"การแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน": ก้าวข้ามผ่านหรือผลิตซ้ำอคติเดิมๆ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

ในขณะที่ประเทศไทยของเราอ้างตัวเองเสมอว่าเป็นประเทศที่ให้อิสระกับคนรักเพศเดียวกันถึงขนาดตั้งเป็นสโลแกนสวยหรู “go thai. be free.” เพื่อดึงดูดด้านนักท่องเที่ยวจากต่างชาติโดยเฉพาะคนรักเพศเดียวกัน  แต่ในขณะเดียวกันการผลักดันสิทธิการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันกลับเกิดขึ้นช้ากว่าประเทศอื่นๆที่ผิวเผินดูเหมือนว่าจะปิดกั้นกว่าประเทศเราเสียอีก  อันที่จริงเราอาจพูดไม่ได้เสียด้วยซ้ำว่าเรามีความตั้งใจที่จะผลักดันให้นโยบายนี้เกิดขึ้นจริงๆ แต่เป็นเพราะประเทศหัวก้าวหน้าเขาไฟเขียวเรื่องนี้กันไปแล้ว และประเทศไทยที่อ้างตัวเองว่ามีความพิเศษเหนือประเทศอื่นๆหรือเป็นผู้นำในเรื่องความหลากหลายทางเพศจะไม่พูดหรือผลักดันเรื่องนี้ได้อย่างไร? นี่เองที่เป็นสาเหตุที่ว่าทำไมเราจึงต้องพูดเรื่องนี้ ตอนนี้ แต่ก็กระนั้นก็เถอะ..."มาแล้วยังดีกว่ามาช้า มาช้ายังดีกว่าไม่มา"

สาเหตุที่การผลักดันนโยบายเรื่องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันในประเทศไทยเกิดขึ้นล่าช้ากว่าที่อื่นอาจเป็นเพราะการตระหนักรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพของคนไทยยังมีน้อยและล้าหลัง  เราจึงมองไม่เห็นความสำคัญที่จะเรียกร้องความเท่าเทียมในเรื่องเพศ รวมถึงสภาพการมีอยู่ของคนรักเพศเดียวกันในสังคมไทยก็ไม่ได้ตกต่ำหรือถูกกดขี่ถึงขั้นเดือดร้อนและต้องออกมาเรียกร้องอะไร  หรือถ้าจะออกมาเรียกร้องก็เป็นเพียงการขอโอกาสจากสังคมโดยยอมรับว่าตัวเองเป็นผู้ป่วยหรือคนผิดปกติอะไรก็แล้วแต่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เผยให้เห็นว่าแม้กระทั่งคนรักเพศเดียวกันเองก็ยังยอมรับสถานะคนชายขอบของสังคม อีกทั้งสังคมก็เลี้ยงดูคนรักเพศเดียวกันราวกับเป็นทาสที่ิอยู่ดีกินดีจนหลงลืมไปว่าตัวเองยังอยู่ในสถานะของทาสหรือผู้ด้อยกว่า  แล้วจะมาถามหาอะไรกับคำว่าเสรีภาพและความเท่าเทียม?   หรือเรามีความสุขและพึงพอใจกับอภิสิทธิ์บนความผิดปกติ?

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจัยในการผลักดันนโยบายนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นจากความต้องการของเราโดยตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการส่งเสริมนโนบายนี้น่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางปัญญาต่อสังคมไทยไม่มากก็น้อย  แน่นอนว่าความคิดเห็นและข้อถกเถียงต่างๆเกี่ยวกับเรื่องเพศจะเกิดขึ้นมากมาย  ประชาชนจะหันมาสนใจและทำความเข้าใจกับเรื่องเพศมากขึ้น องค์ความรู้เรื่องเพศจากทั้งในและต่างประเทศจะถูกหยิบยกมาอ้างอิงเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่จุดยืนขอฝ่ายต่างๆที่ออกมาเสนอความคิดเห็น  ข้อถกเถียงทั้งหลายจะมาปะทะสังสันทน์กันเพื่อนำไปสู่บทสรุปว่าสุดท้ายสังคมไทยจะออกใบทะเบียนสมรสที่ถูกต้องตามกฏหมายให้แก่คนรักเพศเดียวกันหรือไม่?  ความรู้เรื่องเพศจะกระจายออกจากพื้นที่ของวงการวิชาแคบๆไปสู่พื้นที่สาธารณะและอาจเป็นประตูที่จะนำพาคนไทยออกนอกกะลาเพื่อรับรู้ว่าต่างประเทศเขาถกเถียงเรื่องนี้กันมานานแค่ไหนแล้วและเขาว่าอย่างไรกันบ้าง  และยิ่งการส่งเสริมนโยบายนี้กระตุ้นให้คนในสังคมออกความคิดเห็นมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งจะเห็นความคิดและวิวาทะของคนในสังคมที่มีต่อเรื่องเพศมากเท่านั้น     วิวาทะว่าด้วยการเหยียดเพศต่างๆจะปรากฏตัวขึ้นและอาจล้มล้างมายาคติที่เราสร้างไว้แสนสวยว่าเราเป็นผู้มีเมตตาแก่เพศที่หลากหลาย เราอาจจะต้องทบทวนตัวเองใหม่อีกครั้งว่าแท้จริงแล้วเราก็ไม่ได้ต่างจากชาติอื่นและไม่ได้เป็นผู้นำเรื่องเสรีภาพทางเพศจริงๆหรอก เพราะคนไทยก็เหยียดเพศอยู่บ่อยๆหากแต่แค่วิธีการแตกต่างออกไปจากที่อื่นก็เท่านั้น แม้กระทั่งสถาบันสื่อที่มีหน้าที่เป็นหนึ่งในกระบวนการขัดเกลาทางสังคมก็ยังผลิตสาร(message)ที่แฝงด้วยการเหยียดเพศอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในละคร  อันที่จริงควรเปลี่ยนหน้าที่จากคำว่าขัดเกลาเป็นมอมเมาน่าจะตอบโจทย์มากกว่า

