Skip to main content
sharethis

 

“FIRE IN THE BLOOD” - Medicine, Monopoly and Malice หรือในชื่อไทย “เพลิงในเลือด – ยา การผูกขาด การปองร้าย” ถูกจัดฉายในโครงการ “หนังขายยา” ครั้งที่ 2 จัดขึ้นโดยหลายหน่วยงานที่รณรงค์เรื่องการเข้าถึงยา หลังจากเมื่อปี 2550 เคยมีการจัดฉายหนังขายยามาแล้วเรื่อง Dying for Drugs

เพลิงในเลือด กำกับโดย DYLAN MOHAN GRAY เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ถูกกล่าวถึงในเทศกาล Sundance Film ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 17 – 23 มกราคม ที่ Park City ในรัฐ Utah ประเทศสหรัฐฯ และถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Grierson British Documentary Award ที่ประเทศอังกฤษ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม

ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เปิดโปงเรื่องราวแวดวงอุตสาหกรรมผลิตยารักษาโรคข้ามชาติ ที่ใช้สิทธิบัตรผูกขาดตลาด  สร้างเงื่อนไขทางการค้า ที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงยารักษาโรคเอดส์ในราคาที่เป็นธรรมในทวีปอัฟริกา และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ทั่วโลกหลังจากปี 1996 เป็นต้นมา



สารคดีฉายให้เห็นปัญหาในอูกันดา  โมซัมบิก และประเทศในแถบแอฟริกาอื่นๆ ที่ประชาชนผู้ติดเชื้อเอชไอวีล้มตายเป็นใบไม้ร่วง สาเหตุประการแรกและประการเดียว คือ ราคายาต้านไวรัสในประเทศเหล่านั้นแพงลิบลิ่วเกินกว่าที่พวกเขาจะซื้อหาได้ ยาเหล่านี้ผลิตขึ้นโดยบรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติและล้วนได้รับสิทธิบัตรซึ่งไม่อนุญาตให้มีการผลิตหรือนำเข้า ยาชื่อสามัญ (Generics) ที่สรรพคุณเหมือนหรือใกล้เคียงกันแต่ราคาถูกกว่ามากเข้ามาในประเทศได้

หนังสัมภาษณ์ แซกกี อัคมัท  เอ็นจีโอจากกลุ่มรณรงค์ Treatment Action Campaign (TAC) ในแอฟริกาใต้ ซึ่งช่วยยกตัวอย่างให้ชัดเจนว่า ในขณะที่ยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้ติดเชื้ออย่าง ฟลูโคนาโซล ขายที่เมืองไทยแคปซูลละไม่ถึง 2 บาท แต่ที่แอฟริกาใต้นั้นนั้นราคาสูงถึงพันกว่าบาท

ในปี 2543 ยอดขายยาฟลูโคนาโซลของบริษัทไฟเซอร์อยู่ที่ 40,000  ล้านบาทต่อปี โดยราคายาสูงถึงเม็ดละ 1,600 บาท ขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยรายสัปดาห์ในแอฟริกาซึ่งเป็นประเทศร่ำรวยที่สุดของทวีปนั้น อยู่ที่ 2,720 บาท

ทางออกที่พวกเขาพอจะทำได้คือการพยายาม “ลักลอบ” นำยาเหล่านั้นเข้ามาเพื่อช่วยชีวิตคน..แค่จำนวนหนึ่ง จากยอดการเสียชีวิตนับพันคนต่อวัน 

ความสำคัญของยาต้านไวรัสและการเข้าถึงยานั้นถูกขับเน้นให้เด่นชัดมากขึ้น โดยการฉายภาพเปรียบเทียบกับชีวิตของผู้พิพากษา คนอีกชนชั้นหนึ่งที่สามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสได้

เอดวิน แคเมอรอน  เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในเคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ เขาติดเชื้อเอชไอวีเมื่อปี 2539 และป่วยหนัก แต่ก็นับว่าโชคดีเมื่อในช่วงเวลานั้นสูตรผสมของยาต้านไวรัสหรือเออาร์วี สามขนานได้รับการยืนยันว่าสามารถใช้ต้านเชื้อเอชไอวีได้ผล  ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากเอดส์ลดลงได้ถึง 80% เขาซื้อหามันมาต่อชีวิตด้วยสนนราคากว่า 60,000 บาทต่อปี (ปี 2543) แต่มันแพงเกินกำลังซื้อของประชาชนหลายสิบล้านคน …

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ นักหนังสือพิมพ์อาชีพคนแรกของแอฟริกาตะวันออกที่ประกาศต่อสาธารณะว่าเขาติดเชื้อเอชไอวี   “เอลวิส บาซุดเด กเยยุน” ทำงานกับหนังสือพิมพ์ชื่อวิสัยทัศน์ใหม่’ เขามีชีวิตอยู่ต่อได้ด้วยยาต้านไวรัสแสนแพงเช่นเดียวกัน ก่อนที่แม่ของเขาจะหัวใจสลาย

“ถ้าผมตาย ก็จะเป็นคนที่แปดในครอบครัวเดียวกันที่เอดส์คร่าชีวิตไป ผมไม่ได้หมายถึงญาติๆ แต่หมายถึงพี่น้องท้องเดียวกันของผม  แม่ผมรับไม่ไหวเลย”   กเยยุนกล่าว

ไม่เพียงฉายให้เห็นความยากลำบากของชีวิตผู้คนในประเทศยากจน สารคดีเรื่องนี้ยังพยายามคลี่ต้นเหตุอันซับซ้อนของราคายาที่สูงลิ่ว โดยอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของ เจมส์ พี. เลิฟ  โครงการผู้บริโภคด้านนิเวศวิทยาสากล โดยเริ่มต้นที่ “ต้นทุน” ของการค้นคว้าวิจัย ว่า  บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้จ่ายเงินเป็นค่าโฆษณา ค่าการตลาด มากกว่าการทำวิจัยและพัฒนามากนัก  โดยเฉลี่ยแล้ว ยอดขายทุกหนึ่งดอลลาร์ จะหักเป็นค่าวิจัยและพัฒนายาไปไม่ถึง 1.5 เซนต์ หรือราว 1.3% ของรายได้จากการขาย ส่วนเงินส่วนใหญ่นั้นหมดไปกับฝ่ายขาย  และเป็นเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น 

“บริษัทยายักษ์ใหญ่พวกนี้ ไม่มีน้ำยาเรื่องวิจัยและพัฒนา ที่ใหญ่ขึ้นมาได้แท้จริงก็ด้วยการไปซื้อ  เทคโนโลยีของคนอื่นเขามา  84 % ของงานวิจัยทั่วโลก  เพื่อการค้นคว้าเรื่องยา ได้ทุนสนับสนุนจากรัฐบาลและแหล่งทุนของรัฐ  แต่บริษัทยาให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยดังกล่าวแค่ 12% เท่านั้น” เลิฟกล่าว

ด้วยต้นทุนเท่านี้เมื่อได้รับสิทธิบัตรแล้วก็สามารถผูกขาดตลาด และการกำหนดราคาไปได้อีกนาน

แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตเฉพาะในแอฟริกาใต้เกือบ 2 ล้านคน ในปี 2543 ทำให้ผู้คนไม่สามารถยอมจำนนต่ออุปสรรคใดๆ ได้

หมอบางคนกระเสือกกระสนติดต่อขอผ่อนผันกับบริษัทเจ้าของสิทธิบัตรเพื่อนำเข้ายาชื่อสามัญราคาถูกที่ผลิตได้ในประเทศอื่น แต่บริษัทปฏิเสธเสียงแข็ง ด้วยเหตุผลว่ากลัวว่าการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ จะเป็นเยี่ยงอย่างที่กระทบกับตลาดในอนาคต ทั้งที่ยอดขายของบรรษัทยาเหล่านี้ในแอฟริกานั้นมีเพียง 1% เท่านั้น  ยอดขายที่เหลือส่วนใหญ่อยู่ในยุโรปและอเมริกา

การต่อสู้เพื่อให้ประชาชนในประเทศยากจนในแอฟริกาได้รับยาต้านไวรัสพื้นฐานนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย สารคดีเรื่องนี้ฉายให้เห็นจุดเปลี่ยนสำคัญๆ ที่เกิดจากความร่วมมือของคนเล็กๆ

ในเดือนกรกฎาคม 2543 มีการจัดสัมมนาระหว่างประเทศว่าด้วยเอดส์รายสองปี ขึ้นเป็นครั้งแรกที่แอฟริกา  ทวีปที่มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีกว่าสองในสามของโลกอาศัยอยู่ มีรายงานว่าประชาชนกว่าสองล้านคน   เสียชีวิตในปีนั้นเพียงปีเดียว

ในเดือนกันยายน 2543 ยูซุฟ ฮามีด นักเคมีอินเดียที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  มีบริษัทผลิตยาชื่อสามัญชื่อว่า ซิพลา ตั้งอยู่ที่มุมไบ  เขาเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ครั้งหนึ่งขาได้รับเชิญจากคณะกรรมาธิการยุโรปที่กรุงบรัสเซลส์  ให้ไปพูดคุยกับรัฐมนตรีสาธารณสุข และผู้นำของรัฐบาลจากหลายประเทศรวมทั้งผู้บริหารสูงสุดของบริษัทยายักษ์ใหญ่ทั้งหลาย  ในหัวข้อการเข้าถึงยาในโลกกำลังพัฒนา โดยเฉพาะยารักษาเอชไอวี/เอดส์  ฮามีดนำเสนอข้อเสนอที่สั่นสะเทือนวงการอุตสาหกรรมยา โดยเสนอรูปธรรมให้เลือก 3 แบบสำหรับการช่วยเหลือ

แบบแรกจัดส่งยาต้านเอดส์สูตรผสมให้ในราคา 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ  

แบบที่สอง ให้ความรู้ความชำนาญในการผลิตยาต้านเอดส์  แก่รัฐบาลของประเทศโลกที่สาม  ที่ต้องการนำเทคโนโลยีไปพัฒนาเอง โดยให้เทคโนโลยีฟรี

แบบที่สาม หนึ่งในสามของตัวยาสามารถที่จะหยุดยั้งการแพร่เชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูกได้ จึงควรให้ฟรีทั่วโลกเลย 

ข้อเสนอเหล่านั้นทำให้ทุกคน ตะลึงอ้าปากค้าง และส่งผลสะเทือนรุนแรงต่อวงการการเมืองและวงการยา แต่ก็ไม่มีใครยอมรับข้อเสนอของเขา

ยูซุฟ ฮามีด เป็นเจ้าของบริษัทชื่อซิพลาตั้งอยู่ที่เมืองมุมไบ  บริษัทนี้เป็นบริษัทที่พ่อเขาตั้งขึ้นเมื่อปี 2478 ซิพลาเริ่มผลิตยาต้านไวรัสชื่อสามัญ   เมื่อต้นทศวรรษที่ 2533 ตามคำขอร้องของรัฐบาลอินเดีย  ยูซุฟ ฮามีดเป็นพลังขับเคลื่อนในการโน้มน้าวนายกฯอินทิรา คานธี  ให้เขียนกฎหมายสิทธิบัตรของอินเดียเสียใหม่ในทศวรรษที่ 2503เพื่อลดการที่อินเดียจะต้องพึ่งพา  ยาติดสิทธิบัตรราคาแพงๆ จากตะวันตก

เขาเป็นตัวละครสำคัญที่ทำให้สถานการณ์พลิก เมื่อเขาตัดสินใจผลิตยาต้านไวรัสชื่อสามัญเสียเองแบบยอมขาดทุน

วันที่ 6 กุมภาพันธ 2544 ซิพลาเสนอราคายาต้านไวรัสสูตรผสมสามอย่างในราคา 15,050.00 บาท ต่อคนต่อปี ในขณะที่ราคายาต้านไวรัสสูตรแรกขณะนั้น  ขึ้นสูงถึง 645,000.00 บาทต่อปี

แต่กล้าผลิตยังไม่เพียงพอ ผู้ซื้อก็ต้องกล้าซื้อด้วย เพราะนั่นหมายถึงการทำผิดกฎหมายสิทธิบัตร

ปีเตอร์ มูเกียนี  เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและรักษาโรคเอดส์ ที่ใหญ่ที่สุดของแอฟริกา  Joint Clinical Research Centre (JCRC) ตั้งที่อูกันดา เขาตัดสินใจติดต่อบริษัทซิพลาที่อินเดียเพื่อสั่งสื้อยาต้านไวรัสราคาถูกที่นั่น ทั้งที่กฎหมายสิทธิบัตรนั้นห้ามการนำเข้ายาชื่อสามัญจากที่อื่น เมื่อยาที่สั่งส่งมาถึงสนามบิน เจ้าหน้าที่ศุลกากรอูกันดายึดยาเอาไว้ทันทีและจับกุมตัวมูเกียนีไว้   แต่เขาก็ยืนกรานไม่ยอมถอย  ในที่สุดทางการอูกันดาก็ตกลงยินยอมให้นำยาต้านไวรัสชื่อสามัญจากอินเดียเข้าประเทศได้   โดยเสี่ยงเอาว่าถึงที่สุดแล้วรัฐบาลตะวันตกจะไม่เอาโทษ ที่ใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อช่วยชีวิตประชาชนของตนไม่ให้เสียชีวิตมากมายอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน  ปรากฏว่าเสี่ยงแล้วได้ผล เริ่มมีการส่งยาต้านไวรัสชื่อสามัญเข้าไปในอูกันดาอย่างไม่ขาดสาย  ส่งผลให้การปิดกั้นการส่งยารักษาเอดส์ราคาถูกให้แอฟริกา  ต้องยกเลิกไป  จำนวนผู้คนที่สามารถเข้ารับการรักษาได้  สูงขึ้นเป็นสิบเท่า อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย

หลังจากปฏิบัติการของดร.มูเกียนีในอูกันดา  ประเทศในแอฟริกาจำนวนมากก็ใช้ประโยชน์จากข้อยกเว้นว่าด้วย“ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข”  เปิดทางให้นำเข้ายาต้านไวรัสชื่อสามัญได้

อีกจุดเปลี่ยนหนึ่งที่สำคัญคือ ในการประชุมพิเศษครั้งหนึ่งที่แอฟริกา โคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ   แถลงถึงปฏิบัติการตอบสนองซึ่งประชาคมระหว่างประเทศรอคอยกันมานานแล้ว  นั่นคือ การเสนอให้จัดตั้งกองทุนระดับโลก  เพื่ออุทิศให้การทำสงครามต่อสู้กับการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์  กองทุนโลกดังกล่าวจัดตั้งขึ้นในปี 2545แต่ไม่นานนัก ก็ปรากฏชัดว่าการช่วยชีวิตผู้คน  มิใช่เป้าหมายสำคัญสูงสุดเพียงอย่างเดียว  วิลเลี่ยม ฮัดดัดด์  ประธานบริหาร บริษัทไบโอเจเนอริคส์บอกว่าถ้านำเงินจากกองทุนไปซื้อยาชื่อสามัญ 

 

ทั้งหมดนี้คือการเล่าถึงอดีต

 


จิราพร ลิ้มปานานนท์ (ภาพจาก เพจ FTA Watch)
 

แต่สิ่งที่หนังสารคดีเรื่องนี้ยังไม่ได้เล่า และเป็นภาคต่อที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันก็คือ อุปสรรคในการเข้าถึงยาผ่านระบบกฎหมายสิทธิบัตรซึ่งมาพร้อมกับการค้าเสรี

“โลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป กำลังเรียกร้องมาตรฐานทรัพย์สินทางปัญญาแบบใหม่ ที่ไกลเกินกว่าข้อกำหนดขององค์การการค้าโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อการเข้าถึงยาของโลกกำลังพัฒนา ด้วยมาตรฐานแบบใหม่เช่นนี้ การแข่งขันของยาชื่อสามัญ โดยเฉพาะสำหรับใช้รักษาเอชไอวีและเอดส์ จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เมื่อไม่มีการแข่งขัน ราคายาจะแพงจนเกินเอื้อมถึงสำหรับคนจน” คุณคาจาล บาร์ดวาจ นักกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวทางสังคมจาก อินเดียกล่าวในการเสวนาหลังชมภาพยนตร์

“เราตัดสินใจนำภาพยนต์เรื่องนี้เข้ามาฉายที่นี่ วันนี้ เพราะมันเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในไทยในตอนนี้ ซึ่งก็คือการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ข้อเรียกร้องเรื่องทริปส์พลัสของสหภาพยุโรปเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้”, ดร. จิราพร ลิ้มปนานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

การเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยและสหภาพยุโรปได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา จากเนื้อหาการเจรจาที่รั่วไหลออกมาสู่สาธารณะและงานศึกษามากมายเกี่ยวกับเอ ฟทีเอของสหภาพยุโรป แสดงให้เห็นว่าสหภาพยุโรปกำลังยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและการ คุ้มครองการลงทุนให้สูงขึ้น และเรียกร้องให้มีเงื่อนไขด้านการค้าที่เข้มงวดยิ่งกว่ามาตรฐานโลก

การเจรจาเอฟทีเองระหว่างไทยและสหภาพยุโรปรอบที่ 2 จะมีขึ้นที่เชียงใหม่ วันที่ 16-20 ก.ย. นี้ และยังไม่รู้ว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร

 

 

* ขอขอบคุณข้อมูลจากคุณกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้จัดงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net