Skip to main content
sharethis
เรือนจำกลางปัตตานีเชิญสำนักปาตานีรายอเพื่อสันติภาพฯ จัดเวที “เสวนาปาตานี (Bicara Patani)” ครั้งที่ 41 ในเรือนจำ ให้ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงร่วมเวที เผยผู้ต้องขังให้ความสนใจข้อเสนอของ BRN และบทบาทอาเซียนต่อการแก้ปัญหาภาคใต้ ด้านเครือข่ายผู้หญิงรุกงานยุติธรรม เตรียมตั้งเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนใต้
 
เมื่อวันที่ 4 ก.ย. 56 ที่ผ่านมา deepsouthwatch.org รายงานว่านายตูแวดานียา ตูแวแมแง ผู้อำนวยการสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพและพัฒนา (Lembaga Patani Raya Untuk Kedamaian dan Pembangunan) เปิดเผยกับโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ว่า เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2556 ที่ผ่านมา ทางสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพฯ ได้จัด “เสวนาปาตานี (Bicara Patani)” แก่ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงที่อยู่ในเรือนจำกลางปัตตานี โดยมีผู้ต้องขังคดีความมั่นคงเข้าร่วมฟังการเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ครั้งนี้ จำนวนกว่า 50 คน
 
การจัดเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ครั้งนี้มีขึ้นเนื่องจากทางเรือนจำกลางปัตตานีได้ดำเนินงานโครงการยุติธรรมนำสันติสุข เพื่อส่งเสริมทัศนคติที่ดีพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพและเสริมความรู้แก่ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงและมีการเสวนาในหัวข้อ “ทักษะการเปลี่ยนแปลงความเชื่อและค่านิยมที่จะนำไปสู่ความรุนแรง” ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงเที่ยงโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ
 
นายตูแวดานียา เปิดกล่าวว่า การเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ในเรือนจำครั้งนี้มีการพูดคุยในหัวข้อ“สถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” กับเรื่อง “ปาตานีจะมีแนวทางอย่างไรในการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลกับ BRN” โดยวิทยากรในเวทีเสวนาได้นำเสนอว่าการพูดคุยหรือการเจรจาสันติภาพจะต้องทำให้เป็นวาระของประชาชน หรือเป็นความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
 
ซึ่งการเจรจาสันติภาพจะเป็นวาระของประชาชนได้นั้น ประชาชนจะต้องร่วมกันทำงานองค์กรภาคประชาสังคมร่วมกับองค์กรนักศึกษาในพื้นที่ ที่มีพันธะทางการเมือง 
 
นายตูแวดานียา เปิดเผยอีกว่า ประเด็นที่ผู้ต้องขังคดีความมั่นคงให้ความสนใจมากที่สุด คือ แนวทางการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ว่าจะมีการแก้ปัญหาอย่างไรนอกเหนือจากการพูดคุยสันติภาพ รวมทั้งสนใจต่อบทบาทอาเซียนว่าจะมีบทบาทอย่างไรต่อการสร้างสันติภาพในพื้นที่ในอีก 2 ปีข้างหน้า และให้ความสนใจมากกับข้อเสนอของ BRN ที่ขอให้รัฐบาลปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัวทุกคน และยกเลิกหมายจับทั้งหมดที่เกี่ยวกับคดีความมั่นคงโดยไม่มีเงื่อนไข
 
“ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ให้ความสนใจและมีความตั้งใจอย่างมากต่อการเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ครั้งนี้ ส่วนใหญ่อยากจะแลกเปลี่ยนกับวิทยากรบนเวที แต่เนื่องจากด้วยสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยมากนัก ทำให้ผู้ต้องขังไม่กล้าแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น” นายตูแวดานียา กล่าว
 
นายตูแวดานียา กล่าวว่า การเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ครั้งนี้ นับเป็นครั้งประวัติศาสตร์ของการจัดเสวนาปาตานี (Biaca Patani) เพราะที่ผ่านมาการจัดเวทีเสวนามักถูกมองจากเจ้าหน้าที่รัฐว่าเป็นการปลุกระดมประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด
 
“ดังนั้นการที่ทางราชการอนุญาตทางสำนักปาตานีรายาเพื่อสันติภาพฯ เข้าไปจัดเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ในเรือนจำกลางปัตตานีครั้งนี้ ถือว่าเป็นการให้ความสำคัญในนโยบายการเมืองนำการทหาร และถือว่าเป็นการเปิดพื้นที่ทางเมืองให้แก่ประชาชนมากขึ้น” นายตูแวดานียา กล่าว
 
ทั้งนี้การจัดเวทีเสวนาปาตานี (Bicara Patani) ได้จัดเวทีมาแล้ว 40 ครั้งในพื้นที่ 3 จังหวัดและในต่างประเทศ และการจัดเสวนาในเรือนจำครั้งนี้เป็นครั้งที่ 41 ซึ่งเป็นการเปิดเวทีประชาชนเพื่อพูดถึงเรื่องกระบวนการสันติภาพให้เป็นวาระหรือของความต้องการของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นเพียงวาระหรือความต้องการของขบวนการต่อต้านรัฐหรือ BRN กับฝ่ายรัฐบาลไทยเท่านั้น ไม่เช่นนั้นแล้ว สันติภาพที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่มีความยันยืน และอาจกลายเป็นเงือนไขความขัดแย้งอีกในอนาคต
 
เครือข่ายผู้หญิงรุกงานยุติธรรม เตรียมตั้งเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานอิสลาม 3 จังหวัดชายแดนใต้
 
นอกจากนี้ deepsouthwatch.org ยังรายงานอีกว่านางรอซีดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยกับโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ว่า ขณะนี้ทางเครือข่ายได้ขับเคลื่อนโครงการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการช่วยเหลือสตรีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบโดยร่วมมือกับคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
 
ทั้งนี้เครือข่ายผู้หญิงได้ร่วมกับฝ่ายประนีประนอมและพิพาท สำนักงานคณะกรรมการประจำจังหวัด ทั้ง 3 จังหวัด โดยจะจัดให้มีอาสาสมัครสตรีคอยให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายและช่วยเหลือแก่ผู้หญิงและครอบครัวที่ประสบปัญหาจากความรุนแรง ถูกล่วงละเมิดทางเพศ การค้ามนุษย์ และไม่ได้รับความเป็นธรรมต่างๆ
 
“เครือข่ายผู้หญิงจะเปิดรับสมัครผู้ให้คำปรึกษาที่มีทักษะเบื้องต้น อาจเป็นนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ หรืออื่นๆ ทั้งนี้ก่อนที่จะมาทำงานของอาสาสมัครให้คำปรึกษา จะจัดให้มีการอบรมในเรื่องกฎหมายอิสลาม และกฎหมายทั่วไปเบื้องต้น เพื่อปูพื้นฐานให้กับอาสาสมัครเหล่านี้ก่อน”นางรอซีดะห์กล่าว
 
นางรอซีดะห์กล่าวอีกว่า คาดว่ากิจกรรมนี้น่าจะเริ่มประมาณเดือนตุลาคมนี้ เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงสิ้นปีงบประมาณ ทางหน่วยงานกำลังรอผลการประเมินและการสนับสนุนโครงการจาก ศอ.บต. เมื่อได้รับการอนุมัติและให้การสนับสนุนจึงจะจัดจ้างให้มีอาสาสมัครดูแลให้คำปรึกษาและช่วยเหลือในเรื่องความรุนแรงของผู้หญิงต่อไป
 
ประธานเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพกล่าวอีกว่า แกนนำเครือข่ายจาก จ.ปัตตานี จ.ยะลา และจ.นราธิวาสร่วมกับมูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิรักษ์ไทยจัดโครงการ “วานีตา พลังหญิงสร้างสังคม” โดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้หญิงและเด็กในกิจกรรมต่างๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของผู้หญิงและเด็กในชุมชน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปหรืออียู
 
“ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วที่จัดกิจกรรมนี้ เรายังคงขับเคลื่อนโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันการขับเคลื่อนกิจกรรมของหน่วยงานทั้งหมดมี  11 กิจกรรม อาทิเช่น กิจกรรมส่งเสริมการรวมตัวให้กับผู้หญิง การผลิตรายการวิทยุเสียงวานีตา “ผู้หญิงชวนคุย” การส่งเสริมอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงในชุมชน ฯลฯ อีกทั้งยังจัดกิจกรรมให้บริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย โดยการประสานงานของหน่วยงานสหวิชาชีพเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายและครอบครัว โดยมีนักกฎหมายให้บริการฟรีที่ศูนย์” นางรอซีดะห์กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net