เปิด 10 อันดับงานที่แย่ที่สุด ในสายเทคโนโลยี

เมื่อพูดถึงงานไอทีแล้ว ฟังดูมีภาพลักษณ์ของความทันสมัยไฮเทค แต่ก็มีหลายงานที่มีสภาพการทำงานย่ำแย่ ต้องเสี่ยงอันตรายในที่สูง ถูกเรียกใช้ทุกครั้งเมื่อมีปัญหา แม้กระทั่งทำงานซ้ำซากหรือต้องเจอกับสิ่งน่ารังเกียจในโลกอินเทอร์เน็ตอยู่ทุกวันจนจิตใจห่อเหี่ยว

เอียน พอล นักเขียนเรื่องไอทีชาวอิสราเอล เขียนบทความลงใน PCWorld พูดถึง 10 อันดับงานที่ย่ำแย่ที่สุดในสายงานเทคโนโลยี เอียนกล่าวว่า เวลาพูดถึงคนทำงานในสายเทคโนโลยี เรามักจะนึกภาพว่าเป็นงานที่หรูหรา ทันสมัย เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ไอทีทั้งหลาย แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป งานสายเทคโนโลยีบางอย่างอาจเป็นงานที่อันตราย เป็นงานระบบสายพานที่กลืนกินจิตวิญญาณ เป็นงานสายสนับสนุนที่ชวนให้จิตใจห่อเหี่ยว และงานฝ่ายการขายที่น่าอับอายไปจนถึงถูกกดขี่

1) 'ตำรวจ' ตรวจสอบเนื้อหาของกูเกิล

ลองคิดดูสิว่าหากงานของคุณคือการต้องจอมจับตาดูภาพเสื่อมๆ ในโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลา งานดังกล่าวนี้คือการหน้าที่คอยเฝ้าระวังเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมในเว็บยูทูบ และบล็อกเกอร์ 

มีอดีตคนรับงานตรวจสอบเนื้อหาจากกูเกิลรายหนึ่งเขียนไว้ใน BuzzFeed เมื่อเดือน ส.ค. 2012 เล่าถึงประสบการณ์การทำงานว่าเขาใช้เวลา 9 เดือนในการตรวจสอบและจำกัดเนื้อหาจำพวกภาพอนาจารเด็ก, การร่วมเพศแบบที่มีรสนิยมเฉพาะทาง, การร่วมเพศกับสัตว์ และภาพอื่นๆ ที่เข้าข่าย 'น่ารังเกียจ' หลังจากที่เขาใช้เวลาไปกับการตรวจสอบเนื้อหาสะเทือนขวัญเหล่านี้ เขาก็บอกว่าตัวเขาต้องเข้ารับการบำบัดช่วยเหลือด้านอารมณ์จากบริษัท และขอออกจากงานแม้ว่าจะมีข้อเสนอให้เขาเข้าทำงานเต็มเวลาแทนการจ้างแบบรับเหมาก็ตาม

2) พนักงานขายไมโครซอฟท์สโตร์

ผู้เขียน เอียน พอล คิดว่าระหว่างแอปเปิลรีเทลสโตร์ กับไมโครซอฟท์สโตร์ พนักงานขายของแอปเปิลดูจะเป็นผู้ที่ชื่นชอบในตัวผลิตภัณฑ์จริงๆ หรืออย่างน้อยก็แสดงออกแสร้งว่าชอบได้ดีมาก เมื่อเทียบกับพนักงานขายไมโครซอฟท์ที่เหมือนถูกบังคับให้ต้องร่าเริงจนผู้พบเห็นรู้สึกเจ็บปวดแทน จนถึงขั้นว่าแม้แต่คนที่กำลังอยากได้งานมากๆ ก็คงต้องคิดหนักถ้าจะสมัครงานนี้

3) ผู้ดูแลการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor)

เซมิคอนดักเตอร์ หรือ 'สารกึ่งตัวนำ' เป็นวงจรหรือไมโครชิปที่อยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายอย่าง แม้ว่าจะยังคงมีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐฯ แต่ดูเหมือนว่ากำลังจะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้แทนมนุษย์ในตำแหน่งนี้

แม้ว่าตำแหน่งผู้ดูแลการผลิตเซมิคอนดักเตอร์จะมีรายได้ค่อนข้างดีและต้องอาศัยการศึกษาระดับปริญญาโท แต่จากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแรงงานของสหรัฐฯ ระบุว่าอัตราการเติบโตของสายงานผู้ดูแลการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ลดลงอย่างมาก

4) ผู้อำนวยการฝ่ายไอที

เว็บไซต์ CareerBliss ได้จัดอันดับจากการสำรวจในปี 2011 พบว่างานผู้อำนวยการฝ่ายไอทีเป็นตำแหน่งที่ไม่ชอบงานตัวเองที่สุด แม้จะเป็นตำแหน่งหัวหน้าและรายได้ค่อนข้างดีก็ตาม

5) หน่วยจัดส่งสินค้าออนไลน์

โลโก้ของแอมะซอนดูคล้ายปากยิ้ม แต่สำหรับคนทำงานจัดส่งสินค้าซึ่งต้องจัดการกล่องพวกนี้ในโกดังคงไม่ยิ้มมากแบบกล่องพวกนี้สักเท่าไร มีคนทำงานในหน่วยเหล่านี้เขียนระบายความอัดอั้นผ่านเว็บ Gawker และ Mother Jones บอกว่าสภาพการทำงานในนั้นเหมือนถูกผลักดันให้ทำงานเร็วขึ้นอยู่ตลอดเวลา มีการต้องทำงานล่วงเวลา ไม่มีเวลาแม้แต่จะพักผ่อนหรือหาอาหารเที่ยงทาน และการบาดเจ็บทางกายเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ยังมีการเก็บแต้มสะสมของคนที่ทำงานไม่ดี พอสะสมครบก็จะถูกไล่ออก

6) พนักงาน RadioShack

จากข่าวเรื่องงานในเว็บไซต์ AOL เมื่อเดือน มิ.ย. 2012 พบว่า RadioShack ซึ่งเป็นแฟรนไชส์ขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในสถานที่ทำงานที่แย่ที่สุด จากการที่พนักงานร้องทุกข์เรื่องค่าจ้างต่ำ (พนักงานขายได้รับรายได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 7.92 ดอลลาร์ หรือราว 250 บาท) และถูกกดดันให้ต้องขายได้ตามเป้า ขณะที่ฝ่ายผู้จัดการบอกว่าตารางของพวกเขาทำให้มีเวลาเหลือให้กับที่บ้านน้อยมาก

7) ช่างเทคนิคผู้ชำนาญการ หรือวิศวกรผู้ให้ความช่วยเหลือด้านซอฟต์แวร์

ถ้าเกิดเครื่องคอมพิวเตอร์เสียหรือมีอาการแปลกประหลาดเหมือนถูกผีสิงขึ้นมา คนที่จะถูกเรียกคนแรกๆ คือฝ่ายช่วยเหลือหรือช่างเทคนิค เพื่อให้มาซ่อมแซมและดูเหมือนพวกเขาจะไม่มีความสุขเอาเสียเลย

ในเดือน มี.ค. CareerBliss จัดอันดับพบว่าคนทำงานศูนย์รับร้องทุกข์หรือคอลเซนเตอร์เป็นงานที่ไม่มีความสุขมากเป็นอันดับ 9 ในสหรัฐฯ ขณะที่ Salary Explorer จัดให้ช่างเทคนิคผู้ชำนาญการเป็นงานที่น่าเบื่อที่สุดในสายงานเทคโนโลยี มีคะแนนอยู่ที่ 2.5 เต็ม 5 ดังนั้นจึงเป็นเรื่องดีหากคุณหาข้อมูลตรวจสอบอาการผิดพลาดในระดับมือใหม่ก่อนที่จะร้องหาช่างเทคนิค

8) คนปีนเสาสัญญาณโทรศัพท์

อาชีพคนปีนเสาสัญญาณโทรศัพท์เป็นอาชีพที่อันตราย โดยจากรายงานของ Pro Publica และ PBS เมื่อปี 2012 พบว่าอาชีพคนปีนเสาสัญญาณโทรศัพท์มีความเสี่ยงเสียชีวิตสูงกว่าอาชีพคนทำงานก่อสร้าง 10 เท่า

ในปี 2008 ประธานมาตรฐานสํานักงานบริหารความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของสหรัฐฯ (Occupational Safety and Health Administration) บอกว่างานปีนเสาโทรศัพท์เป็นงานที่อันตรายที่สุดในสหรัฐฯ วารสาร Wall Street Journal ระบุว่าตั้งแต่ต้นปี 2013 ถึงเดือน ส.ค. มีคนงานปีนเสาโทรศัพท์ตกลงมาจากเสาจนเสียชีวิตแล้ว 10 ราย ซึ่งในจำนวน 9 รายนี้เป็นคนที่เร่งปรับปรุงเสาเพื่อให้ทันระบบ 4G

