Skip to main content
sharethis
ชลิตา บัณฑุวงศ์ นำเสนองาน "ข้าวและชาวนาไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง" ชี้ให้เห็นว่าขณะที่ฝ่ายนิยมเกษตรกรรมยั่งยืน เชื่อว่าวัฒนธรรมข้าวที่พึงปรารถนาคือระบบพึ่งตนเอง-ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น มองชาวนาที่ใช้เครื่องจักรสมัยใหม่เป็นความเสื่อมทราม ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์สำนักเสรีนิยมกลับแสดงความเป็นห่วงว่าชาวนาจะหันกลับมาทำนาแบบเข้มข้นเพราะหวังว่าจะได้รับประโยชน์จากนโยบายจำนำข้าว และตั้งข้อสังเกตว่านี่เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่แสดงความไม่ไว้วางใจชาวนา
 

การนำเสนอของชลิตา บัณฑุวงศ์ "ข้าวและชาวนาไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง"

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 56 พิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ จัดสัมมนา "คน ข้าว นา ควาย ในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดย ชลิตา บัณฑุวงศ์ กลุ่มจับตาประชาสังคมไทย ได้นำเสนองานวิจัยหัวข้อ "ข้าวและชาวนาไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง"

000

โดยชลิตา กล่าวถึงสถานะและลักษณะการทำนาของชาวนาในประเทศไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง โดยแยกประเด็นเป็นสามหัวข้อ คือ หนึ่ง วาทกรรมหลัก ซึ่งส่วนใหญ่มองชาวนาแบบลบหยุดนิ่งตายตัว ผูกติดแนวคิดเรื่องการพึ่งตนเอง วัฒนธรรมไทย ความเป็นไทย ลำดับชั้นคุณค่าและศีลธรรม

ประเด็นที่สองคือภาพรวมการเปลี่ยนแปลงร่วมสมัยจากชนบทในภาคการเกษตร และประเด็นที่สามคือ การทำนาและชาวนาไทยในปัจจุบันที่มีปรากฏการณ์หลักสามประการคือ การละทิ้งการทำนาจนเกิดเป็นนาร้างและเปลี่ยนที่ทำนามาสู่พืชเศรษฐกิจชนิดอื่น

และคำพูดที่ว่าวัฒนธรรมข้าวคือวัฒนธรรมไทย เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมานาน และความคิดแบบนี้ถูกผลิตอย่างแพร่หลายมานานและเป็นการมองข้าว มองการทำนา มองอย่างสัมพันธ์กับความเป็นชาติไทย เป็นมรดก เป็นสมบัติล้ำค่าที่ต้องรักษาไว้ ต้องหวงแหนไว้ แต่ในช่วงสิบห้าถึงยี่สิบปีที่ผ่านมาก็มีงานวิชาการงานวิจัยที่มาผลิตซ้ำความคิดแบบนี้ ว่าการผลิตข้าวเป็นความมั่นคง เป็นตัวกำหนดขนบธรรมเนียมประเพณี ต้องพัฒนาพลิกฟื้น ให้ดำรงอยู่ในยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป

ซึ่งวัฒนธรรมข้าวที่พึงปรารถนาเป็นระบบพึงตนเอง ปลูกเพื่อกินเป็นหลัก ใช้องค์ความรู้พื้นบ้าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ใช้การลงแขก ตรงข้ามกับการผลิตสมัยใหม่ที่ใช้เครื่องจักร ใช้สารเคมี ที่ถูกมองว่าเป็นความเสือมทรามลง เป็นคงวามล่มสลายของจิญตวิญาณ เป็นการล่มสลายของวัฒนธรรมข้าว ซึ่งเป็นพื้นฐานของสังคมไทย

และแนวคิดนี้มีอิทธิพลต่อภาคประชาสังคมไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้มักจะมองว่าการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนที่พวกเขาส่งเสริมและมองว่าความมั่นคงทางอาหารคือการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางสังคมวัฒนธรรม ถ้าไม่มีความมั่นคงทางอาหารก็เท่ากับจะสิ้นชาติ การฟื้นหรืออนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ดั้งเดิม เหมือนเป็นการสิ้นชาติ ความฟุ่มเฟือย ขี้เกียจ อ่อนแอ โง่เขลา ถูกเน้นย้ำว่าเป็นสาเหตุหลักของการละทิ้งการทำนา หรือเปลี่ยนมาสู่รูปแบบการทำนาสมัยใหม่ พร้อมๆ ไปกับการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งหมายถึงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ปฏิบัติตามศีลห้าอย่างเคร่งครัด ละเลิกอบายมุข ยกระดับจิตวิญญาณ และเราก็ได้เห็นข้าวคุณธรรมที่ผลิตออกมาขายในหลายๆ พื้นที่

ที่ผ่านมา แม้หน่วยงานรัฐจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเกษตรสมัยใหม่ แต่แนวทางเกษตรกรรมพึ่งตนเองตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงกลายมาเป็นแผนงานระดับชาติ กลายเป็นเกษตรกรรมทางเลือกกระแสหลักในสังคมไทยไปแล้ว และนำเสนอเสมือนว่าเป็นทางออกของปัญหาระดับชาติ เช่น วิกฤตเศรษฐกิจ หรือปัญหาภาคใต้ ซึ่งนี่เป็นการมองเชื่อมโยงกับความเป็นไทยและความมั่นคงของชาติ

ภาพจากสังคมภายนอกยังคงมองชนบทแบบหยุดนิ่ง และค่อนข้างอุดมคติ และต้องมีชีวิตอยู่ในภาพเดิมๆ ที่เป็นความดีงาม แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชนบท ซึ่งไม่ได้เกิดแค่ในไทยแต่ยังเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ที่ ในโลก

แม้วันนี้ผลผลิตทางการเกษตรจะมีมากขึ้นไม่ได้น้อยลง แต่เป็นไปด้วยเทคโนโลยีการเกษตร ขณะที่ภาคเกษตรที่เป็นแหล่งดูดซับแรงงานในชนบทกลับน้อยลง และกรณีซึ่งที่ดินถูกแบ่งให้เป็นผืนเล็กลงๆ ก็ยิ่งทำให้ภาคเกษตรมีขีดจำกัดในการทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี กิจกรรมนอกภาคเกษตรจึงมีความสำคัญขึ้น

และการลดลงของความสำคัญของภาคเกษตรก็ยังเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่ในชนบทมีการศึกษาที่สูงขึ้น มีการขยายตัวของเมืองและอุตสาหกรรมเข้าไปในชนบททำให้ช่องทางการประกอบอาชีพในชนบทมีมากขึ้น ทำให้ยากที่จะนิยามว่าชนบทเป็นสังคมชาวนา เกิดชนชั้นกลางในชนบท มีคนบางส่วนที่ยังดำรงชีวิตอยู่ในภาคเกษตรซึ่งอาจจะเคยออกไปเป็นแรงงานไร้ฝีมือมาก่อนแล้วตัดสินใจกลับมาทำการเกษตรที่บ้านอีกครั้ง อาจจะเป็นการตัดสินใจตามจังหวะชีวิต หรือหลักหนีความน่าเบื่อหน่ายจากการถูกขูดรีดแรงงาน แต่งานศึกษาหลายชิ้นก็ชี้ให้เห็นว่าการทำการเกษตรทุกวันนี้มีความแตกต่างอย่างมากกับการทำการเกษตรในรุ่นก่อนหน้านี้คือรุ่นพ่อแม่ ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตร มาเป็นการเกษตรที่ใช้ทุนเข้มข้น เป็นเกษตรพันธสัญญา หรือเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร รวมทั้งบริบทใหม่ๆ ที่ผลผลิตทางการเกษตรใหม่ๆ ที่ไม่เคยขายได้มาก่อนมาเป็นสิ้นค้าแบบใหม่ เช่นผักปลอดสารพิษ การที่คนในชนบทบางส่วนกลายเป็นชั้นกลาง ก็กลายมาเป็นผู้บริโภค

สำหรับเศรษฐกิจก็มีเปลี่ยนมาเป็นเครือข่ายมากขึ้น มีความเชื่อมโยงระหว่างใน-นอกภาคเกษตร ซึ่งแปลว่าการออกนอกภาคเกษตรไม่ได้นำมาสู่การล่มสลายของครอบครัวและชุมชนอย่างที่พูดกัน แต่มันคือการรักษาเอาไว้

ความเปลี่ยนแปลงอีกประการคือ การที่คนในครัวเรือนชนบท พ้นจากความยากจนแบบเก่า คือเป็นความยากจนที่เกิดจากการขาดการพัฒนา และขณะเดียวกัน การอพยพแรงงานในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงอพยพออกมาเป็นแรงงานรับจ้างไร้ฝีมือที่มีค่าแรงต่ำ แต่มีความหลากหลายมากขึ้น มีงานแบบชนชี้นกลางในหมู่ผู้มีการศึกษาด้วยในหลายกรณี แต่ในบางกรณีก็จะพบว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในชนบท มีความยากจนที่เกิดขึ้นกับคนบางกลุ่ม เกิดจากกรณีที่คนท้องถิ่นถูกเบียดขับออกไปจากที่ดิน ออกจากทรัพยากรธรรมชาติที่เขาเคยใช้ประโยชน์และยังขาดโอกาสในการประกอบอาชีพนอกภาคเกษตร

 

การทำนาและชาวนาไทยในปัจจุบัน

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้เกิดปรากฏการณ์นาร้าง หรือไม่สามารถคาดหวังรายได้จากการทำนาได้เพียงอย่างเดียว และการทำนาในปัจจุบันค่อนข้างห่างไกลจากการผลิตในอุดมคติ

กรณีนาร้าง และการเปลี่ยนผืนนามาสู่การปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยางพาราและปาล์มน้ำมันซึ่งเกิดขึ้นมาในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นสามจังหวัดชายแดนใต้ ลุ่มน้ำปากพนัง ในนครศรีธรรมราช และพัทลุง ซึ่งตอนนี้มีเพรียงแค่สองจังหวัดที่ปลูกข้าวได้เพียงพอต่อการบริโภคของคนทั้งจังหวัด ซึ่งเอ็นจีโอคาดว่าจะเกิดปัญหา รูปแบบการเปลี่ยนแปลงพืชที่ปลูกถูกมองว่าเกิดจากความอยากได้ใครรวย แต่การตัดสินใจแบบนี้ของเกษตรกรเกิดจากปัจจัยเชิงโครงสร้างด้วย เช่นระบบนิเวศ ที่สืบเนื่องมาจากการพัฒนาต่างๆ เช่น การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหลายสายที่สร้างขวางทางน้ำ ระบบชลประทาน ที่ส่งผลต่อการไหลของน้ำ ทำให้หลายพื้นที่ทำนาไม่ได้ดังเดิม เกิดเป็นนาร้าง ต้องปรับให้เป็นยาง หรือปาล์มน้ำมัน

อีกกรณีที่น่าสนใจคือ กรณีพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นับจากปี 2547 เป็นต้นมา ที่ความรุนแรงระลอกใหม่ปะทุขึ้นทั้งเอ็นจีโอ และหน่วยงานรัฐ พยายามฟื้นฟูนาร้าง ทำให้นาปรังขยายตัวในสี่ห้าปีที่ผ่านมา แต่โครงการเหล่านี้เน้นวาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียง พึ่งตนเอง แต่ชาวบ้านบางแห่งที่พยายามปรับการทำนาให้เข้ากับระบบนิเวศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยชาวบ้านที่ทำนาเขาไม่ได้มองอย่างเชื่อมโยงกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเท่ากับการมองว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ทำให้มีเงินเหลือพอที่จะไปใช้จ่ายอย่างอื่น เช่น การศึกษาของลูกหลาน ทำให้เผชิญชีวิตภายใต้ทุนนิยมสมัยใหม่ได้มากขึ้น

