ปลุกจิตวิญญาณรับใช้ประชาชนของธรรมศาสตร์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
"จิตสำนึกรับใช้ประชาชนของนักศึกษาธรรมศาสตร์ขาดหายและขาดช่วงไป ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรเร่งปลุกจิตสำนึกนี้  อย่าเพียงชูคำขวัญหรู ๆ เรื่องรับใช้ประชาชน เพื่อให้ตนดูดี  หาไม่อัตลักษณ์ธรรมศาสตร์ก็จะเลือนหายไป"
 
เมื่อคืนนี้ (31 สิงหาคม 2556) มี "งานคืนสู่เหย้าชาวกิจกรรมธรรมศาสตร์และผองเพื่อนเพื่อกองทุนธรรมศาสตร์สีเขียว" ณ ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยเก็บเงินคนละ 2,000 บาท คาดว่ามีคนจองซื้อไว้ทั้งหมด 500 ราย แต่มีผู้ไปร่วมงานประมาณ 350 ราย  

ผมในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์จึงใช้โอกาสนี้ทำแบบสอบถามเฉพาะกิจกับผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นนักกิจกรรม (Activists) ทางการเมืองในสมัยนักศึกษาปริญญาตรีที่เข้าเรียนในช่วงปี พ.ศ.2516-2527 จำนวน 65 คน (19%) ได้ผลการสำรวจที่น่าสนใจบางประการดังนี้:

1. อดีตนักกิจกรรมส่วนมาก 65% มีฐานะอยู่ในระดับสูงในสังคม ที่ยังอยู่ในระดับชนชั้นกลางมีอยู่ประมาณ 35% ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ปกติ เพราะผู้ประสบความสำเร็จมักจะไปร่วมกิจกรรมคืนสู่เหย้า แต่หากยังมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ยังกระท่อนกระแท่นก็คงมีโอกาสหรือความตั้งใจที่จะเข้าร่วมน้อยกว่า
2. หากเทียบกับสถานะของครอบครัวเมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน สมัยที่ตนยังเป็นนักศึกษาอยู่นั้น  ครอบครัวของตนในสมัยนั้นเป็นชนชั้นล่าง ประมาณ 11% เช่น เป็นชาวนา หรือกิจการเล็ก ๆ  ส่วนใหญ่เป็นระดับกลาง 65% ซึ่งเป็นปกติที่จะสามารถส่งเสียลูกเรียนหนังสือถึงระดับอุดมศึกษาได้ และอีก 25% เป็นชนชั้นสูงหรือมีฐานะระดับมีอันจะกินในสังคมยุคนั้น
3. เมื่อเทียบระหว่างฐานะของตนเองในปัจจุบัน กับฐานะของครอบครัวเมื่อ 30 ปีก่อนพบว่า กลุ่มที่เป็นชนชั้นกลางในปัจจุบันมี มีบุพการีเป็นชนชั้นระดับล่าง 5% ระดับกลางเช่นตน 28% และระดับสูงกว่าตนในปัจจุบัน 3%  ส่วนกลุ่มที่เป็นชนชั้นสูงหรือมีความมั่งคั่งในปัจจุบัน มีครอบครัวเดิมเป็นชนชั้นล่างเพียง 6% เป็นระดับกลาง 37% และเป็นระดับสูงเช่นตนในปัจจุบัน 22%
4. หากคิดเป็นในเชิงตัวเลข จะพบว่า ฐานะของตนในปัจจุบันดีกว่าของครอบครัวแต่เดิม ประมาณ 1.8 เท่า โดยสมมติให้ฐานะของครอบครัวเดิมเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วเป็น 1 เท่า  หากปัจจุบันตนเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือเจ้าของกิจการขนาดใหญ่ แต่ครอบครัวเดิมเป็นเกษตรกรรายย่อย ก็ถือว่ามีการขยับฐานะขึ้นประมาณ 3 เท่าตัว และลดหลั่นลงไปตามลำดับ  การนี้แสดงว่า การลงทุนของครอบครัวให้ตนได้รับการศึกษาระดับปริญญาตรีในสมัยนั้น สร้างฐานะความเป็นอยู่ที่แตกต่างไปจากเดิมเป็นอย่างมาก
5. สำหรับจิตใจรับใช้ประชาชนเดิม เช่น "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน" ขณะนี้สำหรับนักศึกษารุ่นใหม่ยังเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด (สมัยนี้อาจหมายถึง "จิตอาสา" ด้วย) ปรากฏว่าอดีตนักกิจกรรมเกือบทั้งหมดประเมินนักศึกษารุ่นใหม่ไว้ว่าจิตสำนึกเหล่านี้ลดทอนลงไปกว่าแต่เดิมมาก โดยประเมินไว้ที่ค่าเฉลี่ยเพียง 14% จากเดิมในสมัยที่ตนเป็นนักศึกษา  โดยเห็นว่านักศึกษาปัจจุบันมีบทบาทางการเมืองน้อย มีจิตใจเสียสละเพื่อส่วนรวมน้อยลง เป็นต้น
6. นักกิจกรรมประเมินว่าสิ่งที่สมควรช่วยธรรมศาสตร์ในปัจจุบันมากที่สุดคืออะไรบ้าง ปรากฏว่าส่วนใหญ่ 58% เห็นควรปลุกและปลูกจิตสำนึกรับใช้ประชาชน การรักความเป็นธรรมแก่นักศึกษา  รอลงมาอีก 20% มุ่งเน้นการช่วยด้านการศึกษา  8% เห็นควรช่วยเรื่องการเงินแก่มหาวิทยาลัย  ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมตามที่หวังระดมทุนช่วยธรรมศาสตร์ในงานนี้นั้น คิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% เท่านั้น ส่วนอีก 4% ตอบในแง่อื่น ๆ  การนี้แสดงให้เห็นว่า อดีตนักกิจกรรมห่วงใจจิตวิญญาณของความเป็นธรรมศาสตร์ที่เหือดหายไป  ผู้บริหารและคณาจารย์มหาวิทยาลัย ควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากกว่าการจัดงานเพื่อธรรมศาสตร์สีเขียว
7. นับเป็นความบังเอิญที่ผู้เข้าร่วมครึ่งต่อครึ่งเป็นพวกที่โน้มเอียงไปทางสีเหลือง และสีแดง โดยสังเกตจากคำพูดในการแสดงออกต่าง ๆ  ในแง่หนึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างทางความคิดอย่างชัดเจนของนักกิจกรรมของธรรมศาสตร์ ซึ่งก็เป็นเช่นเดียวกับประชาชนทั่วทั้งประเทศ  อย่างไรก็ตามการแตกต่างทางความคิดเป็นสิ่งที่สามารถยอมรับได้ แต่การใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบตัดสินปัญหา เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้
8. สำหรับเหตุการณ์ทางการเมืองที่ถือว่าเศร้าสลดที่สุดในประวัติศาสตร์หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นั้น ส่วนใหญ่ 61% เห็นว่าเป็นเหตุการณ์ราชประสงค์เมื่อพฤษภาคม 2553  อีก 30% เห็นว่าเป็นเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535  นอกนั้นเห็นเป็นเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ.2549 จำนวน 7% และเหตุการณ์ความรุนแรง พ.ศ.2551 อีก 2%
9. ต่อความเห็นเรื่องการปรองดองในสังคมไทย มีเพียง 17% ที่ประเมินว่าความพยายามของรัฐบาลในปัจจุบันจะประสบความสำเร็จ  อีก 14% ยังไม่แน่ใจ  แต่ส่วนใหญ่ถึง 69% คาดว่าจะไม่สำเร็จ หรือไม่สำเร็จภายใน 5 ปีนี้  การนี้แสดงให้เห็นถึงรอยแยกในสังคมที่ถ่างห่างออกไปอย่างมากในสังคมไทย
10. และเมื่อนำ "สี" มาพิจารณาร่วมกับการปรองดองด้วย ปรากฏว่าในกลุ่ม "สีเหลือง" 19% คาดว่าจะปรองดองสำเร็จ อีก 19% ยังไม่แน่ใจ แต่ 61% เห็นว่าจะไม่สำเร็จ  ส่วนในกลุ่ม "สีแดง" 16% คาดว่าจะสำเร็จ  อีก 10% ยังไม่แน่ใจ แต่ส่วนใหญ่ 74% เห็นว่าคงไม่สำเร็จอย่างแน่นอน  อาจกล่าวได้ว่า ทั้งสองฝ่ายต่างมองในแง่ร้าย และคงยังไม่พร้อมที่จะสมานฉันท์ในระยะเวลาอันใกล้นี้ เนื่องจากต่างก็มีจำนวนผู้สนับสนุนที่ใกล้เคียงกัน
 
โดยสรุปแล้วอาจกล่าวได้ว่า อดีตนักกิจกรรมของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นนักศึกษาเมื่อประมาณ 30-40 ปีก่อน ได้ยกระดับฐานะดีขึ้นเป็นส่วนใหญ่ กลายเป็นผู้อยู่ในระดับสูงในสังคมไทยปัจจุบันแล้ว  แต่สังคมไทยก็มีการแตกแยกกันมากขึ้น ซึ่งคงต้องถือเป็นเรื่องปกติ เพียงแต่ไม่พึงใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบในการแก้ไขหรือสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นเพิ่มเติม
 
ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรสร้างเสริมจิตสำนึกที่ดีงามของธรรมศาสตร์ เช่น "ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน" หรือ "หากขาดโดมเจ้าพระยาท่าพระจันทร์ เสมือนขาดสัญลักษณ์พิทักษ์ธรรม" เพื่อคงอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย  ไม่เช่นนั้นก็คงไม่มีความแตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วไป  
 
อย่างไรก็ตามจิตใจรับใช้ประชาชนพึงเกิดขึ้นแก่นักศึกษาทั่วทุกสถาบันอยู่แล้ว เพราะในแต่ละปีค่าใช้จ่ายทางการศึกษาส่วนใหญ่ รัฐบาลออกให้มากกว่าค่าลงทะเบียนนักศึกษาอยู่แล้ว  ถ้านักศึกษาตระหนักถึงบุญคุณของประชาชนที่ร่วมกันเสียภาษี ก็จะเห็นคุณค่าของประชาชนคนเล็กคนน้อย เข้ารับใช้ประชาชนแทนที่จะเพียงไปทำ "จิตอาสา" ในฐานะบุคคลจากที่สูงที่มีน้ำใจต่อผู้ต่ำต้อยกว่าเท่านั้น
 
 
 
หมายเหตุ
ผมเป็นนักกิจกรรมในยุคนั้นคนหนึ่งเช่นกัน โดยในปี 1 (พ.ศ.2519) เป็นสมาชิกพรรคยูงทอง  ปี 2 (พ.ศ.2520) เป็นตัวแทนร่างข้อบังคับสโมสรนักศึกษาที่ต่อมาเป็นองค์การนักศึกษา  ปี 3 (พ.ศ.2521) เป็นประธานคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์  ปี 4 (พ.ศ.2522) เป็นกรรมการบัณฑิต  หลังจากจบการศึกษามาได้ 34 ปี ยังโชคดีที่ไม่ต้องทำมาหากินด้วยการต้องยอมศิโรราบต่อ "นายทุน ขุนศึก ศักดินา" ตามอุดมการณ์ของนักกิจกรรมในสมัยนั้น
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท