Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

**ในตอนแรก (ต้นฉบับเดิม - http://www.deepsouthwatch.org/ms/node/4706 บทแปลเป็นภาษาไทย - http://www.deepsouthwatch.org/dsj/4723) ผู้เขียนได้แจกแจงรายละเอียดของข้อเรียกร้องเบื้องต้น 5 ประการอย่างถี่ถ้วน ยกเว้นเพียงเงื่อนไขประการที่ 4 ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิของความเป็นเจ้าของ ในตอนที่ 2 นี้จึงใคร่วิพากษ์ถึงประการดังกล่าว-ผู้เขียน

ข้อเรียกร้องเบื้องต้นประการที่ 4 – รัฐบาลไทยต้องยอมรับถึงสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือดินแดนปาตานีของชนชาวมลายูปาตานี

ตามที่ได้อธิบายไปแล้วก่อนหน้านี้ถึงเงื่อนไขประการที่ 4 ว่า เป็นประเด็นใจกลางที่ได้กลายเป็นแกนหลักต่อเหล่าปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อยาวนานถึง 200 ปี การอภิปรายในเรื่องที่มีความสำคัญเช่นนี้ จะหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงความจริงในแง่ของประวัติศาสตร์การเมืองและกฎหมายมิได้

เพื่อทำความเข้าใจความคิดเกี่ยวกับสิทธิความเป็นเจ้าของของชนชาติมลายูปาตานี จำเป็นต้องพิจารณาจากแง่มุม 3 ประการสำคัญดังต่อไปนี้ คือ

ประการแรกปาตานี คือ มาตุภูมิ (PATANI sebagai BUMI)
ประการที่ 2 ชนชาติมลายู คือ ชาติพันธุ์ (BANGSA MELAYU sebagai ETNIK) และ
ประการที่ 3 สิทธิความเป็นเจ้าของ คือ อำนาจของผู้ที่เป็นเจ้าของ (HAK PERTUANAN sebagai PEMILIK BERKUASA)

จากนี้จะทำความเข้าใจเป็นรายข้อ ดังต่อไปนี้

 

1. ปาตานี คือ มาตุภูมิ

เมื่อเอ่ยถึงคำว่า ปาตานี สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องย้อนกลับไปยังประวัติศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า บริเวณทางตอนใต้ของไทยที่ประกอบไปด้วย 3 จังหวัด คือ ปาตานี ยะลา นราธิวาส และบางอำเภอของจังหวัดสงขลาปัจจุบัน ซึ่งก่อนหน้านั้นบริเวณดังกล่าวเคยเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ที่รู้จักกันในชื่อลังกาสุกะ นักประวัติศาสตร์ต่างคาดการณ์ว่า อาณาจักรแห่งนี้ได้กำเนิดขึ้นเมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 1 หรือก่อนหน้านั้นด้วยซ้ำ

ตามบันทึกของของชาวจีน ระบุว่า เมื่อปี ค.ศ.515 กษัตริย์จากลังกาสุกะที่มีพระนามว่า พระเจ้าพากาดัตตา (Bhagadatta) ได้มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับเมืองจีน และได้ทรงส่งทูตไปยังเมืองดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ.523, 531 และ ค.ศ.568 ในบันทึกของชาวจีนได้กล่าวถึงลังกาสุกะในสำเนียงต่างๆ เช่น ลังยาซิว (Lang-Ya-Shiao) ลังยาเซีย(Lang-Yi-Sia) ลังซีเจีย (Lang-see-chia) และอื่นๆ

นี่หมายความว่า อาณาจักรลังกาสุกะได้อุบัติขึ้นก่อนหน้าที่อาณาจักรสุโขทัยจะถือกำเนิดขึ้นเสียอีก (ค.ศ.1238) ตามที่ถูกอ้างโดยชาวสยามว่า เป็นยุคที่การปกครองเพิ่งถูกสถาปนาขึ้น ในขณะที่อาณาจักรลาวที่ได้สถาปนาขึ้นราวปี ค.ศ. 450 ซึ่งก็ปกครองโดยชนชาติมอญ (มิได้มาจากชนชาติไทย) ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรเขมร จนกระทั่งถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาเมื่อ ค.ศ.1388

ถึงแม้ว่าลังกาสุกะจะเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในยุคสมัยหนึ่ง แต่เมื่อเสื่อมอำนาจลงก็ได้ตกอยู่ภายใต้อาณาจักรอื่นที่มีอิทธิพลเหนือกว่า อย่างเช่น อาณาจักรศรีวิชัย (ศูนย์อำนาจอยู่ที่เมืองปาลิมบัง เกาะสุมาตรา) อาณาจักรมัชปาหิต (ศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่เกาะชวา) และอาณาจักรสุโขทัยที่ใช้อำนาจปกครองผ่านเมืองบริวารอย่างตามพรลิงค์ (ศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลิกอร์)

ในขณะที่อำนาจการปกครองจากภายนอกเสื่อมลง อาณาจักรลังกาสุกะได้กลับมามีอำนาจและได้รับอิสรภาพอีกครั้ง ร่องรอยทางประวัติศาสตร์ในรูปของโบราณสถานและสถานประกอบศาสนกิจยังมีให้เห็นได้อย่างทั่วทั้งบริเวณจังหวัดทางภาคใต้ปัจจุบัน โดยเฉพาะจุดศูนย์กลางของเมือง พระราชวังมะฮลีฆัย (KOTA MAHLIGAI) ที่อยู่รอบๆ บริเวณบ้านจาเละ ในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานีปัจจุบัน

เมื่อศูนย์กลางการปกครองได้ย้ายไปยังสถานที่ใหม่ ณ กรือเซะ หรือที่ปาตา อีนี (PataIni, หรือบางแหล่งข้อมูลได้เขียนว่าหมู่บ้านเปาะตานี, Pak Tani) แล้วจึงได้ตั้งชื่อเมืองนี้ว่าปาตานี จนกระทั่งเจ้าเมืองได้เข้ารับอิสลาม (จากเดิมที่นับถือศาสนาพุทธ) และได้วางรากฐานการปกครองแบบอิสลาม และยังได้ตั้งชื่อใหม่ว่า ปาตานีดารุสสลาม

ทว่าเมื่อการรุกรานจากสยาม(ที่ต้องการแผ่ขยายอาณาเขต)หลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่สมัยอยุธยาจวบจนกระทั่งประสบความสำเร็จเมื่อปีค.ศ.1786 ในสมัยการปกครองของกษัตริย์รัชกาลที่ 1แห่งราชวงศ์จักรี นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สถานะของเมืองปาตานีก็แปรเปลี่ยนอย่างค่อยเป็นค่อยไปจากเมืองที่เคยมีอำนาจและอิสระ สุดท้ายกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน

เพราะฉะนั้นไม่ว่าแผ่นดินแห่งนี้จะเรียกว่าลังกาสุกะ ปาตานี ปาตานีดารุสสลาม มณฑลปัตตานี หรือเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ที่ถูกแยกเป็นจังหวัดเล็กจังหวัดน้อย ซึ่งประกอบไปด้วยจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา ซึ่งอยู่ในภาคใต้ของประเทศไทย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วต่างก็เป็นภูมิประเทศเดียวกัน แผ่นดินเดียวกัน กระทั่งน่านฟ้าและน่านน้ำอันเดียวกัน

ถึงแม้ว่าในห้วงขณะหนึ่งแนวชายแดนและอาณาบริเวณที่เคยปกครองได้เปลี่ยนไปแล้ว แต่ในทางภูมิศาสตร์มิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

 

2. ชนชาติมลายู คือ ชาติพันธุ์

อาณาจักรลังกาสุกะถูกระบุโดยนักประวัติศาสตร์ว่า เป็นรัฐมลายูที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย (Indianised Malay State) บนพื้นฐานที่ถูกยึดครองและปกครองโดยชนชาวมลายู การใช้ภาษามลายู การมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมมลายู มีศาสนาตามความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย นั่นก็คือศาสนาฮินดูในยุคแรก ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นศาสนาพุทธในเวลาต่อมา

ภาษาเขียนก็เช่นกันที่เป็นการยืมมาจากตัวอักษรภาษาสันสกฤตในแบบปัลลวะ ยกเว้นในสมัยของปาตานีดารุสสลามเท่านั้นที่การเขียนได้หยิบยืมตัวอักษรมาจากอักษรอาหรับที่รู้จักกันในนามอักษรยาวี

ในบรรดา “รัฐมลายูที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย” (Indianised Malay States) อื่นๆ ที่เคยดำรงอยู่ในหมู่เกาะบนคาบสมุทรมลายู อันได้แก่ อาณาจักรศรีวิชัย ตามพรลิงค์ มัชปาฮิต มะละกา เทมาเส็ก (สิงคโปร์) และอื่นๆ ถึงแม้ว่าจะยังมีชนชาติอื่นนอกเหนือจากชาวมลายูที่เคยอาศัยอยู่บนคาบสมุทรมลายู (Malay Peninsula) เช่นชาวมอญ (พม่า) ชาวเขมร ชาวสุมาตรา ชาวชวา ชาวสยามไต (ทางตอนใต้) ชาวสยาม (ไทย) ชนเผ่าพื้นเมืองและอื่นๆ แต่ชนชาวมลายู ถือเป็นชนชาติที่เด่นชัดและเป็นผู้กุมอำนาจหลัก

หลักฐานการตั้งรกรากและการดำรงอยู่ของอำนาจของคนมลายูในแหลมมลายูแห่งนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องยากเย็นที่จะค้นพบ สิ่งสำคัญที่ดำรงอยู่ส่วนใหญ่ก็คือรากศัพท์ในภาษามลายู เริ่มจากบริเวณคอคอดกระ(กระ) ฉาฮายาหรือจายา(ไชยา) ลิกอร์ (นครศรีธรรมราช) ซูรัต(สุราษฎร์ธานี) บือดือลุง(พัทลุง) ฆือรือบี(กระบี่) บูหงา(พูงา/พังงา) บูกิต(ภูเก็ต) รือนุง(ระนอง) ตือรัง(ตรัง) สิงโกรา(สงขลา) ปาตานี(ปัตตานี) ยาลา(ยะลา) มือนารา(นราธิวาส) และสะตูล (สตูล)

นี่ยังไม่รวมถึงชื่ออำเภอและหมู่บ้านเล็กๆที่จำนวนมิน้อยมาจากคำภาษามลายู เพียงแต่ว่าภายหลังจากที่ถูกยึดครอง สำเนียงเรียกได้เปลี่ยนไปตามอิทธิพลของภาษาอื่น(สยาม) หรือเป็นการเปลี่ยนไปเป็นชื่อตามภาษาสยามไปเลย

สามารถสรุปได้ว่า นับตั้งแต่สมัยลังกาสุกะจนถึงยุคปาตานีดารุสสลาม จวบกระทั่งวันนี้ ความเป็นมาและคุณลักษณะเด่นชัดของชาวมลายูที่ได้อาศัยอยู่แผ่นดินแห่งนี้ ได้สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นไม่เคยเปลี่ยนแปลง นอกจากความเชื่อทางศาสนาเท่านั้นที่มีความเปลี่ยนแปลงจากศาสนาฮินดูเป็นศาสนาพุทธและสุดท้ายศาสนาอิสลาม

 

3.สิทธิความเป็นเจ้าของ–คืออำนาจของผู้ที่เป็นเจ้าของ

ในทางภาษาสิ่งนี้หมายถึง "สิทธิของผู้ที่เป็นเจ้าของ”(Ownership right) สิทธิความเป็นเจ้าของ เป็นแนวคิดทางการเมืองอย่างหนึ่ง ที่หมายถึง "สิทธิที่ได้รับหรือที่ได้มาโดยคนผู้หนึ่งหรือชนกลุ่มหนึ่งที่จะครอบครองสิ่งหนึ่งสิ่งใดอย่างถูกต้อง โดยที่เขาหรือพวกเขานั้นถืออำนาจอันโดยสมบูรณ์เหนือสิ่งนั้น” (It is the RIGHT given to, or attained by or acquired by  a person or people, to OWN something rightfully, which he or they possess ABSOLUTE POWER over it)

ด้วยสิทธิที่ถืออยู่นี่เอง ผู้เป็นเจ้าของที่มีสิทธิดังกล่าวอย่างชอบธรรมนั้น จะเป็นผู้มีอำนาจเต็มและมีอิสระในการตัดสินใจทุกเรื่องที่เหมาะสมและเป็นเรื่องดีงามต่อสิ่งที่ตนเป็นเจ้าของ

ตัวอย่างง่ายๆ เช่น มีคนครอบครองที่ดินแปลงหนึ่งด้วยความชอบธรรม ไม่ว่าจะเป็นโดยการซื้อ การแลกเปลี่ยน การให้หรือการได้รับมรดกตกทอด ตามหลักที่ถูกต้องชอบธรรมนั้น ที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นสิทธิของผู้ถือครอง (Ownership Right) เขาย่อมมีอำนาจอย่างเต็มที่บนที่ดินดังกล่าว และมีอิสระที่จะทำสิ่งใดต่อที่ดินแปลงนั้น ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผัก สร้างบ้าน ให้เช่า หรือจะขาย หากว่ามีคนต้องการที่จะเช่าที่ดินแปลงดังกล่าว ผู้เช่านั้นมิอาจก้าวก่ายต่อสิทธิความเป็นเจ้าของที่แท้จริงได้

หากมีชนกลุ่มหนึ่งที่ไม่รู้ว่ามาจากที่ใด ได้รุกรานและทำการปล้นโดยวิธีการบังคับหรือขับไล่เจ้าของเดิมออกไป เขาก็ยังมิได้หมดสิทธิจากการเป็นเจ้าของที่ดินแปลงดังกล่าวแต่อย่างใด เจ้าของที่ดินเดิมนั้นยังมีสิทธิและจำต้องทวงคืนสิทธิบนที่ดินแปลงนั้นกลับคืนมา เพราะนั่นคือสิทธิโดยชอบธรรม

นับจากสมัยอาณาจักรลังกาสุกะจวบกระทั่งถึงยุคสมัยปาตานีดารุสสลาม สิทธิความเป็นเจ้าของในแง่ของอำนาจอธิปไตย (sovereignty) นั้นอยู่ในมือของกษัตริย์ สุลต่าน หรือนักปกครองที่มาจากชนชาวมลายูที่ได้สืบทอดตลอดมาในแผ่นดินแห่งนี้จากรุ่นสู่รุ่น แม้ว่าแรกเริ่มนั้นความเชื่อเรื่องศาสนาจะไม่เหมือนกับช่วงสมัยอาณาจักรลังกาสุกะ(ฮินดูและพุทธ) แต่ในเวลาต่อมาได้เปลี่ยนมาสู่ความเป็นอิสลาม พวกเขาเหล่านั้นล้วนมีที่มาจากวงศ์ตระกูลเชื้อสายเดียวกันนั่นก็คือคนมลายู นั่นหมายความว่าสิทธิความเป็นเจ้าของในแง่ของอำนาจการปกครองนั้นอยู่ในอุ้งมือของคนมลายู

ถึงแม้ว่าในบางช่วงนั้น ลังกาสุกะหรือปาตานีได้เสื่อมอำนาจลงเพราะถูกรุกรานจากภายนอก รวมถึงถูกจำกัดและตกอยู่ภายใต้อาณัติของคนอื่น ความจริงแล้วสิทธิความเป็นเจ้าของคนมลายูบนแผ่นดินแห่งนี้ยังไม่หมดสิ้นไปกับการถูกยึดครองดังกล่าวแต่อย่างใด ถึงแม้สิทธิที่ว่านี้จะถูกปฏิเสธก็ตาม

ครั้นเมื่อปาตานีดารุสสลามตกอยู่ในเงื้อมมือของสยามในปี ค.ศ.1786 คนมลายูก็สูญเสียอำนาจในการปกครอง แต่สิทธิความเป็นเจ้าของของคนมลายูปาตานีก็ยังไม่สูญสลายไปถึงแม้จะถูกปฏิเสธจากนักล่าอาณานิคมสยามก็ตาม

จากนั้นเริ่มมีชาวมลายูลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจสยามบนแผ่นดินปาตานี ที่นำโดยเต็งกูลามิดดีน, ดาโต๊ะปังกาลัน, เต็งกูอับดุลกอเดร์ กามารุดดีน และลูกชายท่านเต็งกูมะฮ์มูด มะฮ์ยิดดีน, ต่วนโต๊ะครูหะญีสุหลง และอื่นๆ นับตั้งแต่ยุคสมัยที่อยู่ภายใต้อาณานิคมจวบกระทั่งถึงยุคสมัยของนักต่อสู้ในปัจจุบัน

เป้าหมายของพวกเขานั้นก็ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากการทวงคืนสิทธิที่ถูกลิดรอนไปเท่านั้น นั่นก็คือสิทธิอำนาจในการปกครอง เพราะว่าแผ่นดินแห่งนี้เป็นสิทธิความเป็นเจ้าของของชนชาวมลายูที่ต้องทวงกลับคืนมาเพื่อมอบให้กับผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง นั่นก็คือคนมลายูปาตานี

เปรียบได้กับตอนที่อยุธยาตกอยู่ภายใต้การยึดครองของพม่าเมื่อปี ค.ศ.1569 ชาวสยามก็ได้ลุกขึ้นมาเพื่อกอบกู้แผ่นดินกลับคืนมา เพราะพวกเขาสำนึกดีว่าการได้สูญเสียแผนดินนั้น เป็นการเพียงพอแล้วที่ชาวสยามจะมีความรู้สึกถึงสิทธิความเป็นเจ้าของของชนชาติสยามเหนือแผ่นดินอยุธยา เมื่อช่วงปีค.ศ.1593 ภายใต้การนำขององค์กษัตริย์พระนเรศวร ชาวสยามจึงสามารถขับพม่าออกไปและกลับมามีอำนาจใหม่อีกครั้ง

เหตุการณ์ที่คล้ายกันได้หวนกลับมาอีกครั้งเมื่อช่วง ค.ศ.1767 เมื่ออยุธยาได้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าอีกครั้ง แต่พระเจ้าตากสินมหาราชและชาวสยามได้ทำการกอบกู้เอกราชได้จนสำเร็จ จากนั้นก็ได้ย้ายศูนย์กลางไปยังกรุงธนบุรีหลังจากที่เมืองอยุธยาได้รับความเสียหายย่อยยับจากสงครามอย่างหนัก ความสำนึกที่จะกอบกู้อธิปไตยการปกครองที่ได้สูญเสียไปนั้น ต้องอาศัยหลักความเชื่อมั่นที่ความศรัทธาที่แน่วแน่และสัจจริงว่าสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือแผ่นดินสยามนั้นเป็นของปวงชนชาวสยามทั้งมวล

พอจะกล่าวได้หรือไม่ว่าทั้ง 2 เหตุการณ์นี้ กษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์ ไม่ว่าจะเป็นพระนเรศวรและพระเจ้าตากสินนั้น คือผู้ก่อการกบฏ ผู้แบ่งแยกดินแดน หรือผู้ก่อการร้าย เพียงแค่ว่าพระองค์ทั้งสองได้ทำการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยแผ่นดินเกิดจากอาณัติของศัตรู? คงไม่อย่างแน่นอน! เช่นเดียวกับนักต่อสู้ปาตานีที่ไม่ควรเรียกว่าเป็นผู้กบฏ ผู้แบ่งแยกดินแดน หรือผู้ก่อการร้าย เพราะพวกเขาเองก็กระทำการเหมือนอย่างพระองค์ทั้งสอง

ในบริบทของกระบวนการสันติภาพปาตานีซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในตอนนี้ ประเด็นเรื่องของสิทธิความเป็นเจ้าของของชนชาวมลายูปาตานีบนผืนแผ่นดินปาตานีที่ได้รับการปฏิเสธจากรัฐไทย ได้กลายเป็นหนึ่งเงื่อนไขพื้นฐานเพื่อกระบวนการพูดคุยจักได้ดำเนินได้อย่างต่อเนื่อง ทางฝ่ายนักต่อสู้ได้เรียกร้องให้การปฏิเสธนั้นเป็นโมฆะ โดยการยอมรับว่าชนชาวมลายูปาตานีจะมีสิทธิความเป็นเจ้าของเหนือแผ่นดินปาตานี

ในกรอบของสิทธิความเป็นเจ้าของที่ประกอบด้วย:สิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม (Justice and Basic Human Rights) ของสังคมมลายูปาตานีจะต้องได้รับการยอมรับและความเคารพ สิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง (Right to Self-Determination) พันธะสัญญาทางการเมืองเศรษฐกิจ การศึกษาและสังคมที่มีหลักประกันและโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางรัฐบาลไทยจำเป็นต้องเปิดโอกาสและพื้นที่เพื่อให้ชาวมลายูปาตานีสามารถปกครองตนเองในดินแดนปาตานีได้ รูปแบบและขอบเขตในการบริหารและอำนาจการปกครองจะต้องร่วมกันพิจารณาในรายละเอียดในระหว่างกระบวนการพูดคุยเมื่อถึงขั้นการเจรจาในภายหลัง

ถ้าหากว่าฝ่ายไทยปรารถนาในความสงบสุขที่แท้จริง พวกเขาก็ควรจะตอบรับและตกลงด้วยดีต่อข้อเรียกร้องเบื้องต้นทั้ง 5 ประการนี้ในระหว่างการพูดคุย เพื่อให้กระบวนการสันติภาพสามารถก้าวไปข้างหน้าได้ เพื่อประชาชนในพื้นที่ภาคใต้จะได้สัมผัสดอกผลของสันติภาพอย่างทั่วกัน หลังจากที่ได้ประสบกับกลียุคมานาน

 

**** ความคืบหน้า : ทางฝ่ายบีอาร์เอ็นได้ยื่นรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขเบื้องต้น 5 ประการแก่ทางฝ่ายไทย (รวมทั้งข้อ 4) ผ่านทางผู้อำนวยความสะดวก(มาเลเซีย) แล้ว ทางฝ่ายไทยได้ขอเวลาอีกสักระยะเพื่อทำการหารือและคงจะให้คำตอบในช่วงเวลาที่เหมาะสมถ้าคำตอบเป็นไปในทางบวก ก็คือว่าทางฝ่ายไทยนั้นตกลงที่จะรับเงื่อนไขทั้งห้าดังกล่าวไปพิจารณา วงล้อของกระบวนการสันติภาพที่กัวลาลัมเปอร์จะสามารถขับเคลื่อนใหม่ได้อีกครั้ง

น้ำส้มและน้ำผื้ง – นอกรั้วปาตานี
ซุลเกาะดะฮ์ / กันยายน 2013

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net