สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 3 - 9 ก.ย. 2556

พนักงานสวนสัตว์เชียงใหม่แห่สมัครสมาชิกสหภาพฯ รอดูท่าทีผู้บริหาร ก่อนยกระดับค้านเข้า “พิงคนคร”

พนักงาน-ลูกจ้างสวนสัตว์เชียงใหม่ทยอยลงชื่อสมัครสมาชิกสหภาพแรงงาน องค์การสวนสัตว์คึกคัก ส่วนงานรวมตัวทุกอังคารครั้งที่ 4 ได้ผู้ช่วย ผอ.เข้าร่วมด้วย ด้านแกนนำแจงหลังถกเครียดเวทีรับฟังความคิดเห็นสัปดาห์ก่อนหลายเรื่องยังไม่ เคลียร์ แต่จะรอดูท่าทีผู้บริหารก่อน หากยังมุ่งโอนย้ายจะยกระดับกิจกรรมขึ้นอีก คาดหลังสหภาพฯ มีสมาชิก ตั้งคณะกรรมการเสร็จ ได้ฤกษ์เคลื่อนไหวคัดค้านในนามสหภาพฯ แน่
      
พนักงานและลูกจ้างของสวนสัตว์เชียงใหม่ร่วมกันลงชื่อเพื่อสมัครสมาชิก สหภาพแรงงานองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในระหว่างการรวมตัวที่โบราณสถานวัดกู่ดินขาว ภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ในวันนี้ (3 ก.ย.)
      
การรวมตัวดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นทุกวันอังคารนั้น ถือเป็นครั้งที่ 4 ที่กลุ่มพนักงานและลูกจ้างของสวนสัตว์เชียงใหม่ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการโอน ย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ไปอยู่ในสังกัดสำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) ได้มารวมตัวกันที่โบราณสถานวัดกู่ดินขาวในช่วงเที่ยงวัน โดยการรวมตัวกันในวันนี้ นอกจากจะเปิดโอกาสให้พนักงานและลูกจ้างได้ร่วมลงชื่อเพื่อแสดงความประสงค์จะ สมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานองค์การสวนสัตว์ที่มีการจดทะเบียนเป็นที่เรียบ ร้อยแล้ว กลุ่มพนักงานและลูกจ้างที่มารวมตัวกันในวันนี้ทั้งหมดยังได้ร่วมกันกล่าวคำ ปฏิญาณว่าจะร่วมกันต่อสู้ และยืนยันที่จะเป็นพนักงานในสังกัดองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ต่อไป
      
ทั้งนี้ การรวมตัวกันของกลุ่มพนักงานและลูกจ้างในวันนี้ ปรากฏว่ามีนายนิพนธ์ วิชัยรัตน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ เข้าร่วมในกิจกรรมดังกล่าวด้วย
      
นายวิมุติ ชมพานนท์ นักวิทยาศาสตร์สวนสัตว์ 3 ตัวแทนกลุ่มพนักงานและลูกจ้างสวนสัตว์เชียงใหม่ที่เคลื่อนไหวคัดค้านการโอน ย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ กล่าวว่า จากการที่พนักงานและลูกจ้างได้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นกับคณะผู้ บริหารขององค์การสวนสัตว์เมื่อวันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา พบว่าคำชี้แจงในหลายๆ ประเด็นยังไม่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตาม ทางผู้บริหารได้รับปากกับกลุ่มพนักงานและลูกจ้างว่าจะนำข้อสังเกตและข้อเสนอ แนะต่างๆ จากทางกลุ่มเสนอต่อผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งระบุว่าจะมีการมารับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มพนักงานและลูกจ้างอีก ดังนั้นในช่วงนี้จึงจะยังไม่มีการยกระดับกิจกรรมใดๆ ของทางกลุ่มเนื่องจากต้องการรอดูท่าทีของผู้บริหารองค์การสวนสัตว์ก่อนว่าจะ ดำเนินการอย่างไรหลังจากได้รับทราบความคิดเห็นของพนักงานและลูกจ้างไปแล้ว ซึ่งหากหลังจากนี้ท่าทีที่ออกมาเป็นไปในลักษณะของการสนับสนุนการโอนย้าย ทางกลุ่มพนักงานและลูกจ้างก็จะปรับเปลี่ยนแนวทางการรวมตัวและยกระดับกิจกรรม ต่างๆ ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น
      
ส่วนการร่วมกันลงชื่อของพนักงานและลูกจ้างในวันนี้นั้น นายวิมุติกล่าวว่าเป็นการลงชื่อเพื่อสมัครเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานองค์การ สวนสัตว์ หลังจากที่มีการดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งกระบวนการรับสมัครสมาชิกถือเป็นขั้นตอนในลำดับต่อมาที่จะต้องดำเนินการ หลังจากจดทะเบียนจัดตั้งสหภาพฯ ขึ้นแล้ว และหลังจากได้สมาชิกแล้วก็จะดำเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการเพื่อบริหารงาน สหภาพแรงงานต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากสหภาพแรงงานได้คณะกรรมการครบถ้วนสมบูรณ์แล้วจะมีการเคลื่อนไหว ด้วยการยื่นหนังสือในนามของสหภาพแรงงานองค์การสวนสัตว์เพื่อคัดค้านกรณีการ โอนย้ายสวนสัตว์เชียงใหม่ไปอยู่ในสังกัดสำนักงานพัฒนาพิงคนครต่อไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 3-9-2556)

สปส.เร่งสรุปค่าผ่อน สินเชื่อไปทำงานนอก

นางดุษฎี อัมรานุรักษ์ ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการสินเชื่อเพื่อไปทำงานต่างประเทศของ สปส.ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือกับผู้แทนธนาคารกรุงไทย และกรมการจัดหางาน (กกจ.) ซึ่งผู้แทนธนาคารกรุงไทยแจ้งว่าต้องการรายชื่อธนาคารในประเทศต่างๆ เช่น เกาหลีใต้ อิสราเอล ฯลฯ เพราะแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ มักจะไปเปิดบัญชีธนาคาร เพื่อโอนเงินกลับมายังประเทศไทย เพื่อที่ธนาคารกรุงไทยจะได้ประสานไปยังธนาคารในต่างประเทศเหล่านี้และจะได้ ทราบถึงข้อมูลค่าธรรมเนียมต่างๆ เช่น ค่าเปิดบัญชี ค่าโอนเงินมายังประเทศไทย เพื่อผ่อนชำระหนี้เงินกู้โครงการ หลังจากนั้นก็สรุปตัวเลขค่าธรรมเนียมโดยภาพรวมแล้วแจ้งให้แรงงานไทย ซึ่งเป็นผู้กู้เงินโครงการฯได้ทราบข้อมูลล่วงหน้าตั้งแต่เริ่มยื่นกู้เงิน โครงการว่าค่าธรรมเนียมต่างๆ ของธนาคารในต่างประเทศ ซึ่งไม่รวมวงเงินกู้เป็นเงินทั้งหมดเท่าใด

ทั้งนี้ กกจ.ได้รับที่จะไปดำเนินการรวบรวมข้อมูลข้างต้นส่งให้แก่ธนาคารกรุงไทย และ สปส.ยังได้ขอความร่วมมือธนาคารกรุงไทยให้พิจารณาลดค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมถึงช่วยประสานกับธนาคารในต่างประเทศที่แรงงานไทยมักจะไปเปิดบัญชี เพื่อขอให้พิจารณาลดค่าธรรมเนียมลงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายแก่แรงงานไทย

นางดุษฎีกล่าวว่า คาดว่า กกจ.และธนาคารกรุงไทยจะสรุปข้อมูลข้างต้นได้ภายในเดือนกันยายนนี้ หลังจากนั้นคาดว่าไม่เกินเดือนตุลาคมนี้ สปส.จะลงนามความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทยและ กกจ. จากนั้นจะเริ่มเปิดให้แรงงานไทยยื่นกู้เงินโครงการได้ ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 คงที่ 2 ปี โดยสามารถกู้ได้รายละไม่เกิน 150,000 บาท เบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะมีผู้ยื่นกู้ประมาณ 10,000 ราย

(ประชาชาติธุรกิจ, 3-9-2556)

หอการค้าฯเสนอขยายเวลาเกษียณเพิ่มอีก 5 ปี

นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่า มีแนวคิดที่จะศึกษาการขยายเวลาเกษียณอายุราชการ และภาคเอกชนจาก 60 ปีเป็น 65 ปี เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมถึงให้หน่วยงานต่างๆได้มีเวลาเตรียมความพร้อมในการพัฒนาฝีมือแรงงานรอง รับการขยายการลงทุนของนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันภาคธุรกิจในไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน 1 ล้านคน หากไม่เร่งแก้ปัญหาจะมีผลต่อการตัดสินใจการเข้ามาลงทุนของต่างชาติในอนาคต แน่นอน

“หากกรรมการหอการค้าเห็นด้วย จะนำข้อสรุปดังกล่าวไปเสนอกับรัฐบาลเพื่อศึกษาผลดีและผลเสีย โดยข้อเสียในการขยายเวลาเกษียณคือจะมีผลต่อพนักงานระดับกลาง และระดับล่าง ที่จะเลื่อนตำแหน่งได้ยาก แต่ข้อดีคือ ช่วยแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนได้  ที่สำคัญช่วยให้ภาคธุรกิจไทยและภาครัฐมีเวลาเตรียมความพร้อมในการพัฒนาแรง งานให้เพียงพอ”

โดยสาเหตุที่ทำให้แรงงานในภาคธุรกิจไทยขาดแคลนส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาทต่อวันส่งผลให้แรงงานจำนวนมากกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด รวมถึงนโยบายการรับจำนำพืชผลทางการเกษตรที่ทำให้แรงงานย้ายกลับเข้าสู่ภาค เกษตรมากขึ้น

ขณะเดียวกันหอการค้าฯได้สำรวจผลกระทบจากนโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ หลังมีผลบังคับใช้ 8 เดือนพบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ที่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องหรือปัญหาเรื่องต้นทุนธุรกิจ ส่วนใหญ่ระบุว่ าสามารถที่จะแบกภาระได้เฉลี่ย 5 เดือนหากปรับตัวไม่ได้ก็จะปิดกิจการ หากแบ่งเป็นขนาดธุรกิจพบว่าธุรกิจขนาดย่อยรับภาระได้ 3 เดือน ขนาดกลางรับภาระได้ 6 เดือน และ ขนาดใหญ่รับภาระได้ 8 เดือน

“ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ต้องการให้พรรคการเมืองนำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหรือเกี่ยวกับผู้ ประกอบการมาหารือกับเอกชนก่อน หรืออย่างน้อย ควรมีมาตรการแก้ปัญหากับนโยบายที่ออกมา ไม่ใช่พอออกนโยบายแล้วต้องให้เอกชนมานั่งแก้ปัญหาภายหลังเหมือนกับทุก วันนี้”

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  กล่าวถึงผลสำรวจทัศนะต่อการขึ้นค่าจ้าง 300 บาทว่า ว่า หลังจากที่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ภาคธุรกิจมีแนวทางในการปรับตัวโดยปรับขึ้นราคาสินค้า 39.7% รองลงมา ลดสวัสดิการ 26.5%   การหาเครื่องจักรในการทดแทนแรงงาน 16.2% ลดจำนวนพนักงาน 11.7% เป็นต้น  ขณะเดียวกันพบว่ามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่า จ้าง 300 บาทนั้นส่วนใหญ่ 73.1% ระบุว่ายังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเลย มีเพียง 26.9% ที่ได้รับแล้ว

“ในการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันนั้นผู้ประกอบการได้ปรับขึ้นราคาสินค้าแล้ว 25.2% และกำลังจะปรับเพิ่มอีก 19.2%  ยังไม่ปรับขึ้นราคาสินค้าแต่ลดปริมาณลง 28.2% และยังไม่ปรับขึ้น และปริมาณก็ยังเท่าเดิม 27.4%  อย่างไรก็ตามมั่นใจว่า ปีหน้าผู้ประกอบการจำนวนมากคงจะปรับขึ้นราคาสินค้าแน่นอนหลัง จากที่อั้นมานานจากเศรษฐกิจชะลอตัวและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น”

นายธนวรรธน์  กล่าวถึงการปรับขึ้นของราคาแอลพีจีภาคครัวเรือน และค่าไฟว่า จะเป็นต้นทุนให้กับภาคธุรกิจมากขึ้นและเมื่อบวกกับการขึ้นค่าแรง 300 บาทแล้ว คาดว่าช่วงไตรมาส 4 นี้ ผู้ประกอบการจะทะยอยปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งเชื่อว่าจะปรับไม่เกิน 5%  พร้อมมองว่าปี 57 ราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น เงินเฟ้อจะปรับเพิ่มขึ้นถึง 3.5% และจากการสำรวจว่าการปรับขึ้นแอลพีจีพบว่า มีผลกระทบต่อธุรกิจระดับปานกลางเพียง 51.5%  แต่จะปรับขึ้นราคาสินค้าหรือไม่นั้นส่วนใหญ่ 26.4% ขอรอดูสถานการณ์ก่อน รองลงมา 25.5% ยังไม่ปรับขึ้นราคา, ไม่ปรับขึ้นราคาแลดปริมาณลง 23.8%,  ปรับขึ้นราคา 21.5% และปรับขึ้นราคารวมถึงลดปริมาณลงด้วย 2.8%

(เดลินิวส์, 3-9-2556)

กสร.เปิดสายด่วน 1546 รับเรื่องร้องทุกข์แรงงาน 30 คู่สาย

กรุงเทพฯ 3 ก.ย. - นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดการให้บริการศูนย์ Call Center 1546 สายด่วนเพื่อผู้ใช้แรงงานที่พัฒนาต่อเนื่องจนมีจำนวน 30 คู่สายว่า เพื่อเป็นช่องทางรับเรื่องร้องทุกข์ด้านแรงงาน ให้คำปรึกษาแก่หน่วยงาน เจ้าหน้าที่ นายจ้าง ลูกจ้าง และบุคคลทั่วไปให้ได้รับทราบและเข้าใจในปัญหาข้อกฎหมายอย่างถูกต้องเพื่อนำ ไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้องอันจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพ

โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 20 คน และมีเครื่องมือที่ทันสมัย เช่น การใช้ระบบตอบอัตโนมัติ (IVR) ในการให้บริการ มีการจัดเก็บ ประมวลผล และฐานข้อมูลที่เป็นองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ ดังนั้น โครงการพัฒนาระบบโทรศัพท์สายด่วน Call Center ของ กสร. เพื่อให้บริการประชาชน นายจ้าง ลูกจ้าง จึงถือเป็นการให้บริการที่รวดเร็ว ลดขั้นตอน

(สำนักข่าวไทย, 3-9-2556)

ครม.เห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบฯ

วันที่ 3 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.ว่า ครม.อนุมัติร่าง พ.ร.บ.กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัคร เป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ..)  พ.ศ. .... สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งเป็นการปรับปรุงร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ (25 มิถุนายน 2556) เพื่อให้การขยายความคุ้มครองประกันสังคมแก่แรงงานนอกระบบ เป็นไปด้วยความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการ จ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่ง สมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ. 2554  อาทิ เพิ่มเติมการจ่ายเงินสมทบเพื่อประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพ และกำหนดให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกจ่ายเงินเพื่อรับประโยชน์ทดแทนได้  แก้ไขเพิ่มเติมเงินทดแทนขาดรายได้กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย และให้ผู้ประกันตนที่ส่งเงินสมทบเพียงหนึ่งเดือนได้รับความคุ้มครองกรณีตาย เพราะอุบัติเหตุ

นอกจากนั้นให้ผู้ที่อายุหกสิบปีบริบูรณ์แต่ไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้

(ข่าวสด, 3-9-2556)

ก.แรงงาน กระตุ้นสถานประกอบการจ้างเเรงงานผู้พิการ

(4 ก.ย.) นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน “นัดพบแรงงานคนพิการ สร้างอาชีพสร้างเศรษฐกิจชีวิตมีสุข” ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-5 กันยายน พร้อมกล่าวว่าการจัดงานครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการกระตุ้นให้ผู้ประกอบ การให้ความสำคัญในการจ้างงานคนพิการ เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีรายได้เลี้ยงตนเอง และไม่กลายเป็นภาระของสังคม อีกทั้งการดึงผู้พิการออกมาร่วมกิจกรรมต่างๆ นั้น ถือเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้คนพิการกล้าที่จะออกมาเผชิญโลกภายนอก และออกมาทำงาน สร้างคุณค่าให้ตนเองมากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้เมื่อสังคมให้โอกาสจะตั้งใจทำสิ่งที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็ม ที่ นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปร่วมสนับสนุนการซื้อ สินค้าที่ผลิตโดยคนพิการด้วย ทั้งนี้ภายในงานเปิดรับพนักงานคนพิการเพิ่มเติมจำนวน 182 คน เช่น ตำแหน่งพนักงานแคชเชียร์ พนักงานรับโทรศัพท์ พนักงานฝ่ายบุคคล พนักงานฝ่ายเทคนิค เป็นต้น ซึ่งเป็นงานที่คนพิการสามารถทำได้
      
ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวอีกว่า กระทรวงแรงงานจะเข้มงวดยิ่งขึ้นในการตรวจสอบสถานประกอบการว่ามีการจ้างงาน ตามสัดส่วนที่กำหนดหรือไม่ ในอัตราส่วนการจ้างพนักงาน 100 คน ต่อการจ้างผู้พิการ 1 คน ซึ่งปัจจุบันสถานประกอบการทั่วประเทศ ต้องจ้างผู้พิการรวม 47,000 คน และมีการจ้างงานไปแล้ว 27,000 คน ซึ่งยังคงเหลือจำนวนที่นายจ้างต้องจ้างอีกกว่า 20,000 คน

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 4-5-2556)

รับเหมาขอถก"ชัชชาติ"สางปัญหาขาดแรงงาน

นายณัฐพล พรหมสุทธิ เลขาธิการ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า ทางสมาคมเตรียมเข้าหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ถึงความพร้อมของผู้รับเหมาก่อสร้างไทยในการก่อสร้างโครงการระบบขนส่งภายใต้ โครงการ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งนายชัชชาติมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อวงการก่อสร้างไทยหรือไม่

