Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
กรณี “เครื่องแบบนักศึกษา” ที่ถกเถียงกันทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เวลานี้ มีเรื่องสองเรื่องที่ซ้อนกันอยู่ ซึ่งควรนำมาถอดประเด็นและถกเถียงกันต่อ
 
1. เราควรยอมให้ 'นักศึกษา' ถูกบังคับให้แต่งเครื่องแบบหรือไม่ ?
 
2.เราควรยอมให้ 'ภาพเครื่องแบบนักศึกษา' ถูกนำมาใช้รณรงค์จุดยืนตามข้อ 1 ได้มากน้อยเพียงใด ?
 
ทั้งสองประเด็นนี้ แต่ละประเด็น ก็ตอบได้หลายแบบอยู่เช่นกัน
 
เช่น ประเด็นแรก แม้ใครจะมองว่าทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้แสดงจุดยืนชัดเจนแล้วว่าไม่ควรมีการบังคับ แต่ก็คงไม่ได้มีมีแค่คนที่ “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” กับการบังคับหรือไม่บังคับไปทั้งหมด บางคนอาจมองต่อไปว่า แม้ตนจะไม่ได้อยากใส่เครื่องแบบ แต่ก็เห็นพ้องในเหตุผลที่ต้องบังคับ บางคนอาจมองว่าแม้ไม่ควรบังคับ แต่ยังไงก็ชอบเป็นการส่วนตัวที่จะใส่เครื่องแบบ เป็นต้น
 
ส่วนประเด็นที่สอง บางคนมองว่า การแสดงออกเชิงจะมีเพศสัมพันธ์ในเครื่องแบบนั้นเกินเลยขอบเขตศีลธรรม บางคนบอกเป็นเสรีภาพ แต่บางคนบอกว่าเป็นการอ้างเสรีภาพท้าทายศีลธรรม ในขณะที่บางคนกลับมองต่อไปถึงว่า การนำภาพนักศึกษาสวมเครื่องแบบเรียบร้อยมารณรงค์เรื่องวินัยการแต่งกายต่างหาก ที่เป็นการอ้างศีลธรรมมาท้าทายเสรีภาพ ฯลฯ
 
และแน่นอนว่า คำตอบของทั้งสองประเด็นไม่ได้จำเป็นต้องจับคู่ตายตัวเสมอไป เช่น คนที่เห็นว่าการบังคับนั้นละเมิดเสรีภาพ อาจกลับเห็นว่าภาพที่ส่อในทางเพศนั้นเกินเลยในเรื่องศีลธรรม ในขณะที่คนที่ยอมรับได้กับภาพว่าไม่ผิดศีลธรรม กลับอาจมีเหตุผลอีกชุดว่าการบังคับให้แต่งเครื่องแบบในบางสถานการณ์นั้นยอมรับได้ 
 
กล่าวโดยง่ายก็คือ เรื่องเครื่องแบบนักศึกษานี้ หากนำมาถอดประเด็นแล้ว จะพบว่าไม่ได้มีคนที่มีความคิดอยู่แค่ 2 ฝ่ายเหมือนที่ใครอาจเข้าใจ  และลำพังการที่เราเห็นนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ยังนิยมสวมเครื่องแบบแม้จะไม่ถูกบังคับ ก็คงไม่อาจบ่งบอกความคิดเรื่อง “เครื่องแบบ” ได้ทั้งหมด ไหนจะเรื่องการปลูกฝัง การคิดและแสดงออก และแรงกดดันหมู่ที่มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร
 
ผมจึงเสนอให้กลุ่มที่รณรงค์ และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ช่วยกันดำเนินการถกเถียงและถอดประเด็นนี้ต่อ และอย่าไปจบแค่เวทีเสวนาที่พูดกันอยู่ไม่กี่คนเท่านั้น แต่หากมีการร่วมกันทำแบบสำรวจในมหาวิทยาลัย หรือโพลออนไลน์ ผ่าน social media  หรือกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์อื่นๆ เช่น ขายห่วงข้อมือสีต่างๆ ที่ดึงเฉดสีและความหมายทางความคิดของนักศึกษา ครูอาจารย์ และใครต่อใครออกมาแสดงให้เห็นชัดยิ่งขึ้น ก็คงเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจไม่น้อย ไม่แน่ว่า เมื่อสำรวจออกมาแล้ว ความเห็นอาจจะพลิกความคาดหมายก็เป็นได้
 
เรื่องนี้ไม่ควรเป็นเรื่องในธรรมศาสตร์เท่านั้น ปัญญาชนคนรุ่นใหม่ในสถาบันอื่นก็น่าลองถอดและทำการเคลื่อนประเด็นไปพร้อมกัน คือไม่ได้จำเป็นต้องฟันธง เพียงแต่ยื่นธงให้นิสิตนักศึกษาแต่ละคนเขาแสดงออกว่ายุคนี้เขาคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร
 
ที่กล่าวมานี้ เพราะผมอยากเห็นสังคมไทย "ยกระดับ" การถกเถียงกันให้ไปไกลกว่าเรื่อง "เครื่องแบบนักศึกษา" ได้แล้ว
 
 
หากลองมองไปยังกรณีน่าสนใจในต่างประเทศ เช่น ภาพ "คุณแม่ให้นมลูกในเครื่องแบบทหาร" ที่นำมาแสดงข้างต้น ก็เป็นกรณีที่เคยถกเถียงกันในสหรัฐฯ อย่างน่าสนใจว่า เรื่องพื้นฐานที่สุดของชีวิต เช่น การที่คุณแม่จะให้นมลูกนั้น พอคุณแม่มาสวมเครื่องแบบกองทัพแล้ว เหตุใดกองทัพสหรัฐฯ จึงไม่เห็นด้วยกับภาพดังกล่าวถึงขั้นว่าผิดกฎระเบียบ เหตุผลการแยกเส้นของ พลเรือน และ ทหาร กับความเป็นกลางของสถาบันของรัฐที่เขาถกเถียงกันนั้นมันมีมิติน่าสนใจกว่าเรื่อง "เครื่องแบบนักศึกษา" อีกมาก
 
(ดูเพิ่มได้ที่ http://www.huffingtonpost.com/2012/06/01/breastfeeding-photos_n_1563183.html?1338575893)
 
หรือ หากมหาวิทยาลัยต้องการปลดป้าย poster ของนักศึกษา ความจริงยังมีเรื่องน่าสนใจอีกมาก เช่น การทำสงครามที่เจ้าหน้าที่ และคนดีคนชั่วต่างตายกันไปเรื่อย ๆ หรือ ความดีเลวของศิษย์เก่าในสถาบันอันทรงเกียรติ ยกตัวอย่างไม่นานมานี้ ที่โรงเรียนกฎหมายชื่อก้องโลกอย่าง ‘ฮาร์วาร์ดลอว์’ (Harvard Law School) ก็มีนักศึกษาที่ตั้งกลุ่มชื่อว่า "Harvard Law Unbound" ไปติดป้ายข้อความ วิจารณ์ความดีความชั่วของอาจารย์และศิษย์เก่าของ Harvard รวมทั้งตัวสถาบันเอง ทั้งในด้านการเมือง การทำธุรกิจ การทำงานวิชาการ ผลประโยชน์ที่ขัดกัน หรือแม้แต่เรื่องครอบครัว ฯลฯ
 
นักศึกษากลุ่มนี้รณรงค์ขึ้นป้าย poster ทั่วบริเวณ ‘ฮาร์วาร์ดลอว์’ เพื่อต่อต้านการเชิญศิษย์เก่าที่กลุ่มอ้างว่ามีข่าวชู้สาวมาเป็นคนกล่าวสุนทรพจน์ในวันเรียนจบ หรือวิจารณ์ผู้บริหารสถาบันที่รับเงินบริจาคสร้างตึกเรียนจากศิษย์เก่าที่กลุ่มอ้างว่าโกงภาษี ฯลฯ นักศึกษากลุ่มนี้ประท้วงและอ้างต่ออีกว่า เมื่อมีการรณรงค์ขึ้นป้าย poster ไปแล้ว  แต่สถาบันอันทรงเกียรติที่อบรมสั่งสอนเรื่องสิทธิเสรีภาพ เช่น ‘ฮาร์วาร์ดลอว์’ กลับปล่อยให้มีการปลดป้าย poster ของกลุ่มนักศึกษา อีกทั้งยังดำเนินการปิดเว็บบล็อกของนักศึกษา (โดยอ้างเหตุป้องกันความสับสนของชื่อกลุ่ม) อีกด้วย 
 
(ดูเพิ่มได้ที่ http://harvardlawschoolisbogus.wordpress.com/)
 
ข้อจริงเท็จสุดแท้แล้วเป็นอย่างไรผมไม่ทราบ และหลายเรื่องก็ย่อมมองได้ต่างกัน แต่สิ่งสำคัญคือ เนื้อหาในการถกเถียงกัน การเลือกใช้กระบวนการในการหาคำตอบหรือประคองสถานการณ์ และผลการตัดสินใจของแต่ละฝ่ายที่ตามมานั้นมันน่าสนใจ ท้าทายสติปัญญาอย่างสมศักดิ์ศรี และมีประโยชน์ต่อสังคมให้ถกเถียงกันในวงกว้างมากนัก
 
เราเคยได้ยินสังคมไทยพร่ำหา “ปัญญาชนคนรุ่นใหม่” ที่จะเป็นพลังของชาติ มีจิตสำนึกต่อสาธารณะ  เสียสละเพื่อส่วนรวม ไม่แน่ วันดีคืนดี เราอาจเห็นศิษย์ปัจจุบันในมหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติของไทย นำศิษย์เก่าและครูบาอาจารย์มาขึ้นป้ายวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเปิดเผย ในเรื่องที่กระทบต่อสาธารณะ เช่น คณะไหนรับเงินบริจาคจากเครือธุรกิจผูกขาดมาสร้างตึกหรือทำวิจัย ศาสตราจารย์ประจำคนไหนร่วมทำรัฐประหาร ศิษย์เก่าคนใดไปเอี่ยวกับการทุจริต ฯลฯ และถ้าเล่นแรงเกินไป มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติก็คงต้องปกป้องเกียรติของตน และงัดข้อเท็จจริงและเหตุผลมาโต้แย้งกัน
 
ลองนึกดูสิครับ วันนี้เราเริ่มเถียงกันว่าภาพการจะมี "เพศสัมพันธ์" ในเครื่องแบบนักศึกษานั้นเหมาะสมหรือไม่ แล้วเกิดวันดีคืนดีมีนักศึกษาวัยละอ่อนถ่ายภาพ "ให้นมลูก" ในเครื่องแบบ เพื่อเรียกร้องพื้นที่การให้นมลูกในมหาวิทยาลัยของคุณแม่วัยรุ่นที่ไม่ยอมถูกตีกรอบว่าต้องเรียนจบก่อนแล้วค่อยมีลูก ประเด็นจะยิ่งน่าสนใจแค่ไหน ? บางคนอาจมองว่าถ้าสาวใหญ่ในโรงงานเรียกร้องคงไม่เป็นไร แต่สาวน้อยในเครื่องแบบมหาวิทยาลัยนี้คงไม่ง่ายสำหรับทุกคน ทั้งที่เราหลายคนก็เคลิ้มกับภาพการให้นมลูกของคุณแม่ในละครและโฆษณามาแล้วว่าเป็นภาพของความอบอุ่นอันบริสุทธิ์ แม้ว่าการ "ให้นมลูก" นั้นจะเป็นผลจากการมี "เพศสัมพันธ์" ก็ตามที 
 
ดังนั้น หากเราต้องการเห็นประเทศไทยไปถึงจุดนั้น ที่ความคิดและข้อถกเถียงมีมิติและจินตนาการให้น่าถอดน่าติดตาม และก้าวออกไปสู่ประเด็นที่เกี่ยวโยงกับสังคมในวงกว้าง (หรือจะเพื่อแค่เห็นนักศึกษาสาวมีสิทธิให้นมลูกก็ตามที) เราคงต้องเริ่มหันมาคุยกันเรื่อง "เครื่องแบบ" ให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียที ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่กับใครก็เรื่องหนึ่ง
 
ส่วนใครที่หลีกเลี่ยงหรือไม่อยากพูดเรื่อง "เครื่องแบบ" หรือพยายามทำให้เรื่องนี้จบไปแบบเงียบๆ งงๆ ก็น่าคิดว่า แท้จริงแล้วเขาเหล่านั้นไม่อยากพูดเรื่องอะไรกันแน่ ?
 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net