Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

นับจากการทำรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลเมื่อปี 2549 ผู้เขียนเล็งเห็นกลไกปราบปรามของรัฐ คือ คุก ศาล ทหาร ตำรวจ มีความเข้มแข็ง เผด็จการมากขึ้น ในการจัดการกับนักกิจกรรม ผู้ประท้วงรัฐประหาร  รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไม่หยุดหย่อน  เพราะเป็นขบวนการที่ยึดหลักคิดว่า การแทรกแซงของทหารไม่สามารถยอมรับได้ ตามหลักการประชาธิปไตยสากล ในขณะที่อีกฝ่าย สนับสนุนทหารและกฎหมายความมั่นคงต่างๆ  ทำลายประชาชนที่กำลังตื่นตัวเรื่องการเมืองตั้งแต่ยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จนถึงวันนี้

ผู้เขียนยังเล็งเห็นช่องว่างแห่งความเข้าใจของผู้นำแรงงาน สหภาพแรงงานที่หลายแห่งไม่ตระหนักเรื่องการเมืองว่าชนชั้นปกครองใช้กฎหมายความมั่นคงของรัฐ ริดรอนเสรีภาพของตัวเอง เพื่อที่จะออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายเหล่านี้

ยกตัวอย่างกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เปิดช่องให้มีการแจ้งความกล่าวหาโดยใครก็ได้  อนุญาตให้มีการตีความเกินขอบเขต  เหมารวมการดูหมิ่นว่าเป็นการประทุษร้ายต่อพระมหากษัตริย์และองค์รัชทายาทที่ต้องลงโทษอย่างหนัก หลายกระทง ไม่ให้สิทธิประกันตัว สร้างอคติ เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการกลั่นแกล้ง รังแกผู้ที่เห็นต่างจากผู้มีอำนาจ ทั้งก่อให้เกิดการไต่สวนพิจารณาคดีที่เอนเอียง ไร้มาตรฐาน กักขังผู้ต้องหาให้เกิดความทุกข์ทรมานทางร่างกายและจิตใจ ใส่ห่วง ล่ามโซ่ตรวน ซึ่งทำให้ผู้ต้องหากลายเป็นจำเลย เป็นอมนุษย์ ซ้ำยังก่อให้ผลทางจิตวิทยาต่อสังคม สร้างความหวาดกลัวต่ออำนาจรัฐเพื่อป้องกันการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันการปกครองสำคัญๆ

แต่ยังมีคำถามคาใจที่นักสหภาพแรงงาน นักพัฒนาเอกชน ในขบวนการแรงงานสงสัยว่ากฎหมายหมิ่นฯ นี้มาเกี่ยวข้องกับแรงงานอย่างไร กับสิทธิแรงงานซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชน แต่ไม่ได้หมายความว่า จะต้องแยกออกจากสิทธิพลเมืองในมิติอื่นๆ  อีกทั้งมันสำคัญอย่างไรต่อผู้ใช้แรงงานที่จะออกมาเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายนี้

คำตอบคือ

1.กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจรัฐมาตั้งแต่อดีต และปัจจุบันมักใช้ควบคู่กับกฎหมายว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่เป็นผลผลิตของคณะผู้ทำการรัฐประหารและรัฐบาลสมัยสุรยุทธ์ จุลานนท์ บนหลักคิดอุดมการณ์ชาตินิยม กษัตริย์นิยม และใช้วาทกรรมอื่นที่แพร่หลายในขบวนการโค่นล้มรัฐบาลพรรคไทยรักไทยยุคนั้นด้วย คือวาทกรรมเผด็จการรัฐสภา เสียงข้างมากทำร้ายเสียงข้างน้อย คนเลือกพรรคไทยรักไทยโง่ ด้อยการศึกษา เห็นแก่ประโยชน์ระยะสั้นจากนโยบายประชานิยม ชาวบ้านซื้อสิทธิขายเสียง นักการเมืองเลว คอรัปชั่น สมควรต้องโยนระบบประชาธิปไตยแบบผู้แทนทิ้งไป แล้วให้ทหารกับคนดีมีศีลธรรมมาปกครองแทน

2.กฎหมายนี้ควบคู่ไปกับการใช้ความรุนแรงจากหน่วยงานของรัฐ  ตัดตอนความสามารถ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนที่จะจัดการผู้แทนและรัฐบาลที่สร้างปัญหาด้วยสติปัญญาของตัวเอง และทำให้พัฒนาการทางการเมืองสะดุด ถอยหลัง

3.กลไกรัฐ คุก ศาล ทหาร ตำรวจ เข้มแข็ง สามารถก้าวก่ายเสรีภาพ หรือเมินเฉยปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน และละเมิดเสียเอง สร้างบรรยากาศแห่งความกลัว แม้กระทั่งในเรื่องแรงงาน เช่น การรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน การใช้กฎหมายความมั่นคงภายในละเมิดสิทธิในการชุมนุมของสหภาพแรงงาน กรณีจับกุมแกนนำสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ที่เรียกร้องรัฐบาลให้แก้ไขปัญหาการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม การที่ศาลอนุญาตให้นายจ้างบริษัทไทรอัมพ์เลิกจ้างประธานสหภาพแรงงาน จิตรา คชเดช ด้วยข้อหาเกี่ยวกับการเมือง การใช้ก.ม.คอมพิวเตอร์ฯจำกัดการวิจารณ์นายจ้าง

4.กลไกรัฐเป็นอุปสรรคในการยกระดับขบวนการแรงงานให้เป็นขบวนการประชาธิปไตย  สิทธิแรงงานถูกรัฐบิดเบือน ถูกทำให้ถอยห่างจากสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยด้วยการให้ข้าราชการควบคุมสหภาพแรงงานไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และนักสหภาพแรงงาน ผู้นำแรงงานถูกกล่อมเกลาให้เข้าใจเช่นนี้มาโดยตลอด ทำให้ไม่มีพื้นที่พัฒนาศักยภาพในการคิดวิเคราะห์ปัญหาการเมือง และเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตย  ถ้ามีนักสหภาพแรงงานไหนที่ก้าวหน้า กล้าหาญ ตอบโต้เผด็จการทหาร ก็กลายเป็นชะตากรรมของเขาและครอบครัว ที่จะแบกรับผลที่ตามมาด้วยตัวเอง เช่น กรณีทนง โพธิ์อ่าน จากสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ผู้ต่อต้านคณะผู้ก่อการรัฐประหารเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ถูกอุ้มหายไปอย่างไร้ร่องรอย  กรณีการใช้ก.ม.112 เป็นเครื่องมือจำคุกสมยศ พฤกษาเกษมสุข นักกิจกรรมประชาธิปไตย กลไกรัฐแบบนี้ก็ไม่สามารถประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้ใช้แรงงานได้เลย

5.เนื่องด้วยประเด็นแรงงานสามารถยกระดับการเคลื่อนไหวเป็นประเด็นการเมืองได้ ไม่ใช่ถูกจำกัดให้รณรงค์ในกรอบของกฎหมาย ระบบแรงงานสัมพันธ์ การเจรจาต่อรองบนโต๊ะเท่านั้น  ที่ผ่านมาในกรณีที่บรรยากาศของประชาธิปไตยเบ่งบาน การเดินขบวน ชุมนุม นัดหยุดงานให้แก้ไขกฎหมายแรงงาน เรียกร้องรัฐธรรมนูญเพิ่มสิทธิเสรีภาพของแรงงานก็ทำได้ดีกว่ายุคเผด็จการ เช่น ช่วง 14 ต.ค. 16 แม้แต่การมีพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมในรัฐสภาก็สามารถผลักดันไปได้   นี่คือเสรีภาพทางการเมืองที่แรงงานควรรักษาไว้เพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวต่อสู้กับเผด็จการ  และหากมีกลไกรัฐที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพก็ควรออกมาคัดค้าน  ทวงความเป็นธรรมให้แก่ผู้ที่ถูกกลไกรัฐรังแก    

ขบวนการแรงงานถูกจัดตั้งมายาวนานกว่าขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เพิ่งเกิดหลังปี 2549  ไม่ควรลอยตัวเหนือความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นอยู่  แยกประเด็นแรงงานออกจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของหน่วยงานรัฐหลังรัฐประหาร แยกตัวเองออกจากประชาชนทั่วไป แล้วจะมีเสรีภาพแค่ไหนกัน ภายใต้โครงสร้างรัฐที่กดขี่เช่นนี้  การรณรงค์ของสหภาพแรงงานให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศ ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการจัดตั้ง รวมกลุ่มและเจรจาต่อรอง ก็คงกระทำภายใต้กรอบกฎหมายหมิ่นฯ และกลไกปราบปรามที่แข็งแกร่ง  ในขณะที่อีกด้าน กรรมกรเสื้อแดงทั้งที่ยังไม่เป็นสมาชิกสหภาพ และเป็นสมาชิกบางแห่ง ออกมาในลักษณะปัจเจกต่อสู้แก้ไข ยกเลิกกฎหมายหมิ่นฯ โดยไม่ต้องอ้างอิงถึงกฎหมายแรงงานระหว่างประเทศ แต่อ้างถึงหลักการประชาธิปไตยสากล  กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิรวมกลุ่ม รวมตัวเป็นองค์กรในรูปแบบต่างๆได้อย่างเสรี ฉะนั้น ทำอย่างไรจึงจะลดช่องว่างการเรียนรู้ระหว่างแรงงานที่จัดตั้งกับที่ยังไม่จัดตั้งเป็นสหภาพแรงงาน และการเคลื่อนไหวต่อสู้ของแรงงานกลุ่มต่างๆ ที่กระจัดกระจายแต่เป็นคนส่วนมากของสังคม ให้ตระหนักถึงการรื้อฟื้นสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิประกันตัว เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การชุมนุมที่ถูกทำลายอย่างมากหลังรัฐประหาร 49 ดังที่กล่าวมาข้างต้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net