Skip to main content
sharethis
เอฟทีเอ ว็อทช์ ถามจุดยืนหมอประดิษฐ มุ่งมั่นปกป้องผลประโยชน์ประชาชนเช่นเดียวกับหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทยแค่ไหนจะยอมให้อียูแทรกแซงผู้เจรจาหรือไม่
 
 
20 ก.ย. 56 - นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เปิดเผยว่า ภาคประชาสังคม 28 องค์กรได้ทำหนังสือถึง นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้ยืนยันจุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขในการเจรจาเอฟทีเอเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนในสังคม
 
“ดร.โอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าคณะเจรจาฯ ยืนยันชัดเจนต่อสาธารณะว่า จะไม่รับข้อเสนอการเจรจาที่มากกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) ทั้งในเรื่องยา และทรัพยากรชีวภาพ ดังนั้น ทางกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ และเครือข่ายประชาสังคม ที่ติดตามการเจรจาเอฟทีเอ ต้องการทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนอย่างไร ทั้งในภาพรวมการเจรจาที่เกี่ยวกับยาและประเด็นที่เกี่ยวโยงกับสุขภาพทั้งหมด และได้กำหนดนโยบาย และมาตรการในการสนับสนุนการเจรจาอย่างไร ทั้งในด้านข้อมูลวิชาการ และการมอบหมายเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ไปทำหน้าที่เจรจา”
 
นอกจากนี้กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ทราบมาว่า ทางสหภาพยุโรปพยายามแทรกแซงคณะเจรจาฝ่ายไทย ด้วยการขอเปลี่ยนตัวผู้เจรจาบางคนโดยพยายามติดต่อโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
 
“เราอยากทราบว่า มีการแทรกแซงทีมเจรจาฝ่ายไทยจากสหภาพยุโรปเช่นที่ว่านี้หรือไม่อย่างไร หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น หมอประดิษฐจะมีจุดยืนอย่างไร จะยอมให้มีการแทรกแซงเช่นนี้หรือไม่ พวกเราคาดหวังกับกระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีความรับผิดชอบต่อระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลจะมีจุดยืนที่ให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย จะดำเนินการเจรจาอย่างอย่างรอบคอบเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญกับผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และยืนหยัดเจรจาที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประเทศที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม”
 
ทางด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สมาชิกกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวถึงการที่ภาคประชาสังคมไทยจะทำการรณรงค์ร่วมกับภาคประชาสังคมในประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่โดนคุกคามจากสหภาพยุโรปในลักษณะเดียวกันผ่านความตกลงการค้าเสรี เพื่อให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ซึ่งเป็นผู้พิจารณารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ให้เพิกถอนรางวัลดังกล่าวที่สหภาพยุโรปได้รับไปเมื่อ ค.ศ. 2012 นั้น
 
“เราไม่ได้ทำอะไรเกินเลยตามที่หัวหน้าคณะเจรจาฯฝ่ายอียูกล่าวหา องค์กรที่จะได้ครอบครองรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพควรประพฤติตัวให้สมเกียรติ ดังนั้น เราจะติดตามดูพฤติกรรมของสหภาพยุโรปในการเจรจาเอฟทีเออย่างใกล้ชิด และเริ่มที่จะสื่อสารกับภาคประชาสังคมในประเทศต่างๆบ้างแล้ว เมื่อไรที่เราแน่ใจว่า สหภาพยุโรปผลักดันความตกลงระหว่างประเทศที่บ่อนทำลายระบบความมั่นคงของประเทศไทยและประเทศต่างๆอย่างชัดแจ้ง จะทำให้สังคมไทยและประเทศต่างๆโดยรวมอ่อนแอลง คนยากคนจนส่วนใหญ่ยากจนขึ้น แต่คนรวยส่วนน้อยกลับจะรวยยิ่งขึ้นไปอีก เราจะร่วมกันทำหนังสือร้องเรียนถึงคณะกรรมการรางวัลโนเบลเพื่อเพิกถอนทันที หากไม่ต้องการให้เราร้องเรียน สหภาพยุโรปก็ควรเลิกเรียกร้องเนื้อหาที่ทำลายล้างเช่นนี้”
 
 
0 0 0
 
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์)
 
เรื่อง จุดยืนของกระทรวงสาธารณสุขในการเจรจาเอฟทีเอ
 
 
ตามที่หัวหน้าคณะเจรจา (ดร.โอฬาร ไชยประวัติ) ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนต่อสาธารณชนยืนยันว่า จะไม่รับข้อเสนอการเจรจาที่มากกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก (ทริปส์พลัส) ทั้งในเรื่องยา และทรัพยากรชีวภาพ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขและสุขภาพของคนในสังคม และเพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดกับเกษตรกร และความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย
 
ทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) และเครือข่ายประชาสังคม อันประกอบด้วยภาคประชาสังคม องค์กรวิชาการ องค์กรประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชน 28 องค์กรที่ติดตามการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปมาโดยตลอด ต้องการทราบว่ากระทรวงสาธารณสุขมีจุดยืนอย่างไร ทั้งในภาพรวมการเจรจาที่เกี่ยวกับยาและประเด็นที่เกี่ยวโยงกับสุขภาพทั้งหมด และได้กำหนดนโยบาย และมาตรการในการสนับสนุนการเจรจาอย่างไร ทั้งในด้านข้อมูลวิชาการ และการมอบหมายเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่ไปทำหน้าที่เจรจา 
 
นอกจากนี้กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ทราบมาว่า ทางสหภาพยุโรปพยายามแทรกแซงคณะเจรจาฝ่ายไทย ด้วยการขอเปลี่ยนตัวผู้เจรจาบางคนโดยพยายามติดต่อโดยตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่องนี้เป็นความจริงหรือไม่อย่างไร หากเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้น ท่านจะมีจุดยืนอย่างไร
 
เครือข่ายภาคประชาสังคมมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมว่า คณะเจรจาโดยการนำของ ดร.โอฬาร ไชยประวัติ ในนามของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย จะดำเนินการเจรจาอย่างอย่างรอบคอบเฉพาะอย่างยิ่งให้ความสำคัญกับผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้มีรายได้น้อย และยืนหยัดเจรจาที่จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประเทศที่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม จึงคาดหวังว่ากระทรวงสาธารณสุขซึ่งมีความรับผิดชอบต่อระบบหลักประกันสุขภาพที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลจะมีจุดยืนเช่นเดียวกันนี้อย่างมั่นคง
 
ขอแสดงความนับถือ
 
(ภญ. สำลี ใจดี)
 
กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
 
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก,
 
เครือข่ายความมั่นคงด้านอาหารคาบสมุทรสทิงพระ, เครือข่ายอิสระภาพทางพันธุกรรม
 
สภาเกษตรกร, สมัชชาคนจน, เครือข่ายสลัม ๔ ภาค, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม,
 
ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์,
 
คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค,
 
มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย, กลุ่มเพื่อนแรงงาน, เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์, เครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์,
 
เครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ กทม., เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่,
 
เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12D), โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา
 
0 0 0
 
[ร่างสำหรับส่งถึงคณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์: เพื่อเผยแพร่ในกรณีที่สหภาพยุโรปไม่หยุดการคุกคามสิทธิ เสรีภาพ ระบบประชาธิปไตย และสุขภาพของประชาชนไทย ผ่านการกดดันในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทย]
 
กันยายน 2556
 
เรียน คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์
 
เรื่อง ขออุทธรณ์ให้เพิกถอนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ค.ศ. 2012 จากสหภาพยุโรป
 
พวกเราภาคประชาสังคมไทยต้องการที่จะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ ให้เพิกถอนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอันทรงเกียรติจากสหภาพยุโรป
 
ในการประกาศมอบรางวัลเมื่อปี 2555 คณะกรรมการฯ ได้ชื่นชมสหภาพยุโรปต่อการทำหน้าที่สนับสนุนสันติภาพและการสร้างความสมานฉันท์ ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในยุโรป แม้จะได้รับการให้เกียรติอย่างสูงเช่นนั้น สหภาพยุโรปกลับกำลังดำเนินการในสิ่งที่ถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ก่อให้เกิดปัญหาสังคม และบ่อนทำลายระบบประธิปไตยในประเทศไทย
 
ถึงแม้มีการคัดค้านจากภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อคนยากคนจนอย่างต่อเนื่อง ตัวแทนสหภาพยุโรปยังเดินหน้าเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทย โดยกดดันให้รัฐบาลไทยยอมรับความผูกพันทางกฎหมายซึ่งจะส่งผลขัดขวางการเข้าถึงยาราคาถูกของประชาชนไทยส่วนใหญ่ และขัดขวางการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์และพันธุกรรมพืชและสัตว์ของเกษตรกรไทยที่ยากจน ในทางกลับกัน ความตกลงเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปกลับส่งเสริมการบริโภคแอลกอฮอล์ในกลุ่มนักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชน
 
พฤติกรรมไม่เหมาะสมของสหภาพยุโรปที่ไปกดดันประเทศกำลังพัฒนา เช่นประเทศไทย ให้ยอมรับเงื่อนไขและข้อเรียกร้องต่างๆ ในการเจรจาความตกลงการค้าเสรีนั้น ขัดกันอย่างยิ่งกับความคาดหวังสูงส่งของคณะกรรมการผู้ให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เพราะที่สหภาพยุโรปต้องการข้อผูกพันด้านทรัพย์สินทางปัญญามากไปกว่าที่ผูกพันในองค์การการค้าโลกนั้น ตีความได้ประการเดียวว่าสหภาพยุโรปถือเอาผลประโยชน์ของบรรษัทข้ามชาติสัญชาติยุโรปมาก่อนสวัสดิภาพของประชาชน
 
การผูกขาดข้อมูลยา (data exclusivity) และมาตรการชายแดน (border measures) จะทำร้ายอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศไทย ในขณะที่การกดดันให้ประเทศไทยต้องให้สัตยาบันในสนธิสัญญา UPOV 1991 และ สนธิสัญญาบูดาเปส จะทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์ที่มีการจดสิทธิบัตรราคาสูงอย่างต่อเนื่องและเกษตรกรผู้ยากจนไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากนี้ การคุ้มครองการลงทุนจะทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถฟ้องร้องรัฐบาล ในแง่นโยบายของรัฐซึ่งขัดกับผลประโยชน์ของนักลงทุน แม้นโยบายเหล่านั้นจะเป็นนโยบายที่ดีต่อสิทธิ สุขภาพประชาชน และสิ่งแวดล้อมก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น การขัดขวางกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสวัสดิภาพของประชาชน
 
กล่าวโดยสรุป การผลักดันความตกลงระหว่างประเทศเช่นนี้บ่อนทำลายระบบความมั่นคงของประเทศไทยอย่างชัดแจ้ง จะทำให้สังคมไทยโดยรวมอ่อนแอลง คนยากคนจนส่วนใหญ่ยากจนขึ้น แต่คนรวยส่วนน้อยกลับจะรวยยิ่งขึ้นไปอีก
 
ในสถานการณ์ที่ประชาชนในโลกที่สามถูกคุกคามว่าทรัพยากรอันมีค่ากำลังจะถูกแย่งชิงไป ประเทศประชาธิปไตยที่มีเกียรติใดๆ ควรเลือกหนทางที่ดีที่สุดสำหรับผลประโยชน์ของประชาชน เพราะทราบดีว่าการผลักประชาชนให้สิ้นไร้ไม้ตรอกจะนำไปสู่อนาธิปไตยและความไม่สงบได้
 
เกียรติภูมิและความน่าเชื่อถือของคณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์นั้น มาจากการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงควรตระหนักและตอบสนองต่อพฤติกรรมไม่เหมาะสมของผู้ที่ท่านมอบรางวัลให้ ในการณ์นี้ สหภาพยุโรปกำลังจะก่ออาชญากรรมทางสังคมต่อประชาชนไทยโดยการกดดันให้รัฐบาลไทยยอมรับข้อเรียกร้องในการเจรจาและไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านของประชาชนที่ต้องทนทุกข์กับผลของข้อตกลงดังกล่าว
 
ด้วยเหตุนี้ พวกเราภาคประชาสังคมไทยขออุทธรณ์ต่อท่าน คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งนอร์เวย์ ให้เพิกถอนรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ค.ศ. 2012 จากสหภาพยุโรป สืบบเนื่องจากพฤติกรรมไร้ซึ่งมนุษยธรรมและสวนทางกับสันติภาพ การสร้างความสมานฉันท์ การส่งเสริมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน
 
ขอแสดงความนับถือ
 
กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
 
เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายองค์กรงดเหล้า, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก,
 
เครือข่ายความมั่นคงด้านอาหารคาบสมุทรสทิงพระ, เครือข่ายอิสระภาพทางพันธุกรรม
 
สภาเกษตรกร, สมัชชาคนจน, เครือข่ายสลัม ๔ ภาค, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม,
 
ชมรมเพื่อนโรคไต, เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์,
 
คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์, มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค,
 
มูลนิธิเภสัชชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิบูรณะนิเวศ, มูลนิธิสุขภาพไทย, กลุ่มเพื่อนแรงงาน, เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์, เครือข่ายชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากแอลกอฮอล์,
 
เครือข่ายชุมชนเฝ้าระวังภัยแอลกอฮอล์ กทม., เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่,
 
เครือข่ายคนทำงานด้านการลดอันตรายจากการใช้สารเสพติด (12D), โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net