Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ในอดีตเคยมีคดีเมื่อปี 2501 สุวัฒน์ วรดิลก และ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี คู่สามีภรรยาศิลปินนักร้องนักแต่งเพลง ถูกฟ้องตามมาตรา 112 โดยผู้ที่เคยอยู่บ้านเช่าอยู่ร่วมกันแต่ภายหลังมีเหตุทะเลาะเบาะแว้งกันนำ ความมากล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองตั้งชื่อสุนัขด้วยพระนามของพระบาทสมเด็จพระ เจ้าอยู่หัว และพระราชินี ซึ่งในปี 2503 ศาลฎีกาตัดสินยกฟ้องในข้อหานี้ เพราะผู้กล่าวหามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยในเรื่องอื่นมาก่อน (ขณะที่นายสุวัฒน์ ถูกลงโทษตามมาตรา 112 จากข้อกล่าวหากรรมอื่น)

เมื่อประมาณสองปีก่อนหน้านี้ ก็มีเรื่องราวของ นายวิพุธ หรือผู้ใช้นามปากกาในเน็ตว่า IPAD ชาวร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นผู้ที่ไล่แจ้งความให้ตำรวจดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับชาวเน็ตที่โต้เถียงเรื่องการเมืองกับเขาในเว็บไซต์ประชาไทไม่ต่ำกว่า 18 ราย คนที่ถูกนายวิพุธแจ้งความนั้นรวมทั้งกรณีที่มีชื่อเสียงอย่าง เว็บมาสเตอร์ประชาไท อาจารย์สุรพศ ทวีศักดิ์ และนายประวิตร โรจนพฤกษ์ด้วย ถึงวันนี้คดีส่วนใหญ่ยังอยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2556 ศาลอาญาตัดสินคดี “พี่ฟ้องน้อง” หรือ คดีที่นายยุทธภูมิ ถูกพี่ชายตัวเองกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 โดยมีพี่ชายเพียงคนเดียวที่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกันในเรื่องส่วนตัว เรื่องธุรกิจ และหมากัดกัน เป็นคนกล่าวอ้างว่าได้ยินน้องชายพูดสบถเชิงสาปแช่ง และเขียนคำหยาบลงบนแผ่นซีดีใต้คำว่า “พระเจ้าอยู่หัว” ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่พี่ชายอ้างว่าเกิดขึ้นในบ้าน ไม่มีคนอื่นรู้เห็นเหตุการณ์

แม้ศาลจะตัดสินยกฟ้อง เพราะพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอเนื่องจากพี่ชาย เบิกความมีพิรุธไม่น่าเชื่อถือ อาจจะเป็นการกลั่นแกล้งกันได้ แต่ระหว่างการพิจารณาคดี ยุทธภูมิซึ่งยื่นขอประกันตัวไปถึง 7 ครั้งกลับถูกปฏิเสธทั้งหมดด้วยเหตุว่า เป็นความผิดร้ายแรงกระทบต่อจิตใจของประชาชน ทำให้เขาต้องถูกขังอยู่ในเรือนจำนานถึง 349 วันกว่าที่ความเป็นธรรมจะมาถึง 

หลังได้รับการปล่อยตัว ยุทธภูมิยังถามหาถึงสิทธิการประกันตัวของเขาอยู่ "ผมเป็นผู้บริสุทธิ์ ศาลตัดสินยกฟ้อง ถ้าผมได้ประกันตัวก็คงไม่ต้องลำบาก งานก็ยังอยู่ แม่ก็ไม่ต้องลำบาก ครอบครัวก็ไม่ต้องลำบาก"



ยุทธภูมิ หลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ

 

บทเรียนที่เกิดกับคนธรรมดาที่ไม่มีตัว ตนในสังคมอย่างยุทธภูมิ คงไม่อาจเป็นบทเรียนที่ “ไม่มีตัวตน” สำหรับกระบวนการยุติธรรม และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ได้

อย่างไรก็ดี ในสัปดาห์เดียวกับที่ศาลคืนอิสรภาพให้ยุทธภูมิ มีผู้ต้องหาตามมาตรา 112 รายใหม่เข้าไปแปะมือกับยุทธภูมิในห้องขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เขาถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสข้อความหมิ่นในเว็บไซต์ Internet to Freedom ด้วยนามแฝงว่า “เคนจิ” ซึ่งผู้ที่ไปบอกกับตำรวจว่าเขาคือ “เคนจิ” คือ อดีตภรรยา หรือ “เมียเก่า” ของเขานั่นเอง 

ผู้ถูกกล่าวหาว่าใช้นามแฝงว่า “เคนจิ” คนนี้ยังอยู่ระหว่างการยื่นขอประกันตัว และไม่แน่ว่าด้วยข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงเช่นนี้ คดีของเขาจะต้องเดินตามรอยคดีของยุทธภูมิหรือไม่

ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556 “แม่ก้อย” อดีตภรรยาของนายวีรวัฒน์ วลัยเสถียร ลูกชายของอดีตรมช.กระทรวงพาณิชย์ ก็ออกมาเปิดเผยว่ามีคลิปวีดีโอที่อดีตสามีเคยหมิ่นเบื้องสูงและเคยนำคลิปนี้ เข้าแจ้งความที่กองปราบปรามไว้แล้วแต่คดียังไม่มีความคืบหน้า 

ทั้งนี้ “แม่ก้อย” คนนี้เคยมีเรื่องมีราวกับอดีตสามีถึงขั้นแจ้งความข้อหาทำร้ายร่างกายไว้ที่ สน.ลุมพินี เมื่อปลายปี 2555 และต่อมา ฝ่ายอดีตสามีก็แจ้งความกลับข้อหาแจ้งความเท็จ อันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการแย่งกันเลี้ยงลูกสาว จนเกิดเพจในเฟซบุ๊ค "คืนลูกให้แม่ก้อยเถอะ

และในเช้าวันที่ 16 กันยายน 2556 ก็มีเรื่องฮือฮาเพิ่มขึ้นอีกในเครือข่ายสังคมออนไลน์ เมื่อ “อั้ม เนโกะ” นักศึกษาธรรมศาสตร์ที่กำลังโด่งดังจากแคมเปญรณรงค์ต่อต้านการบังคับใส่ เครื่องแบบนักศึกษา ถูก “ฟ้า พรทิพา” เจ้าของรายการ “เบสต์ออฟยัวร์ไลฟ์” ออกอากาศทางดาวเทียม ซึ่งเคยไปสัมภาษณ์ “อั้ม เนโกะ” นำหลักฐานการแสดงออกผ่านเฟซบุ๊คพร้อมคลิปการสัมภาษณ์ในรายการเบสต์ออ ฟยัวร์ไลฟ์มาเป็นหลักฐานแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนเป็นคดี “หมิ่นเบื้องสูง” อีกหนึ่งคดี

แม้โดยทฤษฎี กระบวนการยุติธรรมทางอาญาย่อมเปิดช่องให้จำเลยมีสิทธิต่อสู้คดีพิสูจน์ความ บริสุทธิ์ของตนเองได้ แต่ในทางปฏิบัติ กว่าจะพิสูจน์กันเสร็จสิ้นก็ต้องแลกกับการถูกตราหน้าจากสังคมในฐานะที่ บังอาจแตะต้อง “สถาบันอันเป็นที่รัก” ที่หนักหนาคือการไม่ได้สิทธิประกันตัวจนต้องเข้าไปนอนหลังลูกกรงดังที่เกิด ขึ้นกับคดีส่วนใหญ่ ซึ่งย่อมนำพาความเดือดร้อนสู่ตนเองและครอบครัวอย่างมหาศาล

ในระหว่างที่หลายฝ่ายเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 เพื่ออุดช่องโหว่ที่เปิดให้ “ใครก็ได้” หยิบเอามาตรา 112 `มากล่าวหาดำเนินคดีเพื่อแก้ปัญหาคดียุ่งเหยิงรกโรงรกศาลเหล่านี้ แต่ข้อเสนอเหล่านี้กลับถูกตีขลุมว่าไม่ปรารถนาดีต่อสถาบันกษัตริย์ฯ ในทางกลับกันก็ควรต้องพิจารณาให้รอบคอบด้วยว่าการที่ “ใครก็ได้” นำมาตรา 112 มาใช้กับความขัดแย้งส่วนตัวเช่นนี้เป็นการปรารถนาดีต่อสถาบันกษัตริย์ฯหรือ ไม่

เรื่องราวที่ปรากฏให้เห็นกันในวันนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคนที่มีชื่อเสียงในสังคม ทำให้เรื่องราวถูกถ่ายทอดจนรับรู้กันผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่ท่ามกลางธรรมชาติของมนุษย์ที่มักซุบซิบนินทาบุคคลที่โดดเด่นในสังคม และธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันที่ย่อมมีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลา คงมีเรื่องราวอีกมากที่ไม่อาจทราบได้หมดว่า เมื่อใดบ้างที่คนไม่ถูกกันแล้วจะนำ “ข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงที่สุดในสังคมไทย” มาใช้เพื่อเล่นงานอีกฝ่ายหนึ่ง

ยุทธภูมิคงไม่อาจลืมการกระทำของพี่ชายแท้ๆ ของตัวเองได้ง่ายๆ จากการขยายความขัดแย้งในครอบครัวมาสู่ความขัดแย้งทางการเมือง จนนำไปสู่การสูญเสียอิสรภาพเป็นระยะเวลาเกือบหนึ่งปี เคนจิ, อั้ม เนโกะ, อดีตสามีของแม่ก้อย, คู่ขัดแย้งของวิพุธ และคนอีกนับไม่ถ้วนที่ถูกฝ่ายตรงข้ามยืมมือรัฐผ่านทางระบบกฎหมายมากลั่น แกล้งก็คงเช่นเดียวกัน 

ยังไม่ต้องนับถึงประเด็น “เสรีภาพการแสดงออก” ในระดับสากล เพียงแค่ตระหนักถึงปัญหาในระดับชีวิตประจำวัน ว่าเราจะใช้ชีวิตร่วมกับคนรอบข้างได้อย่างไร เมื่อสมการอันบิดเบี้ยวให้ค่าออกมาว่า ความขัดแย้งทั่วๆ ไป บวกมาตรา 112 มีค่าเท่ากับเหยื่อตัวเล็กๆ ในหลุมดำของระบบกฎหมายไทย

 

ที่มา: http://ilaw.or.th/node/2930

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net