ProPublica รายงานว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้คนงานเสียชีวิตมาจากการละเลยมาตรการความปลอดภัยพื้นฐาน มีการทำงานหามรุ่งหามค่ำ มีสภาพการทำงานที่อันตราย และมีการฝึกซ้อมที่ไม่มากพอ แม้ว่าจะมีค่าจ้างค่อนข้างต่ำอยู่ที่โดยเฉลี่ย 10 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 320 บาท)

คนงานปีนเสาสัญญาณฯ ส่วนใหญ่ยังเป็นคนงานรับจ้างเหมาช่วง ซึ่งรับงานมาจากกลุ่มที่รับจ้างเหมาช่วงต่อกันมาอีกเป็นทอดๆ เพื่อจะได้ทำงานที่อันตรายเช่นนี้

9) คนงานโรงงานบริษัทแอปเปิล

บางครั้งสภาพการทำงานแย่ๆ ก็เกิดขึ้นในโรงงานประเทศอื่น ที่เห็นได้ชัดเจนคือในโรงงานผลิตพวกไอโฟน ไอแพด และเครื่องแมคส์ในโรงงานอุตสาหกรรมของประเทศจีน ที่บริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ Foxconn มีสภาพการทำงานที่แย่ มีการก่อจลาจล มีการฆ่าตัวตาย และดูเหมือนว่าสภาพการทำงานใน Pegatron ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่อีกแห่งหนึ่งให้แอปเปิล ดูเหมือนจะมีสภาพเลวร้ายกว่านี้

จริงๆ แล้วสภาพในโรงงานใหญ่ทั้งหลายในจีนก็ไม่ได้แตกต่างกันนัก แม้แต่ซัมซุงและบริษัทอื่นๆ ก็เคยถูกกลาวหาว่ามีการบังคับให้คนงานทำงานเป็นเวลานานในสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ หรือแม้กระทั่งมีคนงานที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์

10) 'หุ่นกลชาวเติร์ก' ของแอมะซอน

ระบบหุ่นกลชาวเติร์ก หรือ Mechanical Turk ของแอมะซอนเป็นคล้ายตลาดนัดแรงงานที่บุคคลหรือบริษัท ซึ่งเรียกว่า "ผู้จ้างวาน" สามารถจัดจ้างคนทำงานที่ระบบคอมพิวเตอร์ยังไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ มักจะเป็นงานที่ดูเล็กๆ น้อยๆ เช่นการเขียนบรรยายภาพของใบเสร็จวอลลมาร์ท หรือการทำแบบสอบถามยาวๆ เพื่อเงินตอบแทนไม่กี่เพนนี

ชื่อของหุ่นกลชาวเติร์กมาจากหุ่นกลในยุคศตวรรษที่ 18 ที่แต่งตัวแบบชาวเติร์กและแสดงตนเหมือนหุ่นที่เล่นหมากรุกได้ แต่จริงๆ แล้วมีคนซ่อนคอยบังคับหุ่นอยู่ข้างใน การนำชื่อนี้มาใช้จึงเป็นการเปรียบเปรยแรงงานบุคคลที่ซ่อนอยู่ภายใต้เครื่องจักร ส่วน 'หุ่นกลชาวเติร์ก' ของแอมะซอนนั้นมักจะเป็นงานที่ปกติแล้วจะใช้ซอฟต์แวร์บอทเป็นผู้ทำ แต่ด้วยเหตุผลบางอย่างทำให้ต้องกันมาพึ่งแรงงานคน

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กระบุว่ามีคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่อาศัยการทำงาน 'หุ่นกล' เป็นรายได้หลัก เนื่องจากคนเหล่านี้ต้องทำงานน่าเบื่อๆ เพื่อเศษเงินไม่กี่เพนนี และคนทำงาน 'หุ่นกล' ส่วนใหญ่ได้เงินรวมแล้ว 1-5 ดอลลาร์ (ราว 32-160 บาท) ต่อสัปดาห์เท่านั้น

 

 

เรียบเรียงจาก
The ten most embarrassing, exploitative, soul-killing, downright dangerous tech jobs, Ian Paul, PCWorld, 02-09-2013
http://www.pcworld.com/article/2047803/the-ten-most-embarrassing-exploitative-soul-killing-downright-dangerous-tech-jobs.html

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

Wikipedia : Amazon Mechanical Turk
http://en.wikipedia.org/wiki/Amazon_Mechanical_Turk

Bureau of Labor Statistics : Semiconductor Processors
http://www.bls.gov/ooh/production/semiconductor-processors.htm

CareerBliss : Top 10 Most Hated Jobs
http://www.careerbliss.com/facts-and-figures/top-10-most-hated-jobs/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท