Skip to main content
sharethis

เก็บความบางส่วนจากหัวข้อ “คนกับน้ำ: ความเป็นธรรมและการรับมือ” กับ หัวข้อ”คนจนเมืองและแรงงาน ความเปราะบางและการต่อสู้”

<--break->

16 กันยายน 2556  ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มจับตาประชาสังคมไทย (Thai Social Movement Watch-TSMW) และ"ประชาไท"ได้จัดงาน"สัมมนาวิชาการประจำปี 2556 เรื่อง "คน"ในกระแสการเปลี่ยนแปลงขึ้น ณ ห้องประชุม ประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

หมายเหตุ: รายงานการสัมมนาที่ท่านจะได้อ่านต่อไปนี้เก็บความจากเวทีนำเสนอผลงานการวิจัย จากนักวิชาการ และนักวิจัยที่ได้นำเสนอผลงานการศึกษาในช่วงบ่าย สำหรับรายงานในช่วงเช้าท่านผู้อ่านสามารถอ่านได้ที่ ประชาไท:รายงาน:เวทีวิชาการ "คน"ในกระแสการเปลี่ยนแปลง(ภาคเช้า)

0000

สรุปช่วงที่ 3 ของ สัมมนาวิชาการ "คนในกระแสการเปลี่ยนแปลง" หัวข้อ คนกับน้ำ: ความเป็นธรรมและการรับมือ

ดร.อนุสรณ์ อุณโณ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย ชี้แจงว่า โครงการวิจัยเรื่อง “นัยทางสังคมและการเมืองของมหาอุทกภัย 2554” ของศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย สนับสนุนโดยกองทุนวิจัยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มุ่งศึกษานัยยะทางสังคมและการเมืองโดยเฉพาะความเป็นธรรมในเรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ จากกลุ่มตัวอย่างที่มีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ภัยพิบัติ โดยตั้งคำถามถึงมีวิธีการรับมือ การปรับตัว และการเจรจาต่อรองในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

งานวิจัยดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาที่ดูเหมือนธรรมชาติได้ลงโทษมนุษย์ทุกคนอย่างเสมอหน้ากัน แต่เอาเข้าจริงระดับความรุนแรงของภัยธรรมชาตินี้มีเงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองมาเกี่ยวข้องด้วย โดยคนที่เปราะบางต่อภัยพิบัติมากที่สุดมักเป็นคนชั้นล่างซึ่งมักไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก

ทั้งนี้ งานศึกษามี 2 ส่วน ประกอบด้วย งานศึกษาภาคสนามโดยนักวิจัย 3 คนลงศึกษาใน 3 พื้นที่ คือ 1.พื้นที่ตัวแทนชุมชนชนบท ที่ ต.หนองน้ำใหญ่ อ.ผักไห่ จ.อยุธยา 2.พื้นที่ตัวแทนเขตรอยต่อระหว่างเมืองกับชนบท ที่ ต.คลองโยงต่อเนื่อง ต.ลานตากฟ้า จ.นครปฐม และ 3.พื้นที่ตัวแทนชุมชนในเขตเมือง ที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี และการศึกษาในเชิงปริมาณ

=====================================

ผลกระทบและการปรับตัวหลังมหาอุทกภัย 2554 กรณีศึกษา ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม

จุฬารัต ผดุงชีวิต คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะนำเสนอการศึกษาเชิงปริมาณ ในโครงการวิจัยเรื่อง “นัยทางสังคมและการเมืองของมหาอุทกภัย 2554” โดยศึกษาว่าตัวแปรต่างๆ ส่งผลต่อคนในชุมชนอย่างไร ตั้งแต่คุณลักษณะของประชากรใน 3 พื้นที่ การบริหารจัดการ ความคิดเห็นที่มีต่อเรื่องการบริหารจัดการนำในชุมชนเองและระหว่างชุมชนกับรัฐ รวมไปถึงอารมณ์ความรู้สึกของคนในพื้นที่ต่อภาครัฐและต่อภาคประชาสังคม

จากข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่พบว่า เรื่องรายได้ทั้ง 3 พื้นที่คนส่วนใหญ่เป็นคนรายได้น้อย โดยอยุธยามีกลุ่มประชากรรายได้น้อยสุด ขณะที่ปทุมธานีมีกลุ่มคนรายได้สูงมากที่สุดสุด เรื่องการศึกษาพบว่ามีคนสำเร็จการศึกษาในระดับประถมศึกษาสูงสุดในทุกพื้นที่ เรื่องอาชีพ คนส่วนใหญ่ของคนนครปฐมและอยุธยาเป็นชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ขณะที่ปทุมธานีมีการประกอบธุรกิจส่วนตัวและลูกจ้างเอกชน

ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ เมื่อถามถึงสาเหตุของน้ำท่วมพบว่า พื้นที่นครปฐมมีความคิดเห็นว่าเกิดจากรัฐ ส่วนพื้นที่ปทุมธานีกับอยุธยามองว่าสาเหตุเกิดจากภัยธรรมชาติ สำหรับความต้องการหลังน้ำท่วม พื้นที่อยุธยาพบว่าศูนย์พักพิงชั่วคราวไม่เพียงพอ มีปัญหาการคมนาคมขนส่ง และการรักษาความปลอดภัย ส่วนพื้นที่นครปฐมให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัย การคมนาคมขนส่ง และปัญหาขยะ สุดท้ายพื้นที่ปทุมธานีมีความต้องการกระสอบทราย ศูนย์พักพิงชั่วคราว และถุงยังชีพ

ส่วนเรื่องอารมณ์ความรู้สึกของผู้ประสบอุทกภัย พื้นที่อยุธยามีทั้งซาบซึ้งใจและผิดหวังต่อภาครัฐ ส่วนความรู้สึกต่อภาคประชาสังคมคือซาบซึ้งใจและเห็นอกเห็นใจ พื้นที่นครปฐมมีความรู้สึกผิดหวังและโกรธต่อภาครัฐ ส่วนความรู้สึกต่อภาคประชาสังคมคือเห็นอกเห็นใจและช่วยเหลือเกื้อกูล สุดท้ายพื้นที่ปทุมธานีความรู้สึกที่มีต่อภาครัฐคือเห็นอกเห็นใจและซาบซึ้งใจ ส่วนความรู้สึกต่อภาคประชาสังคมคือเห็นอกเห็นใจและซาบซึ้งใจ

สำหรับความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำ พบว่าพื้นที่อยุธยามีความร่วมมือในชุมชนในการบริหารจัดการน้ำท่วมมากถึงราว 71 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มีความโดนเด่นในแง่ความขัดแย้งเกี่ยวกับการระบายน้ำ คันกั้นน้ำ ส่วนการรับมือปัญหาน้ำท่วม คนในพื้นที่อยุธยารู้สึกว่าสามารถรับมือปัญหาได้ดี ขณะที่นครปฐมกับปทุมธานีบอกว่าปานกลาง ทั้งนี้ ชุมชนทั้ง 3 พื้นที่ให้ความเห็นว่าได้มีโอกาสตัดสินใจระดับปานกลางในการการแก้ปัญหาน้ำท่วม

นอกจากนี้ คณะทำงานได้นำเสนอผลศึกษาถึงผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยจำแนกตามพื้นที่ โดยแยกเป็นผลกระทบทางด้านร่างกาย จิตใจ และความเป็นอยู่ การปรับตัวจากน้ำท่วมทั้งบวกและลบโดยดูถึงบทบาทของบ้าน วัด โรงเรียน หน่วยงานรัฐ และระบบเกษตร รวมทั้งการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

คณะทำงานนำเสนอถึง 5 ปัจจัย ที่อธิบายการปรับตัวของชุมชน คือ 1.ความร่วมมือระหว่างประชาชนกับรัฐ 2.ความร่วมมือภายในชุมชน 3.ผลกระทบด้านความเป็นอยู่ 4.ผลกระทบด้านจิตใจ และ 5.อารมณ์ทางบวกที่มีต่อรัฐ โดยระบุว่า ความร่วมมือระหว่างประชาชนกับรัฐมากจะมีผลต่อการปรับตัวของชุมชนมาก แต่ก็มีผลกระทบทางอ้อมคือ หากความร่วมมือระหว่างประชาชนกับรัฐมากผลกระทบด้านความเป็นอยู่จะลด และอารมณ์ทางบวกที่มีต่อรัฐก็จะลดลงไปด้วย ซึ่งตรงนี้ก็จะมีผลต่อการปรับตัวด้วยเช่นเดียวกัน

สรุปโมเดลในการจัดการน้ำท่วม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องเน้นทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และสื่อที่ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การใช้ความรู้ทางสังคมศาสตร์ในการบริหารจัดการน้ำไม่เพียงพอ ต่ออิงภูมิปัญญาและความเป็นวิทยาศาสตร์ โดยต้องจัดขึ้นโดยเน้นหลักศีลธรรมและการสร้างการผนึกกำลัง ที่คำนึงถึงวัฒนธรรมชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง หรือเกษตรทฤษฏีใหม่ต่างๆ

=====================================

ทำนา ค้าเร่ และขายแรงงาน: ชีวิตคนในพื้นที่รับน้ำนองภาคกลางท่ามกลางอุทกภัย-ภัยแล้ง

นิรมล ยุวนบุณย์ นักวิจัยอิสระ นำเสนอภาพวิธีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำภาคกลางอยุธยา-สุพรรณ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำ 3 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และแม่น้ำสุพรรณบุรีว่า ที่ผ่านมาประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากและภัยแล้งมาอย่างยาวนาน เนื่องจากอยู่ชายขอบของพื้นที่โครงการชลประทาน 3 โครงการทำให้ไม่ได้น้ำทำนาปรัง แต่หน้าน้ำกลับได้น้ำเกินความต้องการ และเคยมีน้ำท่วมใหญ่มาแล้วเมื่อปี 49

เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 แม้จะมีการประเมินสถานการณ์ว่าน้ำท่วมมากกว่าปกติทำให้คนในพื้นที่สามารถปรับตัวได้ดีพอควรในการรับน้ำท่วม แต่น้ำที่สูงและท่วมยาวนานกว่าปกติก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนในพื้นที่ และทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวนาที่ต้องการเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนปล่อยน้ำเข้าพื้นที่กับผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาลซึ่งต้องการเร่งระบายน้ำ โดยที่กลไกรัฐในพื้นที่ไม่สามารถบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ทำให้ชาวนาต้องแย่งกันหารถเกี่ยวข้าวและยอมขายข้าวในราคาถูก ขณะที่บางส่วนถูกน้ำท่วมไปก่อนการเก็บเกี่ยว

ทั้งนี้ 7 อำเภอในอยุธยา คือเสนา บางบาล ผักไห่ มหาราช บางปะอิน พระนครศรีอยุธยา และบางไทร ถูกน้ำท่วมขังสูงและนาข้าวได้รับความเสียหายจำนวน 24,000 พันกว่าไร่ ตั้งแต่เมื่อ 20 ส.ค.54

หลังน้ำท่วม ต้นปี 2555 มีข่าว 2 กระแส คือ ภาวะน้ำแล้ง ไม่มีน้ำทำนาปรังครั้งที่ 2 และเรื่องการกำหนดให้พื้นที่กลายเป็นที่รับน้ำ สร้างความกังวลให้ชาวนาเช่าว่าจะถูกเรียกนาคืนจากเจ้าของที่ เพราะเกรงว่ารัฐจะให้ค่าเช่าที่น้ำแพงกว่าค่าเช่านา แต่หลังจากนั้นข่าวก็เงียบ ส่วนราคาที่ดินยังขึ้นตามเศรษฐกิจและมีการพูดคุยต่อมาถึงเรื่องการต่อรองค่าเวนคืนที่ดิน

สำหรับการปรับตัวของชาวนา นิรมลกล่าวถึง การทำนาฟางลอยซึ่งในอดีตเคยเป็นข้าวที่เหมาะกับพื้นที่ แต่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัยปี 2554 พบว่าปัจจุบันพื้นที่นาฟางลอยลดลงและมีแนวโน้มว่าจะลดลงไปอีก ขณะที่จำนวนชาวนาและพื้นที่นาปรังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้การเปลี่ยนจากนาฟางลอยไปเป็นนาปรังจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโครงสร้างการผลิตโดยเฉพาะแหล่งน้ำในทุ่งไม่เพียงพอ อีกทั้งการยกคันนาและปรับที่นาให้ราบเรียบมีต้นทุนสูง แต่เมื่อมีโครงการจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท การตัดสินใจปรับที่นาจึงง่ายขึ้น แม้เป็นนาเช่าก็สามารถได้ค่าปรับนาคืนภายใน 2 ฤดูปลูก

นิรมล นำเสนอด้วยว่า นอกจากชาวนาแล้วในพื้นที่ศึกษายังมีผู้ได้รับผลกระทบอีก 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มผู้ค้าเร่ซึ่งมีชาวนารายย่อยบางรายรวมอยู่ด้วย โดยอาชีพค้าขายเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านที่มีมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี และเฉพาะในเขตเทศบาลตำบลลาดชะโดมีรถปิ๊กอัพค้าเร่กว่า 100 คัน เพื่อนำสินค้าไปขายในจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งผู้ค้าเร่กลุ่มนี้มีกำไรจากการค้าขายประมาณวันละ 500 ขึ้นไป แต่น้ำท่วมทำให้ขาดรายได้ไปถึง 2 เดือนและไม่ได้เงินชดเชยจากรัฐ

และ 2.กลุ่มแรงงานรับจ้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวนาที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยุธยา มีความยากลำบากและการปรับตัวแตกต่างกันไปตามสภาพแหล่งจ้างงาน และอำนาจการต่อรองของผู้ค้าแรงงานเอง

นิรมล กล่าวด้วยว่า ช่วงน้ำท่วมชาวบ้านอยู่กันแบบปัจเจกสูง แต่ก็มีการเกื้อกูลด้านทุนจากสถาบันครอบครัวและการมีเครือข่ายในการประกอบอาชีพเพื่อการดำเนินชีวิต ในกรณีชาวนา ผู้ค้าเร่ และการประกอบอาชีพต่างๆ โดยขณะนี้ปัญหาในพื้นที่ยังคงมีอยู่คือเรื่องน้ำแล้ง ไม่มีน้ำทำนา เนื่องจากมีการปล่อยน้ำเพราะกลัวเกิดน้ำท่วมขึ้นอีก

=====================================

ผู้ป้องกรุงเทพ: ภาพสะท้อนอันหลากหลายของคนลานตากฟ้า-คลองโยง กรณีศึกษามหาอุทกภัยปี 2554

นันทา กันตรี นักวิจัยอิสระ กล่าวถึงพื้นที่ศึกษาลานตาก-ฟ้าคลองโยงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งพระพิมลราชาว่า เดิมเป็นของเจ้านายสมัยก่อนเข้ามาจับจอง ต่อมามีการจัดทำโฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศ และพื้นที่เกษตรชานเมืองนี้มีการปลูกข้าว ทำนาบัว ปลูกดอกไม้ ทำสวนไม้ผลโดยทำเกษตรเคมีเป็นหลัก นอกจากนี้ส่วนหนึ่งของพื้นเป็นชุมชนที่ขยายตัว มีชุมชนหมู่บ้านจัดสรร 2 แห่ง สร้างก่อนมีกำหนดผังเมือง ขนาดประมาณ 1,500 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 4,300 คน ขณะที่ประชากรทั้งหมดของลานตากฟ้ามีประมาณ 7,400 คน ปัญหาหลักของชุมชนคือการจัดการขยะและระบบบำบัดน้ำเสีย

สำหรับคนในพื้นที่ตามธรรมชาติจะมีน้ำหลากทุ่งในช่วงเดือนตุลาคมแล้วไหลไปลงทะเล พื้นที่ชายคลองจะท่วมเป็นประจำทุกปี เคยเกิดน้ำท่วมเมื่อปี 2538 และ 2549 แต่ไม่มาก ส่วนน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ปัญหาคือประเมินไม่ได้ว่าน้ำจะท่วมแค่ไหน และเมื่อเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ระดับน้ำสูงถึง 3 เมตร ระบายออกได้ช้าเพราะฝั่งแม่น้ำท่าจีนสูงกว่าคลองโยง และมีแนวคันรถไฟมหาสวัสดิ์ที่กลายเป็นคันกั้นนำออก ทำให้น้ำค้างทุ่งในเดือนธันวาคมยังสูงอยู่ที่ 1.6 เมตร

น้ำท่วมปี 2554 ทำให้นาข้าวเสียหายประมาณ 2,000 ไร่ ที่สวนเสียหาย 1,200 ไร่ ขณะที่ชาวบ้านเสียค่าใช้จ่ายไปกับการจ้างรถทำคันกั้นน้ำ ค่าน้ำมัน และค่ากระสอบทรายเป็นหลักหมื่น ส่วน อบต.ลานตากฟ้าหมดงบ 4 ล้าน และเทศบาลคลองโยงหมดงบไป 10 ล้าน

ทั้งนี้ คนในชุมชนเกษตรส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ ขณะที่ในชุมชนหมู่บ้านจัดสรรส่วนใหญ่ออกจากพื้นที่ เกิดอาชีพเรือขายกับข้าวและเรือรับจ้างขนของหนีน้ำท่วมเกิดขึ้น นอกจากนี้ในช่วงเวลานั้นยังได้เกิดชุมชนออนไลน์ของคนในหมู่บ้านจัดสรรเพื่อสื่อสารสถานการณ์และช่วยเหลือกันขึ้นด้วย

นันทา กล่าวต่อมาถึงการชดเชยเยียวยาว่า ในส่วนเกษตรกรนั้นอัตราชดเชยที่ต่างกันของพืชแต่ละชนิดถูกมองว่าไม่เป็นธรรมและมีความลักลั่น โดยนาข้าวได้ไร่ละ 2,220 บาท ขณะที่หากขายข้าเข้าโครงการรับจำนำจะได้หมื่นกว่าบาท ส่วนพืชสวนได้ 5,058 บาท แต่พืชสวนมีหลายประเภทรายได้ต่อไร่ไม่เท่ากัน ด้านเงินเยียวยา 5,000 และ 20,000 บาทก็มีปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรม และถูกตั้งคำถามเรื่องการประเมินความเสียหาย อีกทั้งพบว่าถึงปัจจุบันยังมีคนไม่ได้รับเงินในส่วนนี้ด้วย

ขณะนี้ สิ่งที่สร้างความกังวลให้กับคนในพื้นที่คือการจะทำให้พื้นที่นี้เป็นฟลัดเวย์ หรือพื้นที่รับน้ำ ตามโครงการของรัฐบาล และพบว่าได้มีการก่อสร้างแนวถนนเลียบแม่น้ำท่าจีนขึ้นแล้ว ทำให้พื้นที่ถูกปิดล้อมด้วยคันกั้นน้ำทั้ง 4 ด้าน นอกจากนั้นยังมีปัญหาเรื่องสิทธิเข้าโครงการรับจำนำข้าว เนื่องจากมีการเปลี่ยนเกณฑ์วันเก็บเกี่ยวใหม่ซึ่งทำให้ชาวบ้านนอกจากต้องเสี่ยงกับน้ำท่วมแล้ว ยังต้องเสี่ยงว่าจะสามารถนำข้าวเข้าโครงการได้หรือไม่

ส่วนการปรับตัว คนในชุมชนยังต้องทำอาชีพเกษตร แต่ข้อดีของเกษตรชานเมืองคือปลูกอะไรก็ขายได้ แต่ราคาก็มีขึ้นมีลง ส่วนแรงกดดันเรื่องที่ดินทำกินยังคงมีอยู่เพราะเป็นพื้นที่โฉนดชุมชนที่มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีรับรอง แต่ก็ยังมีข้อดีในเรื่องของเครือข่าย ส่วนกลุ่มเกษตรปลอดสารพิษเป็นเพียงการสร้างทางเลือกการผลิตให้ชาวบ้าน

ทั้งนี้ นันทาได้ให้ข้อสังเกตเบื้องต้นเป็นคำถามไว้ ดังนี้ การบริหารน้ำฝั่งตะวันตกจะทำอย่างไร การรักษาพื้นที่เศรษฐกิจอย่างกรุงเทพฯ จะมีการช่วยชาวบ้านที่ต้องอยู่กับน้ำอย่างไร ชุมชนเมืองที่ขยายตัวเตรียมรับมือภัยพิบัติอย่างไร และโฉนดชุมชนจะช่วยชาวบ้านรับมือภัยพิบัติได้อย่างไร

=====================================

น้ำ (ไม่) เคยท่วมบ้านเรา: คนกับบ้านในรั้วรอบขอบนิคมอุตสาหกรรม

รพีพรรณ เจริญวงศ์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงพื้นที่ศึกษาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งมีชุมชนจัดสรรขนาดใหญ่คือชุมชน บ.ด.ถ.และชุมชนไทยธานี ในพื้นที่ หมู่ 19 ที่อยู่ในวงล้อมของโรงงานอุตสาหกรรม และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมแต่ไม่ค่อยมีข่าวคราวความเสียหายหรือผลกระทบเท่าไรนัก
 
ทั้งนี้ ปทุมธานีเป็นปริมณฑลที่ได้รับการปกป้องจากอุทกภัย โดยเฉพาะด้านตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีระบบจัดการน้ำผ่านคลองสายต่างๆ ส่วนเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนครตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางรถไฟและถนนพหลโยธิน โดยตำแหน่งแล้วมีโอกาสเกิดอุทกภัยได้น้อย ประกอบกับการเป็นพื้นที่เศรษฐกิจจึงมีความสามารถในการป้องกันตัวเองและได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายด้วย ทำให้คนในชุมชนคิดไม่ถึงว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมบ้านของพวกเข้าสูงถึง 3-4 เมตรได้
 
รพีพรรณ ให้ข้อมูลต่อมาว่า โครงการเขตอุตสาหกรรมนวนครนั้น เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2514 โดยบริษัท นวนคร จำกัด มีจุดประสงค์ที่จะพัฒนาและจัดสรรที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัย รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อให้เป็น “เมืองใหม่” 
 
บ.ด.ถ.ย่อมาจากบ้านและที่ดินราคาถูก เป็นชุมชนแรกๆในพื้นที่ เกิดขึ้นเมื่อประมาณกลางทศวรรษที่ 2520 โดยเป็นโครงการบ้านจัดสรรเพื่อสวัสดิการข้าราชการทหาร มีทั้งหมด 9 ซอย บ้านแบบดั้งเดิมส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียว ปัจจุบันมีชื่อว่า ชุมชนหมู่บ้าน บ.ด.ถ.  สำหรับชุมชนไทยธานี นั้นก็เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่กว่า ที่ลงทุนและบริหารกิจการโดยนักลงทุนต่างชาติ มีทั้งหมด 29 ซอย ปัจจุบันแบ่งพื้นที่ชุมชนตามการปกครองท้องถิ่นเทศบาลเมืองท่าโขลงออกเป็น ชุมชนไทยธานีตะวันตก และ ชุมชนไทยธานีตะวันออก  ปัจจุบันภายในชุมชนทั้งสามแห่งมีหอพักและร้านค้าพาณิชย์มากมาย ที่รองรับแรงงานจำนวนมาก เป็นเสมือนเมืองๆ หนึ่ง และมีนวนครเป็นผู้จัดการระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ในพื้นที่
 
ปัญหาก่อนน้ำเข้าคือข้อมูลข่าวสารสับสน คนส่วนหนึ่งไม่เชื่อว่าน้ำจะท่วมทำให้ไม่มีการเตรียมตัวและข้อมูลไม่เพียงพอต่อการตัดสินใจไม่ได้ อีกทั้งนวนครเองก็คิดว่าจะสามารถป้องกันพื้นที่ได้ ทางฝั่งชุมชนจึงรอดูสถานการณ์ การสื่อสารทำได้ไม่ทั่วถึง จึงขาดการเตรียมการอพยพ และคนส่วนใหญ่ยังไปร่วมช่วยกันป้องกันสถานที่ทำงาน และคันกั้นน้ำของนวนครด้วย แต่เมื่อรับมือกับน้ำไม่ไหว การอพยพจึงเกิดขึ้นอย่างโกลาหล และเมื่อน้ำเข้าเต็มพื้นที่แล้ว สำหรับคนส่วนน้อยที่ติดอยู่ในนั้นก็ประสบความลำบาก เพราะความช่วยเหลือเข้าถึงได้ยาก
 
ผลกระทบหลังน้ำท่วมคือ ความเสียหายต่างๆ การขาดรายได้-รายจ่ายเพิ่ม ค่าชดเชยล่าช้า แต่ที่กระทบต่อชีวิตของชุมชนมากกว่าและยาวนานกว่าคือ การซบเซาของเศรษฐกิจในพื้นที่ จากจำนวนแรงงานที่หายไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายมีมากแต่รายได้กลับลดลง มีการประกาศขายบ้าน มีคนย้ายออก แต่ปัจจุบันค่าเช่าหอพักราคาไม่ลงมากนัก เพราะคนทำหอพักก็ยังเชื่อว่าความต้องการหอพักของแรงงานยังมีอยู่ และมองว่าชุมชนของพวกเขาเป็นที่สะดวกสบายที่สุดแล้วสำหรับกลุ่มแรงงาน
 
การปรับตัวหลักวิกฤติ คนในชุมชนมีการเรียนรู้ว่าจะต้องช่วยตัวเองพึ่งตัวเองเป็นหลัก ต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพราะข่าวสารไม่แน่นอน นอกจากนี้มีการพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในชุมชนจากที่เป็นสังคมเมืองต่างคนต่างอยู่ และจากการเก็บข้อมูลสิ่งที่น่าสนใจในพื้นที่นี้คือความผูกพันระหว่างคนกับบ้าน ซึ่งบ้านในที่นี้มีความหมายมากกว่าบ้านที่อยู่ เนื่องจากมีการซ้อนกันของพื้นที่ ทำให้ผูศึกษามองว่า “บ้าน” มีความหมายใน 3 ระดับ คือ บ้านที่อยู่ ชุมชนที่อาศัย/ที่ทำงาน และนิคมคือบ้านหลังใหญ่ อันเป็นแหล่งพึ่งพิงทางเศรษฐกิจของผู้คนส่วนใหญ่ในนั้น
 
=====================================
 
ข้อคิดเห็น

ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า งานศึกษามีรายละเอียดเยอะมาก และงานศึกษาใน 3 ชิ้นหลังเป็นรูปแบบการเขียนพรรณนาถึงวิถีปฏิบัติที่เคยมี เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้วิจัยทำทุกเรื่อง แต่ถูกจำกัดโดยเวลาในการนำเสนอทำให้ดึงเนื้อหาออกมาได้ไม่มากนัก ขณะที่การศึกษาในเชิงปริมาณซึ่งเป็นภาพใหญ่ขึ้นคำถามไว้เยอะมาก แต่การนำเสนอไม่ได้ให้คำตอบเท่าไหร่

หลังรับฟังการเสนองานศึกษารู้สึกว่าวิธีการตั้งโจทย์มีอคติกับรัฐ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ผลการศึกษาออกมาว่า ความรู้สึกของคนต่อรัฐเป็นลบ ส่วนความรู้สึกต่อภาคประชาสังคมเป็นบวกทั้งหมด ซึ่งความสัมพันธ์ในเชิงวัฒนธรรมความปลอดภัยของรัฐไทยไม่แฟร์ เพราะเราต้องตั้งหลักจากความเข้าใจต่อการบริหารจัดการภัยพิบัติว่าไม่มีประเทศไหนในโลก ที่ใช้เจ้าหน้าที่ 1 คนต่อบ้านเรือน 1 หลัง ในเป็นประเทศเจริญที่สุดในโลกก็มีอัตราส่วน 1 ต่อ 3,000 หรือ 1 ต่อ 5,000 ดังนั้นทุกอย่างจะเรียกร้องเอาจากภาครัฐทั้งหมดไม่ยุติธรรม เพราะคนในภาครัฐก็เป็นประชาชนคนหนึ่งเหมือนกัน

จากการวิจัยเชิงปริมาณ น่าสนใจพื้นที่อยุธยาเพราะมีความสับสนใจตัวเองมากที่สุด ซึ่งตัวอย่างกรณีศึกษาน้อยที่สุด ขณะที่ผลการศึกษาพบว่าอยุธยานำโด่งในเกือบทุกเรื่อง ตรงนี้อาจไม่แฟร์กับการเปรียบเทียบข้อมูลและคงต้องมีการศึกษาเพิ่ม

ยกตัวอย่าง อยุธยาในแง่การมีส่วนร่วมในชุมชนคะแนนเป็นอันดับหนึ่ง แต่การสร้างความแตกแยกในชุมชนก็เป็นอันดับหนึ่ง และชุมชนสามารถจัดการได้ดีก็เป็นอันดับหนึ่ง ส่วนในแง่ความสัมพันธ์ของรัฐกับชุมชนก็มาเป็นอันดับหนึ่ง แต่ไม่มีหน่วยงานรัฐมาช่วยเหลือ ตามมาด้วยความรู้สึกไม่พอใจรัฐ แต่คิดว่ารัฐจัดการได้ดี นอกจากนี้ อยุธยายังมีความเป็นชุมชนสูง เครือข่ายดี แต่ปัจเจกสูง สิ่งเหล่านี้อาจต้องมีการเช็คข้อมูล และต้องอาศัยวิธีวิจัยทางคุณภาพมาอธิบายประกอบให้มากขึ้นด้วย

งานศึกษาทั้ง 4 ชิ้น ครอบคลุมกระบวนการจัดการภัยพิบัติทั้งหมด ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังเหตุการณ์ ตั้งแต่การสื่อสารเรื่องน้ำท่วม การจัดการปัญหา ศูนย์พักพิง ความปลอดภัย และการช่วยเหลือเยียวยา ดังนั้น ต้องย้อนกลับมาดูว่าโดยธรรมชาติการจัดการภัยพิบัติมีอยู่ 2 ส่วน คือ 1.การจัดการโดยภาครัฐ หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และภาคประชาสังคม 2.ตัวประชาชนเอง

งานศึกษาโดยเฉพาะ 3 ชิ้นหลัง โฟกัสปัจจัยคือวัฒนธรรมความปลอดภัย ที่ให้น้ำหนักการจัดการภัยพิบัติกับ Organization และ stagger น้อยลงมา ซึ่งในเชิงวัฒนธรรมความปลอดภัยต้องสาวให้ลึก ยกตัวอย่าง เมื่อมีพื้นที่ศึกษาคือ อยุธยา นครปฐม ปทุมธานีอยู่ จะต้องอธิบายความต่างได้ เช่น อยุธยามีรายได้ต่ำสุด โดยจำนวนนี้เป็นคนทำเกษตร 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องเผชิญน้ำท่วมทุกปี ดังนั้นด้วยวิถีทำให้ยอมรับน้ำท่วมได้ง่าย และไม่ว่าจะแจ้งว่าน้ำท่วมหรือไม่ ไม่ค่อยมีความสำคัญกับคนในพื้นที่ เพราะรู้ว่าจะท่วมอยู่แล้ว แต่ปทุมธานีและนครปฐมกลับมีแง่มุมการเรียกร้องต่างกัน

พื้นที่ปทุมธานีมีความตึงเครียดว่าน้ำจะมาหรือไม่มาเป็นความเครียดต่อการรอคอยการประเมินความเสี่ยง ส่วนนครปฐมพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมมีความแน่นสูง ดังนั้นประเด็นสนใจจึงเป็นเรื่องความปลอดภัยมากกว่าศูนย์พักพิง เพราะพื้นที่น้ำท่วมทั่วถึงกัน สามารถเข้านอกออกในได้ง่าย ศูนย์พักพิงอยู่ไม่ไกล ดังนั้นข้อกังวลของคนในพื้นที่จึงขึ้นอยู่กับสภาวะการเตรียมความพร้อมในตอนนั้นด้วย

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า การวิเคราะห์เชิงปริมาณมีผลที่น่าสนใจจำนวนมาก และรู้อยู่แล้วว่ามีหลายส่วนที่การศึกษาเชิงปริมาณอธิบายไม่ได้ ต้องมีการวิจัยแบบผสมผสาน (mixed method) โดยมีข้อค้นพบจากใน 3 พื้นที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่การศึกษาเชิงปริมาณจะไม่สามารถหยิบข้อมูลมาใช้ได้ หากการศึกษาจาก 3 พื้นที่มีข้อค้นพบเรื่องน้ำท่วมยังน้อยเกินไป ทั้งนี้ การจะหยิบขอมูลใช้ได้ต้องทำบทสรุปขยาย เพื่อนำไปประกอบกับงานศึกษาเชิงปริมาณ

ผศ.ดร.ทวิดา ตั้งคำถามต่องานศึกษาในเชิงปริมาณด้วยว่า ทำไมไม่ทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างความร่วมมือของชุมชนต่อรัฐกับชุมชน เพราะเมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้การอธิบายในบางส่วนหายไป เช่น ในเชิงการจัดการภัยพิบัติ หากชุมชนเข้มแข็งจริงแล้วเขาสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตรงนี้จะสามารถลดระดับการพึงพิงรัฐ ซึ่งเป็นหัวใจของการจัดการ ซึ่งมีตัวอย่างการจัดการของคนญี่ปุ่น ทั้งนี้ หากไม่มีการวิเคราะห์ตรงนี้ทำได้ แต่จะต้องอธิบายว่า ผลการศึกษาผ่านการวิเคราะห์แล้วพบว่าความร่วมมือของชุมชนด้วยกันเองมีผลต่อจิตใจ แต่ความร่วมมือของรัฐกับชุมชนมีผลต่อกายภาพ เพราะด้วยวัฒนธรรมความปลอดภัยของไทยมองว่ารัฐต้องเป็นคนซ่อมแซมทางกายภาพ ตรงนี้ย้ำรากของวิธีคิดที่พึ่งพารัฐ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ผิดในการจัดการภัยพิบัติ

“ชุมชนช่วยเหลือกันเองกลับไม่มีผลต่อการปรับตัวของคน กลับกลายเป็นรัฐกับชุมชนที่มามีผลต่อการปรับตัวของคน นี่เป็นข้อค้นพบที่เป็นการยืนยันว่าวัฒนธรรมความปลอดภัยของไทยพึ่งพารัฐ ซึ่งสวนทางกับการจัดการภัยพิบัติเลย ทฤษฎีด้วยตัวของเขาเองจะไม่พูดแบบนี้ ตรงนี้เป็นการ Violate ทฤษฎี ซึ่งปกติเคสของประเทศไทยก็ทำฝรั่งเสียตำรามาเยอะแล้ว” ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวพร้อมระบุขอค้นพบในลักษณะนี้เป็นข้อค้นพบที่ตีโต้ความเชื่อบางอย่าง หากเน้นได้จะดี

ผศ.ดร.ทวิดา กล่าวด้วยว่า ส่วนสุดท้ายของแต่ละงานศึกษาเชิงพรรณนาถ่ายทอดเรื่องราวทั้ง 3 ชิ้น ไม่แน่ใจว่าต้องการอะไร หากต้องการเล่าเรื่องแล้วจุดสรุปมีวัตถุประสงอะไร เพื่อ Lesson learn เพื่อแสดงให้เห็นวิถีที่จะนำไปสู่การปรับตัว หรือเพื่อถอด Pattern ซึ่งดูเหมือนว่าทุกการศึกษาต้องการเล่าถึงเรื่องที่ผ่านมาต่อวิถีติดตามว่าจะนำไปสู่การปรับตัวที่แตกต่างกันอย่างไร ส่วนการวิจัยเชิงปริมาณเป็นข้อเสนอโดยทั่วไป มองไม่เป็นข้อเสนอที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่

สุดท้าย ข้อเสนอทางนโยบายเรื่องการชดเชย ต้องมองว่า “ชดเชยไม่ใช่เรื่องการชดใช้” ดังนั้นจึงไม่พูดถึงมูลค่า 100 เปอร์เซ็นต์ของความเสียหาย ต้องเริ่มจากตรงนี้ หากจะอาศัยงานวิจัยนี้ทำให้สังคมเราร่วมมือกันให้มากกว่านี้

อีกทั้ง ต้องหันมามองว่าการชดเชยที่เรียกร้องเป็นการชดเชยกายภาพหรือชดเชยการไม่มีรายได้ หากเป็นการชดเชยกายภาพ ต้องไม่คิดศักยภาพในการซื้อของเหล่านั้นกลับมาซึ่งจะอยู่ในส่วนของรายได้ และการชดเชยการไม่มีรายได้ หากให้โรงงานจ่ายในกรณีแรงงานทำงานไม่ได้ ให้ออกจากงาน ถูกพักงานจะเพิ่มต้นทุนเอกชน แล้วรัฐจะอุดหนุนอย่างไร ต้องเสนอทั้งระบบ ดังนั้น การชดเชยกายภาพจึงไม่มีเงื่อนไขเยอะ ไม่เช่นนั้นจะยุ่งยาก

ทั้งนี้ การคลอดข้อมูลในลักษณะนี้ถือเป็นงานศึกษาที่ใหม่ ข้อมูลเยอะ ละเอียด มีแง่มุมที่น่าสนใจเยอะมาก หากสามารถอธิบาย ถอดเรื่องราวจากตัวอย่างที่ศึกษาออกมาได้ จะสามารถให้มุมมองในเรื่องการปรับตัวต่อการเตรียมพร้อม และการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการจัดการภัยพิบัติที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะมีทั้งข้อมูลตัวเลขและข้อมูลเชิงลึก

00000

 

สรุปช่วงสุดท้ายของ สัมมนาวิชาการ "คนในกระแสการเปลี่ยนแปลง" หัวข้อ "คนจนเมืองและแรงงาน ความเปราะบางและการต่อสู้" 


นำเสนอประเด็น

1.ทบทวนการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมของคนไร้บ้าน 

2. งานที่ไม่มั่นคง กระบวนการเปลี่ยนงานในระบบเป็น "นอกระบบ" 

3. การทำงานของแรงงานหญิงภายใต้การควบคุมร่างกายและการกำกับวินัยทางเวลา 


รายละเอียดมีดังนี้

=====================================

ทบทวน “การพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม” กรณีศึกษากลุ่มคนไร้บ้านที่ไม่อยากมีส่วนร่วมในการพัฒนา

อัจฉรา รักยุติธรรม คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 
 

มุมมองทั่วไปมักเห็นว่า คุณภาพชีวิตของคนไร้บ้านย่ำแย่น่าจะไปพัฒนา บทความชิ้นนี้ตั้งคำถามว่าไม่พัฒนาได้ไหม เขามีสิทธิเป็นอย่างที่เขาอยากเป็นได้หรือเปล่า แนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมใช้กันอย่างกว้างขวางจนคนแทบไม่ได้ตั้งคำถามว่าจะมีทางเลือกให้คนที่เลือก “ไม่อยากมีส่วนร่วม” จะได้ไหม 
 
คนไร้บ้าน ไม่ได้เพียงแค่ยากจน แต่เป็นคนที่สูญเสียความสัมพันธ์ทางสังคม มีสาเหตุตั้งแต่เงื่อนไขโครงสร้างสังคมไปถึงปัญหาระดับปัจเจก รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่ เช่น พื้นที่หลายแห่งที่เคยพึ่งพิงได้อย่าง วัด หรือที่สาธารณะ ก็อาจเปลี่ยนบทบาทไปจนพึ่งพิงไม่ได้เหมือนก่อน เขาจึงมาอาศัยพื้นที่สาธารณะในเมือง ซึ่งที่สาธารณะก็ไม่ได้ open access คือเปิดให้ถึงอย่างเสรี แต่ถูกให้คุณค่าและความหมายต่างกันไป บางพื้นที่คนไร้บ้านก็เข้าไปใช้ได้ในบางเวลา แต่บางพื้นที่ก็ไม่ได้
 
หน่วยงานต่าง ๆ มีความพยายามสำรวจจำนวนคนไร้บ้านและพบว่า มีแนวโน้มว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น ในปี 2555 กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ระบุว่ามีจำนวน 2000 กว่าคน น่ากังวลพอ ๆ กับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น
 
คนไร้บ้าน "มี" ปัญหา แต่พวกเขาไม่ได้มองว่าตัวเอง "เป็น" ปัญหา เหมือนที่คนอื่นมอง
 
คนในสังคมระแวงคนไร้บ้าน เพราะเห็นว่าพวกเขาไร้ระเบียบทั้งในเชิงพื้นที่ เวลา และเป้าหมายชีวิต ไม่มีหัวนอนปลายเท้า เรามักมีกรอบคิดว่าผู้คนต้องยึดโยงกับพื้นที่ที่แน่นอน มีระเบียบแบบแผนในการดำเนินชีวิตสัมพันธ์กับระบบเวลา การจัดการคนไร้บ้านช่วงแรก อยู่ใต้กรอบคิดเรื่องการจัดระเบียบพื้นที่ ภายหลังมีความพยายามหางานให้ทำ ส่งเสริมอาชีพ ทำให้คนไร้บ้านสามารถกลับไปอยู่กับคนในสังคมได้อย่าง “ปกติ” 
 
ที่สำคัญคือ คนไร้บ้านยากจน สังคมจึงมองว่าพวกเขามีแนวโน้มก่ออาชญากรรมมากกว่าคนฐานะดี  ความจริงคนชั้นกลางและคนชั้นสูงเองก็มีวิถีชีวิตที่ไร้ระเบียบเรื่องเวลาและสถานที่อยู่เหมือนกัน แต่กลับไม่ได้ถูกมองว่า “เร่ร่อน” หรือเป็นภัย
 
ประเทศไทยมีหน่วยงานทำงานกับคนไร้บ้านหลายหน่วย หลักๆ คือ กระทรวงพัฒนาสังคมฯซึ่งมีบ้านมิตรไมตรีทั่วประเทศ , กทม. ก็มีที่พัก สำหรับคนไร้บ้าน ไม่รวมสถานสงเคราะห์ทั่วไปและที่เครือข่ายภาคสังคมดำเนินการ การทำงานกับคนไร้บ้านเริ่มจากการพยายามผลักดันคนไร้บ้านออกจากพื้นที่สาธารณะ  จากการผลักดันออกจากสนามหลวงในปี พ.ศ.2544  จากนั้นก็มีการทำงานพัฒนา ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาศักยภาพด้านต่าง ๆ สร้างชุมชนให้ใหม่ โดยมีเป้าหมายคือ ส่งคืนสู่สังคม 
บ้านพักสำหรับคนไร้บ้านปรากฏว่ามีคนไร้บ้านไปพักจำนวนน้อยมาก ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ที่สาธารณะ และส่วนที่พักอยู่ในบ้านก็มีบางส่วนที่ไม่อยากร่วมทำกิจกรรม ในภาพรวมคนไร้บ้านต่างจังหวัดมีคุณภาพชีวิตย่ำแย่กว่าคนไร้บ้านใน กทม. ที่ยังคงอยากพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น 
 
ทำไมคนไร้บ้านไม่อยากอยู่ศูนย์พักพิง คนไร้บ้านมองตัวเองอย่างไร มองเหมือนที่หน่วยงานมองหรือไม่ จากการแลกเปลี่ยนกับคนไร้บ้าน พบว่าพวกเขามักจะเล่าเรื่องราวถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ของแต่ละคนอย่างหลากหลาย เพื่อนนักพัฒนาแนะนำว่าอย่าไปสืบเสาะหาความจริงจากเรื่องเล่าเหล่านั้น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เรื่องเล่าเหล่านั้นสะท้อนภาพที่เขามองตัวเองว่าเขาไม่ได้สิ้นไร้ไม้ตอก ไม่รันทดหดหู่ อีกทั้งเขายังเลือกและพอใจพอประมาณกับการมาเป็นคนไร้บ้าน ส่วนใหญ่ยังยืนกรานไม่กลับบ้านแม้จะมีลูกหลานญาติพี่น้องอยู่ที่นั่น 
 
งานชิ้นนี้ไม่ได้บอกว่าการเป็นคนไร้บ้านเป็นทางเลือกที่เป็นอิสระ เพียงแต่ต้องการทบทวนการทำงาน “พัฒนา” คนไร้บ้าน เพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมปัญหา ที่ผ่านมามีความพยายามพัฒนาคนไร้บ้านจากการมีส่วนร่วมของคนไร้บ้านเอง พัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น ในกระบวนการพัฒนามีการสร้างชุมชนเพื่อจัดการตนเอง ซึ่งก็พบว่ามีคนไร้บ้านจำนวนมากไม่อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา แต่อยากอยู่แบบเดิม ซึ่งก็พอจะมีงานทำมีอาชีพหรือมีวิธีการหาเลี้ยงตัวได้บ้าง อาชีพของคนไร้บ้านมีหลากหลายกันไป โดยเฉพาะใน กทม.  แต่ในต่างจังหวัด ส่วนใหญ่คืออาชีพเก็บขยะขาย

การพัฒนากับการส่งเสริมเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมักเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ความจริงอาจไม่ใช่ บางครั้งการพัฒนาอาจจำกัดเสรีภาพได้เช่นกัน กรอบคิดของรัฐมองว่าคนไร้บ้านไม่มีคุณภาพ และทำให้เขาถูกจำกัดสิทธิเข้าไม่ถึงทรัพยากรต่างๆ โดยปริยาย เป็นเหตุให้เครือข่ายคนไร้บ้านพยายามสร้างอัตลักษณ์ทางบวกเพื่อต่อรองกับรัฐ  แต่โดยที่อาจไม่ตั้งใจ อัตลักษณ์นั้นอาจส่งผลต่อการกดทับกีดกันคนที่ไม่ต้องการเข้าร่วมได้เช่นกัน 
 
คำถามสำคัญของบทความนี้คือ หากคนไร้บ้านอยากอยู่แบบที่เขาเป็นอยู่ ไม่อยากพัฒนา เพียงแต่อยากเข้าถึงสิทธิและบริการบางอย่าง เช่น อยากเข้าถึงส้วมสาธารณะ  อยากได้ไฟส่องสว่าง การรักษาพยาบาล อยากได้รับความปลอดภัย ฯลฯ จะเป็นไปได้หรือไม่ 
 
การกลายมาเป็นคนไร้บ้านอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักสำหรับมนุษย์คนหนึ่ง แต่หากชีวิตของพวกเขาได้เปลี่ยนมาขนาดนี้แล้ว พวกเขาจะได้รับโอกาสให้กำหนดเส้นทางชีวิตของตนเองต่อไปหรือไม่ หรือจะต้องถูกมองว่า “ผิดปกติ” และถูกผู้อื่นพยายามผลักดันให้กลับคืนสู่ความ “ปกติ” ซึ่งในความจริงไม่ปกติสำหรับพวกเขาอีกต่อไป
 
การเล่าถึงคนไร้บ้าน ความจริงอยากสะท้อนไปถึงการพัฒนาในลักษณะอื่น ๆ ด้วย ซึ่งแม้ว่าจะใช้การพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม โดยคิดว่าเป็นแนวทางที่ดี แต่ความจริงแล้วอาจมีคนที่ไม่ได้เข้าร่วมในกระบวนการ หรือในขบวนการเคลื่อนไหว ไม่อยากยอมรับกติกาบางอย่างที่สร้างกันขึ้นมา ก็อาจทำให้กลุ่มคนที่ไม่เข้าร่วมเหล่านั้นต้องเสียสิทธิหรือถูกกีดกันจากการเข้าถึงสิทธิบางอย่างไปด้วยหรือเปล่า
 
 

=====================================

งานที่ไม่มั่นคง: กระบวนการเปลี่ยนงานในระบบเป็น “นอกระบบ” ในประเทศไทย 

วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยแรงงาน

โดยสรุปไทยและประเทศในภูมิภาคเดียวกันนั้นเติบโตต่อเนื่องพร้อมกัน แรงงานภาคเกษตรลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีสัดส่วนน้อยกว่า ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการรวมกัน หมายความว่า ไทยมุ่งหน้าเข้าสู่กระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมสอดคล้องกับกระบวนการโลกาภิวัตน์ เปิดเสรีแรงงานและทุนด้วย ในกระแสนี้ คนงานทุกประเทศในภูมิภาคนี้ต่างเผชิญปัญหาการจ้างงานไม่มั่นคง ที่เติบโตขึ้นพร้อมกับเศรษฐกิจที่เติบโต 
การจ้างงานแบบยืดหยุ่น เป็นการลดต้นทุนด้านแรงงาน ลดความเสี่ยงทางธุรกิจ เช่น ช่วงที่ตลาดต้องการสินค้าเราน้อยลง ต้องสามารถปลดคนงานออกได้ ไม่ต้องรับผิดชอบด้านสวัสดิการสโดยผลักภาระให้รัฐคุ้มครอง ที่สำคัญที่สุด วิธีการจ้างงานแบบทำในโรงงานเดียวกันแต่จ้างต่างกัน ทั้งจ้างประจำและจ้างชั่วคราวนั้น ทำให้คนงานแตกแยกออกจากกัน 

ใครอยู่ในงานที่ไม่มั่นคงบ้าง ยกตัวอย่าง คน คนกวาดถนนหมู่บ้าน คนตัดหญ้าในมหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ ซึ่งถูกจ้างโดยบริษัทซับคอนแท็ก แม้แต่เอ็นจีโอด้านแรงงานเองก็อยู่ในสภาวะการทำงานที่ไม่มั่นคง
ทำไมงานที่ไม่มั่นคงจึงสำคัญ เพราะมันอยู่ใกล้ตัวเราทุกคน คนรุ่นหลังก็จะทำงานที่ไม่มั่นคงในอนาคตด้วยเช่นกัน 

สำหรับกระบวนการเปลี่ยนงานในระบบให้เป็นนอกระบบนั้น เกิดขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ที่เกิดการจ้างงานหลายรูปแบบมากขึ้นทั้งจ้างตรงแต่มีสัญญาจ้างระยะสั้น , จ้างผ่านบริษัทซับคอนแท็ก 

การจ้างงานแบบนี้ยังสร้างปัญหาความแตกแยก หลักการของสหภาพแรงงานคือ แรงงานเป็นชนชั้นเดียวกัน แต่มักมองพนักงานซับคอนแท็กเป็นอีกชนชั้นหนึ่ง 

=====================================

การทำงานของแรงงานหญิง ภายใต้การควบคุมร่างกายและการกำกับวินัยทางเวลา 

นฤมล กล้าทุกวัน สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นำเสนอเรื่องวินัยเวลาแบบอุตสาหกรรม, การจัดการกับร่างกายภายใต้กรอบเวลาว่า วินัยเวลาแบบอุตสาหกรรม สถาปนาเป็นเวลาหลักของชีวิตแรงงานหญิง รุกล้ำออกไปนอกเวลาการทำงานด้วย มีการจัดกิจวัตรประจำวันให้สอดคล้องกับกะการทำงาน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะตารางการทำงานบังคับอย่างเดียว แต่มีเครื่องมือสร้างแรงจูงใจด้วยเรียกว่า “เบี้ยขยัน” 

จากการทำงานในโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในนวนคร พบว่าเป็นเครื่องมือสำคัญ ไม่ขาด ไม่ลา ไม่สายทุกวันตลอดเดือนจะได้เบี้ย เริ่มต้นที่ 300 บาท เดือนถัดไปเพิ่มอีก 100 ชนเพดานที่ 700 หากบังเอิญขาดก็จะเริ่มใหม่ที่ 300 

ตารางเวลาการทำงาน แบ่งกะกลางวัน กลางคืนนั้นก็มีลักษณะต่างกัน กะเช้าจะเร่งรีบ เคร่งครัด ชัดเจน ผู้บริหารตรวจตราประจำ ยืนทำงาน ถึงเวลาพักเท่านั้นถึงจะนั่งได้ แต่กะดึกบรรยากาศจะผ่อนคลาย มีการเปิดเพลงฟัง ขาดไม่ได้ ในบรรยากาศผ่อนคลายนั้นร่างกายจะเหนื่อยล้ามาก อยู่ตั้งแต่ 19.40-23.30 น. กว่าจะได้พัก 40 นาทีแล้วทำงานต่อ 

งานส่วนใหญ่ ไม่ได้เรียกร้องแรงมากเท่ากับความอดทนและวินัย และคนงานก็เต็มใจจะทำงานมากกว่าปกติ เช่นวันหยุดยาวก็ไม่หยุด เพราะเห็นว่าเป็นช่วงสำคัญที่จะ “กอบโกย” ได้ 

สำหรับการจัดการกับร่างกายภายใต้กรอบเวลานั้น พบว่า มีการพัฒนาเครื่องมือด้านเวลาอยู่เสมอ 1. ปรับกระบวนการผลิตในภาพรวม เมื่อก่อนทำเป็นสายพานยาว แต่ตอนนี้แบ่งเป็นกลุ่มงานย่อย เป็นการย่นระยะเวลาในการผลิตทำให้วงรอบหมุนเร็วขึ้น กำไรเกิดขึ้นเร็วขึ้น นอกจากการปรับในภาพรวมการผลิต ก็ยังปรับในส่วนเกี่ยวข้องกับเนื้อตัวร่างกาย เช่น คนงานประจำเครื่องนั้นต้องผลิตตามที่กำหนดว่าแต่ละช่วงเวลาต้องผลิตได้กี่ชิ้น วันดีคืนดีก็มีคนมาจับเวลาอีกว่าได้เท่าค่าเฉลี่ยที่เหมาะสมไหม ตัวอย่างการพบปัญหา เช่น เครื่องมือต่างๆ อยู่ไกลไป จึงเปลี่ยนเป็น นอกจากยืนอยู่ประจำที่แล้วก็สามารถเอื้อมไปในระยะ 1 ฟุต ซึ่งมีประสิทธิภาพมากที่สุด การเอื้อมทำให้เสียเวลา 

คนงานบอกว่า มันมีประสิทธิภาพมากก็จริง แต่มันเหนื่อยและล้ามาก บางคนต้องพึ่งยาคลายเส้น ส่วนใหญ่อายุ 20 ต้นๆ เท่านั้น 

การจัดการกับเวลาและร่างกายของคนงาน มีการพัฒนาเครื่องมือทางเวลามากำกับ ตั้งแต่ระบบการผลิตและ code ที่กำหนดว่าคนงานควรขยับร่างกายยังไง

เวลาอุตสาหกรรมมีความสำคัญเหนือเวลาส่วนอื่นๆ ของชีวิต แรงงานก็ยอมรับมัน อาจมีการต่อรองอะไรบ้างแต่ก็ยังอยู่ในกรอบนี้ ปัญหาคือ แรงงานหญิงในเชิงร่างกายกับจังหวะเวลาทางสังคม ไม่สอดคล้องกับเวลาทางอุตฯ เกิดความตึงเครียดทั้งร่างกายและจิตใจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

ปัญหาของแรงงานหญิง ขยับจากเรื่องความยากจนไปสู่การขาดแคลนเวลาในการใช้ชีวิตส่วนอื่น และก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายของเขาเอง โจทย์ของแรงงานอาจต้องดูให้ละเอียดขึ้นในแต่ละกลุ่มเพราะมันมีความหลากหลายมาก

=====================================

วรวิทย์ เจริญเลิศ  วิจารณ์ "ทั้ง 3 บทความเป็นความพยายามหาข้อมูล สร้างประวัติศาสตร์จากชนชั้นล่าง"

เริ่มจากงานของนฤมล มีทั้งส่วนของทฤษฎีและการลงเก็บข้อมูลจริง ซึ่งสะท้อนกระบวนการใช้แรงงานในโรงงานสมัยใหม่ได้ค่อนข้างดี แต่อยากจะเห็นเพิ่มเติมว่า การที่เขาไปทำงานนั้นเขาถูกกำหนดจากสภาพ หรือมีอะไรไหมที่เราสามารถตั้งโจทย์หรือต่อสู้กับมันได้ อีกมิติหนึ่ง คือ อาจต้องวิเคราะห์มิติของ Gender ด้วยเพราะเป็นแรงงานหญิง มีระบบการจัดการแบบชายเป็นใหญ่หรือไม่ และสิ่งที่อยากรู้คือ นอกรั้วโรงงานนั้นชีวิตพวกเขาเกิดอะไรขึ้น แรงงานหญิงเหล่านี้เป็นกรรมกรในกรอบคิดของตะวันตกหรือไม่ โยงกับชนบทแค่ไหน โรงงานเป็นเสี้ยวหนึ่งหรือเป็นส่วนใหญ่ในชีวิต นอกจากนี้ยังไม่เห็นการรวมกลุ่มหรือบทบาทของสหภาพแรงงานเลย  หากไม่มีสหภาพแรงงานอาจต้องดูรูปแบบการต่อสู้ว่าออกไปในทางไหน

งานของอัจฉรา เป็นงานที่ค่อนข้างท้าทายทางความคิด จะมองเรื่องนี้ในมุมเศรษฐศาสตร์การเมืองอย่างไร อาจไม่ใช่ว่าคนไร้บ้าน เพราะมันโยงกับบ้าน แต่อาจมองในมิติของแรงงาน เพราะเขาก็มีการหารายได้ของเขาภายใต้บริบทสังคมที่เปลี่ยนไป แต่โดยหลักตัวงานคงอยากจะท้าทายแนวคิดของเอ็นจีโอเพื่อให้เกิดการทบทวน การส่งผ่าน modernity หรือความทันสมัย เข้ามา ในยุคแรกๆ องค์กรระหว่างประเทศสนับสนุนให้รัฐมีบทบาทในการพัฒนา ต่อมาเมื่อเข้าสู่กระแสเสรีนิยม รัฐถอยบทบาทให้ตลาดเข้ามาเป็นหลัก แล้วเราก็ไปจัดการกันเองในรูปการมีส่วนร่วม ดังนั้น ถ้าเราติดกรอบการพัฒนากระแสหลัก ใช้กรอบของเขาเราก็ไปจัดระเบียบเขา งานของอัจฉราก็สะท้อนว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เขาเลือก การจัดสวัสดิการไม่ตรงกับความต้องการ

งานของวรดุลย์ พยายามชี้ให้เห็นสิ่งสำคัญอันหนึ่งว่า การเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม หรือกระบวนการกลายเป็นกรรมาชีพ เป็นคอนเซ็ปท์ของตะวันตก ซึ่งส่วนใหญ่หลุดจากภาคเกษตรโดยสิ้นเชิง แรงงานที่เป็นห่วงโซ่สินค้าไม่มีแล้ว เพราะ formal กับ informal นั้นแยกกันลำบาก การ informalization หรือกระบวนการกลายเป็นสินค้าของแรงงานไม่ใช่เพียงการเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม แต่มีหลายรูปแบบ แรงงานเสรีอาจอยู่ในแรงงานทาสก็ได้ การมีหลายรูปแบบของแรงงานทำให้การต่อสู้ก็ต้องมีหลากหลาย ไมใช่รูปแบบเดียวแบบ สหภาพแรงงาน จะมีการรวมกลุ่มแบบใหม่เกิดขึ้นได้ไหม

ประเด็นที่วรดุลย์พยายามผลักคือ การที่สหภาพแรงงานต้องเปิดกว้างรับแรงงานชั่วคราวในรูปแบบต่างๆ เข้ามานั้น มันไม่แน่ ขึ้นอยู่กับว่าคนในสหภาพแรงงานมองเรื่องนี้อย่างไร ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเท่าเทียมกันหรือไม่ หรือแรงงานนอกระบบเขาอยากเป็นแรงงานในระบบหรือไม่ เรื่องนี้น่าจะมีการวิจัยเพิ่มเติม

 

หมายเหตุ: อ่านรายละเอียดของงานพร้อมบทคัดย่อของงานวิจัยแต่ละชิ้นได้ที่ http://socanth.tu.ac.th/news/academic-events-updates/ccscs-seminar-2013/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net