บทพิสูจน์ครั้งใหม่ของนักศึกษา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
 
ในแต่ละยุคแต่ละสมัยของเหตุการณ์ทางการเมือง การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิต่างๆ ในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องต่อสู้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับโครงสร้าง อย่างเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๖ ตุลา หรือ พฤษภาทมิฬในปี ๓๕ การเคลื่อนไหวต่อสู้ในระดับรากหญ้าเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในด้านต่างๆ อย่างขบวนการเกษตรกร ขบวนการแรงงาน ล้วนมีกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า นักศึกษา ปัญญาชน คนรุ่นใหม่ อยู่ในขบวนการต่อสู้อยู่เสมอ จนในบางครั้งถึงกับได้รับการขนานนามว่านักศึกษา คือ “ปัญญาชนอินทรี” หรือแม้แต่การเล่าขานต่อๆ มาว่า ขบวนการเคลื่อนไหวที่มีพลัง คือ ขบวนที่มี ๓ ประสาน ได้แก่ กรรมกร ชาวนา และนักศึกษา
 
ท่ามกลางกระแสการปลุกเร้าเรียกร้องให้นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมานั้นก็ดูเหมือนจะจุดไม่ติด มีนักศึกษาเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้นที่ยังคงรณรงค์เคลื่อนไหวจนเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของสังคม ปรากฏการณ์ข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่เป็นเรื่องน่าคิดวิเคราะห์ถึงประเด็นปัญหาว่า แท้จริงแล้วสาเหตุนั้นมันคืออะไร
 
“นักศึกษาตายแล้ว” หรือ “นักศึกษาหายไปไหน” คือ คำพูด คือ คำถามที่อดีตนักศึกษารุ่นพี่ที่ผ่านประสบการณ์การต่อสู้ตั้งแต่อดีตคอยเสียดสีอยู่ตลอดเวลา สรุปก็คือนักศึกษาในยุคปัจจุบันเป็นคนผิดอีกใช่มั๊ย เอาเข้าจริงๆ แล้วเขาเหล่านั้นเป็นผลผลิตของใคร ถ้าไม่ใช้ลูกหลานของพวกคุณ คุณสร้างเขามาอย่างไรกันละ ในเมื่อคุณเลี้ยงดูพวกเขาสั่งสอนเขามา คุณจะพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำได้อย่างไรว่า สมัยที่คุณเป็นนักศึกษาเมื่อตอน ๑๔ ตุลา ๖ ตุลาและเหตุการณ์นั้นคือชัยชนะ ถ้าคุณไม่ได้ทำให้คนในสังคมไทยโดยเฉพาะนักศึกษามีความตื่นตัวทางการเมือง
 
“สายลมแสงแดด” หรือ “พวกโลกสวย” เป็นอีกประโยคหนึ่งที่นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมนักศึกษาที่มีความเจนจัดทางการเมือง มอบเป็นตำแหน่งให้กับนักศึกษากลุ่มอื่นๆ ที่ทำกิจกรรมโดยไม่ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองในระดับโครงสร้าง
 
แต่ในช่วงเวลานี้มันมีสัญญาณบ่งบอก การเคลื่อนไหวในพื้นที่ต่างๆ มันเปลี่ยนประเด็นไป การออกมาเรียกร้องให้เพิ่มราคายางของพี่น้องชาวสวนยางทั่วประเทศโดยเริ่มที่ ชะอวด นครศรีธรรมราช การเคลื่อนไหวเรียกร้องไม่ให้เพิ่มราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างก๊าซแอลพีจี มันเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าประชาชนเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อปากท้องของตัวเอง ไม่ใช่อุดมการณ์ทางการเมืองเหลืองหรือแดงอีกต่อไป
 
การเคลื่อนไหวต่อสู้เรื่องสิทธิในระดับชุมชนเริ่มปรากฏให้เห็นแทบทุกวันในหน้าสื่อ การคัดค้านโครงการต่างๆ ในนโยบาย ๓.๕ แสนล้าน การคัดค้านนโยบาย ๒.๒ ล้านๆ การคัดค้านนโยบายการบริหารจัดการน้ำของรัฐ การคัดค้านการก่อสร้างเหมืองแร่ต่างๆ ในจังหวัดเลย การคัดค้านการก่อสร้างเหมืองเกลือใต้ดินที่โคราช การชุมนุมคัดค้านบริษัทเชฟรอนที่นครศรีธรรมราช การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินของชาวบ้านทั่วประเทศ จะเห็นได้ว่าชาวบ้านเองก็หันเหมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิชุมชนของตนเองในระดับท้องถิ่น ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของตนเอง
 
เมื่อเทรนด์ในการเคลื่อนไหวเรียกร้องมันหันเหมาเป็นการต่อสู้เพื่อปากท้อง การต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเคลื่อนไหวต่อสู้ในช่วงนี้เป็นแค่ฉากเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่คอยจะผุดขึ้นมาให้เราได้เห็นกันอีกมากมายในสังคม ซึ่งทั้ง 2 ประเด็นนี้ไม่ใช้ปัญหาไกลตัวของนักศึกษาเลย โดยเฉพาะนักศึกษาตามภูมิภาค สถานการณ์การเคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ของพี่น้องชาวบ้าน ณ วันนี้ จะเป็นพื้นที่สำหรับนักศึกษาผู้เป็นนักเรียนน้อย ที่จะทำการเรียนรู้ประเด็นปัญหา
 
รวมถึงจะเป็นบทพิสูจน์สำหรับนักศึกษาอีกครั้งหนึ่งว่าจะมีบทบาทอย่างไรในขบวนการเคลื่อนไหวที่มีอยู่มากมายและไม่ไกลตัวของเขาเลยในครั้งนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาประเด็นต่างๆ จะช่วยหนุนเสริมข้อมูลต่างๆ ให้แก่ชาวบ้านที่กำลังจะเดือดร้อนได้อย่างไร จะเป็นปัญญาชนอินทรีได้อีกหรือไม่ หรือจะลอยตัวอยู่เหนือปัญหาอีกต่อไป จะเป็นผู้หยิบยืนความเป็นธรรมให้แก่สังคมได้หรือไม่ และ ๓ ประสาน กรรมกร ชาวนา และนักศึกษาจะสามารถร่วมกันเคลื่อนไหวอย่างมีพลังอีกครั้งได้หรือไม่
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท