Skip to main content
sharethis


 

วานนี้ (2 ก.ย.) ไอลอว์จัดฉายหนังรอบพิเศษจากโครงการประกวดหนังสั้น "หนังน่าจะแบน" พร้อมการเสวนาโดยผู้กำกับและผู้ชมกว่า 30 คน ณ ห้องสมุดศิลปะ เดอะรีดดิงรูม สีลม ซอย 19 

อรพิณ ยิ่งยงพัฒนา ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) หนึ่งในผู้ร่วมจัดฯ เล่าถึงที่มาของโครงการว่า ที่ผ่านมา มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นหรือกฎหมายที่เกี่ยวกับสื่อที่มักจะมีเงื่อนไขนำไปสู่การห้ามนำเสนอเนื้อหาจำพวกหนึ่ง อย่างไรก็ตาม คำเหล่านั้นมันยังเป็นคำที่กำกวมและมีปัญหา โครงการนี้จึงชวนให้คนมาใคร่ครวญถึงคำที่กำกวมเหล่านั้นผ่านการทำหนังสั้น และโยนโจทย์กลับไปที่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งกรณีนี้คือคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ว่าคนทั่วไปเขาเห็นขอบเขตของเรื่องที่นำเสนอได้และไม่ได้มากน้อยแค่ไหน อย่างไร

จากหนังสั้นที่มีผู้ส่งประกวดทั้งสิ้น 40 เรื่อง อรพิณแบ่งประเด็นของหนังออกเป็นสองหมวดใหญ่ๆ หนึ่ง คือ หนังที่ท้าทายตามถ้อยคำในกฎหมาย เช่น ท้าทายศีลธรรมอันดี ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมอันดี หนังก็จะ "ก๋ากั่น" หน่อย เพื่อดูว่าสุดทางของการเซ็นเซอร์คือแค่ไหน สอง คือ หนังที่แม้จะค่อนข้างห่างไกลจากการโดนแบนแน่ๆ ชนิดที่ดูแล้วก็ต้องคิดว่าทำไมถึงน่าจะแบน แต่หนังมีความน่าสนใจตรงที่ว่าเรื่องราวที่เสนอจะไม่ค่อยได้เห็นในสื่อทั่วไป และเป็นมุมมองที่ค่อนข้างจะตั้งคำถามแหวกขนบประเพณีแบบเดิมๆ ซึ่งถามว่าการตั้งคำถามแบบนั้นผิดกฎหมายไหม ทุกวันนี้มันก็ทำได้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่ามันไม่ค่อยเห็นตัวอย่างของเรื่องนี้ หลายเรื่องจะตั้งคำถามถึงวัฒนธรรมทางการเมืองในประเทศไทยค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นหนังส่วนใหญ่ในโครงการนี้เลย เช่น ตั้งคำถามกับความเชื่อเก่าๆ เดิมๆ ผ่านการเล่าเรื่องตั้งแต่การเข้าห้องน้ำจนถึงการกินข้าว บางทีก็เป็นเรื่องธรรมเนียมของการทำความเคารพในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ประเด็นเรื่องวัฒนธรรมทางการเมือง วัฒนธรรมในสังคม เป็นเรื่องที่ถูกท้าทายมาเยอะที่สุด ไม่ใช่เรื่องโป๊เปลือย

เมื่อถามว่า มีหนังอะไรที่ฉายไม่ได้ไหม อรพิณ บอกว่า "มี"

"ชัดเจนว่าหนังที่ฉายไม่ได้ไม่ใช่หนังที่ผิดกฎหมาย แต่มันไม่มีกฎหมายคุ้มครองเรามากพอ รัฐธรรมนูญเขียนกว้างๆ ว่าบุคคลมีสิทธิเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็น แต่ภายใต้เงื่อนไขที่อาจจะมีข้อยกเว้นบางประการ ทำให้การคุ้มครองนั้นอาจจะไม่มีความหมายอะไร"

"และสิ่งที่กำลังเจออยู่กับโครงการนี้ก็คือ แม้กับบางเรื่องที่คิดว่ามันไม่ผิดกฎหมายก็ตาม แต่ก็ไม่รู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะพูดถึงมัน เพราะโดยจริตของสังคมมันก็มีแนวโน้มที่จะนำเรื่องไปฟ้องได้ หมายความว่า เรากำลังอยู่บนเงื่อนไขที่มันไม่ผิดกฎหมาย แต่เสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้อง ซึ่งเมื่อไหร่ที่ถูกฟ้องร้องก็คิดว่าไม่ง่ายที่จะจัดการกับมัน คดีที่มันเป็นคดีอาญาแผ่นดิน หรือคดีความมั่นคงก็ค่อนข้างจะถูกตัดสินทันทีที่คุณถูกฟ้องร้องแล้ว โดยระบบกฎหมาย ไม่ใช่แค่การคุ้มครองสื่อ แต่แค่การคุ้มครองให้คนให้ได้รับสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมมันก็ยังไม่มากพอ" อรพิณ กล่าว
 


หลังการฉายหนังสั้นจากโครงการฯ 5 เรื่อง ซึ่งพูดถึงสถาบันต่างๆ ในสังคมอย่าง ชาติ ศาสนา กษัตริย์ และครอบครัว มีการแลกเปลี่ยนกันถึงเส้นแบ่งของหนังที่น่าจะแบน ซึ่งมีทั้งฝั่งที่เห็นว่าตัวหนังไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่อาจถูกตีความไปได้ ยิ่งอยู่ในบริบทของการฉายหนังใต้เทศกาลที่ชื่อ "หนังน่าจะแบน" คนก็จะยิ่งพยายามหาว่าน่าจะแบนอย่างไร ทำให้เกิดการตีความที่แคบลง และอาจนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งหากเกิดขึ้น ก็เป็นต้นทุนที่สูงเกินไป และมีฝั่งที่มองว่าการฉายหนังแนวนี้เป็นเรื่องปกติในวงการหนังช่วง 3-4 ปีมานี้ โดยที่แม้ผู้มาชมจะไม่ชอบหนัง แต่ก็ไม่ได้เกิดการฟ้องร้องขึ้น นอกจากนี้ ด้วยความที่หนังเป็นศิลปะ มันยังมีความยืดหยุ่น เปิดให้โต้เถียง ตีความได้มากกว่า บ้างมองว่า หากนำเสนอแล้วอาจจะเสี่ยงก็ต้องยอม เพราะ พ.ศ.นี้ ไม่พูดถึงประเด็นที่คาบเกี่ยวกับเส้นแบ่งศีลธรรมเหล่านี้ ก็ไม่รู้จะพูดตอนไหนแล้ว นอกจากนี้ ยังน่าเสียดายถ้าหนังบางเรื่องไม่ได้ฉาย เพราะวัตถุประสงค์ของโครงการน่าจะคือการท้าทายกฎหมาย ท้าทายการตีความของสังคม เป็นการโยนโจทย์ให้คนคิด ถ้าเซ็นเซอร์หนัง กระบวนการตรงนี้ก็จะไม่เกิดขึ้น

รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  หนึ่งในผู้เข้าชมให้ความเห็นว่า ถ้ากลุ่มเป้าหมายของโครงการนี้คือคนกลุ่มใหม่ๆ ก็ไม่ควรจ่ายยาแรง หรือไปจนสุดทาง เพราะสารนั้นจะถูกต่อต้านทันที อาจจะใช้ประเด็นอื่น ค่อยๆ สร้างการเรียนรู้ไป

ด้านศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิจารณ์หนังและนักวิชาการอิสระ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า กลายเป็นว่าเรื่องที่กังวลมากที่สุดคือสถาบันกษัตริย์ หลายเรื่องแตะประเด็นอื่น เช่น เรื่องศาสนา หรือครอบครัว ซึ่งจริงๆ แหลมคมกว่าเรื่องสถาบันกษัตริย์อีก แต่คนไม่มีความหวาดกลัว แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราแตะ มันเป็นความเซ้นซิทีฟทางวัฒนธรรม ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายเข้ามาคุกคามเราได้ เพราะฉะนั้นมันเลยกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้สึกว่ายังเสี่ยงกับมันได้อยู่ แต่พอเป็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ มันมีกฎหมายบางอย่างเข้ามาเป็นกรอบ ทำให้มีความเสี่ยงสองชั้นมากกว่าเรื่องทั่วๆ ไป

เขามองว่า การถกเถียงวันนี้ สะท้อนถึงความคลุมเครือของกฎหมาย การใช้กฎหมายตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ และความหวาดกลัวของคนที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายเหล่านี้ ซึ่งไม่มีหลักประกันว่าจะโดนคดีเมื่อไหร่และโอกาสการชนะคดีมันต่ำ

ทางออกสำหรับเรื่องนี้ ศิโรตม์ แนะนำว่า ต้องจัดงานแบบนี้ต่อไป ขยับความคิดของคนในสังคมไปเรื่อยๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่สังคมมันเคลื่อนไหวมากขึ้น สังคมก็จะเป็นคนไปกดดันรัฐหรือคนที่มีอำนาจเอง ว่าคุณไม่สามารถใช้กฎหมายตามอำเภอใจ หรือใช้กฎหมายอย่างไม่มีหลักการได้ ซึ่งนี่เป็นปัญหาในช่วงที่ผ่านมา

"การจัดงานแบบนี้ ผู้ชมจริงๆ ไม่ใช่รัฐ แต่อยู่ที่สังคม ว่าเราจะเปลี่ยนความรับรู้ของสังคมอย่างไร เพราะฉะนั้นการทำให้งานเหล่านี้ขยับ boundary (ขอบเขต) ของสังคมต่อการพูดเรื่องการเซ็นเซอร์จึงสำคัญ" ศิโรตม์กล่าว

สำหรับโครงการ "หนังน่าจะแบน" จัดโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ร่วมกับนิตยสารไบโอสโคป และ เครือข่ายคนดูหนัง โดยจะมีการฉายหนังที่เข้าร่วมและประกาศผลรางวัล ในวันเสาร์ที่ 7 ก.ย. นี้ เวลา 12.00 - 19.00 น. ณ ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 


ดูกำหนดการมอบรางวัล-ฉายหนังที่ http://ilaw.or.th/node/2904
ดูเรื่องย่อที่ http://ilaw.or.th/node/2905

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net