารจัดการด้านยางพาราเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว ซึ่งกระบวนการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตรแต่ละชนิดจะใช้วิธีการเดียวกันไม่ได้ ขณะที่เหตุไฟไหม้โรงรับซื้อยางพาราที่ จ.นครศรีธรรมราช กำลังอยู่ในขั้นตอนดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งตนเพิ่งเข้ารับตำแหน่งไม่นาน อย่างไรก็ตามจะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ส่วนยางที่เกิดการเน่าเสียในโครงการรักษาเสถียรภาพราคายางยังคงเก็บรักษาไว้เพราะมีประกันภัย และมีแผนใช้ภายในประเทศเป็นหลัก
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา/เรียบเรียง
 
ส.ส.ประชาธิปัตย์ เสนอญัตติจี้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ย้ำ ไม่ใช่อีแอบอยู่เบื้องหลังม็อบสวนยาง
 
29 ส.ค. 56 -  ส.ส.ประชาธิปัตย์  จี้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ย้ำ ไม่ใช่อีแอบอยู่เบื้องหลังม็อบสวนยาง แนะ นายกฯ ลงมาแก้ปัญหาด้วยตัวเองพร้อมเร่งเจรจา อินโดฯ จีน ญี่ปุ่น ก่อนปรับราคา  บ่นน้อยใจนายกฯ ไม่ให้ความสำคัญ ส.ส.ไทย  ด้าน รมช.พาณิชย์ ย้ำชัดเป็นผู้ริเริ่มโครงถนนยางพารา เอง  ส่วนกรณีดันราคายางถึง 120 ต่อ ก.ก.  เป็นไปตามข้อเรียกร้องของชาวสวนยาง ตอนปิดถนน อ.รัฐภูมิ เมื่อสองปีก่อน
 
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ส.ส.ประชาธิปัตย์  อภิปรายในญัตติขอให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า  ขอให้นายกฯประกาศวันนี้ให้ชัดเจน ถึงเวลาที่จะจ่ายค่าชดเชยให้กับเกษตรกรชาวสวนยางพารา  และขอให้ไปพบประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โดยขอให้ไปเอง  อย่าส่งคนอื่นไปเพราะไม่เหมาะสม เพราะอินโดนีเซียและไทยเป็นสองประเทศที่เป็นผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่  โดยขอให้ไปตกลงกันว่าทั้งสองประเทศจะ ไม่ตัดราคากัน  ซึ่งเชื่อว่า หากทำได้เช่นนี้สองประเทศจะสามารถกำหนดราคายางพาราตลาดโลกได้  จากนั้นให้เร่งไปประสานกับประเทศผู้ซื้อ คือ จีน ญี่ปุ่น ให้เข้าใจว่าจะปรับราคายางขึ้น ตั้งแต่ 1 ม.ค. 57 เพื่อให้เกษตรกรไทยอยู่ได้  ทั้งนี้ ขอให้นายกฯ ประกาศให้ชัดว่าจะมาลงช่วยด้วยตัวเอง และอย่าเชื่อลิ่วล้อว่าตนเป็นผู้อยู่เบื้องหลังม็อบยางพารา ตนไม่ทำตัวเป็นอีแอบ เรื่องนี้ชาวสวนยางเรียกร้องเองเพราะทนมาสองปีแล้ว
 
ขณะที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  ชี้แจงว่า เนื่องจาก ในช่วงบ่าย ติดภารกิจพบสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา แต่จะรับฟังข้อมูลของนายสุเทพ ไว้ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาต่อไป
 
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยพาณิชย์ กล่าวว่า ที่มีการพาดพิงว่า ตนประกาศว่าจะให้ยางราคาพารา อยู่ที่ 120 บาท นั้น เรื่องนี้เกิดขึ้นก่อนที่ตนจะรับตำแหน่งรมช.เกษตรฯ    ซึ่งเกิดจากกรณีที่ชาวสวนยางพาราปิดถนนที่ อ.รัฐภูมิ จ.สงขลา ในราวปี 2555 และรัฐบาลได้เจรจา และรับข้อเสนอของชาวสวนยางในราคา 120 บาท ต่อ ก.ก . และต่อมาข้อเรียกร้องนี้ ได้เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กนย.  ที่มีมติขอให้ ครม.จัดสรรงบฯ เพื่อรักษาเสถียรภาพยาง  จากนั้นมีการประชุมครม. และมีมติเห็นชอบตามที่ กนย.เสนอ  ซึ่งการพาดพิงดังกล่าว อาจทำให้คนเข้าใจผิดว่า เป็นการประกาศหลังจากที่ตนเข้ารับตำแหน่งแล้ว  ส่วนยุทศาสตร์ส่งเสริมให้ใช้ยางพาราในประเทศ โดยเฉพาะถนนยางพารา ถุงมือยาง ตนก็เป็นผู้เริ่มต้นผลักดันทั้งสิ้น
 
ด้านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่ารู้สึกน้อยใจที่นายกไม่ให้ความสำคัญ กับส.ส.ไทย และอยากเรียกร้องให้นายกฯ รับฟังปัญหาประชาชนด้วยตัวเองบ้าง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
กมธ.กิจการสภา ตรวจสอบพบ การเสนอข่าว ส.ส.บังคับเครื่องบินการบินไทยลงจอดที่สนามบินดอนเมือง ไม่เป็นความจริง
 
29 ส.ค. 56 - คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร สอบข้อเท็จจริงกรณีข่าว ส.ส.บังคับเครื่องการบินไทยลงจอดสนามบินดอนเมือง พบไม่เป็นจริงตามที่ข่าวนำเสนอ โดยนายวิสุทธิ์ และนายสามารถ ยืนยัน ไม่เคยใช้อภิสิทธิ์ใด ๆ พร้อมขอให้สอบถามพฤติกรรมตนจากพนักงานบนเครื่องบิน และตรวจสอบจากกล้อง cctv
 
การประชุมคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎรที่มีนายไพจิตร ศรีวรขาน เป็นประธาน ร่วมพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีมีสื่อนำเสนอข่าว ส.ส. บังคับให้นักบินเที่ยวบิน TG 141 เส้นทางเชียงราย-สุวรรณภูมิ เวลา 20.25-21.45 น. เปิดประตูให้ลงที่สนามบินดอนเมืองระหว่างลงจอดพักเพื่อรอลงจอดที่ปลายทางสนามบินสุวรรณภูมิ โดยมี นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย ส.ส.ผู้ร่วมเที่ยวบิน เข้าร่วมประชุม โดย นายสามารถ ระบุว่าขอยืนยันว่าตนและนายวิสุทธิ์ ไม่ได้ใช้อภิสิทธิ์ใด ๆ ตามที่เป็นข่าว  อีกทั้งตนยังได้นัดหมายบุตรสาวที่สนามบินสุวรรณภูมิด้วย แต่ในเหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้โดยสารกลุ่มอื่นที่แจ้งความประสงค์ขอลงที่สนามบินดอนเมืองจริง ข่าวดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับตนเป็นอย่างมาก จึงขอให้กรรมาธิการดำเนินการสร้างความกระจ่างให้กับสังคม ด้วยการใช้ พ.ร.บ.คำสั่งเรียกฯ นำหลักฐาน ขอบันทึกการบินระหว่างกัปตันกับหอบังคับการบินในวันเวลาดังกล่าวถึงเหตุผลความจำเป็นในการลงจอดแล้วกลับบินขึ้นใหม่ และขอให้เรียกตัวพนักงานต้อนรับที่ดูแลอยู่ในตู้ชั้นธุรกิจช่วงเวลาดังกล่าว ว่าตนและนายวิสุทธิ์ มีพฤติกรรม โวยวาย บีบบังคับ หรือไม่ ขณะเดียวกัน ขอรายชื่อผู้โดยสารที่ลงดอนเมือง เพื่อความกระจ่างว่าตนและนายวิสุทธิ์ ไม่ได้ลง พร้อมขอภาพจากกล้องcctvเพื่อพิสูจน์ให้เห็นภาพตนและนายวิสุทธิ์ เดินเข้าสู่สนามบินสุวรณภูมิทั้งนี้ขอฝากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้เป็นบทเรียนว่าขอให้ระมัดระวังข่าวจากแหล่งข่าวที่ไม่มีตัวตน และกรรมาธิการออกมาแถลงจนตกเป็นเหยื่อ ตนจึงขอปกป้องศักดิ์ศรีของตนและยืนยันไม่เคยมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ใด
 
ขณะที่ นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ชี้แจงว่า เดิมตนจะต้องเดินทางในชั้นประหยัดแต่เมื่อพบกับ ส.ส.อรุณี ชำนาญยา ที่สนามบินเชียงราย ส.ส.อรุณี ได้เสนอสับเปลี่ยนตั๋วให้ตนไปที่ชั้นธุรกิจแทน จึงเป็นการยืนยันได้ว่าการบินไทยไม่ได้ให้สิทธิที่พิเศษกว่ากับตน และตนไม่เคยมีการข่มขู่ และไม่มีความจำเป็นต้องไปลงที่สนามบินดอนเมือง เนื่องจากบ้านพักอยู่ย่านบางบัวทอง การลงเครื่องที่สนามบินสุวรรณภูมิย่อมสะดวกกว่าอยู่แล้วและมีรถมารอรับตนอยู่ด้วย  ส่วนในช่วงเวลาที่ TG 141 ทำการบินนั้น ได้รับการดูแลอย่างดีจากพนักงานต้อนรับ และเข้ามาสอบถามอยู่ตลอดเวลา พร้อมกับขอโทษที่ทำให้มาถึงช้า ทำให้ตนตอบกลับไปว่าไม่เป็นไรและยินดีที่ทำให้ผู้โดยสารมาถึงอย่างปลอดภัย พร้อมระบุได้รับการบริการที่ดีมาโดยตลอด เพียงขอความเป็นธรรมให้กับตนด้วย
 
ด้าน นาวาอากาศตรี สถาพร เจริญศรี ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการบิน ชี้แจงว่า ได้สอบถามจากพนักงานต้อนรับทั้งหมดแล้ว ได้รับการยืนยันว่านายวิสุทธิ์ และนายสามารถ รวมถึงผู้อื่นไม่มีใครใช้อำนาจข่มขู่แต่ประการใด ส่วนการที่เครื่องบินต้องลงจอดที่สนามบินดอนเมืองนั้นเป็นความจำเป็นที่นักบินต้องดำเนินการเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเคยมีการประสบกับสภาพอากาศที่ไม่ราบรื่นอยู่หลายครั้ง และมักมีผู้ขอลงก่อนเช่นนี้เสมอ ทั้งนี้ นาวาอากาศตรี สถาพร ได้มอบรายชื่อผู้โดยสารทั้งหมดที่ลงที่สนามบินดอนเมืองให้กับกรรมาธิการซึ่งไม่ปรากฏชื่อของนายวิสุทธิ์ และนายสามารถแต่อย่างใด ในขณะที่นายวิวัฒน์ วงศ์ไชยาณิชย์ ผอ.ส่วนระบบเทคนิค ได้นำภาพเคลื่อนไหวจากกล้อง cctv มาแสดงยืนยันความบริสุทธิ์ของสมาชิกรัฐสภาต่อกรรมาธิการด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
โฆษก กมธ.กิจการสภา แจง นายวิสุทธิ์ และนายสามารถ ยืนยัน ไม่ได้ใช้อำนาจบังคับเครื่องการบินไทยลงจอดสุวรรณภูมิ
 
29 ส.ค. 56 - โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร เผย ส.ส.เพื่อไทย ที่มีสื่อเสนอข่าวบังคับเครื่องการบินไทยลงจอดดอนเมือง เข้าชี้แจงกรรมาธิการแล้ว ยืนยัน ไม่มีการใช้อำนาจบังคับแต่เป็นเพราะกัปตันตัดสินใจจากสภาพอากาศ ขณะ การท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นำภาพจาก cctv ช่วยยืนยัน
 
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมกรรมาธิการพิจารณากรณีการเสนอข่าว ส.ส. ใช้อำนาจบังคับนักบินเที่ยวบิน TG 141 เส้นทางเชียงราย-สุวรรณภูมิ ลงจอดที่สนามบินดอนเมืองว่า นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และนางอรุณี ชำนาญยา ส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย ได้เข้าชี้แจง โดยต่างยืนยันว่าไม่ได้ลงเครื่องที่สนามบินดอนเมือง แต่ไปลงที่สนามบินสุวรรณภูมิตามแผนการบินเดิม ซึ่งทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้นำภาพจากกล้องcctv ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมายืนยันต่อกรรมาธิการด้วย พร้อมกันนี้ ผู้แทนจากการบินไทยชี้แจงว่า ในวันดังกล่าวบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีสภาพอากาศไม่ดี หอบังคับการบินได้แจ้งต่อกัปตัน ซึ่งกัปตันตัดสินใจนำเครื่องลงจอดที่ท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อรอให้สภาพอากาศดีขึ้นเนื่องจากขณะนั้นรันเวย์ไม่เพียงพอต่อปริมาณเครื่องที่รอลงจอดสุวรรณภูมิ พร้อมแจ้งให้ผู้โดยสารทราบ ซึ่งผู้โดยสารบางคนเข้าใจว่าสามารถลงที่สนามบินดอนเมืองได้ จึงไปรอที่ประตูของเครื่องบิน และกัปตันได้ประสานกับเจ้าหน้าที่ของท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อนำผู้โดยสารลงจากเครื่องบินจำนวน 17 คน ซึ่งมี ส.ว.1 คน และ ส.ส.1 คน ด้วย พร้อมยืนยัน กัปตันปฏิบัติตามขั้นตอนมาตรฐานความปลอดภัยอย่างเคร่งครัดในการให้ผู้โดยสารลง โดยไม่ได้นำเรื่องตำแหน่งและหน้าที่การงานของผู้โดยสารมาพิจารณา และไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม นายสามารถ ได้แจ้งต่อกรรมาธิการว่า ข่าวที่เกิดขึ้นทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงจึงได้ทำการแจ้งความต่อผู้ทำการแจกใบปลิวโจมตีในพื้นที่  เพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
กมธ.สผ.เตรียมนำประเด็นสลายชุมนุมเกษตรกรสวนยาง อ.ชะอวด เข้าที่ประชุมเป็นกรณีเร่งด่วน
 
29 ส.ค. 56 - กมธ.ตำรวจ สผ. รับหนังสือจากตัวแทนนักศึกษาภาคใต้ ขอให้ตรวจสอบการสลายการชุมนุมของเกษตรกรสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน อ.ชะอวด เข้าข่ายละเมิดสิทธิและเสรีภาพความเป็นมนุษย์และสิทธิการชุมนุมหรือไม่ เผย เตรียมนำเข้าหารือที่ประชุมเป็นกรณีเร่งด่วน 4 ก.ย.นี้
 
นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ ประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร รับหนังสือจากตัวแทนนักศึกษาภาคใต้ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ เพื่อขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิของผู้ชุมนุมเกษตรกรสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่ ต.ควนหนองหงส์ อ.ชะอวด                จ.นครศรีธรรมราช โดยตัวแทนนักศึกษากล่าวว่า ที่มารวมตัวยืนหนังสือครั้งนี้เนื่องจากทนเห็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่เป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพ ของพี่น้องประชาชนไม่ได้ และมองว่าการกระทำดังกล่าวอาจจะเข้าข่ายการละเมิดสิทธิและเสรีภาพความเป็นมนุษย์ สิทธิการชุมนุม การประทุษร้ายต่อร่างกายชีวิตและทรัพย์สิน จึงขอให้ กมธ.ตำรวจตรวจสอบว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายผิด รธน.หรือไม่ และขอยืนยันว่า การเข้ายื่นหนังสือไม่ได้ทำเพื่อก่อความวุ่นวาย เพียงต้องการเรียกร้องความยุติธรรมให้กับพี่น้องชาวใต้ ความเป็นมาตรฐานเดียวกันที่ใช้ปกครองประเทศ
 
นายสมชาย กล่าวหลังรับหนังสือว่า กรณีนี้อยู่ในความสนใจของประชาชนอย่างมาก กมธ.จึงจะบรรจุเข้าวาระการประชุมเป็นกรณีเร่งด่วน โดยจะเชิญ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร อ.ชะอวด ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมกมธ.ในวันพุธที่ 4 กันยายนนี้ ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและการดำเนินการหลังจากนี้ของฝ่ายปกครองและฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าจะดำเนินการต่อการเรียกร้องของประชาชนอย่างไร ทั้งนี้เชื่อว่า การที่ตัวแทนนักศึกษาได้รวมตัวและเข้ายื่นหนังสือเนื่องจากเป็นห่วงความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนและเกรงว่าหากมีการสลายการชุมนุมขึ้นอีกก็จะเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนฯ จี้ รัฐบาลชะลอปรับขึ้นราคาแอลพีจี
 
29 ส.ค. 56 - คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องรัฐบาลชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี 1 ก.ย. และทบทวนมาตรการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึงและไม่ชัดเจน เตรียมเรียก รมต.พาณิชย์ เข้าชี้แจงแนวทางช่วยลดผลกระทบประชาชนสัปดาห์หน้า
 
นายชนินทร์ รุ่งแสง ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน กรรมาธิการที่ปรึกษา ในฐานะรัฐมนตรีฯ พาณิชย์เงา พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมแถลงกรณีรัฐบาลจะปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ถังละ 7.50 บาท ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ ว่า หลังลงพื้นที่สำรวจตลาดรุ่งเจริญ เขตยานนาวา  พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ทราบถึงการปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้มแล้ว โดยเฉพาะร้านขายอาหารตามสั่งที่กล่าวว่าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแน่นอน เนื่องจากต้องใช้ก๊าซเฉลี่ยเดือนละ 25 – 30 ถัง แต่ไม่สามารถปรับเพิ่มราคาค่าอาหารต่อผู้บริโภคได้ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นอยู่แล้ว จึงเลือกที่จะลดปริมาณอาหารแทน นอกจากนี้ ยังพบว่ามาตรการการช่วยเหลือผู้ประกอบการไม่มีความชัดเจน และมีผู้ประกอบการลงทะเบียนรับการเยียวยาเพียง 1 แสนราย จากทั้งหมด 5 แสนราย คณะกรรมาธิการจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซออกไปก่อน และในสัปดาห์หน้าคณะกรรมาธิการจะเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เข้าชี้แจงถึงมาตรการในการช่วยลดผลกระทบให้กับประชาชนจากปัญหาสินค้าราคาแพง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ส.ส.ศิริโชค ไม่กังวล กรณีมติ กกต.ให้ดำเนินคดีจากกรณีโพสภาพ พล.ต.อ.พงศพัศ
 
29 ส.ค. 56 - ส.ส.ศิริโชค โสภา เผย ไม่ทราบข้อกล่าวหาที่ชัดเจน จากกรณี กกต.มีมติให้ดำเนินคดีอาญาจากการโพสต์ภาพ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครรับเลือกตั้งหมายเลข 9 ผ่านเฟซบุ๊ค ยืนยัน ไม่หนักใจ และไม่มีผลกับสมาชิกภาพ
 
นายศิริโชค โสภา ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ แถลงภายหลังทราบผลการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ที่มีมติให้ดำเนินคดีอาญากับตนกรณีโพสต์ภาพผ่านเฟซบุ๊คลักษณะใส่ร้าย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. หมายเลข 9 ในประเด็นเกี่ยวกับการเผาบ้านเผาเมือง ว่า ส่วนตัวเคารพมติ กกต. แต่ถึงขณะนี้ยังไม่ทราบข้อหาที่ชัดเจนว่าผิดกฎหมายใด แม้จะพยายามติดต่อไปยัง กกต. แต่ปิดโทรศัพท์มือถือทุกคน จึงขอยืนยันอีกครั้งว่าภาพนี้เป็นการแชร์ต่อมาอีกที โดยได้ระบุชัดเจนว่าเป็นการตัดต่อ ไม่มีเจตนาใส่ร้ายผู้สมัคร ดังนั้นเมื่อถูกกล่าวหาว่าทำผิดกฎหมายเลือกตั้งจึงรู้สึกแปลกใจ เพราะ กกต.ไม่เคยเชิญไปให้การ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวไม่รู้สึกหนักใจ และไม่กระทบต่อสมาชิกภาพ ส.ส. จากนี้คงเป็นกระบวนการต่อสู้กันในชั้นศาล และพร้อมสู้ทั้งในชั้นศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
กรรมการสรรหาตุลาการศาล รธน. มีมติเลือก นายทวีเกียรติ เป็นตุลาการศาล รธน.
 
30 ส.ค. 56 - กรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเลือกนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ แทนนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ที่ลาออกจากตำแหน่ง
 
คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีนายไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานคณะกรรมการสรรหาฯ และกรรมการ 4 คน ประกอบด้วย นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายอภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และ นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน   ได้พิจารณาข้อมูลผลการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องรับรองพิเศษ ชั้น 2 อาคารรัฐสภา 2 หลังนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ลาออกจากตำแหน่ง ประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไปเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยมีผู้สมัครเข้ารับการสรรหา จำนวนทั้งสิ้น 9 คน ซึ่งผลการสรรหา ปรากฎว่าคณะกรรมการฯ มีมติเลือก นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใหม่ โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะเสนอรายชื่อต่อที่ประชุมวุฒิสภาให้ความเห็นชอบต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ประธานรัฐสภา วินิจฉัยให้สมาชิกรัฐสภาที่สงวนคำแปรญัตติอภิปรายในมาตรา 4 ได้ก่อนลงมติ
 
30 ส.ค. 56 - ประธานรัฐสภา วินิจฉัยให้สมาชิกรัฐสภาที่สงวนคำแปรญัตติในมาตรา 4 อภิปรายได้ ก่อนลงมติ พร้อมชี้หากไม่อภิปรายจะเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ ย้ำอภิปรายต้องอยู่ภายในใต้ข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา
 
นายสมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์  ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาสมาชิกวุฒิสภา ที่คณะกรรมาธิการฯพิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระที่ 2 เป็นวันที่ 6 โดยยังคงพิจารณาอยู่ที่ มาตรา 4 โดยการประชุมเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 10.20 น. และประธานรัฐสภาได้ขอลงมติ มาตรา 4 ว่าด้วยการยกเลิกคณะกรรมาการสรรหาต่อเนื่องทันที แต่มีการทักท้วงจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน ที่มีการสงวนคำแปรญัตติไว้ และขอให้มีการอภิปรายก่อนลงมติ ส่งผลให้มีการประท้วงไปมาระหว่างสมาชิกรัฐสภา ท้ายสุดประธานรัฐสภาได้วินิจฉัยให้สมาชิกรัฐสภาที่สงวนคำแปรญัตติไว้สามารถอภิปรายได้ เนื่องจากหากไม่ให้อภิปรายอาจเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ แต่การอภิปรายต้องอยู่ภายในใต้ข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา
 
ทั้งนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาสมาชิกวุฒิสภา ในมาตรา 4 นั้น เป็นเนื้อหาว่าด้วยการยกเลิกคณะกรรมาการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ถกญัตติ ลงมติมาตรา 4 โดยไม่ต้องอภิปราย หลังสมาชิกรัฐสภาบางส่วนชี้ขัดมาตรา3 ที่รัฐสภาลงมติเห็นชอบแล้ว
 
30 ส.ค. 56 - ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ถกญัตติ ลงมติมาตรา 4 โดยไม่ต้องอภิปราย หลังสมาชิกรัฐสภาบางส่วนชี้ขัดมาตรา3 ที่รัฐสภาลงมติเห็นชอบแล้ว ขณะที่ฝ่ายค้านเรียกร้องอย่าตัดสิทธิผู้แปรญัตติ  ขณะที่ประธานรัฐสภา วอนทุกฝ่ายเคารพคำวินิจฉัยของประธาน เพราะได้วินิจฉัยทุกอย่างตามข้อบังคับฯ และรัฐธรรมนูญ  เชื่อ หากทุกฝ่ายให้เกียรติกัน การประชุมจะเดินหน้าราบรื่น
 
การประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมได้มีการหารือ ถึงกรณีญัตติที่สมาชิกรัฐสภาเสนอให้ลงมติ มาตรา 4 โดยไม่ต้องอภิปราย โดยขอให้สภาอนุโลมยกเว้นข้อบังคับฯ  โดยให้เหตุผลในการเสนอญัตติว่าทั้ง ม.3 และ ม.4 มีความเกี่ยวโยงกัน เนื่องจาก ม.3 กำหนดให้ยกเลิกส.ว.สรรหา ซึ่งรัฐสภาได้ลงมติผ่านความเห็นชอบแล้ว ขณะที่ ม.4 เกี่ยวข้องกับกรรมการสรรหา ส.ว. สรรหา
 
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ตนได้วินิจฉัยว่า ญัตติดังกล่าวไม่สามารถเสนอได้ เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งจะเป็นการขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม ตนจะดำเนินการตามขั้นตอน แต่ขอพิจารณาเป็นกรณีไป   ทั้งนี้ ขอให้สมาชิกเคารพคำวินิจฉัยของประธานด้วย เพราะได้วินิจฉัยทุกอย่างตามข้อบังคับฯ และรัฐธรรมนูญ ถ้าทุกฝ่ายให้เกียรติกันการประชุมก็จะดำเนินไปอย่างเรียบร้อย
 
ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน เห็นว่า ตราบใดที่ยังไม่ได้ยกเลิก ม.240 ของรัฐธรรมนูญ  ยังต้องมีกรรมการสรรหา ส.ว.ใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง สมาชิกใช้สิทธิอภิปรายได้
 
แต่นายสามารถ แก้วมีชัย ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชี้แจงว่า ม.10 ว.2 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบุไว้ชัดว่า เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้มีการประกาศใช้แล้ว ไม่ต้องสรรหา ส.ว.แทนตำแหน่งที่ว่าง
 
ขณะที่นายธนา ชีระวินิจ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ในฐานะ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย กล่าวว่า การไม่ให้ผู้แปรญัตติ ม.4 อภิปราย จะทำไม่ได้ เพราะตราบใดที่รัฐธรรมนูญ2550  ม.240 ยังมี ส.ว.สรรหาอยู่ก็ไม่ควรตัดสิทธิสมาชิกในการอภิปราย และตราบใดที่ตามที่รัฐสภายังไม่ให้ความเห็นชอบ จะยกเอา ม.10 ของร่างแก้มาจำกัดสิทธิสมาชิกผู้แปรญัตติไม่ได้
 
อย่างไรก็ตาม ประธานรัฐสภา ได้ยืนยันว่า ได้ทำหน้าที่โดยยึดตามข้อบังคับฯ และมีการอนุโลมกันบ้าง แต่จะให้ถูกใจทุกคนคงเป็นไปไม่ได้ และเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่ดี  จึงอยากให้สมาชิกให้เกียรติคำวินิจฉัยของประธาน และขอความร่วมมือจากสมาชิกรัฐสภาด้วย ซึ่งเชื่อว่าถ้าทุกฝ่ายให้เกียรติกันและกันจะช่วยให้การประชุมเดินหน้าต่อได้ 
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
ประธานรัฐสภา พักการประชุม เปิดทางวิป 3 ฝ่ายหารืออภิปรายมาตรา 4 ร่างแก้ไข รธน. 
 
30 ส.ค. 56 -  ประธานรัฐสภา สั่งพักการประชุม เปิดทางวิป 3 ฝ่ายหารือถึงแนวทางการอภิปรายในมาตรา 4 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังมีสมาชิกเสนอญัตติหยุดอภิปรายและลงมติ เกรงอภิปรายมาตรา 4 จะขัดกับมาตรา 3 ที่ผ่านความเห็นชอบแล้ว   แต่ปรากฎหารือตั้งแต่เช้ายังไม่ได้ข้อยุติ   โดยประธานรัฐสภา แนะ 3 วิป ยึดหลักประนีประนอมตามที่ผู้นำฝ่ายค้านฯ เสนอ  สุดท้ายได้ข้อสรุป ให้อภิปราย ทุกฝ่ายยึดข้อบังคับฯ เคารพคำนิจฉัยประธาน
 
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา สั่งพักการประชุมอีก 30 นาที เพื่อให้วิป 3 ฝ่าย หารือถึงแนวทางการอภิปรายใน มาตรา 4 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังหารือตั้งแต่เช้าแต่ยังไม่ได้ข้อยุติว่าจะให้สมาชิกรัฐสภาที่ขอแปรญัตติในมาตรา 4 ใช้สิทธิอภิปรายได้หรือไม่  เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาได้เสนอญัตติขอให้ให้ลงมติในมาตรา 4 ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญูโดยไม่ต้องอภิปราย โดยให้เหตุผลในการเสนอญัตติว่าทั้ง ม.3 และ ม.4 มีความเกี่ยวโยงกัน เนื่องจาก ม.3 กำหนดให้ยกเลิก ส.ว. สรรหา ซึ่งรัฐสภาได้ลงมติผ่านความเห็นชอบแล้ว ขณะที่ ม.4 เกี่ยวข้องกับกรรมการสรรหา ส.ว. สรรหา    โดยประธานรัฐสภา กล่าวว่า ขอให้ทุกฝ่ายยึดแนวทางประนีประนอมตามคำแนะนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้การประชุมที่จะเดินหน้าต่อจากนี้เป็นไปด้วยดี อย่างไรก็ตาม หากยังไม่ได้ข้อยุติ ตนจะขอใช้อำนาจวินิจฉัยแนวทางการประชุมต่อไป เพื่อให้การประชุมเดินหน้าต่อไปได้
 
อย่างไรก็ตาม หลังหารือผ่านไป ประมาณ 15 นาที ก็ได้เริ่มประชุมต่อ โดยได้ข้อยุติว่า ให้สิทธิสมาชิกรัฐสภาใช้สิทธิอภิปรายได้  และทุกฝ่ายจะร่วมกันยึดข้อบังคับฯ เคารพคำวินิจฉัยประธาน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ประชาธิปัตย์ เรียกร้องประธานรัฐสภาสั่งการยุติเรื่องการออกหมายจับสมาชิกรัฐสภา
 
30 ส.ค. 56 - ส.ส.จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องประธานรัฐสภาสั่งการยุติการออกหมายจับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ฐานอยู่เป็นผู้สนับสนุนม็อบชาวสวนยาง ระบุทำไม่ได้เพราะอยู่ระหว่างการประชุม ขณะที่ประธานรัฐสภารับจะดำเนินการประสานไปยังฝ่ายบริหารเพื่อดำเนินการเรื่องดังกล่าว
 
นายวิทยา  แก้วภราดัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะสมาชิกรัฐสภา กล่าวหารือในที่ประชุมรัฐสภาถึงกรณีที่พนักงานสอบสวน ได้ออกหมายจับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 2 คน คือ นายถาวร  เสนเนียม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสงขลา และนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง ฐานเป็นผู้สนับสนุนให้มีการชุมนุมของชาวสวนยาง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยนายวิทยา กล่าวว่า การออกหมายจับดังกล่าวไม่สามารถทำได้เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดสมัยประชุมรัฐสภา ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ประธานรัฐสภา ประสานไปยังฝ่ายบริหารให้ยุติเรื่องดังกล่าว
 
ด้านนายสมศักดิ์  เกียรติสุรนนท์  ประธานรัฐสภา ได้ชี้แจงว่า การออกหมายจับสมาชิกรัฐสภาในระหว่างสมัยประชุมรัฐสภานั้นไม่สามารถกระทำได้ เพราะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่หากเมื่อมีการออกหมายจับแล้วพนักงานสอบสวนก็ต้องมาขออนุญาตต่อรัฐสภาก่อนจึงจะทำได้ ยกเว้นแต่เป็นการกระทำผิดซึ่งหน้า ทั้งนี้ตนจะมอบให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรดำเนินการแจ้งไปยังฝ่ายบริหารเพื่อให้พนักงานสอบสวนได้ทราบต่อไป
 
อย่างไรก็ตาม นายวรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภา โดยอ้างว่าได้รับการประสานจากพนักงานสอบสวนจังหวัดนครศรีธรรมราชทางโทรศัพท์ว่าขณะนี้ยังไม่มีการออกหมายจับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสองคนแต่อย่างใด
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
กมธ.วิสามัญศึกษาปัญหาราคายางฯ วุฒิสภา เสนอ 5 แนวทางแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ
 
30 ส.ค. 56 - กมธ.วิสามัญศึกษาแนวทางการบริหารจัดการปัญหาราคายางพาราตกต่ำฯ วุฒิสภา แนะ 5 แนวทางแก้ปัญหา ด้านพลตำรวจโทรมาโนช รองประธาน กมธ.ฯ แนะรัฐ ประกาศชัดไม่ขายยาง 200,000 ตันในสต๊อก ชี้ อาจทำให้ราคายางกระเตื้องขึ้นได้
 
รองศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ชิตพงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการบริหารจัดการปัญหาราคายางพาราตกต่ำและแนวทางการส่งเสริมการพัฒนายางพาราทั้งระบบ วุฒิสภา กล่าวถึงผลการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำและแนวทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์การชุมนุมของเกษตรกรชาวสวนยางว่า จากที่ได้หารือที่ประชุม กมธ.เห็นควรเสนอแนวทางแก้ปัญหาไปยังรัฐบาลใน 5 ประเด็น คือ 1.รัฐบาลควรให้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับตัวเลขต้นทุนการผลิตและการดำเนินการตามโครงการแทรกแซงราคาผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผลผลิตทางการเกษตร 2.ควรพิจารณางดเก็บเงินสงเคราะห์ (เงินเซส) ชั่วคราว เพื่อยกระดับราคายางพาราที่เกษตรกรจะได้รับให้สูงขึ้น 3.กำหนดแนวทางส่งเสริมการใช้ยางพาราภายในประเทศให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพารา ซึ่งจะช่วยให้ยางพารามีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการตามโครงการของภาครัฐโดยการนำยางพาราไปเป็นส่วนผสมเพื่อเป็นวัสดุในการทำถนนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที 4.ควรจัดทำโครงการชะลอผลผลิตออกสู่ตลาดโดยผ่านสถาบันเกษตรกร เพื่อให้สถาบันฯกู้เงินไปซื้อยางมาแปรรูปแล้วเก็บสต๊อกไว้รอจำหน่ายเมื่อยางมีระดับราคาสูงขึ้น และ5.ควรรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากเวทีรัฐสภา เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาเรื่องยางพารา รวมทั้งควรนำผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการของรัฐสภาที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องยางพาราไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
 
ด้านพลตำรวจโทมาโนช ไกรวงศ์ รองประธาน กมธ.ฯ กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลรับซื้อยางพารามาไว้ในสต็อก 200,000 ตันว่า ตลาดโลกมองว่าไทยสต๊อกยางไว้จำนวนมากอย่างไรก็แล้วแต่รัฐบาลจะต้องปล่อยขายแน่นอน จึงรอที่จะกว้านซื้อยางในราคาถูก ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคายางไม่กระเตื้องขึ้น ดังนั้นเห็นว่าหากรัฐบาลมีความชัดเจนว่าจะไม่ขายและประกาศว่าจะนำยางเหล่านั้นไปทำอะไร พ่อค้าตลาดโลกก็จะต้องรับซื้อยางพาราของไทยและทำให้ราคาสูงขึ้นได้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส. ปชป. ระบุ รัฐบาลคุกคามการทำหน้าที่ ส.ส.ภาคใต้ กรณี ตร.นครศรีธรรมราช ออกหมายจับเหตุร่วมชุมนุมชาวสวนยาง
 
30 ส.ค. 56 - ส.ส.ภาคใต้ ปชป. ระบุ รัฐบาลคุกคามการทำหน้าที่ ส.ส.ของนายนิพิฎฐ์ และนายถาวร เหตุร่วมการชุมนุมชาวสวนยาง พร้อมเรียกร้องให้ประธานสภาออกมาปกป้องสิทธิ์ หลังทราบว่าพนักงานสอบสวนนครศรีธรรมราช ขอออกหมายจับ  
 
นายวิทยา แก้วภราดัย และนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวกรณีพนักงานสอบสวน จ.นครศรีธรรมราช ได้ขอยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัด ให้ออกหมายจับบุคคล 15 คน จากกรณีการชุมนุมชาวสวนยางพาราที่แยกควนหงษ์ จ.นครศรีธรรมราช โดยมีนายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง และนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ รวมอยู่ด้วยว่า  การขออนุมัติออกหมายจับดังกล่าวน่าจะมีการสั่งการไปจากส่วนกลาง แต่ไม่ทราบจุดประสงค์ว่าต้องการเพียงปรามหรือข่มขู่  อย่างไรก็ตามตนถือว่าการกระทำเช่นนี้เป็นการคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาซึ่งอยู่ระหว่างสมัยประชุม อีกทั้งอยู่ระหว่างการพิจารณาญัตติความเดือดร้อนประชาชนเรื่องผลผลิตราคาปาล์มและยางพาราตกต่ำ ซึ่ง ส.ส.ทั้ง 2 คน เป็นผู้ทำหน้าที่อภิปรายความเดือดร้อนของชาวนครศรีธรรมราช จึงถือเป็นการใช้อำนาจรัฐและตำรวจอย่างรุนแรงซึ่งตนขอประณาม ทั้งนี้ ตนได้แจ้งให้ประธานสภาทราบแล้วและจะรอดูว่าจะมีหนังสือออกไปส่งไปยังหัวหน้ารัฐบาลเพื่อพิทักษ์สิทธิและการปฏิบัติหน้าที่ให้กับสมาชิกรัฐสภาหรือไม่ เพราะถือเป็นการคุกคามการปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติโดยฝ่ายบริหารอย่างรุนแรงที่สุด
 
ขณะที่ นายชินวรณ์ กล่าวเรียกร้องว่า แทนที่รัฐบาลจะแก้ปัญหาราคายางพาราให้ดีขึ้นแต่กลับใช้กลไกรัฐและอำนาจหน้าที่ข่มขู่ เพราะตนทราบมาว่ามีการข่มขู่แกนนำในหลายกรณี อาทิ ตรวจสอบว่าแกนนำคนใดมีคดีค้างอยู่บ้างแล้วข่มขวัญว่าจะติดตามบุคคลนั้น ๆ  หรือการเสนอให้แกนนำชุมนุมสหกรณ์ยุติบทบาทแล้วจะให้งบจัดตั้งโรงงานตามนโยบายชดเชยของรัฐบาล ซึ่งวิธีการดังกล่าวถือว่าเป็นวิธีการที่เลวร้ายที่สุดในประชาธิปไตย  ซึ่งล้วนจะยิ่งทำให้เหตุการณ์บานปลาย และเป็นวิธีที่รัฐบาลทำให้กลายเป็นเรื่องการเมืองเสียเอง นอกจากนี้ นายชินวรณ์ ยังระบุด้วยว่า ขอประณามการเชิญเครือข่ายเกษตรกรเข้ามาหารือที่ทำเนียบรัฐบาล เพราะเป็นการจัดฉากที่นำข้อสรุปซึ่งทำไว้แล้วไปเสนอกับแกนนำบางคนที่รัฐบาลล็อบบี้ไว้เท่านั้น ในขณะที่เครือข่ายผู้นำเกษตรกรโดยทั่วไปซึ่งศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ไว้ยังคงต้องการราคาชี้นำ 92 บาท/กิโลกรัม จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลมองชาวสวนยางเหมือนเกษตรกรกลุ่มอื่นด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
รองประธานสภาฯ และผู้นำฝ่ายค้านฯ อธิบายองค์ความรู้ด้านการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติให้กับนักเรียน ร.ร.เซนต์โยเซฟคอนเวนต์
 
30 ส.ค. 56 - นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  ให้การต้อนรับนักเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ บางรัก พร้อมอธิบายองค์ความรู้ด้านการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติและความสำคัญของการเมืองต่อการพัฒนาประเทศ 
 
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ให้การต้อนรับ คณะครูและนักเรียน โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ สีลม บางรัก จำนวนประมาณ 400 คน โดยบรรยายองค์ความรู้ด้านการทำหน้าที่ของรัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ การทำหน้าที่ของประธานและรองประธานรัฐสภา ซึ่งจะต้องควบคุมการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่กำลังมีการพิจารณาอยู่ในขณะนี้ พร้อมชี้แจงถึงการทำหน้าที่ของกรรมาธิการสามัญสภาผู้แทนราษฎร 35 คณะ ที่ช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ร้องเรียนเข้ามา
 
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร  อธิบายถึงการทำหน้าที่ของ ส.ส.ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาทิ  ทำหน้าที่เป็นปากเสียงให้ประชาชนในการนำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเข้าหารือต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือการตั้งกระทู้ถามสดซึ่งนับเป็นสากลและสภาทั่วโลกให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นการทวงถามรัฐบาลถึงปัญหาเร่งด่วน เหตุการณ์ปัจจุบันที่ประชาชนสนใจ และนายกฯ หรือรัฐมนตรีต้องแก้ไขและยังถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบในการบริหารงานต่อสภา  และได้อธิบายถึงความสำคัญของสภาซึ่งเป็นองค์กรที่นำอำนาจของประชาชนมาใช้ ตั้งแต่เลือกนายกฯ ให้นายกฯ แถลงนโยบายต่อสภาเพื่อนำไปบริหารประเทศ  สภาจึงเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง และแม้หลายคนจะมีความรู้สึกไม่ดีกับการเมืองโดยมองเป็นเรื่องความขัดแย้งและผลประโยชน์ แต่ต้องย้ำว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวและไม่สามารถแยกการเมืองออกจากสังคมได้ เนื่องจากจำเป็นต้องมีกระบวนการเข้ามาช่วยจัดการเรื่องต่าง ๆ ของส่วนรวม ขณะเดียวกัน ทุกคนในสังคมล้วนต้องการการเมืองที่ดี ดังนั้น เยาวชน และเจ้าของประเทศทุกคนจะต้อง เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในการแสดงความคิดเห็น ทำการเลือกและตรวจสอบนักการเมืองเพื่อสร้างการเมืองและบ้านเมืองที่ดี
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ที่ประชุมร่วมรัฐสภามีมติผ่าน วาระ 2 การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 แล้ว
 
30 ส.ค. 56 - ที่ประชุมร่วมรัฐสภาผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 แล้วด้วยคะแนน 322 ต่อ 108 เสียง พร้อมนัดพิจารณาต่อมาตรา 5 วันที่ 4 สิงหาคม 2556 เมื่อเวลาประมาณ 20.20 น. วันที่ 30 สิงหาคม 2556 ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้มีมติเห็นชอบมาตรา 4 ว่าด้วยการยกเลิกคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาสรรหา ด้วยคะแนนเห็นชอบ 322 เสียง ไม่เห็นชอบ 108 เสียง งดออกเสียง 26 เสียง และไม่ลงคะแนน 1เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งสิ้น 467 คน จากนั้นประธานในที่ประชุมได้สั้งพักการประชุม และให้มีการประชุมร่วมรัฐสภาอีกครั้งในวันที่ 4 สิงหาคม 2556 เวลา 10.00 น. โดยจะเริ่มอภิปรายต่อในมาตรา 5 ซึ่งเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา 
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์ นูโพนทอง ผู้สื่อข่าว/เรียบเรียง
 
พท.ซัด “วิทยา-ชินวรณ์” มั่วข่าวรัฐบาลสั่งออกหมายจับ ส.ส.ปชป.
 
31 ส.ค. 56 - นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่นายวิทยา แก้วภราดัย และนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันแถลงข่าวกล่าวหาเจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมออกหมายจับส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 15 คน เนื่องจากเป็นคำสั่งจากส่วนกลาง ซึ่งเป็นการคุกคามการทำหน้าที่ ส.ส.ว่าหลายครั้งแล้วที่คนพวกนี้พูดไปเรื่อย เน้นเอามันอย่างเดียว พูดแล้วไม่รับผิดชอบ ตั้งแต่พูดว่าจะสละเอกสิทธิ ส.ส. ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่าสภาฯเขาไม่ให้สละเอกสิทธิ และคงไม่มีตำรวจคนไหนเข้าไปจับ ส.ส.ประชาธิปัตย์ในสภา เพราะเขากลัวจะโดนบีบคอ
       
“วันนี้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ หวังทำสงครามใต้ดิน พยายามจุดไฟ เอาม็อบสวนยางมาอ้าง ใช้วาทกรรมปลุกเร้าเรียกร้องให้เกิดความรุนแรง ทั้งที่รัฐบาลก็ยื่นมาตรการในการช่วยเหลือ มีมติที่จะจ่ายค่าชดเชยปัจจัยการผลิตให้เกษตรกรไร่ละ 1,260 บาท จำกัดรายละ 25 ไร่ หรือ 31,500 บาทต่อราย เป็นเวลา 7 เดือน ซึ่งเป็นมาตรการที่ควรแก่เหตุ น่าจะพอรับได้ ซึ่งเครือข่ายชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย ภาคเหนือ กลาง อีสานและตะวันออก ก็ประกาศไม่เข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 3 ก.ย.แล้ว
       
“อยากให้ชาวสวนยางในภาคใต้บางส่วนที่รับงานมา เห็นใจ และยอมรับในมาตรการช่วยเหลือจากรัฐบาล ยุติการชุมนุม ซึ่งวันนี้ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง โรงพยาบาลทำงานไม่ได้ โรงเรียน ธุรกิจ เสียหาย ระบบลอจิสติกส์มีปัญหาอย่างประเมินมูลค่ามิได้ ประชาชนเดินทางลำบาก ความเสียหายต่างๆ ก็จะตามมา ท้ายที่สุดสิ่งที่ได้อาจจะไม่คุ้มเสีย และไม่อยากให้เอาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาเป็นข้อต่อรองหรือตัวประกันทางการเมือง”
       
ส่วนที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี บิดเบือนกล่าวหาทั้ง 2 ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุม นายอนุสรณ์กล่าวว่า ไม่มีใครบิดเบือนอะไร แม้แต่นายกรัฐมนตรี ยังกำชับให้ทุกฝ่ายเร่งแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน พล.ต.อ.ประชาคิดถึงแต่บ้านเมือง ไม่มีความจำเป็นต้องบิดเบือนอะไร ตนขอเรียกร้องนายสุเทพและพรรคประชาธิปัตย์ ให้คิดถึงผลประโยชน์ของประชาชนและบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง อย่ามองทุกเรื่องเป็นการเมืองไปหมด และเลิกคิดเอาชนะคะคาน คิดเล็กคิดน้อย เอาประโยชน์ทางการเมืองเป็นที่ตั้งไปเสียทุกเรื่อง พรรคเพื่อไทยเชื่อมั่นว่า ถ้าทุกฝ่ายช่วยกันถอดสลักปัญหา อย่างที่ พล.ต.อ.ประชาพยายามดำเนินการ ปัญหาม็อบยางพาราสามารถแก้ไขได้
       
นายอนุสรณ์ยังกล่าวถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศปรับปรุงโครงสร้างพรรคเป็นความพยายามที่น่าจะมาจากกรณีที่สื่อระดับโลกวิเคราะห์จุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์อย่างรุนแรง และเสียหายในหลายประเด็น แต่คงต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการจัดระเบียบพรรคใหม่ เพราะวันนี้กระบวนการทำงานค่อนข้างเลอะเทอะ หัวหน้าไปทาง ลูกพรรคไปทาง สิ่งแรกที่ต้องทบทวนอย่างเร่งด่วนคือจุดยืนของพรรค ระบบรัฐสภาที่เคยบอกว่าเชื่อมั่น แต่การกระทำกลับสวนทาง ทำตัวเป็นเผด็จการเสียงข้างน้อยป่วนสภา
       
ในขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ชวนคนมาแก้ปัญหาประเทศ แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กลับชวนคนมาสร้างปัญหาเพิ่มให้กับประเทศ เดินหน้ารวบรวมม็อบ เล่นการเมืองข้างถนน ประสานทั้งกองทัพประชาชน กองทัพธรรม พันธมิตรฯ เด็กอาชีวะ และยังจุดไฟหลังม็อบสวนยาง แต่ที่ในที่สุดก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร
       
“วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าอยู่ในยุคที่ตกต่ำที่สุดแล้ว พรรคเพื่อไทยอยากเห็นแนวทางใหม่ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชนด้วยวิธีที่สร้างสรรค์ มากกว่ามุ่งเล่นการเมือง 2 ระบบ คือ ระบบรัฐสภา และระบบฟุตปาธ อย่างการอภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็พยายามยื้อ ตีรวน ใช้แท็กติกประท้วงซ้อนประท้วง ใช้เวลามาเป็นสัปดาห์จนทำให้ระบบรัฐสภาเสียหาย จึงขอเอาใจช่วยให้ประชาธิปัตย์ปรับปรุงโครงสร้างพรรคให้สำเร็จ เพื่อทำตัวให้เป็นที่หวังได้ และไม่ทำให้ระบบรัฐสภาเสียหายไปมากกว่านี้”
       
ส่วนจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ต่อเวทีปฏิรูปการเมืองนั้น นายอนุสรณ์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันเสียงแข็งว่าไม่เข้าร่วมเวทีปฏิรูปการเมือง โดยพยายามสร้างเงื่อนไขให้ถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่ตอนหลังก็ทำเป็นลดเงื่อนไขให้ชะลอการพิจารณาแทน แต่ตนเชื่อว่าแม้รัฐบาลจะทำตามเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์กำหนด แต่ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าจะเข้าร่วมเวทีสภาปฏิรูปการเมือง แถมยังไปจัดเวทีเสวนาปฏิรูประเทศแข่งกับรัฐบาลอีก
       
อย่างไรก็ตาม พรรคเพื่อไทยยังหวังลึกๆ ว่าด้วยกระแสสังคม และความเห็นของผู้ใหญ่ในบ้านเมือง พรรคประชาธิปัตย์จะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน และส่งตัวแทนเข้าร่วมในเวทีครั้งนี้ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจริงใจที่อยากจะเห็นประเทศปรองดองอย่างแท้จริง ประชาชนยังรอให้โอกาส และให้อภัยได้เสมอ ถ้าอยากเห็นประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ก็มาคุยกันดีกว่า ไม่มีปาหี่อะไรในเวทีนี้
 
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
 
โพลล์เชื่อการเมืองรุนแรงแนะยุบสภา-ลาออก
 
1 ก.ย. 56 - มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบคโพล เผย ผลสำรวจความคิดห็นของประชาชน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.9 เชื่อว่า ความขัดแย้งทางการเมืองจะเพิ่มระดับมากขึ้น นำไปสู่ความรุนแรง
 
ทั้งนี้ ประชาชนมองว่า ทางออกของการแก้ปัญหา ต้องใช้กระบวนการทางรัฐสภา รวมถึง ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ และนายกรัฐมนตรี ควรลาออก ซึ่งประชาชนมองว่า ความขัดแย้งทางการเมือง เกิดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
 
ส่วนความคิดเห็นต่อการปฏิรูปการเมือง ประชาชนร้อยละ 80.8 เชื่อว่า ไม่ประสบความสำเร็จ โดยมองว่าเป็นแค่การสร้างภาพของรัฐบาล และจะไม่แก้ไขอย่างจริงจัง แต่ทำไปเพื่อซื้อเวลา และทำเพื่อตนเองและพวกพ้อง ซึ่งประชาชนมองว่า รัฐบาลต้องการเบี่ยงเบนประเด็นความสนใจของประชาชน เพื่อกลบปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง และค่าครองชีพ
 
ที่มา: โพสต์ทูเดย์
 
 
 
 
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net