24 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง ค้านแนวคิดเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืน

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 24 เครือข่าย ประกาศจุดยืนไม่ร่วมการประชุมเพื่อผลักดันแนวคิดเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืน จวกความชอบธรรมให้การสร้างเขื่อน ระบุผู้ได้รับผลประโยชน์ไม่มีสิทธิยัดเยียดแนวคิดให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
 
วันที่ 19 ก.ย.56 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 24 เครือข่าย นำโดย เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) เผยแพร่แถลงการณ์ ‘ไม่ยอมรับการประชุมและแนวคิดเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืน’ ประกาศจุดยืนไม่ยอมรับและไม่ขอเข้าร่วมใน ‘การประชุมเชิงปฏิบัติการและการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ความตระหนัก และการสื่อสารเกี่ยวกับกิจกรรมไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน’ ที่สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยจัดขึ้นในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้
 
แถลงการณ์ระบุว่า การจัดประชุมดังกล่าวขาดความชอบธรรมและความเหมาะสม อาทิ วัตถุประสงค์ในการจัดการประชุมไม่ชัดเจน โดยเฉพาะบทบาทของคณะกรรมการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) การที่เอ็มอาร์ซีพยายามเผยแพร่ความคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืนให้กับประชาชนเท่ากับเป็นผู้สนับสนุนเขื่อน ทั้งที่ปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ได้สนับสนุน
 
อีกทั้ง ไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลความคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืนที่เป็นภาษาไทยให้ประชาชนรับทราบและร่วมแสดงความเห็นก่อนหน้าการเสนอจัดประชุมในเวลาที่เหมาะสม ไม่มีเกณฑ์การเลือกผู้เข้าร่วมประชุมที่ถูกต้องเหมาะสมและโปร่งใส ในกำหนดการประชุมเห็นได้ชัดว่าไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เห็นต่างได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ แต่เป็นการไปนั่งฟังการบรรยายสิ่งที่เตรียมการมาแล้ว
 
“ที่ผ่านมา การเปิดเวทีที่เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนไซยะบุรี นับเป็นกระบวนการที่ล้มเหลว ไม่มีความชอบธรรม และประชาชนไม่เคยยอมรับ เพราะไม่เคยเคารพสิทธิของประชาชนและไม่ได้ทำตามกฎกติกาที่มีอยู่ การจัดเวทีในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชน เป็นเพียงความพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับความคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์จากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเท่านั้น” แถลงการณ์ระบุ
 
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง 24 เครือข่าย ระบุความคิดเห็นไว้ด้วยว่า การประชุมในครั้งนี้ได้เตรียมข้อสรุปไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยเป็นข้อสรุปที่ไม่ตรงกับข้อคิดเห็นของประชาชนที่ได้เสนอในที่ประชุมครั้งที่ 1 ที่ จ.เชียงราย เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา จึงขอปฏิเสธการเข้าร่วมและจะดำเนินการตั้งคำถามต่อความคิดเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืนต่อไปจนถึงที่สุด
 
แถลงการณ์ระบุอีกว่า มีข้อสรุปที่ชัดเจนจากประสบการณ์อันเจ็บปวดที่ผ่านมาว่า เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่ยั่งยืนไม่มีจริงในโลกนี้ รวมทั้งเขื่อนไซยะบุรีที่กำลังก่อสร้างกั้นลำน้ำโขงอยู่ในประเทศ สปป.ลาวในขณะนี้ ชัดเจนว่า ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่เขื่อนใดทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกที่สามารถเยียวยาความเสียหายอันมหาศาลที่เป็นผลจากการสร้างเขื่อนได้ นับตั้งแต่เขื่อนใหญ่เขื่อนแรกของประเทศไทยที่ทุกวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังได้รับความทุกข์ยากอยู่
 
ที่ชัดเจนอีกกรณีหนึ่งคือเขื่อนปากมูนที่ประชาชนต่อสู้มาแล้ว 24 ปี จนปัจจุบันยังแก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้น บรรดาหน่วยงานที่สร้างแนวคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืนซึ่งส่วนใหญ่คือหน่วยงานสร้างเขื่อนหรือได้รับผลประโยชน์จึงขาดความชอบธรรมในการเสนอความคิดนี้โดยสิ้นเชิง
 
“เราขอยืนยันว่า รัฐบาล คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กรมทรัพยากรน้ำ และผู้ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนไม่มีสิทธิที่จะยัดเยียดแนวคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืนให้กับประชาชนที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน” แถลงการณ์ระบุ
 
 
 
แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง
เรื่อง ไม่ยอมรับการประชุมและแนวคิดเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืน
19 กันยายน 2556
 
จากที่สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยได้จัด“การประชุมเชิงปฏิบัติการและการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ความตระหนัก และการสื่อสารเกี่ยวกับกิจกรรมไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน” ในเดือนสิงหาคมและกันยายนนี้ และได้เชิญตัวแทนจากเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน 7 จังหวัดลุ่มน้ำโขงภาคอีสานเข้าร่วมนั้น พวกเรา พร้อมด้วยเครือข่ายประชาชนที่ลงชื่อในตอนท้ายของแถลงการณ์นี้ขอแสดงจุดยืนไม่ยอมรับและไม่ขอเข้าร่วมกับการประชุมนี้รวมทั้งแนวคิดเรื่องเขื่อนไฟฟ้าที่ยั่งยืน ด้วยเหตุผลดังนี้
 
พวกเรามีความเชื่ออย่างชัดเจนว่า การปล่อยให้แม่น้ำไหลอย่างอิสระคือความยั่งยืนที่แท้จริงและผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนทั้งลุ่มน้ำและทั้งโลกไม่มีแม่น้ำสายไหนในโลกนี้เหมาะสำหรับสร้างเขื่อนอีกต่อไป และสิทธิในการปกป้องทรัพยากรและแม่น้ำเป็นสิทธิพื้นฐานของคนท้องถิ่นที่ต้องได้รับการยอมรับ รากเหง้าที่สำคัญของปัญหา คือการที่ฝ่ายต่าง ๆ ปฏิเสธเสียงและความรู้ท้องถิ่นซึ่งมีความสำคัญต่อการจัดการน้ำ ในขณะเดียวกันจะยอมรับเพียงแค่ความรู้ทางวิชาการของผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของทรัพยากร ทั้งนี้ เราขอยืนยันว่า รัฐบาล คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กรมทรัพยากรน้ำ และผู้ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนไม่มีสิทธิที่จะยัดเยียดแนวคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืนให้กับประชาชนที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน
 
เรามีข้อสรุปที่ชัดเจนจากประสบการณ์อันเจ็บปวดที่ผ่านมาว่า เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ที่ยั่งยืนไม่มีจริงในโลกนี้ รวมทั้งเขื่อนไซยะบุรีที่กำลังก่อสร้างกั้นลำน้ำโขงอยู่ในประเทศ สปป.ลาวในขณะนี้ ชัดเจนว่า ไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่เขื่อนใดทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกที่สามารถเยียวยาความเสียหายอันมหาศาลที่เป็นผลจากการสร้างเขื่อนได้ นับตั้งแต่เขื่อนใหญ่เขื่อนแรกของประเทศไทย ที่ทุกวันนี้ชาวบ้านในพื้นที่ก็ยังได้รับความทุกข์ยากอยู่ ที่ชัดเจนอีกกรณีหนึ่งคือเขื่อนปากมูนที่ประชาชนต่อสู้มาแล้ว 24 ปี จนปัจจุบันยังแก้ปัญหาไม่ได้ ดังนั้น บรรดาหน่วยงานที่สร้างแนวคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืนซึ่งส่วนใหญ่คือหน่วยงานสร้างเขื่อนหรือได้รับผลประโยชน์จึงขาดความชอบธรรมในการเสนอความคิดนี้โดยสิ้นเชิง
 
ในเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์จากเขื่อน พวกเราสรุปชัดเจนว่า ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจระหว่างผู้สร้างเขื่อนทั้งหลายกับผลประโยชน์ที่ประชาชนได้รับจากแม่น้ำอย่างยั่งยืน เป็นผลประโยชน์ที่ขัดแย้งและแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้นแนวคิดการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เท่าเทียมจึงไม่อาจจะเกิดขึ้นได้จริง  ในกรณีการสร้างเขื่อนไซยะบุรีบนแม่น้ำโขงสายหลักนั้นมีรูปธรรมที่ปรากฏชัดเจนว่าตั้งแต่เริ่มโครงการไม่ได้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ใด ๆ เลยกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ มีแต่บริษัทไซยะบุรีเท่านั้นที่ได้ผลประโยชน์ โดยชาวบ้านที่ถูกอพยพจากถิ่นที่อยู่ไป กำลังตกอยู่ในภาวะทุกข์ยากและไม่ได้รับความเป็นธรรม ในท้ายที่สุด แม้มีการใช้คำพูดสวยหรูเกี่ยวกับเขื่อนยั่งยืน แต่ยังไม่มีหน่วยงานใด ที่จะมาให้หลักประกันใด ๆ ว่าความคิดเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์จะได้รับการปฏิบัติตามโดยกลุ่มผู้สร้างเขื่อนอย่างเช่น บริษัท ไซยะบุรีเพาเวอร์ จำกัด หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในความเป็นจริง
 
การจัดประชุม“การประชุมเชิงปฏิบัติการและการรับฟังความคิดเห็นเพื่อเสริมสร้างศักยภาพ ความตระหนักและการสื่อสารเกี่ยวกับกิจกรรมไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน” ขาดความชอบธรรมและความเหมาะสมหลายประการ เริ่มจากวัตถุประสงค์ในการจัดการประชุมไม่ชัดเจน โดยเฉพาะบทบาทของคณะกรรมการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ผู้เป็นต้นคิดเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอย่างยั่งยืน มีความไม่ชัดเจนอย่างยิ่ง การที่เอ็มอาร์ซีพยายามเผยแพร่ความคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืนให้กับประชาชน ก็เท่ากับเป็นผู้สนับสนุนเขื่อน ทั้งที่ปฏิเสธมาโดยตลอดว่ามิได้สนับสนุน ที่ผ่านมาไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลความคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืนที่เป็นภาษาไทยให้ประชาชนรับทราบและแสดงความเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก่อนหน้าการเสนอจัดประชุม ในเวลาที่เหมาะสมไม่มีเกณฑ์การเลือกผู้เข้าร่วมประชุมที่ถูกต้องเหมาะสมและโปร่งใส ทั้งที่การประชุมในหัวข้อดังกล่าวควรเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมและตั้งคำถามได้ทั้งหมดโดยไม่จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมเพียงไม่กี่คน  ในกำหนดการประชุมที่มีอยู่ เห็นได้ชัดว่า ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนที่เห็นต่างได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ แต่เป็นการไปนั่งฟังการบรรยายสิ่งที่เตรียมการมาแล้ว ที่ผ่านมา การเปิดเวทีที่เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนไซยะบุรี นับเป็นกระบวนการที่ล้มเหลว ไม่มีความชอบธรรม และประชาชนไม่เคยยอมรับ เพราะไม่เคยเคารพสิทธิของประชาชนและไม่ได้ทำตามกฎกติกาที่มีอยู่ การจัดเวทีในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชน เป็นเพียงความพยายามสร้างความชอบธรรมให้กับความคิดเรื่องเขื่อนยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์จากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเท่านั้น
 
ท้ายที่สุดนี้ เราเห็นว่าผู้จัดการประชุมในครั้งนี้ ได้เตรียมข้อสรุปไว้ล่วงหน้าแล้ว โดยเป็นข้อสรุปที่ไม่ตรงกับข้อคิดเห็นของประชาชนที่ได้เสนอในที่ประชุมครั้งที่ 1 ที่จังหวัดเชียงรายเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราจึงขอปฏิเสธการเข้าร่วมและจะดำเนินการตั้งคำถามต่อความคิดเรื่องเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ยั่งยืนต่อไปจนถึงที่สุด
 
ลงวันที่ 19 กันยายน 2556
 
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.) (ประกอบด้วยสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตำบล 64 พื้นที่ในจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี)
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัด หนองคาย 53 ตำบล
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดบึงกาฬ 33 ตำบล
เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี 80 ตำบล
เครือข่ายเยาวชนคนรักษ์น้ำโขง 9 จังหวัดภาคอีสาน (จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น)
เครือข่ายกลุ่มประมงแม่น้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี)
เครือข่ายเกษตรริมโขง 7 จังหวัด ภาคอีสาน (จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี)
คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตและชุมชนลุ่มน้ำมูน จ.อุบลราชธานี
กลุ่มรักษ์เชียงคาน จ.เลย
กลุ่มรักษ์บ้านเกิดอุมุง เชียงคาน จ.เลย
กลุ่มเยาวชนหอคำ-ไคสี จ.บึงกาฬ
กลุ่มประมงพื้นบ้านหอคำ-ไคสี จ.บึงกาฬ
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบตลิ่งพัง 7 จังหวัดภาคอีสาน (จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี)
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว 7 จังหวัดภาคอีสาน (จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี)
เครือข่ายลุ่มน้ำห้วยโมง จ.หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู
กลุ่มอนุรักษ์ป่าดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภู
สภาองค์กรชุมชนตำบลดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภู
สภาองค์กรชุมชนตำบลเชียงคาน จ.เลย
สภาองค์กรชุมชนตำบลปากชม จ.เลย
สภาองค์กรชุมชนตำบลบุฮม จ.เลย
สภาองค์กรชุมชนตำบลปลาบ่า จ.เลย
ครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากสายส่งไฟฟ้าไซยะบุรี จ.เลย หนองบัวลำภู
สภาประชาชนภาคอีสาน
กลุ่มอนุรักษ์ป่าภูวัว จ.บึงกาฬ
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท