Skip to main content
sharethis

ครม.อนุมัติพนักงาน-ลูกจ้างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพ

ร.ท.หญิงสุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเสนอครม. คณะที่ 2 ฝ่ายสังคมและกฎหมายในวาระการประชุมครั้งที่ 6/2556  ตามที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมเสนอ ดังนี้

1.อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้พนักงานและลูกจ้างขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 พ.ศ.... ตามที่นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นผู้เสนอ

เพื่อขอให้ส่งต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองและความเห็นชอบของส่วนราชการ ที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณา แล้วให้ดำเนินการต่อไป  2.มอบให้กระทรวงมหาดไทยและสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.)รับประเด็นอภิปรายและความเห็นชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไป พิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

(โพสต์ทูเดย์, 17-9-2556)

“จาตุรนต์" สั่งสะสางปัญหาปรับเงินเดือนอัตราจ้างครู-ลูกจ้างชั่วคราว

ก.ศึกษาธิการ 17 ก.ย. - รมว.ศธ.เร่งดำเนินการช่วยเหลือปรับเงินเดือนครูอัตราจ้างและลูกจ้างชั่วคราว ยืนยันแม้ใกล้ปิดงบ แต่ต้องได้เงินตกเบิกงบประมาณปี 2556 พร้อมเตรียมหารือผู้เกี่ยวข้องสะสางปัญหาเช่นเดียวกันนี้ในองค์หลักอื่นๆ

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีม็อบจากสมาพันธ์เจ้าหน้าที่ธุรการโรงเรียนแห่งประเทศไทยและ สมาคมสมาพันธ์บุคลากรทางการศึกษา มาชุมนุมกว่า 1,000 คน บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการในวันนี้ เพื่อเรียกร้องขอปรับเงินเดือนครูอัตราจ้างและลูกจ้างชั่วคราวของสำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กว่า 65,000 อัตรา เป็น 15,000 บาท และขั้นต่ำ 9,000 บาท ตามนโยบายของรัฐบาล ว่า กระทรวงศึกษาธิการ เตรียมหารือเพื่อรองรับงบประมาณตกเบิกรวมกว่า 2,853 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณของปี 2556 และใกล้สิ้นปีงบประมาณแล้ว แต่ สพฐ. ยังไม่สามารถจ่ายให้ครูอัตราจ้างและลูกจ้างชั่วคราวได้  เนื่องจากเดิมจ้างด้วยงบดำเนินการ ยืนยันลูกจ้างชั่วคราวจะได้รับเงินจำนวนนี้แน่นอน  แต่ตอนนี้ต้องรอมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เนื่องจากเคยยื่นเรื่องไป 2-3 ครั้ง และยังติดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรอง ซึ่งมีนายกิติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี  เป็นประธาน เบื้องต้นพูดคุยกับแกนนำกับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นที่พอใจแล้ว และจะให้เรื่องแล้วเสร็จภายในต้นเดือนตุลาคมนี้

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ปัญหาเช่นนี้ยังคงมีอีกมากในหลายหน่วยงาน วันพฤหัสนี้ (19 ก.ย.) เตรียมเชิญตัวแทนจากองค์กรหลักมาหารือเร่งดำเนินการปัญหาที่คั่งค้าง ทั้งการบริหารงานบุคคลและงบประมาณ บางเรื่องพบว่าติดปัญหานานถึง 2 ปี ดังนั้น หลังจากส่งเรื่องต่อเลขาธิการ ครม.แล้วต้องติดตามผล โดยตั้งแต่ปลายเดือนถึงต้นเดือนตุลาคมนี้ จะเร่งสะสางให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

(สำนักข่าวไทย, 17-9-2556)

กรณีปัญหาแรงงานไทยเก็บผลเบอร์รี่ที่สวีเดน

ตามที่มีรายงานว่าคนงานไทยที่เดินทางไปรับจ้างเก็บผลเบอร์รี่ที่สวีเดนประสบปัญหา กระทรวงฯ ได้ตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และขอเรียนดังนี้

๑. เมื่อวันที่ ๑๐ ก.ย. ๒๕๕๖ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ได้รับแจ้งจากคนไทยในเมือง Ume ทางตอนเหนือของสวีเดน ว่า คนงานไทยที่รับจ้างเก็บผลเบอร์รี่ประมาณ ๑๐๐-๑๔๐ คน ได้ร้องเรียนบริษัทนายจ้าง คือ เอ็มฟีนิกซ์เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด ต่อสหภาพแรงงานสวีเดนที่เมืองดังกล่าว เกี่ยวกับการไม่จ่ายค่าจ้างเก็บเบอร์รี่ และค่าเบอร์รี่ต่อกิโลกรัมที่บริษัทจ่ายให้ต่ำกว่าที่อื่น และได้ปักหลักชุมนุมประท้วงอยู่ที่บริเวณลานจอดรถของสหภาพแรงงานฯ

๒. สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานงานกับบริษัท เอ็มฟีนิกซ์เอ็นเตอร์ไพร์ส  ลูกจ้าง และสหภาพแรงงานสวีเดน เพื่อหาข้อสรุป โดยได้เจรจากันเมื่อวันที่ ๑๓ ก.ย. และสถานเอกอัครราชทูตฯ ได้นำประเด็นปัญหาที่คนงานไทยต้องการร้องเรียน พร้อมทั้งหนังสือสัญญาจ้างงานซึ่งผ่านกรมการจัดหางาน ส่งให้สำนักบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน ทราบด้วยแล้ว

๓. นอกจากนั้น สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้ประสานงานโดยตรงกับกรมการจัดหางานเพื่อให้พิจารณาจัดส่งเจ้าหน้าที่เดิน ทางไปช่วยเจรจาแก้ไขข้อพิพาท ซึ่งล่าสุดกรมการจัดหางานแจ้งว่า จะส่งคณะผู้แทนเดินทางไปสวีเดนเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยกรณีดังกล่าว โดยมีกำหนดออกเดินทางในวันที่ ๑๙ ก.ย.

(กระทรวงการต่างประเทศ, 18-9-2556)

แรงงานไทยในสวีเดนประท้วงนายจ้าง เหตุจ่ายค่าจ้างไม่ครบตามสัญญา

เมื่อวันที่ 18 กันยายน ที่กระทรวงแรงงาน นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีเหตุการณ์แรงงานไทยก่อเหตุประท้วงนายจ้างที่ประเทศ สวีเดนว่า ทางสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ (สรต.) ได้รายงานให้ทราบว่ามีแรงงานไทยจำนวน 80-90 คนจากจำนวนแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานทั้งหมด 500 คน ก่อเหตุประท้วงนายจ้างอยู่ที่เมืองอูเมีย ทางตอนเหนือของประเทศสวีเดน เนื่องจากคนงานไม่พอใจที่บริษัทจัดส่งไปทำงานจ่ายค่าจ้างไม่ครบตามสัญญา โดยมีการหักเงินค่าหัวเพื่อเป็นเงินประกัน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวประท้วงมา 4-5 วันแล้ว ทั้งนี้ ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นมีคนงานบางคนใช้วิธีการผูกคอประท้วงด้วย แต่โชคดีที่เพื่อนคนงานช่วยได้ทัน อย่างไรก็ตาม ได้มอบหมายให้ สรต.โทรศัพท์ไปพูดคุยกับบริษัทดังกล่าวให้จ่ายเงินค่าจ้างคืนกับคนงานไทยให้ หมด เนื่องจากไม่ต้องการให้เรื่องยืดเยื้อออกไป เพราะจะส่งต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยได้

นายประวิทย์กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาแรงงานไทยเดินทางไปทำงานที่ประเทศสวีเดนเป็นจำนวนมาก เฉพาะปี 2556 มีจำนวนแรงงานไปทำงานกว่า 6,000 คน เนื่องจากช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปีเป็นฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้ป่า เช่น ลูกเบอรี่ รัฐบาลสวีเดนจึงได้ให้สัมปทานเอกชนว่าจ้างแรงงานต่างชาติเข้าไปเก็บผลไม้ ทั้งนี้ ได้รายงานเรื่องนี้ให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงานทราบแล้ว เนื่องจากเป็นนโยบายสำคัญที่ไม่ต้องการให้แรงงานไทยถูกหลอกไปทำงานต่าง ประเทศ นอกจากนี้จะส่งนายสิงหเดช ชูอำนาจ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน เดินทางไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่สวีเดนด้วย เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวได้ข้อยุติโดยเร็ว

(มติชนออนไลน์, 18-9-2556)

ก.แรงงานให้ความช่วยเหลือคนไทย ที่ไปเก็บผลไม้ที่สวีเดน-ฟินแลนด์

กรณีแรงงานไทยจำนวน 146 คน ประท้วงและร้องเรียนต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสต็อกโฮมส์ และสหภาพแรงงานของประเทศสวีเดน ว่า ได้สมัครใจไปเก็บผลไม้ป่าบลูเบอรี่กับบริษัทเอ็ม ฟินิกส์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 401/9 ตำบลช่องสามหมอ อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ เป็นผู้พาไปทำงาน  โดยคนงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าบลูเบอรี่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นทั้ง เงินสดและสินเชื่อเงินกู้จากธนาคารรายละประมาณ 100,000 บาท แต่เมื่อเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าแล้วยังไม่ได้รับเงินค่าจ้างจากบริษัทเข้า บัญชีของคนงานตามที่ตกลงกันไว้ แต่ส่วนหนึ่งได้รับทราบหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีแต่ไม่ได้รับทราบราย ละเอียดการลงบัญชีรับซื้อผลไม้และค่าใช้จ่ายที่หักแต่อย่างใด จึงได้เข้าไปประท้วงและร้องเรียนต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงสต็อกโฮมส์ และสหภาพแรงงานของประเทศสวีเดนตามที่เป็นข่าว นั้น

ความคืบหน้า กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้ติดต่อนางศรีรัตน์ พันธุ์สุวรรณ ผู้จัดการบริษัทเอ็ม ฟินิกส์ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด สรุปได้ว่า ขณะนี้มีคนงานที่ยังไม่ได้ข้อยุติในปัญหาจำนวน 96 คน โดยยังพักอยู่ที่เมืองอู๋เหมียว ขณะที่ทางบริษัทได้นำหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชีไปแสดงให้คนงานทราบแล้ว ทั้งนี้ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้นายสิงหเดช ชูอำนาจ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน เป็นหัวหน้าคณะเดินทางไปให้ความช่วยเหลือคนงานและประสานการช่วยเหลือกับทุก ภาคส่วน ทั้งนี้กระทรวงแรงงานจะได้เสนอความคืบหน้าให้ทราบต่อไป
   
ขณะที่ บริษัทกรีนเอเชีย ซัพพลาย จำกัด ได้รับอนุญาตให้พาคนไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนจำนวน 276 คน และบริษัทพี แอนด์ เอส บิซิเนส จำกัด ได้รับอนุญาตให้พาคนหางานไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดน จำนวน 880 คน แจ้งว่า เมื่อคนหางานเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าที่สวีเดนแล้ว ประสบปัญหาไม่มีบริษัทรับซื้อผลไม้และรับซื้อในราคาต่ำ เนื่องจากบริษัทรับซื้อมีปัญหาขาดทุนหมุนเวียน ต้องหยุดรับซื้อผลไม้เพราะผลไม้ล้นสต็อก เป็นเหตุให้คนหางานของบริษัทกรีนเอเชีย ซัพพลาย จำกัด ได้เริ่มทยอยกลับตั้งแต่วันที่ 15 – 18 กันยายน 2556 ส่วนบริษัทพี แอนด์ เอส บิซิเนส จำกัด แจ้งว่าในช่วงนี้จะติดต่อหาคนตลาดรับซื้อผลไม้รายใหม่ หากหาไม่ได้จะลดค่าใช้จ่าย ค่าอาหาร ค่าที่พัก ประมาณวันละ 60 โคลน/วัน และถ้ามีรายได้ไม่ถึงขั้นต่ำบริษัทจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ทั้งหมด
    
นอกจากนี้ได้มีญาติคนหางานร้องเรียนกรณีนายอภิชัย นาคสุข ได้เป็นผู้ติดต่อให้ญาติของตนชื่อนายวสันต์ ให้เดินทางไปเก็บผลไม้ที่ประเทศฟินแลนด์ ต้องการเดินทางกลับประเทศไทยเนื่องจากบริษัทรับซื้อย้ายแคมป์ไปอยู่แถบชาย แดนประเทศรัสเซีย ซึ่งไม่มีผลไม้ป่าให้เก็บ และมีการพลัดหลงข้ามแดนไปประเทศอื่นจนถูกจับกุม เป็นเหตุให้ตำรวจประเทศฟินแลนด์เพิกถอนวีซ่า
   
ส่วนนายอภิชัย นาคสุข ผู้พาคนหางานเดินทางไป แจ้งกับกรมการจัดหางานว่า กรณีคนหางานชื่อนายวสันต์ที่ตนพาไปเก็บผลไม้ ได้มีการขอย้ายแคมป์เพราะสภาพแคมป์คับแคบไม่สะดวก ตลอดจนผลไม้ที่เก็บมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อความต้องการเก็บของคนงานจึงเป็น เหตุให้ขอย้ายแคมป์
   
ปัญหาที่พบที่ประเทศฟินแลนด์ คือ คนหางานต้องการให้บริษัทที่รับซื้อผลไม้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับรายได้จาก การเก็บผลไม้รายจ่ายในแต่ละวันให้เกิดความชัดเจน และประสงค์จะส่งเงินชำระหนี้กับธนาคารเองไม่ต้องการให้นายหน้าหักเงินชำระ หนี้ธนาคารให้แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการกำหนดสถานที่เจรจาระหว่างคนหางานกับบริษัท ซึ่งคนหางานต้องการให้บริษัทเข้าไปเจรจาในสถานที่ที่ NGO จัดไว้ แต่ทางบริษัทเกรงจะไม่ปลอดภัยหากเข้าไปเจรจาในสถานที่ดังกล่าว ขณะที่ทนายความของบริษัทพยายามเจรจากับทนายความของคนหางาน แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปแม้นายอภิชัยได้ติดต่อเลื่อนตั๋วเครื่องบินโดยสารให้คน หางานเดินทางกลับแต่คนหางานยังไม่ประสงค์เดินทางกลับประเทศไทยในขณะนี้เพราะ การเจรจากับบริษัทที่รับซื้อผลไม้ยังไม่ได้ข้อยุติ

(มติชนออนไลน์, 18-9-2556)

สหภาพแรงงาน"ไทยเรยอน"นัดหยุดงาน ประท้วงนายจ้างลด"โบนัส"

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่กระทรวงแรงงาน นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวถึงกรณีที่สหภาพแรงงานไทยเรยอน บริษัทไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเส้นใยสังเคราะห์จากน้ำมัน มีพนักงานประมาณ 1,000 คน และใช้สิทธินัดหยุดงานประมาณ 800 คน ว่า ผู้บริหารบริษัทไทยเรยอนและสหภาพแรงงานมีกำหนดยื่นข้อเรียกร้องต่อกัน 3 ปีครั้ง โดยในปีนี้สหภาพแรงงานยื่นข้อเสนอทั้งหมด 35 ข้อ สาระสำคัญคือ เรื่องการปรับค่าจ้างประจำปี ค่าครองชีพและโบนัส โดยบริษัทปรับลดโบนัสประจำปี 2556 ลงจากเดิมที่ 136 วัน เป็นการกำหนดขั้นโบนัสตามอายุงานคือ 1-2 ปี ได้โบนัส 30 วัน 2-4 ปีได้โบนัส 35 วัน และ 4 ปีขึ้นไปได้โบนัส 45 วัน โดยตั้งเงื่อนไขว่า หากมีกำไรจากผลประกอบการเป็นจำนวนมาก ก็จะแบ่งมาเป็นโบนัสให้พนักงานอีก 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากการคาดการณ์ของบริษัทมองว่าหากทำกำไรได้ถึง 1,700 ล้านบาท พนักงานก็จะได้โบนัสถึง 170 วัน แต่ทางสหภาพแรงงานไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันว่าจะสามารถทำกำไร ได้มาก จึงขอให้บริษัทจ่ายโบนัสในอัตราเดิม

นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า จากการสอบถามถึงสาเหตุที่ปรับลดโบนัส บริษัทไทยเรยอนอธิบายว่า เนื่องมาจากบริษัทมีคู่แข่งที่สำคัญคือประเทศจีน ที่มีศักยภาพในการผลิตที่มากกว่า ค่าแรงถูกกว่า ทำให้มีต้นทุนที่ถูกกว่าประเทศไทย บริษัทจึงจำเป็นต้องปรับลดการจ่ายโบนัส เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการไกล่เกลี่ยของพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่จะพยายามหาข้อยุติให้เป็นที่น่าพอใจของทั้งสองฝ่ายโดยเร็ว ที่สุด

รองอธิบดี กสร.กล่าวต่อไปว่า ในช่วงปลายปีสหภาพแรงงานของบริษัทต่างๆ จะยื่นข้อเรียกร้องประจำปี แต่ในปีนี้ที่มีปัญหาคือเรื่องของเงินโบนัสที่ปัจจุบันมี 4 บริษัท ที่มีข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง คือบริษัทไทยเรยอนและอีก 3 แห่ง ที่เป็นบริษัทประกอบกิจการด้านเซรามิก ด้านการขนส่งและด้านสิ่งทอ ที่น่าเป็นห่วงคือกิจการรถยนต์ เนื่องจากปีที่แล้วมียอดจำหน่ายรถเป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถจ่ายโบนัสได้เยอะตามนโยบายรถคันแรก แต่ปีนี้ยอดขายรถลดลง ทำให้บริษัทไม่สามารถจ่ายเงินโบนัสได้เท่าเดิม

"หลักการจ่ายโบนัสนั้น หากบริษัทมีกำไรมาก ก็จะจ่ายมาก หากมีกำไรน้อยก็จ่ายน้อย ซึ่งบริษัทต่างๆ ควรใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์ชี้แจงให้ลูกจ้างทั้งบริษัทเข้าใจสถานการณ์และผล ประกอบการบริษัทว่า มีกำไรมากน้อยแค่ไหนและสามารถจ่ายโบนัสได้เท่าใด ควรแจ้งตั้งแต่ต้นปี ไม่ใช้แจ้งช่วงใกล้เวลาจ่ายโบนัส ซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างไม่เข้าใจและผิดหวัง" นายสุวิทย์กล่าว และว่า ผู้บริหารบางบริษัทให้เหตุผลว่าที่ไม่แจ้งเนื่องจากเกรงว่าลูกจ้างจะไม่มี กำลังใจทำงาน แต่ความเป็นจริงแล้วควรแจ้งให้ลูกจ้างเข้าใจ ไม่เช่นนั้นจะทำให้ลูกจ้างหวาดระแวงไม่ไว้ใจ กลัวบริษัทจะไม่จ่ายโบนัส

ส่วนกรณีค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น จนอาจทำให้แรงงานออกมาเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าวันละ 300 บาท ซึ่งมติคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556-2558 นายสุวิทย์กล่าวว่า เรื่องนี้ลูกจ้างเรียกร้องน้อยมาก เพราะต่างเข้าใจว่านายจ้างมีภาระทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยมองว่าหากนายจ้างอยู่ได้ลูกจ้างก็อยู่ได้ แต่อยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าและค่าครองชีพเพื่อช่วยลดภาระมากกว่า

(มติชนออนไลน์, 19-9-2556)

“โบนัส” ปลายปีเป็นชนวนทำนายจ้าง-ลูกจ้างขัดแย้งมากสุด

(19 ก.ย.) นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กล่าวถึงกรณีที่สหภาพแรงงานไทยเรยอน บริษัท ไทยเรยอน จำกัด (มหาชน) จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเส้นใยสังเคราะห์จากน้ำมัน มีพนักงานประมาณ 1,000 คน และใช้สิทธินัดหยุดงานประมาณ 800 คนว่า บริษัท ไทยเรยอน และสหภาพแรงงาน มีกำหนดยื่นข้อเรียกร้องต่อกัน 3 ปี/ครั้ง โดยในปีนี้สหภาพแรงงานยื่นข้อเสนอทั้งหมด 35 ข้อ สาระสำคัญคือ เรื่องการปรับค่าจ้างประจำปี ค่าครองชีพ และเงินโบนัส โดยบริษัทปรับลดเงินโบนัสประจำปี 2556 ลงจากเดิมที่ 136 วัน เป็นการกำหนดขั้นโบนัสตามอายุงานคือ 1-2 ปี ได้โบนัส 30 วัน 2-4 ปี ได้โบนัส 35 วัน และ 4 ปีขึ้นไปได้โบนัส 45 วัน โดยตั้งเงื่อนไขว่าหากมีกำไรจากผลประกอบการเป็นจำนวนมากก็จะแบ่งเงินกำไรมา 5 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเฉลี่ยจ่ายเป็นเงินโบนัสเพิ่มเติมให้แก่พนักงาน ซึ่งจากการคาดการณ์ของบริษัทหากสามารถทำกำไรได้ถึง 1,700 ล้านบาท พนักงานจะได้รับเงินโบนัสถึง 170 วัน แต่สหภาพแรงงานยังไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันว่าจะสามารถทำกำไร ได้มาก จึงขอให้บริษัทจ่ายโบนัสในอัตราเดิม

นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า จากการสอบถามผู้บริหารบริษัท ไทยเรยอน ถึงสาเหตุที่ต้องปรับลดเงินโบนัสก็ได้รับอธิบายว่า เนื่องมาจากบริษัทมีคู่แข่งที่สำคัญคือประเทศจีน ที่มีศักยภาพในการผลิตที่มากกว่า ค่าแรงถูกกว่า ทำให้มีต้นทุนที่ถูกกว่าประเทศไทย บริษัทจึงจำเป็นต้องปรับลดการจ่ายโบนัส เพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ ขณะนี้พนักงานบริษัท ไทยเรยอน ได้นัดหยุดงานตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.เป็นต้นไปจนกว่าการเจรจากันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างจะได้ข้อยุติ ซึ่งเป็นการใช้สิทธิหยุดงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2544 อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของ กสร.ได้เข้าไปช่วยไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งเพื่อให้ได้ข้อยุติให้เป็นที่น่าพอใจ ของทั้งสองฝ่ายโดยเร็วที่สุด
      
รองอธิบดี กสร.กล่าวด้วยว่า แต่ละปีในช่วงปลายปีจะมีสหภาพแรงงานของบริษัทต่างๆ ประมาณ 400 แห่งยื่นข้อเรียกร้องประจำปี เช่น เงินโบนัส การขึ้นเงินเดือนประจำปี ขณะนี้ที่มีปัญหามากที่สุดเรื่องของเงินโบนัส โดยตอนนี้มี 4 บริษัทที่มีข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งตกลงกันไม่ได้ในเรื่องเงินโบนัสคือ บริษัท ไทยเรยอน และอีก 3 แห่งเป็นบริษัทประกอบกิจการด้านเซรามิก ขนส่ง และสิ่งทอ และที่น่าห่วงคือบริษัทผลิตรถยนต์ เนื่องจากปีที่แล้วขายรถยนต์ได้มาก เนื่องจากนโยบายโครงการรถยนต์คันแรก ทำให้มีกำไรเยอะ และจ่ายโบนัสได้มาก แต่ปีนี้ขายรถยนต์ได้น้อยลง ทำให้กำไรลดลงและจ่ายเงินโบนัสได้ลดลง
      
ทั้งนี้ ส่วนกรณีข้อเรียกร้องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้มากกว่าวันละ 300 บาท ซึ่งมติคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556-2558 ขณะนี้กระแสเรียกร้องจากลูกจ้างในเรื่องนี้มีน้อยมาก เพราะต่างเข้าใจดีว่านายจ้างมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น และมองว่าหากนายจ้างอยู่ได้ลูกจ้างก็อยู่ได้ แต่อยากให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือ เช่น การควบคุมราคาสินค้าและค่าครองชีพ
      
“ตามหลักการจ่ายโบนัสนั้น ถ้าบริษัทมีกำไรมากก็จะจ่ายมาก แต่ถ้าหากมีกำไรน้อยก็จ่ายน้อย จึงอยากให้บริษัทต่างๆ ใช้ระบบแรงงานสัมพันธ์เรียกประชุมชี้แจงให้พนักงานทั้งบริษัทเพื่อให้เข้าใจ ถึงสถานการณ์ธุรกิจ และผลประกอบการในปีนี้บริษัทว่า มีกำไรมากน้อยแค่ไหนและสามารถจ่ายเงินโบนัสได้มากขึ้น เท่าเดิมหรือลดลงแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่มาแจ้งช่วงเวลาที่ใกล้จะจ่ายเงินโบนัส จะทำให้ลูกจ้างไม่เข้าใจและผิดหวังว่าทำไมไม่ได้เงินโบนัสเท่าเดิม ผมเคยสอบถามเรื่องนี้กับผู้บริหารบริษัทขนาดใหญ่บางแห่ง เขาก็ให้เหตุผลว่าถ้าแจ้งพนักงานแต่เนิ่นๆ กลัวพนักงานจะท้อแท้ ไม่มีกำลังใจในการทำงาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากไม่พูดคุยกันให้เข้าใจกันแต่แรก จะทำให้ลูกจ้างหวาดระแวง ไม่ไว้ใจและเกิดข้อขัดแย้งขึ้นได้” นายสุวิทย์ กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 19-9-2556)

“ณัฐวุฒิ” โชว์กึ๋นแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคอุตสาหกรรม หนุนใช้แรงงานผู้ขังต้อง 2.7 แสนคนทั่วประเทศ

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ ได้หารือกับกรมราชทัณฑ์ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานให้กับภาคอุตสาหกรรมโดยใช้แรงงานของผู้ต้องขัง ผลิตสินค้า และลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม 16 กลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น หรือใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น รองเท้า เสื้อผ้า เครื่องประดับ ฯลฯ ซึ่งกรมราชทัณฑ์เห็นด้วย และพร้อมให้ความร่วมมือ โดยจะคิดค่าตอบแทนวันละ 200 บาท สำหรับแรงงานไร้ฝีมือ ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่คิดอยู่วันละ 300 บาท แต่หากเป็นแรงงานฝีมือก็จะมีค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นอีก

สำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) รายใดต้องการให้รัฐบาลเข้าไปแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานก็แจ้งความจำนงต่อกรม พัฒนาธุรกิจการค้า หรือสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าทุกจังหวัด จากนั้นกระทรวงพาณิชย์จะประสานงานกับกรมราชทัณฑ์ ให้ผู้ประกอบการส่งงานเข้าไปให้ผู้ต้องขังในเรือนจำที่อยู่ใกล้สถานประกอบ การ เพื่อให้ผู้ต้องขังผลิตสินค้าให้ ซึ่งผู้ประกอบการอาจนำเครื่องมือ และเครื่องจักรที่จำเป็นในการผลิตเข้ามาติดตั้งในเรือนจำ

“ผู้ต้องขังบางคนก็เป็นแรงงานฝีมืออยู่แล้ว เช่น ช่างไม้ ช่างยนต์ ช่างไฟ ก็สามารถทำงานได้ ส่วนผู้ที่ยังไม่มีความชำนาญเฉพาะด้านก็จะให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานเข้ามาช่วย ฝึกอบรม และพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้สามารถทำงานได้ตามที่ผู้ประกอบการต้องการ ส่วนการนำเครื่องจักรไปตั้งในเรือนจำนั้น สามารถทำได้ แต่เครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆ ก็ต้องแล้วแต่กฎระเบียบของเรือนจำว่าอะไรเอาเข้าไปได้หรือไม่ได้” นายณัฐวุฒิกล่าว

นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลน และลดต้นทุนด้านการผลิตของผู้ประกอบการแล้ว ยังเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างโอกาสให้กับผู้ต้องขัง ทำให้สามารถวางแผนชีวิตภายหลังการพ้นโทษ อีกทั้งยังเป็นการลดความเครียดในระหว่างต้องขัง อย่างไรก็ตาม หากผู้ต้องขังคนใดมีฝีมือดี เมื่อพ้นโทษ ผู้ประกอบการก็สามารถจ้างไปทำงานให้ต่อได้.

(ไทยรัฐ, 19-9-2556)

"จาตุรนต์" ประชุมระดมความคิดขับเคลื่อนยกระดับอาชีวศึกษา

กรุงเทพฯ 21 ก.ย.-นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ประชุมระดมความคิดเพื่อการขับเคลื่อนการดำเนินงาน "การปฏิรูปอาชีวศึกษา" โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อให้บรรลุตาม 3 นโยบายสำคัญ คือ เร่งผลิตกำลังคนระดับ ปวช. ปวส. รวมถึงหลักสูตรระยะสั้น ให้สอดคล้องความต้องการของตลาดแรงงาน รองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและการขนส่งของประเทศ เร่งผลักดันให้เกิดกรอบคุณวุฒิแห่งชาติและคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่กำหนดและรับรองทักษะความรู้ความสามารถของคนในสาขา วิชาชีพต่างๆ ก่อนแปรเป็นรายได้หรือค่าตอบแทน รวมถึงขยายและยกระดับการเรียนการสอนระบบทวิภาคี พัฒนาความรู้และเทคโนโลยีที่สูงขึ้น เพิ่มรูปแบบความร่วมมือมากขึ้น สอดคล้องปีแห่งการรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้รับผิดชอบสำคัญในสถานประกอบการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย หน่วยงานอาชีววิชาชีพและแรงงาน ตลอดจนหน่วยผลิตทุกองค์กรหลักอาชีวศึกษาภาครัฐ เอกชน และ กศน.
 
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมีการประชุมเพื่อนำไปสู่กรอบแนวทางการปฏิบัติ ที่ได้ข้อสรุปว่า ต้องประเมินสถานการณ์อาชีวศึกษาโดยเร่งด่วน เพื่อให้สามารถบรรลุนโยบายหลักทั้งการเร่งผลิตกำลังคน พัฒนากรอบคุณวุฒิวิชาชีพ และการผลักดันการเรียนการสอนระบบทวิภาคี โดยต้องสร้างกระบวนการให้เกิดความร่วมมือ จากทุกภาคส่วนตลอดกระบวนการศึกษา ลงรายละเอียดไปถึงคุณลักษณะของแรงงานที่ตลาดต้องการ ปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษาเพื่อก้าวสู่ความเป็นศูนย์กลางอาชีวศึกษาภูมิภาค ตามสัดส่วนที่จะผลิตคนสายอาชีวะร้อยละ 51 และสายสามัญร้อยละ 49 หรือต้องมีเด็กที่เรียนสายอาชีพกว่า 400,000 คนต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 280,000 คนต่อปี หรือต้องเพิ่มอีก 120,000 คน หากการดำเนินการไม่เป็นไปตามนี้ แสดงว่าเป็นการพัฒนาที่ผิดทิศทาง และไม่สามารถนำประเทศไทยไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้

(สำนักข่าวไทย, 21-9-2556)

ยิ่งลักษณ์ สั่ง “ก.แรงงาน-ก.อุตสาหกรรม” ประสาน อผศ.หางานให้ “ทหารผ่านศึก” ที่ต้องการทำงาน พร้อมควัก 91 ล้าน ดูแล

วันนี้ 23 ก.ย.56 ผู้สื่อข่าว MThai News รายงานว่า ที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ราชวิถีว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในการประชุมสภาทหารผ่านศึกครั้งแรกในฐานะนายกสภาทหารผ่านศึกหลัง เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

โดยมีพลเอกยุทธศักดิ์ ศศิประภา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม และพลเอกชัยวัฒน์ สท้อนดี ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและข้าราชการในองค์การสงเคราะห์ทหาร ผ่านศึกให้การต้อนรับ

พร้อมนำนายกรัฐมนตรีชมการจัดแสดงผลิตภัณฑ์และผลงานของหน่วยงานกิจการ พิเศษขององค์การทหารผ่านศึก ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ผลิตภัณฑ์และผลงานให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ได้รับทราบถึงความสามารถในการดำเนินงานขององค์การทหารผ่านศึก

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับสภาทหาร ผ่านศึกว่าด้วยการสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ครอบครัวทหารผ่านศึก และทหารนอกประจำการ พ.ศ.2522 เพื่อปรับให้เข้ากับสภาวะทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่ขึ้นสูงในปัจจุบัน

โดยเสนอให้มีการปรับเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพเพื่อผดุงเกียรติเป็นราย เดือนแก่ทหารผ่านศึกนอกประจำการบัตรชั้นที่ 1 ที่พิการ ทุพพลภาพจากเดือนละ 3,500 บาท เป็นเดือนละ 4,000 บาท

พร้อมปรับเพิ่มการสงเคราะห์เงินช่วยเหลือรายเดือนแก่ครอบครัวทหารผ่าน ศึกผู้ถือบัตรชั้นที่ 1 จากครอบครัวละไม่เกิน 3,000 บาทต่อเดือน เป็น 3,500 บาท และปรับเพิ่มการสงเคราะห์ค่ารักษาพยาบาลทุกชั้นบัตรและครอบครัวทหารผ่านศึก จากครอบครัวไม่เกินปีละ2,000 บาท เป็น 3,000 บาท

ขณะเดียวกันนางสาวยิ่งลักษณ์ได้สั่งการให้องค์การทหารผ่านศึกจัดทำ แขน-ขาเทียมฟรีให้กับทหารผ่านศึกที่มีรายได้น้อย โดยรัฐบาลจะเป็นผู้รวบรวมเงินบริจาคและเงินทุนเพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการ จัดทำต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทหารผ่านศึกที่พิการและมีรายได้น้อยได้รับการอำนวยความ สะดวกและสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติ

ขณะที่พลเอกชัยวัฒน์ สท้อนดี ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะนายกสภาทหารผ่านศึกได้ให้ความสำคัญและให้ความสนใจ ต่อการสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ซึ่งถือว่าเป็นคนที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติ

โดยได้สอบถามชีวิตความเป็นอยู่ของทหารผ่านศึกและครอบครัว และได้สั่งการให้กระทรวงแรงงานและกระทรวงอุตสาหกรรมประสานกับองค์การ สงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในการจัดหางานให้แก่ทหารผ่านศึก ที่ต้องการประกอบอาชีพรวมถึงให้จัดงานแสดงผลงานและแสดงผลิตภัณฑ์ฝีมือทหาร ผ่านศึก

นอกจากนี้ยังให้โรงพยาบาลทหารผ่านศึก ซึ่งเป็นหนึ่งหน่วยสำคัญที่มีการจัดทำอวัยวะเทียมได้บูรณาการกับหน่วยงาน อื่นๆ ในการผลิตแขน-ขาเทียมช่วยเหลือทหารและประชาชนที่พิการ ในส่วนของการปรับเพิ่มการสงเคราะห์เงินช่วยเหลือรายเดือนแก่ทหารผ่านศึกและ ครอบครัวในวันนี้ รวมเป็นงบประมาณ 91 ล้านบาท

ซึ่งปัจจุบันมีทหารผ่านศึกและครอบครัวที่อยู่ในการดูแลขององค์การ สงเคราะห์ทหารผ่านศึกจำนวน 6 แสนคน ส่วนของทหารตำรวจและราษฎรอาสาสมัครที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาค ใต้ ที่บรรจุอยู่ในตำแหน่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายภาค 4 ส่วนหน้า เป็นเวลา 8 เดือนขึ้นไป ก็ถือว่าเป็นทหารผ่านศึกเช่นเดียว ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับทหารผ่านศึกตามหลักเกณฑ์เดิม

ส่วนทหารผ่านศึกที่พิการ ทุพพลภาพปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 2,000 คน เมื่อคำนวณเงินช่วยเหลือที่ได้รับจากองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เงินบำนาญ เงินเพิ่มค่าครองชีพ รวมถึงเงินช่วยเหลือจากมูลนิธิสายใจไทย จะตกอยู่ที่ประมาณ 23,000 บาท

(MThai News, 23-9-2556)

เผยผลสำรวจแรงงานโวยค่าครองชีพพุ่งไม่พอยาไส้ จี้รัฐดูแลคนจน ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท/วัน

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานเกี่ยวกับค่าครองชีพในปัจจุบันกว่า 1,000 ตัวอย่าง ในกรุงเทพมหานครและอีก 12 จังหวัดใกล้เคียง เบื้องต้นพบว่าส่วนใหญ่สะท้อนว่าค่าใช้จ่ายในการครองชีพสูงขึ้นทุกรายการ ทั้งอาหารจานด่วน ก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมัน กระทบต่อรายได้ของครอบครัวจนไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย

นายชาลี กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานจะมีค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าบ้าน ค่าผ่อนรถ ผ่อนเครื่องใช้ไฟฟ้า ค่าเล่าเรียนบุตร รวมถึงต้องส่งเงินให้พ่อแม่ที่อยู่ต่างจังหวัด ซึ่งจากการสำรวจเฉพาะค่าอาหารและเครื่องดื่ม พบว่ามื้อเช้ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 60 บาท มื้อกลางวัน 100 บาท เย็น 100 บาท และอีก 150 บาท สำหรับค่าเดินทางและค่าน้ำมัน และมีข้อเสนออยากให้ยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม รวมทั้งขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 400 บาท เพราะรายได้ทุกวันนี้แทบไม่พอใช้

“เสียงสะท้อนที่ได้รับกลับมาคือ อยากให้รัฐบาลดูแลคนจนให้มากกว่านี้เพราะข้าวของแพงขึ้น คนรวยอยู่ได้แต่คนจนอยู่ไม่ได้ อย่างการแก้ปัญหาของกระทรวงพาณิชย์ที่เอาธงฟ้ามาทำ ผมพูดมาตลอดว่ามันเหมือนเอาโครงการนี้มาเป็นหนังหน้าไฟ แล้วมันก็กระจายได้ไม่ทั่วถึง”นายชาลี กล่าว

ทั้งนี้ คสรท.จะประมวลสรุปแบบสอบถามและแถลงผลการสำรวจอย่างเป็นทางการอีกครั้งในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ก.ย.นี้

(โพสต์ทูเดย์, 23-9-2556)

กพร.เร่งทำหลักสูตรติวแรงงานท่องเที่ยว-โรงแรม รองรับเออีซี

นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กพร.มีนโยบายพัฒนาแรงงานไทยสาขาท่องเที่ยวและโรงแรมใน 32 ตำแหน่งงาน อันเป็นสาขาวิชาชีพลำดับที่ 8 ในการที่ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน (เอซี) 10 ประเทศ ร่วมกันจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมกัน (MRAs) ด้านคุณสมบัติวิชาชีพโดยยึดมาตรฐานของประเทศออสเตรเลียเป็นหลัก ซึ่งประเทศไทยโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กท.) ได้ลงนามยอมรับข้อตกลงดังกล่าวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2555 และเป็นหน่วยงานหลักกำกับดูแล MRAs สาขาท่องเที่ยวและโรงแรมซึ่งมี 32 ตำแหน่งงานทั้งนี้ กท.ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล 2 ชุดคือ คณะกรรมการแห่งชาติบุคลากรท่องเที่ยวกับคณะกรรมการคุณสมบัติบุคลากรด้านท่อง เที่ยวขึ้น ซึ่งคณะกรรมการชุดหลังนี้มีคณะอนุกรรมการ 6 คณะแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลักคือ กลุ่มแรกโรงแรมแบ่งเป็น 4 กลุ่มย่อย ได้แก่ แม่บ้านโรงแรม ผู้ให้บริการส่วนหน้า ผู้ประกอบอาหารในครัวและผู้ให้บริการอาหารและเครื่องดื่มมีทั้งหมด 23 ตำแหน่งงาน ส่วนกลุ่มที่สองท่องเที่ยวแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ ผู้ติดต่อกับนักท่องเที่ยว (ทราเวลเอเยนซี) และผู้จัดการเดินทางให้นักท่องเที่ยว (ทัวร์โอเปอเรชัน) มีทั้งสิ้น 9 ตำแหน่งงาน
      
อธิบดี กพร.กล่าวอีกว่า ในส่วนของ กพร.ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เป็นกรรมการคุณสมบัติบุคลากรด้านท่องเที่ยว ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการให้จัดทำหลักสูตรอบรมพัฒนาทักษะวิชาชีพและภาษา ต่างประเทศให้แก่แรงงานไทยสาขาท่องเที่ยวและโรงแรมใน 32 ตำแหน่งงานเพื่อให้มีมาตรฐานวิชาชีพเป็นไปตาม MRAs ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 6 ชุดเพื่อจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมสาขาวิชาชีพท่องเที่ยวและโรงแรมใน 6 กลุ่มอาชีพ 32 ตำแหน่งงาน โดยให้ กพร.ไปเพิ่มตัวแทนสภาวิชาชีพ สมาคมภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมเข้ามาเป็นคณะ อนุกรรมการให้มากขึ้น เนื่องจากรายชื่อคณะอนุกรรมการส่วนใหญ่ที่เสนอมานั้นเป็นนักวิชาการ
      
“กพร.จะเร่งจัดทำหลักสูตรอบรม 1 หลักสูตรต่อ 1 ตำแหน่งงาน คาดว่าแต่ละหลักสูตรน่าจะใช้เวลาฝึกอบรมซึ่งครอบคลุมทั้งทักษะวิชาชีพ และภาษาต่างประเทศอยู่ระหว่าง 60-120 วัน และตั้งเป้าหมายจะจัดทำหลักสูตรทั้งหมดให้เสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ.2557 หลังจากนั้นนำมาใช้อบรมแรงงานไทยสาขาท่องเที่ยวและโรงแรม ผู้ประกอบการสามารถส่งพนักงานเข้ารับการอบรมโดยสนับสนุนค่าวิทยากรและวัสดุ อุปกรณ์ในการฝึก หรือแรงงานก็สามารถสมัครเข้ารับการฝึกอบรมได้เองที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ภาค (สพภ.) และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน (ศฝจ.) จังหวัดต่างๆ” นายนคร กล่าว

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23-9-2556)

เคาะเลขาธิการ สปส. นั่งปลัด ก.แรงงาน เตรียมเสนอ ครม.

เมื่อวันที่ 23 กันยายน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่แทนตนเองที่จะเกษียณอายุราชการ ในวันที่ 30 กันยายนนี้ว่า ได้หารือกับ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแล้ว โดยเสนอผู้บริหารในกระทรวงตามความเหมาะสม ซึ่งพิจารณาจากความอาวุโส ความรู้ความสามารถด้านต่างๆ แต่การจะพิจารณาแต่งตั้งนั้นต้องขึ้นอยู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมครม.ในวันที่ 24 กันยายนนี้หรือช้าสุดในสัปดาห์หน้า

แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้การพิจารณาเสนอแต่งตั้งปลัดกระทรวงแรงงานคนใหม่ ตำแหน่งซี11 ลงตัวแล้วโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและปลัดกระทรวงแรงงาน ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะเสนอให้ นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน เนื่องจากนายจีรศักดิ์มีความอาวุโสสูงสุดและเหลืออายุราชการเพียง   1   ปีก่อนจะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน ปี2557 ส่วนตำแหน่งซี 10 ที่เหลืออีก 5 ตำแหน่งคือ รองปลัดกระทรวงแรงงาน 2 ตำแหน่ง อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) 1 ตำแหน่ง ที่ปรึกษากฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน 1 ตำแหน่งและที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ สปส. 1 ตำแหน่ง ยังไม่ลงตัว

(มติชนออนไลน์, 23-9-2556)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net