Skip to main content
sharethis
รายงานสถานการณ์ปัญหาการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมกาฬสินธุ์ ที่กำลังดำเนินการในพื้นที่เรือกสวนไร่นาชาวบ้าน ภาพปัญหา-ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องเสียสละเพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้มีพลังงานใช้
 
ผลกระทบจากค่าก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า และค่าทางด่วน ดาหน้าขึ้นพร้อมกัน จนเกิดวิกฤตของแพงทั่วประเทศ และค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้น ทั้งหมดนี้ย่อมสะท้อนปัญหาความเป็นจริงที่ไม่ได้คิดไปเอง โดยเฉพาะการปรับราคาก๊าซแอลพีจี ของกระทรวงพลังงาน ที่เห็นชอบปรับราคาขายปลีกภาคครัวเรือนเดือนละ 0.50 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา จากเดิมราคาอยู่ที่ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม จะปรับขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 24.82 บาทต่อกิโลกรัม หรือจะเพิ่มขึ้นอีก 100 บาทต่อถัง
 
ท่ามกลางวิกฤติการณ์ของปัญหาจากนโยบายรัฐบาลที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านคนตัวเล็กๆ ที่หาเช้ากินค่ำ ชาวบ้านในพื้นที่ภาคอีสานยังถูกซ้ำเติมด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำและการละเมิดสิทธิจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทเอกชน
 
จากข้อมูลในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ พบว่า โครงการริเริ่มตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งบริษัทเอกชน ได้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเลขที่ 9/2546/66 ในหลุมสำรวจ L 27/43 มีพื้นที่ 983.06 ตารางกิโลเมตร โดยมีหลุมผลิตอยู่ที่ดงมูล บ้านนาคำน้อย ต.หนองใหญ่ อ.หนองกุงศรี ซึ่งได้เจาะสำรวจแล้ว พบปิโตรเลียมที่สามารถพัฒนาได้ และในพื้นที่ อ.ท่าคันโทอีก 3 แห่ง โดยจะมีการพัฒนาปิโตรเลียมและขนส่งก๊าซได้ในปี 2558-2577 รวม 20 ปี   
 
โครงการดังกล่าวเป็นของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ผู้ได้รับอนุญาตจากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ให้เข้าไปพัฒนาแหล่งพลังงานในพื้นที่ดังกล่าว โดยบริษัทฯ วางแผนที่จะผลิตก๊าซธรรมชาติวันละ 24 ล้านลูกบาศก์ฟุต (จากปริมาณสำรองที่คาดว่าจะมีในหลุมดังกล่าว มากถึง 9.6 หมื่นล้านลูกบาศก์ฟุต) คาดว่าจะใช้เวลาถึง 11 ปี ในการผลิตก๊าซจากหลุมนี้ โดยจะลำเลียงก๊าซผ่านท่อเพื่อมาแยกก๊าซที่โรงแยกก๊าซ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น รวมระยะทาง 52 กิโลเมตร
 
แต่ทว่าในหลายพื้นที่ที่มีการขุดเจาะสำรวจ และทดลองเผาก๊าซได้ส่งผลกระทบต่อพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน และมีการชดเชยค่าเสียหายที่ไม่เป็นธรรม
 
“ในเบื้องต้นมีคนงาน 4-5 คน เข้ามาขุดเจาะสำรวจในพื้นที่ โดยเจ้าของที่ไม่รู้เรื่องมาก่อน เพียงแต่กำนันประกาศบอกว่าที่ของใครมีหลักหมายให้จดหมายเลขมา และจะได้ค่าชดเชย นาข้าวเขาให้หลักละ 300 บาท ไร่อ้อยหลักละ 600 บาท ซึ่งมันไม่คุ้มกับความเสียหายที่เขาลงไปเหยียบย่ำทำลายเลย” นายสุวิทย์ บุตรจันดา ชาวบ้านหนองแซง ต.นาตาล อ.ท่าคันโท ให้ข้อมูล โดยในนาข้าวและไร่อ้อยของเขามีการสำรวจทั้งหมด 3 หลัก
 
นอกจากนี้ เพียงแค่การดำเนินการสำรวจขุดเจาะและทดลองเผาก๊าซก็เกิดประเด็นถกเถียงว่าทำให้พืชผลเกษตรของชาวบ้านเสียหาย ทั้งยางพาราไม่ให้น้ำยาง ปลาตาย ผลไม้ไม่ติดผล เป็นต้น
 
สอดคล้องกับนายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีที่ให้ข้อมูลว่า การเผาก๊าซธรรมชาติในลักษณะนี้มีโอกาสก่อให้เกิดสารมลพิษมากมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณและชนิดของสารที่มีอยู่ในก๊าซ เช่น ปรอท ซัลเฟอร์ ไนโตรเจน ซึ่งเมื่อเผาก็จะเกิดไนโตรเจนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ สารไฮโดรคาร์บอน หรืออื่นๆ รวมถึงขึ้นอยู่กับทิศทางลมและความกดอากาศในช่วงนั้นๆ ด้วย
 
ด้านคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นำโดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ได้ลงพื้นที่โครงการขุดเจาะสำรวจ ผลิตปิโตรเลียมและวางท่อก๊าซธรรมชาติ ใน จ.กาฬสินธุ์และ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 3 ก.ย.56 ที่ผ่านมา โดยรับฟังปัญหาจากชาวบ้านในพื้นที่ ณ วัดศรีนวลทรายทอง บ้านทรายทอง หมู่ 5 ต.ทรายทอง อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์
 
เพื่อตรวจสอบการอนุญาตขอใช้พื้นที่ “ป่าดงมูล” ว่าถูกต้องหรือไม่ อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ผลกระทบที่เกิดจากการทดลองเผาก๊าซ แนววางท่อที่ชัดเจนที่จะผ่านพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ไม่ได้ดำเนินการอย่างทั่วถึงและปิดกั้นโอกาสแก่ประชาชนในการเข้าร่วมกระบวนการ
 
นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า หน่วยงานที่ดำเนินการกำกับดูแลต้องคำนึงถึงความสอดคล้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ ที่ได้กำหนดไว้ในเรื่องสิทธิชุมชนมาตรา 66-67 เพราะทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสมบุติของทุกคน เป็นหน้าที่ของทุกคนในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
 
“การทำหน้าที่ของส่วนราชการที่กินเงินเดือนจากภาษีของประชาชนจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ต้องปกป้องคุ้มครองไม่ให้การดำเนินการของเอกชนไปละเมิดสิทธิในการทำมาหากินและการเป็นอยู่ของประชาชน” นพ.นิรันดร์ระบุ
 
สิ่งสำคัญขณะนี้คือ ประชาชนจะมีส่วนร่วมในกระบวนการเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ชุมชนต่างๆ ในพื้นที่จะต้องร่วมรับรู้ข้อมูลและมีส่วนต่อการตัดสินใจดังกล่าว เนื่องจากโครงการใหญ่และใช้เวลาในการดำเนินการที่ยาวนานแบบนี้อาจจะเปลี่ยนวิถีของชุมชนไปอย่างสิ้นเชิง
 
นอกจากนั้น ผลกระทบด้านต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตที่ส่วนราชการที่รับผิดชอบบอกแต่เพียงว่า เกิดจากความแห้งแล้ง เชื้อรา ไม่น่าจะมาจากการทดลองเผาก๊าซ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการด่วนสรุปที่ไม่รอบคอบ ไม่ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นวิชาการหรือไม่
 
ชาวบ้านต้องเป็นผู้เสียสละ เพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้มีพลังงานใช้ (ผู้ประกอบการได้กำไรมหาศาล) ขณะที่พวกเขาต้องประสบกับปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา อีกทั้งยังต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่เพิ่มขึ้นเช่นนี้ไปจนถึงเมื่อไหร่...
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net