ภิกษุณีกับสิทธิสตรี

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ภาพจาก http://www.thaihealth.or.th/partner/partner_stor/23679

มีบางอย่างที่ติดค้างอยู่ในใจจากการไปร่วมเสวนาเรื่อง “สตรีศึกษาพบพระพุทธศาสนา” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา คือผมแปลกใจเมื่อได้ฟังวิทยากรสตรีท่านหนึ่งกล่าวว่า “พุทธศาสนาถือว่าจะบวชไม่บวชก็บรรลุธรรมได้อยู่แล้ว ที่เรียกร้องการบวชภิกษุณีนั้นใช่ความต้องการของผู้หญิงส่วนใหญ่หรือไม่ เป็นเสียงเรียกร้องแทนผู้หญิงส่วนใหญ่ได้หรือไม่” และวิทยากรสตรีทั้งสองคนต่างยืนยันว่าสิทธิการบวชภิกษุณีไม่เกี่ยวกับสิทธิสตรีซึ่งเป็น “ความคิดแบบตะวันตก”

จะว่าไปแม้แต่ภิกษุณีรูปแรกของไทยคือ พระธัมมนันทาภิกษุณีเองก็เคยให้สัมภาษณ์ในรายกายทีวีทำนองว่า “สิทธิการบวชภิกษุณีเป็นสิทธิที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้แล้ว การเรียกร้องสิทธิการบวชภิกษุณีควรเรียกร้องบนจุดยืนของสิทธิที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้แล้วก็เพียงพอ ไม่ควรเรียกร้องบนจุดยืนสิทธิสตรีซึ่งเป็นความคิดตะวันตก”

ผมเข้าใจว่าทรรศนะเช่นนี้น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากพระสงฆ์หรือปราชญ์ทางพุทธศาสนาในบ้านเราที่มักมีท่าทีที่ไม่ค่อยเป็นมิตรกับสิ่งที่เรียกว่า “ความคิดตะวันตก” เพราะต้องการยืนยัน “ความบริสุทธิ์” เที่ยงตรงของพระธรรมวินัย ฉะนั้น เวลาถกเถียงเรื่องการบวชภิกษุณีหรือสถานะของภิกษุณีไทยจึงมักถกเถียงกันบน “มายาคติ” ที่จินตนาการขึ้นมาว่า

1. มี “พุทธเถรวาทที่บริสุทธิ์” ตามมติสังคายนาครั้งที่ 1 อยู่จริง และมีอยู่อย่างแน่นอนตายตัวเป็น “ภววิสัย” หน้าที่ของพระสงฆ์และชาวพุทธไทยคือปกป้องรักพุทธเถรวาทที่บริสุทธิ์นี้ไว้ ฉะนั้น จึงยอมรับภิกษุณีที่บวชมาจากศรีลังกาไม่ได้เพราะไม่ใช่เถรวาทที่บริสุทธิ์ เนื่องจากภิกษุณีในพุทธเถรวาทเดิมที่ถือมติสังคายนาครั้งที่ 1 ขาดสายไปแล้ว ภิกษุณีศรีลังกาก็ไปบวชในนิกายธัมมคุตติกะหรือธรรมคุปตก์ในประเทศจีนราวพุทธศตวรรษที่ 10 ซึ่งเป็นนิกายที่แยกออกไปจากเถรวาทเดิม

ฉะนั้น คณะสงฆ์ส่วนน้อยของศรีลังกาที่ยอมรับภิกษุณีที่บวชมาจากจีนจึงถูกมองว่าเป็น “เถรวาทกลาย” ไม่ใช่เถรวาทแท้ หากคณะสงฆ์ไทยยอมรับภิกษุณีที่บวชจากศรีลังกา (และที่อื่นซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 40 รูป) คณะสงฆ์ไทยก็จะถูกมองว่าเป็นเถรวาทกลาย ไม่ใช่เถรวาทแท้

ประเด็นคือ อะไรคือเกณฑ์ตัดสินความเป็นเถรวาทแท้หรือเถรวาทกลาย “พิธีกรรม” หรือ “เนื้อหา” กันแน่ ถ้าในแง่พิธีกรรม ภิกษุณีศรีลังกาก็ผ่านพิธีกรรมการบวชภิกษุณีจากนิกายธรรมคุปตก์ แต่ในแง่เนื้อหาภิกษุณีศรีลังกา (และภิกษุณีไทยที่บวชจากศรีลังกา) ก็ถือวินัย 311 ข้อ ตามมติสังคายนาครั้งที่ 1 ที่บันทึกไว้ในวินัยปิฎก ฉะนั้น ในแง่เนื้อหาย่อมถือว่าภิกษุณีศรีลังกาและภิกษุณีไทยคือเถรวาทแท้ แต่ในแง่พิธีกรรมการบวชที่สืบจากจีนคือเถรวาทกลาย

แต่ปัญหาคือ ถ้าอ้างพิธีกรรมเป็นมาตรฐานตัดสินความเป็น “เถรวาทกลาย” ถามว่าพิธีกรรมต่างๆของคณะสงฆ์ไทยยังเป็นไปตาม “ประเพณี” (tradition) หรือมติของเถรวาทเดิมในการสังคายนาครั้งที่ 1 หรือไม่ เช่น พิธีกรรมการบวชพระในสมัยพุทธกาลตามมติสังคายนาครั้งที่ 1 ไม่ว่าพุทธะบวชให้เอง พระสาวกบวชให้ หรือสงฆ์บวชให้จะต้องระบุเป้าหมายหลักของการบวชเอาไว้ว่า “เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง” (นิพฺพานสจฺฉิกรณตฺถาย) แต่พิธีบวชพระของคณะสงฆ์ไทยกลับตัดข้อความนี้ออกไป

ฉะนั้น จะถือว่าคณะสงฆ์ไทยเป็นเถรวาทกลายหรือไม่ เพราะไม่ได้ยึดเป้าหมายของการบวชแบบสมัยพุทธกาลตามมติสังคายนาครั้งที่ 1 ที่ถือกันว่าเป็นเถรวาทแท้ เป้าหมายการบวชของคณะสงฆ์ไทยทุกวันนี้ “กลายพันธุ์” ไปมาก เช่นบวชแก้บน บวชก่อนเบียด บวชแทนคุณ บวชเรียนเพื่อสึกไปทำงาน มีการสร้างองค์กรสงฆ์ที่ปกครองโดยกฎหมายของรัฐ มีระบบสมณศักดิ์ มีพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ แบบพราหมณ์ มีพิธีปลุกเสกกันแทบทุกวัด ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้ไม่เคยมีในสมัยพุทธกาล และไม่มีอยู่ในมติของการสังคายนาครั้งที่ 1 สมัยนั้นแม้แต่พระพุทธรูปก็ยังไม่มี

คำถามคือว่า ถ้าใช้พิธีกรรมเป็นมาตรฐานตัดสินความเป็น “เถรวาทกลาย” ของภิกษุณี ทำไมไม่ใช้มาตรฐานเดียวกันนี้มาตัดสินความเป็นเถรวาทกลายของคณะสงฆ์ไทยด้วย โดยพิธีกรรม จารีตประเพณี วิถีชีวิตที่เป็นจริงของคณะสงฆ์ไทยปัจจุบันมี “เนื้อหา” อะไรบ้างที่ตรงกับหรือสอดคล้องกับเถรวาทแท้ (?) ตามมติสังคายนาครั้งที่ 1 จริงๆ

ถ้าในความเป็นจริงสงฆ์ไทยก็ไม่ใช่เถรวาทแท้ตรงตามต้นฉบับสังคายนาครั้งที่ 1 จริงๆ แล้วสงฆ์ไทยมีความชอบธรรมอะไรที่จะไปตัดสินว่าภิกษุณีเป็นเถรวาทกลาย เถรวาทไม่แท้

2. การมองว่าสิทธิการบวชภิกษุณีไม่เกี่ยวกับสิทธิสตรี สิทธิมนุษยชน ซึ่งเท่ากับกำลังมองว่าธรรมวินัยของพุทธะลอยอยู่เหนือบริบททางสังคมและวัฒนธรรม แต่ตามหลักฐานในพระไตรปิฎก ธรรมวินัยของพุทธะมีปฏิสัมพันธ์กับบริบทเสมอ คือพุทธะสอนธรรมและบัญญัติวินัยภิกษุ ภิกษุณีอย่างสัมพันธ์กับบริบทของทุกข์หรือปัญหาของบุคคล เวลา สถานที่ และบริบททางสังคมวัฒนธรรม เช่นครุธรรม 8 ก็บัญญัติขึ้นโดยยอมรับบริบทวัฒนธรรมทางเพศในสมัยนั้นเป็นต้น

แต่พุทธะก็ได้วางหลักการกว้างๆ (หลักมหาปเทศ) ไว้ว่า “สิ่งใดที่ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ว่าควร แต่เข้ากันได้กับสิ่งที่ตถาคตกล่าวไว้ว่าควร ก็สมควรรับมาปฏิบัติได้” พูดในภาษาวิชาการหลักการนี้คือ “ทฤษฎีความสอดคล้องของมโนทัศน์ (concepts)” ฉะนั้น แม้สิทธิสตรี สิทธิมนุษยชนจะเป็นความคิดตะวันตก ไม่ใช่สิ่งที่พุทธะกล่าวไว้โดยตรง แต่สาระสำคัญคือการยืนยัน “ความเสมอภาคของมนุษย์” ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลที่พุทธะอนุญาตให้สตรีบวชเพราะถือว่า “สตรีมีศักยภาพบรรลุธรรมได้เช่นเดียวกันกับบุรุษ” หมายความว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศใดต่างมีความเสมอภาคในความเป็นมนุษย์ เพราะมีพุทธภาวะ ความเป็นพุทธะ หรือศักยภาพที่จะรู้ธรรมอยู่ในตนเองเสมอเหมือนกัน

ฉะนั้น ผมจึงยืนยันว่า ในเมื่อธรรมวินัยของพุทธะมีความสัมพันธ์กับบริบททางสังคมวัฒนธรรมตั้งแต่แรก เมื่อธรรมวินัยนั้นมาอยู่ในบริบทของโลกสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิทธิสตรี สิทธิมนุษยชน ธรรมวินัยก็ต้องถูกตีความอย่างสัมพันธ์กับบริบทสมัยใหม่ในทางที่เกื้อกูลแก่กัน (สมัยราชาธิปไตยทำไมตีความพุทธศาสนายกผู้ปกครองให้เป็นเทวดาได้?) เราจึงควรอ้างสิทธิสตรี สิทธิมนุษยชนสนับสนุนสิทธิการบวชภิกษุณีได้

เมื่อมีจุดยืนชัดเจนแบบนี้ แม้จะมีผู้หญิงเพียงคนเดียวเรียกร้องสิทธิการบวชภิกษุณีและมีเงื่อนไขให้บวชได้ เช่นไปบวชมาจากต่างประเทศเป็นต้น ชาวพุทธก็ต้องเคารพและปกป้องสิทธิดังกล่าวนี้

ผมคิดว่าแม้ภิกษุณีก็ควรมีบทบาทในการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนสิทธิเท่าเทียมของสตรีในเรื่องอื่นๆด้วย เราควรสนับสนุนการบวชภิกษุณีพร้อมๆ กับสนับสนุน “อำนาจในตัวเอง” หรือ “ความเป็นอิสระ” (autonomy) ของสตรีในบทบาทการศึกษาตีความพุทธศาสนาที่พ้นไปจากกรอบการตีความพุทธศาสนาแบบผู้ชายเป็นใหญ่ สนับสนุนบทบาทนำทางวิชาการ ทางความคิดของสตรีในทางพุทธศาสนา และในทางอื่นๆ ให้มีพื้นที่และมีเสียงดังมากขึ้น

 

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน “โลกวันนี้วันสุข” (14-20 กันยายน 2556)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท