Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การต่อต้าน "ค่านิยมเก่า" เช่น กฎ ระเบียบ บุคคล ตลอดจนขนบ ธรรมเนียม ประเพณี จารีต ศาสนา การเมือง เศรษฐกิจ ฯ กำลังแพร่ระบาดไปทั่วสังคมไทย และจะไม่หยุดเพียงแค่นี้ เพราะมีคนจำนวนมากอยาก "เปลี่ยน" ค่านิยมเก่ามาเป็นค่านิยมใหม่...ที่ผมขอเรียกเหมารวมว่า "ลิเบอรัล"

หลายเรื่องผมก็สงสัยว่าค่านิยมเก่ามัน "กดทับ - ปิดกั้น หรือควบคุมชีวิต" ของคนเหล่าไม่ให้มีเสรีภาพตรงไหน และอย่างไร

อย่างเรื่อง "เครื่องแบบ" นักเรียน - นักศึกษา เป็นต้น...ถ้าใส่หรือไม่ใส่ แล้วมันทำให้มีหรือไม่มีเสรีภาตรงไหน-อย่างไร เพราะเครื่องแบบไม่ใช่ขื่อคา หรือโซ่ตรวนที่เป็นเครื่องจองจำคน...อย่างมากที่สุดมันก็เป็นเรื่องที่เป็นนักเรียน-นักศึกษาต้องใส่ตาม "กฎ" ของกระทรวงศึกษาธิการ

แน่นอน - เมื่อคนสร้างกฎได้ ก็ย่อมเปลี่ยนหรือยกเลิกกฎนั้นๆได้ แต่เรื่องเครื่องแบบและอีกหลายๆเรื่อง (เช่นการไหว้ครู) มันมีเหตุผลรองรับ หรือมีเหตุผลว่าทำไมนักเรียน-นักศึกษาต้องแต่งเครื่องแบบ...ทำไมไม่คิดให้หลายแง่หลายมุม เพื่อว่าจะได้พบทั้งข้อดีและข้อด้อย แล้วค่อยเลือกว่าจะแต่งหรือไม่แต่ง โดยมีมติร่วมกันทั้งสถาบัน

แต่ผมก็เห็นว่า การไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียน-นักศึกษา แล้วยังสวมใส่เสื้อผ้าแบบอื่นอยู่ เสื้อผ้าแบบอื่นก็เป็น "เครื่องแบบ" เช่นกัน เพียงแต่ดูหลากหลายกว่าเท่านั้น (แน่จริงต้องเปลือย จึงนับว่าปลดเปลื้องพันธนาการของเครื่องแบบไปได้...แต่ว่า รูปแบบหรือรูปทรงของตัวคนก็เป็นเครื่องแบบนะ!)

จึงไม่ใช่ว่า...เรื่องอะไรที่เป็นค่านิยมเก่า หรือเรื่องที่ตนเองไม่พอใจก็โวยวายโจมตีว่า "จำกัดสิทธิและเสรีภาพ" หรือเป็นเรื่อง "อำนาจนิยม" หรือ "ลัทธิบูชาเครื่องแบบ" ไปโน่น

หากพูดในระดับสัจจะ...สมมุติว่า การทำอะไรตามใจได้ทุกอย่าง ถือว่ามีและเป็นสิทธิ-เสรีภาพ ผมก็ยืนยันว่ามันไม่ใช่สิทธิ-เสรีภาพของคนๆนั้นเลย มันเป็นเสรีภาพของกิเลส-ตัณหาต่างหาก...ซึ่งเจ้าตัวก็รู้ไม่เท่าทันมันแน่ๆ เพราะหากรู้ เขาก็จะไม่ออกมาโวยวายโจมตีโดยไม่มีเหตุมีผล

แม้ในวงการพุทธศาสนา ซึ่งเป็นวงการของผู้ต้องการสลายกิเลสตัณหา ก็ยังมี "กฎ" หรือ "วินัย" ให้ภิกษุใส่เครื่องแบบ! ซ้ำยังมีกฎอื่นๆอีกสารพัด...ถึง ๒๒๗ ข้อ ส่วนภิกษุณียิ่งมีมากกว่าอีก!

ทำไมไม่ลองพิจารณาบ้างเล่าว่า "เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น"...เพราะตนเองก็เป็นนักเรียน - เป็นนักศึกษา บ้างก็เป็นปริญญาชน บางคนเป็นถึงดอกเตอร์ และเป็น ผ.ศ. ร.ศ. ศ. ซึ่งหลายคนก็ผมเปลี่ยนสีและเดินเข้าใกล้โลงทุกวินาทีแล้ว

ผมไม่เห็นว่า "การไม่เอาอะไรแบบเก่า" เท่ากับสลัดความเป็นทาส หรืออำนาจนิยมของ "อำมาตย์-ศักดินา" ออกไป แล้วสิ่งที่จะเข้ามาแทนที่คือ "เสรีภาพ"

ตราบใดที่เรายังมีกิเลส มีตัญหา ตราบนั้นเราไม่มีวันมี "เสรีภาพที่แท้" ได้หรอก แม้ล้มล้างค่านิยมเก่าออกไปหมด เราก็จะรับเอาค่านิยมอีกแบบที่เรียกว่า "ใหม่" เข้ามา "ครอบ" ความรู้สึกนึกคิด หรือชีวิตของเราต่อไปอีก

ล้มล้างความเป็นทาสแบบหนึ่งออกไป (ถ้าคิดว่ามันเป็น) ก็จะรับเอานายทาสใหม่เข้ามาครอบหัวต่อไปอีก...นั่นไม่ไช่เสรีภาพที่แท้

แต่หากจะบอกว่า "นายทาสใหม่" ดีกว่า "นายทาสเก่า" ก็แล้วไป แต่ไม่ควรจะมาอ้างเรื่องสิทธิ-เสรีภาพ ไม่เช่นนั้นคนที่เขายังเลือกค่านิยมเก่าก็จะอ้างได้เช่นกันว่า เป็นสิทธิและเสรีภาพของเขา

ยังมีคนอีกมหาศาลที่ยังมี "หัวคิด" ที่จะพิจารณาเลือกสิ่งที่เหมาะสมและมีคุณค่ากับชีวิตตนเอง...ทั้งจากสิ่งเก่าและสิ่งใหม่...ในขณะที่ยังต้องดำเนินชีวิตตามกฎระเบียบของธรรมชาติ และค่านิยมต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้นมา

สิทธิและเสรีภาพที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อเพื่อนร่วมสังคม เป็นสิทธิและเสรีภาพที่ไร้เดียงสา

การทำอะไรตามใจอยาก ไม่ใช่เรื่องสิทธิและเสรีภาพเสมอไป แต่เป็นเรื่อง "ภาวะอนาธิปไตยของใจ" หรือไม่ก็จิตป่วยด้วยโรคเผด็จอำนาจ...ที่มันเร่าร้อนอยากจะกำจัดทุกอย่างที่ตนเกลียดชังให้หมดไป.


ขอบคุณเจ้าของภาพครับ

 

 

ที่มา: เฟซบุ๊กของ วิมล ไทรนิ่มนวล

หมายเหตุ: ภาพประกอบจาก ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net