Skip to main content
sharethis

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เผยแพร่ "บันทึกทางเทคนิคเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศและนโยบายแห่งสหประชาชาติในการกำหนดระเบียบด้านการนิรโทษกรรม" ลงวันที่ 26 ส.ค.56 ในเว็บไซต์องค์กร โดยระบุว่า บันทึกดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นข้อมูลแก่การอภิปรายถกเถียงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในเรื่องร่างกฎหมายนิรโทษกรรมโดยอ้างถึงกรอบกฎหมายระหว่างประเทศและนโยบายแห่งสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม

บันทึกของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า กฎหมายระหว่างประเทศและนโยบายแห่งสหประชาชาติไม่ได้คัดค้านการนิรโทษกรรม แต่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและนโยบายแห่งสหประชาชาติไม่อาจยินยอมให้มีการนิรโทษกรรมได้ ใน 2 กรณีคือ 1.การนิรโทษกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการดำเนินคดีอาญากับบุคคลซึ่งอาจต้องรับผิดชอบทางอาญาต่ออาชญากรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงอื่นๆ รวมทั้งการละเมิดสิทธิต่อเพศใดเพศหนึ่ง หรือ 2.กรณีละเมิดสิทธิของผู้เสียหายในการได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผล ซึ่งรวมถึงการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและได้รับค่าชดเชย

นอกจากนี้ ยังระบุด้วยว่า รัฐมีภาระหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินการให้มีการสืบสวนสอบสวนและดำเนินคดีกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พร้อมอ้างถึงความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่ว่า "การไม่ดำเนินคดีการสืบสวนสอบสวนและความล้มเหลวในการนำผู้กระทำผิดในการล่วงละเมิดสิทธิดังกล่าวมาลงโทษนั้น ถือเป็นการฝ่าฝืนกติการะหว่างประเทศ"

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. โฆษกข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เซซิล ปุยอิลลิ แถลงข่าวแสดงความกังวลต่อร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมของไทยที่กำลังจะเข้าสภาในขณะนั้นว่า หากผ่านกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในการสลายการชุมนุมเดือน เม.ย. - พ.ค. 2553 ต้องพ้นความรับผิดชอบ พร้อมเสนอแนะให้รัฐบาลทำตามข้อแนะนำของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) และให้เอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เพื่อให้เป็นการวางรากฐานที่ดีในประเทศไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net