Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ที่มาภาพ: New Culture's Page

ช่วงทศวรรษให้หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 เอ็ดมันด์ เบิร์ก (Edmund Burke) นักปรัชญาชาวอังกฤษเชื้อสายไอร์แลนด์ได้ทำการตอบโต้การปฏิวัติฝรั่งเศสด้วยการเย้ยหยันต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยฝูงชนชาวปารีส โดยระบุว่า การปฏิวัติฝรั่งเศส เป็นตัวอย่างที่มนุษย์ใช้เสรีภาพมากเกินไป สิ่งนี้ไม่ใช่วัฒนาการของสังคม แต่เป็นความสับสนอลหม่านและบ้าคลั่งของฝูงชน เบิร์กได้เสนอข้อสรุปอันเป็นตรรกะสำคัญที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมหยิบยกมาใช้ทุกครั้งที่สถาปนาอำนาจได้คือ “เสรีภาพมาพร้อมกับหน้าที่” หรือประชาชนต้องมีศีลธรรมกำกับเสรีภาพเสมอ เป็นที่สังเกตว่าตรรกะของเบิร์กเป็นที่คุ้นหูในสังคมไทยอย่างมาก จนทำให้คนไทยส่วนใหญ่มีการรับรู้ว่า เสรีภาพไม่ใช่คำที่มีความหมายบวกหรือกระทั่งกลางๆ เมื่อมีการเอ่ยถึงเสรีภาพสังคมไทยมักให้ความหมาย แบบสีเทาๆ หรือค่อนไปทางลบโดยมิต้องรอคำอธิบายเพิ่มเติม  

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาการประท้วงด้วยโปสเตอร์ของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เพื่อตอบโต้นโยบายการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาซึ่งถูกวางเงื่อนไขโดยอาจารย์ผู้สอนบางวิชา หนึ่งในนั้นคือนักศึกษาที่เคยโหนรูปปั้น นายปรีดี พนมยงค์[1] ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายอนุรักษ์นิยมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า พวกเขาและเธอ กำลังมีเสรีภาพมากเกินไป หรือใช้เสรีภาพไม่เป็น แล้วจบด้วยการวิจารณ์ว่าเป็น เด็กเกรียนไม่รู้จักกาลเทศะ มาจนถึงการประท้วงผ่านโปสเตอร์ที่มีภาพแสดงการร่วมเพศในชุดนักศึกษา ด้วยถ้อยคำที่เย้ยหยันประมาณว่า “มี sex ในชุดนักศึกษามันส์กว่า?” เพื่อล้อเลียนตรรกะของผู้คุมกฎที่ให้เหตุผลและคุณอนันต์จากการใส่ชุดนักศึกษา

โปสเตอร์นี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จาก ศิษย์เก่า ศิษย์ใหม่ คณาจารย์อนุรักษ์นิยม ว่าเรื่องนี้มันมากเกินไป และทำให้ภาพพจน์มหาวิทยาลัยเสียหาย ต่างฝ่ายต่างออกมาตอบโต้กัน ฝ่ายประท้วงทำโปสเตอร์ชุดใหม่ออกมา ล้อเลียนเครื่องแบบอาจารย์ ซึ่งเรียกร้องให้อาจารย์ใส่เครื่องแบบข้าราชการสีกากีอันภาคภูมิใจมาสอนเพื่อลดปัญหาหนี้สินที่รัฐบาลต้องแบกรับภาระให้กลุ่มวิชาชีพครู ขณะที่ฝ่ายต่อต้านนักศึกษาก็ออกมาขับไล่กลุ่มประท้วงว่าหากไม่ภูมิใจในสัญลักษณ์ ธรรมศาสตร์ก็ย้ายไปเรียนที่อื่นและล่าสุด อธิการบดีก็แต่งกลอนระบายความในใจโดยสรุปว่า “เสรีภาพในธรรมศาสตร์ทุกตารางนิ้ววันนี้กลายเป็นแค่เรื่องโชว์ออฟของเด็กเกรียน” ด้วยความเห็นที่ดูแตกต่างและยากที่จะหาจุดร่วมนี้ ผู้เขียนขอสรุปฐานความคิดของคนแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน และหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทุกกลุ่มในการทำความเข้าใจฝั่งที่แตกต่าง

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยตัวแทนคน Gen-X ที่ระแวงเสรีภาพ ที่จริงเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับอายุ หรือตำแหน่ง แต่การแบ่งตามรุ่น (Geneneration)อาจทำให้แผนที่ทางอุดมการณ์ชัดเจนขึ้น หากมองในภาพกว้างในสังคมแล้ว คน Gen-X ในสังคมไทยโตมากับระบบจารีตแปลกๆ ในสมัย จอมพลสฤษดิ์ เรื่อยมาจนถึงสมัยถนอมประพาส เราถูกสอนว่าคอมมิวนิสต์ชั่วเพราะเราอยู่ข้างอเมริกา แต่ประชาธิปไตยก็ไม่เหมาะกับสังคมไทยเลยต้องเป็นเผด็จการแบบไทยๆ รู้สึกว่าความเป็นไทยมันล้าหลัง แต่ก็กลัวอำนาจจักรวรรดินิยม 14 ตุลาคม 2516 นักศึกษาเป็นฮีโร่เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ 6 ตุลาคม 2519 คืออะไรที่อธิบายไม่ได้

ความสับสนนี้นำสู่ความอิหลักอิเหรื่อของคน Gen-X คือรู้ว่า 1 น้อยไป และ 5 เยอะไป แต่ครั้นจะบอกว่าเอา 2 ,3 หรือ 4 ก็ยังงงๆ เพราะไม่สามารถสังเคราะห์ค่ากลางเชิงคุณภาพได้ สุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็จะวิ่งหานามธรรมบางอย่างเพื่อสร้างความสบายใจเช่น วุฒิภาวะ กาลเทศะ คุณธรรม จริยธรรม เพื่อกำกับเสรีภาพที่มักจะมากเกินไปเสมอเมื่อมีความเห็นหรือการกระทำใดที่ขัดจากความเชื่อที่ตนสมาทานไว้ หรือไล่ให้คนเห็นต่างไปทำหน้าที่ตามแบบที่ตนคุ้นเคยเช่น ตั้งใจเรียนหนังสือ หรือออกค่ายพัฒนาชนบท/ช่วยชาวนาปลูกข้าว แบบในยุคตน (ซึ่งไม่มีชนบทแบบที่พวกเขาหมายถึงอีกแล้วในโลกจริงปัจจุบัน) ดังที่ผู้เขียนได้บอกไว้ข้างต้นแล้วว่ามันไม่เกี่ยวกับอายุ คน Gen-X ในที่นี้ไม่จำเป็นต้องอายุ 50-60 เราอาจเห็นคนอายุ 30 ต้นๆ ที่มีความคิดแบบคน Gen-Xก็ได้หากผ่านประสบการณ์จารีตแปลกๆเป็นการส่วนตัว เช่นการผ่านระบบคิดที่สอนให้ยอมรับเรื่องต่างๆที่อาจไม่เห็นด้วยไปก่อนแล้วจะดีเอง หรือคำอธิบายที่ว่าสุดท้ายโตไปแล้วจะเข้าใจ

Gen-Y เสรีนิยมที่ยอมรับความต่าง หากแบ่งตามช่วงเวลาคน Gen-Y คือลูกคน Gen-X หรืออาจจะหลังลงมาสักสิบกว่าปีถ้าในสังคมไทยก็คือคนที่เกิดหลังปี 2520 เป็นต้นมารูปธรรมของคนกลุ่มนี้คือเบื่อนิยาย 14 ตุลาฯ ของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ยกย่องนักศึกษาเป็นเทพปกรนัมแต่พอถามเรื่องรัฐประหารซ้ำซากหลังจากนั้นก็ไม่มีใครตอบได้ และได้รับคำตอบสุดท้ายว่าไม่ว่าอย่างไร “เมืองไทยดีที่สุด”และคนหนุ่มสาวรุ่น Gen-Y ไม่ (ฉลาดหรือเสียสละ)เหมือนรุ่น Gen-X ซึ่งทั้งหมดไม่สมเหตุสมผลในสายตาคนรุ่นนี้  จารีตของคนรุ่นก่อนหน้ายังไม่ถึงกับเป็นเรื่องตลก แต่ไม่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตาม ทุกคนควรจะมีสิทธิเลือกได้ ในสายตาของคนกลุ่มนี้ ค่าของเลข 1,2,3,4,5 ไม่มีอะไรมากอะไรน้อยเกินไปตราบใดที่คนชอบ 1 ไม่บังคับให้คนชอบเลขอื่นมาชอบเลข 1. เหมือนตัวเอง นักศึกษาปัจจุบันก็มีความคิดในลักษณะนี้อยู่ไม่น้อยซึ่งเห็นว่าจะใส่หรือไม่ใส่เครื่องแบบก็ได้แต่อย่ามายุ่งกับการเลือกละกัน พวกเขาและเธอสามารถรำคาญอาจารย์หัวโบราณได้ พอๆกับการที่อาจรำคาญคุณอั้มเนโกะที่มองว่าพวกเขาและเธอยอมเป็นทาสระบบเมื่อตัดสินใจใส่เครื่องแบบ (คุณอั้ม เนโกะไม่ได้พูด แต่พวกเขาอาจจะคิดไปเองได้เสมอ)

Gen-Z โลกต้องเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า ในสายตาของคน Gen-Z กลุ่มคน Gen-Y คือพวกโลกสวยและไม่สามารถนำสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลย และคน Gen-X  คือไดโนเสาร์หลงยุค จารีตของคนรุ่น Gen-X ไม่ใช่แค่ไม่มีความจำเป็นมันกลายเป็นเรื่องตลก และเป็นภัยคุกคามต่อการเปลี่ยนแปลง ขณะที่อันดับทางวิชาการของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วงดิ่งลงทั้งในและระหว่างประเทศ อาจารย์กลับมาตั้งกฎไร้สาระเพื่อให้นักศึกษาใส่เครื่องแบบเหมือนค่ายทหาร หรือโรงเรียนอนุบาล ขณะที่คน Gen-X พยายามมองพวกเขาด้วยความเอ็นดูแกมหมั่นไส้ประมาณว่า “เดี๋ยวไอ้เด็กพวกนี้โตไปก็หายเกรียนเอง” ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจแบบผิวเผิน และละเลยข้อเท็จจริงว่า ค่านิยมหรือจารีตบางอย่างไม่จำเป็นต้องอนุรักษ์ มันสามารถสูญพันธุ์ไปได้ และไม่จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันอย่างสันติแบบที่กลุ่ม Gen-Y มอง มิเช่นนั้นโลกเราคงต้องประนีประนอมกับอะไรหลายอย่างที่มิควรมีในโลกอารยะ เช่น การค้าทาส ระบอบศักดินา เฆี่ยนโบยในศาล ลุยไฟพิสูจน์ความบริสุทธิ์ การคลุมถุงชนเด็ก 8 ขวบ รัฐประหาร ฯลฯ สำหรับคน Gen Z 1,2,3,4,5 เลขสุดท้ายย่อมดีที่สุดแล้วควรนับ 6,7,8.... ต่อไปเรื่อยๆตามพลวัตของสังคมโลก

เป็นที่น่าแปลกใจที่สังคมไทยมักสร้างคำอธิบายขึ้นมาว่า “อาจารย์ทำไม่ถูกนะแต่นักศึกษาก็แรงเกินไป” สิ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้คิดหลังจากเราตีแผ่ โลกภาพ (Globality) ของทั้งสามกลุ่มสังคมเราใช้เกณฑ์อะไรในการพิพากษาว่า “แรงเกินไป” หรือเพียงเพราะมันขัดกับจารีตคนรุ่นเราเท่านั้น ผู้เขียนมองว่ามันเป็นเรื่องตลกอย่างยิ่งหากเราจะบอกให้นักศึกษากลุ่ม Gen-Z  พยายามทำความเข้าใจแนวคิดของคน Gen-X ไม่ใช่เพราะพวกเขาต่างกันมากจนเข้าใจไม่ได้ ตรงกันข้ามพวกเขาอยู่ภายใต้จารีตนี้มาทั้งชีวิตถูกพร่ำสอนมาตลอดเรื่องจารีตของคนรุ่นก่อนหน้า การที่พวกเขาตั้งคำถามและวิจารณ์ได้ย่อมหมายความว่าพวกเขาได้สัมผัสมันจารีตอันศักดิ์สิทธิ์มาอย่างลึกซึ้ง คำถามสำคัญคือคนกลุ่มอื่นได้พยายามทำความเข้าใจโลกของคนรุนใหม่แค่ไหน ที่มากไปกว่าคำว่า “โตแล้วจะเข้าใจ”

หลายทศวรรษหลังข้อเขียนวิพากษ์วิจารณ์เสรีภาพที่มากเกินไปของประชาชนในการปฏิวัติฝรั่งเศสโดย เอดมันด์ เบิร์ก; มาร์ค ทเวน (Mark Twain) เขียนหนังสือชื่อ “ความหวาดกลัวสองประเภท” โดยระบุว่า “ผู้คนมักตรึงใจกับความรุนแรงที่ประหัตประหารด้วยคมขวาน และการฆ่าอย่างฉับพลันด้วยความเร่าร้อน แต่ความรุนแรงนี้มิอาจเทียบได้เลยกับความรุนแรงที่ประหัตประหารด้วยความเลือดเย็น ไร้หัวใจ สิ้นหวัง กดขี่ระหว่างเพื่อนมนุษย์....ความรุนแรงประเภทแรกอาจฆ่าคนได้นับพัน อาจกินเวลานับเดือนจึงจะยุติ แต่ความรุนแรงประเภทหลังมันฆ่าคนให้ตายทั้งเป็นนับร้อยล้านคน อาจกินเวลาพันปีก็ไม่อาจยุติ....สุสานทั้งปารีสอาจบรรจุโลงศพจากความรุนแรงประเภทแรก...แต่สุสานทั้งฝรั่งเศสคงไม่พอที่จะบรรจุศพจากความรุนแรงประเภทหลังได้”....เหมือนว่าผู้เขียนทำเป็นเรื่องใหญ่โตเกินเหตุที่เอาเรื่องนักศึกษาประท้วงการใส่เครื่องแบบมาโยงกับการปฏิวัติฝรั่งเศส....แต่สิ่งที่ผู้เขียนอยากชวนให้คิดต่อคือ กลุ่มคุณอั้ม เนโกะและพวกกำลังตั้งคำถามกับความรุนแรงประเภทใดที่เกาะกินสังคมไทยเรามาอย่างยาวนาน

            

           




[1] ผู้เขียนขอเรียกว่านายปรีดี พนมยงค์ซึ่งเห็นว่าครบถ้วนและสมควรแม้ส่วนตัวจะศึกษาและเห็นคุณูปการของแนวคิดของท่าน แต่เนื่องจากท่านผู้นี้ไม่เคยสอนหรือรู้จักผู้เขียนเป็นการส่วนตัว ครั้นจะเรียกครู หรือออาจารย์ก็ดูแปลกๆ เหมือที่เราไม่เรียกครู Karl Marx อาจารย์ Adam Smith และด้วยการที่ท่านผู้นี้สนับสนุนความเสมอภาคและภราดรภาพคงไม่โกรธเคืองที่ผู้เขียนไม่ได้ใส่ยศถาบรรดาศักดิ์นำหน้าชื่อให้ท่าน

 

 

 

ที่มาภาพ: New Culture's Page
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=351838954951054&set=a.300634830071467.1073741828.207705419364409&type=1&theater

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net