Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์แอดมินเพจ ‘ใน มธ.ตะวันออก’ - ‘ใน มธ.ตะวันตก’ สถานการณ์การล้อเลียนความแตกแยกที่ยังผลก่อเกิดการประกาศหน่วยปกครองและองค์กรในเฟซบุ๊กกว่า 100 เพจกับประเด็น ‘อั้ม เนโกะ’ ชุดนักศึกษา และเสรีภาพ ก่อนเผชิญภาวะการสอบ

ภาพแผนที่แสดงสถานการณ์ “ใน มธ.”เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา โดย ไฟเขียวประเทศไทย

หลังจากเมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา  นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลุ่มหนึ่ง นำโปสเตอร์ 4 แบบ ที่แสดงท่าทางเหมือน ”ชาย-หญิง” และ “ชาย-ชาย” กำลังร่วมเพศในเครื่องแบบนักศึกษา แปะตามบอร์ดต่างๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต  เป็นการรณรงค์คัดค้านการบังคับสวมชุดนักศึกษา ซึ่งหนึ่งในผู้ที่อยู่ในภาพนั้นคือ "อั้ม เนโกะ" ภายหลังจากนั้นได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในมหาวิทยาลัยและนอกมาวิทยาลัย ตามหน้าสื่อ และโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่าง “เฟซบุ๊ก” จำนวนมาก

ภาพ โปสเตอร์ 4 แบบ

ช่วงค่ำของวันที่ 10 ก.ย.56 เกิดแฟนเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ใน มธ ตะวันออก” และกลางดึกของวันเดียวกันจึงเกิดเพจ “ใน มธ ตะวันตก” ขึ้นมา ซึ่งทั้ง 2 เพจมียอด like เฉียดหมื่นขณะนี้ และภายหลังจากการเกิดขึ้นของ 2 เพจนี้ นำไปสู่การเกิดเพจในลักษณะการล้อเลียน (parody) ออกมาจำนวนมาก ทั้งภายในธรรมศาสตร์และตามมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ และจากการเก็บรวบรวมของเพจ “หน่วยข่าวกรองกลางแห่งธรรมศาสตร์ - CIBT “ ซึ่งเป็นเพจล้อเลียนที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เช่นกันพบว่า เมื่อวันที่ 13 ก.ย.56 เวลา 17.00 มีเพจที่เกิดประมาณ 100 เพจ โดยแบ่งเป็น กลุ่มการเมืองภายในย่านธรรมศาสตร์ รัฐและเขตการปกครอง 18 เขต (นับรวมรัฐในปกครอง) ได้แก่ จักรวรรดิธรรมศาสตร์, ใน มธ ตะวันแดง, ใน มธ. ตะวันตก, Russ รัฐอิสระใน มธ.ตะวันตก, รัฐ(ศาสตร์)อิสระแห่งสมาพันธรัฐธรรมศาสตร์, ใน มธ. เหนือ ลำปาง + In North TU และในชนกลุ่มน้อย มธ ริมแม่น้ำ เป็นต้น

เขตปกครองพิเศษ พื้นที่ทับซ้อน และอื่นๆ บริเวณ มธ. 5 พื้นที่ เช่น เขตการปกครองตนเองเชียงราก, เขตบริหารพิเศษ GOLFVIEW และเขตปกครองพิเศษ PPE เป็นต้น องค์กร หน่วยงานอื่นๆ ของธรรมศาสตร์ 12 องค์กร เช่น  NGV มธ. หน่วยคมนาคมและสืบราชการลับ, กระทรวงรวมชาติแห่งธรรมศาสตร์, กระทรวงสุขศาสตร์แห่ง มธ ตะวันออก ขอเชิญแต่งชุดนักศึกษาเข้ารับบริการคะ และ กองพันทหารราบที่ 112 รักษา มธ. เป็นต้น กลุ่มการเคลื่อนไหวในธรรมศาสตร์ 4 กลุ่ม เช่น กองกำลังปลดแอกกู้ธรรมศาสตร์ (เดิม : กู้ธรรมศาสตร์), แนวร่วมนักศึกษาต่อต้านการแบ่งแยกดินแดนแห่งมธ., บุปผาชนแห่งทุ่งรังสิต และ สนับสนุน สศจ. เป็นอธิการบดีใน มธ ตะวันตก เป็นต้น รวมทั้งยังมี กลุ่มอำนาจการเมืองภายในธรรมศาสตร์ 6 กลุ่ม เช่น นายพลถั่วแดง แห่งสาธารณรัฐสังเคราะห์, พรรคคอมมิวนิสต์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พ่อปรีดี พนมยงค์ และรัฐบาลพลัดถิ่น เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีนอกรั้วธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย  40 รัฐ(เพจ) เช่น 7 นครรัฐแห่งเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง, เครือจักรภพบูรพา, จักรวรรดิ มศว อันศักดิ์สิทธิ์ : The Holy SWU Empire, ในสหภาพสามย่าน และ สาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งทุ่งบางเขน เป็นต้น ดินแดนอื่นๆ 2 ดินแดน ประกอบด้วย เขตบริหารพิเศษรังสิตภิรมย์ และ ศูนย์บัญชาการ อากาศยาน ดอนเมือง กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในและนอกภูมิภาค 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ประชาคมเศรษฐกิจธรรมศาสตร์ – TEC, ประชาคมเศรษฐกิจศรีนครินทรวิโรฒและจักรวรรดิเพชรอโศก และ ประชาคมเศรษฐกิจสามย่าน

องค์กรภายนอกอื่นๆ 5 องค์กร เช่น University Nations และ องค์การสนธิสัญญาป้องกันรัฐอิสระ : CISTO เป็นต้น รวมไปถึง ศาสนา 2 ศาสนา คือ ศาสนาท่านเทพมังกร และศาสนา Neko Wall

ภาพบางส่วนของแฟนเพจที่เกิดขึ้น

จากเฟซบุ๊กแฟนเพจที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ต่อทั้งประเด็นเรื่องการรณรงค์คัดค้านการบังคับสวมชุดนักศึกษา เสรีภาพ และความแตกแยก ความสามัคคีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนกระแสเริ่มลดลงเนื่องจากหลายมหาวิทยาลัยเข้าสู่ภาวะการสอบกันในช่วงนี้ โดยจะเห็นได้ชัดว่าเพจใน มธ. ตะวันออก หยุดการโพสต์ไปตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่เพจใน มธ.ตะวันตกยังมีการโพสต์อยู่บ้าง อย่างไรก็ตามประชาไทได้มีโอกาสสัมภาษณ์ความคิดมุมมอง ต่อประเด็นเหล่านี้กับแอดมินเฟซบุ๊กแฟนเพจ “ใน มธ ตะวันออก” กับ “ใน มธ ตะวันตก” ซึ่งทั้งหมดเป็นนักศึกษาอยู่ใน มธ. จึงอยากเชิญผู้อ่านเข้าไปทำความรู้จักความคิดมุมมองของแอดมินเพจเหล่านี้

000000

 

“ทีนี้พอมีคนเอาเครื่องแบบมาเป็นของคน การที่มีคนออกมาบอกว่าไม่เอา เราไม่ชอบการบังคับแบบนี้ มันก็แสดงให้เห็นอีกมุมหนึ่งของสังคมว่า สิ่งดีๆ ของใครหลายคน อาจไม่ใช่สิ่งดีๆ ของใครอีกหลายคนก็ได้ เราไม่ควรที่จะนำความดีที่มันไม่ใช่ศีลธรรมพื้นฐานของสังคมไปวัดความดีหรือยัดเยียดความดีแบบนี้ให้คนอื่น” ใน มธ. ตะวันตก กล่าว

 

ประชาไท : อยากให้เล่าคร่าวๆ ว่าทั้ง 2 เพจนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

ใน มธ ตะวันออก : แรกเริ่มเดิมทีนั้นพวกเราก็รู้สึกกันอยู่ว่า ธรรมศาสตร์แม้จะเป็นมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่ในความเป็นธรรมศาสตร์หนึ่งเดียวกลับมีอารยธรรมที่แตกต่างซ่อนอยู่ คณะสายสังคมส่วนใหญ่จะให้คุณค่ากับสิทธิเสรีภาพ ในขณะที่คณะสายวิทยาศาสตร์หรือแม้แต่สายสังคมบางคณะให้ความสำคัญกับความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสามัคคี ระบบอาวุโส ระบบโซตัส การร้องเพลงเชียร์ แต่กลับมีความเข้าใจในเรื่องสิทธิเสรีภาพอันเป็นความรู้พื้นฐานน้อยมาก ความแตกต่างของสองความคิดนี้ทำให้เกิดการปะทะกันทางความคิดบ่อยๆจนกระทั่งเกิดกระแสดราม่าเรื่องชุดนักศึกษาครั้งล่าสุด การปะทะกันทางความคิดนี้ก็ปะทุขึ้นจนเป็นไอเดียเรื่องเพจ “ใน มธ ตะวันออก”

ใน มธ.ตะวันตก : ก็ตอนแรก มีคนทำเพจ “ใน มธ. ตะวันออก” ผมก็เขาไปดูว่ามันเป็นยังไง แต่เกิดความรู้สึกว่า มันยังไม่ครบ ไม่สมบูรณ์ เพราะชูธงเรื่องเครื่องแบบอย่างเดียว ผมก็เลยอยากนำเสนอในมุมของเสรีภาพตามกฎหมายดูบ้าง ก็เลยมาทำเพจ เพราะทำในเฟซบุ๊กตัวเองเดี๋ยวพวกเพื่อนจะรำคาญ  คอนเซปต์ก็ลอกมาจากประวัติศาสตร์เยอรมันแหละครับ

ผมคิดว่า แบบนี้มันเป็นการจำลองสังคมนะ สมมุติว่าเครื่องแบบเนี่ยเป็นเรื่องที่หลายๆคนคิดว่ามันดี ต้องใส่ เทียบกับเรื่องดีๆของคนในสังคมอีกหลายอย่างทีพยายามมีการนำเสนอกันมาก ทีนี้พอมีคนเอาเครื่องแบบมาเป็นของคน การที่มีคนออกมาบอกว่าไม่เอา เราไม่ชอบการบังคับแบบนี้ มันก็แสดงให้เห็นอีกมุมหนึ่งของสังคมว่า สิ่งดีๆของใครหลายคน อาจไม่ใช่สิ่งดีๆของใครอีกหลายคนก็ได้ เราไม่ควรที่จะนำความดีที่มันไม่ใช่ศีลธรรมพื้นฐานของสังคมไปวัดความดีหรือยัดเยียดความดีแบบนี้ให้คนอื่น

 

“พยายามจะทำเลียนแบบคนที่คิดเชื่อแบบนั้นจริงๆ นำสิ่งที่เขาประพฤติปฏิบัติมาแสดงออก โดยคาดหวังให้เกิดการตั้งคำถามและขบคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ มันสมเหตุสมผลหรือไม่” ใน มธ.ตะวันออก กล่าว

อุดมการณ์พื้นฐานของเพจคืออะไร?

ใน มธ ตะวันออก : ต้องการทำ parody(ล้อเลียน) อุดมการณ์ ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม ของชาว มธ. ตะวันออก หรือ คณะสายวิทยาศาสตร์และสายสังคมบางคณะ โดยพยายามจะทำเลียนแบบคนที่คิดเชื่อแบบนั้นจริงๆ นำสิ่งที่เขาประพฤติปฏิบัติมาแสดงออก โดยคาดหวังให้เกิดการตั้งคำถามและขบคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ มันสมเหตุสมผลหรือไม่ หลายๆครั้ง เราต้องไปนั่งอ่านข้อโต้แย้งถกเถียงของฝั่งเขาอยู่นานมากๆเพื่อที่จะซึมซับและเรียนรู้ว่าเขาคิดเขาเชื่ออย่างไร บางทีต้องไปถามเพื่อนๆคณะสายวิทย์ฯ ว่าช่วงนี้ทำกิจกรรมอะไรกันบ้าง คิดเห็นเรื่องนี้อย่างไร เป็นต้น เพื่อจะได้นำมาเขียนมุขได้ลึกซึ้งและฮาด้วยในเวลาเดียวกัน ซึ่งก็ยอมรับว่ายากมากๆเหมือนกัน

ใน มธ.ตะวันตก : เรายึดอุดมการณ์เสรีนิยมครับ ผมเห็นปรากฏการณ์เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของเยาวชนชาวไทยจำนวนมาก หลายๆต่อหลายครั้ง แต่ผมมักจะเห็นผู้ใหญ่หรือผู้ที่ไม่เห็นด้วยมีความเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่กฎหมายไทยเรารับรองอยู่ แล้วก็ชอบหาว่าเราไปอ้างต่างประเทศบ้างอะไรบ้าง ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเรื่องไม่จำเป็น สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเรามีความเหมาะสมอยู่ในระดับที่สามารถอ้างได้ครับ ก็เลยต้องการจะเผยแพร่ความรู้เรื่องสิทธิ และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญให้คนอื่นๆได้รู้ และยอมรับ

 

คิดอย่างไรกับเพจในทิศตรงข้ามกับตัวเอง และเพจอื่นๆที่ออกมาจำนวนมากทั้งใน มธ.เอง รวมทั้งใน มหาวิทยาลัยอื่นๆทั่วประเทศ ที่มีเพจในเชิงล้อเลียนเกิดขึ้นมาจำนวนมาก?

ใน มธ ตะวันออก : ตอนแรกก็คิดไว้แล้วว่าจะมีคนทำเพจ “ใน มธ ตะวันตก” ขึ้นมาเป็นคู่ตรงข้ามกับของเราแน่ๆ แต่คิดไม่ถึงว่าจะมีคนทำเพจอื่นๆมาอีกเกือบร้อยเพจ ค่อนข้างตกใจเหมือนกัน แต่ก็คิดว่าเพจเหล่านั้นเป็นตัวช่วยส่งเสริมกระแสเพจ “ใน มธ ตะวันออก” มากยิ่งขึ้น บางเพจค่อนข้างมีสาระและน่าสนใจ เหมือนเป็นพื้นที่ให้นำเสนอความไม่พอใจต่อสถาบันของเขาในแบบที่เสียดสีเหมือนกัน

ใน มธ.ตะวันตก : “ใน มธ ตะวันออก” เป็นเพจแรกที่ทำออกมาในลักษณะนี้ ผมตั้งหลังพวกเขา มาล้อกับพวกเขา ผมมองแวบเดียวผมก็รู้แล้วว่าเป็นเพจ parody(ล้อเลียน) เราพยายามสร้างสรรค์เอาความตลกแทรกสาระเข้าไปบ้าง ถ้าเครียดไปมันก็ไม่ฮา ถ้าฮาไปมันก็ไม่มีสาระ ส่วนเพจอื่นๆที่ตั้งตามมา ตอนนี้สูญสลายหายไปเกือบหมดแล้วครับเป็นแค่กระแสหนะครับ ผมคิดอย่างนั้น  เสียดายเรื่องนี้เกิดตอนใกล้สอบแล้ว ไม่งั้นคงจะเห็นอะไรๆมากกว่านี้

 

"จริงๆแล้วเขาเรียกร้องให้เลิกจำกัดเสรีภาพในร่างกายของเขาที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ต่างหาก เขาไม่ได้เรียกร้องเพื่อความสวยหล่อ หรือไม่รู้หน้าที่ ผมก็เห็นคนที่เขาเรียกร้องก็ไปเข้าเรียนอยู่นะ จะว่าเขาไม่รู้หน้าที่ได้อย่างไร" ใน มธ.ตะวันตก

มองประเด็นเรื่องความขัดแย้งกรณีชุดนักศึกษาใน มธ.ว่าอย่างไร?

ใน มธ ตะวันออก : มองว่ามันไม่น่าจะเป็นปัญหาขึ้นมาด้วยซ้ำ มันตลกที่เราได้ข้อสรุปกันตั้งนานแล้วว่า “ใครอยากใส่อะไรก็ใส่” แต่ดันมีคนที่ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น แล้วเอาความคิดความเชื่อค่านิยมของตัวเองมาบังคับให้คนอื่นทำแบบตัวเอง บางคนเป็นถึงคณบดีหรือผู้บริหารระดับสูง แต่กลับละเมิดระเบียบข้อบังคับมหาวิทยาลัยที่ให้เสรีภาพกับนักศึกษาในการแต่งกายโดยการ “บังคับ” ให้ใส่ชุดนักศึกษา ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นมาจนเป็นดราม่าดังที่ปรากฎ

ใน มธ.ตะวันตก : ปัญหาคือเรามองกันคนละประเด็นคนละจุด คนที่เรียกร้องเขาบอกว่าเลิกจำกัดเสรีภาพของเรา อีกฝ่ายหนึ่งก็บอกว่าทำแบบนี้ อยากสวย อยากหล่อ รู้จักแต่สิทธิแต่ไม่รู้หน้าที่ ฯลฯ ซึ่ง จริงๆแล้วเขาเรียกร้องให้เลิกจำกัดเสรีภาพในร่างกายของเขาที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ต่างหาก เขาไม่ได้เรียกร้องเพื่อความสวยหล่อ หรือไม่รู้หน้าที่ ผมก็เห็นคนที่เขาเรียกร้องก็ไปเข้าเรียนอยู่นะ จะว่าเขาไม่รู้หน้าที่ได้อย่างไร ถ้าจะเถียงจะแย้งกันก็ต้องแย้งในประเด็นเดียวกัน เป็นประเด็นว่า การบังคับใส่ชุดนักศึกษาเป็นการจำกัดเสรีภาพเกินควรหรือไม่ ไม่ใช่ไปบอกเขาว่า ฉันใส่แล้วไม่เห็นจะตายเลย ซึ่งมันเป็นการมองที่แคบ เอาตัวเองเป็นที่ตั้งแล้วไปตัดสินคนอื่น แทนที่จะให้คนอื่นสามารถตัดสินใจเลือกได้ว่าจะใส่อะไร ผมว่ามันตลกมากที่ ตอนนี้ปี 2012 แล้วเรายังมานั่งเถียงกันว่าจะใส่หรือไม่ใส่ชุดนักศึกษาดี ในขณะที่วัยรุ่นของต่างประเทศเขาเถียงกันเรื่องนโยบายรัฐบาล การเก็บภาษี ฯ เรื่องระดับชาติกันแล้ว ผมว่าเรื่องชุดนักศึกษานี้น่าจะปล่อยให้เป็นเสรีภาพสมบูรณ์ได้แล้ว  ถ้าใครแต่งตัวไม่ถูกกาลเทศะ สังคมก็จะจัดการเขาเอง อย่าห่วงเลยครับ

ภาพล้อเลียนในเพจ ใน มธ.ตะวันตก

"คนที่ภูมิใจกับการใส่ชุดนักศึกษาอันแสดงสถานะพิเศษในสังคม แน่นอนว่าคุณมีสิทธิที่จะภูมิใจ แต่ความภูมิใจเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่จะยัดเยียดให้ทุกคนแสดงความภูมิใจแบบเดียวกับคุณ" ใน มธ. ตะวันออก

คิดอย่างไรต่อกรณีที่มีการพูดในเชิงว่า “หากไม่เห็นด้วยกับการแต่งชุดนักศึกษาก็ออกไปเรียนที่อื่น” ?

ใน มธ ตะวันออก : ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า พวกเราต่อต้าน ”การบังคับ” ไม่ใช่ต่อต้านชุดนักศึกษา คนที่เที่ยวไล่คนที่เห็นต่างออกจากที่นู่นที่นี่ มันแสดงให้เห็นถึงความอับเฉาทางปัญญาที่ไม่สามารถถกเถียงด้วยเหตุผลได้ บางคนที่อยากไล่คนที่ไม่ใส่ชุดนักศึกษา ไม่ทราบว่าได้ศึกษากฎของมหาวิทยาลัยบ้างหรือเปล่า มหาวิทยาลัยมีกฎระเบียบที่ให้เสรีภาพแก่นักศึกษาในการแต่งกาย ไม่จำเป็นต้องใส่ชุดนักศึกษา เราไม่ได้ละเมิดกฎระเบียบข้อบังคับ แต่เป็นอาจารย์บางวิชาที่ละเมิดทั้งระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัย และ สิทธิเสรีภาพที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พยายามเชิดชูมาโดยตลอด อีกประการหนึ่งคือคนที่ภูมิใจกับการใส่ชุดนักศึกษาอันแสดงสถานะพิเศษในสังคม แน่นอนว่าคุณมีสิทธิที่จะภูมิใจ แต่ความภูมิใจเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่สิ่งที่จะยัดเยียดให้ทุกคนแสดงความภูมิใจแบบเดียวกับคุณ

ใน มธ.ตะวันตก : เป็นการกล่าวที่ไร้ซึ่งข้อมูลอย่างสิ้นเชิง เพราะระเบียบมหาวิทยาลัยไม่บังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาแต่มีบางวิชาไปกำหนดเอาเองว่าต้องใส่มาเรียน  ถ้าเขารู้จักอ่านกฎมหาวิทยาลัย เขาจะไม่พูดแบบนี้ การกล่าวแบบนี้เป็นการหนีปัญหา ไม่กล้าเผชิญหน้ากับการถกเถียง ไล่อย่างเดียว พอไล่ออกไป แน่ใจไหมว่าจะไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นมาอีก

 

“บางทีสังคมมักเรียกร้องให้เราทำนู่นนี่ ในแบบที่พวกเขาคาดหวัง แต่เรื่องเล็กๆที่สังคมมักเรียกร้องให้เราปล่อยผ่านไป เรากลับยังแก้ไม่ได้ ทั้งๆที่ความอยุติธรรมมันปรากฎอยู่บนเนื้อตัวร่างกายเราตลอดเวลา” ใน มธ.ตะวันออก

มีคนพยายามเอาเรื่องการรณรงค์ยกเลิกการบังคับสวมชุดนักศึกษาที่อั้มทำ ไปเทียบกับกรณีนักศึกษา ม.ขอนแก่นและ ม.มหาสารคาม ออกไปขอให้เจ้าหน้าที่เปิดทางให้ชาวบ้านได้เข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น กรณีเหมืองทองที่เลย โดยบอกว่าอั้มนั้นเรียกร้องเพื่อตนเอง ในขณะที่ นักศึกษาที่เลยนั้นเป็นการต่อสู้เพื่อประชาชน มองการเปรียบเทียบนี้ว่าอย่างไร?

ใน มธ ตะวันออก : อยากให้ทุกคนคิดว่านักศึกษาแต่ละคนมีความสนใจ ความถนัด และอยู่ในพื้นที่ที่แตกต่างกัน เราคิดว่านักศึกษาแต่ละกลุ่มที่ขับเคลื่อนเรียกร้องประเด็นต่างกันก็มีความเข้าใจเรื่องนี้กันดี เราก็เคารพเขาว่าเป็นคนหนึ่งที่พยายามขับเคลื่อนสังคม ต่อสู้ในประเด็นที่เขาสนใจ เขาเองก็คงเคารพเราในฐานะเดียวกัน ในระหว่างกลุ่มนักศึกษาต่างๆก็มีการพูดคุยกัน นำเสนอการต่อสู้ของตน แนวคิด วิธีการ อุดมการณ์ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เพื่อความเข้าใจกัน และบางครั้งก็เพื่อแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือกันในด้านต่างๆด้วย เราจึงคิดว่า กับนักศึกษาด้วยกันเองเขาคงเข้าใจ แต่กับบุคคลทั่วไปหลายๆคนเนี่ยเขาไม่ค่อยเข้าใจเรื่องนี้มากนัก  นอกจากเรื่องความสนใจที่แตกต่างกันแล้ว  เราคิดว่าสังคมไทยส่วนใหญ่ ยังไม่เข้าใจและเคารพสิทธิเสรีภาพกันจริงๆ เรื่องชุดที่สวมใส่นี่เป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลล้วนๆ แต่เรื่องง่ายๆแค่นี้ยังตกลงกันไม่ได้ บางทีสังคมมักเรียกร้องให้เราทำนู่นนี่ ในแบบที่พวกเขาคาดหวัง แต่เรื่องเล็กๆที่สังคมมักเรียกร้องให้เราปล่อยผ่านไป เรากลับยังแก้ไม่ได้ ทั้งๆที่ความอยุติธรรมมันปรากฎอยู่บนเนื้อตัวร่างกายเราตลอดเวลา เราคิดว่าการที่เราออกมาต่อต้าน การ "บังคับ" แต่งชุดนักศึกษา มันไม่ได้มีคุณค่าอะไรที่น้อยกว่าหรือมากกว่าใคร แต่มหาวิทยาลัยที่เชิดชูเรื่องเสรีภาพแต่กลับปล่อยให้มีการละเมิดมานาน ควรจะหันมาทบทวนความอยุติธรรมภายใน เลิกพยายามสร้างภาพว่าเป็น มหาวิทยาลัย ที่มีเสรีภาพอย่างล้นเหลือ แต่ข้างในนั้นเน่าเฟะ เสียที

ใน มธ.ตะวันตก : เช่นนั้นทำไมไม่เอาเรื่อง นศ. ม.ขอนแก่นไปเทียบกับเรื่องซีเรียบ้าง ว่าทำไมไม่ไปรณรงค์หยุดการฆ่ากันในซีเรีย  การรณรงค์ หรือการเรียกร้องแบบนี้มันเป็นการเมืองเรื่องพื้นที่ครับ ผมอยู่รังสิต ผมจะรู้เรื่องเหมืองทองที่ขอนแก่นไหม? ข้อมูลต่างๆนาๆผมจะรู้ไหม ไม่มีทางครับ เพราะเป็นเรื่องคนในพื้นที่ที่ติดตามกันเอง การรณรงค์ทุกที่มันมีระดับความสำคัญไม่เท่ากันหมดทั้งนั้นแหละครับ แล้วก็เป็นเรื่องคนพื้นที่ปกป้องตัวเอง ผมก็ไม่เคยรู้จนมาเป็นข่าวนี่แหละ ผมถามหน่อยคนที่มาว่าๆนักศึกษา มธ. เนี่ย รู้ไหมว่า นักศึกษา มธ. ทำกิจกรรมเพื่อสังคมอะไรบ้าง มีกี่คนที่รู้ มันก็เหมือนกับที่เราไม่รู้เรื่องเหมืองทองนั่นแหละ เพราะข่าวมันไม่ลง มันไม่เล่น อีกอย่าง ผมมองว่า ที่ มธ. นักศึกษายังปกป้องตัวเองไม่ได้เลย แค่เรื่องเสรีภาพในการแต่งกาย แล้วจะไปปกป้องใครเขาได้

ภาพล้อเลียนในเพจ ใน มธ.ตะวันตก

“ปัจจุบัน มันเป็นเสรีภาพ ทุกตารางนิ้ว ยกเว้นไม่กี่ตารางนิ้วบนตัวนักศึกษาอาจจะเรียกว่าเป็น "เสรีภาพครึ่งใบ" ก็น่าจะได้ แต่ที่แน่ๆใน มธ. เรามีกลไกบางอย่างที่ทำให้การแสดงความเห็นต่าง ไม่ทำให้เกิดการล่าแม่มดอันทำให้คนที่คิดต่างอยู่ไม่ได้ นักศึกษาธรรมศาสตร์ยังสามารถเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆได้โดยไม่กลัวว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับตน” ใน มธ.ตะวันออก

“ผมว่าเลิกอ้างได้แล้วว่าธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ปัญหาเรื่องเสรีภาพเนี่ยเกิดเพราะเราไม่เคารพรัฐธรรมนูญกันเอง ลองอ่านหมวดเสรีภาพของชนชาวไทยสิ เราได้รับการคุ้มครองครบไหม ผมเห็นว่าไม่ครบ เพราะเราไม่เคารพ และเราไม่เชื่อว่ามันมีอยู่” ใน มธ.ตะวันตก

มีคำกล่าวว่า "ใน มธ.มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว" นั้น คิดอย่างไรกับคำกล่าวนี้?

ใน มธ ตะวันออก : ไม่รู้ว่าจะเรียกสิ่งที่เป็นอยู่ว่าเสรีภาพดีหรือไม่ เพราะสำหรับเรา เสรีภาพนั้นต้องเสรีจริงๆ หมายถึงไม่ได้เสรีถึงขั้นคุกคามใคร แต่ปัจจุบัน มันเป็นเสรีภาพ ทุกตารางนิ้ว ยกเว้นไม่กี่ตารางนิ้วบนตัวนักศึกษา”อาจจะเรียกว่าเป็น "เสรีภาพครึ่งใบ" ก็น่าจะได้ แต่ที่แน่ๆใน มธ. เรามีกลไกบางอย่างที่ทำให้การแสดงความเห็นต่าง ไม่ทำให้เกิดการล่าแม่มดอันทำให้คนที่คิดต่างอยู่ไม่ได้ นักศึกษาธรรมศาสตร์ยังสามารถเคลื่อนไหวประเด็นต่างๆได้โดยไม่กลัวว่าจะเกิดอันตรายขึ้นกับตน และด้วยกลไกตรงนี้ ไม่ว่าคุณจะเห็นอย่างไร คุณก็ยังมีสิทธิพูดอยู่เสมอ แม้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอยากอุดปากคุณแค่ไหนก็ตาม

ใน มธ.ตะวันตก : ผมว่ามันเป็นคำกล่าวที่ยกมาอ้างอวยตัวเองมากกว่าว่าที่นี่ดีกว่าที่อื่นอย่างไร คำกล่าวนี้เป็นการกล่าวในบริบทของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นครับไม่ใช่เสรีภาพในด้านอื่นๆ เสรีภาพเนี่ยที่ไหนๆก็มีครับ รามก็มี เกษตรก็มี จุฬาก็มี เพราะเราอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน  ผมว่าเลิกอ้างได้แล้วว่าธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ปัญหาเรื่องเสรีภาพเนี่ยเกิดเพราะเราไม่เคารพรัฐธรรมนูญกันเอง ลองอ่านหมวดเสรีภาพของชนชาวไทยสิ เราได้รับการคุ้มครองครบไหม ผมเห็นว่าไม่ครบ เพราะเราไม่เคารพ และเราไม่เชื่อว่ามันมีอยู่ กฎหมายเมื่อไม่มีคนต่อสู้ให้มันอยู่ มันก็เหมือนไม่ได้บังคับใช้ ทั่วประเทศมีเสรีภาพเท่ากัน แต่คนมีอำนาจไม่เคารพรัฐธรรมนูญ แล้วเราเองก็ไม่รู้ว่าสิทธิเสรีภาพเรามีเพียงใด เพราะวัฒนธรรมอำนาจนิยมมันฝังลึกมาก ทำให้เราไม่รู้จักปกป้องตัวเอง

 

“จริงๆส่วนตัวอยากให้ก้าวข้ามพ้นปรีดีได้แล้ว” ใน มธ.ตะวันออก

ปรีดีเคยกล่าวว่า "มหาวิทยาลัยเปรียบประดุจบ่อน้ำที่บำบัดความกระหายของประชาชน" นั้น ทุกวันนี้ มธ. ที่เป็นอยู่สามารถบำบัดความกระหายในความรู้ของประชาชนได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะความเป็น มหาวิทยาลัยปิด ที่ต่างจากแรกเริ่มมี่เป็นมหาวิทยาลัยเปิด เป็นตลาดวิชา นั้น มองว่าตอบสนองต่อหลักการการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยนี้หรือไม่?

ใน มธ ตะวันออก : จริงๆส่วนตัวอยากให้ก้าวข้ามพ้นปรีดีได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องยกโควตนี้มาตลอดก็ได้ ประโยคนี้ invalid มานานแล้ว จริงๆ มธ. เราไม่ได้เป็นบ่อน้ำบำบัดความกระหาย เพราะเราไม่ใช่มหาวิทยาลัยเปิดที่ให้การศึกษาในราคาถูก คนทุกชนชั้นสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงมาตั้งนานแล้ว ส่วนที่เรายังสามารถทำได้ก็คือ เราก็พยายามใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาในทางที่เกิดประโยชน์สูงสุดให้แก่สังคมเท่านั้นเอง

ใน มธ.ตะวันตก : ความเป็นมหาวิทยาลัยปิด ส่งผลต่อการศึกษาของประชาชนแน่ๆครับ  เพราะจำกัดจำนวนคนเข้า แต่ยังมีโครงการขยายโอกาสให้นักศึกษาจากชนบทเข้ามาเรียนด้วย ผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนนี้มันรับใช้วัตถุประสงค์นี้ได้ไม่ค่อยเต็มที่ครับ เรื่องเป็นบ่อน้ำบำบัดความกระหายของประชาชนเนี่ย เพราะปีหนึ่งๆรับคนเข้าไม่มาก และก็กำหนดคุณสมบัติ ไม่ใช่ใครอยากเรียนก็เรียนได้เหมือนมหาวิทยาลัยเปิด ทำให้ประชาชนไม่ได้รู้เรื่องที่ควรรู้ครับ

 

ภาพล้อเลียนการโหวตอธิการบดี จากเพจ ใน มธ ตะวันตก

เมื่อไม่กี่วันนี้มีการเปิดให้ นักศึกษาเสนอชื่อผู้เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งอธิการบดี มองปรากฏการณ์ที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ติดโผมาด้วยว่าอย่างไร เป็นความหวังของ "ใน มธ.ตะวันตก" และ “ใน มธ.ตะวันออก” หรือไม่ ?

ใน มธ ตะวันออก : เป็นความหวังลมๆแล้งๆ และดูเหมือนเป็นการเสนอชื่อเล่นๆมากกว่า เพราะว่าทุกคนก็รู้ดีกันอยู่ว่าไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะอาจารย์ทั้งสองท่านนั้นก็ไม่ใช่คนที่ทำงานในสายบริหารเป็นหลัก และด้วยวิธีการคัดเลือกอธิการ ก็ไม่เอื้อให้ทั้ง 2ท่านขึ้นมาเป็นอธิการบดีแน่ๆอยู่แล้ว เพราะคนที่เลือก คือ สภามหาวิทยาลัย เมื่ออธิการมาจากสภามหาวิทยาลัย เขาก็รับผิดชอบต่อสภามหาวิทยาลัย ไม่ใช่ต่อนักศึกษา นักศึกษาแทบไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยจากเรื่องนี้

ใน มธ.ตะวันตก : เรียกว่าอย่าหวังเลยครับ เพราะอำนาจเลือกมันอยู่ที่สภามหาวิทยาลัยเห็นชื่อสองคนนี้เขาปัดทิ้งตั้งแต่แรกแล้ว อีกอย่างการเสนอชื่อมีถึงสามฝ่าย คือ นักศึกษา อาจารย์ พนังงานมหาวิทยาลัย นักศึกษาก็แค่ 1/3 เท่านั้น จะไปทำอะไรได้ อีกอย่างสองคนนี้ไม่น่าถนัดงานบริหารเท่าไหร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรระวังอย่างมากที่จะเอาคนที่เป็นนักวิชาการจัดๆไปเป็นผู้บริหาร

 

สำหรับใน มธ.ตะวันออก และตะวันตก มีใครเป็นอธิการในดวงใจ และมีนโยบายอะไรที่อยากให้อธิการดำเนินการบ้าง?

ใน มธ ตะวันออก : คนที่อยากให้เป็นเขาคงไม่ได้เป็นอธิการหรอก เพราะคนที่เราสนับสนุน สภามหาลัยเขาก็คงไม่เอาด้วย ถ้าศึกษาโครงสร้างและพวกข้อบังคับต่างๆจะเห็นเลยว่าภายในธรรมศาสตร์มันเป็นระบบเกาหลังกัน แต่งตั้งกันเองมั่วไปหมด ระบบอุปถัมภ์มันฝังรากลึกมาก ถ้าอยากแก้ไขอะไรพวกนี้ให้หมดไป มันยังต้องใช้เวลาอีกนาน ต้องค่อยๆแก้ ถ้าใจร้อนรีบทำ นอกจากไม่เกิดผลอะไรดีแล้ว อาจเกิดผลเสียเสียมากกว่า

ส่วนเรื่องนโยบาย อยากให้อธิการมีนโยบายที่พบปะกับนักศึกษาให้มาก ทำงานร่วมกับนักศึกษาให้มากๆ ไม่ต้องเห็นตรงกันก็ได้

ใน มธ.ตะวันตก : อธิการจะเป็นใครก็ได้ครับที่ไม่ใช่ถนอมหรือสฤษดิ์ (หัวเราะ)แค่ฟังเสียงนักศึกษา ตอบสนองเร็ว แก้ปัญหาเร็ว ผมก็เห็นใจอธิการ มธ อยู่นะครับที่ไม่ค่อยมีอำนาจอะไรเลย สั่งใครก็ไม่ค่อยได้ เล่นสายหลวงปู่สร้างอย่างเดียว สร้างนู่นสร้างนี่ (หัวเราะ)

ภาพล้อเลียนเรื่องความสามัคคีจากเพจ ใน มธ.ตะวันตก

“การถกเถียงกันเป็นเรื่องธรรมดามาก การปรองดองนั้นต้องปรองดองในลักษณะของการเปิดใจยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่างและเคารพความคิด สิทธิเสรีภาพส่วนตัวของคนอื่น ไม่ใช่การปรองดองที่บอกว่าให้ “หุบปาก” และ “ทำตามคำสั่ง” ใน มธ. ตะวันออก

ในสังคมวงกว้าง มีการพยายามรณรงค์ปรองดอง เพื่อที่จะหลุดออกจากความขัดแย้งในสังคม แต่ในขณะที่ใน มธ. นั้น กลับมีความขัดแย้ง ทางแอดมินมอง "ความขัดแย้ง" ว่าอย่างไร และจำเป็นต้องทำให้ความขัดแย้งมันหายไปไหม และการปรองดองเป็นทางออกหรือไม่ เพราะว่าตอนนี้ประเด็นชุดนักศึกษาก็ดูเหมือนว่าจะทำให้ "ใน มธ." ขัดแย้งกัน?

ใน มธ ตะวันออก : ธรรมศาสตร์มีดราม่ากันทุกเดือน เดือนไหนไม่มีแสดงว่าคงเกิดความผิดปกติในมหาลัยแห่งนี้แล้วละ เราอยู่ในสังคมประชาธิปไตย ความแตกต่างทางความคิดบนพื้นฐานของการเคารพสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปกติ ในสังคมเสรีประชาธิปไตยเองนั้นก็เชื่อว่าความแตกต่างทางความคิดสามารถนำพาเราไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ จากการเห็นต่าง การโต้แย้งด้วยเหตุผล และการตั้งคำถามต่อสิ่งเดิมๆว่าดีแล้วหรือไม่ สมควรหรือไม่ ถูกต้องหรือไม่ มีอะไรที่ดีกว่านี้หรือไม่ดังนั้นการถกเถียงกันเป็นเรื่องธรรมดามาก การปรองดองนั้นต้องปรองดองในลักษณะของการเปิดใจยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่างและเคารพความคิด สิทธิเสรีภาพส่วนตัวของคนอื่น ไม่ใช่การปรองดองที่บอกว่าให้ “หุบปาก” และ “ทำตามคำสั่ง”

ใน มธ.ตะวันตก : สังคมประชาธิปไตยความขัดแย้งเป็นของธรรมดาครับ มันมีอยู่ทุกที่ทุกเวลา ไม่มีทางหายไปไหนครับ แต่ที่สำคัญ เราต้องหาข้อสรุปครับ ที่ทุกฝ่ายยอมรับ ไม่ใช่ให้ใครไปบังคับใครหรือไล่ใครออกจากมหาวิทยาลัย ประเด็นชุด นศ ไม่ได้ทำให้นักศึกษาขัดแย้งกันนะครับ แค่เพื่อนกด unfriend ผมไปคนหนึ่ง (หัวเราะ) นี่แหละครับ ตัวอย่างของความไม่เข้าใจ ว่า การอยู่ร่วมกันในสังคมต้องมีความอดทนต่อการแสดงความคิดเห็นของผู้อื่น เราต้องคุยกันภายใต้กรอบและกฎเกณฑ์ที่เรามีครับ เรามีกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญ เรามีระเบียบมหาวิทยาลัย ทำไมเราไม่เคยเอามันมานั่งคุยกันให้มันรู้เรื่องกันไปคราวเดียวเลยว่าตรงไหนมันไม่ชอบไม่ถูกอย่างไร แล้วก็ยังปล่อยให้คนมานั่งเถียงกันโดยที่ไม่มีการแก้ไขอะไรเพราะเรื่องมันไปถึงที่ที่ควรถึง การมีความขัดแย้งที่ถกกันด้วยเหตุผลนั้นเป็นของดีครับถ้าเรารู้จักวิธีการที่จะถกเถียงกันเป็นการพัฒนาสมองให้มีทักษะในการคิด วิเคราะห์ประเด็นปัญหาที่อยู่ตรงหน้าเราและข้อโต้แย้งของอีกฝ่าย สนุกดีออกครับ การถกเถียงไม่ใช่ของน่ากลัวเลยครับ ถ้าเราแพ้เราก็ภูมิใจว่าเราแพ้ด้วยเหตุผล เราไม่ได้แพ้ด้วยกำลัง หรือคำด่าทอ ถ้าเราชนะเราก็ภูมิใจว่าเราชนะด้วยเหตุผล ไม่ใช่กำลัง ไม่ใช่การด่าทอ แบบนี้จะทำให้ข้อขัดแย้งมีความน่าศึกษามากขึ้น บ้านเรามีเรื่องให้ถกเถียงกันอีกเยอะครับ แค่ต้องอาศัยความอดทนฟังกันหน่อย การจัดการกับความขัดแย้งที่ดีที่สุด เห็นว่าน่าจะเป็นการหาข้อสรุปที่ยอมรับได้ทั้งสองฝ่าย

“ผมก็สงสัยว่า สังคมไทยกลัวอะไรหนักหนากับการที่นักศึกษาจะไม่ใส่ชุดนักศึกษา” ใน มธ.ตะวันตก

สำหรับปรากฏการณ์เพจล้อเลียนในลักษณะนี้ก่อนหน้านี้ก็มีเพจอย่าง “ประเทศกรุงเทพ” ซึ่งตั้งเมื่อต้น ม.ค. ปี่นี้ ปัจจุบันมียอดไลค์เกือบ 4 หมื่น เป็นเพจที่ล้อเลียนชนชั้นกลางในกรุงเทพและล้อมุมมองความคิดตามแบบอุดมการณ์หลักของชาติ และเพจ “ในโซเวียตรัสเซีย” ที่ตั้งขึ้นประมาณ พ.ค.54 ล้อเลียนวัฒนธรรมแบบเผด็จการ โดยสมติว่ามีดินแดนแห่งหนึ่ง และแฟนเพจก็โพสต์เรื่องราวสมติว่าในโซเวียตรัสเซียนั้นมีอะไรบ้าง

ทั้งนี้ หากจะกล่าวถึงจุดเริ่มต้นที่เป็นหมุดหมายสำคัญของวัฒนธรรมเฟซบุกแฟนเพจในลักษณะล้อเลียนผ่านบุคคลหรือสถานที่รวมไปถึงสิ่งของ ก็มีเพจอย่าง “เคนชิโร่” ที่มีวลีสั้นๆเพียง “เจ้าตายแล้ว” นั้น ตั้งขึ้นประมาณต้น มี.ค.54 นำมาสู่เพจในลักษณะการล้อเลียนบุคลิค คำพูด แนวคิด ท่าทาง ของบุคคล รวมไปถึงสถานที่ที่ทุกคนรู้จักและสามารถแชร์ความเห็นร่วมกันได้หลังจากนั้นจำนวนมาก  เช่น เพจ “ศาสดา” ที่แต่เดิมชื่อ "ธเนศ เขตยานนาวา" ล้อเลียนบุคลิคและความคิดของ "ธเนศ วงศ์ยานนาวา" นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญาการเมือง, ทฤษฎีสังคม, อาหาร, เพศ และ ประวัติศาสตร์สังคม จากนั้น เปลี่ยนชื่อเพจจากธเนศ เขตยานนาวามาเป็น ศาสดา เนื่องจากแอดมินเพจเกรงว่าธเนศตัวจริงจะเสียหาย เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net