Skip to main content
sharethis
เอไอชี้โทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยให้ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในอินเดีย  การปฏิรูปขั้นตอนปฏิบัติและโครงสร้างหน่วยงานอย่างกว้างขวางต่างหากที่จะเป็นทางออกเพื่อแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงอย่างแพร่หลายในอินเดีย
 
 
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลออกแถลงการณ์หลังจากศาลกรุงนิวเดลีลงโทษประหารชีวิตชายสี่คนในคดีรุมโทรมที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2555 ชี้โทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยให้ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในอินเดีย  การปฏิรูปขั้นตอนปฏิบัติและโครงสร้างหน่วยงานอย่างกว้างขวางต่างหาก เป็นทางออกเพื่อแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงอย่างแพร่หลายในอินเดีย
 
เมื่อวันที่ 10 กันยายน ศาลตัดสินว่าชายทั้งสี่คนมีความผิดในข้อหารุมโทรม ฆ่าคนตายและข้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนหน้านี้เยาวชนอายุ 17 ปีได้ถูกตัดสินลงโทษให้เข้ารับการควบคุมตัวในสถานพินิจเด็กและเยาวชนเป็นเวลาสามปีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคมในข้อหาเดียวกัน ส่วนจำเลยอีกคนหนึ่งเสียชีวิตระหว่างอยู่ในห้องขังเมื่อวันที่ 10 มีนาคม
                
ธารา ราว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล อินเดียกล่าวว่าการข่มขืนกระทำชำเราและการสังหารหญิงสาวในกรุงเดลีเมื่อปีที่แล้ว เป็นอาชญากรรมที่น่าสะพรึงกลัว และเราขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียหาย ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษ แต่การใช้โทษประหารชีวิตไม่ได้เป็นคำตอบ
                
“การส่งชายทั้งสี่คนเข้าสู่แดนประหารเป็นเพียงการแก้แค้นชั่วคราว ความโกรธเกรี้ยวของประชาชนอันเป็นผลมาจากคดีนี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ ถึงอย่างนั้นทางการต้องหลีกเลี่ยงการใช้โทษประหารเพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว ไม่มีหลักฐานใดยืนยันว่าโทษประหาชีวิตมีส่วนช่วยป้องปรามการก่ออาชญากรรมอย่างชัดเจน และการใช้โทษประหารชีวิตไม่ได้ช่วยกำจัดความรุนแรงที่กระทำต่อผู้หญิงในอินเดีย”
 
                
คดีข่มขืนกระทำชำเราและความรุนแรงรูปแบบอื่นต่อผู้หญิงยังเกิดขึ้นทั่วประเทศอินเดีย ในเดือนเมษายน รัฐบาลออกกฎหมายใหม่เพื่อเอาผิดกับความรุนแรงต่อผู้หญิงในหลายรูปแบบ ทั้งการสาดน้ำกรด การเฝ้าติดตามตัว และการถ้ำมอง ง อย่างไรก็ดี การข่มขืนกระทำชำเราที่เกิดขึ้นระหว่างสามีภรรยายังไม่ถือเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมาย กรณีที่ภรรยามีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไปและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงยังได้รับการยกเว้นความผิดจากการใช้ความรุนแรงทางเพศ
                
“การแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยการปฏิรูปกฎหมาย รวมทั้งความใส่ใจอย่างต่อเนื่องของทางการที่จะประกันให้ระบบยุติธรรมในทุกระดับตอบสนองต่อปัญหาอย่างเป็นผล ตั้งแต่การรับแจ้งความคดีข่มขืนกระทำชำเราและความรุนแรงทางเพศในรูปแบบอื่น” ราวกล่าว    
               
“นอกจากให้ความสนใจต่อคดีนี้ ทางการจะต้องให้ความสนใจต่อคดีความรุนแรงทางเพศอีกหลายพันคดีซึ่งเกิดขึ้นในอินเดียเช่นกัน ทางการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่าง ๆ รวมทั้งการแต่งตั้งผู้พิพากษามากขึ้นเพื่อประกันให้มีการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมและรวดเร็วในทุกคดี”
                
ที่ผ่านมามักมีการแจ้งความคดีความผิดต่อผู้หญิงน้อยกว่าความเป็นจริง ทางการยังไม่ได้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่ก้าวหน้าหลายประการของ Justice Verma Committee (คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2555 เพื่อเสนอแนะการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอาญาให้มีการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วขึ้นและมีการลงโทษผู้ใช้ความรุนแรงต่อผู้หญิงอย่างเป็นผลมากขึ้น นำโดยผู้พิพากษาศาลฎีกา J.S. Verma – ผู้แปล) รวมทั้งการฝึกอบรมและปฏิรูประบบตำรวจ และการเปลี่ยนวิธีการรับแจ้งความและการสืบสวนสอบสวนคดีความรุนแรงทางเพศ
                
“ต้องมีความพยายามที่ประสานกันจากหลายฝ่ายเพื่อแก้ไขทัศนคติที่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ซึ่งเป็นสาเหตุที่รากเหง้าของความรุนแรง เพื่อให้มาตรการเหล่านี้เป็นผลมากขึ้นในระยะยาว และทำให้ผู้หญิงอินเดียปลอดภัยมากขึ้น เราต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก” ราวกล่าว
                
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลต่อต้านโทษประหารทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาที่มีลักษณะหรือพฤติการณ์อย่างไร ไม่ว่าผู้ที่จะถูกประหารจะเป็นผู้บริสุทธิ์หรือมีความประพฤติอย่างไร หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net