สถานการณ์อีกอย่างคือ การทำนาเคมีแบบเข้มข้น ซึ่งเป็นการทำนากระแสหลัก เราจะพบว่าในประเทศไทยแม้พื้นที่ทำนาจะลดลงในบางภูมืภาค เช่น ภาคใต้ และคนออกนอกภาคเกษตรมากขึ้น แต่การส่งออกข้าวยังคงได้อันดับต้นของโลก แปลว่าเกิดจากการผลิตเข้มข้นในพื้นที่การผลิต เช่น ทำนาสามครั้งต่อปี มีการใช้สารเคมี มีการจ้างงานและใช้เครื่องจักรกล และเปลี่ยนภาพลักษณ์ของชาวนาจากที่เคยหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน มาสู่การเป็นผู้ประกอบการ บริหารเงินทุน บริหารปัจจัยการผลิต การจ้างงานเพื่อให้ได้ผลผลิตมากที่สุด ซึ่งประเด็นที่ต้องการนำเสนอคือ แม้ว่าชาวนาจะพยายามทำนาเคมีแบบเข้มข้น แต่ทุกวันนี้ก็คงไม่มีครัวเรือนไหนแล้วที่จะดำรงชีวิตได้ด้วยการทำนาอย่างเดียว เราอาจจะมีชาวนาเงินล้าน แต่นั่นเป็นเงื่อนไขเฉพาะไม่ได้เกิดขึ้นกับชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศ และชาวนาที่ทำนาแบบเข้มข้นมักถูกมองว่าเป็นปัญหาจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งเอ็นจีโอ และภาคประชาสังคม ที่มองว่าเขาบกพร่อง ขาดความรู้ อ่อนแอ ไม่เท่าทันต่อระบบทุน

แต่สามารถอธิบายได้ว่าภายใต้ระบบการค้าข้าวเปลือกที่ชาวนาไม่สามารถต่อรองได้ ความพยายามทุกวิถีทางในการเพิ่มผลผลิตดูจะเป็นหนทางเดียวในการสร้างหลักประกัน ขณะที่ชาวนาจำนวนมากที่นิยมในการใช้วิถีธรรมชาติก็มีเหตุผลมาจากการที่ว่าพวกเขาไม่มีความมั่นใจ ไม่พร้อมรับความเสี่ยงหากวิธีการเหล่านี้ไม่ได้ผล หากเขาต้องขาดทุน ยิ่งหากการส่งเสริมของหน่วยงานรัฐยังอยู่เพียงระดับการให้ข้อมูล อบรมชั่วครั้งคราว

ทั้งนี้ความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจว่าจะใช้สารเคมีระดับใด ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมก็มองว่าชาวนาเป็นปัญหา เพราะชาวนาเป็นฐานเสียงที่สำคัญทางการเมืองที่รัฐบาลหรือพรรคการเมืองจะต้องมีนโยบายเฉพาะเพื่อยกระดับราคาผลผลิต เป็นภาระสำคัญของประเทศ ทางออกของนักเสรีนิยมคือต้องลดจำนวนชาวนาลง ต้องหาทางทำให้ชาวนายากจน ที่ใช้ต้นทุนสูงผลผลิตต่ำ ออกจากภาคเกษตรไป นักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมกังวลมากว่าภายใต้โครงการรับจำนำข้าวจะจูงใจให้คนกลับมาทำนามากขึ้น และพยายามเพิ่มผลผลิต แต่เป็นการเพิ่มต้นทุนและชาวนาไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เรื่องที่น่าสนใจคือความกังวลของนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมไม่เห็นว่าชาวนาคิดเองได้ ตัดสินใจได้อย่างรอบด้าน ซึ่งเป็นฐานคิดเดียวกับภาคประชาสังคมและองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทยที่มองว่าชาวนาไม่สามารถคิดเองได้ พึ่งตนเองได้

ประเด็นต่อมาคือการทำนาอินทรีย์ และเกษตรอินทรีย์กลับพบความย้อนแย้งว่าดำเนินไปภายใต้วาทกรรมชุมชนนิยม ปฏิเสธทุนนิยม บริโภคนิยม ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วการขยายตัวของเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทยล้วนเกิดจากการขยายตัวของทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ และเป็นเกษตรที่มีการลงทุนสูง มีการแข่งขันในตลาดอย่างเข้มข้น เพราะเป็นการแข่งขันในสินคาเกษตรที่มีราคาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกไปต่างประเทศ จริงๆ แล้วเกษตรอินทรีย์ก็คือเกษตรพันธสัญญารูปแบบหนึ่ง แม้ว่าจะเป็นงานที่เอ็นจีโอและภาคประชาสังคมเข้าไปส่งเสริม และต้นทุนไม่ต่ำ เพราะต้องใช้แรงงานเข้มข้น ต้องใช้แรงงานคนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ถอนวัชพืช หว่านกล้า ดำนา และเกษตรอินทรีย์นั้น ค่าแรงมักไม่ถูกคำนวณในต้นทุน จึงเข้าใจกันว่าต้นทุนต่ำ และครัวเรือนที่ทำนาอินทรีย์ ไม่ได้เป็นเพียงหนทางเดียวในการปลดเปลื้องความยากจน ดูเหมือนจะมีเพียงชาวนารวย ที่มีศักยภาพเข้าถึงทุนและที่ดินและอยู่รอดได้ในวิถีการผลิตแบบอินทรีย์ ในปัจจุบันแม้เกษตรอินทรีย์จะเติบโตอย่างต่อเนื่องแต่จากตัวเลขของมูลนิธิสายใยแผ่นดินพบว่าไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ไม่ได้เป็นเพราะว่าเพวกเขาขาดความรู้เรื่องผลกระทบจากเกษตรเคมี หรือขาดจิตสำนึกสิ่งแวดล้อม แต่เป็นแรงกดดันเงื่อนไขจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความยากจน ชาวนาเหล่านี้ไม่สามรารถใช้เวลาที่ยาวนานหรือใช้แรงงานเข้มข้นได้

ท้ายที่สุด ชลิตาเสนอว่าจากข้อสังเกตที่นำเสนอนั้น องค์กรที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือภาคประชาสังคม เอ็นจีโอ ควรจะพยายามทำความเข้าใจและเงื่อนไขเฉพาะของชาวนทั้งเรื่องพื้นที่ เงื่อนไขการดำรงชีวิต และบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ช่วยในการหาแนวทางในการส่งเสริมเกษตรกรอย่างเหมาะสม

 

000

ผู้อภิปรายวิจารณ์ "สำนักข่าวอิศรา" รายงานคาดเคลื่อน

อนึ่งเมื่อวานนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้รายงานการนำเสนอดังกล่าวและพาดหัวข่าวว่า "วิจัยชี้ชาวนาเร่งใช้ปุ๋ยเคมีเร่งผลผลิต หวังโกยเงิน ‘จำนำข้าว’" พาดหัวรองว่า "งานวิจัยชี้ชาวนารุ่นใหม่ละทิ้งวิถีทำนาแบบเดิม เน้นปุ๋ยเคมี-สารกำจัดศัตรูพืช หวังเพิ่มผลผลิตโกยเงิน ‘จำนำข้าว’ ระบุ ภาพลักษณ์เดิมๆ ‘หลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน’ เริ่มหาย เหลือเพียงผู้จัดการธุรกิจนา" (อ่านข่าว) อย่างไรก็ตาม ในเฟซบุ๊กของชลิดา บัณฑุวงศ์ ได้ชี้แจงว่าการรายงานข่าวดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน โดยโพสต์ว่า

"ในฐานะของผู้ที่ถูกอ้างอิงในรายงานชิ้นนี้ ขอเรียนว่าศูนย์ข่าวอิศราตัดตอนบิดเบือนเนื้อหาที่ดิฉันได้นำเสนออย่างชนิดเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังตีน ดิฉันไม่เข้าใจเลยว่าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มันแย่มาก ผู้สื่อข่าวของศูนย์ข่าวอิศราไร้ความสามารถในการจับประเด็นได้ถึงเพียงนี้เชียวหรือหรือเป็นความจงในบิดเบือนเนื้อหาเพื่อให้สอดคล้องกับจุดยืนทางการเมืองของศูนย์ข่าวอิศราเองกันแน่ ดิฉันอยากจะขอให้ศูนย์ข่าวอิศราช่วยแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้ด้วยได้ไหมค่ะ  สำหรับการนำเสนอเมื่อวานนี้ดิฉันเสนอเป๊ะๆ ตามเปเปอร์ที่เป็นเอกสารประกอบตีพิมพ์แจกในงาน ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดมาอ่านได้ตามลิ้งค์ข้างล่างนะ"

สำหรับรายงาน "ข้าวและชาวนาไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง" สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่นี่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net