“ก่อนหน้านี้สมาคมมีโอกาสได้พบกับรัฐมนตรีชัชชาติ ท่านอยากให้เข้ามาหารือเกี่ยวกับความพร้อมด้านงานก่อสร้าง เพื่อรับทราบข้อมูลต่างๆ สรุปสถานการณ์ของผู้รับเหมาก่อสร้าง รวมถึงแนวทางการก่อสร้างต่างๆ ด้วย โดยคาดว่าสมาคมจะเข้าพบในเร็วๆ นี้”นายณัฐพล กล่าว

ทั้งนี้ การลงทุนระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่เป็นสิ่งที่ผู้รับเหมาทุกฝ่ายต้องปรับตัว ด้วยการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามาช่วยลดการใช้แรงงาน ซึ่งหากปรับตัวแล้ว เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมจากการแย่งชิงแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ของไทย

ขณะที่ภาวะแย่งชิงผู้รับเหมาที่ภาคเอกชนมีความกังวลว่า หากมีโครงการ 2 ล้านล้านบาทจะยิ่งทำให้ผู้รับเหมาขาดแคลนนั้น เชื่อว่าจะไม่เกิดปัญหาดังกล่าว เพราะรูปแบบงานก่อสร้างระบบขนส่งเป็นงานโยธาที่ใช้ผู้รับเหมาคนละกลุ่มกับ การก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน

นายณัฐพล กล่าวอีกว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมก่อสร้างในช่วง 8 เดือนแรกที่ผ่านมา แม้ว่าความต้องการแรงงานและผู้รับเหมาที่สูงขึ้นจะทำให้ภาคการก่อสร้างดูสด ใส แต่ทางฝั่งผู้รับเหมารายย่อยที่รับงานภาครัฐยังประสบภาวะวิกฤตหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาการเบิกจ่ายเงินล่าช้า เช่น บางหน่วยงานเบิกจ่ายช้ากว่า 6 เดือน ทำให้เกิดภาวะขาดสภาพคล่อง

นอกจากนี้ ยังเกิดปัญหาการรับงานภาครัฐได้น้อยลง เนื่องจากหน่วยงานรัฐยังใช้มาตรฐานราคากลางเดิม ไม่ได้มีการปรับราคาขึ้นให้สอดรับกับค่าแรงงาน 300 บาทที่รัฐบาลได้ประกาศขึ้นไปแล้ว ทำให้|ผู้รับเหมาส่วนใหญ่รับงานไม่ไหว จึงไม่เข้าร่วมประมูล ทำให้งานภาครัฐต่างๆ ต้องนำมาประมูลใหม่หลายครั้ง แต่ก็ไม่มีงานจริงออกมา

สำหรับแนวทางช่วยเหลือผู้รับเหมารายย่อยนั้น ก่อนหน้านี้สมาคมได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ช่วยเหลือผู้รับเหมา รายย่อยด้วยกัน 5 ประเด็น ได้แก่ 1.การลดค่าเค หรือค่าวัสดุที่เกินจากราคาที่กำหนด 2.ปลดล็อกการโยกย้ายแรงงานข้ามเขต 3.ขยายเวลาก่อสร้างจากที่ระบุไว้ในสัญญาได้อีก 180 วัน 4.ลดค่าปรับในทุกสัญญาว่าจ้างให้เหลือ 0.01% และ 5.สามารถใช้ตัวเองค้ำประกันการทำงานได้ หลังจากที่ทำงานไปแล้ว 6 เดือน

“เร็วๆ นี้สมาคมอาจมีการทวงถามถึงมาตรการที่มีการยื่นเสนอไป เนื่องจากยื่นไปกว่า 3 เดือนแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ และครั้งนี้ถือเป็นการยื่นครั้งที่ 2 แล้ว”นายณัฐพล กล่าว

(โพสต์ทูเดย์, 4-9-2556)

สปส.เตรียมจ่ายเงินชราภาพผู้ประกันตนครั้งแรกปีหน้า

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินสะสมอยู่กว่า 1.05 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นเงินสมทบสะสม 7.5 แสนล้านบาท และดอกผลสะสมจากการลงทุน 3 แสนล้านบาท

โดยเงินสะสมร้อยละ 90 ของกองทุนเป็นเงินออมชราภาพของผู้ประกันตน 11 ล้านคนเพื่อไว้รอจ่ายเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญเมื่อผู้ประกันตนเกษียณจากการ ทำงาน สปส.จะจ่ายเงินออมชราภาพพร้อมกับดอกผลที่นำเงินไปลงทุนให้แก่ผู้ประกันตนแต่ ละคน ส่วนที่เหลือร้อยละ10 เป็นเงินสำรองไว้จ่ายสิทธิประโยชน์อีก 6 กรณีได้แก่ เจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และว่างงาน

นายจีรศักดิ์กล่าวว่า ช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ สปส.จะทำหนังสือส่งไปรษณีย์แจ้งผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปี บริบูรณ์ที่มีสิทธิรับเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพในปี 2557 เพื่อให้เตรียมเอกสารและหลักฐานต่างๆ ไปยื่นเรื่องขอรับเงินสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพที่สำนักงานประกันสังคม ในพื้นที่

หลังจากนั้น ในปี พ.ศ.2557 สปส.จะเริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพเป็นครั้งแรกและได้ประมาณการจะมีผู้ประกันตน ได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ 122,860 คน เป็นเงิน 8,190 ล้านบาท และเงินบำนาญชราภาพ 3,250 คน เป็นเงิน 80 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งหมด 8,270 ล้านบาท

(ประชาชาติธุรกิจ, 5-9-2556)

ผู้ประกอบการยันโรงงานน้ำตาลปลอดใช้แรงงานเด็ก

รายงานข่าวจากสมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย ได้ร่วมกับคณะทำงานตรวจรับรองสถานประกอบกิจการที่ไม่มีแรงงานเด็กผิดกฎหมาย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ออกตรวจรับรองสถานประกอบการโรงงานน้ำตาลทรายทั่วประเทศในการไม่ใช้แรงงาน เด็กผิดกฎหมาย โดยได้เข้าตรวจโรงงานน้ำตาลสิงห์บุรี โรงงานน้ำตาลนครเพชร โรงงานน้ำตาลทิพย์ กำแพงเพชร โรงงานน้ำตาลทรายกำแพงเพชร และโรงงานน้ำตาลมิตรผล สุพรรณบุรี เพื่อแสดงความโปร่งใสในการดำเนินงานว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็ก และให้คณะทำงานฯ จัดทำรายงานผลการดำเนินงานให้กระทรวงแรงงานพิจารณาออกประกาศนียบัตรรับรอง สถานประกอบการที่ไม่มีแรงงานเด็กให้แก่โรงงานน้ำตาลทราย พร้อมรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานให้รัฐบาลต่างประเทศได้รับทราบ เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าไม่มีการใช้แรงงานเด็กผิดกฎหมายในอุตสาหกรรม น้ำตาลทรายของไทยอย่างแน่นอน

(Thai PR, 5-9-2556)

แรงงานไอทีขาดแคลน กระทบธุรกิจค้าปลีกบริการติดตั้งระบบ ชี้คนเรียนวิศวะเทคนิคน้อยลง

นายสมชัย สิทธิชัยศรีชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสไอเอส ดิสทริบิวชั่น (ประเทศไทย) ตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอทีรายใหญ่ในประเทศไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มแรงงานในตลาดไอทีอยู่ในภาวะขาดแคลนอย่างหนัก แม้ว่าตลาดไอทีคอนซูเมอร์จะชะลอตัวมาตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ยังมีตลาดสมาร์ทโฟน รวมถึงตลาดไอทีสำหรับองค์กรที่ต้องอาศัยการติดตั้ง ดูแลระบบ และให้บริการหลังการขาย ซึ่งความต้องการบุคลากรด้านนี้มีสูงมาตลอด และในประเทศไทยไม่เคยผลิตบุคลากรออกมาได้เพียงพอกับความต้องการเลย

“มีหลักสูตรของสถาบันการศึกษาผลิตบุคลากรไอทีอยู่มาก แต่จำนวนกลับไม่พอกับความต้องการ โดยเฉพาะด้านซัพพอร์ต ทำให้เป็นข้อจำกัดต่อการทำธุรกิจด้านนี้พอสมควร เช่น งานบริการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ไอทีและสมาร์ทโฟน ที่ต้องมีคนให้ความรู้การใช้งานแก้ปัญหาเบื้องต้น รวมถึงช่างเทคนิคซ่อมบำรุงที่ต้องคอยให้บริการอยู่ตามร้านค้าทั่วประเทศ” นายสมชัย กล่าว

ขณะที่ตลาดองค์กรมีความต้องการลงทุนอุปกรณ์และระบบไอทีใหม่ตลอดเวลา เพราะเป็นปัจจัยที่เสริมศักยภาพการแข่งขัน แต่การติดตั้งระบบใช้เวลา 36 เดือน และต้องดูแลให้บริการต่ออย่างน้อย 12 ปีตามสัญญา โดยหัวใจสำคัญคือบุคลากรด้านไอที ซึ่งตลาดมีความต้องการสูงและกำลังขาดแคลน ทำให้ลำบากในการขยายธุรกิจไอทีองค์กรเช่นกัน จากที่น่าจะมีการเติบโตมาก

สำหรับเอสไอเอสเอง ทุกวันนี้ใช้เวลาแทบทุกวันในการรับสมัครพนักงานใหม่ สอบสัมภาษณ์ คัดเลือก ซึ่งมีจำนวนหนึ่งมีคุณสมบัติไม่ผ่าน อีกทั้งยังต้องแก้ปัญหาการเทิร์นโอเวอร์ หรือลาออกจากงานของบุคลากรด้านไอทีเดิมด้วย คาดว่าองค์กรไอทีอื่นๆ ก็น่าจะมีปัญหาในลักษณะเดียวกัน และยังไม่สามารถหาทางแก้ไขได้

ทั้งนี้ จากการสำรวจการสมัครเข้าเรียนต่อในปัจจุบัน พบว่าการเข้าเรียนต่อในสาขาวิชาด้านวิศวกร หรือสาขาด้านคอมพิวเตอร์ จำนวนลดน้อยลงจากก่อนหน้านี้ โดยในสาขาเดียวกันขยับไปเรียนด้านโมบายเทคโนโลยีมากขึ้น ขณะที่นอกสาขาเลือกเรียนสายสังคมมากขึ้น เช่น รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์ มากขึ้น

นายสมชัย กล่าวว่า ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนการศึกษาด้านนี้ให้มากขึ้น เพื่อเร่งสร้างบุคลากรมารองรับตลาด ยิ่งต่อไปตลาดจะเข้าสู่การแข่งขันเสรีอาเซียน ทำให้ความต้องการใช้งานไอทีในองค์กรเพิ่มขึ้น บุคลากรไอทีจะเป็นที่ต้องการสูงขึ้นอีก ไม่เช่นนั้นแรงงานไอทีจากต่างประเทศจะไหลเข้ามาประเทศไทยแน่นอน

(โพสต์ทูเดย์, 7-9-2556)

สป.ไม่เห็นด้วยให้ รมว.แรงงาน นั่ง ปธ.บอร์ดประกันสังคม

นพ.สมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์   ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า  เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ประชุมร่วมกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) เรื่องการปรับปรุง พ.ร.บ.ประกันสังคมพ.ศ. 2533 ซึ่งขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับแก้ไขได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.แล้ว กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาวาระที่ 2 ของสภาผู้แทนราษฎร  โดยได้ชี้แจงถึงเหตุผลและประเด็นต่าง ๆ ที่ได้เสนอขอแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม  

ทั้งนี้ สภาที่ปรึกษาฯ เห็นด้วยกับเนื้อหาส่วนใหญ่ที่กระทรวงแรงงานเสนอขอแก้ไข  รวมทั้งสภาที่ปรึกษาฯ ได้มีข้อเสนอแนะ 3 ประเด็น คือ ควรให้ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธานคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ด สปส.) ตามเดิม เพราะบอร์ด สปส. ทำหน้าที่กำหนดนโยบายไม่ใช่บริหารและการทำงานก็ไม่เหมือนหน่วยงานรัฐ วิสาหกิจที่ต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไปเป็นเป็นประธานบอร์ด สปส. ตามที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอแก้ไข  ซึ่งอาจจะเกิดข้อครหาได้ว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อน   รวมทั้งกรรมการประกันสังคมทุกคนควรจะต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย เพื่อความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ และเสนอให้ผู้ประกันตนทุกคนเลือกคณะกรรมการประกันสังคมโดยตรง ซึ่งได้ชี้แจงไปว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายมาก  จึงได้ให้ผู้ประกันตนเลือกผู้แทนลูกจ้างเข้ามาเป็นกรรมการประกันสังคม โดยผ่านสหภาพแรงงาน

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ปัจจุบันระบบประกันสังคมขยายไปสู่แรงงานนอกระบบมากขึ้น  ดังนั้นต่อไปจะต้องเพิ่มสัดส่วนกรรมการประกันสังคม โดยให้แรงงานนอกระบบเลือกผู้แทนเข้ามาเป็นกรรมการประกันสังคมด้วย ซึ่งหลังจากนี้จะรวบรวมข้อเสนอแนะทั้งหมด ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

(สำนักข่าวไทย, 9-9-2556)

ศธ.เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนเรียนต่อสายอาชีพลดสายสามัญ

(9 ก.ย.) นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ(ศธ.)  เปิดเผยว่า  เมื่อเร็วๆนี้  ตนได้เชิญนักวิชาการ นักการศึกษา ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านการศึกษามาประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อยก ร่างแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ   ซึ่งที่ประชุมได้หยิบยกเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการเพิ่มสัดส่วน ผู้เรียนต่อสายอาชีพเป็น 51 % ลดสัดส่วนผู้เรียนต่อสายสามัญให้เหลือ 49 %  ภายในปี 2558  ขึ้นมาหารือ  เพราะปัจจุบันนักเรียนที่จบ ม.3 ปีละประมาณ 9 แสนคนจะเลือกเรียนต่อสายสามัญในสัดส่วนกว่า 60 % ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศและไม่ตรงความต้องการของตลาด แรงงานในประเทศ เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานฝีมือในสาขาต่างๆ จำนวนมาก  แต่กลับไม่มีกำลังคนป้อนเข้าไปได้อย่างเพียงพอ  เพราะเด็กส่วนใหญ่เลือกเรียนต่อสายสามัญมากกว่าสายอาชีพ

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า หากจะขับเคลื่อนการปรับสัดส่วนผู้เรียนต่อสายอาชีพและสายสามัญให้เป็นไปตาม เป้าหมาย  ทุกฝ่ายเห็นว่ จะต้องเป็นความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.)และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  เพราะที่ผ่านมาพบว่า โรงเรียนส่วนใหญ่ไม่สนใจแนะแนวการเรียนต่อสายอาชีพให้เด็ก เพราะต้องการดึงเด็กให้เรียนต่อม.ปลาย  ดังนั้น ศธ.จึงต้องการให้ สอศ.และ สพฐ.มาทำงานร่วมกัน  โดยจะให้สพฐ.เป็นผู้ขับเคลื่อนเรื่องนี้เป็นหลัก พร้อมสั่งการให้โรงเรียนแต่ละแห่งต้องกระตือรือร้นที่จะจัดการแนะแนวเรียน ต่อสายอาชีพให้แก่นักเรียนของตัวเองอย่างจริงจังด้วย

นายจาตุรนต์  กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนักเรียนจบม.3 ปีละ 9 แสนคน เลือกเรียนต่อสายสามัญประมาณ 5 แสนคน สายอาชีพอาชีพ 3 แสนคน และเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยไม่ได้เรียนต่อ 1 แสนคน  ซึ่งหากจะปรับสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพให้เป็น 51% เท่ากับว่าจะต้องมีผู้เลือกเรียนสายอาชีพประมาณ 4.6 แสนคน เพราะฉะนั้นจะต้องหาผู้เรียนมาเพิ่มอีกประมาณ 1.5 แสนคน  ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่จะดึงดูดมาได้มี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ เด็กที่ไม่เรียนต่อปีละ 1 แสนคนให้เปลี่ยนใจเรียนต่อสายอาชีพจำนวน 5 หมื่นคน อีกกลุ่ม คือ  เด็กที่จะเลือกเรียนต่อสายสามัญให้หันมาเรียนสาอาชีพอีกประมาณ 1.2 แสนคน   อย่างไรก็ตามวิธีการดังกล่าวจะไม่ใช้วิธีการบังคับ แต่จะให้เป็นไปตามความสมัครใจของเด็กและผู้ปกครอง  โดยพยายามพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยอาชีพพร้อมรณรงค์ต่างๆ เพื่อเปลี่ยนค่านิยมของสังคม โดยเฉพาะการรณรงค์จุดแข็งว่า เรียนอาชีวะแล้วมีงานทำ มีรายได้สูง

“นอกจากหาทางเพิ่มจำนวนผู้เรียนสายอาชีพแล้ว ยังต้องรักษาคุณภาพของการเรียนสายอาชีพด้วย  ซึ่งอาจจะต้องมีการทบทวนรายละเอียดนโยบายเรียนจบ ม.6 ภายใน 8 เดือน ของกศน.  เนื่องจากปัจจุบัน มีนักเรียน ปวช.ที่เรียนไม่ไหวหรือไม่อยากเรียนได้หนีมาเรียนโครงการนี้ของ กศน.แทน   ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปจะมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการศึกษาอาชีวะ อย่างแน่นอน   เพราะฉะนั้น กศน.จะต้องไปทบทวนรายละเอียดของโครงการนี้ใหม่ไม่ว่าจะเป็น หลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ์เข้าโครงการต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า ต้องเป็นคนมีประสบการณ์ มีสมรรถนะทางอาชีพมาแล้วมาเรียนต่อ ไม่ใช่จบม.3 แล้งก็ดิ่งมาเรียนสั้นๆ กับ กศน.” นายจาตุรนต์ กล่าว

(เดลินิวส์, 9-9-2556)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท