Skip to main content
sharethis
รวมข่าวจากฝ่ายนิติบัญญัติ กรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ กฎหมาย ร่างกฎหมาย และความเคลื่อนไหวในรัฐสภาของ ส.ส. และ ส.ว. และพรรคการเมืองต่างๆ ประจำสัปดาห์
 
กลุ่ม 40 ส.ว.ตำหนิ การทำหน้าที่ของประธานวุฒิสภาที่นัดประชุมร่วมรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ ใช้เวลาเบียดบังการทำงานของวุฒิสมาชิก
 
9 ก.ย. 56 - กลุ่ม 40 ส.ว. ตำหนิการทำหน้าที่ของประธานวุฒิสภา ที่ปล่อยให้มีการนัดประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ จนเบียดบังเวลาการทำงานของวุฒิสมาชิกที่ต้องการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนก่อน แต่รัฐธรรมนูญให้ประโยชน์กับนักการเมืองไม่เกิน 3 พันคน
 
การประชุมวุฒิสภาในวันนี้ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ได้เปิดโอกาสให้ ส.ว.หารือปัญหาต่าง ๆ โดย ส.ว.หลายคนได้หารือต่อที่ประชุมถึงการทำหน้าที่ของนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา หลังมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วหลายครั้ง และในวันนี้ยังมีการนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาต่อในเวลา 14.00 น. โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ที่ประชุมวุฒิสภา มีหน้าที่สำคัญในการนำปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเข้าหารือเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ติดตามตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐ เปิดเผยประเด็นสาธารณะเพื่อประโยชน์ประชาชน แต่ในช่วงที่ผ่านมาตน และ ส.ว.กลับถูกกีดกันการทำหน้าที่ดังกล่าว จากการงดประชุมวุฒิสภาหลายครั้งแล้วนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญแทน โดยเฉพาะในสัปดาห์นี้มีการแจ้งนัดประชุมวุฒิสภาในวันที่ 9 - 10 ก.ย. ไปแล้ว แต่กลับงดการประชุมตั้งแต่บ่ายนี้ เป็นต้นไป การดำเนินการของนายนิคม ทำเสมือนวุฒิสภาเป็นส่วนตัว ทำตามอำเภอใจ เพื่อประโยชน์ส่วนตนด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็น ส.ว.ต่อได้ และแก้ให้ลงสมัครโดยไม่ต้องลาออกจากตำแหน่งวุฒิสภาได้ จากการแก้ไขมาตรา 5 วงเล็บ 9 อีกทั้งปิดปากตนไม่ให้พูดในประเด็นดังกล่าว ด้วยการรวบรัดให้มีการลงมติมาตรา 5 พร้อมย้ำว่า ตนรู้สึกผิดหวังและหากย้อนเวลาได้ ตนจะไม่เลือกนายนิคมมาตั้งแต่ครั้งเลือกให้เป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1
 
ขณะที่  นายคำนูญ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ที่ผ่านมาตนเคยชื่นชมการทำหน้าที่ ของนายนิคม ที่นัดประชุมวันอังคารเพิ่มเติมจากการประชุมทุกวันจันทร์ของสัปดาห์ ซึ่งช่วยสนับสนุนการทำงาน ส.ว.ไม่ให้มีวาระค้างการพิจารณาจำนวนมากได้ แต่การปล่อยให้มีการนัดประชุมร่วมรัฐสภาเบียดบังการประชุมวุฒิสภาในวันนี้ซึ่งไม่ใช่การอนุมัติตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มีวาระการพิจารณาปรากฏอยู่ถึง 7 หน้ากระดาษ จึงต้องการให้ประธานและรองประธานรัฐสภา ทบทวนการเบียดบังเวลาของวุฒิสภาโดยเร่งด่วน
 
ด้าน นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า 8 วันที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างทุลักทุเล นับเป็นเสียงข้างมากที่ฉ้อฉล และก่อให้เกิดความยุ่งยาก ทั้งที่มีผู้ได้รับประโยชน์จากการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นนักการเมืองเพียงไม่เกิน 3 พันคน แต่ประชาชนไม่ได้อะไร อีกทั้งยังมีกระบวนการดำเนินการที่ส่อเค้าขัดรัฐธรรมนูญ ด้วยการรวบรัดลงมติ มาตรา 5 มาตรา 7 และมีแต่บุคคลเฉพาะกลุ่ม ที่บอกว่ามีความจำเป็นต้องเร่งให้จบ และใช้วิธีลากยาวประชุม
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
วุฒิสภา มีมติให้นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ตามที่คณะกรรมการอัยการเสนอ มีผล 1 ต.ค. นี้
 
9 ก.ย. 56 -  ที่ประชุมวุฒิสภามีมติด้วยเสียง 137 เสียง  ให้นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ตามที่คณะกรรมการอัยการเสนอชื่อ และได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาด้วยการตรวจสอบประวัติจากคณะกรรมาธิการสามัญฯ ประชาชนและส่วนราชการแล้ว
 
ที่ประชุมวุฒิสภามีมติเห็นชอบให้ นายอรรถพล ใจสว่าง  ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 56 ด้วยเสียง 137 เสียง ไม่ออกเสียง 1 เสียง  และไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย โดยขั้นตอนดังกล่าวมีขึ้นหลังการประชุมลับและลงคะแนนอย่างเปิดเผย ในการประชุมวุฒิสภาวันที่ 9 ก.ย. 56    ทั้งนี้ ภายหลังจากที่สำนักงานอัยการสูงสุดส่งหนังสือขอให้ประธานวุฒิสภาให้ความเห็นชอบ พร้อมกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง จากมติเอกฉันท์ของคณะกรรมการอัยการ เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 56 ให้เลื่อน นายอรรถพล ใหญ่สว่าง รองอัยการสูงสุด ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด คนปัจจุบัน ที่จะพ้นจากตำแหน่งเมื่ออายุ 63 ปี ในสิ้นปีงบประมาณ 56 ตามมาตรา 104 ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 และตามมาตรา 9 วรรค 1 ของ พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญราชการ พ.ศ. 2551 โดยในส่วนของวุฒิสภา หลังรับเรื่องจากคณะกรรมการอัยการแล้วได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อ ซึ่งมีนายชูชัย เลิศพงศ์อดิศร  ส.ว.เชียงใหม่ ทำหน้าที่ประธานมีกรอบเวลาการดำเนินงาน 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค. 56 และได้ทำการขอความร่วมมือไปยังสื่อมวลชน ส่วนราชการ ทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและแสดงความคิดเห็น ข้อมูล ข้อเท็จจริงของนายอรรถพล มายังกรรมาธิการฯ เพื่อประกอบการพิจารณา พร้อมได้เปิดรับฟังความคิดเห็นผ่าน ตู้ ปณ.45 ปณฝ.รัฐสภา และเว็บไซต์ของวุฒิสภา นอกจากนี้ ได้เชิญ นายอรรถพล เข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็นด้านการปฏิบัติงาน มุมมอง วิสัยทัศน์ ต่อกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 2 ก.ย.ที่ผ่านมา และสรุปข้อมูลทั้งหมดที่ได้จัดทำเป็นรายงานลับเสนอให้วุฒิสภาพิจารณาก่อนลงคะแนนเสียง
 
ทั้งนี้ ประวัติส่วนตัวของ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง จบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต(เกียรตินิยมดี) ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2514 จบเนติบัณฑิตไทย นิติศาสตรมหาบัณฑิต ม.ธรรมศาสตร์ และได้รับปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิต(กิตติมศักดิ์) ม.รามคำแหง มีประวัติการทำงานสำคัญ อาทิ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ อธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ ผู้ตรวจราชการอัยการ รองอัยการสูงสุด และตำแหน่งงานสำคัญ อาทิ กรรมการเนติบัณฑิตยสภา
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ส.ส.กทม. จี้ การทางพิเศษฯ เร่งแก้ปัญหา easy pass ทั่วกรุงเทพฯ ขัดข้อง คิดเงินค่าผ่านทางแพงเกินจริง
 
9  ก.ย. 56 - ส.ส.กทม. จี้ การทางพิเศษฯ เร่งแก้ปัญหาeasy pass ทั่วกรุงเทพฯ ขัดข้อง คิดเงินค่าผ่านทางแพงเกินจริง  จนประชาชนถูกยึดบัตร ทั้งที่เพิ่งเติมเงินชี้ ระบบขัดข้องเกิดจากการปรับขึ้นค่าผ่าน  ซึ่งยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชน  พร้อมเผย เตรียมร้องเรียนไปยัง กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค พุธนี้
 
นายสามารถ มะลูลีม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ แถลงที่รัฐสภา เรียกร้องการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเร่งแก้ปัญหา หลังประชาชนร้องเรียนด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ (easy pass)  ทั่วกรุงเทพฯ ขัดข้อง คิดเงินค่าผ่านทางแพงเกินจริง ประชาชนถูกยึดบัตร ทั้งที่เพิ่งเติมเงิน ซึ่งตนก็ได้ประสบกับปัญหาด้วยตัวเองเช่นกัน คือภายในวินาทีเดียวระบบแจ้งว่าวิ่งผ่านถึง28ด่าน ซึ่งเป็นไปไม่ได้  และเชื่อว่าการที่ระบบขัดข้องเกิดจากการปรับขึ้นค่าผ่านทางจาก 45 บาท เป็น   50 บาท ซึ่งยิ่งเป็นการซ้ำเติมประชาชน   ขณะเดียวกันพบว่าเมื่อประชาชนแจ้งข้อขัดข้องที่ด่านเก็บเงินเจ้าหน้าที่ไม่สามารถแก้ไขได้กลับบอกเพียงว่าเป็นการขัดข้องที่ระบบและให้ไปแจ้งปัญหาที่สำนักงานใหญ่แทน   ตนจึงขอเตือนให้ประชาชนระวังเปลี่ยนมาจ่ายเป็นเงินสดแทน และขอให้ทางการทางพิเศษฯ เร่งออกประกาศชี้แจงให้ประชาชนทราบ พร้อมยกเลิกการใช้easy pass ชั่วคราวก่อน จนกว่าจะแก้ปัญหาแล้วเสร็จ และต้องเติมเงินคืนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ  อย่างไรก็ตาม  ตนจะนำเรื่องนี้เสนอต่อคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภคในวันพุธนี้ (11ก.ย.) เพื่อเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง และเร่งแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
กลุ่ม ส.ว.รักชาติ แถลงขอโทษประชาชนกรณีสมาชิกรัฐสภาแสดงกิริยาไม่เหมาะสมในที่ประชุมฯ
 
9 ก.ย. 56 – กลุ่ม ส.ว.รักชาติ แถลงขอโทษประชาชนกรณีสมาชิกรัฐสภาแสดงกิริยาไม่เหมาะสมในที่ประชุมรัฐสภา เรียกร้อง สมาชิกรัฐสภาร่วมปรับปรุงวิธีการทำงานและภาพลักษณ์ของรัฐสภาใหม่ หวังเรียกความเชื่อมั่นกลับคืน
 
กลุ่มสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผู้รักชาติ นำโดยนายสิงห์ชัย ทุ่งทอง สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดอุทัยธานี และคณะ ร่วมแถลงถึง กรณีสมาชิกรัฐสภาแสดงกิริยามารยาทและใช้วาจาที่ไม่สุภาพในที่ประชุมร่วมรัฐสภาและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมาว่า การแสดงกิริยาอันไม่เหมาะสมในการทำหน้าที่ในฐานะของผู้แทนของประชาชนดังกล่าวได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์สร้างความเสียหายให้กับภาพลักษณ์ของรัฐสภาไทยเป็นอันมาก จนได้รับการร้องเรียนและติติงจากประชาชน ดังนั้นในฐานะสมาชิกรัฐสภาจึงขอแสดงความเสียใจและขอโทษต่อประชาชนในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง พร้อมขอเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาและรองประธานรัฐสภาทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง ใช้เหตุและผล ยึดถือข้อบังคับการประชุมอย่างเคร่งครัด ตลอดจนให้หัวหน้ากลุ่มต่างๆ ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเสนอแนะสมาชิกในกลุ่มให้ทำหน้าที่ด้วยความสุภาพ ปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ทั้งนี้ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือในการร่วมกันปรับปรุงระบบและวิธีการทำงานของรัฐสภา รวมทั้งปรับปรุงวิธีการแสดงออกและภาพลักษณ์รัฐสภาเสียใหม่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา และการทำหน้าที่ผู้แทนประชาชนให้เป็นที่ยอมรับ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ ประชาชนและสมาชิกรัฐสภาโดยรวมอย่างแท้จริงต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา/ เรียบเรียง
 
ประธานรัฐสภา ไม่แสดงความเห็นกรณีรัฐแถลงนโยบายต่อรัฐสภาล่าช้า
 
9 ก.ย. 56 - ประธานรัฐสภา ระบุ ไม่ขอให้ความเห็นกรณีรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาล่าช้า ชี้ รธน.ไม่ได้ระบุ บทลงโทษไว้จึงไม่เข้าข่ายมีความผิด โยนวิปรัฐฯประสานเพื่อกำหนดวันแถลงผลงานที่ชัดเจน พร้อมขอความร่วมมือสมาชิกอภิปรายแก้ไข รธน.ตามกรอบข้อบังคับ หวังพิจารณาแล้วเสร็จโดยเร็ว  
 
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแถลงนโยบายรัฐบาลว่า   ไม่ขอให้ความเห็นถึงความรับผิดชอบกรณีที่รัฐบาลยังไม่แถลงผลงานรัฐบาลต่อรัฐสภา ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องแถลงผลงานต่อรัฐสภาภายใน 1ปี แต่เห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุบทลงโทษกรณีที่ไม่ดำเนินการตามบทบัญญัตินี้ จึงอาจไม่เข้าข่ายมีความผิด และเห็นว่าเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล ที่จะต้องประสานเพื่อกำหนดวันแถลงผลงานที่ชัดเจน หลังรัฐบาลส่งเอกสารให้กับสภาแล้ว ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะกำหนดวันแถลงผลงานหลังการพิจารราร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ
 
ต่อข้อถามถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประธานรัฐสภากล่าวว่า ได้ให้สิทธิสมาชิกอภิปรายอย่างเต็มที่ โดยไม่กำหนดกรอบเวลาการพิจารณา แต่อย่างไรก็ตาม ขอความร่วมมือให้สมาชิกอภิปรายอยู่ในประเด็นและกรอบข้อบังคับ เพื่อให้การประชุมแล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะยังมีกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับที่รอการพิจารณา
 
ประธานรัฐสภา กล่าวถึงกรณีสมาคมภัตตาคารไทยประกาศขึ้นราคาอาหารอยู่ที่ 50 บาท ต่อจานว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบในประเด็นนี้และงานของสภาฯไม่ใช่หน้าที่และไม่มีอำนาจในเรื่องนี้ 
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.เพื่อไทย เรียกร้องผู้ชุมนุมสวนยางพอใจกับความช่วยเหลือจากรัฐบาล
 
9 ก.ย. 56 - ส.ส.ก่อแก้ว พิกุลทอง พรรคเพื่อไทย เรียกร้องผู้ชุมนุมสวนยางพอใจกับความช่วยเหลือของรัฐบาล ยุติแนวทางการชุมนุมปิดถนนก่อนคนในพื้นที่ได้รับผลกระทบวงกว้างและต่อต้านการชุมนุม  
 
นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีการชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง 16จังหวัด อย่างต่อเนื่องว่า ขอฝากไปยังผู้ชุมนุมอย่าเรียกร้องอะไรที่รัฐบาลทำไม่ได้ เนื่องจากรัฐบาลได้พยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่อีกทั้งได้เรียกหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วมหาทางออกแล้ว ขณะเดียวกันขอให้ผู้ชุมนุมยอมรับราคาที่ชาวสวนยางส่วนใหญ่เห็นพ้องในการเจรจาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ราคา 90 บาท ที่สำคัญขอเรียกร้องผู้ชุมนุมอย่าปิดด่านสะเดา จ.สงขลา เนื่องจากเป็นด่านสำคัญในการส่งออกสินค้าไทยไปยังสิงคโปร์ และเป็นด่านสำคัญให้นักท่องเที่ยวจากมาเลเซียและสิงคโปร์เข้ามาประเทศไทย และอย่าปิดแยกปฐมพร จ.ชุมพร ที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การค้าทั่วทั้งภาคใต้อย่างรุนแรง โดยเฉพาะธุรกิจด้านการท่องเที่ยว  ส่งจะเป็นปัญหาต่อชื่อเสียงของประเทศในระยะยาวเช่นที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้านี้แล้วจากกรณีการปิดสนามบิน
 
นายก่อแก้ว กล่าวต่อไปว่า ตนเชื่อว่าคนใต้ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมเรียกร้องปิดเส้นทาง  ซึ่งหากยังดำเนินการต่อจะส่งผลเสียต่อผู้เรียกร้องเองให้ขาดเสียงสนับสนุน ขณะที่คนใต้ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมจะลุกขึ้นมาเรียกร้องต้านการชุมนุมเอง ดังนั้น จึงต้องการให้ผู้ชุมนุมหาจุดร่วมให้ได้ เพื่อหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ พร้อมขอบคุณ นายกฯ ที่แสดงออกอย่างจริงจังในการแก้ปัญหา ไม่ทำงานด้วยปาก แต่ลงมือด้วยการกระทำ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ส.ส.ประชาธิปัตย์ ระบุ การสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้ากว่ากำหนด เร่งให้ประธานสภาติดตามงาน
 
9 ก.ย. 56 - นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ระบุ การก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ล่าช้ากว่ากำหนดจากสาเหตุการส่งมอบพื้นที่ไม่เป็นไปตามสัญญา ส่งผลให้เบื้องต้นต้องจ่ายค่าชดเชยราว 200 ล้านบาท จี้ ประธานสภา ประธานวุฒิสภา และเลขาธิการสภาฯ เร่งติดตามงาน
 
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในสัปดาห์ที่ผ่านมากรรมาธิการได้เชิญบริษัทที่ปรึกษาการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ เข้าให้ข้อมูลถึงความคืบหน้าการก่อสร้าง ซึ่งพบว่ามีความล่าช้าจากแผนที่ตั้งไว้ จากเดิมที่กำหนดความคืบหน้าหลังเซ็นสัญญา 88 วัน ตั้งแต่ 8 มิ.ย.-3 ก.ย.56 ไว้ 3.84 % แต่ข้อเท็จจริงกลับมีความคืบหน้าเพียง 0.34 % จากสาเหตุความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราชการ อาทิ โรงเรียนโยธินบูรณะ โรงเรียนขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) บ้านพักโรงเรียน ขส.ทบ. ทั้งหมดรวม 90 ไร่ มีการส่งมอบไปเพียง 47 ไร่
 
นายบุญยอด กล่าวต่อไปว่า ความล่าช้าที่เกิดจากการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาจนทำให้ผู้รับจ้างขอขยายสัญญาออกไป จะกระทบกับค่าจ้างที่ต้องจ่ายเพิ่มให้บริษัทที่ปรึกษาโครงการและบริษัทที่ควบคุมงานต่อไปอีกราว 14 เดือนครึ่ง คิดเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มประมาณ 145 ล้านบาท ยังไม่รวมกับค่าเช่าสถานที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ต้องเช่าสำนักงานอาคารดีพร้อมต่ออีกกว่า 55.1 ล้านบาท รวมสองกรณีนี้สร้างความเสียหายรวมประมาณ 200 ล้านบาท ตนจึงขอทวงถามไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภาในฐานะประธานคณะกรรมการที่กำกับดูแลโครงการตั้งแต่ต้น รวมถึงเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือเป็นผู้มีหน้าที่หลัก ให้ใช้อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบในการเร่งติดตามควบคุมงานการก่อสร้างที่เกิดความล่าช้า มากกว่าจะเร่งรีบในการประชุมแก้ไขรัฐธรรมนูญ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
วิปรัฐบาล ยืนยัน ไม่มีการร่วมมือกับรองประธานรัฐสภาเร่งรัดลงมติร่างแก้ไข รธน.
 
10 ก.ย. 56 - ประธานวิปรัฐบาล ยืนยัน ไม่มีการร่วมมือกับรองประธานรัฐสภาเร่งรัดลงมติร่างแก้ไข รธน. ที่มา ส.ว. พร้อมเผย เตรียมพิจารณาบรรจุระเบียบวาระแถลงผลงานของรัฐบาล และร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ในวันพรุ่งนี้ (11 ก.ย. 56)
 
นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวยืนยันว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่ผ่านมาไม่ได้มีการรวบรัดการพิจารณาแต่อย่างใด โดยให้สิทธิสมาชิกรัฐสภาอภิปรายอย่างเต็มที่ แต่ที่ผ่านมาสมาชิกส่วนใหญ่อภิปรายซ้ำซ้อนและไม่ตรงประเด็น ตลอดจนไม่ได้มีการร่วมมือกับนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ในการเสนอปิดอภิปราย เพื่อเร่งรัดให้มีการลงมติร่างแก้ไข รธน.ประเด็นที่มาของ ส.ว.ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ทั้งนี้มองว่าการเสนอปิดอภิปรายของสมาชิกเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เพราะเห็นว่าสมาชิกอภิปรายครบทุกประเด็นแล้ว ส่วนกรอบเวลาการพิจารณายังไม่สามารถระบุได้ว่าจะแล้วเสร็จภายในวันศุกร์ที่ 13 กันยายนนี้หรือไม่ อย่างไรก็ตามได้ให้เวลาฝ่ายค้านอภิปรายอย่างเต็มที่
 
ประธานวิปรัฐบาล กล่าวอีกว่า ในวันพรุ่งนี้ (11 ก.ย. 56) วิปรัฐบาลจะหารือกับทางสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาบรรจุระเบียบวาระการแถลงผลงานของรัฐบาล รวมถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...วงเงิน 2 ล้านล้านบาทบาท
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ / เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้าน เชื่อ แก้ไข รธน.ครั้งนี้ทำตามใบสั่ง
 
10 ก.ย. 56 - วิปฝ่ายค้าน ระบุ การแก้ไข รธน.ในมาตราที่เหลือ ยังคงมีการปิดปากปิดหูปิดตาผู้อภิปรายและประชาชน โดยการเร่งรัดให้ลงมติในทุกมาตรา พร้อมเชื่อ มีใบสั่งให้แก้ รธน.เพื่อเดินหน้าสู่การครอบงำวุฒิสมาชิกและกินรวบประเทศไทย
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภาในมาตราที่เหลือว่า วิปฯเชื่อว่าประธานรัฐสภา รองประธานรัฐสภาและรัฐบาลจะจับมือกันหักดิบ ปิดปากการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านและวุฒิสมาชิก รวมถึงปิดหูปิดตาประชาชนต่อไป โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีความเห็นต่างอภิปรายไม่กี่คนและเร่งรัดให้มีการลงมติในทุกมาตราถัดจากนี้ไปเพื่อให้การแก้ไข รธน.แล้วเสร็จก่อนเดือนมีนาคม 57 เพื่อเอื้อให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากเลือกตั้ง ลงเลือกตั้งซ้ำอีก ซึ่งถือเป็นการกระทำผิด รธน.ซ้ำซาก ทั้งนี้เห็นว่าหากยังทำแบบนี้ต่อไป รธน.ฉบับนี้จะมีอันเป็นไปอย่างแน่นอน
 
ประธานวิปฯ กล่าวต่อถึงกรณีมีข่าวว่า มีบุคคลสำคัญภายนอกประเทศคาดโทษ  สมาชิกฟากรัฐบาลที่ขาดการประชุมเมื่อวันเสาร์ที่ 7 ก.ย. 56 ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การแก้ รธน.ครั้งนี้มีคนนอกประเทศเข้ามาเกี่ยวข้อง และถือว่าการแก้ รธน.มีความสำคัญสำหรับบุคคลบางคนและคนบางกลุ่ม ดังนั้นที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้ที่ว่า การแก้ รธน.ครั้งนี้ทำเพื่อเดินหน้าสู่การครอบงำวุฒิสมาชิก กินรวบประเทศไทยในอนาคตก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินความเป็นจริง สรุปได้ว่าเป็นการแก้ รธน.ตามใบสั่งจริง
 
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการพิจารณาในมาตรา 8 ว่า มีผู้สงวนความเห็นและสงวนคำแปรญัตติไว้ 94 คน ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์มี 20 คน ซึ่งฝ่ายค้านจะทำหน้าที่คัดค้านการแก้ รธน.ฉบับนี้อย่างเต็มที่และขอฝากเตือนไปยังประธานฯ รองประธานรัฐสภาและเสียงข้างมากอย่างกระทำผิด รธน.ซ้ำซากเพราะการตัดสิทธิ์ไม่ไห้อภิปรายถือว่า ผิด รธน.และจะทำให้ รธน.ฉบับนี้มีอันเป็นไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.หญิงเพื่อไทย จี้ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ขอโทษนายกรัฐมนตรี
 
10 ก.ย. 56 - ส.ส.หญิง พรรคเพื่อไทย เรียกร้อง ผู้นำฝ่ายค้านฯ ขอโทษนายกรัฐมนตรี หลังกล่าวคำปราศรัยไม่เหมาะสมโจมตีนายกฯ บนเวทีผ่าความจริง
 
ส.ส.หญิง พรรคเพื่อไทย นำโดย นางสาวสุณีย์ เหลืองวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ออกมากล่าวคำขอโทษนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลังกล่าวคำไม่เหมาะสมโจมตีนายกฯ เกี่ยวกับโครงการสมาร์ท เลดี้ ของรัฐบาลบนเวทีปราศรัยผ่าความจริง เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา โดยนางสาวสุณีย์ ได้กล่าวว่า คำปราศรัยดังกล่าวถือเป็นการดูถูกผู้หญิงอย่างรุนแรง จึงอยากให้นายอภิสิทธิ์ ออกมาขอโทษต่อผู้หญิงทั้งประเทศ เพื่อเป็นการแสดงความเป็นสุภาพบุรุษ เนื่องจาก ส.ส.หญิงทั้งพรรคได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ซึ่งแสดงว่าผู้หญิงได้รับการยอมรับจากประชาชน ดังนั้นขอให้นายอภิสิทธิ์ออกมาขอโทษ หากไม่ออกมากล่าวคำขอโทษจะนำผู้หญิงทั้งประเทศไปมอบผ้าถุงให้
 
ด้านนายจิรายุ กล่าวว่า ทางพรรคจะไม่ตอบโต้คำกล่าวหาใดๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ทั้งในและนอกสภา เนื่องจากไม่เป็นความจริง แต่ขอให้นายอภิสิทธิ์ให้เกียรตินายกฯ เพื่อรักษาสถาบันนายกรัฐมนตรี เล่นการเมืองอย่างสร้างสรรค์อย่าใช้ความรุนแรงทางคำพูดกับผู้หญิง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
วิปฝ่ายค้าน จี้ นายกฯ ปรับพฤติกรรมให้สอดคล้องกับถ้อยแถลงต่อ UNHCR
 
10 ก.ย. 56 -    วิปฝ่ายค้าน แถลง จี้นายกฯ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับถ้อยแถลงต่อที่ประชุมUNHCR ที่ระบุประชาธิปไตยต้องเคารพเสียงข้างน้อย พร้อมเรียกร้องให้เข้าประชุมสภาตอบวาระกระทู้ถามสด แก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชน ไม่ใช่เข้าสภาเฉพาะนัดแก้ไขรัฐธรรมนูญ
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) แถลงกรณีนายกฯ กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ(UNHCR)ว่าประชาธิปไตยต้องเคารพเสียงข้างน้อยนั้นนับเป็นการสร้างภาพลวงโลก เพราะนายกฯ และรัฐบาลชุดนี้มีพฤติกรรมตรงข้าม เห็นได้ชัดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่กลับทำผิดรัฐธรรมนูญเสียเอง และยังมีพฤติกรรมใช้เสียงข้างมากปิดปากเสียงข้างน้อยอยู่ตลอด จึงขอเรียกร้องให้นายกฯ เปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตยจริง โดยเฉพาะขอให้นายกฯ ใช้เวลาอยู่ในประเทศเพื่อแก้ปัญหาในความรับผิดชอบของตัวเองมากกว่าที่จะเดินทางไปต่างประเทศ  และขอให้มาสภาเพื่อใช้สภาเป็นเวทีแก้ปัญหาให้กับประชาชนไม่ใช่มาแต่วันที่มีการแก้รัฐธรรมนูญ
 
ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวด้วยว่า ในวันพฤหัสบดีนี้พรรคประชาธิปัตย์จะตั้งกระทู้ถามสดต่อนายกฯ ด้วยในเรื่องการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เนื่องจากการตอบสนองของรัฐบาลไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงเกษตรกร ที่ต้องการให้ราคาขายยางพาราสูงขึ้นเพื่อช่วยผู้เกี่ยวข้องทั้งระบบ แต่การที่รัฐบาลจะจ่ายกำหนดจะจ่ายค่าปัจจัยการผลิตเพิ่มโดยเฉพาะปุ๋ย ฝ่ายค้านจึงไม่แน่ใจว่าจะเป็นการแก้ปัญหาให้ชาวสวนยางหรือแก้ปัญหาให้พ่อค้าปุ๋ย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา,  ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ส.ส.หญิง ประชาธิปัตย์ แถลงโต้ ส.ส.หญิง เพื่อไทย ย้ำ นายอภิสิทธิ์ ไม่จำเป็นต้องขอโทษ เพราะไม่ได้ดูถูกสตรี และไม่ได้กล่าวร้ายใคร
 
10 ก.ย. 56 - ส.ส.หญิง ประชาธิปัตย์ออกแถลงการณ์โต้ ส.ส.หญิง เพื่อไทย ที่ออกมาเรียกร้องให้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขอโทษนายกฯ หลังกล่าวโจมตีบนเวทีผ่าความจริง   พร้อมยืนยัน หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่จำเป็นต้องขอโทษ เพราะไม่ได้ดูถูกสตรี และไม่ได้กล่าวร้ายใคร
 
ส.ส.หญิง พรรคประชาธิปัตย์นำโดย นางนาถยา เบ็ญจศิริวรรณ  ดร.รัชดา ธนาดิเรกออกแถลงการณ์ตอบโต้ ส.ส.หญิง พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมากล่าวคำขอโทษนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  หลังกล่าวคำไม่เหมาะสมโจมตีนายกฯ เกี่ยวกับโครงการสมาร์ท เลดี้ ของรัฐบาลบนเวทีปราศรัยผ่าความจริง เมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมาโดย ส.ส.หญิงพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่า นายอภิสิทธิ์พูดถึงโครงการสมาร์ท เลดี้ โดยไม่ได้ดูถูกสตรี และไม่ได้กล่าวถึงนายกฯ ในทางตรงข้ามได้กล่าวถึง ผู้หญิงไทยในแง่ที่มีความฉลาดสามารถ ส่วนการที่ส.ส.หญิงพรรคเพื่อไทยออกมาแถลงข่าวตอบโต้แทนนายก เท่ากับเป็นการดูถูกนายก และการที่นายกฯ ให้ส.ส.ของพรรคออกมาแบบนี้ เหมือนกับว่าสตรีนั่นมีความอ่อนด้อย ถือเป็นการดูถูกสตรี เพราะหญิงและชาย แสดงความสามารถได้เท่าเทียมกันไม่มีใครดูถูกใคร นอกจากการกระทำของบุคคลนั้นเอง ขณะเดียวกับที่หลายครั้งที่ส.ส.เพื่อไทยออกมาใช้ความเป็นผู้หญิงของนายกฯ ฉวยโอกาสทางการเมือง เพื่อมาใส่ร้ายผู้อื่น เอาผ้าถุงผู้หญิงมาเป็นเกราะกำบังการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนายกฯ เท่ากับกำลังนำเรื่องเพศมาทำให้สังคมแบ่งแยก
 
ส.ส.หญิง พรรคประชาธิปัตย์ ยังยืนยันว่า นายอภิสิทธิ์ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่ได้กล่าวร้ายนายกฯ จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวขอโทษ พร้อมฝากสื่อมวลชนฟังคำปราศรัยแบบคำต่อคำ ก็จะทราบว่าไม่ได้เป็นแบบที่ทาง ส.ส.เพื่อไทยพยายามกล่าวอ้าง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา /  ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป. จี้รัฐ เร่งแก้ปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำ
 
10 ก.ย. 56 - 2 ส.ส.ประชาธิปัตย์ เผย ราคาข้าวโพดในประเทศอยู่ในสภาวะตกต่ำอย่างมาก ส่งผลเกษตรกรทั่วประเทศได้รับความเดือดร้อนไม่คุ้มทุน เรียกร้องเกษตรกรรวมตัวขอความชัดเจนและเป็นธรรมในการช่วยเหลือ  
 
นายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดพิษณุโลก และนายไชยวัฒน์     ไตรยสุนันท์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมแถลงข่าวกรณีราคาข้าวโพดตกต่ำ โดยนายนคร กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรกว่า 4.8 แสนครัวเรือนกำลังได้รับความเดือดร้อนจากกรณีผลผลิตข้าวโพดตกต่ำเป็นประวัติการณ์แต่รัฐบาลกลับไม่ช่วยเหลือ ปล่อยให้มีการผูกขาดตัดตอน มีการขายยาและปุ๋ยแพง ซึ่งเกษตรกรทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลาง ได้ขอคำชี้แจงจากรัฐบาลว่าเหตุใดราคาข้าวโพดฝักและข้าวโพดที่ผ่านขั้นตอนการสีแล้วจึงต่ำจนเกษตรกรอยู่ไม่ได้ และที่สำคัญที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังมีมติให้นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านในอัตราภาษี 0 เปอร์เซ็นต์และไม่จำกัดจำนวนจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 56 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดภาวะเกษตรกรขาดทุน จึงขอเรียกร้องไปยังเกษตรกรทุกภาคทั่วประเทศให้รวมตัวเรียกร้องและขอความชัดเจนและเป็นธรรม ในการช่วยเหลือ ก่อนที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดทั่วประเทศจะอยู่ในภาวะล้มละลายและล่มสลายไปมากกว่านี้
 
นายนคร กล่าวด้วยว่า เกษตรกรได้ร้องขอให้ราคาข้าวโพดฝักไม่น้อยกว่า 5.50 บาทต่อกิโลกรัม จากเดิม 3.40-3.70 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนข้าวโพดที่สีแล้วขอที่กิโลกรัมละ 10 บาท จากเดิมราคา 7 บาท โดยเกษตรกรให้เวลา 3 วันในการขอคำตอบจากรัฐบาล ถ้าไม่มีการช่วยเหลือ ตนเห็นว่ากลุ่มเกษตรกรคงไม่อดทนอีกต่อไปและควรจะมีการเรียกร้องที่ไม่ต่างกับผู้ปลูกยางพารา ส่วนที่มีกฎหมายป้องกันการผู้ขาดทางการค้า ก็ไม่มีผลบังคับใช้ ทำให้คนไทยอยู่ใต้อาณัติบริษัทที่มีอิทธิพลทั้งหมด ซึ่งรัฐบาลต้องตอบคำถามว่าเหตุใดจึงปลอยเสรีให้มีการนำเข้าข้าวโพดแบบนี้
 
 
ด้านนายไชยวัฒน์ กล่าวว่า ตนขอร้องไม่ให้เกษตรกรใช้วิธีรุนแรง แต่เมื่อเกษตรกรร้องขอแล้วรัฐไม่แก้ไขหรือแก้ไขไปคนละแนวทางที่ร้องขอ ก็เหมือนกับว่ารัฐบาลไม่จริงใจในการแก้ปัญหา ซึ่งหากมีการชุมนุมเกิดขึ้นตนจะไปห้ามก็คงไม่ได้เพราะเกษตรกรได้รับความเดือนร้องอย่างมาก ถ้ารัฐบาลให้ความสนใจก็ควรส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล จึงขอเตือนรัฐบาลควรเร่งดูแลปัญหานี้โดยด่วนเพราะราคาข้าวโพดในประเทศอยู่ในสภาวะตกต่ำลงมาก
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อินโดนีเซีย จัดเสวนาสานสัมพันธ์สู่ประตู AEC
 
10 ก.ย. 56 - กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อินโดนีเซีย จัดงานเสวนา63 ปี สายสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซีย ประตูสู่ AEC :โอกาส ความท้าทายและปัญหา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความสัมพันธ์สองประเทศและเตรียมพร้อมรับผลกระทบโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น
 
กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย-อินโดนีเซีย นำโดยคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองประธานกลุ่มมิตรภาพฯ จัดงานเสวนา "63 ปี สายสัมพันธ์ไทย-อินโดนีเซีย ประตูสู่ AEC:โอกาส ความท้าทายและผลกระทบ  AEC(2015)ต่อไทย-อินโดนีเซีย : ปัญหา ความท้าทาย" ภายใต้โครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านภาษาและวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ56 โดยมี นายลุตฟี่ ราอุฟ เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย และนายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกกลุ่มมิตรภาพฯ เป็นผู้เสวนา ซึ่งเวทีเสวนาได้กล่าวถึงความสัมพันธ์อันดีของทั้งสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนาน  ตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 อาณาจักรศรีวิชัย และในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ทรงหัวเสด็จเยือนยังความประทับใจและทรงประพันธ์บทพระราชนิพนธ์อิเหนา ทำให้อินโดนีเซียเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ทั้งได้ทรงมอบช้างสำริดเป็นที่ระลึก ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์อินโดนีเซียจนเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์และยังเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงซึ่งความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศ นอกจากนี้ เวทีเสวนา ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสองประเทศและในกลุ่มอาเซียน ขณะที่อินโดนีเซียเองได้รับการจัดอันดับความเติบโตทางเศรษฐกิจจากหลายสถาบัน อาทิ เอสแอนด์พี และมูส์ดี้ แต่ยอมรับว่ายังเสียเปรียบด้านการค้ากับไทย เนื่องจากประชากรภายในอินโดนีเซีย มีอัตราการบริโภคสินค้าของไทยสูงและเป็นไปตามจำนวนประชากรที่มีมากกว่าไทยเป็นจำนวนมากด้วย
 
ทั้งนี้ ในงานเสวนาดังกล่าว อินโดนีเซีย ได้ทำการประชาสัมพันธ์การจัดงานแสดงสินค้าที่นำสมัยคุณภาพส่งออก จาการ์ตา อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็กซ์โป ครั้งที่ 28 ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 16-20 ต.ค. นี้ ที่ประเทศอินโดนีเซียด้วย
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ประธานวิปรัฐบาล เชื่อประชุมแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. จะเสร็จในวันนี้
 
11 ก.ย. 56 - ประธานวิปรัฐบาล เชื่อประชุมแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. จะเสร็จภายในเวลา 22.00 น. วันนี้  พร้อมลงมติวาระ 3 ใน 15 วัน ส่วนกรณีฝ่ายค้านเตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่ทำได้
 
นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า จากการหารือของวิป 3 ฝ่าย เห็นตรงกันว่าจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาสมาชิกวุฒิสภาที่เหลืออีก 4 มาตรา ให้เสร็จภายในเวลา 22.00 น. วันนี้ (11 ก.ย.)  ซึ่งวิป 3 ฝ่าย ได้หารือกันเรียบร้อยแล้ว  และจะเน้นให้ใช้ข้อบังคับให้ชัดเจน อภิปรายให้ตรงประเด็นที่สงวนคำแปรญัตติไว้  ซึ่งประธานในที่ประชุมจะต้องควบคุมให้เหมาะสม ส่วนจะมีการเสนอปิดอภิปรายหากมีการอภิปรายยืดเยื้อในแต่ละมาตราหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่เชื่อว่าปัญหาต่าง ๆน่าจะลดลง ทั้งนี้ จะต้องลงมติวาระ 3 ภายใน 15 วัน หลังจากพิจารณาวาระ 2 เสร็จแล้ว แต่ยังไม่กำหนดว่าเป็นวันใด  ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความและขอให้คุ้มครองชั่วคราวว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น  ถือเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกที่สามารถดำเนินการได้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา/ ข่าว / เรียบเรียง
 
ประธาน กกต. หวังลดการซื้อสิทธิ์ขายเสียงการเลือกตั้งไทย
 
11 ก.ย. 56 - ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ระบุการทำงานของ กกต. มุ่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย หวังลดการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในการเลือกตั้ง
 
นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ “การเลือกตั้งของประเทศไทยและการเลือกตั้งของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี” ในงานจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความสัมพันธ์ไทย - เยอรมนี “การเลือกตั้งทั่วไปเยอรมนี 2013” จัดขึ้นโดย กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทย - เยอรมนี ณ ห้องโถง อาคารัฐสภา 1 ว่า การเมืองการปกครองของประเทศเยอรมนีได้ให้ความเสมอภาคและสิทธิอย่างเท่าเทียมทางกฎหมายกับประชาชน รวมถึงสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นประเทศแรกที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบผสม คือ การเลือกตั้งระบบแบ่งเขตกับสัดส่วน ซึ่งประเทศไทยได้นำรูปแบบการเลือกตั้งดังกล่าวมาใช้เช่นเดียวกัน ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 โดยในส่วนของ กกต. ประเทศไทยได้มีการส่งเสริมให้ความรู้ความเข้าใจการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยและสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ตามยังพบว่า การเลือกตั้งของไทยยังมีความแตกต่างกับเยอรมนีในเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เนื่องจากยังมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้องซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการเลือกตั้ง ขณะที่เยอรมนีได้สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ของความเป็นพลเมืองเป็นอย่างดีทำให้พบการซื้อสิทธิ์ขายเสียงเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ทั้งนี้ กกต.ไทยได้พยายามอย่างเต็มที่ในการสร้างความรู้ความเข้าใจในการเมืองการปกครอง เพื่อให้ประชาชนไทยได้ตระหนักถึงสิทธิหน้าที่ของตนเองมากขึ้น เพื่อเป็นการลดการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในอนาคตสร้างความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ของประเทศต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
รองกมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ สผ. ย้ำ นายกฯ ปราถนาดีหวังปฏิรูปการเมืองสร้างความปรองดอง พร้อมจับมือบริหาร นิติบัญญัติ จัดสัมมนาพุธที่ 25 ก.ย. นี้
 
11 ก.ย. 56 - คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร เตรียมจัดสัมมนา ทิศทางการปฏิรูปการเมือง ทางออกของประเทศไทย ในวันพุธที่ 25 ก.ย. นี้  ขณะที่ น.พ.เหวง ย้ำ  นายกฯ ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง หวังหาทางปฏิรูปการเมืองเพื่อสร้างความปรองดอง
 
นายแพทย์เหวง โตจิราการ รองประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.พงศ์พันธ์ สุนทรชัย และนายชินวัฒน์ หาบุญพาด  แถลงที่รัฐสภา ว่าคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร เตรียมจัดสัมมนา ทิศทางการปฏิรูปการเมือง ทางออกของประเทศไทย ในวันพุธที่ 25 ก.ย. นี้ เริ่ม  8.00 น. ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ   โดยการสัมมนาดังกล่าวจะเชิญ นักวิชาการ  อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อดีตสมาชิกวุฒิสภา รวมถึงผู้แทนประชาชนในแต่ละเขต  เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง  และจะสรุปผลออกมาเพื่อนำเสนอแนวทางต่อประธานรัฐสภา และนายกรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ ยืนยันว่า นายกฯ ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง และเป็นผู้จุดประเด็นการปฏิรูปการเมืองขึ้นมา  ซึ่งการจัดสัมมนาครั้งนี้ ถือเป็นความร่วมมือระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติที่จะร่วมมือกันเพื่อเสนอทางปฏิรูปการเมืองเพื่อช่วยบ้านเมืองให้เดินหน้าต่อไปได้ พร้อมฝากทุกฝ่ายอย่างเพิ่งตำหนิกัน  เพราะการสัมมนานี้หวังหาทางปฏิรูปการเมืองเพื่อสร้างความปรองดองเป็นสำคัญ
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา /ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป.จี้ อธิบดีดีเอสไอ อย่าหลายบรรทัดฐานเว้นสอบปากคำ โพสต์ภาพอดีตส.ส.การุณ เข้าพบอดีตนายกฯ ทักษิณ
 
11 ก.ย.56 - ส.ส.ประชาธิปัตย์ จี้ อธิบดีดีเอสไอ อย่าหลายบรรทัดฐาน เกาะกระแสดังเจนี่ –ชนม์สวัสดิ์  แต่เว้นสอบปากคำ โพสต์ภาพอดีตส.ส.การุณ โพสต์ภาพคู่อดีตนายกฯทักษิณ
 
นายแทนคุณ จิตต์อิสระ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ ทวงถามนายธาริต เพ็งดิต อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เกี่ยวกับบรรทัดฐานในการดำเนินคดีกับนักการเมืองที่ทุจริตแล้วหนีไปต่างประเทศ หลังมีการ โพสต์ภาพถ่ายในเฟซบุ๊คของนายการุณ  โหสกุล ที่มีภาพถ่ายนายการุณ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และ น.อ.อนุดิษ ฐ์นาครทรรพ รมต.ไอซีที เข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อสองวันก่อน  รวมทั้งโพสต์ภาพตั๋วเครื่องบินเที่ยวบินที่ไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ  เแต่ดีเอสไอกลับนิ่งเฉยทั้งที่การกระทำดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ท้าทายกระบวนการยุติธรรมของไทย  แต่ในทางกลับกันดีเอสไอ กลับเกาะกระแสข่าวดัง เตรียมเชิญนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม และเจนี่ อัศวเหม  มาสอบสวนหลังปรากฏภาพถ่ายกับร่วมนายวัฒนา อัศวเหม    ซึ่งตนเห็นว่าดีเอสไอควรจะเชิญบุคคลในภาพถ่ายที่ปรากฎในแฟซบุ๊คของนายการุณ เหล่านี้มาให้ปากคำมากกว่า  ตนขอถามว่าการกระทำอย่างนี้ของ ดีเอสไอเท่ากับเป็นการเลือกที่รักมักที่ชังใช่หรือไม่  ละเว้นการดำเนินคดีกับผู้ที่มีบุญคุณต่อนายธาริต และรัฐบาลใช่หรือไม่
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ชื่นชอบ แนะ นายภักดีหาญส์ ศึกษากระบวนการรัฐสภาให้ถ่องแท้ ก่อนวิพากษ์การทำหน้าที่ของสมาชิก
 
11 ก.ย. 56 - ส.ส.ชื่นชอบ พรรคปชป. แนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ศึกษากระบวนการทำงานของรัฐสภาให้ถ่องแท้ ก่อนวิพากษ์การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ย้ำพรรคทำถูกต้องตามสิทธิ์แต่อาจไม่ถูกใจฟากรัฐบาล
 
นายชื่นชอบ คงอุดม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวตอบโต้กรณีนายภักดีหาญส์ หิมะทองคำ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวตำหนิการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ในการอภิปรายแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภาว่า พรรคไม่เคารพกติกาจึงก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในที่ประชุมว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากประธานในที่ประชุมและเสียงข้างมากจำกัดสิทธิในการอภิปรายของพรรค ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแล้วไม่สามารถทำได้ จึงทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดูเหมือนวุ่นวาย แต่หากให้สิทธิตามที่ รธน.กำหนดเหตุการณ์เหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น ตนจึงขอกล่าวฝากไปยังนายภักดีหาญส์ ว่า ก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาควรไปศึกษากระบวนการทำงานของรัฐสภาให้ถ่องแท้เสียก่อน อย่างไรก็ตามเข้าใจว่าต้องการเร่งให้การแก้ไข รธน.แล้วเสร็จทันการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคม 57 แต่ทั้งหลายทั้งปวงควรยืนอยู่บนความถูกต้อง ชอบธรรม และอยากให้สังคมรวมถึงรัฐบาลเข้าใจการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านด้วย
 
นายชื่นชอบ กล่าวในตอบท้ายว่า การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่ลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิที่ถูกต้องและชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ อาจเป็นการกระทำที่ไม่ถูกใจฟากรัฐบาลทั้งที่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป.ยื่น กมธ.คมนาคม สผ. ตรวจสอบปัญหา easy pass ขัดข้อง
 
11 ก.ย. 56 - ส.ส.สามารถ ปชป. ยื่นเรื่องร้องเรียน easy pass ขัดข้อง ให้ กมธ.คมนาคม สผ.ตรวจสอบ หวังบรรเทาความเดือนร้อนของผู้บริโภค ด้าน นายเจือ ปธ.กมธ.ฯ เผย พร้อมเป็นตัวกลางรับเรื่องร้องเรียน และเชิญ รมช.คมนาคมและการทางพิเศษเข้าชี้แจง
 
นายสามารถ มะลุลีม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมานคร พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวพร้อมยื่นเรื่องร้องเรียนต่อนายเจือ ราชสีห์ ประธานคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กรณีด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ (easy pass) ขัดข้องหลังมีการปรับขึ้นค่าทางด่วน 5-10บาท ทำให้ระบบเกิดความผิดพลาดหักเงินจากบัตรมากเกินความเป็นจริง ซึ่งตนถือเป็นบุคคลหนึ่งที่ประสบปัญหานี้ด้วยตนเอง โดยได้เติมเงิน 1,000บาท แต่เมื่อใช้บัตรไปเพียงด่านเดียวจำนวนเงินในบัตรเหลือ 900บาทเศษ วันถัดมาขึ้นทางด่วนด่านพระราม 9 เงินเหลือ 800บาทเศษ จึงได้สอบถามเจ้าหน้าที่ประจำด่านและได้รับแจ้งว่าคอมพิวเตอร์ขัดข้อง หากต้องการเงินคืนให้ไปยื่นเรื่องที่สำนักงานใหญ่ จึงได้ขอใบบันทึกข้อมูลการใช้ทางด่วนจากเจ้าหน้าที่ พบว่าในเวลา 11.52น.รถของตนวิ่งถึง 28ด่าน ซึ่งนับเป็นเรื่องผิดปกติอย่างมาก นอกจากนี้ยังได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่าประสบปัญหาเช่นเดียวกัน จึงขอยื่นเรื่องให้ กมธ.ตรวจสอบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
 
ด้านนายเจือ กล่าวว่า ส่วนตัวประสบกับปัญหาข้างต้นเช่นกัน โดยเมื่อ 2 วันที่ผ่านมาพนักงานบอกว่าเงิน easy passหมด ทั้งที่เพิ่งเติมเงินและเมื่อสอบถามกลับได้รับแจ้งว่าเป็นหนี้อยู่ด้วยเพราะมีการใช้เกินจำนวนที่เติมไว้ ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นความบกพร่องของการทางพิเศษ และถึงแม้ พล.อ.พฤณฑ์ สุวรรณทัต รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า จะแก้ปัญหาภายใน30 วัน ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะแก้ได้หรือไม่ ดังนั้น กมธ.จึงเตรียมเชิญ รมช.คมนาคม การทางพิเศษเข้าชี้แจงให้สังคมได้รับทราบเพราะขณะนี้การจราจรบนทางด่วนมีปัญหาและเกิดคำถามจากผู้ได้รับผลกระทบว่าเงินที่หักเกินไปเอาไปทำอะไร นอกจากนี้ กมธ.ยังพร้อมรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้บัตร easy passด้วย โดยยินดีที่จะเป็นตัวกลางให้การทางพิเศษฯแก้ปัญหาเพื่อคืนสิทธิให้ประขาชน
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา,  วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป. เรียกร้อง รัฐชี้แจงความจำเป็นยกเลิกวีซ่าไทย - มอนเตเนโกร
 
11 ก.ย. 56 - ส.ส.ปชป. ตั้งข้อสังเกตกรณีรัฐบาลยกเลิกวีซ่าไทย - มอนเตเนโกร มีนัยยะแอบแฝงหรือไม่  เรียกร้องรัฐชี้แจงความจำเป็น หวั่นเกิดความขัดแย้งในประเทศหากอดีตนายกฯ ทักษิณ ใช้สิทธิเดินทางเข้าประเทศในฐานะประชาชนมอนเตรเนโกรแต่รัฐบาลไทยไม่สามารถจับกุมได้
 
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวตั้งข้อสังเกตกรณีรัฐบาลไทยทำบันทึกข้อตกลงการยกเลิกการตรวจลงตราวีซ่าไทย-มอนเตเนโกร สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตและราชการไทย ว่า การที่รัฐบาลเลือกประเทศมอนเตเนโกรทำบันทึกยกเลิกการตรวจตราวีซ่าดังกล่าวมีนัยยะแอบแฝงหรือไม่ เพราะการดำเนินการยกเว้นการตรวจลงตราวีซ่าต้องดูว่าประเทศไทยได้ประโยชน์จากการลงทุนหรือไม่ ซึ่งจากข้อมูลนักท่องเที่ยวปี 2554 พบว่า ชาวมอนเตเนโกรเดินทางมาประเทศไทยจำนวน 211 คน และไทยนำเข้าสินค้าจากมอนเตเนโกรคิดเป็นมูลค่า 9 ล้านบาทเท่านั้น นอกจากนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถือหนังสือเดินทางประเทศมอนเตเนโกร ซึ่งหาก พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางกลับประเทศไทยแล้วหนังสือเดินทางดังกล่าวอยู่ภายใต้ความคุ้มครองตามข้อตกลงการยกเลิกวีซ่า จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณเดินทางกลับประเทศไทยในฐานะพลเมืองมอนเตเนโกร ซึ่งตามหลักการไทยไม่มีสิทธิไปจับพลเมืองชาติอื่น ดังนั้นรัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ตนจึงขอให้รัฐบาลอธิบายถึงความจำเป็นการยกเลิกวีซ่าไทย - มอนเตเนโกรกับประชาชนด้วย เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
รองประธานสภาฯ คนที่ 2 รับการยื่นเรื่องขอให้ นายอภิสิทธิ์ แสดงความขอโทษ กรณีปราศรัยส่งผลกระทบต่อสตรี
 
12 ก.ย. 56 - รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 รับการยื่นหนังสือจากกลุ่มสตรีที่รวมตัวแสดงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการสวมผ้าถุง เรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ ผู้นำฝ่ายค้านฯ แสดงความขอโทษ กรณีปราศรัยโครงการสมาร์ท เลดี้ บนเวทีผ่าความจริงส่งผลกระทบต่อสตรี
 
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 รับการยื่นหนังสือจากกลุ่มสตรีและสาวประเภท 2 ที่เดินทางมาจากจังหวัดต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาค อาทิ จ.พิจิตร อุบลราชธานี จันทบุรี สมุทรปราการ ซึ่งแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการสวมผ้าถุง จำนวนประมาณ 300 คน นำโดย นางสาวสุณีย์ เหลืองวิจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่ขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก  เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุและผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบพฤติกรรมของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กรณีกล่าวปราศรัยถึงโครงการสมาร์ทเลดี้ บนเวทีผ่าความจริง ของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 7 กันยายน ที่ผ่านมา โดยเรียกร้องให้ นายอภิสิทธิ์ ออกมาขอโทษต่อการกระทำดังกล่าว
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ผู้นำฝ่ายค้านฯ ยืนยันกลางสภาฯ ไม่เคยพูดปราศรัยดูถูกสตรี บนเวทีผ่าความจริง
 
12 ก.ย. 56 - ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ย้ำ ดูคลิปปราศรัยเวทีผ่าความจริงให้ชัด  ยืนยัน ไม่มีการพูดปราศรัยดูถูกสตรี หรือโจมตีใคร
 
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังส.ส.หญิงเพื่อไทย ตั้งกระทู้ถามสด กรณีนายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงสตรีด้วยถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม ในการปราศรัยบนเวทีเดินหน้าผ่าความจริง เมื่อ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยผู้นำฝ่ายค้านฯ ชี้แจงว่า การปราศรัยดังกล่าวของตนเป็นการกล่าวถึงโครงการสมาร์ทเลดี้ โดยไม่ได้กล่าวถึง พาดพิง หรือโจมตีใคร หรือโครงการใด  และยืนยันว่า ไม่ได้มีการพูดดูถูกสตรีแต่อย่างใด  ขอให้ดูคลิปปราศรัยให้ดีอีกครั้ง ก็จะเห็นได้ว่า ไม่มีคำพูดใดที่ดูถูกสตรี และไม่ได้เป็นตามที่ทาง ส.ส.หญิงเพื่อไทยกล่าวอ้าง
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา เปลี่ยนตราสัญลักษณ์รับการพัฒนาสู่การเป็นโทรทัศน์ดิจิตอล
 
12 ก.ย 56 - รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 มอบรางวัลให้ผู้ชนะการประกวดตราสัญลักษณ์ใหม่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา พร้อมระบุการเปลี่ยนตราสัญลักษณ์สื่อถึงภารกิจของวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาในการเผยแพร่ความรู้ประชาธิปไตย พร้อมเตรียมตัวสู่การเป็นโทรทัศน์ดิจิตอลและโทรทัศน์สาธารณะ ใน ปี 2557
 
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2  ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภากล่าวในพิธีเปลี่ยนตราสัญลักษณ์ประจำสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา (logo)  ซึ่งจัดขึ้นณ ห้องโถง อาคารรัฐสภา  วันที่ 12 กันยายน 2556 ว่า ตราสัญลักษณ์ถือเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ที่จะสื่อถึงบทบาทและหน้าที่เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการส่งเสริมองค์กรให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง  เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นโทรทัศน์ดิจิตอลและโทรทัศน์สาธารณะ ใน ปี 2557 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจหลักของสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา   ที่ต้องดำเนินการถ่ายทอดสดการประชุมสภาผู้แทนราษฎร การประชุมวุฒิสภา และการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตลอดจนส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
 
logo ใหม่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา มีลักษณะเป็นเส้นขวางสีแดงมารูน 4 เส้น เรียงตัวกันเป็นรูปพานแว่นฟ้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ต้องการสื่อถึงศูนย์กลางของการนำเสนอข่าวสารด้วยความเป็นกลางโดยยึดรัฐธรรมนูญ และแสดงรากฐานความมั่นคงของสื่อรัฐสภา  ในขณะเดียวกันสัญลักษณ์ดังกล่าวยังสื่อถึงการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการจัดเรียงเส้นทั้งสี่มีลักษณะเป็นขั้นบันได  นอกจากนี้ยังมีลักษณะเป็นสัญลักษณ์สัญญาณการส่งของคลื่นวิทยุโทรทัศน์  ซึ่งสื่อถึงวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาเป็นศูนย์กลางการนำเสนอข่าวสารที่ไม่หยุดนิ่งและต่อเนื่อง ส่วนสีแดงมารูนเป็นสีประจำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
 
สำหรับการประกวดlogo ของสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา มีประชาชนร่วมสร้างสรรค์ผลงานส่งเข้าประกวด รวมทั้งสิ้น 394 ผลงาน  ผู้ชนะเลิศการประกวดได้แก่ นายเอกชัย  จริงใจ   ส่วนผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ นายปวริศร์ ชัยวร      นางสาวพัชรารัตน์ ตระกูลขจรศักดิ์ และนายพิเชษฐ์พล ไทยประสงค์โดยในการจัดการประกวด logo มีนางพรทิพย์  โล่ห์วีระ จันทร์รัตนปรีดา สมาชิกวุฒิสภา เป็นประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตัดสินการประกวดฯ  และ ศ.ตรึงใจ บูรณสมภพ เป็นประธานอนุคณะกรรมการตัดสินการประกวดตราสัญลักษณ์ ซึ่งสัญลักษณ์ที่นำมาเป็น logo นี้   ได้มีการนำมาประยุกต์บางส่วนให้ดูทันสมัยและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้นเหมาะสมกับทางสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาเพื่อที่จะได้นำไปใช้ในสื่อต่างๆ ของทางสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภาต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, มันทนา  ศรีเพ็ญประภา ข่าว/เรียบเรียง
 
ส.ส.ปชป ตั้งกระทู้ถามสดนายกฯ กรณีแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ
 
12 ก.ย. 56 - ส.ส.ปชป. ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีถึงแนวทางแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ หลังการแก้ปัญหายังไม่ตอบสนองความต้องการชาวสวนยางที่แท้จริง ด้าน รมต.เกษตรฯ ยืนยัน รัฐบาลไม่สองมาตรฐาน หวังแก้ปัญหาราคายางแบบยั่งยืน
 
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งกระทู้ถามสดนายกรัฐมนตรีถึงแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ค.ร.ม.) มีมติเห็นชอบตามมติของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ให้จ่ายเงินชดเชยปัจจัยการผลิตยางไร่ละ 2,520 บาทนั้น รัฐบาลมีมาตรการดำเนินการจ่ายเงินดังกล่าวอย่างไรให้เกษตรกรได้รับการช่วยเหลืออย่างทั่วถึงและจะให้การชดเชยอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ตลอดจนการแก้ปัญหาราคายางในด้านต่างๆ ได้มีการวิเคราะห์แนวทางแก้ปัญหาอย่างรอบด้านหรือไม่ หากเกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคตจะมีมาตรการใดรองรับ เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้รัฐบาลใช้ความพึงพอใจในการแก้ปัญหาโดยไม่ได้ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรที่แท้จริง พร้อมขอให้รัฐบาลอย่าสองมาตรฐานในการแก้ปัญหา
 
ด้านนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตอบกระทู้ถามแทนนายกรัฐมนตรี โดยชี้แจงว่า การจ่ายเงินชดเชยปัจจัยการผลิตดังกล่าว รัฐบาลจะเปิดให้เกษตรกรมาลงทะเบียน พร้อมเปิดบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้สามารถโอนเงินเข้าบัญชีของเกษตรกรได้ทันที โดยได้ประสานสำนักงบประมาณให้ดำเนินการโดยเร็วที่สุดแล้ว ส่วนข้อกังวลสำหรับเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินในการขอรับเงินชดเชย ทางรัฐบาลได้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหายางพาราขึ้นมาเฉพาะ เพื่อพิจารณาว่าจะมีทิศทางช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มนี้อย่างไร ขณะเดียวกันรัฐบาลได้มีการวิเคราะห์แนวทางการแก้ปัญหาราคายางในระยะยาว โดยขณะนี้ได้มีการสนับสนุนให้เกษตรกรตั้งราคากลางขึ้นผ่านการรวมตัวของสหกรณ์ เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนไม่ใช่แค่ให้เกษตรกรเกิดความพึงพอใจเท่านั้น พร้อมยืนยันรัฐบาลไม่ได้สองมาตรฐานในการแก้ปัญหาแต่เป็นเพราะสินค้าแต่ละชนิดมีข้อจำกัดไม่เหมือนกัน ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือต้องดูข้อเท็จจริงของปัญหาที่เกิดขึ้น
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา/เรียบเรียง
 
รมต.กระทรวงทรัพย์ฯ ย้ำ แก้ปัญหาโลมาอิรวดีสูญพันธ์ต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ
 
12 ก.ย. 56 - ส.ส.ภูมิใจไทย เผย โลมาอิรวดีใกล้สูญพันธุ์ เหตุ สายพันธุ์อ่อนแอ ปัญหาแหล่งน้ำตื่นเขิน ถามรัฐมีแนวนโยบายแก้ปัญหาหรือไม่ ด้าน รมต.กระทรวงทรัพย์ฯ ระบุ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาเต็มที่ ย้ำ การแก้ปัญหาต้องทำด้วยความรอบคอบเพื่อไม่ให้กระทบต่อชีวิตของโลมา
 
นางนาที รัชกิจประการ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ตั้งกระทู้ถามสด ถามนายกรัฐมนตรี กรณีวิกฤตโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา โดยนายกฯ ได้มอบหมายให้นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาตอบกระทู้แทน นางนาทีกล่าวว่า โลมาอิรวดีเป็นสัตว์อนุรักษ์ที่สำคัญหนึ่งในห้าของโลก แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาต่างๆ คือ เลือดชิดผสมพันธ์กันเองทำให้สายพันธ์อ่อนแอลง การตื้นเขินของทะเลสาบมลพิษในการระบายน้ำจากของเสีย ติดอวน และการพัฒนาเครื่องมือจับปลาซึ่งส่งผลให้โลมาอิรวดีตายและมีปริมาณลดลงอย่างรวมเร็ว จึงอยากถามรัฐว่า มีแนวนโยบายในการแก้ปัญหาโลมาอิรวดีใกล้สูญพันธุ์อย่างไร
 
ด้านนายวิเชษฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้กรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดย การเปลี่ยนเครื่องมือประมงที่มีผลกระทบต่อโลมาซึ่งชาวประมงก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและตนยังได้สั่งการให้รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันพืชธุ์ลงพื้นที่ร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ จ.พัทลุงในวันที่ 14-15 ก.ย.นี้เพื่อแก้ไขปัญหาทุกด้านให้เป็นรูปธรรมและยั่งยืน นอกจากนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งยังได้ดำเนินโครงการบ้านปลาเพื่อฟื้นฟูแหล่งอาหาร รวมถึงยังมีการปักหลักเขตเพื่อไม่ให้โลมาติดอวนของชาวประมง นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาชั้นนำ ศึกษาแนวทางผสมเทียมเพื่อขยายพันธุ์และเราได้รับการสนับสนุนเครือข่ายอนุรักษ์โลกมาจังหวัดพัทลุงและสงขลาที่ช่วยร่วมแก้ปัญหา
 
ต่อข้อถามที่ว่ารัฐมีแนวทางดำเนินการแก้ปัญหาแหล่งน้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของโลมาตื่นเขินรวมถึงได้จัดสรรงบประมาณแก้ปัญหาทะเลสาบสงขลา จ.พัทลุงตื่นเขินหรือไม่ รมต.กระทรวงทรัพฯกล่าวว่า ถ้าเป็นตะกอนตื่นเขินทั่วไปจะดำเนินการแก้ไขได้ทันที แต่ถ้าเป็นตะกอนที่กินพื้นที่ในแหล่งน้ำอย่างกว้างขวางจะต้องศึกษาให้รอบครอบเพราะกลัวว่าจะกระทบต่อชีวิตของโลมาอิรวดี
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
กมธ.กิจการสภาฯ เตรียมลงพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ 17 ก.ย.นี้ หลังพบปัญหาส่งมอบพื้นที่ล่าช้า
 
12 ก.ย. 56 - คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร  เตรียมลงพื้นที่ก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ย่านเกียกกาย อังคารที่ 17 ก.ย.นี้ หลังติดปัญหาส่งมอบพื้นที่ล่าช้า  โดย ร.ร.โยธินบูรณะส่งมอบช้าที่สุด ส่วนกรณีพบคนขับรถ ส.ส.เล่นการพนันในรัฐสภา ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสภาจดทะเบียนรถที่ทำผิด แจ้งส.ส.เจ้าของรถทันที
 
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร  แถลงที่รัฐสภาว่า ในวันอังคารที่ 17 ก.ย. นี้ เวลาประมาณ 10.00 น.   นายไพจิต ศรีวรขาน ประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วยทุกคณะกรรมาธิการ ของสภาผู้แทนราษฎร จะเดินทางไปติดตามดูความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกาย  หลังติดปัญหาความล่าช้าในการส่งมอบพื้นที่ให้กับบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ที่ล่าช้ากว่าแผนที่กำหนดไว้ คือจากที่กำหนดไว้ที่ 90ไร่ หรือ 3.84% แต่ขณะนี้กลับส่งมอบได้เพียง 47 ไร่หรือ 0.34% เท่านั้น  โดยพื้นที่ที่พบว่ามีการส่งมอบช้ากว่าแผนมากที่สุดคือ ร.ร.โยธินบูรณะ จำนวน 426 วัน โรงเรียนขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) 130 วัน บ้านพักโรงเรียน ขส.ทบ. 338 วัน กองร้อยขนส่งเรือ 60 วัน
 
โฆษกคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร  ยังได้กล่าวถึง กรณีสื่อมวลชนเผยแพร่ภาพข่าวคนขับรถ ส.ส. เล่นพนันในบริเวณพื้นที่ลานจอดรถ อาคารรัฐสภา2 ว่าจากการตรวจสอบพบว่า ขณะนั้นกำลังตำรวจของทางวุฒิสภามีน้อย เพราะเป็นวันที่มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  อีกทั้งบริเวณที่เกิดเหตุเป็นมุมลับตาคน และมีการเปลี่ยนมุมเล่นไปเรื่อย ๆ  อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่ามีการลักลอบเล่นการพนันในลานจอดรถของสวนสัตว์ดุสิต ซึ่งทางกรรมาธิการฯ ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ จดทะเบียนรถ และจะส่งข้อมูลไปให้ส.ส. เพื่อกำชับห้ามปรามคนขับรถของตัวเอง  ส่วนภรณีภาพที่มีการเล่นการล้อมวงเล่นการพนันในอาคาร  ปรากฏว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพเก่าที่ผ่านมา 2 ปีแล้ว ซึ่งได้มีการตักเตือนผู้ทำผิดแล้ว
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
กมธ.ศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตฯ วุฒิสภา ยื่น ป.ป.ช.สอบรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ
 
12 ก.ย. 56 - กมธ.การศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เผย การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ของรัฐบาล เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 56 ขัดต่อ รธน. พร้อมยื่น ป.ป.ช.เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง
 
นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา และคณะ กล่าวภายหลังพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับกรณีที่มีการประกาศ เรื่องพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ในพื้นที่ 3 เขต ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ว่า การประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคงดังกล่าว โดยอ้างแต่เพียงจะมีการชุมนุมขัดขวางการพิจารณากฎหมายของสภาผู้แทนราษฎร เป็นการกระทำที่อาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากยังไม่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงฯ แต่อย่างใด รวมถึงยังเป็นการประกาศที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะการออกประกาศขัดขวางการชุมนุมโดยสงบของประชาชนซึ่งไม่อยู่ในเหตุยกเว้นตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 63 วรรคสอง ตลอดจนทำให้รัฐสูญเสียงบประมาณถึง 175 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ดังนั้น กมธ.จึงได้เสนอเรื่องไปยังประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อเร่งรัดตรวจสอบเรื่องดังกล่าวโดยเร็ว
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา/เรียบเรียง
 
ปชป. แนะ รองโฆษกเพื่อไทย ศึกษาประวัตินายชวน ก่อนออกมาวิพากษ์วิจารณ์
 
12 ก.ย. 56 - พรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าวตอบโต้กรณี รองโฆษกพรรคเพื่อไทยตั้งฉายา ท่านชวนหลักเสื่อม หลังนายชวน ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคฯ ให้ข่าวถึงการทำหน้าที่ไม่เป็นกลางของประธานและรองประธานรัฐสภา แนะกลับไปศึกษาประวัตินายชวน ก่อนวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่
 
นายวัชระ เพชรทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และนายราเมศ รัตนเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงตอบโต้กรณี นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองโฆษกพรรคเพื่อไทยออกมาระบุว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ควรทำตัวเป็นไม้หลักปักขี้เลน อย่าพูดเอาแต่ได้ และตั้งฉายาให้ว่า ท่านชวนหลักเสื่อม หลังนายชวน ได้ให้สัมภาษณ์ถึงการทำหน้าที่ที่ไม่เป็นกลางของประธานรัฐสภาจึงส่งผลให้การประชุมเพื่อแก้ไข รธน.ที่มา ส.ว.เกิดความวุ่นวายว่า ภาพที่ปรากฏสู่สายตาประชาชนชัดเจนว่าเป็นการทำหน้าที่ของประธานและรองประธานรัฐสภาไม่เป็นกลาง เป็นการประชุมที่ใช้เสียงข้างมากลากไป ทุกการกระทำขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและข้อบังคับทั้งสิ้น ดังนั้นขอยืนยันว่า นายชวน ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ซื้อสัตย์สุจริตไม่เคยโกงกินบ้านเมือง ไม่เคยทำตัวเป็นไม้หลักปักขี้เลน ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้นายอนุสรณ์กลับไปศึกษาประวัตินายชวน ก่อนออกมาวิพากษ์วิจารณ์และเห็นว่าสิ่งที่กล่าวมาไม่เป็นความจริง รวมถึงไม่ควรออกมาให้สัมภาษณ์เช่นนั้น
 
นายราเมศ กล่าวถึงกรณีการยื่นถอดถอนประธานรัฐสภากรณีกระทำผิดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับในเรื่องของการเสนอให้ปิดอภิปรายมาตรา 10 ในการประชุมแก้ไข รธน.ที่มา ส.ว.ว่า จะร่างคำร้องเสร็จภายในวันนี้และจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้ (13 ก.ย. 56)
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
กมธ.กิจการสภา สอบเหตุพฤติกรรม ส.ส.เพื่อไทย กับการทำหน้าที่สื่อมวลชน ระหว่างการประชุมงบประมาณ พบทุกฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน และไม่มีพฤติกรรมข่มขู่เกิดขึ้น
 
12 ก.ย. 56 - คณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ตรวจสอบกรณีช่างภาพการเมืองยื่นจดหมายเปิดผนึกขอให้ตรวจสอบพฤติกรรม ว่าที่ ร.ต.พงศ์พันธฺ์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ต่อสื่อมวลชน ระหว่างการประชุมงบประมาณ พบฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตน และไม่มีพฤติกรรมข่มขู่เกิดขึ้น ด้าน ส.ส.พงศ์พันธุ์ ขอโทษต่อการกระทำที่ไม่ถูกที่ถูกเวลา
 
การประชุมคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายไพจิตร ศรีวรขาน เป็นประธาน ร่วมพิจารณากรณีช่างภาพการเมืองยื่นจดหมายเปิดผนึกขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง พฤติกรรมคุกคามสื่อของว่าที่ ร.ต.พงศ์พันธฺ์ สุนทรชัย ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย ในระหว่างการประชุมพิจารณางบประมาณซึ่งนายพงษ์ฤทธิ์ชา ขวัญเนตร ช่างภาพเอเอสทีวี และนายสุชาติ โรจน์ทองคำ ผอ.สำนักรักษาความปลอดภัย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พร้อมตำรวจรัฐสภาผู้อยู่ในเหตุการณ์ ให้ข้อมูลว่า บุคคลที่เป็นข่าวมีการชะโงกจากจุดที่สื่อยืนอยู่ในห้องประชุมเพื่อถ่ายภาพ ทำให้เจ้าหน้าที่ที่มองเห็นว่าไม่ควรทำเพราะเกรงจะเกิดอันตราย จึงมอบหมายให้ตำรวจรัฐสภาที่ดูแลพื้นที่สื่อในห้องประชุมเข้าสอบถามว่าเป็นใคร สังกัดใด โดยทั้งช่างภาพและตำรวจรัฐสภาให้ข้อมูลตรงกันว่าการเข้าสอบถามไม่มีพฤติกรรมข่มขู่ใด เป็นเพียงการให้เขียนชื่อลงในกระดาษเปล่าเท่านั้น
 
ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.พงศ์พันธฺ์ เข้าชี้แจงภายหลังช่างภาพออกจากห้องประชุมแล้ว โดยยอมรับเปิดไอแพด เพื่อดูข้อมูลต่าง ๆ ระหว่างประชุม ในเรื่องเกี่ยวกับข้าวและลำไย ผ่านเว๊บไซต์กูเกิ้ลแล้วพบคำว่า แฟชั่นนางแบบ จึงเคาะเข้าไปดูขณะที่ตนเองไม่มีความชำนาญในการใช้ไอแพดนักจึงออกจากหน้าดังกล่าวไม่ค่อยเป็น พร้อมยอมรับการกระทำของตนไม่ถูกที่ถูกทาง และได้ขออภัยต่อที่ประชุมถึงการกระทำที่ไม่ได้ตั้งใจ และไม่ติดใจกับช่างภาพเนื่องจากตนไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ด้าน นายไพจิตร กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า การดูภาพต่าง ๆ และข้อมูลต่าง ๆ ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง
 
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเสรีภาพของสื่อมวลชน ซึ่งต่างยืนยันว่า ช่างภาพและสื่อมวลชน มีเสรีภาพในการทำข่าว โดยเฉพาะในที่สาธารณะ ขณะที่สมาชิกสภาเองต้องระมัดระวังอย่างสูง พร้อมได้ขอทำความเข้าใจกับทั้งสองส่วน โดยตำรวจต้องให้เกียรติในการเข้าสอบถามด้วยความสุภาพ   ส่วนกรณีมีการเสนอภาพสมาชิกสภาหลับในที่ประชุมนั้น ขอให้เข้าใจว่าบุคคลเหล่านั้นมาทำงานอย่างน้อยก็อยู่ในสภาเพื่อทำหน้าที่ หรือเป็นเพื่อนให้กับผู้อภิปรายที่มีการประชุมค่ำ จึงเกิดความเหน็ดเหนื่อยเป็นธรรมดา ซึ่งนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมว่า เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ การลงภาพข่าวของสื่อมวลชนอาจมีการลงเวลาในภาพว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดในช่วงใด
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว มันทนา ศรีเพ็ญประภา / เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้าน เตือนส.ส.รัฐบาล อย่าทำผิดซ้ำซากเร่งปิดอภิปราย พรบ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ชี้ส่อขัดรัฐธรรมนูญ
 
13 ก.ย. 56 - ฝ่ายค้าน  เตือนส.ส.รัฐบาล อย่าทำผิดซ้ำซากเร่งปิดอภิปราย พรบ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน  ชี้ส่อขัดรัฐธรรมนูญ  พร้อมเผยสัปดาห์หน้าเตรียมยื่นถอดถอนประธานรัฐสภา
 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) แถลงหลังการประชุมวิปว่า  วิปฝ่ายค้านจะประชุมหารือเกี่ยวกับการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2ล้านล้าน ในวันอังคารนี้  อย่างไรก็ตาม ขอเตือน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลว่าอย่าเร่งรัดปิดอภิปรายอีก เพราะเป็นการกระทำความผิดซ้ำซากและเข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิของผู้สงวนคำแปรญัตติไว้ ส่วนการยื่นถอดถอนประธานรัฐสภา ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูล  ซึ่งจะยื่นถอดถอนได้ในต้นสัปดาห์หน้า
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, เรณู เขมาปัญญา / ข่าว / เรียบเรียง
 
กมธ.การปกครอง สผ. จี้ บ.บิ๊กเจียงฯ แก้ปัญหาประชาชน ม.จิรทิพย์ วัชรพล
 
13 ก.ย. 56 –  กมธ.การปกครอง สผ. จี้ บ.บิ๊กเจียง ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทำหนังสือยืนยันแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้ประชาชนหมู่บ้านจิรทิพย์ วัชรพล หลังก่อสร้างบ้านจัดสรรไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดินฯ
 
คณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนของนายผดุง พงษ์เสถียรภาพ และประชาชนหมู่บ้านจิรทิพย์ วัชรพล เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร กรณีคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน และบริษัท บิ๊กเจียง ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ผู้จัดสรรที่ดิน ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ในการอนุญาตและดำเนินการก่อสร้างตามโครงการบ้านจัดสรรทำให้เกิดผลกระทบเสียหายต่อประชาชนในหมู่บ้าน อาทิ ไม่จัดทำระบบสาธารณูปโภครองรับอย่างถูกต้อง การก่อสร้างหมู่บ้านโครงการใหม่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ภายหลัง กมธ.รับฟังคำชี้แจง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า ขณะนี้ บ.บิ๊กเจียงฯ กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหา ดังนั้น กมธ.จึงได้มอบหมายให้ผู้จัดการโครงการหมู่บ้านจิรทิพย์ ผู้แทน บ.บิ๊กเจียงฯ ทำหนังสือยืนยันการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในหมู่บ้าน พร้อมทั้งให้บริษัทจ่ายเงินค่าเสียหายที่เกิดกับประชาชน เนื่องจากการจัดระบบสาธารณูปโภคไม่ได้มาตรฐานทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม และดำเนินการจัดส่งบัญชีรายรับ - รายจ่าย เงินค่าเวนคืนที่ดินและเงินส่วนกลางของหมู่บ้าน ตลอดจนส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนต่อ กมธ.โดยเร็วที่สุด พร้อมขอให้สำนักส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ คณะกรรมการจัดสรรที่ดินกรุงเทพมหานคร และสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน รายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในหมู่บ้านมายัง กมธ. เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, อรุณี ตันศักดิ์ดา / ข่าว วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ / เรียบเรียง
 
กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ขยายกรอบเวลาการพิจารณาเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนการชุมนุม 19 ก.ย. 49 ถึงหลัง 10 พ.ค. 54
 
13 ก.ย. 56 - กมธ.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เห็นชอบขยายกรอบเวลาการพิจารณาเหตุการณ์ตั้งแต่ก่อนการชุมนุม 19 ก.ย. 49 ไปจนถึงหลัง 10 พ.ค. 54 พร้อมเชิญ ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าให้ข้อมูล ขณะ มีกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุชุมนุมทางการเมืองเดือน เม.ย.-พ.ค. 53 ยื่นเรื่องไม่สนับสนุนร่างนิรโทษกรรมของแม่น้องเกด แต่สนับสนุนฉบับที่ ส.ส.วรชัย เสนอ
 
การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย เป็นประธาน วานนี้ (12 ก.ย. 56) มีกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเดือน เม.ย.-พ.ค.53 นำโดย นายบรรเจิด ฟุ้งกลิ่นจันทร์ เข้ายื่นหนังสือแสดงเจตนารมณ์ไม่สนับสนุนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง แต่ขอสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ ส.ส. วรชัย แทน ขณะที่สาระของการประชุม กรรมาธิการได้หารือถึงกรอบแนวทางและขอบเขตของบุคคลที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ซึ่งกรรมาธิการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง อาทิ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ กรรมาธิการและ ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา เห็นว่าความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในขณะนี้ มีสาเหตุจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกฯ ยังไม่ได้กลับบ้าน ดังนั้น หากกฎหมายฉบับนี้จะทำให้บ้านเมืองได้รับประโยชน์จริงไม่ใช่แค่บรรเทาปัญหาจะต้องแบ่งการพิจารณากรอบของเหตุการณ์ไปในแนวทางใดทางหนึ่ง คือ แยกกรณีเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวออกไป หรืออีกแนวทางหากจะยังคงพิจารณาเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับครอบครัวชินวัตรซึ่งต้องมาดูต่อว่าจะมีเงื่อนไขใดบ้าง อย่างไรก็ตาม ยอมรับต้องเกิดความวุ่นวายในทางปฏิบัติ ดังนั้น นายอภิสิทธิ์ ผู้นำฝ่ายค้านฯ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯ ซึ่งแม้ไม่ใช่ผู้ชี้นำบ้านเมืองได้ทั้งหมด แต่นับเป็นกลไกสำคัญจึงจะต้องมานั่งคุยกัน เพื่อบรรเทาปัญหา แม้ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก ส่วนการกลับประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นตนเห็นว่าอย่างไรก็ต้องกลับมารับการดำเนินคดีก่อน
 
ขณะที่ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย กรรมาธิการและ ส.ส.ประชาธิปัตย์ เสนอว่าควรให้บุคคลผู้มีส่วนในเหตุการณ์ก่อน 19 ก.ย. 49 ได้เข้าเสนอข้อมูลและคดีที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย โดยเฉพาะในมุมของสื่อมวลชนทั้งในกรณีวิทยุชุมชน ข้อมูลจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งหมดได้เข้ามาแจ้งข้อมูลและได้รับประโยชน์ ซึ่งความเห็นดังกล่าว ทำให้ นายสุชาติ ลายน้ำเงิน กรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทย เห็นด้วย พร้อมระบุว่า หลักการของการออกกฎหมายก็เพื่อให้ทุกคนได้รับประโยชน์
 
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า หัวใจของกฎหมายนิรโทษกรรมคือ นิรโทษกรรมให้คดีชุมนุมทางการเมือง ดังนั้น กรณีเหตุการณ์ภาคใต้ หากไม่ใช่การชุมนุมทางการเมืองย่อมไม่เข้าองค์ประกอบ แต่กรณีการชุมนุมที่มัสยิดกรือเซะ จ.ปัตตานี และ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นลักษณะการชุมนุมทางการเมือง จะมีการพิจารณาครอบคลุมไปถึงเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ และหากไม่ใช้คำว่าการชุมนุมทางการเมือง แต่ใช้คำว่าการชุมนุมสาธารณะ ม็อบราคายางพารา หรือม็อบเรียกร้องค่าชดเชยน้ำท่วม จะต้องพิจารณานิรโทษกรรมให้ด้วยหรือไม่ ดังนั้น จึงต้องจำแนกฐานความผิดให้ชัดก่อน เช่นเดียวกับนายแก้วสรร อติโพธิ กรรมาธิการจากพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า หากกำหนดขอบเขตความผิดไว้มากเกินไปย่อมจะเกิดปัญหา และคงจะต้องมีการพิจารณาที่ศาลรัฐธรรมนูญอีก
 
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้มีความเห็นตรงกันถึงกรอบเวลาการนิรโทษกรรม ควรครอบคลุมเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองก่อนวันที่ 19 ก.ย. 49 ไปจนถึงหลังวันที่ 10 พ.ค. 54 นอกจากนี้ นายสามารถ ประธานกรรมาธิการ ได้กล่าวยืนยันจากข้อซักถามของ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี กรรมาธิการและ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ว่า การพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะไม่ครอบคลุมถึงคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ สุดท้าย ที่ประชุมได้มอบหมายให้ประธานกรรมาธิการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาให้ข้อมูลต่อกรรมาธิการในการประชุมครั้งต่อไปวันพฤหัสบดีที่ 19 ก.ย. นี้
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, ลักขณา  เทียกทอง / ข่าว/ เรียบเรียง
 
ฝ่ายค้าน เตรียมยื่นศาล รธน.สั่งยุติการแก้ไข รธน. ระงับลงมติวาระ 3
 
13 ก.ย. 56 - วิปฝ่ายค้าน ระบุ แก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว. อาจเข้าข่ายผิด รธน.มาตรา 68รวมทั้งมีประเด็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง เผย เตรียมยื่นศาล รธน.ตีความ เพื่อขอให้สั่งยุติการแก้ไข ระงับลงมติวาระ 3
 
นายจุรินทร์  ลักษณะวิศิษฎ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน หรือ วิปฝ่ายค้าน เปิดเผยหลังหารือกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ว่า สัปดาห์หน้าจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา สว. เข้าข่ายผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่าด้วยการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่า การแก้ไข รธน.ครั้งนี้เข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ ทำให้ดุลยภาพของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการเสียไป ซึ่งจะมีผลต่อการทำหน้าที่แต่งตั้งและถอดถอนองค์กรอิสระ นอกจากนี้เห็นว่าการแก้ไข รธน.ครั้งนี้ทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ใน รธน.ฉบับปัจจุบัน เนื่องจากมีเรื่องของผลประโยชน์ทับซ้อนหวังผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาบางส่วนได้รับผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง วิปฯจึงมีมติยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ศาลสั่งยุติการแก้ไขรัฐธรรมนูญและคุ้มครองชั่วคราว ระงับการลงมติวาระ 3
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, วิจิตรา น้าวัฒนไพบูลย์ ข่าว / เรียบเรียง
 
ประธานสภาผู้แทนราษฎร นัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท
 
14 ก.ย. 56 – ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือ นัดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญทั่วไป ครั้งที่ 10เป็นพิเศษ ในวันที่ 19-20ก.ย. พิจารณาโครงการเงินกู้ 2ล้านล้านบาท
 
นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือนัดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป ครั้งที่ 10เป็นพิเศษ ในวันที่ 19ก.ย. 2556เวลา 09.30น. และครั้งที่ 11เป็นพิเศษ ในวันที่ 20ก.ย. 2556เวลา 09.30น. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. … ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
 
โดยในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอคำแปรญัตติทั้งหมด 144 คน และในบัญชีท้ายร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีรายละเอียดยุทธศาสตร์ แผนงาน และวงเงินดำเนินการ ซึ่งในหมวด ก. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ มีทั้ง 3 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.ยุทธศาสตร์ปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าทางถนนสู่การขนส่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าวงเงิน 357,709.51 ล้านบาท 2.ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางและขนส่งไปสู่ศูนย์กลางของภูมิภาคทั่วประเทศ และเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน วงเงิน 1,043,224.14 ล้านบาท และ 3.ยุทธศาสตร์พัฒนาและปรับปรุงระบบขนส่งเพื่อยกระดับความคล่องตัว วงเงิน 578,015.65 ล้านบาท สำหรับหมวด ข. แผนงานการส่งเสริม หรือสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศตามยุทธศาสตร์ วงเงิน 21,050.70 ล้านบาท
 
ที่มา: วิทยุรัฐสภา, นภาทิพย์  นูโพนทอง  ผู้สื่อข่าว / เรียบเรียง
 
“บุญจง” เผย ประชุมพรรคภท.สัปดาห์หน้า เตรียมพร้อมอภิปรายร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้าน
 
14 ก.ย. 56 - นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท วาระ 2 ในสัปดาห์หน้า ว่า ในการประชุมพรรคภูมิใจไทย วันอังคารที่ 17 ก.ย.นี้ พรรคจะหารือกันว่าจะอภิปรายร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท อย่างไร และมีใครประสงค์จะอภิปรายประเด็นใดบ้าง ส่วนที่เกรงว่าจะมีการรวบรัดการอภิปรายเหมือนการประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.นั้น  ตนเห็นว่าขึ้นอยู่กับประธานในที่ประชุมว่าจะรวบรัดไม่ให้ผู้สงวนคำแปรญัตติ และผู้ที่ประสงค์จะอภิปรายหรือไม่ หากรับใช้เสียงข้างมากโดยรีบปิดอภิปรายก็เชื่อว่าจะเกิดความวุ่นวายอีกแน่นอน ซึ่งตนมองว่าคนที่ทำหน้าที่ประธานจะต้องดำเนินการควบคุมการประชุมด้วยความถูกต้องเป็นธรรม 
 
เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของส.ว.ว่าขัดต่อมาตรา 68 หรือไม่ นายบุญจง กล่าวว่า ฝ่ายค้านมีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะเห็นว่าการแก้ไขที่มาของ ส.ว.มีประเด็นที่เป็นประโยชน์ทับซ้อน ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไรเป็นเรื่องของศาลที่จะพิจารณา ซึ่งตนยืนยันว่าคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีผลผูกพันทุกองค์กร รวมถึงรัฐสภา
 
ที่มา: ข่าวสด
 
“องอาจ” ติง “นิคม” ยุเร่งโหวตแก้ รธน.วาระ 3 ไม่รอศาลฯ วินิจฉัย
 
ปชป. แนะรอฟังคำวินิจฉัยศาล รธน.ในการแก้ไข รธน.ที่มา ส.ว. ติง “นิคม” ไม่ควรยุให้ประธานรัฐสภาเร่งโหวตวาระ 3 โดยไม่ต้องรอศาลฯ ตีความ
      
14 ก.ย. 56 - นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาของ ส.ว. ว่า เป็นกระบวนการพิจารณาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นไปตามข้อบังคับ และพรรคประชาธิปัตย์ได้รวบรวมรายชื่อ ส.ส.เพื่อยื่นร้องต้อศาลรัฐธรรมนูญว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่เป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และมีการกระบวนการหลายขั้นตอนที่ลิดรอนสิทธิการทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ขอ งส.ส. แต่ปรากฏว่า นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กลับระบุว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ระงับการลงมติวาระ 3 ออกไปก่อน นายนิคม ก็จะประสานไปยังนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ให้เปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อให้ยืนยันสิทธิในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ
      
“ผมคิดว่าความคิดดังกล่าวของ นายนิคม ไม่น่าจะถูกต้องเหมาะสม และไม่สมควรอย่างยิ่ง จึงควรปล่อยให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอิสระในการพิจารณาคำร้อง และเมื่อคำวินิจฉัยรัฐธรรมนูญออกมา ทุกคนจะต้องเคารพในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”
      
นายองอาจ กล่าวว่า ส่วนการที่ฝ่ายรัฐบาลบอกว่า ไม่ควรรอฟังคำวินิจฉัยขององค์กรใดๆ ทั้งสิ้น และเมื่อครบ 15 วัน ควรดำเนินการในการลงมติวาระ 3 ไปเลยนั้น ตนคิดว่าเป็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าเร่งให้มีการลงมติทันทีโดยที่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังไม่เสร็จสิ้น อาจเกิดผลกระทบบานปลาย กลายเป็นปัญหาต่อการดำเนินงานของรัฐสภาในอนาคต
      
ดังนั้น การรับฟังความคิดเห็นของศาลรัฐธรรมนูญน่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพิจารณาแก้ไข อีกทั้งควรนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว. มาเป็นบทเรียนสำหรับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 2 ฉบับที่เหลือ และไม่ควรใช้เสียงข้างมากลากไป หรือใช้ในการอภิปรายของฝ่ายค้าน แต่ควรรับฟังเสียงข้างน้อย เพราะฝ่ายค้านไม่ได้ต้องการยื้อ หรือถ่วงเวลาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ขอให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พิจารณาทบทวนการทำงานของฝ่ายเสียงข้างมากในสภา
 
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์
 
'พงศ์เทพ' ส่งสัญญาณ ขอสู้เต็มที่ โดนยื่นตีความแก้ รธน.
 
14 ก.ย. 56 -  นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคประชาธิปัตย์ เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 68 กำหนดให้ประชาชนใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่เกิดปัญหาต่อระบบการปกครอง แต่ไม่ใช่กรณี ที่สมาชิกรัฐสภาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ
 
ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีอำนาจตีความ ที่ผ่านมามีการใช้มาตรา 68 บิดเบือนกันมาก โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ที่เป็นการแก้ไขเพียงบางมาตรา ไม่ใช่แก้ไขทั้งฉบับ ดังนั้น หากมีการยื่นจริง ผู้เกี่ยวข้องทั้งสมาชิกรัฐสภา และประธานรัฐสภา จะต่อสู้ทั้งข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงต่างๆ เพราะการแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจสมาชิกรัฐสภา.
 
โดย: ไทยรัฐออนไลน์
 
วิป รบ.ยืนยันเดินหน้าลงมติวาระ 3 ร่างแก้ไข รธน.
 
15 ก.ย. 56 - นายอำนวย คลังผา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของส.ว.ที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 2 ไปแล้วว่า ขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องทิ้งไว้ 15 วันจึงจะสามารถลงมติในวาระที่ 3 ได้ ก็คือวันที่ 27ก.ย.แต่อาจจะเหลื่อมเวลาไปได้นิดหน่อยเป็นวันที่ 1-2 ต.ค.ก็ได้ ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่ากระบวนการแก้ไขขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ถือเป็นสิทธิแต่ยืนยันว่าทำตามระเบียบข้อบังคับทุกประการ หากมีการยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความแต่ยังไม่มีคำวินิจฉัยใดๆออกมา เราก็จะเดินหน้าลงมติในวาระที่ 3 ต่อไป เราต้องทำตามขั้นตอนให้ครบถ้วนก่อน ใช้สิทธิของเราให้เต็มที่ก่อน มิฉะนั้นจะเสียสิทธิ กฎหมายก็จะตกไป
 
นายอำนวย กล่าวอีกว่า สำหรับประเด็นเรื่องการปิดอภิปรายที่จะมีการนำมาเป็นข้อร้องเรียนนั้น ยืนยันว่าดำเนินการไปตามข้อบังคับ เมื่อเห็นว่ามีการพิจารณาไปพอสมควรแล้วก็สามารถเสนอปิดอภิปรายได้ และคนที่เสนอเป็นสมาชิกรัฐสภา ไม่ใช่ประธานในที่ประชุม อีกทั้งการเสนอให้ปิดหลายครั้งก็มีคนเห็นต่างเสนอให้เปิดอภิปราย แต่พอเวลากดคะแนนกลับไม่กดโหวตเสนอให้อภิปรายต่อ อันนี้ต้องดูเจตนาด้วย ถ้าคิดว่าผิดก็ผิดกันทั้งรัฐสภา
 
นายไพจิต ศรีวรขาน รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า การลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว.ในวาระ 3 ถือเป็นดุลยพินิจของประธานรัฐสภาที่จะต้องนัดประชุมเมื่อครบกำหนดให้เว้นไว้ 15 วันแล้ว แต่หลักการนั้นไม่ควรที่จะเยิ่นเย้อออกไปมากนัก เมื่อครบ 15 วันแล้ว วันที่ 16 หรือ 17 ก็ควรจะมีการโหวตวาระ 3 เลย ซึ่งเรื่องนี้น่าจะมีความชัดเจนในสัปดาห์หน้า
 
ทั้งนี้ เบื้องต้นวันเวลาที่เหมาะสมจะนัดประชุมร่วมรัฐสภานั้น หากไม่เป็นวันอังคารก็จะเป็นวันศุกร์เท่านั้น
 
ที่มา: มติชนออนไลน์
 
มารุตแนะหลักการทำหน้าที่ประธานรัฐสภา
 
15 ก.ย. 56 - นายมารุต บุนนาค อดีตประธานรัฐสภา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง เขียนบทความผ่าน สำนักข่าวอิศรา "จากใจอดีตประธานรัฐสภา" อธิบายถึงการทำหน้าที่ของประธานรัฐสภา ดังนี้
 
ผมเลิกเล่นการเมืองมานานพอสมควรแล้ว แต่ยังติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา ได้มีผู้ที่เคารพนับถือและมิตรสหายเป็นจำนวนมากอยากให้ผมแสดงความคิดเห็นในเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่เป็นประธานในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาบ้าง
 
ผมขอเรียนว่า โดยมารยาทผมไม่อาจก้าวล่วงกับการปฏิบัติหน้าที่ของท่านผู้เป็นประธานในปัจจุบัน ผมเห็นว่าทุกท่านผ่านชีวิตการเมืองมานาน มีประสบการณ์สูง และปฏิบัติหน้าที่ของท่านได้เรียบร้อยดีพอสมควรตลาดระยะเวลาสองปี ที่ผ่านมา ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่นั้นย่อมจะถูกใจและไม่ถูกใจผู้ที่สนใจบ้างเป็นธรรมดา
 
ผมขออธิบายแนวทางของผมในการปฏิบัติหน้าที่ผู้เป็นประธานว่า เป็นอย่างไร ในหลักปฏิบัติดังนี้
 
1.ต้องมีความเป็นอิสระ หมายถึงความเป็นอิสระในการทำงาน หากมีความอิสระในการทำงาน ก็จะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลางอย่างสมบูรณ์ แต่ถ้าผู้เป็นประธานมีความผูกพันหรือถูกกำหนดโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ย่อมทำให้เสียความเป็นกลางได้  เมื่อครั้งท่านชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีสมัยแรก เมื่อปี 2535  ได้ขอให้ผมรับหน้าที่ประธานสภาฯ ผมได้ขอความเป็นอิสระในการทำงาน โดยไม่อยู่ในความผูกพันของพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อจะได้ปฏิบัติงานด้วยความสบายใจ ท่านก็ตกลงด้วย เพราะฉะนั้นในการปฏิบัติงานของผมในช่วงปี 2535-2538 จึงมีหลายครั้งที่คนในพรรคประชาธิปัตย์ไม่พอใจ แต่ภายหลังก็เข้าใจผมดี
 
2.ไมตรีจิตที่ประธานพึงมีต่อสมาชิก การให้เกียรติ ยกย่องสมาชิกแต่ละคนเท่าที่โอกาสจะเปิดให้ ควรกระทำเพราะเป็นการผูกน้ำใจซึ่งกันและกัน
 
3. ศึกษาจุดดีและจุดด้อยของสมาชิกผู้อภิปรายแต่ละคน เพื่อที่ประธานจะได้ปรับตัวได้ถูก เพราะในสภาแต่ละยุคนั้น จะมีสมาชิกปากกล้าไม่เกิน  30 คน จึงไม่ยากที่จะศึกษา
 
ผมขอยกตัวอย่างสักสองท่าน ท่านสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีผู้วายชนม์แล้ว เดิมท่านก็ไม่ค่อยพอใจผมนัก แต่ผมให้โอกาสท่านอภิปรายเต็มที่ หากไม่ได้มีการกำหนดเวลาไว้จะไม่ห้ามปรามท่านเลย และติดตามการอภิปรายของท่านอย่างต่อเนื่อง (ตั้งใจฟัง) ก็ดูท่านจะพออกพอใจ และไม่มีเรื่องต่อล้อต่อเถียงกับผู้เป็นประธาน
 
อีกท่านหนึ่งท่านดร.เฉลิม อยู่บำรุง ท่านเคยอยู่พรรคประชาธิปัตย์มาก่อน ท่านจะพูดถึงความหลัง ความสัมพันธ์ที่ผมมีกับท่าน แล้วอภิปรายตามสไตล์ของท่าน เบาบ้างแรงบ้าง ถ้าไม่หนักหนานักผมก็ให้ท่านอภิปรายเต็มที่ ท่านก็ดูพอใจอยู่ไม่น้อย แม้บางครั้งจะมีการขัดในกันบ้างก็ไม่ถือสากัน
 
4.ประธานควรจะพูดน้อยที่สุด ไม่จำเป็นไม่ควรจะทำให้เกิดปัญหาโต้เถียงกับสมาชิก หากสิ่งเล็กน้อยก็ควรผ่อนปรนไป เช่น ในกรณีที่สมาชิกของหารือ เรื่องที่อยู่นอกวาระ ก็ควรเปิดโอกาส
 
เช่นครั้งหนึ่ง ท่านส.ส.เชาวรินทร์ ลัทธศักดิ์ศิริ ส.ส.ราชบุรี ขอหารือก่อนวาระประชุมเริ่ม เรื่อง คนไทยถูกศาลสิงคโปร์ลงโทษและจะถูกแขวนคอในวันรุ่งขึ้น ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ  ผมก็ให้ท่านพูดเต็มที่ขอร้องให้ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศ (ท่านประสงค์ สุ่นศิริ) รับไปหาทางช่วยเหลือ  และยังมีเรื่องอื่นๆอีกมากมายทำนองนี้  เช่นความเดือดร้อนต่างๆของประชาชนที่เกิดขึ้นเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป  ก็อาจจะหารือได้ซึ่งในรั้งนั้นผลและท่านรองประธานอีกสองท่านคือท่าน วันมูหะมัดนอร์ มะทา  และท่านถวิล  ไพรสณฑ์  ได้ตกลงร่วมกันให้เปิดเช่นนี้โดยให้เวลาประมาณ 30 นาทีก่อนเข้าสู่วารระการประชุมเป็นที่พอใจของฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล
 
5 .การวินิจฉัยปัญหาของผู้เป็นประธานควรต้องเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประธานและรองประธานที้งสอง  มิฉะนั้นจะเกิดความไม่เป็นธรรม
 
6.รับฟังความเห็นของฝ่ายค้านซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยบ้าง  ช่วงปี 2535-2538 ผมมีผู้นำฝ่ายค้านสองท่านคือ  ท่านพลตำรวจเอกประมาณ  อดิเรกสาร และท่านบรรหาร  ศิลปอาชา  นัการเมืองอาวุโสทั้งสองท่านได้ทำหน้าที่ประสานงานกับผู้เป็นประธานได้ดีที่สุดโดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน
 
7.ประธานที่ประชุมชอบที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกันของวิปฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ไม่ควรดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงโดยพลการ  ควรจะพิจารณาสอบสวนในเรื่องจริยธรรมของสมาชิกที่ปฏิบัติผิดจริยธรรมทุกกรณีไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล
 
8.การใช้อำนานไล่สมาชิกออกจากที่ประชุมเป็นอำนาจที่ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อ หากพฤติการณ์ไม่ถึงขนาดควรพูดจากันด้วยเหตุผล  ผมจำได้ว่าตลอดสามปีที่ทำหน้าที่ได้ขอร้องให้ท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติท่านหนึ่งออกจากที่ประชุมไปในเรื่องที่ท่านปฏิบัติไม่ถูกต้อง  โดยท่านผู้นั้นเป็นดาวเด่นของสภาฯ (ท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว)  ท่านเคยเป็นนายอำเภอดีเด่น  เป็นผู้มีชื่อเสียง  ผมขอร้องท่านว่าเมื่อท่านไม่ยอมถอนคำพูดที่ไม่สมควร  ท่านมีสิทธิที่จะตัดสินใจเองที่จะเดินออกจากห้องประชุมไปในวาระนั้น  โดยไม่ต้องให้ประธานสภาฯ ใช้อำนาจ  จะเป็ฯเกียรติของท่านและเป็นตัวอย่างที่ดี  ท่านก็เห็นด้วยโดยยอมออกจากที่ประชุมเพราะไม่ยอมถอนคำพูดเรื่องก็จบลงด้วยความเรียบร้อยไม่มีปัญหาประการใด  ผมเห็นอดีตประธานสภาฯ ที่ผ่านมาหลายคนใช้น้ำเย็นเข้าลูบ พูดจากับสมาชิกอย่างให้เกียรติเรื่องจะจบลงด้วยดี  ดีกว่าที่ประชาชนจะต้องเห็นภาพเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐสภาต้องอุ้มหรือหิ้วส.ส. ผู้ประท้วงออกจากห้องประชุมอย่างทุลักทุเลเป็นที่อเนจอนาถและเสื่อมเสียเกียรติของสภาเป็นอย่างยิ่ง
 
ในประเทศประชาธิปไตยนั้น สถาบันรัฐสภารวมทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเป็นสถาบันที่มีเกียรติ  ผู้เป็นประมุขของสถาบันดังกล่าวจะได้รับการยกย่องและได้รับความเชื่อถือ  ความเลื่อมใสจากคนทั่วไป  หากผู้เป็นประมุขของสถาบันไม่ลุแก่อำนาจ  ประพฤติตนตามทำนองคลองธรรมและด้วยความสุจริต
 
ที่มา: โพสต์ทูเดย์
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net