ในมิติทางการเมือง การถกเถียงเรื่องเพศอาจเป็นหนึ่งในหลายประเด็นที่ผลักดันการเมืองไทยให้ไปไกลกว่าภาพการเมืองแบบเดิมๆที่มีตัวเลือกเพียงสองขั้วคือเหลืองและแดงซึ่งมีตัวละครหลักอยู่ไม่กี่ตัว  หรืออาจเปลี่ยนความเชื่อและทัศนคติที่มีต่อฝ่ายเดิมที่ตัวเองเชื่อถือ  เพราะการถกเถียงถึงนโยบายนี้จะถามประชาชนถึงทัศนคติที่มีต่อเพศ ความรัก สภาวะความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่าง รวมถึงนิยามของคำว่าเสรีภาพและความเท่าเทียมกันอีกด้วย  ผู้เขียนบทความเองก็ไม่ได้มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นว่าเหตุการณ์จะไปเป็นที่คาดหวังไว้เพราะต้องไม่ลืมว่าวิถีการผลักดันนโยบายนี้อาจแตกต่างจากที่อื่นไปโดยสิ้นเชิงเมื่อเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยที่ล่อเลี้ยงความไร้ตรรกะและยึดติดกับอคติทางเพศที่บ่มเพาะโดยคำสอนของศาสนาและคำอธิบายทางการแพทย์ซึ่งเราหลงเชื่อแบบไม่ลืมหูลืมตา

การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิการแต่งงานหรืออาจรวมถึงสิทธิการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมจะต้องไม่เป็นเพียงแค่การเรียกร้องหาโอกาสและการยอมรับของสังคมซึ่งอาจนำไปสู่จุดจบที่ล้มเหลวและผลิตซ้ำความคิดที่ว่าสังคมให้โอกาสคนรักเพศเดียวกัน และยิ่งเป็นการเป็นการตอกย้ำคนรักเพศเดียวกันในฐานะคนผิดปกติ(ถึงแม้จะมีสิทธิแต่งงานเหมือนชายหญิงแล้วก็ยังผิดปกติ!) แต่การเรียกร้องครั้งนี้ควรดำเนินควบคู่ไปกับการต่อสู้เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติที่เต็มไปด้วยอคติทางเพศของคนในสังคม   และทวงสิทธิที่จะขึ้นมายืนอยู่บนเส้นบรรทัดเดียวกับเพศกระแสหลักอย่างเท่าเทียมกันและมีศักดิ์ศรีในฐานะคนปกติที่ไม่ได้ผูกติดรสนิยมทางเพศของตนไว้กับอุดมคติของสังคม

เราจะยืนอยู่ในสังคมอย่างเท่าเทียมเหมือนคนปกติหรือจะมีความสุขกับความพิเศษที่มาพร้อมกับฐานะคนชายขอบทางเพศและรอให้เขาทั้งหลายผู้มีจิตใจเมตตาคอยป้อน "โอกาส" เข้าปากเราแล้วเดินผ่านไปในขณะที่เราเองก็ได้เพียงแต่นั่งรอคอยโอกาสครั้งใหม่อยู่ที่เดิมตรงนั้น จะลุกไปเดินอย่างใครเขาก็ทำไม่ได้... ถึงเวลาที่แล้วไหมที่เราจะต้องลุกขึ้นเดิน?

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท