Skip to main content
sharethis

หลังจากได้ลงพื้นที่เกิดเหตุย่านกูตา กรุงดามาสกัส คณะผู้ตรวจสอบได้เปิดเผยรายงานข้อสรุประบุว่ามีการใช้แก๊สซารินจริงจากหลักฐานของสารเคมีในเลือดร้อยละ 85 ซึ่งมีการบรรจุสารอยู่ในอาวุธจรวดประเภท M14 แต่ยังไม่สามารถระบุฝ่ายที่ก่อเหตุได้แน่ชัด

เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ที่ผ่านมา สหประชาชาติได้เปิดเผยรายงานกรณีการใช้อาวุธเคมีในกรุงดามาสกัส ประเทศซีเรีย เมื่อเดือนที่ผ่านมาโดยมีการยืนยันว่าอาวุธที่ใช้คือแก๊สซาริน หลังจากเจ้าหน้าที่ได้พื้นที่ตรวจสอบ

รายงานล่าสุดของยูเอ็นระบุว่ามีการใช้แก๊สซารีนติดกับจรวดเพื่อโจมตีเมืองหลวงของซีเรีย แต่ยังไม่ชี้ชัดว่าฝ่ายใดเป็นผู้ก่อเหตุ ทางด้าน บันคีมูน เลขาธิการยูเอ็นกล่าวว่าเรื่องนี้ถือเป็นอาชญากรรมสงคราม

คณะผู้ตรวจสอบที่ลงพื้นที่ในซีเรียสรุปผลการตรวจสอบว่ามีการใช้อาวุธเคมีโจมตีเป็นวงกว้างในย่านกูตา กรุงดามาสกัสเมื่อวันที่ 21 ส.ค. ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มพลเรือน แต่ในรายงานของยูเอ็นยังไม่สามารถระบุตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แน่ชัดได้ ซึ่งหากอ้างจากรายงานข่าวก่อนหน้านี้จำนวนผู้เสียชีวิตจะอยู่ที่ 100-150 ราย

บันคีมูนแถลงผลรายงานต่อสื่อว่า มีผู้รอดชีวิตเล่าถึงเหตุการณ์ว่ามีการโจมตีด้วยระเบิดจากนั้นไม่นานผู้คนก็เกิดอาการต่างๆ ตั้งแต่การหายใจติดขัด การระคายเคืองตา การมองเห็นหม่นมัว อาการคลื่นไส้อาเจียน และรู้สึกอ่อนแรง มีคนจำนวนมากเริ่มหมดสติ ผู้พบเห็นกล่าวถึงสภาพว่าเห็นคนจำนวนมากนอนอยู่ที่พื้น ส่วนใหญ่เสียชีวิตไม่ก็หมดสติ

เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของยูเอ็นได้ทำการตรวจเลือด เส้นผม ปัสสาวะ และตัวอย่างจรวด พบว่าจำนวนตัวอย่างของเลือดร้อยละ 85 มีสารของแก๊สพิษซารินปนอยู่

จากการวิเคราะห์เบื้องต้น คณะผู้ตรวจสอบได้สรุปว่า "หลังเก็บหลักฐานที่ชี้วัดได้พบว่ามีการใช้ขีปนาวุธทางบกที่มีส่วนผสมของแก๊สซารินโจมตีพื้นที่ ไอน์ทาร์มา โมอาดามิยาห์ และซัลมัลกา ในย่านกูตาของกรุงดามาสกัส"

รายงานข่าวของ BBC ระบุว่ามีการใช้ยานพาหนะลำเลียงอาวุธจำพวกเดียวกับขีปนาวุธปืนใหญ่ M14 ยิงมาจากทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ โดยไม่สามารถระบุตำแหน่งที่แน่ชัดได้

เลขาธิการสหประชาชาติยังได้เรียกร้องให้มีการประณามการก่ออาชญากรรมในครั้งนี้และประชาคมโลกมีส่วนรับผิดชอบในการนำตัวผู้ทำผิดมาลงโทษ อย่างไรก็ตาม คณะผู้ตรวจสอบของยูเอ็นไม่ได้มีหน้าที่ในการระบุตัวผู้กระทำผิด โดยบันคีมูนกล่าวถึงเรื่องนี้ว่าเป็นหน้าที่ของคนอื่นต้องตัดสินใจ และจะมีการอภิปรายในประเด็นนี้กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

อย่างไรก็ตาม ซาแมนธา พาวเวอร์ เอคอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำยูเอ็นกล่าวว่า จากรายละเอียดในเชิงเทคนิคแล้ว เธอคิดว่าเป็นฝ่ายรัฐบาลซีเรียที่จะสามารถโจมตีเป็นวงกว้างเช่นนี้ได้ ทางด้านวิลเลี่ยม ฮาค รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษก็มีความเห็นไปในทางเดียวกัน โดยอ้างว่าจากข้อมูลเรื่องอาวุธคิดว่าฝ่ายรัฐบาลซีเรียเป็นผู้กระทำผิด

ทางสหรัฐฯ กล่าวหาว่ารัฐบาลซีเรียเป็นผู้กระทำผิดมาตั้งแต่ก่อนหน้ายูเอ็นเผยผลสรุปจากการตรวจสอบแล้ว โดยพยายามขอมติจากสภาความมั่นคงในการโจมตีซีเรีย ซึ่งทางการรัสเซียได้คัดค้านในเรื่องนี้และเสนอให้ซีเรียเข้าร่วมเป็นประเทศสสมาชิกองค์กรห้ามอาวุธเคมี

โดยทางรัสเซียกับสหรัฐฯ ได้มีการเจรจาหาข้สรุปร่วมกันตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งมีมติร่วมกันให้ทางการซีเรียเปิดเผยตำแหน่งของอาวุธเคมีภายในหนึ่งสัปดาห์ และกำจัดอาวุธเคมีทั้งหมดภายในช่วงกลางปี 2014

สหรัฐฯ อังกฤษ และฝรั่งเศสต่างต้องการให้ยูเอ็นมีมติโต้ตอบซีเรียอย่างหนักแน่นและทันการหากทางการซีเรียไม่สามารถปฏิบัติตามได้ จอห์น เคอร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้กล่าวในวันที่ 16 ก.ย. ว่าทุกประเทศรวมถึงประเทศรัสเซียตกลงให้มีการใช้กำลังทหารแทรกแซงได้หากมาตรการทางการทูตล้มเหลว โดยกล่าวอ้างตามบทบัญญัติข้อที่ 7 ของกฎบัตรสหประชาชาติ ที่อนุญาตให้ใช้กำลังทหารแทรกแซงได้หากมาตรการอื่นๆ ไม่ได้รับการปฏิบัติตาม

แต่ทางด้านเซอกี ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซียกล่าวว่า การเรียกร้องให้ทางยูเอ็นมีมาตรการโดยด่วนต่อ ประธานาธิบดีอัสซาดของซีเรียแสดงให้เห็นการขาดความเข้าใจเรื่องข้อตกลงเรื่องอาวุธเคมีที่ทำกับซีเรีย

 


เรียบเรียงจาก

Syria crisis: UN report confirms sarin 'war crime', BBC, 16-09-2013
http://www.bbc.co.uk/news/world-middle-east-24113553

รายงานฉบับเต็มของสหประชาชาติ
http://www.un.org/disarmament/content/slideshow/Secretary_General_Report_of_CW_Investigation.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net