“ม.อ.ออกนอกระบบ” นักศึกษาขอเลือกตั้งผู้บริหารและขอที่นั่งในสภา

<--break->
 
นักศึกษาม.อ.ออกแถลงการณ์เรียกร้องขอมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสู่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ชี้การเป็นเอกชนทำให้คนรายได้น้อยขาดโอกาส เรียกร้องขอมีส่วนร่วมในสภามหาวิทยาลัย ต้องมีองค์กรคานอำนาจและผู้บริหารต้องมาจากการเลือกตั้ง
 
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 56 ที่ผ่านมาเครือข่ายนักศึกษา ม.อ.ปัตตานี ได้มีการประชุมกันที่ห้ององค์การบริหารนักศึกษาเรื่องการขับเคลื่อนและเดินหน้าทิศทางการเข้ามีส่วนร่วมในเปลี่ยนแปลงสู่มหาลัยในกำกับของรัฐ หลังจากที่ได้ยื่นแถลงการณ์มาแล้วเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556 แล้วก่อนหน้านี้
 
ในการประชุมครั้งนี้เครือข่ายนักศึกษาได้มีการพูดคุยเรื่อง “รู้เท่าทันการก้าวสู่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ” โดยมีข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางในการขับเคลื่อนว่าจะต้องมีองค์กรหรือกลุ่มที่ชัดเจนที่จะทำงาน จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง และจะจัดเวทีให้ทุกฝ่ายได้แสดงคามคิดเห็น
 
นายชยุตพงค์ โสภิวรรณ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาปัตตานี ได้กล่าวว่า “เราไม่ได้จะออกมาพูดเรื่องของค่าเทอม เรายอมรับได้ ว่าค่าเทอมมันต้องเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม ของเพราะมหาลัยก็ต้องอยู่รอด แต่ประเด็นที่เราจะเรียกร้องคือ เราต้องการให้มหาลัยเป็นของทุกคน มีระบบบริหารที่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษามีสิทธิเท่าเทียมกัน ผู้บริหารตั้งแต่อธิการบดี รองอธิการ หรือคณะบดีก็ต้องมาจากการเลือกตั้ง”
 
พร้อมกันนี้เครือข่ายนักศึกษาได้มีแถลงการณ์เรื่องข้อเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมที่จะเกิดขึ้น เมื่อมหาวิทยาลัยเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ โดยระบุว่าการแปรรูปมหาวิทยาลัยเป็น “ม.นอกระบบ” เป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการการศึกษา ซึ่งผลิตชุดความคิดที่ว่ามหาวิทยาลัยออกนอกระบบจะมีคุณภาพที่ดีกว่าการอยู่ในการควบคุมของรัฐ มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการและคุณภาพการศึกษา ลดภาระค่าใช้จ่าย และสามารถเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานได้
 
สิ่งเหล่านี้เป็นค่านิยมที่เปลี่ยนให้เป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบดีกว่าการอยู่ในระบบที่ควบคุมโดยรัฐ เมื่อการศึกษาเป็นปัจจัยพื้นฐานสำหรับมนุษย์ เป็นหนึ่งในกระบวนการขัดเกลาทางสังคม (socialization) ที่รัฐต้องให้กับสังคม แต่เมื่อมหาวิทยาลัยถูกทำให้ออกนอกการควบคุมของรัฐแล้ว ใครจะเป็นคนขัดเกลาพลเมืองของรัฐ คงจะเหลือแต่อำนาจเงินตราที่เป็นตัวชี้ทางให้กับสังคมเท่านั้น
 
เครือข่ายนักศึกษาจึงขอแจกแจงสภาพปัญหาของมหาวิทยาลัยนอกระบบในปัญหาความไม่เท่าเทียมโดยเห็นว่า เมื่อระบบการศึกษาถูกกำหนดด้วยเงินตราแล้ว ความเท่าเทียมกันในด้านการศึกษาคงยากที่จะได้เห็น อีกทั้งเปรียบเสมือนการตัดโอกาสทางการศึกษาผู้ที่มีรายได้น้อยทางอ้อม
 
การออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยจะสูบบุคลากรของชาติเข้าสู่ระบบโรงงานผลิตความรู้และสร้างเครื่องจักรที่เรียกว่า ผลิตมนุษย์เข้าสู่ระบบตลาดเพียงอย่างเดียว อีกทั้งเมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ มหาวิทยาลัยจะสามารถมีอิสระในการบริหารจัดการ สามารถเปิดหลักสูตรเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงานเพียงอย่างเดียว สิ่งที่ตามมาคือ การที่มหาวิทยาลัยตีตัวออกห่างจากสังคม ไม่กลายเป็นที่พึ่งของประชาชนอีกต่อไป
 
ด้านปัญหาความไม่โปร่งใสของค่าใช้จ่ายที่นักศึกษาต้องจ่ายให้กับมหาวิทยาลัย เมื่อมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและทำการบริหารโดยอยู่ในสถานะที่เกือบเทียบเท่ากับองค์กรเอกชน จะไม่สามารถทราบถึงความไม่โปร่งใสของการบริหารจัดการเงินที่นักศึกษาจ่ายไปได้ว่ามหาวิทยาลัยใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมากน้อยเพียงใด
 
ดังนั้น ทางเครือข่ายนักศึกษาจึงมีข้อเรียกร้องในการดำเนินการการเปลี่ยนแปลงสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐว่า พ.ร.บ.ที่จะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรจะต้องผ่านการลงประชามติจากประชาคมมหาวิทยาลัย ที่ประกอบไปด้วย คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา
 
ขอให้เปิดเผยการร่าง พ.ร.บ.ให้กับประชาคมรู้โดยทั่วกัน ให้มีตัวแทนนักศึกษาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสภามหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ จะต้องมีองค์กรที่สามารถคานอำนาจกับฝ่ายบริหารได้ เช่น สหภาพบุคลากร หรือองค์การนักศึกษา และอธิการบดี รองอธิการบดีของแต่ละวิทยาเขต และคณบดี จะต้องมาจากการเลือกตั้งของมวลสมาชิกทั้งหมด ซึ่งรวมไปถึงนักศึกษาทุกคน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท