Cybersyn โครงการเศรษฐศาสตร์ล้ำสมัยในชิลีเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

เว็บไซต์ Red Pepper เล่าเรื่องโครงการสร้างระบบเครือข่ายจัดการเศรษฐกิจแบบกระจายอำนาจของอดีต ปธน. ฝ่ายซ้ายในชิลี ที่ชื่อโครงการ Cybersyn ซึ่งมีความล้ำหน้ามากในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูเช่นทุกวันนี้

16 ก.ย. 2013 - เว็บไซต์นิตยสารฝ่ายซ้าย Red Pepper กล่าวถึงโครงการ 'อินเทอร์เน็ตสังคมนิยม' จากแนวคิดของอดีตผู้นำ ซัลวาดอร์ อัลเลนเด ประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในชิลี ก่อนที่จะเสียชีวิตจากการรัฐประหารโดยมีสหรัฐฯ หนุนหลังในวันที่ 11 ก.ย. 1973 โดยโครงการดังกล่าวมีชื่อว่า 'ไซเบอร์ซิน' (Cybersyn) ซึ่งถูกยุบไปหลังจากการรัฐประหาร

โครงการดังกล่าวมีแผนการประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรีของชิลีในสมัยนั้นกับนักวิทยาศาสตร์ฝ่ายซ้ายในอังกฤษและที่ปรึกษาด้านการจัดการระบบจักรกลชื่อว่าสแตฟฟอร์ด เบียร์ โดยโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่มาก่อนกาล มีความพยายามออกแบบระบบ 4 ด้าน คือการจำลองเศรษฐกิจ, ระบบซอฟต์แวร์ตรวจสอบการทำงานของโรงงาน ห้องปฏิบัติการ และโครงข่ายโทรพิมพ์ (Telex) ที่โยงกับเครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลส่วนกลาง

ในปี 1970 รัฐบาลอัลเลนเดต้องจัดการกับความวุ่นวายของระบบโรงงาน เหมืองแร่ และที่ทำงานอื่นๆ ซึ่งหลายแห่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐมานานแล้ว บางแห่งเพิ่งถูกทำให้เป็นของรัฐ บางแห่งอยู่ภายใต้การยึดครองของคนงาน และยังมีส่วนหนึ่งที่มีเจ้าของกิจการควบคุมอยู่ ทำให้ต้องการระบบการประสานงานที่ดี

เฟอร์นานโด ฟลอเรส หัวหน้าบรรษัทพัฒนาการผลิตของชิลีซึ่งต่อมากลายเป็นรัฐมนตรีการคลังเป็นผู้รับผิดชอบประสานงานระหว่างบริษัทภายใต้การกำกับของรัฐ ส่วนสแตฟฟอร์ด เบียร์ ก็มีความคิดคล้ายๆ กับ อัลเลนเด คือต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมที่ไม่ถูกรวมศูนย์แบบในโซเวียตจึงได้รับการทาบทามให้มาร่วมงานนี้

และต่อมาถึงมีการให้ชื่อโครงการว่า ไซเบอร์ซิน ซึ่งเปรียบเสมือนระบบเชื่อมโยงระหว่างคนงาน สมาชิกในชุมชน และรัฐบาลเข้าด้วยกัน โดยสามารถนำเสนอสิ่งที่ตัวเองมีหรือความต้องการของตนผ่านทางระบบสื่อสารแบบเครือข่ายได้ ซึ่งในยุคนั้นแนวคิดนี้ยังดูมึความฝันเฟื่องทะเยอทะยานมาก ซึ่งอาจถูกมองว่าธรรมดาในยุคปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันของมนุษย์ไปแล้ว

แต่แม้ว่าโครงการนี้ยังไม่สำเร็จดีและถูกพับไปเสียก่อนจากการถูกรัฐประหาร แต่ก็มีต้นแบบขั้นสูงของระบบนี้ที่ถูกสร้างในเวลา 4 เดือน ประกอบด้วยเครื่องโทรพิมพ์ 500 เครื่องส่งให้ตามบริษัทต่างโดยเชื่อมต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ประมวลผลส่วนกลางของรัฐบาลสองเครื่อง ทำให้สามารถได้ข้อมูลเรื่องวัตถุดิบและผลผลิตของโรงงาน การขนส่ง การขาดงาน และข้อมูลสำคัญด้านเศรษฐกิจรวมถึงการแลกเปลี่ยนกันของคนงานที่ได้ผลลัพธ์ด้านข้อมูลใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าส่วนใหญ่

แต่โครงการนี้ก็ไม่ถือว่าสูญเปล่า เมื่อมีนักวิทยาการคอมพิวเตอร์คนหนึ่งจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ชื่อ พอล คอกส์ชอตต์ ได้เขียนถึงความเป็นไปได้เรื่องแผนการจัดการทางเศรษฐกิจยุคหลังทุนนิยม (post-capitalist) ที่มีการนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยเหลือ โดยพอลเป็นคนที่ชื่นชมระบบของไซเบอร์ซินในฐานะเป็นระบบที่นำมาใช้ได้จริง

"สิ่งที่ก้าวหน้าอย่างมากสำหรับผลงานการทดลองไซเบอร์ซินของสแตฟฟอร์ด เบียร์ คือการที่มันออกแบบมาให้เป็นระบบที่ใช้งานได้อย่างทันท่วงที แทนระบบแบบของโซเวียตเคยใช้คือการต้องมาประมวลระบบใหม่โดยให้คุณสามารถร่วมตัดสินใจได้ทุกๆ 5 ปี" พอล คอกส์ชอตต์กล่าว

ระบบของไซเบอร์ซินมีการบันทึกรวบรวมข้อมูลโดยมีผู้ตรวจสอบของรัฐบาล 7 คน คอยตรวจดูข้อมูลเศรษฐกิจเพื่อการตัดสินใจแบบทันด่วนภายในห้องที่ดูคล้ายห้องปฏิบัติการยุคอวกาศของภาพยนตร์สตาร์เทรก แต่เป็นไปเพื่อการจัดการที่มีลักษณะกระจายอำนาจมากกว่าการรวมศูนย์อำนาจ โดยมีแผนการตั้งห้องปฏิบัติการในโรงงานแต่ละแห่งซึ่งมีคณะกรรมการแรงงานเป็นผู้ดำเนินงานในห้องปฏิบัติการ

ไซเบอร์ซิน ยังเคยถูกนำมาใช้แก้ปัญหาเมื่อช่วงที่มีการประท้วงของกลุ่มนักธุรกิจอนุรักษ์นิยมซึ่งได้รับการหนุนหลังจากซีไอเอและมีการบอยคอตต์ของบริษัทบรรทุกสินค้าในปี 1972 ทำให้ทรัพยากรอาหารและน้ำมันอยู่ในระดับต่ำมาก ทำให้รัฐบาลอัลเลนเดนำระบบเครือข่ายไซเบอร์ซินมาแก้ปัญหาการขาดแคลนโดยการช่วยกันระบุตำแหน่งว่าสถานที่ใดกำลังขาดแคลนและสามารถจัดหาคนขับรถที่ไม่ได้ร่วมบอยคอตต์เพื่อลำเลียงทรัพยากร จนทำให้กลุ่มเจ้าของบริษัทรถบรรทุกที่ทำการบอยคอตต์พ่ายแพ้ไป

แต่หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารด้วยความรุนแรง ประธานาธิบดีอัลเลนเดเลือกปลิดชีพตัวเองแทนการยอมพ่ายต่อลัทธิเผด็จการของปิโนเชต์ ประชาธิปไตยในชิลีถูกทำลายไปพร้อมๆ กับการทดลองเครือข่ายไซเบอร์ซิน และถูกแทนที่ด้วยระบบการจัดการแบบของมิลตัน ฟรีดแมน ซึ่งมีผู้นำไปใช้เลียนแบบคือมากาเร็ต แทชเชอร์ กับผู้นำคนอื่นๆ อีกหลายสิบคน

ลีห์ ฟิลลิปส์ นักข่าวของ Red Pepper บอกว่าในปัจจุบันที่มีวิกฤติด้านเศรษฐกิจที่อาจจะร้ายแรงยิ่งกว่าสมัยปี 1930 จะมีความเป็นไปได้หรือไม่ถ้าหากมีการหารือเรื่องระบบเศรษฐกิจแบบหลังทุนนิยม ซึ่งตัวลีห์คิดว่าระบบแบบของไซเบอร์ซิน มีความเหมาะสมกับยุค 2013

"ระบบไซเบอร์ซินไม่ใช่ของแปลกทางประวัติศาสตร์หรือความฝ้นในอุดมคติ" ลีห์กล่าว "แต่มันคือตัวอย่างของการทดลองในโลกความจริงเกี่ยวกับแผนการยุคหลังทุนนิยมที่ต้องมีการพิเคราะห์อย่างลึกซึ้งและประเมินคุณค่าของมัน ซึ่งถ้าหากมีอะไรนำมาปรับใช้ได้แม้เพียงเล็กน้อย ก็ถือว่าเป็นชัยชนะของคนธรรมดาอย่างพวกเราอีกครั้ง"

 

เรียบเรียงจาก

Allende’s socialist internet, Red Pepper, 09-2013
http://www.redpepper.org.uk/allendes-socialist-internet/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท